วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

‘ประยุทธ์’ เตือน ยังมี รธน.ม. 44 อยู่


นายกฯ เตือนผู้ที่จะออกมาเคลื่อนไหว ยังมี รธน.ม. 44 อยู่ ‘พล.อ.ประวิตร’ ย้ำต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ‘วิษณุ’ ระบุใช้ป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น ‘สรรเสริญ’ ยันไม่ทราบข่าวเรื่องเชิญ ‘แกนนำ นปช’ มารายงานตัว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การประชุมสภานิติบัญญัติในวันพรุ่งนี้ (6พ.ย.) ซึ่งจะพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมการรับมือใด ๆ กรณีที่ทุกฝ่ายเคยประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้ก็ยุติหมดแล้ว รวมถึงให้ความร่วมมือไม่มากดดันรัฐบาล
“แต่หากจะมีผู้ใดออกมาเคลื่อนไหว ก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ส่วนที่กล่าวถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในระหว่างการประชุม ครม.และ คสช.เป็นการกล่าวเตือนผู้ที่จะออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น ให้รู้ว่ายังมีกฎหมายนี้อยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้กับใครหรือใช้เมื่อใด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
‘พล.อ.ประวิตร’ เตือนเคลื่อนต้านรัฐบาล ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงคลื่นใต้น้ำที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ว่า มีแต่ความคิด ซึ่งตนห้ามไม่ได้ เป็นเรื่องความคิดของแต่ละคน แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง
“ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งเราเร่งสร้างความปรองดอง ไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ผมขอร้องประชาชนทุกคนให้เวลารัฐบาลและ คสช.ทำงานที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” พล.อ.ประวิตร กล่าว
‘วิษณุ’ ระบุใช้ป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า “ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะนำรัฐธรรมนูญมาตรา 44 มาใช้นั้น เพื่อป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น ที่ผ่านมาการใช้มาตรานี้ในทางสร้างสรรค์และความปรองดองก็มีอยู่ ส่วนขั้นตอนการใช้นั้นต้องมีมติของคสช.และแจ้งให้ สนช.ทราบก่อน หัวหน้าคสช.จึงจะใช้อำนาจได้”
‘สรรเสริญ’ ระบุ ไม่ทราบข่าวเรื่องเชิญ ‘แกนนำ นปช’ มารายงานตัว
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวจะเรียกนายวรชัย เหมะ แกนนำ นปช.มารายงานตัว ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยังไม่มีความจำเป็น ยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่มีสถานการณ์รุนแรงที่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึก หรือมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ถือว่าเป็นมาตรการขั้นสูงสุดทางการบังคับใช้กฎหมาย
“การดูแลความสงบเรียบร้อยในขณะนี้ใช้เพียงกฎหมายปกติก็สามารถดูแลได้ เบื้องต้นหากพบการเคลื่อนไหว จะใช้วิธีทำความเข้าใจกับุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ไปพบ โทรศัพท์ไปพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ต้องใช้มาตรการออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเหมือนที่ผ่านมา เชื่อว่ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยที่มีแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดูแลยังควบคุมสถานการณ์ได้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

สนช. เสียงแตก 87:75 สุดท้ายเสียงข้างมากรับเรื่องถอดถอน 'สมศักดิ์ – นิคม'

Thu, 2014-11-06 15:52

6 พ.ย. 2557 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาสำนวนคดีจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ฐานมีการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ในดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มาส.ว.
ในการประชุมครั้งนี้ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวตามสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะรับพิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจาก วันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่นี่)
มติชนออนไลน์ รายงานว่าในที่ประชุม นายสมชายแสวงการสมาชิก สนช.ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการกิจการ สนช. เสนอญัตติให้พิจารณาเป็นการประชุมลับ แต่สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการประชุมลับ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย
นายวัลลภ กล่าวว่าการประชุมวันที่ 17 ต.ค. ที่เป็นการประชุมลับ สมาชิกแสดงความคิดเห็นหมดแล้ว จึงไม่ควรมีอะไรเป็นความลับอีก และเป็นเพียงการพิจารณาว่าสนช. มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และสนช.กำลังเป็นหินรองทอง สังคมกำลังจับตาดูอยู่จึงอยากให้ประชุมเปิดเผยว่าหากมีมติรับคืออะไร และหากไม่รับคืออะไร
ด้าน นพ.เจตน์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ควรอภิปรายข้อกฎหมาย ไม่ควรให้สภาเสียเวลาย้อนกลับไปอภิปรายข้อเท็จจริงอีก ข้อกฎหมายก็ไม่มีอะไรที่พาดพิงบุคคลที่ 3 หากประชุมเปิดเผย ประชาชนจะได้ทราบว่า สนช.มีประเด็นอะไร อำนาจที่ตกลงกันมีอำนาจหรือไม่ เพราะขณะนี้มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ขั้ว หากประชุมลับประธาน สนช. ต้องแถลงข่าวและไม่สามารถเก็บรายละเอียดสมาชิกได้มากเพียงพอ
โดยหลังสมาชิก สนช.ถกเถียงว่าจะต้องพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นการประชุมลับหรือไม่นั้น ในที่สุดนายพรเพชรได้ให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 96 ต่อ 1 คะแนน ให้ประชุมลับ และไม่ลงคะแนน 75 คะแนน ทำให้ที่ประชุมต้องพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นการประชุมลับ โดยที่การประชุมลับเริ่มขึ้นในเวลา 10.50 น.
ต่อมาเวลา 14.10 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้กลับมาประชุมเปิดเผยอีกครั้ง หลังประชุมลับ 3 ชั่วโมง  20 นาที โดยเป็นการลงมติ ว่าอยู่ในอำนาจของ สนช.ที่จะถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคมหรือไม่   แต่นายศักดิ์ชัย ธณบุญชัย สมาชิก สนช. เสนอให้ลงมติลับ ผลการลงมติ สมาชิกมีมติเห็นว่าสนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาด้วยคะแนน 87ต่อ 75 งดออกเสียง 15

เขาคุยอะไรกันในเวที 'สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ' ที่ขอนแก่น



จากกรณีที่วานนี้ (5 พ.ย.57) ขณะที่เวทีระดมความคิดเห็น เรื่อง “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการไปได้สักครู่ เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจเข้ามาในบริเวณห้องประชุม เพื่อสอบถามที่มาของการจัดงาน โดยตัวแทนผู้เข้าร่วมได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การจัดเวที ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ทำงานในด้านสิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน กระทั่งช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้ามายังห้องประชุมอีกรอบ พร้อมกับเชิญตัวผู้จัดเวที ไปยังค่ายทหารฯ เพื่อไปร่วมชี้แจงของการจัดเวทีตามขั้นตอน เมื่อมองว่ารายละเอียดของเวทีไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงอนุญาตให้จัดประชุมต่อได้ แต่ขอให้ทหารเข้าไปร่วมฟังด้วย




วันนี้ (6 พ.ย.57) ผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “พิจารณากรอบประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมฟังและขอรายชื่อผู้เข้าร่วมเวที
ผู้เข้าร่วมต่างระดมความคิดเห็นในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อไปนำเสนอสู่ส่วนกลาง อาทิ หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
การระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม พอสรุปได้ดังนี้
1. หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มีการแสดงความเห็นต่อแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวงแลกเปลี่ยนเสนอให้คงหลักการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้แก่ 1) การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2) การกระจายการถือครองที่ดิน 3) จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ 4) จัดให้มีแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ 5) ส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. หมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ควรมีส่วนที่ว่าด้วยที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ทรัพยากรเป็นของส่วนรวม ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงและได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร เช่น บุคคลซึ่งไร้ที่ดินทำกินรัฐต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม รวมทั้งสิทธิในการพัฒนา หมายความว่า ประชาชนต้องมีสิทธิในการร่วมพัฒนา รวมทั้งผลจากการพัฒนาต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งนี้ การพัฒนาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น

กป.อพช.ร้อง หยุดคุกคามประชาชนเห็นต่าง เพื่อปฏิรูป-ปรองดอง


กป.อพช. ออกแถลงการณ์กรณีทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานลงชื่อไม่ร่วมปฏิรูปรายงานตัว-บุกห้องประชุมเวทีสิทธิชุมชนที่ขอนแก่น เรียกร้อง คสช.รบ. ยุติการคุกคามคนที่เห็นต่าง ชี้จะปฏิรูปประเทศต้องเปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน
สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเรียกองค์กรภาคประชาชนอีสานที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาชน ที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น
6 พ.ย. 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง เรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์
เรื่อง ยุติการคุกคามประชาชน เพื่อการปฏิรูปและความปรองดอง
ตามที่เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เรียกนักกิจกรรมทางสังคมที่ลงนามในแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติของเครือข่ายภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กรให้เข้ารายงานตัว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 และการคุกคามการจัดการประชุมเรื่อง "สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ" ของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2557 นั้น 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้ของเจ้าหน้าที่ และมีความกังวลว่า การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการกระทำที่ข่มขู่ คุกคามประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็น ความห่วงใยประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ จะไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้
จึงขอยืนยันและเรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ดังนี้
1. ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพและสิทธิในการแสดงความเห็น รวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมการปฏิรูป หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการปฏิรูปโดยสันติวิธี
2. คสช.และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ต้องเคารพความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย ที่มีความแตกต่างหลากหลายตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอความเห็นในฐานะเจ้าของประเทศร่วมกัน 
อนึ่ง คสช.และรัฐบาล พึงตระหนักว่าการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วนต่ออนาคตของประเทศ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ควรถูกกีดกันจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์การกีดกันการแสดงสิทธิเสรีภาพจะไม่เกิดขึ้นอีก
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
6 พฤศจิกายน 2557