วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุมตัว 'อดีตกกต. วาสนา-ปริญญา' เข้าเรือนจำ ศาลฎีกาคุก 2 ปี ถ่วงคดีไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กเลือกตั้ง49


ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 2 ปี 'วาสนา เพิ่มลาภ -ปริญญา นาคฉัตรีย์' อดีต กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สอบสวนคดีล่าช้า พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 49 หลังคำพิพากษา จนท.นำตัวทั้งสองเข้าเรือนจำทันที
3 มิ.ย.2559 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ อ.1464/2549 ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อายุ 67 ปี อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) , ปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 68 ปี , วีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. ( เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541มาตรา 24 และ 42 กรณีที่ไม่เร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 โดยพลันตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการวินิจฉัย พ.ศ.2542 มาตรา 37 ,48 จำเลยให้การปฏิเสธ
      
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.49 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา, ปริญญา และวีระชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 3 ปี ขณะที่ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ต่อมาวันที่ 14 พ.ค.51 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระหว่างฎีกาคดีวีระชัย จำเลยที่ 3 ได้เสียชีวิตลง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1-2 สั่งประชุม กกต. เพื่อพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนเลือกตั้งไม่ทุจริตที่ให้สอบสวนเพิ่มเติมในส่วนของพรรคไทยรักไทย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และเพื่อเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทยหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 136-148 กำหนดให้มี กกต. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อิสระในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่สุจริต โดยมาตรา 147 บัญญัติว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็ให้อำนาจ กกต.ตั้งอนุกรรมการสอบสวนและสั่งการโดยพลัน ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯแล้ว ได้มีการรายงานผลว่า เชื่อว่ามีการกระทำผิดของผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย รวมทั้งพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ซึ่งต่อมาจำเลยได้มีมติให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ กกต. ที่ได้แก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคที่ขาดคุณสมบัติเรื่องการสังกัดพรรค 90 วัน ให้มีคุณสมบัติครบเพื่อลงเลือกตั้งในเขตที่พรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ให้ได้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมทั้งให้ดำเนินการกล่าวโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผอ.พรรคเล็ก และแจ้งให้อัยการสูงสุดยุบพรรคเล็ก
      
ตามรายงานของอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังมีพยานที่เชื่อได้ว่ามีการรับเงินค่าตอบแทนจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมว.กลาโหม และ พงษ์ศักดิ์ รัตตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย แต่จำเลยกลับสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย เนื่องจากเห็นว่ามีการพาดพิงผู้บริหารพรรคไทยรักไทยหลายคน โดยนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาได้มีหนังสือแจ้งมาที่จำเลยที่ 1 ว่าไม่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่จำเลยไม่ได้ตระหนัก อีกทั้งยังออกหนังสือเชิญให้ พล.อ.ธรรมรักษ์ และพงษ์ศักดิ์ เดินทางมาให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ กระทั่งเมื่ออนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดใหม่ได้สรุปสำนวนส่งให้จำเลยแล้วจึงได้ประชุมและมีมติให้ส่งสำนวนพรรคไทยรักไทยให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา ตามความเห็นของ นาม ประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดก่อน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าพวกจำเลยเชื่อตามสำนวนสอบสวนของ นาม
โดยข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏแต่แรกว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นถึงรัฐมนตรีเมื่อมีการดำเนินการใดย่อมส่งผลประโยชน์ต่อพรรค แต่จำเลยไม่สั่งการให้ดำเนินการกับพรรคไทยรักไทยแต่ก่อนหน้ากลับสั่งให้วินิจฉัยสอบสวนพรรคไทยรักไทยเพิ่มเติม กระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.49 แล้วจำเลยได้ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเร่งรีบ ที่จะมีผลให้ทางพรรคไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่จำเลยสั่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กกต. และพรรคเล็กทันที จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ
      
จึงเชื่อว่าจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าการดำเนินคดีย่อมส่งผลต่อพรรคไทยรักไทยอย่างรุนแรง จำเลยที่ 1 เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองย่อมแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาส่งสำนวนให้ศาลยุบพรรคไทยรักไทยได้ การประชุมของจำเลยและลงมติให้สอบสวนเพิ่มเติมจนเวลาล่วงเลยถึงการเลือกตั้ง จึงเป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทย ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งเป็นความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.กกต. พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ42 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
      
ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยมีอายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรงต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเลยเคยรับราชการ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาตินั้นเห็นว่า การที่จำเลยรับตำแหน่งสำคัญและทำคุณงามความดีจนได้รับเลือกเป็น กกต. จำเลยต้องทราบดีว่า การเป็น กกต.จัดการเลือกตั้งต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น จำเลยต้องดำรงความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นคุณต่อประเทศมากที่สุด แต่จำเลยกลับกระทำตรงข้าม แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมละทิ้งคุณงามความดีที่ได้กระทำมาทั้งหมด จำเลยจึงไม่ควรยกมาอ้าง แม้จำเลยจะมีอายุมากและสุขภาพไม่ดีก็ไม่เพียงพอจะให้รอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
      
ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และ ปริญญา นาคฉัตรีย์ไปคุมขังเรือนจำทันที

พ่อแม่ 'หฤษฎ์-ณัฏฐิกา' ทูลเกล้าถวายฎีกา ขอสิทธิประกันตัวคดี ม.112


บิดาของหฤษฎ์ และมารดาของณัฏฐิกา ผู้ต้องหาคดี ม.112 ซึ่งถูกทหารบุกจับปมทำเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอสิทธิประกันตัว หลังยื่นมาแล้ว 2 ครั้งไม่ได้ ทนายชี้เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลย
3 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 9.00 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ พร้อมด้วย กฤช มหาทน บิดาของ หฤษฎ์ มหาทน และ อาภรณ์ วรธันยวิชญ์ มารดาของ ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ต้องหาคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 เดินทางมาเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว พร้อมกับยืนยันว่า หากทั้ง 2 คน ได้รับการประกันตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป
วิญญัติ ทนายความ ระบุว่าอยากให้เข้าใจว่าการขอประกันตัวเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น เบื้องต้นทั้งสองคนได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองมาโดยตลอด ที่ผ่านมาทำไปตามกระบวนการ มีการยื่นประกัน 2 ครั้งแล้ววันนี้ก็อาจจะเป็นครั้งที่ 3  โดยมีการเตรียมที่จะยื่นประกันของผู้ต้องคดี ซึ่งการขอยื่นประกันเรามีการยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์เรียบร้อยแล้วก็คงจะนำสำเนาแนบไปด้วยเพื่อประกอบการใช้ดุลยิพินิจของศาลทหาร หลักทรัพย์เท่าเดิม ก็คงจะ 5 แสนบาทเหมือนเดิม เพราะว่ามีมาตรฐาน หรือมีกรณีตัวอย่างมาแล้วว่าศาลทหารให้ประกันคดี 112 ในวงเงิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ หฤษฎ์และณัฏฐิกา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุมพร้อมกับบุคคลอื่นอีก 6 คนรวมเป็น 8 คนเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา พวกเขาถูกกล่าวหาว่ารับจ้างมาเป็นแอดมินและจัดการเนื้อหาในเพจเฟซบุ๊กเสียดสีการเมือง 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ทั้ง 8 คนถูกนำมาแถลงข่าวในวันที่ 28 เม.ย.และแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 116 ปลุกระดมปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(3) และถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร ศาลอนุมัติและส่งเข้าเรือนจำ วันต่อมา 29 เม.ย. มีรายงานข่าวว่าศาลทหารได้อนุมัติหมายจับเพิ่มเติม คือ หฤษฎ์และณัฏฐิกา ในข้อหามาตรา 112 โดยอ้างเหตุกรณีการพูดคุยส่วนตัวกันในกล่องข้อความ (แชต) ในเฟซบุ๊ก ต่อมาหฤษฎ์ จำเลยได้ให้ข่าวตั้งข้อสังเกตว่าการได้หลักฐานของเจ้าหน้าที่อาจกระทำไปโดยมิชอบ และเกิดกระแสไม่ไว้วางใจบริการเฟซบุ๊กในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จากนั้นตำรวจได้ออกมาชี้แจงว่าหาหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าได้มาโดยวิธีใด

ดักคอเลื่อนประชามติ iLaw แจงยื่นตีความ พ.ร.บ.ประชามติแค่มาตราเดียว


ไอลอว์ชี้ไม่ว่าศาลรธน.วินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ อย่างไร ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลื่อนการทำประชามติ ชี้ขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ 
3 มิ.ย. 2559 จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ และประชาชนรวม 107 คน ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการประชุมว่าจะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ไอลอว์ ชี้แจงว่า กรณีที่ผู้ตรวจการออกมาแถลงนั้น เป็นเพียงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดการแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ ผลที่จะตามมาก็คือ เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ จะใช้บังคับไม่ได้ เสมือนว่าเนื้อหาตามวรรคสองนี้ไม่เคยมีอยู่ และบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีตามวรรคสองของกฎหมายดังกล่าวก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมายนั้นอีกต่อไป
พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับนี้ มีทั้งหมด 66 มาตรา ความยาว 21 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียง การแบ่งเขตออกเสียง ผู้มีสิทธิออกเสียง การนับคะแนน การประกาศผล ฯลฯ มาตรา 61 เองมีหกวรรค หรือหกย่อหน้า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับเสรีภาพของประชาชนและขัดกับรัฐธรรมนูญ จะมีผลกระทบเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ความยาวสี่บรรทัดเท่านั้น มาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับนี้และย่อหน้าอื่นๆ ในมาตรา 61 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติลุล่วงไปได้
ไอลอว์ยกตัวอย่างกรณีที่ใกล้เคียงกันกับเรื่องนี้คือ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 198 ว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลสามีเท่านั้น ทำให้ชายและหญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมายด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล
จากกรณีนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546 ระบุว่า พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 30 ที่คุ้มครองสิทธิเสรีของประชาชนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งผลที่ตามมาภายหลังคำวินิจฉัยก็คือ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ถูกยกเลิก เพียงมาตราเดียวเท่านั้น และหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อการลงประชามติหรือไม่ ไอลอว์เห็นว่า ขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะการอ้างว่า หากมาตรา 61 วรรคสองบังคับใช้ไม่ได้ จะทำให้ไม่มีกฎหมายควบคุมและจะเกิดความวุ่นวายในการทำประชามติ เป็นเพียงการสันนิษฐานไปเองโดยที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และในความเป็นจริงแม้ไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง การหมิ่นประมาท การยุยงปลุกปั่น การปล่อยข่าวลือที่เป็นเท็จ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้แต่การโพสต์ข้อความบนสื่อออนไลน์ที่กระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ก็เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และในภาวะปัจจุบันยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารอยู่แล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังให้ความเห็น ต่อกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้อีกว่า “หากไม่มี มาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม" เช่นเดียวกับ ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ
"หากมีการเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไปนั้น มิใช่ผลจากกระบวนการการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นผลจากการตัดสินใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญจะช่วยให้ พ.ร.บ.ประชามติไม่ถูกนำเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน" ไอลอว์ ระบุ

มีชัยบอกก็มีแต่เพียงนิวเคลียร์ลงเท่านั้นที่จะเลื่อนประชามติไปจากเราได้



3 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยคำร้องดังกล่าวเป็นของ จอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (3 มิ.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ตนมองว่าอย่าคิดไปไกล เพราะประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่สาหัสแต่อย่างไร ขณะที่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเรื่องดังกล่าวก็มีเพียงว่า หากจำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ตนมองว่าหากมีความจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่ กรธ.นั้นขออยู่อย่างสงบและเจียมตัวจะดีกว่า
ต่อกรณีคำถามที่ว่า หากวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนจากเดิม มองว่าจะเป็นจุดกระทบความมั่นคงรัฐบาลได้หรือไม่  มีชัย กล่าวว่า คงไม่เพราะการเลื่อนวันลงประชามติเพราะมีเหตุจำเป็นและมีอุปสรรค ไม่ใช่เป็นเพราะความต้องการที่จะอยากเลื่อนเท่านั้น ขณะที่ผลของการเลื่อนประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะกระทบโรดแมปของรัฐบาลหรือไม่ก็ต้องดูว่า หากเลื่อนแล้วจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหา มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ยังไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เลื่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากที่กำหนดไว้เดิมไว้ได้ หากถามว่าอะไรที่เป็นเหตุจำเป็นต้องเลื่อนวันประชามติได้นั้น ตนคิดว่าอาจจะเป็นเหตุการระเบิดจากนิวเคลียร์ หรือเกิดสงครามโลก

หวั่นหากตีความ ม.61 ขัด รธน. เนื้อหาร่างฯถูกบิดเบือนหนักแน่

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า มีชัย กล่าวอีกว่า ต้องดูที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ตีความประเด็นใด หากเป็นเฉพาะบางถ้อยคำ เช่นคำว่า “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” หากขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็พอมีผลใช้ได้ แต่หากให้ตีความทั้งวรรค ก็จะกระทบกับการป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเริ่มมีการบิดเบือนเยอะมากขึ้น แม้ว่าจะมีกฎหมายทั่วไปบังคับใช้เพื่อควบคุมแทนได้บ้าง แต่ก็ไม่ตรงตามจุดประสงค์ต่อการออกเสียงประชามติ จึงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน แล้วถามความเห็น กกต. ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย ส่วนผลกระทบต่อโรดแม็ปหากมีการเลื่อนการทำประชามติ ที่นายกรัฐมนตรีเองก็เริ่มแสดงความเห็นไว้นั่น ก็ต้องรอความชัดเจนจากคำวินิจฉัยก่อน

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 'หฤษฎ์-ณัฏฐิกา' หลังยื่นขอเป็นครั้งที่ 3 ชี้คดีมีอัตราโทษสูง เกรงหลบหนี


3 มิ.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา หลังจากทนายความ บิดาและมารดา ของหฤษฎ์ มหาทน และณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ต้องหาคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ยื่นต่อศาลทหาร เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว เป็นครั้งที่ 3
ล่าสุด ศาลทหารสั่งว่า ขณะยื่นคำร้อง พนง.สอบสวนไม่อยู่ และติดต่อไม่ได้ แต่ พนง.สอบสวน ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ ตามคำร้องขอฝากขังฉบับลงวันที่ 3/6/59 ศาลได้นำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนในชั้นนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิม ให้ยกคำร้อง
นัดฝากขังครั้งต่อไป 15 มิ.ย.นี้
โดยเมื่อช่วงสายของวันนี้ บิดาและมารดาของทั้ง 2 ได้เดินทางเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว พร้อมกับยืนยันว่า หากทั้ง 2 คน ได้รับการประกันตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ทั้งนี้ หฤษฎ์และณัฏฐิกา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุมพร้อมกับบุคคลอื่นอีก 6 คนรวมเป็น 8 คนเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา พวกเขาถูกกล่าวหาว่ารับจ้างมาเป็นแอดมินและจัดการเนื้อหาในเพจเฟซบุ๊กเสียดสีการเมือง 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ทั้ง 8 คนถูกนำมาแถลงข่าวในวันที่ 28 เม.ย.และแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 116 ปลุกระดมปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(3) และถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร ศาลอนุมัติและส่งเข้าเรือนจำ วันต่อมา 29 เม.ย. มีรายงานข่าวว่าศาลทหารได้อนุมัติหมายจับเพิ่มเติม คือ หฤษฎ์และณัฏฐิกา ในข้อหามาตรา 112 โดยอ้างเหตุกรณีการพูดคุยส่วนตัวกันในกล่องข้อความ (แชต) ในเฟซบุ๊ก