วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลทหารออกหมายจับ ม.112 'ณัฏฐิกา-หฤษฏ์' 2 ใน 8 ผู้ต้องหาทำเพจล้อประยุทธ์เพิ่ม


 
29 เม.ย.2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้อนุมัติหมายจับ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และ หฤษฏ์ มหาทน 2 ใน 8 ผู้ต้องหา จัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพิ่มเติม ให้ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ด้วย หลังพบหลักฐานมีการสนทนากันในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวและดำเนินคดีต่อไป
 

ทหารฟ้อง 'บุรินทร์ อินติน' 2 ข้อหา 'ม.112 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'  

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า บุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม ยืนเฉยๆ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ ปล่อยตัว 8 ผู้ต้องหาจัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าว เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ผ่านมา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำตัว บุรินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ข้อหา ม.112 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) นำส่งพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผกก.(สอบสวน)กก.3บก.ปอท. ดำเนินคดี
โดย พ.อ.บุรินทร์ เปิดเผยว่า ทหารเฝ้าติดตามพฤติกรรม บุรินทร์ หลังจากสายข่าวพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Burin Intin” ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 กระทั่งวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.13 น. บุรินทร์ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 40 นาที พร้อมข้อความ “นู๋อยากโดนอุ้ม#ปล่อยเพื่อนเราที่โดนอุ้ม” ก่อนจะมีบุคคลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปดังกล่าว และ บุรินทร์ ตอบความคิดเห็นในลักษณะหมิ่้นเบื้องสูง หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ช่วงเวลา 18.00 น. บุรินทร์ เดินทางมาร่วมกิจกรรม "ยืนเฉยๆ” ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ก่อนจะเป็น 1 ใน 16 รายที่ถูกตำรวจสน.พญาไทควบคุมตัว
พ.อ.บุรินทร์ กล่าวว่า จากนั้นทหารจึงเดินทางไปยังสน.พญาไท เพื่อเชิญตัว บุรินทร์ มาควบคุมตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ทหารมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนบก.ปอท.เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ บุรินทร์ และวันนี้ศาลทหารจะออกหมายจับ เมื่อตรวจค้นตัวกลับไม่พบโทรศัพท์ของ บุรินทร์ จึงสอบถาม บุรินทร์ ได้ความว่าฝากโทรศัพท์ให้กับเพื่อนชื่อว่าน (นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อน สิรวิชญ์ เสรีวัฒน์ หรือ จ่านิว) อยู่ระหว่างติดตามตัว ว่าน จากนั้นจึงขยายผลตรวจค้นที่ร้านอัดรูปสปอร์ตดิจิตอลโฟโต้ ปากซอยปลูกจิตร 1 ถนนพระราม4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ที่ บุรินทร์ อาศัยอยู่ พบซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง ที่ใช้ในการเล่นเฟซบุ๊ก และขันแดง(ที่แจกในวันสงกรานต์) 1 ใบ
มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์และเดลินิวส์ ยังรายงานตรงกันด้วยว่า บุรินทร์ ผู้ต้องหา รับว่า ตนเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ 19 ก.ย. 2558 จากนั้นจึงมีโอกาสรู้จักกับ สิรวิชญ์  และติดต่อพูดคุยกันมาตลอด จนรู้จักกับแม่สิรวิชญ์ และแชตพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าร้ายสถาบันจริงเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตนโพสต์ข้อความต่างๆ ผ่านโทรศัพท์และโพสต์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27  เม.ย. ก่อนถูกจับกุม ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันและสาเหตุที่นำโทรศัพท์ให้เพื่อนชื่อว่านนั้น เพราะแบตโทรศัพท์จะหมด จึงให้ไปเพื่อชาร์จแบตเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะทำลายหลักฐาน จึงอยากฝากผ่านสื่อไปถึงว่านและจ่านิวว่า ให้นำโทรศัพท์กลับมาคืนด้วย
ด้าน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร กล่าวว่า รับตัว บุรินทร์ จากทหาร ก่อนจะสอบปากคำ พร้อมตรวจสอบซีพียูคอมพิวเตอร์ที่ได้มาว่ามีข้อมูลใดบ้าง ทั้งนี้จะนำตัวนายบุรินทร์ฝากขังศาลทหารก่อนเวลา 09.00 น.ในวันที่30 เม.ย. พร้อมขยายผลหากพบบุคคลใดเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทันที 

รายงาน: หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ = มาตรา 116? หัวหน้า คสช. = รัฐ ?


ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดมาแถลงข่าวที่กองปราบ (28 เม.ย.)


เพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ใช่เพจโด่งดังอะไรมากมายในโลกโซเชียล คนไลค์สามสี่หมื่น และเมื่อเกิดการอุ้ม ‘ทีมงาน’ หลายคน คนก็กดไลค์เพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดหมื่นกว่า
เนื้อหาของเพจนี้เทียบกับการต่อต้านรัฐบาลทหารในโลกโซเชียลแล้วนับว่า “ขำๆ” และดูเหมือนเพจก็ตั้งใจผลิตเนื้อหาทำนองนั้น ไม่มีประเด็นเป็นชิ้นเป็นอัน และเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก
ผู้ต้องหา 8 คน (เป็นหญิง 1 คน) ถูกกล่าวหาว่าเป็นทีมทำเพจ พวกเขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบตามมาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลเท็จตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเนื่องจากศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง ทำเป็นขบวนการ”
มาตรา 116 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคง และหลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้คดีความมั่นคงลักษณะนี้ขึ้นศาลทหาร
การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งโจมตี กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วโดนข้อหามาตรา 116 ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น กรณีที่ใกล้เคียงกันและศาลทหารเคยมีคำสั่งไว้แล้วว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 116 คือ คดีของรินดา ปฤชาบุตร
6 ก.ค.2558 มีการโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท
8 ก.ค.2558 ทหารบุกจับตัวที่บ้าน
10 ก.ค.2558 ตำรวจรับมอบตัวรินดาจากทหาร และแจ้งข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)
10 ก.ค.2558 ทนายความยื่นขอประกันตัว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกัน
13 ก.ค.2558 ทนายยื่นประกันใหม่อีกครั้งและศาลทหารอนุญาต
21 ธ.ค.2558 ศาลนัดสอบคำให้การ และวินิจฉัยว่าข้อความไม่เข้ามาตรา 116 โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้บันทึกไว้ว่า

“ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่อ่านคำฟ้องของโจทก์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท" ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ 
"จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะไปอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีอีกที ขณะที่อัยการโจทก์ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี  จากนั้นจึงกลับเข้าอีกครั้ง พร้อมอัยการอีกคน ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้อัยการฟังอีกครั้ง และย้ำว่าคดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย ความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี อัยการจึงแถลงค้านต่อศาลสั้นๆ ว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่าอัยการโจทก์ค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณา ให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว  และรอฟังคำสั่งศาลอีกที ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีไปให้ฟ้องที่ศาลอาญาแทน”
นี่เป็นคดีหนึ่งในสองคดีที่ศาลทหารวินิจฉัยเองว่าข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ นับเป็นการหมิ่นประมาทส่วนบุคคล ไม่เข้าข่ายความผิดฐานความมั่นคงอย่างมาตรา 116 อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แต่ไม่มากนักและไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ทางกฎหมายหรือทางการเมืองเท่าไร ผิดกับหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ถี่ขึ้นและได้ผลหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารได้ (ดูรายละเอียด)
ในเมื่อมาตรา 116 เป็นยักษ์ที่ออกมานอกตะเกียงและน่าจะอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ประชาไทสนทนากับ ‘สาวตรี สุขศรี’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าหลักการของมาตรานี้แท้จริงเป็นอย่างไร และการฟ้องคดีนี้สมเหตุสมผลในทางกฎหมายหรือไม่
“มาตรา 116 ทุกวันนี้ที่มีการใช้กันมากขึ้น หากจะนับก็ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และมากขึ้นอีกหลังรัฐประหาร 2557 มันมีลักษณะที่คนทำงานในสายอาญาเห็นได้ว่า มาตรานี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะใช้ไปตามเจตนารมณ์ มีองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนด แต่รัฐกลับเอากฎหมายอาญามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
"เราไม่รู้หรอกว่าท้ายที่สุดจะตัดสินออกมาว่าผิดหรือไม่ แต่เมื่อตั้งข้อหานี้ มันให้ผลทางการเมือง ทุกคนจะไม่กล้า ทำไมโทษหนักขนาดนี้ จริงๆ คนที่เป็นนักกฎหมายอาญาควรออกมาพูดเรื่องนี้บ้าง กฎหมายที่คุณใช้หากินอยู่มันถูกเอาไปใช้ในทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง” สาวตรีกล่าว
“ที่สำคัญ พอมีพวกโซเชียลมีเดีย เขาก็จะใช้มาตรา 116 เยอะเพื่อไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันอาจไม่พอ ต้องมีมาตรา 116 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 คสช.กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร คนก็จะคิดว่าไม่พูดอะไรดีกว่า” สาวตรีกล่าว

สำหรับหลักการของมาตรา 116 นั้น สาวตรีอธิบายว่า โดยปกติใช้กับการลุกขึ้นมาป่าวประกาศทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือสื่อสารมวลชน แต่มาตรานี้มีองค์ประกอบของมัน จะผิดได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต สองคำนี้ตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมาออกมาเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จะผิดมาตรา 116 ได้ต้องเป็นความมุ่งหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้กฎหมายยังมีวงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง วงเล็บสาม นั่นเป็นเหมือนเจตนาพิเศษ สิ่งที่พูดแล้วขัดกับระบอบประชาธิปไตย คุณมุ่งหมายที่จะ 1.ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รัฐบาล 2.ต้องการให้เกิดความปั่นป่วน
แรงจูงใจพิเศษตามมาตรานี้ เช่น กรณีที่มีกลุ่มประท้วงบอกว่าให้ทหารออกมายึดอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อย่างนี้ผิดแน่นอน เพราะไม่ใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กรณีเพจดังกล่าวเราไม่รู้ว่าทหารและตำรวจใช้เหตุผลไหน โดยส่วนตัวไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างไหนล้วนไม่เข้ามาตรา 116 เบื้องต้นยกตัวอย่างไว้ 3 แนวทาง
1.อ้างว่าเป็นเพจที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความวุ่นวาย – ขาดองค์ประกอบทำให้ไม่เข้ามาตรา 116 เพราะโดยปกติในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์ตัวกฎหมายเป็นเรื่องทำได้และต้องทำด้วย เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามยุคสมัย และมันเป็นวัตถุแห่งการทำประชามติด้วยจึงต้องเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางประชาธิปไตย
2.อ้างว่าเป็นเพจต่อต้านรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นยุยง – ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เช่นกัน เหตุผลคล้ายกับประเด็นแรก ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นโยบาย นักการเมือง เป็นเรื่องทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากบอกว่าทำไม่ได้เลย การชุมนุมไม่ว่าจะต่อต้านรัฐบาลไหนที่ผ่านมาก็ต้องผิดมาตรานี้หมด การวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียนเสียดสีก็เป็นการทำให้คนฉุกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต้องทำได้อยู่แล้วในวิถีทางประชาธิปไตย การจะเข้ามาตรานี้ต้องยุยงด้วยว่าลุกขึ้นจับอาวุธ หรือกระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สาวตรีบอกว่า ถามว่าในเขียนเพจ 'เชิญชวนประชาชนมาลอยกระทงยักษ์ ช่วยกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ' ผิดไหม มองว่ายังขาดองค์ประกอบของการใช้กำลังข่มขืน ประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ทั้งนี้มูลเหตุจูงใจก็ยังถูกคลุมด้วยองค์ประกอบหลัก คือ ต้องไม่เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การวิจารณ์หรือด่ารัฐบาล ถ้าตีความแบบเป็นธรรมที่สุดในระบอบประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องไม่เข้า
3.อ้างว่าเป็นเพจหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ –เรื่องนี้ศาลเองก็เคยพูดไปแล้วว่าไม่เข้า ประเด็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยก็โดนล้อเลียนเสียดสี ถามว่ากฎหมายคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง ของคนเหล่านี้ไหม คำตอบคือ คุ้มครอง แต่ไม่ได้คุ้มครองแบบมาตรา 116 แต่คุ้มครองเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น
“จริงๆ คนเป็นบุคคลสาธารณะควรเปิดกว้างต่อการวิจารณ์ แต่ถ้าคุณอยากลุกขึ้นมาเอาเรื่องจริงๆ เต็มที่เลยคือ ข้อหาหมิ่นประมาท การเอาสิ่งนี้ซึ่งเป็นอาญาส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับมาตรา 116 นี่คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกตัวเองขึ้นมาเหนือสถาบันทั้งหมดในประเทศนี้ เท่ากับบอกว่าคุณคือรัฐ หากแตะต้องจะกลายเป็นเรื่องความมั่นคง” สาวตรีกล่าว
ในกรณีที่ฟ้องในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรีอธิบายว่า หากจะพอเข้าองค์ประกอบความผิดก็คือ มาตรา 16 เพราะเขียนไว้กว้างๆ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพล้อเลียนทำให้อับอาย ทุกยุคทุกสมัยถ้านักการเมืองจะฟ้องก็ฟ้องได้ แต่ไม่มีใครเขาฟ้อง แต่ไม่ใช่มาตรา 14 ตามที่ตำรวจฟ้องอย่างแน่นอน เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่ มาตรา 14(1) อันนี้โดยเจตนารมณ์ต้องการเอาผิดกับการทำฟิชชิ่งทางอินเทอร์เน็ต การหลอกลวง แต่มันถูกใช้และตีความเป็นหมิ่นประมาท เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
ขณะที่ มาตรา 14 (3) โยงเข้ากับกฎหมายอาญา แต่ถ้ายืนยันว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรานี้ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็โยงไม่ได้
เหลืออยู่อันเดียวคือ มาตรา 14(2) ซึ่งเขียนกว้างมาก ขึ้นอยู่กับการตีความมากๆ และอาจจะกว้างกว่ามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอง แต่อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกของมาตรานี้ก็ยังน้อยกว่ามาตรา 116 อยู่ดี
"สังคมอาจเรียกร้องได้ว่า คุณเป็นบุคคลสาธารณะ ความอดทนอดกลั้นคุณต้องเยอะกว่าคนทั่วไป แต่หากเขาจะไม่อดทนอดกลั้นก็ได้เพียงมาตรา 16 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 10,000 บาท" สาวตรีกล่าว


ปรากฏการณ์การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหาร


หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน ดังนี้

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตี คสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

5. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร จากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

6. คดีของพลวัฒน์ จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

7. คดีของพันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเดินเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ปัจจุบันอัยการทหารสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 คดียังไม่มีวันนัดพิจารณา

8. คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้าน คสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน

10. คดีของชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสต์ข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย

11. คดีนางรินดา จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 8 ผู้ต้องหา ม.116 ทำเพจล้อการเมือง


เปิดคำคัดค้านฝากขังของศูนย์ทนายโดยละเอียด ชี้หมิ่นประมาทประยุทธ์ ไม่ใช่คดีความมั่นคง ม.116 ศาลทหารเคยวางมาตรฐานไว้เองแล้ว 2 คดี  ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8  คนถูกส่งไปเรือนจำแล้ว ญาติขอประกันตัววางเงิน 1 แสนบาท ศาลทหารไม่ให้ประกัน


29 เม.ย. 2559 ช่วงสายที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหา 8 คนในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คนที่ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เม.ย.และต่อมาตำรวจแถลงข่าววานนี้ว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกับการรับจ้างทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ในเฟซบุ๊ก และแจ้งข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และปลุกปั่นยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ญาติผู้ต้องหาหลายรายรวมถึงทนายความเพิ่งได้พบกับผู้ต้องหาเป็นครั้งแรก มีการแต่งตั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมด และดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน (อ่านคำร้องฉบับเต็มในล้อมกรอบด้านล่าง) จากนั้นศาลได้เรียกไต่สวน

พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า กระบวนการตรวจประวัติ ลายนิ้วมือยังไม่เสร็จสิ้น และเหลือพยานต้องสอบอีกราว 15 ปาก รวมทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งแปดคัดค้านการฝากขังโดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งแปดคนไว้หมดแล้ว และพวกเขาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี เจ้าหน้าที่มีที่อยู่ปัจจุบันของทุกคนและก่อนการเข้าจับกุมของทหาร เจ้าหน้าที่รัฐก็ล่วงรู้ทุกการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว สามารถเชิญตัวพวกเขามาให้การเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดศาลอนุมัติคำร้องฝากขังโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้นและคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษสูง มีความละเอียดซับซ้อนไม่เหมือนคดีทั่วไป จึงอนุมัติฝากขัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างไต่สวน กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ผู้ต้องหาหนึ่งเดียวที่ให้การรับสารภาพในการแถลงข่าวของตำรวจเมื่อวานนี้แจ้งศาลว่าจะขอกลับคำให้การ ศาลแจ้งว่าวันนี้เป็นเพียงการฝากขังไม่ใช่การพิจารณาคดี กัณสิทธิ์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้อธิบายเหตุผล อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังทนายความของกัณสิทธิ์ได้ความว่า ผู้ต้องหารายนี้ระบุว่าเหตุที่รับสารภาพไปในเวทีแถลงข่าวเนื่องจากทนายความจากสภาทนายความที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจัดหาให้นั้นไม่ได้ให้คำปรึกษาว่าควรทำอย่างไร และในเวทีแถลงข่าวเขาถูกพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ถามเป็นคนแรกต่อหน้าสื่อมวลชนทำให้ลนลานและสับสน
หลังจากศาลอนุมัติคำร้องขอฝากขังไม่นาน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็นำตัวทั้งหมดไปยังเรือนจำ โดยนำผู้ชายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนผู้หญิงคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
ขณะที่ทนายความและญาติดำเนินการยื่นประกันตัวที่ศาลทหารและเตรียมฟังคำสั่งศาลในช่วงบ่ายแก่ว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่โดยกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย วิญญัติ ชาติมนตรี อาสาเป็นนายประกันผู้ต้องหาหลายคน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้หลักทรัพย์จากกองทุนพลเมืองโต้กลับ ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 100,000 บาท

ล่าสุด (ประมาณ 15.50 น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวทั้งแปดคน โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งแปด มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนระบุข้อกล่าวหาเพียงมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่ตำรวจแถลงวานนี้ว่าจะแจ้งเพิ่มเติมแก่นายหฤษฏ์ และณัฏฐิกาจากกรณีมีบทสนทนาในกล่องข้อความส่วนบุคคลที่พาดพิงสถาบัน ทนายความแจ้งว่า เบื้องต้นทราบว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจะร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้แต่ยังไม่เห็นเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 8 รายได้แก่ 1.หฤษฏ์ มหาทน หรือ ปอน 2.นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท หรือนามปากกาวรารัตน์ เหม็งประมูล 3.นายนพเก้า คงสุวรรณ หรือ นพ 4.นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 5.นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 6.นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 7.นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี และ 8.นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี

คำร้องคัดค้านการฝากขังของศูนย์ทนายความฯ มีรายละเอียดดังนี้
1.ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกนำตัวจากกองปราบปรามมาฝากขังต่อศาลทหารครั้งที่ 1 ในวันนี้ โดยได้แต่งตั้งทนายความที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้วางใจเพื่อทำหน้าที่ทนายความแล้ว
2. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ ณ ภูมิลำเนาในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ภายหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ที่ มณฑลทหารบกที่ 11  (มทบ.11)  โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติและทนายความ ในการจับผู้ต้องหาทั้ง 8ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางหรือก่ออันตรายใดแก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยที่ขณะร้องขอ ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว การออกหมายจับดังกล่าวก็ด้วยเพื่อต้องการจับตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เนื่องจากคดีนี้จากข้อกล่าวหามิใช่การกระทำผิดเฉพาะหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาได้มีความจำเป็นเพียงพอที่จะขออำนาจศาลควบคุมตัวดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด ผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงขอคัดค้านการฝากขัง ด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้

2.1 ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนนั้น ต้องเป็นการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน แต่เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลแล้ว ย่อมหมายถึงผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ให้การไปทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งมวลแล้ว ไม่ประสงค์จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์อันใดทางกฎหมายต่อพนักงานสอบสวนอีกแล้ว ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ส่วนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก็ดี การสอบสวนพยานอื่นก็ดี ก็หาอยู่ในวิสัยที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องอยู่ร่วมกระบวนการแต่อย่างใด การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น เป็นการกระทำทางการเมืองที่ต้องการให้เกิดผลอย่างอื่นนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเหตุตามกฎหมายที่จะร้องขอดังที่พนักงานสอบสวนอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด

2.2 คดีนี้ในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการใดอันถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งต่อผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่ามีข้อความหรือข้อเท็จจริงใดที่จะกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่าได้กระทำความผิด มีแต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่บังอาจกระทำการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานหรือข้อความอันใดอันอาจสื่อความหมายว่าเป็นการกระทำความผิดในชั้นสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยไม่มีมูล การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องของพนักงานสอบสวนไว้พิจารณาได้
2.3 จากคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยลักษณะกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ศาลทหารเองก็เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานถึง 2 คดี ว่ามิใช่เรื่องที่ต้องด้วยบทบัญญัตมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หากแต่ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคล รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 129 /2558 ระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ กับนางรินดา หรือหลิน ปฤชาบุตร จำเลย และหนังสือส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวนคดีของนางจุฑาทิพย์ หรือเจนนี่ เวโรจนาภรณ์ ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2558 เอกสารที่ส่งมาด้วยแล้วฉบับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ดังนั้น เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิใช่เรื่องที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 8 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต่อศาลทหารเพื่อฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ในวันนี้ 
2.4 คดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญและพนักงานสอบสวนหาได้มีความมุ่งหมายที่จะกระทำการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด การสร้างสภาวะความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมอาจดูเหมือนบ้านเมืองถูกปกครองได้อย่างราบคาบ แต่ในระยะยาวที่ประเทศไทยต้องดำรงอยู่ในสังคมโลกย่อมเป็นผลเสียและกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้แม้ประเทศไทยจะปกครองด้วยคณะรัฐประหาร แต่คณะรัฐประหารก็ได้ประกาศจะสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง เมื่อในทางรูปธรรมกลับมีการฟ้องร้องกล่าวหาประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเพียงการแสดงออกทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะอันอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การณ์ทั้งหมดก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางการเมืองไปเสีย ในภายภาคหน้าหากเราไร้หลักที่จะยึดเหนี่ยวความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน บ้านเมืองย่อมเข้าสู่วิกฤติและยากที่จะหาทางออกได้

ศาลทหารจึงเป็นเพียงองค์กรเดียวที่จะเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในภาวะเช่นนี้กลับมาได้ ขอศาลได้โปรดพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศด้วย

3. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม และวรรคแปด ในอันที่จะขอให้ศาลเปิดการไต่สวนและให้ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพนักงานสอบสวน และขอให้ศาลทหารกรุงเทพได้โปรดให้พนักงานสอบสวนเข้าสาบานตน และบันทึกถ้อยคำผู้กล่าวหาและถ้อยคำที่ทนายความผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพยานในรูปแบบคำเบิกความหรือรายงานกระบวนพิจารณา เพื่อให้กระบวนพิจารณาในวันนี้ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดีในวันนี้ต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาตตามคำขอในข้อนี้ของผู้ต้องหาทั้ง 8 ด้วย

เมื่อได้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและพิจารณาประกอบข้อกฎหมายดังที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้เรียนต่อศาลแล้ว ขอศาลได้โปรดยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เพื่อคืนเสรีภาพตามกฎหมายแก่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ในคดีนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา-กลุ่มนิสิตเกษตรฯ-เครือข่ายสลัม 4 ภาค จี้หยุดละเมิดสิทธิ-ปล่อยปชช.ทันที


28 เม.ย.2559 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน' ได้เผยแพร่ แถลงการณ์กลุ่มลูกชาวบ้าน กรณีการควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชน

โดยแถลงการณ์ระบุว่า อันเนื่องจากเหตุการณ์การควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนจำนวน 26 คน ในวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเข้าควบคุมในช่วงเช้าจำนวน 10 คนและช่วงค่ำอีกรวม 16 คน โดยไม่แจ้งข้อหาและสิทธิอันพึงมีให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ รวมทั้งไม่มีหมายจับหรือหมายค้นในการบุกเข้าควบคุมตัวประชาชนทั้ง 10 คนในช่วงเช้า

กลุ่มลูกชาวบ้าน ขอแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าวซึ่งขัดและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวบางแล้วบางส่วนก็ตาม เนื่องด้วยการกระทำในลักษณะเช่นนี้นับเป็นสิ่งที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อีกทั้งขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาในการคุ้มครองบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างสำคัญ

กลุ่มลูกชาวบ้านขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทันที และขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หยุดพฤติกรรมการคุกคามประชาชน ยกเลิกการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเช่นนี้โดยทันที และโดยถาวร เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้างในปัจจุบันไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ รองรับ เผด็จการทหารควรหยุดการกระทำโดยทันทีมิเช่นนั้นจะต้องถูกประณามและมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากประชาชนผู้สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตย
 

ขณะที่เพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา13.00 น. นิสิตและอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรมยืนเรียกร้อง คสช. ให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูก คสช. ละเมิดสิทธิและถูกจับกุมตัวไปในทันที
 
 
ด้าน กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแถลงการณ์กรณีการควบคุมตัวประชาชน โดยระบุว่า จากการที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าควบคุมตัวประชาชน 8 คน ในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 2 คน ในเขตจังหวัดขอนแก่น ในช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยไม่มีหมายจับ หมายค้น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิใด ๆ อันเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการเข้าควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักมนุษยธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนขั้นร้ายแรง ลุแก่อำนาจและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
"กลุ่มเสรีนนทรีเราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม เนื่องจาก
1. เป็นการกระทำที่อุกอาจและขัดต่อหลักมนุษยธรรม และ 2. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พึงมี"

ในนามกลุ่มเสรีนนทรีขอแสดงเจตจำนงดังนี้
1. ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
2. ยกเลิกมาตรา 44 และคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน
3. ให้ประชาชนแสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาล คสช.และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเป็นไปอย่างเสรี
 

ด้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ "หยุดจับกุมประชาชนที่เห็นต่าง: ปล่อยตัวคนเห็นต่างทันที" โดยระบุว่า กรณีการควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชน อันเนื่องจากเหตุการณ์การควบคุมตัวนักกิจกรรมและประชาชนจำนวน 10 คน ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา โดยเข้าควบคุมในช่วงเช้าโดยไม่แจ้งข้อหา และสิทธิอันพึงมีให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ รวมทั้งไม่มีหมายจับหรือหมายค้นในการบุกเข้าควบคุมตัวประชาชนทั้ง 10 คน
"เครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวซึ่งขัดและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาในการคุ้มครองบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างสำคัญ
"เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทันที และขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดพฤติกรรมคุกคาม การใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน โดยทันที เนื่องจากเป็นการกระทำที่ปราศจากเหตุผลและข้ออ้างใดๆ สิ่งที่ คสช. ควรทำ คือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มิใช่การปิดกั้นและคุกคามประชาชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะร่วมปกป้องเสรีภาพของประชาชน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"

แอมเนสตี้ร้องปล่อยตัวผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กถูกรัฐบาลทหารไทยคุมตัว



28 เม.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า การที่ผู้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กอย่างน้อย 10 คนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยใช้อำนาจอย่างกว้างขวางตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การกระทำดังกล่าวแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะปิดกั้นการอภิปรายถกเถียงก่อนจะถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
โดยทั้ง 10 คนถูกจับกุมหลังแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งรัฐบาลทหารของไทยพยายามประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ได้  สำหรับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กซึ่งถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายดังกล่าวอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ถ้าประชาชนทั่วไปไม่สามารถแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กได้ เนื่องจากอาจถูกลงโทษจำคุกถึง 10 ปี และเสียค่าปรับที่สูงลิบลิ่วแล้ว. จะมีความหวังได้อย่างไรว่าจะมีการอภิปรายถกเถียงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับร่างรัฐูธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐบาลทหาร
“รัฐบาลทหารของไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อผู้แสดงความเห็นเหล่านั้นโดยทันที และปล่อยตัวพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าสิ่งใดที่สามารถพูดได้หรือไม่สามารถพูดได้เกี่ยวกับการทำประชามติ ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้วิจารณญาณทางการเมืองตัดสินใจด้วยตนเอง” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว
รัฐบาลทหารของไทยเสนอให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ แต่ในช่วงก่อนหน้านั้น ทางการได้เพิ่มการปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เกือบทุกวันมีผู้ถูกจับกุมและถูกลงโทษแม้เพียงแค่การตั้งข้อสังเกตแบบพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งขู่ว่าเขาต้องการจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” สำหรับคนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นที่เห็นชอบของทางการ โดยบอกว่ามีผู้แสดงความเห็นซึ่งใช้ “ภาษาที่หยาบคายและก้าวร้าว” แต่ให้เหตุผลว่าทางการจะยอมรับการอภิปรายถกเถียงในลักษณะ “ที่เป็นวิชาการประกอบด้วยตรรกะและเหตุผล” ได้
“คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่าต้องการการถกเถียงด้วยข้อมูล แต่แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่างสะท้อนให้เห็นว่าทางการไม่มีความอดทนพอที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว

'สถาบันสิทธิฯ มหิดล' ชี้คุณกำลังขัดกับรธน.ของตัวเอง เหตุคุกคามคนบอกรับ/ไม่รับร่างรธน.


ภาพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แถลงสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรธน.เพื่อการออกเสียงประชามติที่เสรี-เป็นธรรม เตือนคสช. รัฐบาลและกกต. กำลังขัดรธน. ม.4 ของคสช. รวมทั้ง พ.ร.บ.ประชามติเสียเอง ที่เขียนให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
28 เม.ย.2559 จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามขอให้ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาซึ่งทำหน้าที่วิทยากรในเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 หัวข้อ “คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ทีผ่านมา ไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อชี้แจงกรณีการเผยแพร่เอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งความผิดใด ๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานและหน่วยงานต้นสังกัดของ เบญจรัตน์ ขอชี้แจงและเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
1. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายืนยันการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนและถกแถลงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อันจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม การสร้างคุณค่าร่วมกัน และการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่างเหล่านั้น

2. การแสดงออกถึงการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของปวงชน และตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”

3. พฤติกรรมของผู้แทนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการออกคำสั่ง จับกุม และข่มขู่ผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเปิดเผย เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่มุ่งสร้างความสามัคคี สกัดการใช้กำลัง และยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้ง การไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์และนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มุ่งยุติความขัดแย้งของคนในชาติ

4. ถ้ารัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า บุคคลและ/หรือองค์กรใดมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 จำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า บุคคลและ/หรือองค์กรนั้นกระทำผิดกฎหมายฉบับใด ในมาตราใด ด้วยเหตุผลใด และต้องเป็นการชี้แจงโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

5. การแจกเอกสารหรือการแถลงข่าวว่ารับหรือไม่รับ และการเชิญชวนให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำโดยสุภาพและสุจริตใจตามมาตรา 7 ที่อ้างถึงข้างต้น น่าจะกระทำได้เพราะไม่ถูกห้ามโดยมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

6. ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมายพึงตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะมาตรา 61 ในทางที่เอื้อไม่ใช่ในทางที่ลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ขอยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และขอเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติโดยสุจริตใจ

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

เราจะไปทางไหน#5: ประจักษ์ ก้องกีรติ การสถาปนา ‘อำนาจนำใหม่’ ของกองทัพ

ภาพจากแฟ้มภาพ

คุยกับประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และศึกษาเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง โดยวาระนี้คงหนีไม่พ้นการพูดคุยกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ไปจนถึงวิเคราะห์สถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และทางออกจากรัฐทหารมีมากน้อยเพียงไหน
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด คิดว่าอนาคตการเมืองไทยกำลังจะเจอกับอะไร เช่น รัฐประหารซ้อน, เป็นไปตาม road map, การนองเลือด ประชาธิปไตยครึ่งใบ,  hybrid regime หรือการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหาร
อนาคตการเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยซับซ้อนหลายอย่างที่สะสมผูกเป็นปมเงื่อนที่ยากแก้การแก้ไขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ที่เปราะบางและอ่อนไหวนี้ ลำพังปัจจัยในระดับตัวบุคคล (หมายถึงการตัดสินใจต่างๆ ของชนชั้นนำหยิบมือเล็กๆ) ก็สามารถพลิกผันการเมืองไทยได้ให้ออกหัวออกก้อยได้ แต่สำหรับ scenario ที่เป็นไปได้หลากหลายดังที่ถามมา ผมคิดว่ารัฐประหารซ้อนมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าจะถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่เท่าที่ดูสถานการณ์ปัจจุบัน มันยากมาก เพราะกองทัพค่อนข้างเป็นเอกภาพโดยเฉพาะในระดับนำ เนื่องจากถูกยึดกุมโดยขั้วเดียวกลุ่มเดียวมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ ขั้วอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในสายคุมอำนาจปัจจุบันถูกเตะโด่งหรือถูกสกัดกั้นออกจากสายอำนาจ จึงยากที่จะมีการรัฐประหารซ้อนในกองทัพเกิดขึ้นได้ในระยะใกล้นี้ 
แต่แน่นอนว่า roadmap ที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 นั้นไม่ได้ราบเรียบมีโอกาสสะดุดได้ตลอดทาง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเองก็เคยถูกเลื่อนมาจาก roadmap เดิมแล้ว หัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ที่ประชามติ ถ้าประชามติรัฐธรรมนูญผ่านและนำไปสู่การเลือกตั้งและไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกลางทางระหว่างนั้น หลังเลือกตั้ง สังคมไทยก็จะเผชิญกับการสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่แฝงตัวมาในร่างประชาธิปไตย (อย่างน้อยเอาไว้แสดงต่อนานาชาติ เพื่อให้ระบอบมันพอดูมีความชอบธรรม) ที่ชนชั้นนำในระบบราชการโดยเฉพาะกองทัพจะมีอำนาจในการกำกับควบคุมการเมืองไทย โดยสถาบันทางการอย่างการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา จะเป็นเพียงสถาบันพิธีกรรมที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก คือ จะเป็นระบอบที่ถอยไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยอดีตนายกฯ เปรม เรียกว่าประชาธิปไตยแบบเศษเสี้ยวจะดีกว่า เพราะมันไม่ถึงครึ่ง
อย่าลืมว่าสมัยรัฐธรรมนูญ 2521 เรายังไม่มีองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจล้นฟ้าแบบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สามารถขัดขวางการทำงานของรัฐบาลหรือทำให้รัฐบาลล้มไปได้ตลอดเวลา ยังไม่ต้องพูดถึงว่านายกฯ ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งมันแทบจะไม่สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้เลย คราวนี้แหละจะกลายเป็น “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ของจริง คือเลือกตั้งเสร็จแล้วอำนาจประชาชนก็แทบหมดไปทันที กระบวนการตั้งรัฐบาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลจะหลุดไปอยู่ในมือขององค์กร “อิสระ” และกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนเลย โดยเฉพาะส.ว. 250 คนที่จะมาจากการแต่งตั้งโดยคสช. องค์กรและกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่ทรงพลัง
พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ได้ถอยกลับไปสู่ระบอบ “เปรมาธิปไตย” เพราะระบอบที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามสร้างขึ้นมันเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยยุคเปรม เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างชนชั้นนำข้าราชการ ศาลและองค์กรอิสระโดยมีรัฐบาลและรัฐสภาเป็นเครื่องประดับ และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การชี้นำของกองทัพ เป็นระบอบ “อำนาจนิยมแบบไทยๆ”
นี่คือพิมพ์เขียวที่ชนชั้นนำในปัจจุบันพยายามสร้างขึ้น และต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เค้าตั้งใจให้มันเป็นระบอบถาวร ถามว่าระบอบดังกล่าวจะสร้างได้สำเร็จและจะอยู่คงทนหรือไม่ อันนี้ตอบลำบาก แต่ถ้าดูจากพลวัตรการเมืองไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นต้นมา ไม่มีกลุ่มชนชั้นนำไหนสถาปนาอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำจากการเลือกตั้งหรือชนชั้นนำจากกองทัพ การรัฐประหาร 2534 และ 2549 ล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถสถาปนาระบอบเผด็จการที่มีเสถียรภาพขึ้นมาแทนที่ได้ คือเราไม่มีทั้ง consolidation of democracy และ consolidation of authoritarianism ถ้าเราดูข้อเท็จจริงง่ายๆ หลังปี 2535 เป็นต้นมา ไม่มีระบอบไหนหรือใครอยู่ในอำนาจได้เกิน 5 ปี ห้าปีนี่ยาวสุดแล้ว
ในเมืองไทย อำนาจและระบอบการเมืองมันสวิงไปมาตลอด เพราะชนชั้นนำมันมีหลายกลุ่มไม่เป็นเอกภาพและมวลชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อต่อต้านและล้มรัฐบาลเกิดขึ้นให้เห็นมาตลอดตั้งแต่ปี 2535 ฉะนั้นเราไม่อาจตัดความเป็นไปได้นี้ออกไป เพราะประวัติศาสตร์มันมีบทเรียนให้เห็นมาหลายครั้ง และเราต้องไม่ลืมว่าทศวรรษที่ผ่านมาคือ ทศวรรษที่การตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้ว ภาวะสงบตอนนี้เป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น เทียบกันแล้วโอกาสที่จะเกิดการขบวนการประท้วงของมวลชนเพื่อล้มรัฐบาลมีมากกว่าการรัฐประหารซ้อน แต่ต้องอาศัยสถานการณ์ที่สุกงอมมากๆ บวกกับสิ่งที่เรียกว่า “ชนวน” หรือน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากๆ ของผู้กุมอำนาจเองที่ทำให้ตัวเองสูญเสียความชอบธรรมอย่างฉับพลันและรุนแรง มันเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้เลยว่าอะไรจะคือชนวนหรือน้ำผึ้งหยดนั้น ตอน14 ตุลาฯ ที่ล้มรัฐบาลถนอม ก็คือการจับกุมแกนนำเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตอนพฤษภา35 คือการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของพลเอกสุจินดา ตอนล้มรัฐบาลทักษิณคือ การขายหุนเทมาเส็ก และตอนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
สรุป รัฐประหารซ้อนโอกาสน้อย การลุกฮือของประชาชนมีโอกาสมากกว่าแต่สถานการณ์ต้องสุกงอม ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวมวลชน แนวโน้มก็คือ การเมืองไทยเดินหน้าสู่ระบอบเผด็จการจำแลงในนามประชาธิปไตยที่เหลือแต่รูปแบบที่กลวงเปล่า ที่ชนชั้นนำในกองทัพเป็นผู้คุมทิศทางประเทศ
ในฐานะที่ศึกษาเรื่องการใช้ความรุนแรงในทางการเมือง เห็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในการเมืองไทยยุคปัจจุบันหรือไม่
เงื่อนไขของความรุนแรงเกิดขึ้นได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะชนชั้นนำทยอยปิดประตูของการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีลงไปทีละบานๆ จนแทบไม่เหลือแล้ว ไม่เปิดให้มีเวทีที่ความเห็นต่างสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างอิสระเลย  และถ้าความขัดแย้งแตกต่างมันไม่สามารถมีทางออกตามช่องทางในระบบ ผ่านสถาบันทางการเมือง และกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน มันก็กลายเป็นเงื่อนไขของการเกิดความรุนแรง ซึ่งชนชั้นนำเป็นฝ่ายสร้างขึ้นเอง โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ มิหนำซ้ำยังแก้ไขได้ยากหรือจริงๆ ต้องพูดว่าแทบแก้ไขไม่ได้เลยด้วยซ้ำ  ซึ่งมันเท่ากับการวางระเบิดเวลาไว้ในอนาคต
จริงๆ เงื่อนไขของการเกิดความรุนแรงในเมืองไทยมีอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์ เพราะการสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยและการสถาปนาสถาบันการเมืองให้เข้มแข็งถูกตัดตอนตลอดเวลา พอกลไกในระบบอ่อนแอและสถาบันการเมืองต่างๆ อ่อนแอ การเมืองจึงจบลงที่การใช้ความรุนแรงได้ง่าย การรัฐประหารเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่ชัดเจนและเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในการเมืองไทย
การเมืองไทยไม่ใช่การเมืองที่สงบ ความคิดว่าเมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มนั้นเป็นมายาคติที่ใหญ่ที่สุด เราเป็นสังคมที่มีการนองเลือดและการปราบปรามประชาชนโดยรัฐบ่อยครั้งมากที่สุดประเทศหนึ่ง ฉะนั้นเงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงมันมีมาตลอดประวัติศาสตร์ ยิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา ที่เงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งจากรัฐและขบวนการประชาชนเอง คือทิศทางอันหนึ่งของขบวนการภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ หลัง 2548 มีแนวโน้มของการเคลื่อนไหวแบบแตกหักเผชิญหน้าและไม่ปฏิเสธยุทธวิธีรุนแรงเสียทั้งหมด จึงทำให้เงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงมีสูงขึ้น
แต่เปรียบเทียบกันแล้ว เงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงก็ยังคงเกิดจากรัฐมากที่สุด เมื่อชนชั้นนำที่ควบคุมรัฐอยู่รู้สึกว่าตนเองเสียการควบคุมก็จะใช้ความรุนแรงเพื่อกระชับอำนาจ เช่น รัฐประหารหรือปราบปรามประชาชน หรือในระยะหลังรูปแบบที่น่าสนใจคือ ชนชั้นนำบวกกับภาคประชาชนบางกลุ่มจงใจสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้นบนท้องถนนเพื่อสร้างสภาวะให้ดูเหมือน “รัฐอัมพาต” ที่เรียกกันว่ารัฐล้มเหลว แต่มันไม่ได้ล้มเหลวตามธรรมชาติ มันถูกจงใจสร้างขึ้น ปูทางไปสู่การรัฐประหาร คือ กลไกรัฐด้านความมั่นคงเองปล่อยให้ความรุนแรงยืดเยื้อโดยตัวเองนิ่งเฉยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้ามายึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบของตนเอง ซึ่งเป็นอะไรที่มหัศจรรย์
ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว รัฐเป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงมากที่สุดและทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมากที่สุด และปัจจุบันเราอยู่ในรัฐที่ใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดนับจาก 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา มีลักษณะ repressive มากเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และควบคุมประชาชนไม่ให้คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ และจากร่างรัฐธรรมนูญบวกคำถามพ่วงที่ให้ส.ว. มีส่วนเลือกตั้งนายกฯ ด้วย ก็สะท้อนชัดเจนว่าผู้มีอำนาจยังต้องการสืบทอดและรักษาอำนาจต่อไป รัฐแบบนี้เมื่อเผชิญกับการต่อต้านและการเคลื่อนไหวจากประชาชน ย่อมไม่ลังเลที่จะยกระดับการใช้อำนาจปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง อย่างที่เห็นชัดเจนในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในปี 2553
เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความรุนแรงน่าจะอยู่ที่ช่วงหลังเลือกตั้ง ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในลักษณะที่ผิดคาด ทำให้ชนชั้นนำจากระบอบรัฐประหารสูญเสียอำนาจในการควบคุม อาจมีการใช้กำลังเพื่อกระชับอำนาจกลับมา หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้ยากมาก ก็อาจเผชิญกับแรงโต้กลับอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เงื่อนไขของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการทำประชามติ กรณีที่ประชามติไม่ผ่าน แล้วผู้มีอำนาจตัดสินใจนำรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าร่างนี้มาประกาศใช้ เท่ากับไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ณ จุดนั้นอาจสร้างเงื่อนไขของการเผชิญหน้าและความรุนแรงขึ้นได้
คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คิดว่าจะได้ประกาศใช้ไหม และหากประกาศใช้จริง ประเด็นใดที่ concern มากที่สุด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ วิเคราะห์ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่างและผู้มีอำนาจเบื้องหลังผู้ร่างนั้นมีความชัดเจน คือ อย่างที่ตอบไปในตอนแรกว่า ร่างนี้ต้องการควบคุม “ประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก” โดยลดทอนอำนาจของพรรคการเมือง ผู้เลือกตั้งและรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาปรกติ และถ่ายโอนอำนาจไปให้กับชนชั้นนำเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือกองทัพ ราชการพลเรือน ศาล องค์กรอิสระ แต่ก็ต้องรักษาฉากหน้าของประชาธิปไตยให้พอมีอยู่บ้าง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความชอบธรรม เช่น ยอมรับให้มีการจัดการเลือกตั้ง มีส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐสภา แต่ผ่านระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ กลายเป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งดูแล้วคสช. ค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันร่างนี้ให้ผ่านประชามติได้ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550  อย่าลืมเราอยู่ในรัฐที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนยิ่งกว่าตอนปี 2550 และรัฐคงทุ่มทรัพยากรและใช้กลไกความมั่นคงทั้งหนักและเบาทุกอย่างภายใต้การควบคุมเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญนี้ให้ผ่านประชามติให้ได้
แต่สถานการณ์เริ่มไม่แน่นอน เพราะกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ต่างขั้วต่างสีกันค่อยๆ ทยอยออกมาประกาศไม่รับร่าง แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาประกาศไม่รับคำถามพ่วงและชี้ว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คืออาจจะพูดได้ว่าทั้งในภาคการเมืองและภาคประชาสังคม ตอนนี้เริ่มมีการก่อตัวของฉันทามติบางอย่างที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มแต่ละพรรคมีเหตุผลและแรงจูงผลักดันต่างกันในการไม่รับร่าง แต่ผลก็คือโมเมนตัมตอนนี้มันไปในทางไม่รับ เพราะคนเริ่มเห็นแล้วว่าเนื้อหาไม่ตอบโจทก์การแก้ปัญหาสังคมไทยอำนาจมันไปกระจุกตัวที่คนกลุ่มเดียวคือ ชนชั้นนำในระบบราชการ ตัดอำนาจและการมีส่วนของคนกลุ่มอื่นไปหมด ทั้งพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้เลือกตั้งทั่วไปคือคนเทียบข้อดีกับข้อเสียแล้ว เห็นว่าข้อเสียมันมีมากกว่า
คือเท่าที่ผมพยายามตามอ่านอย่างละเอียดข้อดีข้อเดียวของฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนร่างนี้ที่มีการยกมาก็คือการปราบโกง ยังไม่เห็นมีใครยกข้อดีข้ออื่นขึ้นมาชัดๆ เลย แต่รัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและรวมศูนย์อำนาจกลับไปที่รัฐราชการส่วนกลางมันไม่มีทางปราบโกงได้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมามันชี้ให้เห็นว่าระบบราชการรวมศูนย์ภายใต้โครงสร้างรัฐแบบอุปถัมภ์คือต้นตอสำคัญของการคอร์รัปชั่นของสังคมไทย นี่แหละคือเนื้อดินที่หล่อเลี้ยงให้การคอร์รัปชั่นมันดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ถามว่าหลังรัฐประหารมานี้ คอร์รัปชั่นมันหายไปหรือไม่ มันไม่ได้หายไป แต่สื่อและประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ใครก็ตรวจสอบเอาผิดไม่ได้ เพราะรัฐอำนาจนิยมมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในมือปิดกั้นการตรวจสอบ ใครพยายามจะตรวจสอบก็จะโดนข่มขู่คุกคามหรือไม่ก็ถูกจับไปปรับทัศนคติ กรณีคอร์รัปชั่นที่ชวนสงสัยต่างๆ ก็ถูกทำให้เงียบหายไปด้วยอำนาจรัฐและด้วยการประดิษฐ์คำใหม่ๆ มาเรียกแทน จากคอมมิสชั่นก็กลายเป็น “ค่าที่ปรึกษา” ประชาชนกลุ่มต่างๆ  ก็เริ่มเห็นประเด็นนี้แล้ว แม้แต่องค์กรประชาสังคมที่เคยสนับสนุนคสช.ในช่วงต้น  ทำให้จุดขายเรื่องปราบโกงมันเลยไม่ค่อยมีน้ำหนักเพราะมันไม่ได้สร้างระบบการเมืองที่โปร่งใสและอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มันแค่ลดทอนอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเอาอำนาจไปให้ชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช้แทน โดยประชาชนและสื่อตรวจสอบควบคุมไม่ได้ บทเรียนจากทั่วโลกที่เขาประสบความสำเร็จในการปราบโกงก็ชี้ชัดแล้วว่าหัวใจสำคัญคือ ความแข็งขันของสื่อและประชาชน รัฐธรรมนูญเฉยๆ ในฐานะกระดาษแผ่นหนึ่งมันปราบโกงไม่ได้ 
ดังนั้นโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำในการลงประชามติมีอยู่ไม่น้อย ถ้าบรรยากาศการลงประชามติมีเสรีภาพอย่างแท้จริงและมีองค์กรต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตาม พอกระแสการไม่รับร่างมันเริ่มแพร่หลายออกไป ชัดเจนว่ากลุ่มผู้มีอำนาจรัฐเริ่มกลัวประชามติจะไม่ผ่าน และยิ่งใช้อำนาจอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในการปิดกั้นและปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ และตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณว่าเราอาจไม่ได้ทำประชามติกันด้วยซ้ำ
ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นกลุ่มไหนออกมาประกาศชัดๆ ว่ารับร่างรัฐธรรมนูญนี้แบบ 100% แบบว่าสนับสนุนแบบเต็มที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริงๆ อย่างมากก็บอกว่าไม่ขี้เหร่มาก พอรับได้ หรือบางคนบอกว่าให้รับไม่ใช่เพราะเห็นว่าดี แต่กลัวได้ฉบับที่แย่กว่านี้ คือในแง่หนึ่งก็ตลกดี มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใคร (นอกจากผู้ร่างเอง) ชื่นชมได้อย่างเต็มปากอย่างจริงใจว่ามันดีและมันสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ นอกจากพรรคขนาดกลางบางพรรค ซึ่งเข้าใจได้อยู่แล้ว อันนี้ไม่มีอะไรน่าแปลกใจเลย เพราะพรรคดังกล่าวเป็นพรรคท้องถิ่นแบบเจ้าพ่อที่ไม่มีทั้งอุดมการณ์และนโยบายเป็นจุดขาย และเป็นพรรคที่จะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบใหม่มากที่สุด เพราะระบบเลือกตั้งใหม่มันเน้นให้เลือกตัวบุคคล เอาส.ส.เขตเป็นฐานและจากการคำนวณคร่าวๆ แล้วพรรคขนาดกลางจะได้ที่นั่งมากกว่าเดิมมากพอสมควร
สำหรับผมประเด็นที่น่าวิตกมากที่สุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแทบไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไข ลองไปอ่านดู เงื่อนไขต่างๆ ที่วางไว้มันแทบจะทำให้แก้ไขไม่ได้เลย ฉบับ 2550 ว่ายากแล้ว มาเจอฉบับนี้แทบจะปิดประตูตายในการแก้ไข  ปัญหาก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนขอบกพร่องมากมาย ลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน และสร้างระบอบการเมืองของชนชั้นนำที่เป็นอำนาจนิยมในขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่จะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เพราะวางกลไกให้รัฐบาลอ่อนแอ ทำงานได้ลำบาก เป็นรัฐบาลที่สำนวนอังกฤษเรียกว่ารัฐบาลเป็ดง่อย เนื่องจากถูกออกแบบมาจากฐานของความกลัว กลัวประชาชน กลัวพรรคการเมืองมันจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สอคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ประชาชนทุกกลุ่มตื่นตัวทางการเมืองมากแล้ว และเราต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันการแก้ปัญหายากๆ ที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่มากมายนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน การมีรัฐบาลอ่อนแอนี่จริงๆ มันไม่มีประโยชน์กับประเทศเลยนะ เพราะมันไม่มีศักยภาพที่จะผลิตหรือผลักดันนโยบายอะไรดีๆ ได้เลย มันมีแต่จะฉุดให้ประเทศหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือไม่ก็ถอยหลังไปเรื่อยๆ ทีนี้พอรัฐธรรมนูญแทบไม่เปิดช่องให้แก้ไขได้ ก็เท่ากับมันทำให้สังคมไทยไม่มีทางออกในอนาคต และสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงอีกครั้ง
ดูจากร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่าทหารต้องการสถาปนาอำนาจของตัวเองในทางการเมืองให้กลายเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ คือ จะ "อยู่ยาว" คำถามคือทหารต้องการจะอยู่ยาวไปถึงเมื่อไร เป้าหมายของการอยู่ยาวคืออะไร
อย่างน้อย 5 ปีตามที่เขาประกาศ แต่ก็อาจจะนานกว่านั้น เพราะส.ว.ชุดแรกอยู่ในอำนาจ 5 ปี คือนานกว่ารัฐบาล จึงอาจกำหนดตัวคนเป็นนายกฯ ได้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเท่ากับ 8 ปี และบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญก็อาจถูกต่ออายุได้อีกโดยอ้างความจำเป็นของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยเป้าหมายก็คือคุมการ “เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งทหารย้ำอยู่บ่อยครั้ง ทุกคนทราบดีกว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ความสัมพันธ์ทางอำนาจและดุลอำนาจของชนชั้นนำทุกกลุ่มในสังคมไทยกำลังปรับเปลี่ยนอย่างมโหฬาร ทหารไม่อาจยอมให้มีสุญญากาศเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านที่เปราะบางนี้  กองทัพเชื่อมั่นว่าตัวเองเท่านั้นที่สามารถคุมการเปลี่ยนผ่านนี้ให้สงบได้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่ความเชื่อ กองทัพมีผลประโยชน์ผูกพันในระบบที่ทำให้ต้องเข้ามาเป็นคนกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนผ่านซะเอง อย่าลืมว่ากองทัพเป็นชนชั้นนำเก่าแก่ที่ครองอำนาจในการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ว่าประเทศจะผ่านช่วงที่เข้าสู่ประชาธิปไตยอยู่เป็นระยะๆ แต่อำนาจของกองทัพไม่เคยหายไปจากการเมืองไทยโดยสิ้นเชิง เหมือนที่นักวิชาการบางคนเปรียบกองทัพว่าทำหน้าที่เสมือน “รัฐพันลึก” (แอเจนี เมริโอ) หรือ “รัฐคู่ขนาน” (พอลแชมเบอร์ และนภิสา ไวฑูรเกีรติ 2016) ในระบบการการเมืองไทย
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มชนชั้นนายทุนต้องกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเอง  สำหรับกองทัพ ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมารวมทั้งในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นช่วงที่สร้างความหวาดวิตกให้กับชนชั้นนำในกองทัพอย่างมาก เพราะปัจจัย 3 ประการคือ 1.ฐานความชอบธรรมของชนชั้นนำแบบประเพณีกำลังลดน้อยถอยลง 2.พรรคการเมืองกลับมีความเข้มแข็งและมีฐานเสียงมวลชนที่ขยายตัวใหญ่โตอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 3.การเกิดขึ้นของการเมืองแบบมวลชนที่มีคนเข้าร่วมมหาศาลและเป็นการเมืองที่มีลักษณะเชิงอุดมการณ์ สามปัจจัยนี้มันทำให้กองทัพวิตกกังวลกับสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ตนเอง เพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพ โดยเฉพาะในการเมืองแบบเลือกตั้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพไทยไม่มีความถนัดและไม่มีทักษะที่จะแข่งขันได้เลย ผิดกับกองทัพในหลายประเทศที่ปรับตัวเข้าสู่เกมการเลือกตั้งเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง
ด้วยเหตุเหล่านี้กองทัพจึงต้องการมา “คุมเกม” เพื่อสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ new political order ในสถานการณ์ที่ระเบียบการเมืองเก่าที่ดำรงอยู่มายาวนานกำลังจะเสื่อมไป ในกระบวนการ “คุมเกม” นี้ ก็ลดทอนอำนาจของพรรคการเมืองให้อ่อนแอลง ทำให้พรรคการเมืองเชื่องและการเลือกตั้งไม่เป็นภัยคุกคามสำหรับชนชั้นนำเดิมอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็กดปราบภาคประชาชนทุกสีให้สงบราบคาบเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่ได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ที่สำคัญ นอกจากสองกลุ่มนี้แล้ว ทหารกำลังปรับความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจอื่นในเครือข่ายเดียวกันด้วย เช่น กลุ่มนายทุน แบบเดียวกับในสมัยสฤษดิ์ ที่ทหารกับกลุ่มทุนบางกลุ่มก่อตัวเป็นพันธมิตรที่เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ภาคประชาชนจำนวนมากก็คงตระหนักแล้วว่าหลังรัฐประหารครั้งนี้ มีการฉวยใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากมายมหาศาล มีการใช้กลไกรัฐไปรุกรานและละเมิดสิทธิชุมชนและชาวบ้านเพื่อให้กลุ่มทุนดำเนินกิจกรรมสะสมทุนได้อย่างสะดวก ไม่ว่ามันจะผิดระเบียบหรือทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร คือจริงๆ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ากองทัพไทยตั้งแต่หลัง 2500 ไม่ได้มีอุดมการณ์ต่อต้านทุนหรือเป็นปฏิปักษ์กับระบบทุนนิยม กองทัพอยู่ข้างทุน เขาแค่ต้องการให้ทุนต้อง “จิ้มก้อง” เค้าต่างตอบแทนกัน และเพิ่มอำนาจและโอกาสให้ตนเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากระบบทุนนิยมด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่เราเห็นหลังรัฐประหารเป็นต้นมาคือ กระบวนการที่กองทัพสถาปนาให้ตนกลายเป็น hegemonic rulerกลุ่มใหม่ที่จะครองอำนาจในระยะยาวมิใช่คนที่ต้องคอยคอยแชร์อำนาจหรืออยู่ใต้อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มอื่น เห็นได้ชัดทั้งในเรื่องการเพิ่มงบประมาณ เพิ่มอภิสิทธิ์ เพิ่มเงินเดือน เพิ่มกำลังพล ขยายขอบเขตการใช้อำนาจ แก้กฎระเบียบต่างๆ จัดวางบุคลากรในกองทัพเข้าไปยึดกุมวิสาหกิจของรัฐ องค์กรของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ  ที่สำคัญที่สุดก็คือ เอาอำนาจตัวเองไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญผ่านส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งเท่ากับกองทัพมีพรรคการเมืองของตัวเอง มีเสียงในสภา 250 เสียง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง 
ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาเรื่องการเมืองยุคเดือนตุลา คิดว่าแนวโน้มที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลในครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เงื่อนไข บริบท และปัจจัยแวดล้อมอะไรที่จะทำให้ไม่เกิดขึ้น
อันที่จริง อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น 1 ทศวรรษที่ผ่านมาคือทศวรรษที่ภาคประชาชนไทยเข้มแข็งที่สุดและมีส่วนร่วมมากที่สุด กลายเป็นตัวละครทางการเมืองที่มีบทบาทและมีอิทธิพลมาก แต่จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 2 ปีแล้วหลังการรัฐประหาร ที่ถามว่าทำไมเราไม่เห็นการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล ผมคิดว่ามีปัจจัย 2 ประการ ประการแรก คือระดับการควบคุมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐบาลหลังการรัฐประหาร และประการที่ 2 ความแตกแยกแบ่งขั้ว (polarization) ระหว่างภาคประชาชนเอง ในประการแรก ข้อมูลและรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าระบอบรัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะ repressive สูงกว่ารัฐบาลรัฐประหารในปี 2549 มาก ตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจก็มีการจับกุมคุมขังและล็อคตัวแกนนำนักเคลื่อนไหวทันที จนถึงทุกวันนี้ระดับของการควบคุมและปิดกั้นก็ยังไม่ลดลง แม้แต่กลุ่มนักศึกษาก็ยังถูกจับกุมติดคุกแม้ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างสงบสันติเพียงใดก็ตาม และการควบคุมปิดกั้นนี้มีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อการทำประชามติใกล้เข้ามา จึงเป็นสาเหตุที่เข้าใจได้ที่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวเช่นนี้ การเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนไม่ปรากฏ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงตาย เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางกับอนาคตการเมืองข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็นทางออกหรือทางเลือกที่ชัดเจน และที่ผ่านมาคนที่ตายก่อนคือประชาชนคนธรรมดา และในสังคมนี้ถ้าคุณเป็นชาวบ้าน เป็นคนจน เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถแสวงหาความยุติธรรมได้อีก ฉะนั้นถ้ามองจากตรงนี้ มันเข้าใจได้มากๆ เลยว่าทำไม “ความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ” การไปติเตียนต่อว่าต่อขานประชาชนด้วยกัน ผมว่ามันไม่ค่อยแฟร์นัก
ส่วนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคประการที่สองก็คือ การแบ่งขั้วของภาคประชาชนไทย มันไม่เหมือนตอน 14 ตุลาฯ หรือตอนพฤษภา 2535 ที่ตอนนั้นมันชัดเจน เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสู้กับรัฐ ประชาชนแม้จะมีแนวคิดต่างกันบ้าง แต่ชัดเจนว่ามีฉันทามติบางอย่างร่วมกันในปี 16 และปี 35 คือ ไม่ยอมรับการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกต่อไปและเชื่อว่าสังคมไทยมีทางเลือกที่ดีกว่าถูกปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยของกองทัพ แต่ตอนนี้ฉันทามติแบบนี้มันไม่เหลืออยู่แล้ว ภาคประชาชนแตกเป็นสองขั้วอย่างที่ทุกคนทราบดี โดยในขั้วหนึ่งยังมีความเชื่อว่าการมีทหารปกครองนั้นยังไงก็แย่น้อยกว่านักการเมือง คือไม่ใช่ว่าทหารบริหารประเทศดีกว่ามีประสิทธิภาพกว่าหรือโปร่งใสกว่า แต่พวกเขาเกลียดนักการเมืองมากกว่า คือมันเป็นการเมืองที่ขับดันด้วยความเกลียดชัง
ผลของการแบ่งขั้วนี้ทำให้ชนชั้นนำในปัจจุบันปกครองง่าย หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากสภาวะสังคมแบ่งขั้ว ไม่ว่าการบริหารประเทศจะผิดพลาดหรือขาดประสิทธิภาพอย่างไร แต่ก็ยังปกครองได้สบายๆ เพราะกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยอ่อนแอและขาดพลังเนื่องจากไม่สามารถรวมพลังกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะความบาดหมางและความขัดแย้งรุนแรงที่สะสมในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันมีอยู่สูง แม้แต่การสร้างแนวร่วมกว้างๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะความไว้วางใจระหว่างกันในภาคประชาสังคมมันไม่เหลืออยู่ ซึ่งถามว่าเข้าใจได้ไหม เข้าใจได้ไม่ยากเลย เพราะความขัดแย้งมันยืดเยื้อเรื้อรังและความเกลียดชังระหว่างกันมันมีอยู่สูง แต่ตราบใดที่สภาวะแบ่งขั้วอย่างที่ไม่สามารถประสานกันได้แม้แต่เรื่องเดียวแบบนี้ยังดำรงอยู่ ทหารก็จะสามารถปกครองต่อไปได้เรื่อยๆ
การออกจากระบอบชนชั้นนำของกองทัพในครั้งนี้ เป็นเรื่องยาก มันต้องการฉันทามติใหม่ new consensus ร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาชนว่าเราสามารถสร้างสังคมไทยที่มีอนาคตดีกว่านี้ โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและความเกลียดชัง แต่เป็นการเมืองของความหวังที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของบ้านเมืองตนเองได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องรวมพลังกันในการเดินขบวนประท้วงอย่างเดียวเสมอไป มันอาจจะรวมพลังกันในรูปแบบอื่นๆ ได้หลากหลายมากมายตามแต่สถานการณ์ เช่น เฉพาะหน้านี้คือเริ่มจากการแสดงพลังร่วมกันในการลงคะแนนประชามติว่าประชาชนทุกกลุ่มต้องการรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาและกระบวนการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่กำหนดมาแล้วโดยชนชั้นนำแบบเบ็ดเสร็จโดยที่ประชาชนไม่มีทางเลือก
แต่ทั้งหมดที่พูดนี้ ก็ตระหนักดีว่ามันยากมากๆ ที่จะเกิดขึ้นได้และเราอาจจะต้องอยู่กับการเมืองที่ไม่มีความหวังแบบนี้ไปอีกนานพอสมควร