วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

2 ชม.กว่าหลังโดนอุ้ม จ่านิวโผล่สถานีตำรวจ เจ้าตัวเผยถูกข่มขู่คุกคาม



 

21 ม.ค.2559  กรณีเพื่อนสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 8 บุกอุ้มจ่านิวหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในเวลาประมาณ 22.30 น.นั้น เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่แม่ เพื่อน และทนายความพยายามตามหาจ่านิว เพื่อนได้ไปแจ้งความการอุ้มครั้งนี้ไว้ที่สภ.คลองหลวง กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้ออกแถลงการณ์ประณามการระทำครั้งนี้และขอให้เปิดเผยสถานที่คุมขัง ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่ายังไม่ทราบเรื่องและขอตรวจสอบก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ท้ายที่สุด แม่และทนายความได้รับทราบข่าวว่าจ่านิวถูกคุมตัวที่สน.นิมิตรใหม่ จึงเดินทางไปหา จากนั้นเจ้าหน้าที่คุมตัวจ่านิวจากสน.นิมิตรใหม่ ไปยังสน.รถไฟธนบุรี ซึ่งเจ้าของพื้นที่การจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัว

แม่ตามหา (ภาพจากเพจ NDM)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ ได้รายงานปากคำของจ่านิวที่บรรยายการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งอุ้มเขาไป ก่อนจะส่งให้สน.นิมิตรใหม่ว่า มีการคลุมศีรษะ นำตัวไปยังบริเวณป่าหญ้า บังคับให้นั่งลงโดยการเตะและถีบ รวมทั้งนำวัสดุลักษณะคล้ายปืนมาจ่อบริเวณศีรษะและทำเสียงแก๊กๆ คล้ายการสับไกปืน (รายละเอียดด้านล่าง)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ดังนี้  
 01.10 น. ศูนย์ทนายฯได้รับแจ้งว่า สิรวิทย์ เสรีธิวัฒน์ ถูกนำตัวไปที่ สน.นิมิตรใหม่ และจะถูกนำตัวไปส่งที่ ส.รฟ ธนบุรี ในตอนเช้าของวันนี้
2.50 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่านายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ถูกควบคุมตัวที่สน.นิมิตรใหม่ อย่างไรก็ตามบริเวณทางขึ้นชั้นสองมีเจ้าหน้าที่ทหารตรึงกำลังอยู่โดยไม่ยอมให้มารดานายสิรวิชญ์และทนายความเข้าพบ
4.20 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นิมิตรใหม่เดินทางมาถึงสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีเพื่อทำการส่งตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เจ้าของคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอแจ้งข้อกล่าวหา
นายสิรวิชญ์ได้กล่าวว่าระหว่างถูกควบคุมตัวไปโดยทหาร เจ้าหน้าที่ได้ทำการคลุมศีรษะ และนำตัวไปยังบริเวณป่าหญ้า บังคับให้นั่งลงโดยการเตะและถีบ ทั้งยังถามว่าเหตุใดจึงไม่ไปตรวจสอบทุจริตในการจำนำข้าว พร้อมทั้งด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย นอกจากนี้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังนำวัสดุลักษณะคล้ายปืนมาจ่อบริเวณศีรษะและทำเสียงแก๊กๆ คล้ายการสับไกปืน ซึ่งตนไม่สามารถประมาณเวลาได้ แต่ภายหลังช่วงเวลาดังกล่าวตนได้ถูกนำตัวขึ้นรถมาส่งยังสน.นิมิตรใหม่ในเวลาประมาณ 01.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่นำตัวมาส่งนั้นได้สวมผ้าคลุมปกปิดใบหน้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดตาสิรวิชญ์หลังจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับไปแล้ว อย่างไรก็ตามบันทึกจับกุมได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหาร ร. 2 พัน 2 รอ.ให้มารับตัวนายสิรวิชญ์
บันทึกการจับกุมตัว สน.นิมิตรใหม่ (ภาพจากเพจ NDM) 

ประชาธิปัตย์ตัดขาด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ - ขอให้เดินบนเส้นทางที่เลือกแล้วด้วยดี

(ซ้าย) จุติ ไกรฤกษ์ และ องอาจ คล้ามไพบูลย์ แถลงข่าวในนามพรรคประชาธิปัตย์ขอยุติการรับผิดชอบร่วมกับการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ (ขวา) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

จุติ ไกรฤกษ์ - องอาจ คล้ามไพบูลย์ แถลงว่าจากนี้ไปพรรคประชาธิปัตย์จะไม่รับผิดชอบการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. อีกต่อไป ต่อจากนี้เป็นการทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อย่างเอกเทศ ขอให้รับผิดชอบผลงานด้วยตัวเอง เดินบนเส้นทางที่เลือกแล้วด้วยดี
21 ม.ค. 2559 - เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า วันนี้ (21 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคฯ พร้อมด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์  รองหัวหน้าพรรคฯ ดูแลพื้นที่ กทม. ร่วมกันแถลงข่าวพร้อมกับตอบข้อซักถามสื่อมวลชนต่อกรณีปัญหาการบริหารงานของกรุงเทพมหานครว่า หลังจากที่พรรคฯ ได้ให้เวลาในการแก้ปัญหามาพอสมควร ในการปรับวิธีคิด วิธีทำงานเพื่อชาวกรุงเทพมหานคร แต่ทางพรรคฯ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสมาชิกพรรคฯ และพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์จึงขอแสดงความชัดเจนว่าจากนี้ไปทางพรรคฯ จะไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบร่วมกันกับการทำงานของ กทม. ได้อีกต่อไป และคงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน
"อยากจะย้ำนะครับว่า เรา ไม่มีความโกรธเคืองกันใดๆ กับท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพียงแต่มีทัศนคติในการมองปัญหา ในการแก้ปัญหา ในการทำงานให้ชาวกรุงเทพมหานครนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย คือทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพรรคประชาธิปัตย์ ก็จึงพรรคฯ จึงเปิดทางให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นได้ตัดสินใจแก้ปัญหาตามความคิด ตามมุมมอง ตามทัศนคติของแนวทางวิธีของท่าน แล้วก็ถึงเวลาที่จะให้ท่านนั้นรับผิดชอบต่อผลงานด้วยตัวท่านเอง"  นายจุติ กล่าว
ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ขอขอบพระคุณ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีผลงานที่ดีให้กับพรรคฯ จากการที่ทำงานให้พรรคฯ ให้กทม. ให้กับประเทศชาติเสมอมา และทางพรรคฯ ยินดีเสมอในความสำเร็จของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และอยากให้กำลังใจในการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชน พรรคฯ นั้นพร้อมเสมอทุกด้านหากได้รับการร้องขอที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการทำงานตลอดเวลา แต่สำหรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นั้นในฐานะผู้ว่าราชการฯ จะต้องเดินบนเส้นทางที่เลือกแล้วด้วยดี และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ
"การที่ตัดสินใจแถลงข่าวในวันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวที่พยายามยุแยงมาตลอดว่าเป็นเรื่องของการแก่งแย่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่เกี่ยวกับการส่งเงิน รับเงินให้พรรคฯ และไม่เกี่ยวกับผลโพลใดๆ ทั้งสิ้น" เลขาธิการพรรคกล่าว
นายจุติกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า "พรรคฯ มีความจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบความไว้วางใจสนับสนุนให้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงขอแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าการบริหารของกรุงเทพมหานครจากนี้ไปถือเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศ เนื่องจากพรรคไม่สามารถใช้ระบบและกลไกของพรรคในการช่วยสนับสนุนติดตามตรวจสอบการบริหารงานของกรุงเทพมหานครได้ และกราบขอโทษต่อพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมา ณ โอกาสนี้"

ปมทหารอุ้มจ่านิวยามวิกาล ประยุทธ์ยัน 'จับทุกแบบ' ย้อนนักข่าวลองใครต่อต้านสิ

21 ม.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกฯ กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุมตัว นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต หลังจากจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปส่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์ฯ (อ่านรายละเอียดการจับกุม)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจกฎหมายมีอยู่หลายตัว คนที่เห็นด้วยกับเขาก็มีส่วนหนึ่ง คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเยอะ เยอะกว่านะ ดังนั้นก็จะมีฝ่ายที่บอกว่าหมายจับมีอยู่แล้วทำไมไม่จับ มันเข้าข่ายมันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157  
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า "เขาจับเรื่องอะไร หมายจับเขาออกเรื่องอะไร ความผิดเขาอยู่ตรงไหน ไปราชภักดิ์หรอ มันคนละเรื่อง ปัดโธ่ ไม่ใช่ เขาผิดตั้งแต่กฎหมายปกติโน้น อะไร 116 117 นั่นใช่ไหม เรื่องการสร้างความวุนวายสับสนใจพื้นที่สาธารณะโน้น กีดขวางทางจราจรโน้น ไอ้เขาจะไปมันต้องดูสิว่ากระบวนการเริ่มต้นความผิดมันอยู่ที่ไหน ถ้าเขาทำตรงนี้นะมันก็ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม ผิด คสช. ในเรื่องของการชุมนุม เรื่องกฎหมายเขาห้ามอยู่แล้ว นี่ผิด ผิดแน่นอน คราวนี้ที่จะไปโน้นมันจะผิดต่อที่ 2 เพราะไปชุมนุมที่โน้นคนละพื้นที่คนละเวลา เป็นต่างกรรมต่างวาระ เป็น 2 คดี นั่นล่ะคือสิ่งที่ผมห่วงเขา ไปแล้วจะไปทำอะไรได้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ทำไมเขาจะไปพูดจะไปสื่อไปเรียกคนมารวม ผิดอีก ประชาชนผิดทั้งพวงอีก ถ้าไม่เคารพกฏหมายแบบนี้จะอยู่กันยังไงเล่า"
 
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงรูปแบบการจับกุมด้วยการอุ้มขึ้นรถนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เขาก็จับทุกแบบนั่นล่ะ ทำไม แล้วจับให้เธอเห็นแล้วเธอก็ถ่ายรูปออกมา แล้วเธอให้ไปต่อต้านเจ้าหน้าที่หรือไง แล้วเขาจับโจรอื่นไม่พูดให้เขาบ้างล่ะ"
 
"นักศึกษา เขาเรียนมากี่ปีแล้ว รู้ไหม แล้วเมื่อไหร่จะจบ ทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่เรียนอะ ทำอยู่นั่นล่ะ ก็ไม่จบก็ไม่จบ ผมว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะต้องน่าดูแล้วนะ ผมไม่ได้มามองว่ามันต่อต้าน มันต่อต้านได้ไหมเล่า ลองสิ ลองใครต่อต้านสิ ลองสิ เอาไหมเล่า แล้วคุณปล่อยให้คนเหล่านี้ต่อต้านหรอ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 

โฆษกสนง.ศาล รับ หญิงวีนแตก "กูเป็นนายของมึง" เป็นผู้พิพากษาจริง ชี้มีอาการป่วย

ภาพเหตุการณ์เมื่อ วันที่ 12 ก.ค. 56  เธอสวมเสื้อคอยืดคอกลมสีเหลือง กางเกงยีนขาสั้นสีฟ้าใส่หมวกและแว่นตากันแดดขับรถเก๋งโตโยต้า อัลติส สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ญช 9691 กรุงเทพมหานคร เข้าบริเวณหน้าอาคารกองบัญชาการจำรวจนครบาล (บช.น.) จากนั้นได้ลงจากรถนำกล่องโฟมใส่ข้าวไข่เจียวและน้ำปลาพริกปาใส่รถเก๋งโตโยต้า คัมรี่ รถประจำตำแหน่งของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ขณะนั้น พร้อมทั้งด่าทอการทำงานของตำรวจและพล.ต.ท.คำรณวิทย์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เพื่อให้ไปขอโทษ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.พระราชวัง

21 ม.ค. 2559 หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในวิดีโอคลิปซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้พิพากษา ซึ่งแสดงออกซึ่งความไม่พอใจอย่างหนักต่อกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งกล่าประโยคเด็ออย่าง "มึงสังวรไว้นะว่ากูหนะเป็นนายของมึง"
ล่าสุดวันนี้ (21 ม.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ยอมรับว่าผู้หญิงที่ปรากฎในคลิปวิดีโอนั้น คือ นางสาวชิดชนก แผ่นสุวรรณ ผู้พิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีประวัติป่วยทางจิต ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และต้องทานยารักษาตลอดเวลา โดยมีอาการดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี แล้ว และทราบว่าก่อนเกิดเหตุนางสาวชิดชนกไม่ได้ทานยา อาการป่วยจึงกำเริบ ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้
ซึ่งประธานศาลฎีกา ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมมีคำสั่งให้กลับมาปฎิบัติหน้าที่ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ระหว่างรอผลการสอบสวน หากพบว่าบกพร่องต่อหน้าที่ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ หรือหย่อนความสามารถในการทำงาน มีโทษสูงสุด คือให้ออกจากราชการ แต่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ
โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ยังยอมรับว่านางสาวชิดชนก ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษามากว่า 10 ปีแล้ว และเคยถูกดำเนินคดี ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน กรณีจอดรถกีดขวางการจราจร บริเวณถนนพหลโยธิน หน้าศาลอาญา เมื่อ ปี 2555 ถูกศาลพิพากษาปรับ 1 พันบาท และยังถูกดำเนินคดีฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานและทำให้เสียทรัพย์ กรณีปาข้าวกล่องใส่รถ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อปี 2556 และศาลพิพากษา จำคุก 2 เดือน ปรับ 2 พันบาท แต่รับสารภาพมีเหตุลดโทษ โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และจากกรณีดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งให้นางสาวชิดชนก ไปช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยทำงานด้านเอกสาร ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี
โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีผู้พิพากษา เข้าข่ายหย่อนความสามารถในการทำงาน อาทิ เจ็บป่วย เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน มะเร็ง รวมถึงอาการทางจิต เช่นเดียวกับนางสาวชิดชนก หลายคน ซึ่งถูกย้ายให้ไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ และให้ออกจากราชการ ซึ่งถูกลงโทษแตกต่างกันออกไป


 

วิดีโอคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ 7 ม.ค. 56 ระบุรุ่นและเลขทะเบียนคันเดียวกัน อัลติส ญช 9691

เรียกร้องตรวจสอบกรณีบุกอุ้ม 'จ่านิว' -ลงโทษวินัย-อาญา จนท.ที่เกี่ยวข้อง

ภาพจากกล้องวงจรปิด จะเห็นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงินจอดหน้าประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และมีเจ้าหน้าที่เดินลงมาอย่างน้อย 5 นาย เพื่อควบคุมตัวสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่กำลังเดินกลับเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัย (มุมซ้ายของจอภาพ) ก่อนนำตัวขึ้นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงิน ที่จอดขวางประตูเชียงราก (กลางจอภาพ) และขับรถมุ่งไปทางถนนพหลโยธิน ขณะที่มีรถปิคอัพสีน้ำเงิน ขับตามประกบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณีบุกอุ้ม "จ่านิว" กลางดึก เรียกร้องเร่งตรวจสอบว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานใด พร้อมให้แสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ และดำเนินการทางอาญาและวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
21 ม.ค. 2559 จากกรณี สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ถูกชายในเครื่องแบบทหารบุกอุ้มบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. เมื่อคืน (20 ม.ค.) ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับโดยวิธีการอุ้ม" โดยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนว่าเป็นการกระทำของผู้ใด หน่วยงานใด และขอให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมถึงทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดพฤติกรรมอุกอาจรุนแรงต่อนักกิจกรรมทางสังคม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีก พร้อมกันนี้ยังขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าวด้วย
"การอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย โดยรัฐจะต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะสถานการณ์ เหตุผล หรือต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ ยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับโดยวิธีการอุ้ม
ตามที่เป็นข่าวในทางสาธารณะและสื่อออนไลน์ว่ามีการจับกุมนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 20 มกราคม 2559 โดยภายหลังมีการเผยแพร่ภาพวงจรปิดของทางมหาวิทยาลัยพบเห็นเป็นกลุ่มบุคคลแต่งกายแบบทหารมาด้วยรถกระบะจำนวนสองคัน เดินออกจากรถเข้าจับกุมชายใส่เสื้อสีขาวแล้วขึ้นรถกระบะขอออกไปจากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ฝั่งประตูเชียงราก) ขณะนั้นนายสิรวิชญ์ฯ และเพื่อนจำนวนสองคนกำลังเดินบนทางเดินทางหลังจากการรับประทานอาหาร เพื่อนทั้งสองคนจึงเป็นพยานเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจนพร้อมกับกลุ่มประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง สถานที่เกิดเหตุอยู่บนถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมา ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งนอกจากเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในร่างกายนายสิรวิชญ์แล้ว ยังเป็นการกระทำที่อุกอาจในพื้นที่สาธารณะที่คุกคามสิทธิมนุษยชนสร้างความหวาดกลัวในชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นการทั่วไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งมีหมายความว่า การจับกุมคุมขังลักพาหรือกระทำด้วยประการใดที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายต่อบุคคลซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งการสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการปฏิเสธว่ามิได้มีการจับกุมคุมขังลักพาหรือกระทำการนั้น แม้ว่าการบังคับให้สูญหายในกรณีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์เป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะต่อมาได้มาการนำตัวมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนิมิตรใหม่ ในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2559 ดังปรากฏในบันทึกการจับกุมซึ่งจัดทำขึ้นในเวลา 03.00 น. โดยอ้างว่าเป็นการติดตามจับกุมตามหมายจับ
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวและจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับศาลทหารนั้นต้องกระทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา และซึ่งเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้และมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการในเวลากลางคืน เนื่องจากนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์มิได้เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีที่มีความรุนแรงหรือมีพฤติกรรมไปในทางการใช้ความรุนแรง นายสิรวิชญ์เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทางราชการสมควรมีวิธีการที่ละมุนละม่อมและการดำเนินการตามกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้กำหนดขึ้นเพื่อบุคคลทุกคนภายใต้กฎหมายเดียวกัน รวมทั้งผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองหรือผู้ที่ถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร และหากมีการควบคุมตัวในสถานที่เปิดเผยซึ่งได้รับรองอย่างเป็นทางการ ต้องไม่ควบคุมตัวโดยปราศจากการติดต่อกับโลกภายนอก และจะต้องสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระ เป็นต้น ด้วยสิทธิดังกล่าวเหล่านี้เป็นหลักประกันเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ป้องกันการถูกซ้อมทรมานการอุ้มหายและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งสิทธิในชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวและจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีโปรดดำเนินการดังนี้
1.  ขอให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์คืนวันที่ 20 มกราคม ต่อเนื่องวันที่ 21 มกราคม 2559 ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด หน่วยงานใด และขอให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดพฤติกรรมอุกอาจรุนแรงต่อนักกิจกรรมทางสังคม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีก
2.  เมื่อปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าวด้วย
การอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย โดยรัฐจะต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะสถานการณ์ เหตุผล หรือต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น