15 ก.ย.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การปฏิบัติการจับกุมผู้ชุมนุมเรียกร้องประเด็นขาหุ้นเดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปนโยบายพลังงาน และกลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกรณีศาลยกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีสลายการชุมนุมปี 53 โดย กสม. ได้เชิญตัวแทนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แก่ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายของ คสช. พ.อ.สัญชัย บูรณะสัมฤทธิ์ คณะทำงานด้านกฏหมาย ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการนครบาล 1 พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ ตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ สน. พญาไท พ.ต.ท.นทธีฤทธิ์ หาญเสน่ห์ลักษณ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ กองบังคับการกองปราบปราม พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ สุภาอ้วน ผู้กำกับสน.บางซื่อ และนายพันศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย ของน.ส.กมลเกด อัคฮาด ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 เข้าชี้แจงเหตุการณ์จับกุมดังกล่าว
พ.อ.วิจารณ์กล่าวว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกนั้นเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการใช้อาวุธสงครามทำร้ายกันจนมีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ แม้ว่าต่างชาติจะต่อต้านไม่ยอมรับแต่ถ้าปล่อยให้ประเทศควบคุมความรุนแรงไม่ได้จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวง กฎอัยการศึกก็ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการระทำความผิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างก็เพียงแค่เรียกมาปรับทัศนคติแล้วก็ปล่อยตัวไป ไม่ได้ขัง ทำร้ายร่างกายหรือทรมาณแต่อย่างใด ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็แล้วแต่ทางผู้บังคับบัญชาก็ได้มีช่องทางเอาไว้ให้แสดงความเห็นด้วย คือ ให้เข้าร่วมประชุมแล้วเสนอความคิดเห็นได้ เช่น ในการปฏิรูปพลังงานท่านหัวหน้า คสช. ก็ได้เป็นประธานการประชุมที่สโมสรกองทัพบก ฉะนั้นการที่ออกมาเดินตามที่สาธารณะแล้วโปรยใบปลิวหรือชักชวนให้คนมาร่วมทำให้คนยังคิดว่าความขัดแย้งยังมีอยู่ซึ่งขัดต่อคำสั่ง คสช. เมื่อฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปปฏิบัติหยุดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย
พ.ท.บุรินทร์ กล่าวว่าตนเป็นส่วนปฏิบัติงานด้านกองกำลัง ทำหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ชุมนุมที่ถูกคุมตัวมาแล้วทำการชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่ดีแต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติแล้วก็มีกลุ่มฉวยโอกาสที่ใช้สถานการณ์เช่นนี้ก่อความไม่สงบขึ้นมาอีก ไม่เฉพาะเรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอน เมื่อมีการชุมนุมบนท้องถนนก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยก่อนที่กองกำลังของเราจะเข้าไป ขอร้องให้เข้าสู่ระบบที่ผู้ใหญ่เปิดช่องทางไว้ ทั้งที่ คสช. หรือศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ขอร้องว่าอย่าทำพฤติกรรมที่ต่างคนต่างทำเพื่อการเรียกร้องที่ผิดแนวทางจากที่เป็นระบบอยู่ เมื่อยังมีการปฏิบัติแบบนั้นก็จำเป็นจะต้องมีการเชิญตัวมาปรับความเข้าใจ การปฏิบัติงานต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนทาง คสช. หรือผบ.กองกำลังมีการเน้นย้ำเรื่องนี้โดยตลอด ไม่มีการปฏิบัติแบบทางการทหาร และนำกฎหมายมาดำเนินการโดยเสมอภาค
นายรัษฎา มนูรัษฎา อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สอบถามทางตัวแทนของ คสช. ว่าการที่บุญยืน ศิริธรรม อดีตวุฒิสมาชิก ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปจากการที่แสดงความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน เป็นเวลา 3 คืน และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นความจริงหรือไม่
พ.ท.บุรินทร์ กล่าวว่า ในกรณีนี้เช้าวันที่มีการเดินขบวนบนท้องถนน ทางตำรวจมีการควบคุมตัวส่งให้ทางทหาร แล้วพาไปที่สนามกีฬากองทัพบกเพื่อทำประวัติบุคคลตามขั้นตอน และแจ้งขอควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึก ซึ่งการคุมตัวตามกฎอัยการศึกไม่ได้เป็นการจับขังเหมือนตามป. วิ อาญา ทั่วไป แต่เป็นกักตัวสอบสวนเรื่องที่สงสัย อย่างกรณีนี้ก็คือทำไมมีการขอร้องแล้วยังมาทำพฤติกรรมแบบนี้ เหมือนที่สื่อมวลชนเรียกว่าการปรับทัศนคติ ซึ่งไม่ได้เป็นข้อกล่าวหาว่ามีความผิดฐานใด หรือตามประมวลกฎหมายฉบับใด ตามกฎอัยการศึกจะเรียกว่าการกักตัวเพื่อสอบสวน หลังจากทำประวัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากทางทหารไม่มีพื้นที่กักตัว เพื่อกันข้อครหาว่าทหารเอาตัวไปจึงนำไปฝากที่กองปราบปราม ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้กับคนทุกกลุ่มที่จับมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม โดยใช้อำนาจตามมาตรา 6 ของกฎอัยการศึกขอให้พนักงานสอบสวนช่วยดำเนินการกักตัวให้ ในคืนนั้นกว่าจะเดินทางก็มืดแล้วจึงกักตัวไปตามระเบียบ เนื่องจากในคืนนั้นยังไม่สามารถเปิดห้องให้ได้ เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปเปิดห้องแอร์ให้เพื่อให้เหมาะสมกับคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ วันแรกกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัวไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่เพราะคิด่วาการแสดงออกเป็นความถูกต้องไม่ใช่ไปทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง ตนจึงได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการรักษาความสงบ เมื่อมีการรวมกลุ่มบนท้องถนนทหารก็ต้องรีบระงับไม่ให้มีเหตุบานปลายอ พอวันที่ 2-3 ก็พูดคุยกันจนทำความเข้าใจกันได้ จากนั้นมีการนัดเสวนาของหลวงปู่พุทธอิสระ ทหารก็รีบดำเนินการปล่อยตัวหลังจากที่ผู้ถูกควบคุมตัวยอมรับและรับปากแล้วว่าจะไม่ลงมาบนถนนอีกแล้ว
พ.ต.ท.นทธีฤทธิ์ ทางกองปราบฯ ได้รับการร้องขอจากทหาร จึงได้รับตัวผู้ถูกกักตัวมาไว้ที่กองบังคับการกองปราบปราม ทางฝ่ายทหารก็ส่งตัวบุญยืนมาที่กองปราบฯ วันที่ 24 ส.ค. โดยมีกำหนดกักตัวถึงวันที่ 30 ส.ค. แต่กักตัวไว้ 2 คืน ทางฝ่ายทหารจึงขอตัวกลับไป และไม่ได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีมา
พ.ท.บุรินทร์เสริมว่า กรณีของขาหุ้นนั้นทางทหารเห็นว่าไม่ได้ฝ่าฝืนเรื่องชุมนุมทางการเมือง แต่ฝ่าฝืนอัยการศึก เมื่อมีการชี้แจงและปรับทัศนคติเรียบร้อยและทางคุณบุญยืนยอมรับแล้วทางทหารก็ไม่ต้องทำการแจ้งข้อกล่าวหา ตามกฎอัยการศึกไม่ได้ระบุว่าฝ่าฝืนแล้วจะมีโทษ แต่เป็นอำนาจสอบสวนเพื่อหาความผิดอื่น เช่น ยาเสพติด ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็จะใช้อำนาจตรวจค้นในตอนกลางคืนและดำเนินการจับกุม เมื่อจับมาแล้วต้องแจ้งก่อนว่าขออนุญาตควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และเมื่อตรวจสอบแล้วมีความผิดจึงจะแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำหน่ายหรือมีครอบครงยาเสพติด ซึ่งมีอัตราโทษ ตามพระราชบัญญัติต่างๆ แต่ของกฎอัยการศึกไม่มีอัตราโทษ มีแต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการได้
นายรัษฎาถามย้ำว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าคุณบุญยืนได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศหรือว่ากฎอัยการศึกจึงปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดีใช่หรือไม่ และอีกหนึ่งเรื่อง สนธิสัญญาหรือกติการะหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้ยังคงยึดถืออยู่ถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพพื้นฐานของประชาชนเรายังทำได้อยู่ ในกรณีของคุณบุญยืนพูดเรื่องพลังงาน แสดงความไม่เห็นด้วย แล้วอย่างกรณีเวทีของหลวงปู่พุทธอิสระ เป็นการแสดงความคิดเห็นก็ทำได้
พ.อ.วิจารณ์ เรื่องการเชิญตัวไป คำสั่ง คสช. ที่ 97/2557 (5) ได้ขอความร่วมมือไว้หากมีการฝ่าฝืนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการระงับได้ตาม(4) ซึ่งหากปล่อยให้มีการไปเดินขบวนคนอื่นจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างออกมากันเต็มไปหมดก็จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การเชิญตัวไปเพื่พูดคุยว่ามีช่องทางแสดงความคิดเห็นให้ ซึ่งเมื่ออธิบายเข้าใจแล้วก็จะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
พ.ท.บุรินทร์เสริมว่าเมื่อทำประวัติควบคุมเสร็จแล้วก็จะมีการแจ้งว่าได้ทำผิดกฎอัยการศึก ได้ก่อการชุมนุมบนถนน ก่อความวุ่นวาย โดยทหารเป็นคนแจ้งข้อกล่าวหา
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวว่าที่นายรัษฎาถามนั้นเนื่องจากว่าในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 ได้ระบุไว้ว่าสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคต้องได้รับความคุ้มครอง แต่เมื่ออ้างคำสั่ง คสช. ที่ 97/2557 เรื่องขอความร่วมมือในการให้ข้อมูลข่าวสารการก่อความไม่สงบกับประเด็นที่ขาหุ้นพลังงานหรือที่ภาคใต้มีการเดินที่หาดใหญ่ไม่เกิน 5 คน ภายหลังเหลือ 2 คน พอถึงชุมพรก็ถูกห้ามไม่ให้เดิน ในฐานะที่เขาเป็นพลเรือนที่ รธน. ได้ให้ความคุ้มครองไว้ เขาได้แสดงความเห็นเรื่องการปฏิรูปพลังงานเพราะเขามองว่าประเด็นนโยบายที่มีอยู่ตอนนี้เขาไม่เห็นด้วยก็อยากที่จะเสนอกับ คสช. เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้มีภาคประชาชนที่ตื่นตัวอยากเข้ามาร่วม ซึ่งเขาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิทางการเมือง
นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ กสม. หรือสื่อต่างประเทศกังวลเพราะมองว่าเป็นการไปขัดสิทธิเสรีภาพของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเรื่องทางการเมือง การให้ความคิดเห็นที่แตกต่างจะนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ของชาติและประชาชน พอไม่ให้เขาแสดงความคิดเห็นก็เหมือนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ยอมรับว่าในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา 5-6 เดือน มีการใช้อาวุธสงคราม แต่นี่เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็น แล้วรธน. ก็ให้การรับรอง แล้วจะอธิบายต่อสังคมได้อย่างไร
พ.ท.บุรินทร์ ชี้แจงว่า ไม่ว่า รธน. ฉบับเก่าหรือฉบับชั่วคราว ก็คุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว เว้นแต่ถูกกำกับด้วยข้อกฎหมาย ในช่วงนี้ คสช. ก็ไม่ได้ปิดบังปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และมีช่องทางให้เข้าชี้แจงข้อมูลต่างๆ อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์ดำรงธรรมหรือทำเนียบรัฐบาล หรือ คสช.เองก็ได้รับจดหมายเป็นหมื่นฉบับที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ แต่ทาง คสช. ขอในลักษณะของการแสดงออกเพื่อไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์ในการปฏิบัติการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ไม่อย่างนั้นจะเกิดเหตุการชุมนุมอื่นๆ ตามมาได้
นายรัษฎาถามต่อว่าตกลงข้อกล่าวหาที่แจ้งคืออะไร เนื่องจากที่ชี้แจงยังไม่สอดคล้องกับทางกองปราบฯ ที่บอกว่าปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
พ.ท.บุรินทร์ ชี้แจงว่ากองปราบฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้กฎอัยการศึกเลย อำนาจตามกฎอัยการศึกเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารล้วนๆ เป็นแค่ผู้ให้ใช้สถานที่กับทางทหารโดยการร้องขอตามมาตรา 6 เนื่องจากหากเป็นที่หน่วยงานตำรวจจะมีภาพลักษณ์นิ่มนวลกว่าค่ายของทหาร ทางเจ้าหน้าที่ต้องการให้เป็นสถานที่เปิดเผยไปมาหาสู่ได้เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหามีการอุ้มหาย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกทางเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาว่าผิดตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ขอควบคุมตัว แต่ไม่มีอัตราโทษ ซึ่งจะเรียกว่าข้อกล่าวหาก็ไม่ใช่ แต่เป็นการแจ้งว่าเป็นการฝ่าฝืนจึงขอควบคุมตัวไปสอบสวน เมื่อควบคุมตัวไป มีการพูดคุยแล้ว จึงทำหนังสือไปแจ้งกองปราบฯ ว่าขอตัวคืนแล้วไม่ประสงค์ให้กองปราบฯ รับตัวไว้ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็รับตัวไปไม่เกี่ยวกับทางกองปราบฯ แล้ว เมื่อทั้งคุณบุญยืนและคนอื่นๆ ยอมรับว่าจะไม่มาชุมนุมบนถนนแล้วก็มีการเซ็นเอกสารรับรองไว้
พ.ต.ท.นทธีฤทธิ์ ชี้แจงเสริมว่า เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาการกักตัวตามกฎอัยการศึกไม่ได้เป็นการปฏิบัติตาม ป. วิอาญา ดังนั้นหลังการกักตัว หากมีการส่งตัว มีการร้องทุกข์แล้วจึงจะมีการปฏิบัติตาม ป.วิอาญา นั่นคือการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งบางกรณีอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาร้องทุกข์ต่อไป หรือจะเป็นผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพิ่มเติมดำเนินคดีก็ทำได้ ซึ่งทหารจะดำเนินคดีหรือไม่ก็อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายของเขาตรวจสอบแล้วว่าจะดำเนินคดีหรือไม่
พ.ต.อ.อรรถวิทย์ กล่าวว่า ในกรณีของคุณวีระและคุณบุญยืน เป็นครั้งแรกที่ใช้กฎอัยการศึกเพราะมีการพูดคุย ห้ามแล้ว ส่วนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ทำในพื้นที่ปิด เช่น ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามโรงแรมต่างๆ ทาง คสช.และ บช.น.ก็ไม่ได้ปิดกั้น สามารถทำได้ แต่การออกมาเคลื่อนไหวบนถนนเป็นลักษณะที่จะทำให้มีความวุ่นวาย หากปล่อยให้เกิดขึ้นจะมีการเลียนแบบจะเสียบรยากาศ จึงต้องห้ามตรงนี้
ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ อนุกรรมการศึกษาและตรวจสอบปัญหาแรงงาน กสม. ถามตัวแทนของ คสช. ว่าเกณฑ์ของ คสช. เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กำหนดว่าการแสดงออกบนท้องถนนถือว่าไม่สงบนั้นเป็นปัญหา การรวมตัวของประชาชนเป็นร้อยเป็นพันจะทำได้หรือไม่
พ.ท.บุรินทร์ ตอบว่าต้องดูเจตนาของแต่ละกลุ่ม เช่นกรณียื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ก็มีการเชิญแต่ไม่ได้ควบคุมตัวมาชี้แจง แล้วแต่พฤติกรรมที่ทำในแต่กรณี หากรวมตัวเป็นร้อยเป็นพันแต่ไม่ได้มีลักษณะที่กล่าวไป ทางผู้ใหญ่ก็จะมีการพิจารณาโดยละเอียด
พันธ์ศักดิ์-กมนเกด ร่วมถก
พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีจับกุมนายพันศักดิ์ ศรีเทพ นางพะเยาว์ อัคฮาดและนายณัทพัช อัคฮาด กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี 2553 ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา จากกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีศาลอาญายกฟ้องคดีการสลายการชุมนุมปี 53 โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ ว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ไม่ปกติ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งทาง สน.บางซื่อกังวลอย่างมากว่าการกระทำดังกล่าวจะขัดต่อประกาศของ คสช. หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจก่อให้เกิดความแตกแยกและไม่สงบ รวมถึงเกรงเกิดเหตุแทรกซ้อนจากมือที่ 3 จึงได้ขอกำลังจากตำรวจและทหารมาร่วมกันเพื่อป้องกันเหตุแทรกซ้อน กรณีนี้เป็นความเข้าใจผิดว่าศาลยกฟ้อง หากแต่เป็นการฟ้องผิดศาล ศาลอาญาเพียงระบุว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ส่วนทางตำรวจต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มและฝ่าฝืนกฎอัยการศึกหรือคำสั่ง
ตำรวจกล่าวต่อว่า วันนั้นนายณัทพัชและนางพะเยาว์มาที่ทางขึ้นรถไฟฟ้ากำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกิจกรรมและการตัดสินของศาลอยู่มีการแจกเอกสารใบปลิว ทางตำรวจเกรงว่าจะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารและชักชวนให้มีการรวมกลุ่มที่อาจจะขัดต่อประกาศ คสช. 97 และกฎอัยการศึก จึงได้เชิญทั้งสองคนไปที่ สน. ขอร้องให้หยุดการกระทำ ขณะเดียวกันทางพันศักดิ์ได้โยนใบปลิวบนสะพานลอยลงบนถนน ซึ่งมีประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเข้าไปเก็บจนชุลมุน ทางตำรวจก็ได้เชิญไปที่สน.ย่อย ชี้แจงว่าการกระทำอาจจะขัดกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. ที่ 97 ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกับเอกสารที่พะเยาว์และณัทพัชแจกกับสื่อ เมื่อเชิญตัวทั้งสามคนก็ได้มีนายอานนท์ นำภา ทนายความตามไปที่สน. ด้วย
เมื่อถึงสน.ก็ได้พิจารณาร่วมกับทหารพระธรรมนูญว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะไปพาดพิงถึงบุคคลอื่นในเอกสาร ก็ได้แจ้งไปทางผู้ถูกพาดพิงว่าประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าจะดำเนินคดีทาง สน. ก็จะรับแจ้งความแต่ถ้าไม่ก็เป็นสิทธิของผู็ถูกพาดพิงที่จะไม่ดำเนินการ แต่ในกรณีของนายพันศักดิ์ที่ได้โปรยใบปลิวเป็นความผิดซึ่งหน้า ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหา ถ้าตำรวจไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะมีความผิดโดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ได้แจ้งข้อหาพันศักดิ์คนเดียว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พศ 2535 มาตรา 10 วรรคแรก ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากไม่เสียค่าปรับในชั้นสอบสวน สามารถไปเสียค่าปรับในชั้นศาลได้ซึ่งอาจจะปรับต่ำกว่านี้ แต่ผู้ต้องหาก็ยอมเสียค่าปรับในอัตราสูงสุดดังนั้นคดีอาญาก็สิ้นสุดกันไป
ส่วนการกระทำดังกล่าวขัดคำสั่ง คสช. หรือ ประกาศบางฉบับ แต่การฝ่าฝืนไม่ได้กำหนดโทษก็ได้พิจารณาร่วมกับทหารพระธรรมนูญตกลงกันว่าจะเอาความผิดตามปกติ แต่ไม่เอากฎอัยการศึกมาใช้ ทหารพระธรรมนูญเห็นว่าน่าจะประนีประนอมกันได้ จึงได้ชี้แจ้งว่าในเรื่องที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมยังสามารถอุทธรณ์คดีได้ และหากต้องการแสดงความคิดเห็นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้เวทีเสวนาที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือหมิ่นเหม่ต่อการผิดคำสั่ง คสช. ส่วนไม่มีผลทางกฎหมายเป็นเพียงผลทางจิตวิทยาเท่านั้น และทุกฝ่ายรวมทั้งนักสิทธิมนุษยชนที่มาด้วยก็ยินยอมทำความเข้าใจ
นายรัษฎาสอบถามว่าขณะที่มีการควบคุมตัวจากสถานีรถไฟฟ้าไปที่สน.ย่อยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใช่หรือไม่
พ.ต.อ.เศกสิทธิ์ ตอบว่าไม่ได้เป็นการคุมตัวแต่เป็นการเชิญตัวไปเพื่อยับยั้งและปรับทัศนคติ เนื่องจากการกระทำหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ส่วนใบปลิวที่โปรยมีลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลที่ถูกพาดพิง ซึ่งก่อนหน้านั้นตำรวจของทาง บก.น. 1 ก็ได้ไปยับยั้งขอพะเยาว์ว่าอย่าเคลื่อนไหวเช่นนี้ ในการนำตัวไปได้พาขึ้นรถตู้ไปแล้วพาเข้าห้องประชุมของสน. มีการเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ ไม่ได้พันธนาการ ในส่วนของคดีความผิดตามพรบ.รักษาความสะอาดฯ กรณีของพันศักดิ์คนเดียว ไม่รวม พะเยาว์และณัทพัช ส่วนคดีหมิ่นประมาทหลังจากได้ทำหนังสือแจ้งไปแล้วยังไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความ
พ.อ.วิจารณ์ตอบข้อซักถามว่าการเรียกบุคคลไปปรับทัศนคติว่าได้ผลจริงหรือไม่จากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม มีการเชิญคนทุกฝ่ายมาเป็นจำนวนมาก เมื่อปรับความเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่าแต่ละคนที่ออกมาให้ข่าวว่าการปฏิบัติของ คสช. ไม่มีใครโต้แย้งคัดค้าน มีความเข้าใจกัน แล้วก็ไม่ออกมาสร้างความวุ่นวาย การปรับทัศนคติเป็นสิ่งที่ดี การเจรจาพูดคุยดีที่สุด
นายพันศักดิ์ แสดงความเห็นว่าหลังจากที่ศาลยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็มองว่าควรต้องมีการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ถ้าไปร้องที่ศาลอาญาก็จะเป็นการละเมิดศาลก็เลยเลี่ยงเรียกร้องไปที่ประชาชนดีกว่าว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางกลุ่มเรียกร้องมาตลอดว่าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ขอให้จบที่เราซึ่งจะจบได้ด้วยกระบวนการยุติธรรม จึงจัดกิจกรรมแจกใบปลิวเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้มีเจตนาทำความสกปรกกับบ้านเมือง เพราะจะเห็นว่ากระดาษหนึ่งรีมที่โปรยไปก็ถูกเก็บเหลือเป็นหลักฐานเพียงแค่ 197 แผ่น ซึ่งหากตำรวจไม่ได้มาเก็บไปเสียก่อนก็เชื่อว่าจะถูกเก็บไปจนหมด เข้าใจได้ว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่เจตนาคือต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมจากกิจกรรมนี้
นางพะเยาว์ ชี้แจงว่ากิจกรรมที่จัดไม่ได้เป็นกิจกรรมที่คัดค้านทางการเมืองแต่เรียกร้องความยุติธรรม และรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิเกินไปหรือไม่ เนื่องจากมีตำรวจพยายามจะคุมตัวตั้งแต่อยู่บนรถไฟฟ้า มีตำรวจคนหนึ่งคอยโทรศัพท์ถามตลอดว่าอยู่สถานีอะไรแล้วเพื่อที่ออกจากประตูรถมาก็จะได้บล็อกตัวเลย
นายณัทพัช เสริมว่าการที่บอกว่าเชิญตัวเอาขึ้นรถตู้จริงๆ แล้วเป็นรถกระบะติดไซเรน แล้วรถข้างหลังก็เป็นรถห้องขังที่จอดเตรียมไว้ คำว่าเชิญตัวน่าจะเป็นเชิญแต่โดยดี แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ดักอยู่ทุกชั้นและเมื่อเดินทางถึงสถานีรถไฟฟ้าแล้วก็มีตำรวจมาล้อมวงกลมทั้งสองชั้น เมื่อมีการพูดอะไรก็มีมาดึงตลอด
เรื่องการปรับทัศนคติ เขาถูก คสช. จับวันที่ 22 -26 พฤษภาคม โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีชื่อในรายชื่อที่ประกาศไว้ ตอนจับก็เอาปืนมาจ่อแล้วก็เอาขึ้นรถไป ไปเปลี่ยนรถแล้วก็เอาไปขังที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 นครปฐม ขังเดี่ยวโดยไม่ให้ติดต่อใคร สภาพที่อยู่ก็ไม่ได้เป็นบ้านพัก แต่เป็นห้องเล็กๆ มีซี่ลูกกรง มีห้องน้ำในตัว ไม่มีไฟให้ มีน้ำให้วันละ 4 ถัง ตอนออกมาก็ให้เซ็นเอกสารห้ามเคลื่อนไหวการเมือง ทุกวันนี้ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ ในการปรับทัศนคติไม่มีทหารคนไหนมาพูดคุยด้วยเลยขังไว้ในห้องเฉยๆ ตอนปล่อยก็ไม่ได้บอกว่าปล่อยแต่เป็น คสช. เรียกมารายงานตัว เอาไปปล่อยไว้ที่กองทัพภาคที่ 1 ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าถูกจับด้วยข้อหาอะไร
นายรัษฎาสอบถามเพิ่มว่าการแสดงความคิดเห็นถ้าไม่ได้มาเดินบนถนนแต่เป็นจัดเสวนาตามโรงแรมก็อะลุ่มอะล่วยได้ แต่มีข้อมูลว่าทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรนิรโทษกรรมสากล จัดงาน “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” มีคำสั่งห้ามไม่ให้จัดกิจกรรม ก็เป็นเรื่องทางวิชาการแต่ก็ถูกห้าม คสช. ทราบเรื่องหรือไม่และมีเหตุผลใด ซึ่งในคำถามนี้ทาง นพ.นิรันดร์ได้ชี้แจงว่าไม่ได้แจ้งประเด็นนี้ไว้กับทางเจ้าหน้าที่ทหารก่อนว่าจะมีการสอบถาม