นักวิชาการ ม.ซิดนีย์ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ระบุ 3 เหตุผลที่การเคลื่อนไหวนี้มีความสำคัญต่อการต้านเผด็จการ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการแสดงออกให้เห็นว่าการบังคับขู่เข็ญของเผด็จการใช้ไม่ได้ผล
7 มี.ค. 2558 เอม สินเพ็ง อาจารย์ภาควิชารัฐบาลและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขียนบทความวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะแสดงความเป็นนักเล่นคำที่ต้องการสื่อถึงการเลือกตั้งที่ถูก "ลัก" ไปแล้ว ยังเป็นการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมมวลชนและการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเปิดเผยมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557
เอม สินเพ็ง ระบุว่าในการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีลักษณะการล้อเลียนด้วยกลอนรักต่อกลุ่มคนในเครื่องแบบเพื่อเรียกร้อง "สิทธิและเสียงที่หายไป" พร้อมมองว่า การเคลื่อนไหวเชิงอารยะขัดขืนในแนวนี้คล้ายกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงมักจะเคยทำในช่วงปี 2554 และ 2557
ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์นิวแมนดาลายังระบุอีกว่า การเคลื่อนไหวกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' มีความสำคัญในแง่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารในปัจจุบันด้วย 3 เหตุผลดังนี้
เหตุผลข้อแรก เอม สินเพ็ง ระบุว่าการเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการจงใจท้าทายรัฐบาลเผด็จการปัจจุบัน ทำให้เป็นการขัดขืนและลดทอนความชอบธรรมในการหาเหตุผลเพื่อบังคับขู่เข็ญของรัฐบาล ทั้งนี้ การบังคับขู่เข็ญนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อเป้าหมายผู้รับสารรับรู้ว่าตนกำลังถูกข่มขู่อยู่ การบังคับขู่เข็ญมักจะกระทำโดยการเสนอเหตุผลว่าเหตุใดพฤติกรรมบางอย่างถึงควรทำและถ้าหากไม่ยอมทำตามจะส่งผลอย่างไร ซึ่งเผด็จการทหารมักจะใช้ทั้งการบังคับขู่เข็ญผสมผสานไปกับการกล่าวอ้างจริยธรรมเพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชน
เอม สินเพ็งมองว่าความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้การบังคับขู่เข็ญให้ได้ผลและจะต้องผูกขาดอำนาจการบังคับขู่เข็ญไว้คนเดียว โดยการข่มขู่และคุกคามเช่นนี้มักจะใช้เพื่อสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวและการสถาปนาว่าควรจะเชื่อฟังใคร
แต่การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ก็เปิดโปงข้อด้อยที่สำคัญของยุทธวิธีการข่มขู่ของรัฐบาล คือเรื่องแรงจูงใจที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับ บางคนอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมพวกเราต้องทำตามด้วย จริงอยู่ว่าการไม่ปฏิบัติตามอาจจะมีความเสี่ยง แต่การปฏิบัติตามก็ดูเหมือนจะไม่ได้ให้อะไรที่ชัดเจนเลย มันไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้เกิดระเบียบในสังคม ความมั่งคั่ง หรือประชาธิปไตยเลย
ในแถลงการณ์ของกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" (Resistant Citizen) ผู้จัดงานรำลึกถึงการเลือกตั้งก็ระบุเน้นย้ำว่าการบังคับขู่เข็ญของรัฐบาลเผด็จการใช้ไม่ได้ผล
เอม สินเพ็ง ระบุว่าในขณะที่ชาวไทยจำนวนมากเข้าใจว่าความพยายามของทหารที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นไปตามความต้องการของตนโดยไม่มีข้อโต้แย้งเป็นเรื่องเพ้อฝันแต่พวกเขาก็ยังเซนเซอร์ตัวเองและยอมตามเพราะคิดว่าบทลงโทษมีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป แต่การแสดงออกของกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" ก็ช่วยลด "ราคาที่ต้องจ่าย" ลงผ่านการแสดงออกด้วยการประท้วงในที่สาธารณะจากกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการร่วมกัน
บทความระบุถึงเหตุผลที่ 2 ที่ทำให้การเคลื่อนไหวนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และบางคนก็เป็นผู้ที่ทางการไทยกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ละเมิดข้อบังคับซ้ำๆ" แสดงให้เห็นว่าพลังอำนาจในการบังคับขู่เข็ญของเผด็จการทหารมีน้อยลง การข่มขู่ไม่ทำให้ผู้ต่อต้านยอมล่าถอยไป แต่ยิ่งทำให้เหล่าผู้ต่อต้านรัฐบาลเห็นว่าตนมีสถานะสำคัญในการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
บทความของเอม สินเพ็ง ระบุถึงเหตุผลข้อที่ 3 ว่า การเคลื่อนไหว 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งมากขึ้นของกลุ่มต่อต้านเผด็จการ นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงจากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ ก็ร่วมสนับสนุนช่วยขอยื่นประกันตัวนักกิจกรรมกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" ที่ถูกจับกุมตัว ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่อไปในอนาคต
เอม สินเพ็งระบุในบทความว่า "แม้ว่ารัฐบาลเผด็จการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่ล่มสลายไป แต่รากฐานของมันกำลังสั่นคลอนจากกระแสต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้น"