กราบเรียน ท่านเอกอัครราชทูต
สืบเนื่องจากการที่กลุ่มผู้ประท้วง ในนาม
"กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" ได้มีการชุมนุมขึ้นที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุนและร่วมปราศรัยบนเวที รวมทั้งมีการจัดเวที "ผ่าความจริง" ของพรรคประชาธิปัตย์คู่ขนานกันไปกับเวทีของกองทัพประชาชนฯ ซึ่งโดยแรกเริ่มเดิมที ทั้งสองกลุ่มมีการประกาศปลุกระดมชักชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้าน การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐสภา แต่จากการสังเกตการณ์เนื้อหาบนเวทีของทั้ง กองทัพประชาชนฯ และ พรรคประชาธิปัตย์ กลับมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันคือ กล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีความต้องการที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าข้ออ้างว่าต้องการยับยั้งการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นอกจากนั้น กองทัพประชาชนฯ ยังได้ส่งจดหมายไปยังท่านเอกอัครราชทูต โดยมีเนื้อหาที่เป็นการใส่ร้ายรัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริง รวมทั้งเรียกร้องให้ท่านเอกอัครราชทูตฯ สื่อสารข้อมูลเท็จเหล่านั้น ไปยังรัฐบาลในประเทศของท่านด้วยนั้น
ข้าพเจ้า ในฐานะตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ในฟากฝั่งรัฐบาล ต้องกราบขออภัยต่อกรณีของการเรียกร้องของ กองทัพประชาชนฯ ด้วย การเรียกร้องนั้น เป็นการเรียกร้องที่ปราศจากวุฒิภาวะ เพราะเป็นการสื่อสารข้อมูล ที่แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่พวกเขาสนับสนุน ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ และการเรียกร้องให้ท่านเอกอัครราชทูต สื่อสารจินตนาการอันบกพร่องของพวกเขาต่อไปยังนานาประเทศ เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียภาพลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าต้องขอเรียนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยมิได้มีความคิดความต้องการเช่นนั้น
ข้อกล่าวหาในจดหมายของ กองทัพประชาชนฯ โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่วกวน แสดงถึงตรรกะที่สับสน และไม่ได้มีเนื้อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้ระบุว่ามีความบกพร่องในเนื้อหาตรงไหน? อย่างไร?ถึงต้องปลุกระดมมวลชนออกมาต่อต้าน มีเพียงแต่ย้ำว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ต้องการระบอบทักษิณ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะสรุปให้เป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
1. การกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการกล่าวหาที่เกินเลย การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และผู้ที่จัดการเลือกตั้ง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีที่มาจากการสรรหาของ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา ตัวแทนศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน การเลือกตั้งมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เข้ามาโดยง่ายดาย หากแต่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างแท้จริง และแม้การเลือกตั้งที่ผ่านมาจะอยู่ในบรรยากาศที่บ้านเมืองเปี่ยมไปด้วยวิกฤต ที่เรียกว่า 2 มาตรฐาน แต่พรรคเพื่อไทยยังได้ที่นั่งในสภาฯ ถึง 265 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ถือว่าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างท่วมท้นจริง ๆ ดังนั้นการกล่าวหาว่ามีที่มาโดยไม่ชอบธรรมนั้นเป็นการกล่าวหาที่เกินเลย
2. การกล่าวหาเรื่อง โครงการจำนำข้าว, โครงการโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และโครงการอื่น ๆ ของรัฐบาล ว่าเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้พวกพ้องนั้น เป็นการกล่าวหาที่ดูหมิ่นเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เลือกพรรคเพื่อไทยให้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ว่าหลังจากที่เป็นรัฐบาล จะดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ข้างต้น ตามที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าว พรรคเพื่อไทยได้ทำการศึกษาวิจัยโดยละเอียด และยืนยันว่าเป็นโครงการที่ตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชน ทั้งนี้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยมุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวคือ ชาวนาผู้ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติซึ่งยังยากจนอยู่ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถปลดหนี้ครัวเรือน ก็เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น การกล่าวหาว่าโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นโครงการเพื่อพวกพ้องของตน เป็นตรรกะที่สวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
3. การกล่าวหาว่า โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลจะเกิดการคอร์รัปชั่น เป็นการกล่าวหาล่วงหน้าที่ปราศจากหลักฐาน เนื่องจากโครงการจำนำข้าวอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการ ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ท่านมีนโยบายและการควบคุมอย่างเข้มงวด และกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยต่อประชาชน
หรือในกรณี โครงการโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ซึ่งยังไม่มีการลงทุนแต่อย่างใด การกล่าวหาล่วงหน้า ถือเป็นการหมิ่นประมาทรัฐบาลอย่างร้ายแรง ซึ่งในขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความพยายามที่จะสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ผ่านงานประชุมสัมมนาหลายครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ซักถาม เข้าถึงข้อมูลทางตรงตลอดมา
รวมทั้งการบริหารงานและการดำเนินงานของรัฐบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง จะมีคณะกรรมการควบคุมดูแลภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมาทุกรัฐบาล ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบได้ตลอดเวลาการกล่าวหารัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่ามีคอร์รัปชั่น ต้องกล่าวหาบนหลักฐานข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ดังที่พรรคเพื่อไทยเคยแสดงหลักฐานอย่างชัดแจ้งถึงการคอร์รัปชั่นในรัฐบาล อภิสิทธิ์ ในโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการครุภัณฑ์การศึกษา โครงการสร้างโรงพัก เป็นต้น
4. การกล่าวหาว่าการกู้เงินของรัฐบาลจะขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น ไม่เป็นความจริง การกู้เงินของรัฐบาลอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งมีข้อกำหนดถึงสัดส่วนของการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่กฎหมายอนุญาตไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลมีสำนักงานกฤษฎีกา เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายตั้งแต่ต้น ก่อนที่นำเสนอต่อรัฐสภา
5. การกล่าวหาว่า รัฐบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานเพื่อคนคนเดียว คือ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นั้น เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากคนส่วนใหญ่ให้บริหารประเทศ พรรคเพื่อไทยยอมรับตลอดมาว่า ฯพณฯ ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาของพรรค ท่านได้เสนอแนะนโยบายที่สร้างสรรค์ให้แก่พรรค ซึ่งอันที่จริง ท่านก็ได้ความคิดมาจากการรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน ผ่านการประมวลข้อมูลจาก ฯพณฯ ทักษิณ และทีมงานของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงทำงานเพื่อคนทุกคนในประเทศไทย ไม่ใช่เพื่อคนคนเดียว เป็นการกล่าวหาที่ปราศจากน้ำหนักโดยสิ้นเชิง
6. การที่ กองทัพประชาชน และ พรรคประชาธิปัตย์ นิยามว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,รัฐบาลที่มีนโยบายที่ตอบสนองเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ของประเทศ, รัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างระบอบประชาธิปไตย สร้างนิติรัฐ นิติธรรม, รัฐบาลที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คือ รัฐบาลในระบอบทักษิณ ก็มิได้หมายความว่า กองทัพประชาชนจะยกย่อง นายกทักษิณให้เป็นตัวแทนประชาธิปไตย หากแต่เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะล้มล้างประชาธิปไตย ด้วยเทคนิคการใช้ภาษา ให้คนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด
ซึ่งครั้งหนึ่งคนเหล่านี้เคยกระทำสำเร็จมาแล้ว จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย และคนไทยในขณะนั้นสับสนถึงขั้นสนับสนุนการรัฐประหารไปก็มี และบัดนี้ ก็ยังมีความพยายามอยู่เช่นเดิม ในการใช้วาทกรรมต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นข้ออ้าง ที่จะล้มล้างประชาธิปไตย ล้มล้างการเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง
บัดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีจุดยืนที่ชัดเจน ที่จะต่อต้านการล้มล้างประชาธิปไตยและการรัฐประหารทุกรูปแบบ รวมทั้ง มีจุดยืนที่จะต่อต้านต่อระบอบอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นระบอบเผด็จการทรราชที่เคยสังหารหมู่ประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดต่อระบอบอภิสิทธิ์ชน ที่เป็นระบอบ 2 มาตรฐาน อันปราศจากการเคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม และปราศจากการเคารพกันซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
จากตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากการที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ที่ต้องคดีจากข้อหาต่าง ๆ ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และพวกเขาถูกคุมขังมานานถึง 3 ปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด ในขณะนี้คู่ขัดแย้ง ได้กระทำผิดในข้อหากบฏและก่อการร้ายในการยึดทำเนียบรัฐบาลและทำลายข้าวของราชการนานถึง 7 เดือน ยึดสนามบิน พกพาอาวุธ สังหารและทำร้ายเจ้าพนักงาน กลับได้รับการประกันตัว และไม่ต้องถูกคุมขังเลยแม้สักวันเดียว
ดังนั้นฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะตัวแทนของประชาชน จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่เป็นปรากฏการณ์ที่ขัดต่อหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการเคารพกันซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาค ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความจำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้ามาพิจารณาในรัฐสภาฯ ที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงมา ณ ที่นี้ ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มิใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งในประเทศ หากแต่เกิดจากกลุ่มคนที่มุ่งมั่นจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอ่อนแอ เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการกระทำซ้ำซาก ครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และทุกครั้งจะมียุยงให้กองทัพกระทำการรัฐประหาร และพวกเขาจะได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารเข้ามาเป็นรัฐบาล และทุกครั้งจะก่อปัญหาให้เกิดความไม่เป็นธรรม 2 มาตรฐาน ที่หมักหมมในประเทศไทยมายาวนาน
และในครั้งนี้ ความพยายามในการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังคงดำรงอยู่ ถึงแม้ว่า การยุยงให้กองทัพก่อการรัฐประหาร จะมีความยากลำบากมากขึ้นก็ตาม แต่ผลพวงแห่งความไม่เป็นธรรมจากการรัฐประหาร ก็ยังหลงเหลืออยู่ในรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่เคารพต่อหลักการของการแบ่งแยกอำนาจ รัฐธรรมนูญที่ปราศจากสมดุลของอำนาจทั้งสาม
ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยยังไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความเป็นธรรมในชีวิต และไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในการที่จะตรวจสอบบุคคลที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความเป็นธรรมในบ้านเมือง
ตุลาการรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และครึ่งหนึ่งของจำนวนวุฒิสมาชิก มีที่มา จากคนกลุ่มเดียวกัน ไม่มีกลไกที่ยึดโยงกับประชาชนเลย ประชาชนไม่มีทางใดที่จะสะท้อนความคิดหรือสัมผัสอธิปไตยจากคนกลุ่มนี้ และไม่มีทางตรวจสอบถอดถอนได้เลยแม้แต่น้อย จึงมีความพยายามจากตัวแทนประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจต่าง ๆ กลับมายึดโยงกับประชาชน ซึ่งไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะกระทำการใด ๆ ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มที่ต้องการรักษาระบอบอภิสิทธิ์ชนไว้ ไม่ว่าในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 จะมีการพิจารณา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม หรือไม่ กลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็จะออกมาต่อต้านล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอยู่ดี ซึ่งหากมีความจำเป็น เราก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาแผ่นดินตามความเหมาะสม ซึ่งข้าพเจ้าได้แนบข้อมูลในข้อกฎหมายมานี้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับท่านว่าเราจะยึดมั่นในกฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้
สุดท้าย ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การพิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐสภา พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะยึดมั่นในกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของการประชุมของรัฐสภาอย่างเคร่งครัด ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าพเจ้าก็เชื่อมั่นว่าจะควบคุมให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนมีประสบการณ์มาอย่างดี เชื่อว่าท่านเหล่านั้นจะทำงานอยู่ภายใต้กฎหมายของบ้านเมืองอย่างเคร่งครัดเช่นกัน
ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราในฐานะตัวแทนประชาชน จะสามารถนำพาประเทศให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ความวุ่นวาย ได้อย่างที่ผ่าน ๆ มา ดังเดิม ขอให้ท่านเอกอัครราชทูตเชื่อมั่นในรัฐบาลและรัฐสภาที่เป็นตัวแทนที่แท้
ข้าพเจ้าขอขอบคุณ นานาอารยประเทศที่ให้ความสนับสนุนต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และพร้อมที่จะร่วมต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบในประเทศไทย เพราะความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ยังหมายถึง ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยและความเข้มแข็งของคุณค่าแห่งประชาชนในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน
ด้วยความนับถือ
ดร. จารุพรรณ กุลดิลก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย