วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

2 จำเลยคดีแจกเอกสารประชามติที่ภูเขียวขึ้นศาล ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา-ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม


2 จำเลยประชามติภูเขียวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยันการรณรงค์โหวตโน ไม่ใช่เรื่องผิด พร้อมยื่นหนังสือถึงอัยการจังหวัดขอความเป็นธรรมในคดีดังกล่าว
29 ก.ย. 2559 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้นัดสอบคำให้การของ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ วศิน พรหมมณี สองจำเลยคดี พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) ฐานแจกเอกสารรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โดยจุตภัทร์ และวศิน ได้รับทราบข้อกล่าวพร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจำเลยทั้งสองกล่าวว่า ขอเรียนต่อศาลว่า รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะเข้ามาวางกรอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ และรับรองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน กฎหมายดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญโดยตรงต่อชีวิตทางสังคม การเมืองของจำเลยกับพวก การบัญญัติหรือการออกเสียงประชามติของประชาชนชาวไทยในการรับรองหรือคัดค้าน จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดกว้าง รวมทั้งเปิดกว้างในการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริงจากผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ก็ได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายไว้ด้วย
จำเลยทั้งสองเรียนว่า ในระหว่างการใช้เสรีภาพในการให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนในวันที่ 6 ส.ค. 2559 ณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไม่ปรากฏเหตุการณ์ว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงออกทางกิริยาหรือวาจาในการปลุกปั่นให้ประชาชนกระทำใดๆ อันจะนำไปสู่การก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งข้อความที่ปรากฏในเอกสารที่เจ้าพนักงานตรวจยึดนั้น ล้วนแต่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ตั้งอยู่ฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งสามารถพิสูจน์ความจริงได้ ไม่ได้มีลักษณะบิดเบือน หรือเป็นข้อมูลที่ลักษณะรุนแรง ก้าวราว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ให้ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงในทางหนึ่งทางใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการใช้เสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
คดีดังกล่าว จตุภัทร์ และวศิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 เวลา 16.30 น. หลังจากเดินแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในตลาดภูเขียวได้เพียง 300 เมตร
ทั้งนี้ วศินได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องมีความจำเป็นในด้านการศึกษา หลังศาลภูเขียวอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ส่วน จตุภัทร์ ยืนยันในสิ่งที่ทำว่าไม่ได้เป็นการกระทำความผิด โดยยอมถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน พร้อมทั้งอดอาหารเพื่อยืนยันหลักการต่อสู้อย่างสันติวิธี ก่อนจะประกันตัวออกมาหลังจากอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้อง ประกอบกับความจำเป็นเรื่องการลงทะเบียนเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีแรกในกลุ่มผู้ถูกจับกุมโดย พ.ร.บ.ประชามติ ที่ศาลรับฟ้อง
ต่อมาในเวลา 11.00 น. จำเลยทั้งสอง พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินไปยังอัยการจังหวัดภูเขียว เพื่อไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ถอนฟ้องคดี 

ศาลฎีกาฯ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งยึดบ้าน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล Thu, 2016-09-29 23:47 29 ก.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติจากการสร้างบ้านมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท โดยศาลได้ไต่สวนพยานกว่า 10 ปาก ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. – 14 ก.ย. 2559 โดย สมศักดิ์ ได้ต่อสู้คดีใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ คำร้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่คดีมีอายุเกินกว่า 10 ปี ถือว่าขาดอายุความหรือไม่ รวมทั้งการชี้แจงที่มาของเงิน ซึ่ง สมศักดิ์ ไม่สามารถต่อสู้ได้ทั้ง 3 ประเด็น โดยเฉพาะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ปลูกอยู่บนโฉนดเลขที่ 14360 ได้แม้จะอ้างว่าเป็นเงินที่เหลือจากการสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคชาติไทยและเงินกงสี รวมถึงกรณีการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่การมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่อาจนำสืบไต่สวนให้เห็นได้ว่าได้บ้านดังกล่าวมาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นผลต่อกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 สมศักดิ์ ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษา ว่า พร้อมยอมรับคำวินิจฉัย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ก็ต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองที่ต้องถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา


29 ก.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติจากการสร้างบ้านมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท โดยศาลได้ไต่สวนพยานกว่า 10 ปาก ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. – 14 ก.ย. 2559 โดย สมศักดิ์ ได้ต่อสู้คดีใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ คำร้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่คดีมีอายุเกินกว่า 10 ปี ถือว่าขาดอายุความหรือไม่ รวมทั้งการชี้แจงที่มาของเงิน ซึ่ง สมศักดิ์ ไม่สามารถต่อสู้ได้ทั้ง 3 ประเด็น โดยเฉพาะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ปลูกอยู่บนโฉนดเลขที่ 14360 ได้แม้จะอ้างว่าเป็นเงินที่เหลือจากการสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคชาติไทยและเงินกงสี รวมถึงกรณีการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่การมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่อาจนำสืบไต่สวนให้เห็นได้ว่าได้บ้านดังกล่าวมาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นผลต่อกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
สมศักดิ์ ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษา ว่า พร้อมยอมรับคำวินิจฉัย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ก็ต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองที่ต้องถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา

วิษณุ ย้ำ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ

29 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเห็นศาลรัฐธรรมนูญว่า ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งต่อจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอ โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง แต่หากเลือกไม่ได้ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยใช้เสียง 376 เพื่อรับรองญัตติ และใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 501 คน จึงจะถือว่าผ่านญัตติ จากนั้นจึงจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส. เท่านั้น และจะต้องใช้เสียง 376 เสียง เพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรี
“หากที่ประชุมเห็นชอบให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ต่อมาค่อยเสนอใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นคนนอกใครก็ได้ และตัว ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อ และเป็นไปตามที่ กรธ.อธิบายว่าไม่ใช่ ส.ว. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มีสิทธิเสนอญัตติและมีสิทธิร่วมโหวตเท่านั้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังตีความว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการนี้จะเลือกกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี หากเกิดกรณีใด ๆ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ซึ่งกรธ.ได้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผ่านเสียงประชามติจากประชาชนแล้ว” วิษณุ กล่าว

10 ปี ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร สัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิต

ภาพรถแท็กซี่นวมทองที่ขับชนรถถังของ คมช. 

แท็กซี่ 'นวมทอง ไพรวัลย์' สัญลักษณ์การต้านรัฐประหารที่ยังมีชีวิต จากบทกวี สู่บทเพลง สู่หนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ที่มีกำหนดฉาย  7 ต.ค.นี้ จะถึงรูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 11 วัน หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ได้ปรากฏภาพข่าว ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี คนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
1 เดือนต่อมา (คืนวันที่ 31 ต.ค.49) ได้ปรากฏว่าเขา ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" พร้อมกับสวมเสื้อที่สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่ถูกใช้ในการการต่อสู้ทางการเมือง โดยด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ว่า
“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”
ภายหลังมีการเผยแพร่จดหมาย ที่เขียนด้วยลายมือ ลงชื่อ นวมทอง วันที่ 29 ต.ค.49 หรือ 1 วันก่อนที่เขาผูกคอเสียชีวิต โดยจดหมายดังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า
"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก
ลาก่อน พบกันชาติหน้า
ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ"
6 ต.ค. 2549 จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าว ITV ขณะนั้น ได้สัมภาษณ์นวมทองหลังจากที่นวมทองขับรถชนรถถังของคณะรัฐประหาร และเมื่อปีที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 9 ปีนี้ จอม ได้นำเสนอบทเพลงที่บันทึกเรื่องราวชีวิตและอุดมการณ์ของนวมทอง กับการเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อรำลึกการจากไป ครบ 9 ปี โดยกลุ่มศิลปิน มฤคา ชื่อเพลงว่า ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ครั้งแรกผ่านทาง Thaivoicemedia
รวมทั้งได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ที่ นวมทอง ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับจอม ถึงความมุ่งมั่น ที่จะเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ ก่อนที่นวมทองจะผูกคอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน รวมทั้งเรื่องราวของนวมทอง ที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ในตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
หลังปฏิบัติการและการเสียชีวิตลุงนวมทอง เขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านเผด็จการและการรัฐประหาร ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปฏิบัติการของนวมทองนี้ประชาไทได้รวบรวมเพื่อนำเสนอดังนี้

บทเพลงนวมทอง

นอกจากเพลง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ โดย กลุ่มศิลปิน มฤคา ข้างต้นแล้ว ยังมีการแต่งเพลงถึงลุงนวมทองอีกหลายเพลง โดยเฉพาะจิ้น กรรมาชน(กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ที่ระบุว่า คืนวันที่ 31 ต.ค. 2549 ขณะที่ จิ้น กำลังบันทึกเสียงบทเพลง "วันของเรา" โดย ไม่รู้เลยว่าเป็นคืนเดียวกับที่นวมทอง ได้ตัดสินใจพลีชีพเพื่อประกาศให้สังคมและคนที่สบประมาทได้รู้ว่า คนที่ยอมตายเพื่อประชาธิปไตยมีอยู่จริง จากนั้น 2 พ.ย. 2549 บทเพลงวันของเรา นำเสนอเป็นครั้งแรกในประชาไท พร้อมบทกวีที่จารจดขึ้นเพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณของนวมทอง
"เขาชื่อ..นวมทอง
นวมทองขอพลีชีพ จุดประทีปแห่งสมัย
เกิดมาเพื่อรับใช้ พิทักษ์ไว้อุดมการณ์
เชื่อมั่นต่อจุดยืน เขาลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ
คัดค้านเผด็จการ รัฐประหารน่าชิงชัง
เป็นเพียงสามัญชน พุ่งรถยนต์ชนรถถัง
หนึ่งคนมิอาจยั้ง เกินกำลังจะประลอง
วีรชนไม่ตายเปล่า หากปลุกเร้าเราทั้งผอง
คนซื่อชื่อนวมทอง จักเรียกร้องความเป็นธรรม"
— ด้วยจิตคารวะ
จิ้น กรรมาชน
2 พ.ย. 2549
ปีต่อมาวาระครบรอบหนึ่งปีที่นวมทอง จากไปบทเพลง "ยืนหยัด" (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเพลงยืนหยัด) จึงถูกนำเสนอเพื่อใช้ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และการหยัดยืนของนักสู้สามัญชนโดยไม่มุ่งหวังต่ออัศวินม้าขาว หรือชนชั้นนำกลุ่มใดใดเท่านั้น จึงจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยแท้จริง
นอกจากนี้ยังมี เพลง "นวมทอง ไพรวัลย์" ที่ศิลปินชาวเชียงใหม่ ได้ออกผลงานชื่ออัลบั้ม กิโยติน
เพลง "วีรชนนวมทอง" โดย วงไฟเย็น เนื้อร้องและทำนอง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร เรียบเรียง โดย ขุนทอง
บ่าวแนว เมืองอุดร ในเพลง  นวมทอง ไพรวัลย์

หนังนวมทอง

ในงาน 40 ปี 6 ตุลา 2519 วันที่ 7 ต.ค.ที่จะถึงนี้ มีกำหนดการว่าจะมีการฉายหนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้โดยเฉพาะ ที่หอประชุมศรีบูรพา เวลา 16:00 น.
โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค.57 เพจ Democracy After Death ได้ปล่อยตัวอยู่หนังดังกล่าวมาบ้างแล้ว

รูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

นอกจากนี้ วันที่นวมทองเสียชีวิต คือ 31 ต.ค. ของทุกปี ก็มักจะมีกลุ่มคนเดินทางไปรำลึก ณ ราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งต่อมา 31 ต.ค.56 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ, จตุพร พรหมพันธุ์ จัดพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ บริเวณดังกล่าว
ภาพวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ 31 ต.ค.56
“เราจะสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนให้มากขึ้น ที่ต่อไปคือที่ราชประสงค์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามัญชนจะมีพื้นที่แสดงคุณงามความดี วีรกรรมของสามัญชน สามารถมีพื้นที่สาธารณะในประเทศได้” ธิดา กล่าวในวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง
 
นอกจากนี้ 30 มี.ค. 2553 ระหว่างการชุมนุมของ นปช. ได้มีการปั้นรูป 'นวมทอง ไพรวัลย์' โดยศิลปินไทยเสรีชน ซึ่งผสมเลือดของคนเสื้อแดงที่ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก่อนหน้านั้น 
 
“ช่วงต้นข้อมูลยังไม่แพร่หลายว่าแกเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้ตัดสินใจตายอย่างชั่ววูบ แต่มีสติ มีบันทึก มีเทป มีทุกอย่าง ทุกวันนี้คนเสื้อแดงก็รับรู้ อยากจะใช้คำว่า ปฏิมาสามัญชน ปกติคำว่าปฏิมา นี้ใช้เรียกเฉพาะพุทธรูป แต่มองว่านวมทองมีความบริสุทธิ์ มั่นคง มีความเสถียรของอุดมการณ์ จนไปพ้นความเชื่อแบบศาสนาพุทธว่าฆ่าตัวตายแล้วต้องตกนรก” ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ถูกนิยามว่าเป็น “กวีสีแดง” หนึ่งในกลุ่มศิลปินไทยเสรีชนอธิบายผลงานชิ้นนี้ และเตรียมตั้งชื่อว่า “นวมทอง ไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย”
คำว่าประชาทิพย์ ปรากฏในบทกวีของเขาหลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด โดยเขาให้เหตุผลว่า โดยมโนคติเดิมมักบอกว่าคนดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ แต่เขาเห็นว่าคนที่อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตายแล้วก็คงไม่ไปเสวยผลบุญส่วนตัวด้วยการไปสวรรค์ แต่น่าจะยังยินดีเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีนา ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อส่วนรวม 
บทกวีที่ถูกอ่านระหว่างผู้คนเริ่มต้นลงมือปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ผู้กล้าท่องถนนเถื่อน
กี่วัน กี่ปี เดือน
ยังเหมือนอยู่ให้รู้เห็น
 
สงครามของคนไพร่
ผองเพื่อนไทยผู้ลำเค็ญ
ลุกฮือเพราะจำเป็น
เขาไม่เห็นเราเป็นคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินเริ่มตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
สงครามหว่งชนชั้น 
เพื่อคืนวันชื่นสดใส
อำนาจ ทรัพย์กระจาย
เกลี่ยเฉลี่ยได้ทั่วถึง
 
แดงฉานชนชั้นล่าง
ชุบชีพวีรชนหนึ่ง
มวลสารคลุกเคล้าคลึง
คือเลือดไร่สามัญคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินได้ตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
"ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย"
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
 
 
ภาพการปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
ภาพสำนักงานของมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ได้จัดพิธีเปิดห้องประชุมลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อ 31 ต.ค.58  
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรำลึกถึงนวมทอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอด เช่น 19 ก.ย.2557 นักศึกษาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท) ติดป้ายดำรำลึก 8 ปี รัฐประหาร 19 กันยา บริเวณสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ พร้อมข้อความ “นายประชาธิปไตย ของไทย ชาตะ 24 มิ.ย.2475 มรณะ 19 ก.ย. 49 และล่าสุด...?” โดยใช้แซนด์วิชเป็นที่ถ่วงป้ายไว้
ภาพกิจกรรมของ ศนปท.เมื่อ 19 ก.ย.2557
31 ต.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึก 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ โดยมีการเดินเท้าจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มายังบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออภิปรายเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ จากนั้นเดินเท้ากลับมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางการควบคุมสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เมื่อ 31 ต.ค. 2558

บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยานวมทอง ไพรวัลย์ ร่วมกิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55
กิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดสร้างสดมภ์อนุสรณ์