Fri, 2015-06-19 17:37
'ประยุทธ์' ย้ำยังไม่คิดตั้งอดีตนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 มาร่วมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยืนยันรัฐบาลไม่ปล่อยปละละเลย หลัง สนช.เห็นชอบกับ ครม. และ คสช.ให้มีการประกาศใช้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) เร่งประสานทุกประเทศส่งตัวคนผิดมาตรา 112 กลับมารับโทษ
19 มิ.ย. 2558
สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการติดตามตัวผู้กระทำความผิด มาตรา 112 ที่หนีไปต่างประเทศ ว่า ได้มีการประสานติดตามตัวไปยังหลายประเทศ รวมถึงประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับมา เพราะแต่ละประเทศมีข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ยอมรับว่าทุกกรณีและทุกคนที่หนีออกต่างประเทศ ได้ประสานขอส่งตัวกลับมาทั้งหมด รวมทั้งกรณีที่หลบหนีอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่จะให้จับกุมทั้งหมด ต้องใช้เวลา
“หนีไปข้างนอก ก็คงไม่ใช่คนไทยแล้วมั้ง อยู่เมืองไทยไม่ได้ มีการประสานหมด ทุกคนที่หนีไปต่างประเทศ ก็ประสานหมด ขึ้นอยู่ว่าเค้าจะจับมาส่งหรือเปล่า เราไม่ปล่อยปละละเลย ปล่อยไม่ได้ กระทรวงยุติธรรมดำเนินการแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ทำไป ปัญหาไม่ใช่สั่งวันนี้ จะส่งวันนี้ได้ จนวันนี้ยังจับไม่ได้หมด ในประเทศยังตามจับอยู่เลย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ปลดล็อคให้อดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้นั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ไม่ใช่เพื่อความปรองดอง แต่เป็นการเปิดประตูเพื่อให้คนที่ถูกปลดล็อค ให้โอกาสได้มาทำความดี เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมได้ตัดสินไปแล้ว และไม่ใช่ว่าคนที่ถูกลงโทษจะเป็นคนเลวตลอดชีวิต ย่อมมีการกลับตัวเป็นคนดี อีกทั้งเพื่อให้การปฏิรูปเดินหน้าได้
“อะไรที่ลงโทษไปแล้ว ลงโทษไปเพียงพอหรือยัง ถ้าเพียงพอก็จะพิจารณาดู จะทำอย่างไร อยากให้ทุกคนพิจารณาดูว่าคนที่ถูกลงโทษไป ไม่ใช่คนเลวตลอดชีวิต เค้ารับโทษไปแล้ว ก็ต้องดูว่าเพียงพอหรือยัง เปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ ถ้าไม่ปรับพฤติกรรมก็ลงโทษใหม่ เค้าก็ผิดใหม่ได้อยู่ดี คนที่ผิดไปแล้วให้โอกาสได้แก้ไข เรียกว่าการกลับตัวเป็นคนดี เหมือนบทลงโทษของกระทรวงยุติธรรม อย่ามองว่าติดคุกแล้วต้องเป็นคนเลว ดี ๆ ก็เยอะไป เว้นแต่เลวจนกลับไปอีก ก็ติดไปอีกนาน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ถูกตัดสิทธิ์ เช่น บ้านเลขที่ 109 และ 111 ยังมีใครพอจะร่วมงานในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้บ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิด ที่มีอยู่ก็มากอยู่แล้ว ทำไมต้องกลับมาอีก ส่วนจะแต่งตั้งใคร ขอให้เป็นไปตามระเบียบและรอเวลาที่เหมาะสม ซึ่งผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ ก็ไปเตรียมการที่จะเป็นรัฐบาลหน้า ซึ่งขณะนี้ส่งความเห็นมา ก็รับหมด ขณะเดียวกันมีการเปิดเวทีให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว โดยนับจากนี้จะมีการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจในปัญหาให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูป เพื่อให้ประชาชนเลือกรัฐบาลใหม่มาสานต่องาน
“ตอนนี้ส่งความเห็นมา ก็รับหมด เปิดเวทีมาให้คุย ดูหรือเปล่า ไทยพีบีเอสเมื่อคืนนี้ ใครคุยกับใคร สภาปฎิรูปแห่งชาติคุยกับจาตุรนต์ ฉายแสง ไปดูสิเค้าตอบกันได้มั้ย เค้ารู้เรื่องกันมั้ย อีกคนปฎิรูป อีกคนนักการเมืองเก่า” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการให้สัมภาษณ์ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีอารมณ์ดี โดยได้พูดเล่นกับผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ยืนสัมภาษณ์กลางแดด ว่าร้อนไหม ถ้าร้อนก็ต้องอดทน ถ้าทนไม่ไหวก็เปลี่ยนไปทำงานอื่น แต่ก็เห็นแล้วว่าสื่อทำงานนี้ เพราะใจรักในอาชีพนี้
สนช.เห็นชอบกับ ครม.และ คสช.ให้มีการประกาศใช้ ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
วานนี้ (18 มิ.ย.)
วิทยุรัฐสภารายงานว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีมติให้ความเห็นชอบในการประกาศใช้ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่ ครม.และ คสช.เสนอแก้ไขใน 7 ประเด็น รวม 9 มาตรา เพื่อกำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ด้วยเสียง 203 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งถือว่าไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 110 เสียง
สำหรับมติดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก สนช.ให้ความเห็นชอบผ่านวาระแรกรับหลักการด้วยเสียงเอกฉันท์ 204 เสียง และผ่านวาระ 2 พิจารณารายมาตรา ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากสมาชิก สนช. ด้วยการตั้งข้อสังเกตในร่าง อาทิ ประเด็นการให้ผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์ แต่ไม่ได้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ ได้เป็น สนช. ซึ่ง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และที่ปรึกษา คสช. ยืนยันว่าไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ใครคนใดคนหนึ่ง รวมถึงประเด็นรายละเอียดการออกเสียงประชามติ ได้รับการชี้แจงว่า จะให้ กกต.จัดทำร่างประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการออกเสียงประชามติ และเสนอ สนช. ผ่านความเห็นชอบ ส่วนความผิดและโทษที่เกิดในการทำประชามติ ให้นำ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้ ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรษนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบข้อสังเกตของสมาชิก สนช.เรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า จะต้องมีขึ้นเพื่อให้การปฏิรูปทั้ง 11 ด้านเดินหน้า ด้วยการรับวาระปฏิรูปสืบต่อจากกรรมาธิการ สปช. 18 คณะที่ได้เสนอไว้ อีกทั้งมีเรื่องกรอบเวลาไม่ชัดเจน จึงต้องกำหนดระยะเวลาการทำงาน โดยคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิผลของการปฏิรูปประเทศในเวลาที่เหลืออยู่ ดังนั้น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะต้องทำงานควบคู่ไปกับรัฐบาลก่อนจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาวาระ 2 ครม.และ คสช.ได้ปรับแก้คำในมาตรา 5 วรรค 6 เล็กน้อยเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแต่ไม่ใช่การปรับแก้เนื้อหาแต่อย่างใด
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กล่าวขอบคุณ สนช.ก่อนจะมีมติเห็นชอบให้ความเห็นชอบในประกาศใช้ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความต้องการของรัฐบาล แต่เกิดขึ้นจากประชาชนที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช.และรัฐบาล ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทุกคนและประเทศเพื่อให้เดินหน้าด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เมื่อประชาชนเห็นว่าสิ่งใดควรดำเนินการจึงต้องทำ