วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พล.อ.ประยุทธ์ประชุม ครม. วาระพิเศษ - สนช.เตรียมประชุม 11.00 น.


พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระพิเศษ โดยมีสมาชิก คสช. ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประธาน กรธ. ร่วมด้วย ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา
29 พ.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีวาระพิเศษ ที่จะส่งต่อให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ซึ่งรัฐบาลได้เชิญสมาชิกคสช. เข้าร่วมรับทราบด้วย โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะสมาชิกคสช. ซึ่งเมื่อวานนี้ (28พ.ย.) เลขาธิการวุฒิสภาปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกหนังสือด่วนเรื่องการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระการประชุม ตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี โดยนัดพิเศษ ในเวลา11.00น. ที่อาคารรัฐสภา
ในรายงานของมติชนออนไลน์ ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุม เกี่ยวกับการพิจารณาวาระพิเศษการตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า ขณะนี้การประชุมวาระพิเศษได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยได้มอบหมายให้เลขาฯ นำเรื่องส่งยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ขณะที่ในเว็บไซต์สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีคำสั่งนัดประชุม สนช. เป็นพิเศษ วันนี้ (29 พ.ย.2559) โดยจะเริ่มเวลา 11.00 น. ส่วนวาระการประชุมขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เปิดเผยว่า จะทราบวาระหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ที่จะมีขึ้นในเวลา 10.00 น. โดยจะเป็นการประชุมลับเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและจัดระเบียบวาระการประชุมหากมีการแจ้งวาระพิเศษมาจากคณะรัฐมนตรีมาให้พิจารณา โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังหรือเข้าบันทึกภาพก่อนเข้าห้องประชุม
ส่วนขั้นตอนในวันนี้หากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะประชุมกันในเวลา 09.00 น. และมีมติส่งวาระสำคัญให้ สนช.ดำเนินการ จากนั้นจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมวิป สนช.ในเวลา 10.00 น. และเมื่อวิป สนช.รับทราบ แล้วจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. ที่จะมีขึ้นในเวลา 11.00 น. สำหรับบรรยาการล่าสุดที่อาคาร ขณะนี้มีเจ้าหน้าและสมาชิก สนช.เดินทางมาบางส่วนแล้ว ขณะที่การรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามปกติมีการตรวจตรารถทุกคันที่เข้าออกและบุคคลที่เข้ามาภายในอาคารรัฐสภาต้องติดบัตรแสดงตน

สนช.กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์


พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า รับทราบมติคณะรัฐมนตรีแล้ว พร้อมกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยสืบไป พร้อมเชิญสมาชิก สนช. ยืนขึ้นเพื่อกล่าวคำถวายพระพรชัย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

29 พ.ย. 2559  หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีวาระพิเศษ ที่จะส่งต่อให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณานั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาในการประชุม สนช. เมื่อเวลา 11.20 น. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาระบุว่า รับทราบการแจ้งมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของประชาชนชาวไทยสืบไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 2 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 23 ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
ที่มาของภาพ: โทรทัศน์รัฐสภา/ThaiPBS
หลังจากนั้นที่ประธาน สนช. กล่าวว่า โอกาสอันเป็นมหามงคล ขอให้ท่านสมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมกล่าวคำถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลใหม่ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ประยุทธ์ แจงประชุมร่วม ครม.-คสช. อัญเชิญพระรัชทายาททรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10



29 พ.ย. 2559 ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไป้แถลงข่าวว่า วันนี้มีเรื่องสำคัญเรียนให้ทราบ อย่างที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามีการประชุมร่วม ครม. คสช. ในส่วนของการประชุมที่เป็นวาระพิเศษ มีกระบวนการของการอัญเชิญรัชทายาทซึ่งเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นครองราชย์ เพราะฉะนั้นขั้นตอนกำหนดไว้ตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญไว้แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ครม.ก็ได้มีการประชุมเพื่อรับทราบในการเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว เพื่อทำหนังสือแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แจ้งไปตามหลักการ เพราะฉะนั้นก็เป็นตามพระราชประเพณีและรัฐธรรมนูญถูกต้องทุกประการ เพราะฉะนั้นก็จะได้อัญเชิญพระรัชทายาททรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อไป เป็นไปตาม มาตรา 20 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญ 2550
"นี่ก็เป็นเรื่องเรียนให้ทราบ ก็เป็นไปตามขั้นตอนนั่นล่ะ เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศาลทหารเห็นเองว่าประกาศ-คำสั่งคสช.ชอบด้วยกฎหมาย คดีพลเมืองรุกเดินไม่ส่งศาลรธน.วินิจฉัย


ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องที่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ชี้ปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
29 พ.ย. 2559 จากกรณีที่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้พิจารณาคดีความผิดของตัวเอง เช่น คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แล้วข้อหานำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการจัดกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ และโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะมีการเดินเพื่อแสดงออกว่าพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ไทยได้ขอเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ทำให้สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้นั้น
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 24 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 10.05 น. น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ และ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ออกนั่งพิจารณาคดีที่พันธ์ศักดิ์ ถูกอัยการทหารฟ้องในคดีดังกล่าว โดยศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นต่อคำร้องที่พันธ์ศักดิ์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ใจความว่า การที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ รวถึงการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของบุคคลทั่วไป
นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศหรือสั่งนับตั้งการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นที่สุด จึงเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ศาลทหารกรุงเทพยังวินิจฉัยในข้อโต้แย้งของจำเลย เรื่องที่การประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญิติ บริหาร และตุลาการ เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตุลการศาลทหารในปัจจุบัน เป็นรองหัวหน้าและประธานที่ปรึกษา คสช. ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติอำนาจของตุลาการและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นการแบ่งแยกอำนาจและหลักความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดีไว้ชัดเจน
ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องเรื่องศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ขณะประกาศกฎอัยการศึก ขัดต่อประเพณีการปกครองและ พันธกรณระหว่างประเทศ ICCPR ที่กำหนดให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เมื่อประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และขอใช้สิทธิเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR บางประการไว้แล้ว
ศาลทหารกรุงเทพจึงเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ให้ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ผู้บัญชาการทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหาร และศาลทหารในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกห้ามอุทธรณ์และฎีกา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และ ICCPR อีกทั้ง รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลทหาร ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่อาจส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ให้ยกคำร้องของจำเลย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้แสดงความเห็นด้วยว่า โดยปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแม้ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะไม่มีบัญญัติโดยตรงที่ระบุให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมาย แต่ใน มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บัญญัติให้ศาลอันรวมถึงศาลทหาร มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมให้วินิจฉัยข้อกฎหมายได้
นอกจากนี้ ระหว่างที่ศาลกำลังอ่านคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้ยึดโทรศัพท์มือถือที่ปิดอยู่ และแบตเตอรี่สำรองของญาติจำเลย ซึ่งเข้าฟังการพิจารณาคดี และเปิดโทรศัพท์ของญาติจำเลยขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย เมื่อมีผู้โต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวถูกปิดอยู่ตลอด หากมีการเปิด-ปิดโทรศัพท์จะต้องมีเสียงดังให้ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาได้ยิน แต่ระหว่างกระบวนพิจารณาไม่ได้มีเสียงเปิด-ปิดโทรศัพท์ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดโทรศัพท์ขึ้นเอง เจ้าหน้าที่ศาลทหารจึงยอมคืนโทรศัพท์ให้แก่ญาติของจำเลย

ปม ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู ที่ระนอง กระแสถามกลับลงโทษเกินกว่าเหตุ-คนร่วมงานสวมเสื้อสี

กรณีชาวระนองประท้วง ผอ.โรงเรียน สวมเสื้อแดงเลือดหมู จนถูกสั่งย้าย เจ้าตัวเปิดใจไม่มีเจตนา พร้อมขอบคุณชาวระนองทุกคน ขณะที่เพจ Drama-addict ชี้ผิดปรกติ ว่าเป็นนอกเวลาราชการ ผอ.ก็ติดริบบิ้นไว้ทุกข์ไว้เรียบร้อย คนอื่นในงานก็แต่งสีเหลืองสีฟ้า ทำไมชาวบ้านถูกปลุกปั่นให้มาเดินขบวนขับไล่จนถึงกับมีคำสั่งย้าย
29 พ.ย. 2559 จากกรณี ประชาชน ชาว จ.ระนอง จำนวนหนึ่ง ประท้วง ปนัดดา จันทวงศ์ ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 ซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งจาก จ.ขอนแก่น ซึ่งในวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เดินทางเข้ารับตำแหน่งนั้น กลับใส่ชุด “สีแดงเลือดหมู” แต่ติดโบว์ดำที่หน้าหน้าอก ชาวบ้านที่ประท้งเห็นว่า แต่งกายสีไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงไว้ทุกข์
วานนี้ (28 พ.ย.59) เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า มีหนังสือจากสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 28 พ.ย.2559 เรียนถึง ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 จ.ระนอง ระบุข้อความ ด้วยขณะนี้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางการบริหาร ลดกระแสความรุนแรงในชุมชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางการบริหาร ลดกระแสความรุนแรงในชุมชน และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ จึงให้ข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา ปนัดดา จันทวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ปฏิบัติราชการประจำสำนักงานเป็นการชั่วคราว ลงชื่อ การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนังสือราชการข้างต้น ไม่ได้ระบุว่าผอ.คนดังกล่าวย้ายไปปฏบัติราชการที่ใด ทั้งนี้ "เดลินิวส์ออนไลน์" จึงสอบถามไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ สพฐ. แจ้งว่า ขณะนี้ผอ.คนดังกล่าวถูกคำสั่งย้ายให้ไปปฎิบัติราชการประจำสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นการชั่วคราว ก่อนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเป็นการด่วน.

ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู เปิดใจไม่มีเจตนา พร้อมขอบคุณชาวระนองทุกคน

ขณะที่ ข่าวนิวทีวี เผยแพร่วิดีโอคลิปเมื่อเวลา 8.17 น. วันนี้ (29 พ.ย.59) ปนัดดา ผอ.เสื้อแดงเลือดหมู ดังกล่าวเปิดใจ ว่าไม่มีเจตนาที่จะให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ รู้สึกเสียใจมาตลอดตั้งแต่รู้ข่าวคราว เสียใจและไม่มีเจตนาจริงๆ  เพราะว่าตลอดระยะเวลาในการรับราชการมาก็อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ตั้งปณิธานทำงานเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นข้าของแผ่นดินมาโดยตลอด
"รู้สึกเสียใจจากใจจริง ตลอดเวลาก็คือเกิดมาในรัชกาลที่ 9 ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ขอบคุณชาวระนองทุกคน" ปนัดดา กล่าว

กระแสสวิงกลับตั้งคำถามลงโทษเกินกว่าเหตุไหม

สำหรับกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่าง เฟซบุ๊ก นอกจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมของการแต่งตัวแล้ว เมื่อมีข่าวถึงขั้นประท้วงขับไล่ผอ.คนดังกล่าว รวมทั้งสั่งย้าย กลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกทางหนึ่งจำนวนมาก ว่ากรณีนี้ลงโทษเกิดกว่าเหตุ และไม่สมเหตุสมผลที่จะไล่ เนื่องจาก ผอ.คนดังกล่าวแต่ชุดในวันหยุดคือวันเสร์ พร้อมทั้งมีการติดติดโบว์ดำที่หน้าหน้าอกแล้ว รวมทั้งมีผู้นำภาพผู้ร่วมงานเดียวกันกับผอ.คนดังกล่าวที่ไม่ได้ใส่ชุดดำอีกด้วย
 
ตัวอย่างเช่น เพจ Drama-addict ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 1.4 ล้าน โพสต์ว่า เรื่องนี้แปลกมาก คือ ผอ. เขาใส่ชุดสีเลือดหมู (ถ้าคนไทยเชื้อสายจีน จะถือว่านี่เป็นสีมงคล) ไปร่วมงานรับตำแหน่ง ผอ. โรงเรียน ใน "วันหยุดราชการ" ซึ่งปรกติข้าราชการเขาก็ไว้ทุกข์กันในเวลาราชการตามปรกติ  อันนี้นอกเวลาราชการ ใส่ชุดสีไรก็ได้ คนอื่นในงานก็แต่งสีเหลืองสีฟ้ากันเยอะแยะ แล้ว ผอ. แกก็ติดริบบิ้นไว้ทุกข์ไว้เรียบร้อย ชุดก็เป็นชุดปรกติ  ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับประเด็นการเมืองเลย ทำไมจู่ๆ ชาวบ้านถูกปลุกปั่นให้มาเดินขบวนขับไล่แก จนถึงกับมีคำสั่งย้ายแกออกนอกพื้นที่วะ มันผิดปรกติมาก
 




ภาพที่มีการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าในงานดังกล่าวไม่ได้มีเพียง ผอ.ที่ถูกสั่งย้ายเท่านั้นที่สวมเสื้อสี (ที่มาเพจ วิวาทะ)