วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: กฤษณ์พชร โสมณวัตร-การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย


“เท่าที่ค้นคว้าพบว่า เกียรติยศ ศักดิ์ศรี หรือความเป็นอภิชนของผู้พิพากษาไม่ได้เริ่มมาแต่ดึกดำบรรพ์หรือสมัยโบราณ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้าง” กฤษณ์พชร โสมณวัตร อธิบายโดยแบ่งอัตลักษณ์ของตุลาการเป็น 3 ช่วง ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคหลัง 2475 และยุคสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นไอดอล รายละเอียดติดตามในรายงาน
เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ
งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ
0000

กฤษณ์พชร โสมณวัตร

ในที่นี้จะพูดถึงอัตลักษณ์ของผู้พิพากษาว่าทำอย่างไรเขาจึงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แทรกแซงอำนาจการเมือง อำนาจรัฐบาล นิยามสิ่งต่างๆ ที่เกิดในโลก
อย่างแรก จะพูดถึงความเข้าใจเรื่องตุลาการภิวัฒน์ในสังคมไทยก่อน เท่าที่สำรวจ เกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ที่ผ่านมา จะให้ความสำคัญกับระบบกฎหมายหรือการเมือง หรือใช้ตุลาการภิวัตน์เชิงสร้างสรรค์อย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นการศึกษาแนวนิติสถาบัน เน้นสถาบันการเมืองเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะพูดในวันนี้คือชี้ให้เห็นความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการเมือง โครงสร้างระบบกฎหมาย ทำไมเขาจึงกระโดดเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง
จึงต้องการทำความเข้าใจว่า ตุลาการเชิงสถาบันมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นหรือไม่ อัตลักษณ์เขาเป็นอย่างไร เขามีความใฝ่ฝัน ความคิดอย่างไรในการทำการอภิวัฒน์ทางการเมือง
ในช่วงการนำเสนอของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ พูดถึงวัฒนธรรมทางความคิด ส่วนการนำเสนอนี้จะเป็นส่วนของวัฒนธรรมทางการศาลว่า ภายนอกศาลคิดอย่างหนึ่ง ในศาลเขาคิดกับตัวเขาเองอย่างไร โดยปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเมื่อพูดถึงปริมณฑลของวิชากฎหมายในมุมมองทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ เวลาพูดถึงอำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจใดก็ตาม มีวิธีการมองหลายอย่าง เช่น อำนาจเชิงวาทกรรม อำนาจเชิงบุญญาบารมี หรืออำนาจเชิงประเพณี แม้แต่บทความ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์ พยายามพูดถึงอำนาจที่ไปไกลกว่ากฎหมายแบบระบบระเบียบ เป็นต้น
เวลาพูดถึงการศึกษากฎหมายทั่วไปมักจะไม่ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ของผู้พิพากษา จึงอยากจะเพิ่มประเด็นนี้เข้าไป ชวนให้สังเกตว่าถ้าพยายามอธิบายพฤติกรรมของตุลาการ หรือการตัดสินคดีความ โดยใช้วิธีทางกฎหมายอย่างเดียว เราอาจจะไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรศาลจึงตัดสินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างนั้น ที่ขยายความอย่างหลุดโลกออกไป เพราะอะไรการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของ กปปส. ศาลมองอย่างหนึ่ง แต่กรณีของชาวบ้านศาลมองอย่างหนึ่ง ตรงนี้เราตอบแบบให้เหตุผลทางกฎหมายไม่ได้ แต่ต้องตอบโดยมองแบบวัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์ของเขา
ในสังคมไทยเราคงเคยได้ยินว่า "Know how" ไม่เท่ากับ "Know who" และวันนี้ผมจะทำความเข้าใจผู้พิพากษาว่าพวกเขาเป็นใคร
คำถามที่จะพูดต่อไปคือ ตุลาการ อยู่ดีๆ จึงกลายเป็นตุลาการภิวัตน์ ทำไมจึงกระโดดเข้าไป "ภิวัตน์การเมือง" อะไรทำให้พวกเขามั่นใจจนกระโดดเข้าไปจัดการสิ่งต่างๆ ในโลกสมัยใหม่
ที่ผ่านมาเรารู้จักตุลาการในฐานะหลายๆ อย่าง เช่น อาชีพเป็นเกียรติ สูงส่ง เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล อาชีพที่สอบยากเป็นยาก บางคนอายุมากสอบไม่ได้ก็ยังสอบต่อไป เป็นอาชีพที่นักเรียนกฎหมายใฝ่ฝันอยากเป็น หรือเห็นศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน หรือคิดว่าเป็นอาชีพเดียวที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
อัตลักษณ์บางอย่าง เป็นอำนาจทางวัฒนธรรมพอๆ กับอำนาจทางกฎหมาย ช่วยให้ใช้อำนาจ รวมถึงตุลาการภิวัฒน์ด้วย
เท่าที่ค้นคว้าพบว่า เกียรติยศ ศักดิ์ศรี หรือความเป็นอภิชนของผู้พิพากษาไม่ได้เริ่มมาแต่ดึกดำบรรพ์หรือสมัยโบราณ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้าง ประวัติศาสตร์อันใกล้ยังมีภาพอีพแบบหนึ่งของตุลาการ เช่น สุนทรภู่ เปรียบตุลาการเหมือนเหยี่ยวบินสูงคอยจ้องหาเหยื่อและอาหารจากชาวบ้าน และถลาโฉบไปอย่างหน้าด้านๆ ในหลักฐานชั้นต้นเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.ศ. 121 ประมาณ ค.ศ. 1901 ระบุว่าเมื่อก่อนมองผู้พิพากษา "เป็นข้าราชการอันเลวทราม" คือในเวลานั้นมองว่าเป็นของอาชีพเลวทราม ไม่ได้มีเกียรติมีศรีอะไร ในคติโบราณ ผู้พิากษาไม่สามารถถือดี ถือคติอะไร ไปแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ได้
ตุลาการตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งได้เป็นสามช่วงเวลา ช่วงแรก การกำเนิดข้าบริพารตุลาการอาชีพ ซึ่งยังไม่เหมือนข้าราชการยุค พ.ศ. 2475 ข้าราชการยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รับใช้พระมหากษัตริย์ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ จะเป็นกระทรวงมหาดไทยหรือยุติธรรม ขึ้นกับอำนาจของกษัตริย์ 
ยุคที่สอง ข้าราชการผู้พิพากษาแห่งสถาบันตุลาการ คือในยุคนี้มีการแบ่งแยกอำนาจในรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นครั้งแรกที่ศาลมีอำนาจอิสระออกมา
ยุคที่สาม กำเนิดบรรพตุลาการไทย โดยเขาชวนให้คิดว่าเวลาพูดถึงอดีตตุลาการทั้งหลาย เรามักนึกไปไม่ไกลกว่า พ.ศ. 2500 ภาพไอดอลเวลานึกถึงก็จะนึกได้ตั้งแต่ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นต้น
อยากสรุปในเบื้องต้นว่า อัตลักษณ์อำนาจตุลาการ ถูกถ่ายทอดผลิตซ้ำผ่านช่วงเวลาต่างๆ ผ่านบริบททางการเมืองซึ่งจะเล่าต่อหลังจากนี้
พูดถึงยุคแรก ข้าราชบริพารตุลาการอาชีพ จุดตั้งต้นที่ทำให้เปลี่ยนผู้พิพากษาจากยุคจารีตสู่ยุคสมัยใหม่ คือ การตั้งกระทรวงยุติธรรม ในปี 2434 การตั้งกระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมทำให้เกิดผู้พิพากษาอาชีพขึ้น มีการทำให้ผู้พิพากษากลายเป็นมืออาชีพ มีระบบการศึกษาสมัยใหม่ ในยุคนี้ถ้าอ่านงานประวัติศาสตร์กฎหมายที่พิมพ์อยู่ในไทย เช่น งาน อ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส หรือ อ.กิตติศักดิ์ มักจะอ้างถึง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่อ้างถึง Walter A. Graham ที่บอกว่า กระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้น เปรียบดาวดุจดาวสุกสกาวเรืองรัศมีในวงการบริหารราชการแผ่นดินไทย 
ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เรามักจะมองว่าการปฏิรูปกฎหมายและการศาลในยุคสมัยนั้นเป็นความสำเร็จอย่างวิเศษ ซึ่งผมจะชวนมองต่อไปว่ามันจริงหรือ ตรงนี้เท่าที่ค้นเอกสารชั้นต้นมา พบว่ามันมีปัญหาอยู่ในทุกระดับในกระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมในยุครัชกาลที่ 5 เช่น มีความไม่ชัดเจนแน่นอนของตัวบทกฎหมาย และตัวผู้พิพากษาเองก็ไม่รู้กฎหมายด้วย
เอกสารในปี ร.ศ.129 (กระทรวงยุติธรรมก่อตั้ง ร.ศ.110) 19 ปีหลังจากตั้งกระทรวงยุติธรรม ชี้ว่า ยังมีปัญหาทำนองว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายใหม่ ผู้พิพากษาปีนี้มีคนไม่ทราบภาษาไทย ต้องมีล่ามแปลอ่านสำนวนตลอดเวลา ดังนั้นจึงตัดสินคดีได้น้อยมาก บางทีก็ผิดๆ ถูกๆ รวมถึงความขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน 
ในปี ร.ศ. 129 เช่นกัน กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บ่นกับรัชกาลที่ 5 ศาลนั้นแคบมาก จนพวกเสมียนไปนั่งในห้องเล็กๆ ที่ควรจะเป็นห้องน้ำเท่านั้น ห้องพักพยานสักห้องก็ไม่มี เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องเล็กมาก แต่จริงๆ ถ้าไปศาลแล้วไม่มีห้องพักพยาน มันประกันความยุติธรรมอะไรไม่ได้เลย ถ้าพยานไม่มีห้องส่วนตัว เดินไปอาจจะถูกตีหัว จี้หรืออะไรก็ได้ ห้องพักพยานก็มี function ในกระบวนการยุติธรรมของมันเช่นกัน ไปจนถึงการแบ่งงานระบบราชการต่างๆ ก็มีปัญหามาก กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บ่นว่า เขาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ต้องทำงานเก้าอย่าง ทั้งงานในกระทรวงการต่างประเทศ งานในกระทรวงเกษตร เป็นผู้พิพากษา ครูโรงเรียนกฎหมาย บ่นอยากจะลาออก
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างเจ้านายผู้ใหญ่ด้วย เช่น ข้อถกเถียงกรณีโรงเรียนราชวิทยาลัย พระองค์เจ้ารพี เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม บอกว่า กระทรวงยุติธรรมไม่เคยต้องการโรงเรียนราชวิทยาลัยเลย เปลืองงบประมาณและไม่มีประโยชน์ ขณะที่พระองค์เจ้าจรูญ รองเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม บอกว่า โรงเรียนราชวิทยาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสองคนนี้ก็ทะเลาะกันไม่หยุด เช่น พระองค์เจ้ารพี บ่นหม่อมเจ้าจรูญว่าไม่รู้กฎหมาย ไม่ชำนาญกฎหมาย พอคดียากๆ ก็ต้องมาปรึกษาตัวเองเกือบหมดและเสียเวลาทั้งวันไป 
นอกจากนี้ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำในวงการตุลาการเท่านั้น ระดับผู้พิพากษาธรรมดาก็ทะเลาะกัน เช่น มีความขัดแย้งกันระหว่างศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกา แล้วก็ด่ากันลงไปในคำพิพากษา คดีจากชั้นอุทธรณ์ขึ้นสู่ชั้นฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาก็มีการเขียนตำหนิผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า "ถ้าเราปรึกษาคดีผิดเพี้ยนรูปความแลกฎหมายมากถึงเช่นนี้ เห็นว่าไม่มีเหตุเครื่องแก้ตัว ถ้าขืนทำบ่อยๆ จนเคยตัว จะเป็นบาปแห่งความฉิบหายของผู้พิพากษาตุลาการในวันหนึ่ง ข้าพเจ้ากรมหมื่นสวัสดิ์รู้สึกสดุ้งและสลดใจอยู่ด้วยประการนี้" และมีการด่ากันเยอะมากๆ
พูดง่ายๆ มีทั้งความขัดแย้ง มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้าง สาธารณูปโภค ความรู้ทางกฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างพวกเดียวกันเองในวงการตุลาการ 
นอกจากนี้เราสรุปได้ในช่วงแรกว่าในยุคที่เรียกว่าการกำเนิดขึ้นของตุลาการอาชีพ มันไม่ใช่อาชีพยอดนิยม ปรินซ์รพีหรือกรมหลวงราชบุรีกังวลมากว่าจะไม่มีใครอยากมาทำงานตุลาการ เพราะเป็นงานที่หนัก แต่ด้วยความที่ระบบกฎหมายเข้าสู่สมัยใหม่ ทำให้ความต้องการในการใช้กฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่งานกฎหมายก็ยากและหนักและไม่มีใครอยากทำ
ตรงนี้มีข้อมูลชุดหนึ่งบอกว่า ผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนพอสมควร ในชั้นต้น เดือนละ 240 บาท หรือปีละ 150 ปอนด์ มันก็เยอะ เพียงแต่มันน้อยเมื่อเทียบกับข้าราชการมหาดไทย ในหลักฐานบอกว่า "แลข้าราชการฝ่ายธุรการนั้น มีเกียรติยศสูงกว่าทั้งการนั้นไม่มีใครจะเบื่อหน่ายด้วย" "คนดีๆ ในเมืองนี้ก็ไปอยู่เสียกระทรวงมหาดไทยหรือฝ่ายธุรการโดยมาก"
ตุลาการไม่ได้เป็นอาชีพที่มีเกียรติในแผ่นดิน นายอำเภอยังจะดูดีกว่าผู้พิพากษา
สรุป ตุลาการในยุคปฏิรูปกฎหมายครั้งแรก ระบบยุติธรรมแทบไม่มี ผู้พิพากษาก็คือศาล ศาลก็คือกระทรวงยุติธรรม ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจกัน ไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นระบบระเบียบแต่อย่างใด กระบวนการระบบยุติธรรมจะดำเนินไปได้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้พิพากษาคนนั้นจะเป็นคนอย่างไรเท่านั้น
พอผ่านยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา เข้าสู่การปฏิวัติ 2475 ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างสำคัญ
ทั้งนี้ การปฏิวัติ 2475 คนที่กำหนดวิถีประวัติศาสตร์ในยุคนั้นถึงแม้จะมีนักกฎหมายเป็นส่วนสำคัญก็ตาม แต่นักกฎหมายเหล่านั้น ไม่ได้รวมถึงผู้พิพาษา ไม่มีตุลาการร่วมอยู่ด้วยในการปฏิวัติครั้งนั้น  
นอกจากนี้ พอเกิดรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีความคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นส่วนๆ และแต่ละส่วนเป็นอิสระต่อกันเป็นครั้งแรก คือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ดังนั้น ถ้าพูดอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เราเรียกว่าสถาบันตุลาการ มันเกิดขึ้นหลัง 2475 ก่อนหน้านี้ตุลาการคือข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
ในงานของ ศราวุฒิ วิสาพรม ซึ่งตีพิมพ์ปีนี้ อธิบายต่อไปว่า ในยุค 2475-2500 มีการขยายตัวของระบบราชการที่กว้างขึ้นเพื่อเข้าไปดูแลสวัสดิภาพของคนมากขึ้น กฎหมายรูปแบบใหม่ๆ หน้าตาใหม่ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับภาษี การปกครองท้องถิ่น 
นอกจากนี้ก็ยังมีการขยายตัวของอุดมการณ์การปฏิวัติและการต่อต้านปฏิวัติ งานของณัฐพล ใจจริง ชี้ให้เห็นภาพเหล่านี้พอสมควร นอกจากนี้ในทางวัฒนธรรม ก็ยังมีอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าเกิดขึ้น 
เงื่อนไขทางสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างสำคัญในช่วง 2475 รัฐขยายตัว นักกฎหมายนอกจากกระจุกตัวอยู่ในศาล มีการขยายเข้าไปสู่ราชการวงอื่นๆ ทำให้สำนึกตัวตนของผู้พิพากษาในยุคสมัยนี้แตกต่างออกจากช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์และช่วงหลังคณะราษฎรเช่นกัน 
เท่าที่เราสังเกตได้นักกฎหมายชั้นนำในช่วง 2475 มีการกระจายตัวออกไปประกอบอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง เส้นทางอาชีพไม่ได้มุ่งไปอยู่ทางเดียวคือศาลยุติธรรม เราจะเห็นนักกฎหมายชั้นนำ ...
- ปรีดี พนมยงค์ เกือบจะต้องรับราชการศาล แต่สุดท้ายก็ไม่รับ ไปเรียนต่อ กลับมาเป็นนักปฏิวัติ กรรมการราษฎร ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย เป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นเสรีไท เป็นนักการเมือง 
- เสนีย์ ปราโมช ลาออกจากการเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เปิดสำนักงานทนายความเอง ไปเป็นนักการเมืองฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ 
- หยุด แสงอุทัย มีความโดดเด่นด้านกฎหมายไม่แพ้คนอื่น แต่เลือกที่จะทำงานเป็นเลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา เขาเชื่อว่างานในสำนักงานกฤษฎีกามีความสำคัญยิ่งกว่าผู้พิพากษาตุลาการ โดยบอกทำนองว่าถ้าเราเป็นผู้พิพากษาตุลาการ เราตัดสินคดี เราช่วยคนได้แค่คู่ความคนใดคนหนึ่ง แต่เราเป็นคนร่างกฎหมาย เราช่วยคนได้ทั้งหมด
- พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็นทนายความ เป็นกรรมการราษฎร เป็นอาจารย์กฎหมาย 
- เสริม วินิจฉัยกุล เรียนจบกฎหมาย แต่ไปเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วง 2475 ระบบราชการขยายตัว ทำให้นักกฎหมายกระจายตัวไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ นักกฎหมายที่เด่นที่สุดไม่มีความจำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษา เอาเข้าจริงๆ ผู้พิพากษาระหว่าง 2475-2500 เราแทบนึกไม่ออกเลยว่ามีใครที่โดดเด่นออกมาในทางสาธารณะ สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจจะมีความโดดเด่น เขารับราชการตั้งแต่ 2476 เป็นต้นมา แต่เวลาที่เขาโดดเด่นคือหลัง 2500 ตอนที่เขาเริ่มเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานศาลฎีกา ตัดสินคดีกินป่า ซึ่งนั่นคืออีกช่วงเวลาหนึ่งสำหรับผม
นอกจากเส้นทางอาชีพของตุลาการที่ไม่เหมือนกันแล้ว ในช่วงนี้อุดมการณ์หลักของตุลาการยังไม่มีการสถาปนาขึ้น มันมีการแข่งขันกันระหว่างนักกฎหมายสายอังกฤษหรือสายฝรั่งเศส งานของนครินทร์ งานของณัฐพล จะพูดถึงเรื่องนี้ สายอังกฤษจะยึดหัวหาดแถวๆ ศาลยุติธรรม เนติบัณฑิตยสภา ขณะที่สายฝรั่งเศสจะไปกุมอำนาจอยู่ที่ฝ่ายการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง จะเห็นเยอะเลย ไพโรจน์ ชัยนาม, เดือน บุนนาค, สงวน ตุลารักษ์ ทั้งหมดไม่ได้เข้าสู่ศาล แต่จะไปอีกแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ ในทางวัฒนธรรม ยังไม่มีการช่วงชิงความหมายและสถาปนาอำนาจนำอย่างเด็ดขาดระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายหัวก้าวหน้า ปัญญาชนหัวก้าวหน้ายุคสมัยนั้นเกิดขึ้นมาเช่นเดียวกับอนุรักษนิยมก็เกิดขึ้นมา ทั้งสองยังต่อสู้แย่งชิงความหมายกันอยู่ ฝ่ายหัวก้าวหน้าแสดงความคาดหวังต่อนักกฎหมายออกมาอย่างชัดเจน วรรณกรรมหัวก้าวหน้าจำนวนมากพูดถึงนักกฎหมาย และที่น่าสังเกตคือหลัง 2510 เป็นต้นมา วรรณกรรมหัวก้าวหน้าที่พูดถึงตัวเอกเป็นนักกฎหมายค่อยๆ หายไป จริงๆ แล้วแทบจะหายไปอย่างเบ็ดเสร็จด้วยซ้ำก็ว่าได้ ฝ่ายหัวก้าวหน้ายกตัวอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ, เสนีย์ เสาวพงศ์, อัศนี พลจันทร จะมีตัวละครที่พูดถึงความเป็นนักกฎหมายอยู่
ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยม วรรณกรรมของพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักกฎหมายเป็นพิเศษ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งผมไม่ได้อ่านเองทั้งหมดแต่อ่านจากงาน อ.สายชล ซึ่งผมอาจจะอ่านผิด แกก็ไม่ได้พูดถึงนักกฎหมายเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่ก็พูดถึงทุกเรื่องเลย
ทีนี้อยากชวนสังเกตว่า ถึงแม้ว่าในสังคมโดยรวม ปัญญาชนฝ่ายหัวก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยมจะมีความเห็นค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ในแวดวงกฎหมาย ทัศนคติที่เขามีต่อนักกฎหมายและวงการกฎหมายแทบไม่ต่างกัน 
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนวรรณกรรมเรื่องลูกผู้ชาย มีตัวละคร "มาโนช รักสมาคม" เป็นลูกชายช่างไม้จนๆ ต่อสู้ดิ้นรน และกลายเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่ง เมื่ออ่านดูจะพบว่า นอกจากความเป็นลูกชายช่างไม้แล้วเข้ามาสู่วงการตุลาการได้ คุณธรรมอื่นๆ ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรยายออกมา แทบไม่ต่างจากฝ่ายอนุรักษนิยมเลย เช่น ให้ความสำคัญกับความขยันหมั่นเพียร ความอดทน การเห็นอกเห็นใจคนยากคนจน ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าพูดคล้ายๆ กัน
อาภา ภรรยาของมาโนช ซึ่งสุดท้ายก็แยกกันไป บอกว่ามาโนชวันๆ ไม่ทำอะไรเลย ทำงานเจ็ดชั่วโมง นอนหกชั่วโมง อ่านหนังสือห้าชั่วโมง ไม่มีเวลาทำอะไรกับแฟนเลย เป็นต้น ที่ผมจะบอกตรงนี้ก็คือ ในยุค 2475-2500 ฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยม มีความใกล้ชิดกันมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมและวงการตุลาการ
อย่างที่ อ.สายชลพูดไว้ตอนเช้าว่า กุหลาบ พูดถึงคุณธรรมแบบพุทธศาสนาออกมาว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาสังคม ฝ่ายหัวก้าวหน้าบอกว่าเราควรจะเห็นอกเห็นใจบุคคลที่อยู่ในสภาพที่ด้อยกว่า เน้นการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ไม่ปล่อยให้ตัวเองฟุ้งซ่านวุ่นวายหรือก้อร่อก้อติกมากเกินไป ซึ่งไม่ต่างจากฝ่ายอนุรักษนิยมเลย ตรงนี้ทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยมให้ความสำคัญกับคุณวุฒิและความเก่งกาจในการศึกษาเล่าเรียน การดำรงตนเป็นสุภาพบุรุษ ความแตกต่างอย่างเดียวก็คือ เรื่องเกี่ยวกับชาติวุฒิและชนชั้นสูง 
ถึงสุดท้าย การเกิดบรรพตุลาการไทย หลัง 2475-2500 เป็นต้นมา บริบทเงื่อนไขตอนนั้นก็คือคณะราษฎรหมดอำนาจไป นักการเมือง ข้าราชการ นักกฎหมาย ฝ่ายปรีดี จอมพล ป. ถูกลดความสำคัญ หยุด แสงอุทัย มีความสำคัญน้อยลงมาก กระบวนการศึกษากฎหมายเข้าสู่ยุควิชาชีพครอบงำวิชาการ สำนักฝรั่งเศสลดความสำคัญลง
วัฒนธรรมอุดมการณ์แบบก้าวหน้าถูกกีดกัน กวาดล้าง สิ่งที่เติบโตขึ้นมาอย่างเดียวคือ วัฒนธรรมอนุรักษนิยม วรรณกรรมหัวก้าวหน้าหลายเล่มโดนแบน ช่วง 2500-2514 และถ้าอ่านงานของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็จะมองออกว่า วรรณกรรมเหล่านี้นี่แหละที่เป็นจุดทำให้เกิดการลุกฮือในช่วง 2516 
นอกจากนี้ ช่วง 2500 ก็มีการขยับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมามีความสำคัญมากในพื้นที่ทางการเมืองและวัฒนธรรม 
ถึงเวลานี้เอง เราเริ่มเห็นผู้พิพากษาที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และคนที่โดดเด่นที่สุดที่อยากจะยกไว้คือ สัญญา ธรรมศักดิ์ เขาประสบความสำเร็จสูงสุดในทุกด้าน เริ่มตั้งเแต่เป็นผู้พิพากษา ปลักดกระทรวงยุติธรรม ประธานศาลฎีกา อธิการบดี นายกฯ ประธานองคมนตรี ประธานสมาคมพุทธศาสนาโลก ผู้บริหาร SCG
จริงๆ ตัวสัญญา ธรรมศักดิ์ ค่อนข้างมีความสำคัญ ชีวิต ผลงานและอัตลักษณ์ของเขา ถูกผลิตซ้ำลงไปในตุลาการทุกคนตุลาการทุกคนจะอ้างอิงถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ในฐานะบรรพตุลาการ
อยากจะเน้นว่า อัตลักษณ์ตุลาการที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นอัตลักษณ์ร่วมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น กรณีของผมศึกษาผ่านหนังสืองานศพของข้าราชการตุลาการ และค้นพบว่า มีลักษณะเด่น 4 ประการด้วยกันของผู้พิพากษาที่จะเน้นย้ำและเลือกให้คนจดจำเขาในฐานะนั้นเสมอ ได้แก่ การเป็นคนดี ผู้ดี ผู้รู้ และผู้จงรักภักดี ผู้ดีก็คือ สง่างาม รักษามารยาท คนดีคือซื่อสัตย์ ยุติธรรม ศรัทธาต่อพุทธศาสนา ผู้รู้คือ จะบอกว่าตัวเองรู้กฎหมายดีที่สุดในโลก 
ความเป็นพุทธ
สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้พิพากษา ที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันสงฆ์เยอะมากโดยเฉพาะพุทธที่ได้ชื่อว่าเป็น radical อย่างพุทธทาสเป็นสหายธรรมกัน และเราก็แทบจะเชื่อว่า ตุลาการแทบเป็นอรหันต์ในร่างฆราวาสอยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องตรวจสอบ อันนี้อ.วรเจตน์พูดไว้
ความเป็นผู้ดี
ในหนังสือ "ดุลพาห" เล่มหนึ่งพูดถึงแบบประเมินความดีความชอบของตุลาการในเรื่องหน้าที่การงานส่วนตัว จะเห็นว่าเขาสนใจไปทุกเรื่อง ไม่เฉพาะตัวเองแต่รวมถึงครอบครัวด้วยว่ามีความสัมพันธ์กับภรรยาอย่างไร ทะเลาะกันบ้างหรือไม่ ช่างพูดไหม ยุ่งเกี่ยวกับงานสามีไหม ติดสุรา เล่นพนันไหม ซึ่งแบบประเมินนี้สัมพันธ์กับการขึ้นเงินเดือน เพราะฉะนั้นเขาต้องการให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ดี รวมถึงคนรอบตัวผู้พิพากษาต้องระวังความสัมพันธ์ 
ถ้าเราดูหนังสืองานศพของผู้พิพากษา เราจะค้นพบว่า ทั้งหมดไม่เคยแต่งตัวกเฬวรากเลย ทั้งหมดจะใส่สูทผูกไทด์ หรือไม่ก็ใส่ชุดครุย มีคนเดียวที่แปลกออกมาคือ ประมาณ ชันซื่อ เป็นผู้พิพากษาคนเดียวที่ผมเห็นว่าแต่งตัวแปลกๆ มีรูปคีบบุหรี่ กินเหล้า สะสมไวน์
หนังสืออนุสรณ์ของ สัญญา ธรรมศักดิ์ มีเป็น 20 เล่ม แต่คุณจะไม่มีทางเห็นเขาในชุดนอน ตอนเที่ยวกลางคืน หรือสูบบุหรี่กินเหล้า
ศักดา โมกขมรรคกุล ก็เป็นผู้พิพากษาเช่นกัน การเมืองในวงการตุลาการข้างในมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ อย่างศักดา กับ สัญญา เห็นความเป็นสายเดียวกันค่อนข้างชัดเจน ขณะที่ประมาณ ชันซื่อจะเป็นอีกสายหนึ่ง ตรงนี้ยังไม่มีใครศึกษา รวมถึงตัวผมเองแค่พอสังเกตเห็น แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าในนั้นมีอะไรบ้าง 
ความเป็นผู้รู้
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ พูดถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทย จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ชอบแสดงความเห็นทางกฎหมาย ยิ่งแสดงก็ยิ่งเห็นว่ารู้ไม่จริง พงษ์เทพ เทพกาญจนา เคยเป็นผู้พิพากษา ทนายความก็จริง แต่ลาออกไปเป็นนักการเมืองแล้ว พูดง่ายๆ คือกูรู้กฎหมายดีที่สุดอย่างนี้เป็นต้น คือเขาพยายามจะพรีเซ็นต์ว่าเขาเรียนยาก สอบยาก และรู้กฎหมายมากกว่านักกฎหมายอื่นและประชาชนอย่างไร
บวชหมู่ ถวายเป็นราชกุล
บวชหมู่ ถวายเป็นราชกุลแด่ในหลวง จะเป็นกิจกรรมที่ตุลาการทำกัน การบวชหมู่นี้เกิดขึ้นครั้งแรกตอน 72 พรรษา คนกลางในภาพคือประมาณ ชันซื่อ เขาเป็นคนที่น่าสนใจ เขาแทบเป็นประธานศาลฎีกาคนเดียวที่ดำรงสองวาระติดต่อกัน ขณะที่คนอื่นไม่มี แม้แต่สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ทำแบบนี้ไม่ได้ เขามีทั้งคนชมและด่ามากมายมหาศาล
อัตลักษณ์ตุลาการทั้งหมดไม่ได้จบแค่ สัญญา ธรรมศักดิ์ แต่ความเป็นสัญญา ธรรมศักดิ์ ความเป็นบรรพตุลาการ ถูกทำให้กลายเป็นสถาบันผ่านหนังสืองานศพซึ่งทุกคนจะเน้นความเป็นคนดี ผู้รู้ ผู้ดี ผู้จงรักภักดีเหมือนกันหมด นอกจากหนังสืองานศพ หนังสืออนุสรณ์แล้ว  ยังมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ มธ. รังสิต เป็นที่จดจำตลอดไป มีการให้ความหมายของฐานห้าเหลี่ยมของรูปปั้นสัญญาว่าหมายถึงตำแหน่งห้าอย่างที่สำคัญเคยเป็น คนดีอย่างไร นอกจากนี้ยังกลายเป็นห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ท่าพระจันทร์ กลายเป็นสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ให้รางวัลกับวิทยานิพนธ์กลางๆ ทั้งหลาย
ตรงนี้ถ้าถือว่าสัญลักษณ์เป็น totem คือเป็นจุดยึดเหนี่ยวร่วมกัน สัญลักษณ์กระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมอธิบายว่าประกอบด้วยตราพิชัยมหามงกุฎซึ่งหมายถึงสถาบันกษัตริย์ ครอบอุณาโลมหรือตราดุลพาห ซึ่งหมายถึงความยุติธรรม ตั้งที่ฐานอยู่บนพานที่มั่นคง มีครุฑ ซึ่งคติของไทยคือพาหนะของพระราชา ล้อมรอบด้วยดอกบัวเก้าดอก ทั้งหมดนี้ถ้าจะแปลหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้พระราชทานความบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วแผ่นดิน ดอกบัวเก้าดอกหมายถึงรัชกาลที่ 9 ดอกบัวมีความหมายที่สื่อไปถึงศาสนาพุทธพร้อมๆ กัน ตราสัญลักษณ์ตรงนี้ทำให้มองเห็นอัตลักษณ์และคุณค่าที่เขายึดถือได้เป็นอย่างดีว่าเขายึดถือพุทธศาสนา สถาบันกษัตริย์เป็นสำคัญอย่างยิ่ง
สรุป อยากจะบอกว่า เวลาเราพูดถึงการเมืองเชิงตุลาการหรือการกลายเป็นตุลาการภิวัตน์ เราจะต้องมองให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่อยู่ในการเคลื่อนเข้าสู่การเมืองของตุลาการด้วย
อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ได้ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มีธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ ธีรยุทธเป็นคนแรกๆ ที่พูดว่า ตุลาการควรจะเข้ามาจัดระเบียบการเมือง เพราะตุลาการเป็นอาชีพที่ห่างไกลจากผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมากที่สุด อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ แต่บังเอิญไปหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน 
สรุปอยากจะบอกว่า อำนาจของตุลาการไทยทั้งหมดที่พูดมาเกี่ยวกับนักเรียนกฎหมายไหม ผมมองว่าเกี่ยว ผมไม่ได้พูดถึงตัวบทกฎหมายเลย แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมทางการศาลและผู้พิพากษามีลักษณะ มีวิธีคิด โลกทัศน์อย่างไร มันสัมพันธ์กับการใช้กฎหมาย ไม่ได้น้อยไปกว่าตัวบทกฎหมาย อำนาจของกฎหมายไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนอำนาจในเชิงหลักการ เหตุผล ความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตั้งอยู่กับความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ตั้งอยู่กับภาพลักษณ์ยิ่งกว่าอำนาจ
เราจึงอธิบายได้ว่าทำไมกรณีที่มีหมอจำนวนหนึ่งออกมาบอกว่าศาลไม่มีความรู้ ศาลถึงต้องให้โฆษกออกมาแล้วก็ประกาศเลยว่าตัวเองมีความรู้ เรื่องการแพทย์มีพยานผู้เชี่ยวชาญ และถ้าพูดต่อไปจะเล่นงานด้วยการหมิ่นศาล นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เป็นอย่างนี้มาตลอด ศาลเป็นองค์กรที่เซนสิทีฟต่อการวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะอำนาจของเขารวมถึงอำนาจของตัวบทกฎหมายมันไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล แต่ตั้งอยู่บนหน้าตา ซึ่งประเด็นนี้สัมพันธ์กับงานของปีเตอร์ แจ็คสัน ที่อธิบายว่าสังคมไทยเป็นสังคมอิงหน้าตา อิงภาพ 
อัตลักษณ์ตุลาการถูกออกแบบขึ้นอย่างมีหน้าที่ทางการเมืองให้มีความสำคัญ โดยเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัฐสมัยใหม่เป็นต้นมา ปัญหาคืออัตลักษณ์ตุลาการพวกนี้ วัฒนธรรมทางการศาลพวกนี้ มันไม่ใช่วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้วจะมีประสิทธิภาพบนโลกของประชาธิปไตย และถ้าเห็น ตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา วัฒนธรรมทางการศาลนั้นแอบอิงกับวัฒนธรรมอนุรักษนิยมและเผด็จการมาตลอด

เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: อายาโกะ โทยามะ-วิเคราะห์การคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ



Tue, 2016-04-26 17:47

อายาโกะ โทยามะ นักวิชาการจาก ม.เกียวโต ชี้ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ ไม่ใช่แค่เรื่องตุลาการ แต่รวมถึงฝ่ายบริหาร พร้อมสำรวจองค์กรอิสระไทยที่กลายเป็น "สวัสดิการของข้าราชการอายุเกษียณ" แนะแก้คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งเพื่อรับประกันความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม
เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ
งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่
โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ
00000

อายาโกะ โทยามะ 
นักวิชาการ ม.เกียวโต


คำศัพท์ "ตุลาการภิวัตน์" ที่เกิดขึ้นและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ใหม่ในโลกด้วย
จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าตุลาการภิวัตน์คืออะไร ในประวัติศาสตร์นานมาแล้ว พวกเราเข้าใจว่า รัฐประกอบด้วยอำนาจสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ในปัจจุบันนี้ พวกเราต้องแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่ หรือ New Democracy 
ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เกิดขึ้นแต่ยังมีคำถามที่ต้องตอบเยอะ เช่น ตุลาการภิวัตน์เป็นปราฏการณ์ของฝ่ายตุลาการจริงหรือเปล่า ศาลรัฐธรรมนูญคือศาลหรือองค์กรอิสระ จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือศาล แต่ยังไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ องค์กรอิสระคืออะไร ประเด็นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน องค์กรอิสระคือองค์กรของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ มีอำนาจพิเศษเกิดขึ้นหรือเปล่า อำนาจหน้าที่ของสามฝ่ายนั้นชัดเจน แต่สำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อาจจะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่ ดังนั้น องค์กรอิสระน่าจะมีลักษณะเฉพาะตัวตามแต่ละประเทศ ดิฉันคิดว่าพวกเราต้องเรียนหรือทำวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างประเทศ
ย้อนกลับมาประเทศไทย ตามที่ทุกท่านทราบดีแล้ว องค์กรอิสระไทยเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และยังมีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วย บทบาทขององค์กรอิสระเหล่านี้คือการขจัดคอร์รัปชันและความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., กกต. แต่ปัจจุบันนี้มีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระจำนวนมาก และมีคำถามว่าองค์กรอิสระไทยดูเหมือนจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นเช่นกันในประเทศต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทย อะไรคือปัญหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระไทย
ในประเทศไทย องค์กรอิสระ 11 แห่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นี่คือลักษณะพิเศษเกี่ยวกับองค์กรอิสระไทย แต่จะพุ่งประเด็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นส่วนองค์กรอิสระอื่นๆ ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ 
ดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ดังนั้น จะไม่ได้พูดถึงความถูกต้องเกี่ยวกับคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ แต่จะสำรวจประวัติของคณะกรรมการองค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการฟ้องต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง หรือการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอยากจะเปรียบเทียบกับองค์กรอิสระของประเทศอินโดนีเซีย เพราะก่อตั้งขึ้นในสมัยเดียวกันกับประเทศไทย
ก่อนที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 มีการถกเถียงกันหลายประเด็น ทั้งกรณีที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องการเลือกตั้ง รัฐบาลอาจมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง กระทรวงยุติธรรมไม่ยุติธรรมเลย เพราะผู้พิพากษาที่มีวัยวุฒิสูง มีอิทธิพลหรือไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน สำหรับการปราปปรามคอร์รัปชัน ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ องค์กรอิสระจึงเกิดขึ้นหลายองค์กรในสมัยเดียวกัน การคัดเลือกกรรมการขององค์กรอิสระหรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ มีกรอบความคิดพื้นฐาน คือ เป็นคนกลางทางการเมืองเท่ากับองค์กรกลางที่เป็นอิสระ แต่ถามว่า เป็นอิสระจริงหรือไม่ 
สำหรับคุณสมบัติของผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการของ ป.ป.ช. คือ ผู้ที่เคยมีตำแหน่งรัฐมนตรี กรรมการ ป.ป.ช. กกต. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รองอัยการสูงสุด อธิบดี หรือศาสตราจารย์ ฯลฯ ส่วนคนที่ไม่มีคุณสมบัติ คือ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น คนที่เคยรับตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในสามปีก็ไม่มีคุณสมบัติ หมายความว่า รัฐธรรมนูญไทยพยายามจะขจัดนักการเมืองจากผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการขององค์กรอิสระ 
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มเติมให้ผู้มีสิทธิรับตำแหน่ง คือ ผู้พิพากษาของศาลทหาร ทนายความที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 30 ปี รวมถึงเอ็นจีโอด้วย 
สำหรับ กกต. ก็เช่นกัน สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ประมาณ 50% มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด อีกครึ่งหนึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สำหรับ ป.ป.ช. คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อแล้ว วุฒิสภาคัดเลือกหรือมีมติ กกต. ก็เช่นกัน ศาลฎีกาเสนอรายชื่อได้ แต่สุดท้าย วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือกหรือลงมติ
การแต่งตั้งกรรมการแต่ละรัฐบาลมีประเด็นที่น่าสังเกตคือ ฝ่ายทักษิณ เอาชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกรรมการขององค์กรอิสระ หรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจำนวนของกรรมการที่ถูกคัดเลือกภายใต้รัฐบาลฝ่ายทักษิณ มีแค่ 50% เท่านั้น ส่วน ป.ป.ช. น้อยกว่า 50% 
ต่อไปจะดูประวัติของกรรมการ ทั้งนี้ ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ แต่เท่าที่สำรวจ 22 ท่าน เรียนจบระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 17 ท่านเรียนจบคณะนิติศาสตร์ หมายความว่าไม่มีความหลากหลายในประวัติการศึกษาเลย สำหรับการศึกษาพิเศษ มี 11 ท่านเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งองค์กรนี้ก่อตั้งโดยจอมพล ป. 
สำหรับอาชีพก่อนหน้า กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมากพอๆ กับข้าราชการพลเรือน อัยการสูงสุด ทหาร ตำรวจ ก็มี สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้วตอนที่เข้ารับตำแหน่ง หรือกำลังจะเกษียณอายุข้าราชการตอนที่ได้รับแต่งตั้ง ดังนั้น มีผู้พิพากษาหลายท่านที่อายุครบ 70 ปีก่อนที่จะครบวาระ หมายความว่าต้องคัดเลือกใหม่หรือไม่ 
ดังนั้น พวกเราต้องเข้าใจว่า ผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยค่อนข้างอายุสูงมาก 
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ปกติพวกเราจะนึกถึงทนายความหรือเอ็นจีโอ แต่จริงๆ แล้ว ตำรวจ ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย พวกเขาถูกคัดเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ 
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจมาก คือ ผู้พิพากษาทุกท่านมีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นๆ เยอะ เช่น กรรมการของ ป.ป.ป. ไปเป็นกรรมการ กกต. และผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ มี 4 ท่านเคยเป็น ส.ว. สรรหา และถูกคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ อีกหลายท่านมีประสบการณ์เป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 
ป.ป.ช. สำรวจ 23 ท่าน ประวัติการศึกษา ครึ่งหนึ่งเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. สำหรับการศึกษาพิเศษ อย่างน้อย 5 ท่านเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับอาชีพก่อนหน้า กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ข้าราชการพลเรือน ผู้พิพากษาศาลฎีกามี 3 ท่าน ตำรวจ อัยการสูงสุด และทหาร ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้วหรือกำลังจะเกษียณ ตอนที่เข้ารับตำแหน่ง หมายความว่า กรรมการของ ป.ป.ช. ก็อายุสูงมาก ป.ป.ช. ก็มีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นด้วย
กรรมการของ ป.ป.ป. เปลี่ยนเป็น กรรมการ ป.ป.ช. มี 1 ท่าน กรรมการ ป.ป.ช. ที่ไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญและกรรมการ ป.ป.ช. 
สำหรับ กกต. ก็เช่นกัน มากกว่าครึ่งหนึ่งเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. และเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อาชีพก่อนหน้า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามด้วยข้าราชการพลเรือน พวกเขาอายุสูงมาก ส่วนใหญ่กำลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว สำหรับประสบการณ์ทำงานอื่นๆ ก็เช่นกัน ป.ป.ช. กกต. น่าสนใจมาก หลังจากหมดวาระของ กกต. มีหนึ่งท่านที่เปลี่ยนเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สองท่านเคยเป็น ส.ว. แบบสรรหา 
สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีลักษณะเหมือนกัน กรรมการส่วนใหญ่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อาชีพก่อนหน้า คือ ข้าราชการพลเรือน เป็นกลุ่มใหญ่สุด ผู้พิพาษาศาลฎีกาและทหารก็มี ส่วนใหญ่กำลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว และพวกเขาก็อายุสูงมาก พวกเขามีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นๆ ก็เช่นกัน หลังหมดวาระของผู้ตรวจการแผ่นดิน บางคนได้เป็นกรรมการ กกต. หรือ ส.ว. สรรหา หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปัจจุบัน
หมายความว่าในปัจจุบัน มีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระไทยเยอะ ที่ประเทศไทย มีหลายองค์กร แต่สำหรับกรรมการหรือผู้พิพากษา พวกเขามาจากกลุ่มเดียวกัน และสลับตำแหน่งกัน 
องค์กรอิสระก่อตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในสมัยก่อนก็มีองค์กรที่มีลักษะคล้ายกัน คือ ส.ว. แบบแต่งตั้ง อาชีพก่อนหน้าของ ส.ว. ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ ตรงนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก 
แต่สถานการณ์ขององค์กรอิสระไทย ไม่ใช่ปกติ เพราะองค์กรอิสระของอินโดนีเซีย ก็ก่อตั้งในสมัยเดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แต่เท่าที่ดิฉันสำรวจแล้ว กลุ่มใหญ่มากที่สุดคือ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และที่น่าสังเกตคือมีนักการเมืองอยู่ด้วยสามท่าน 
สำหรับ กกต. ของอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ด้านนิติศาสตร์ แต่เป็นรัฐศาสตร์ รวมถึงมี กกต.ระดับท้องถิ่น เอ็นจีโอ และนักการเมือง 
สำหรับศาลรัฐธรรมนูญไทย ผู้พิพากษามาจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ แต่ กกต. ของอินโดนีเซีย มาจากรัฐศาสตร์ ตรงนี้แตกต่างกัน และมี 7 ท่านมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่น หมายความว่า กกต. ของอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของคนที่จะมาเป็น กกต.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของอินโดนีเซีย มีชื่อเสียงมาก มีความหลากหลายเกี่ยวกับอาชีพ มีทั้ง ข้าราชการพลเรือน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ทนายความ ตำรวจ อัยการ สื่อมวลชนก็มี ภายใต้รัฐบาลโจโกวี นักข่าวอายุยังน้อยถูกคัดเลือกเป็นกรรมการนี้ นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ๆ 
โดยสรุป องค์กรอิสระไทย มีปัญหาคือ กรรมการมาจากกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการที่อายุเกษียณแล้ว ในไทย ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับองค์กรอิสระอินโดนีเซียไม่ปกติเลย ดิฉันคิดว่าองค์กรอิสระไทยก่อตั้งเป็นสวัสดิการของข้าราชการอายุเกษียณแล้ว 
ย้อนกลับมาที่พูดตอนแรก ตุลาการภิวัตน์ไทย มีสองมิติ มิติที่หนึ่ง การขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการ อย่างที่ทุกท่านรู้กันแล้ว แต่ยังมีมิติที่สอง คือ การขยายอิทธิพลของฝ่ายบริหารหรือข้าราชการประจำ 
สำหรับมิติที่สอง ดิฉันยังไม่เข้าใจชัดเจนแต่คิดว่ากรรมการหรือผู้พิพากษาส่วนใหญ่มาจากข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว พวกเขาเคยมีตำแหน่งสูง ดังนั้น พวกเขาน่าจะมีเส้นหรือคอนเนคชันกับกระทรวงต่างๆ ดังนั้น ดิฉันเข้าใจว่า ตุลาการภิวัตน์ไทยเป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่แค่ฝ่ายตุลาการ แต่เป็นฝ่ายบริหารด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับคำวินิจฉัย และ กกต. ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบหรือการฟ้องคดี ดังนั้น องค์กรอิสระก็คือกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ ดังนั้น ดุลยพินิจระหว่างองค์กรอิสระต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อรับรองความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าไม่มีใครที่เป็นกลางโดยแท้จริง
ดิฉันคิดว่า 31 ขององค์กรอิสระไทย ไม่อยู่ที่กรรมการแต่อยู่ที่โครงสร้างองค์กร เพื่อรับรองความยุติธรรม ลักษณะของกรรมการและผู้พิพากษาต้องแตกต่างกัน กรณีของอินโดนีเซีย ไม่ทับซ้อนเลย แต่ของประเทศไทย ทับซ้อนมาก พวกเราเข้าใจได้ง่ายว่าไม่มีความยุติธรรมใช่หรือไม่ พวกเขาสลับกันดำรงตำแหน่งตลอดไป
ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเพื่อแก้ไขปัญหาองค์กรอิสระไทย ต้องแก้ไขคุณสมบัติของกรรมการหรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

จตุพรดักถ้าไม่คิดโกง ก็ควรหนุน 'อียู-ยูเอ็น' สังเกตการณ์ประชามติ


ประธาน นปช. เผยเตรียมยื่นหนังสือ 'อียู-ยูเอ็น' เชิญมาเฝ้าดูประชามติ ย้ำเชิญมาสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม ระบุถ้าไม่คิดโกง อย่ากลัวนานาชาติ แนะควรเปิดโอกาสให้มาดูประชาธิปไตยที่น่าเชื่อถือ ไม่โกง
26 เม.ย.2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ว่า นปช. จะยื่นหนังสือเชิญชวนกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยระบุว่าการเชิญอียู-ยูเอ็นเพียงให้มาสังเกตการณ์การทำประชามติที่โปร่งใส สุจริต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ถ้าไม่คิดจะโกงกันแล้ว ควรสนับสนุนข้อเสนอของ นปช.
"ให้อียู-ยูเอ็น เข้ามานั้นเป็นการสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม กรณีพม่าทำได้ จนต่างชาติยอมรับหลังการเลือกตั้ง และมีผลเกิดสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่วนไทย เมื่อยังอยู่กับโลก และหากประชามติไม่คิดโกง และจะกลัวอะไรกันกับการมาสังเกตการณ์" จตุพร กล่าว
จตุพร ยังกล่าวด้วยว่า องค์กรต่างประเทศได้เข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งของพม่า เพราะนานาชาติไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งจะยุติธรรม โปร่งใส ดังนั้น ประเทศไทยควรเปิดให้มาสังเกตการณ์ได้ด้วย เพื่อแสดงความโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือด้านประชาธิปไตย เพราะหากการทำประชามติมีการโกงแล้ว จะทำให้มีปัญหาตามมาอย่างใหญ่หลวงและผู้มีอำนาจคงอยู่ได้ยาก
สิ่งสำคัญคือ ต้องการอธิบายปัญหาประชาธิปไตยกับชาวโลก และเตือนให้ผู้มีอำนาจหยุดพฤติกรรมลับๆล่อๆ กับการทำประชามติที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยตนเชื่อว่า การทำประชามติครั้งนี้จะมีคลิปแสดงถึงการกระทำอันไม่เสมอภาคกันเต็มไปหมด และ นปช. คงได้รับแจ้งจากประชาชนทุกพื้นที่ แล้วจะนำส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบสวนดำเนินความผิดตามกฎหมาย
กรณี นปช. แถลงข่าวการทำประชามตินั้น จตุพร กล่าวว่า พวกตนไม่ต้องการให้ประเทศพบกับดักในอนาคตทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระยะยาวอีก รวมทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ได้แถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว พวกตนมั่นใจว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการกระทำของนายสุเทพ ซึ่งผู้มีอำนาจเชื่อว่า เป็นสิ่งถูกต้อง ดังนั้น พวกตนทำเช่นเดียวกันจึงต้องถูกไปด้วย
จตุพร กล่าวว่า นายสุเทพประกาศจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่ส่งผลดีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะเป็นทุกขลาภไปด้วย เพราะจุดยืนของ สุเทพ จะทำให้ประชาชนไม่มีความสับสน ตัดสินใจใช้สิทธิ์ประชามติได้ง่ายขึ้น โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คงเข้าใจในสิ่งดีจึงไม่ซาบซึ้งกับจุดยืน สุเทพ ส่วน นปช. ได้ประกาศจุดยืนตรงข้ามกับ สุเทพ ทุกเรื่อง และไม่ชอบทุกอย่างที่ สุเทพ ชอบด้วย
กรณีนักวิชาการและกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เรียกร้องให้เปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญในช่วงทำประชามติ จตุพร กล่าวว่า ถ้า คสช. เปิดใจกว้าง จะไม่มีปัญหา แต่การห้ามฝ่ายเห็นต่างแสดงความเห็น ขณะเดียวกันกลับให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปชี้แจงอธิบายกับประชาชนได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว กรธ. และ สนช. ต้องยุติบทบาทเพราะหมดหน้าที่แล้ว