วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

'ก.คลัง-คมนาคม' ประชุมหาแหล่งเงินทุนโครงการ 3 ล้านล้านจันทร์นี้ (16 มิ.ย.)


 
13 มิ.ย. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน หน่วยงานของกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะมารองรับการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาทว่าจะเป็นเงินจากแหล่งใดบ้าง โดยในการลงทุนโครงการ 3 ล้านล้านบาท แหล่งเงินทุนมี 3 ส่วนคือ จากงบประมาณประจำปี จากการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน(พีพีพี) และจากการกู้ตามพ.ร.บหนี้สาธารณะที่เปิดช่องให้กู้เพื่อพัฒนาประเทศในสัดส่วน 10% ของวงเงินงบประมาณ โดยในปีงบ 2558 กำหนดงบรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาทสามารถกู้ได้ 2.5 แสนล้านบาท
 
อย่างไรก็ตามการกู้เงินต้องพิจารณาว่าต้องไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี และเท่าที่หารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยการกู้มาลงทุนในโครงการ 3 ล้านล้านบาท จะต้องไม่ทำให้หนี้สาธารณะเกินกว่า 50% เพราะต้องเผื่อไว้สำหรับการกู้มาใช้กรณีฉุกเฉินด้วย
 
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.กังวลว่าหนี้สาธารณะตอนนี้สูงกว่าช่วงที่ผ่านมานั้นขอยืนยันว่าจนถึงกันยายน 2557 หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 46 % อย่างแน่นอน โดยหนี้ที่สูงขึ้นยอมรับว่าเกิดจากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน 
 
แต่การกู้เงินในช่วงที่ผ่านมานั้น สบน.เน้นกู้ในประเทศนั้นเป็นหลักมีสัดส่วน 93%  กู้ต่างประเทศเพียง 7% ซึ่งการกู้ในประเทศช่วยทำให้คนไทยออมมากขึ้น และถือเป็นหนี้ของคนไทย  โดยการกู้ในอนาคตก็จะเน้นกู้ในประเทศเป็นหลัก และสบน.ยึดตามที่หัวหน้าคสช.ให้นโยบายมาคือต้องเน้นกรอบวินัยทางการเงินการคลังเป็นหลักเช่นกัน
 
ผอ.สำนักงบฯ หวังเงินลงทุน 4.5 แสนล้านบาทกระตุ้น ศก.ครึ่งปีหลัง
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.กำชับส่วนราชการในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ในงบประมาณรายจ่ายปี 58 เมื่อส่วนราชการเสนอมาให้พิจาณาภายวันที่ 27 มิ.ย.จะทำการจัดสรรให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อ คสช.พิจารณาในวันที่ 11 ก.ค.57
 
โดยโครงการลงทุนที่สำคัญ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  รวมพร้อมด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การเตรียมพร้อมประมูลจะเป็นโครงการที่ได้รับการพิจาณาอันดับแรก  สำหรับงบลงทุนวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท หวังว่าจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในครึ่งปีหลัง เมื่อการลงทุนของภาครัฐเดินหน้าเพิ่มขึ้นภาคเอกชนมีความมั่นใจ คาดว่าจะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มสูงขึ้น จากนั้นค่อยมาจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม
 
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หัวหน้า คสช.กำชับแล้วว่า การดูแลราคาข้าว จะไม่ใช้แนวทางการจำนำข้าว และการประกันราคา จึงต้องมาเน้นในด้านการดูแลต้นทุนให้กับชาวนา เช่น แนวทางหนึ่ง คือการตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้ชาวนาได้ยืมเมล็ดพันธุ์ไปใช้ปลูกข้าวและพืชทางการเกษตรอื่น เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
 
และเมื่อเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว จะส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรรวมตัวกันรับซื้อผลผลิต เพราะมีกำลังซื้อและอำนาจต่อรอง จึงเป็นช่องทางการรับซื้อข้าวในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวจำนวนมากได้อีกทางหนึ่ง สำหรับวงเงินกู้จำนำข้าววงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เตรียมจัดส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา โดยโอนเงินไปให้แล้ว 75,000 ล้านบาท จึงคาดว่าชาวนาจะได้รับเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมด 92,000 ล้านบาท  ภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดไว้

คสช. แจ้งกองปราบออกหมายจับ 21 คนที่ยังไม่มารายงานตัว


            13 มิ.ย. 2557 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่นายทหารพระธรรมนูญเดินทางมาประสานพนักงานสอบสวนออกหมายจับบุคคลตามหมายเรียกให้มารายงานตัวตามกำหนดแต่ยังไม่มารายงานตัว ประกอบด้วย
 
  • 1.นายโสภณ เมฆตระกูล คำสั่ง คสช.ที่ 14/57   
  • 2.นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ คำสั่ง คสช.ที่ 29/57   
  • 3.สุนัย จุลพงศธร  คำสั่ง คสช.ที่ 53 / 57   
  • 4.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 5.นายธีร์ บริรักษ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 6.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 7.น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 8.นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 9.นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 10.นายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข คำสั่ง คสช.ที่ 53/57   
  • 11.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ คำสั่ง คสช.ที่ 57/ 57   
  • 12.นางดารุณี กฤตบุญญาลัย คำสั่ง คสช.ที่ 57/57   
  • 13.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ คำสั่ง คสช.ที่ 57/ 57   
  • 14.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/ 57   
  • 15.นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/57   
  • 16.นาวาอากาศตรีชนินทร์ คล้ายคลึง คำสั่ง คสช.ที่ 57/57   
  • 17.นิธิวัต วรรณศิริ คำสั่ง คสช.ที่ 57/ 57   
  • 18.นายศรัณย์ ฉุยฉาย คำสั่ง คสช.57/57  
  • 19.นายไตรรงค์ สินสืบผล คำสั่ง คสช.ที่ 57/57   
  • 20.นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/57  
  • 21.นายวัฒน์ วรรลยางกูร คำสั่ง คสช.ที่ 57/57
 
          ซึ่งบุคคลที่ไม่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กักตัว 'จิตรา'ขณะเดินทางเข้าประเทศ เตรียมส่งกองปราบ


วันนี้ 7.00 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกหมายจับ ได้เดินทางกลับเข้าประเทศ และถูกกักตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ( ตม. )โดยเจ้าหน้าที่จาก ตม.ได้แจ้งกับเจ้าตัวว่าจะนำตัวส่งกองปราบต่อไป
จิตรา คชเดช ถูก คสช. เรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งที่ 44/2557 แต่ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศสวีเดน ซึ่งได้เดินทางไปตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร และเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา จิตราได้เดินทางไปรายงานตัวที่สถานเอกอัคราชทูตไทย ประจำกรุงสต๊อคโฮม สวีเดน แล้ว
ทั้งนี้หมายจับดังกล่าวถูกออกหลังจิตราไม่ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามกำหนดที่สโมสรกองทัพบก เทเวศ นอกจากจิตราแล้วยังมีผู้ถูกออกหมายจับเนื่องจากไม่ได้มารายงานตัวตามกำหนดอีก 9 คน

คสช.ขอความร่วมมือทูตต่างประเทศ-ติดตามบุคคลในคำสั่งรายงานตัว


Thu, 2014-06-12 17:37

โฆษก คสช. ขอความร่วมมือเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ติดตามบุคคลที่พำนักในต่างประเทศซึ่งอยู่ในคำสั่งรายงานตัวของ คสช. โดยจะให้สร้างความเข้าใจ และไม่ให้บุคคลดังกล่าวเคลื่อนไหวขัดคำสั่ง คสช. ยืนยันไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่เกี่ยวกับ ม.116 ยุยง-ปลุกปั่น
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
11 มิ.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาทหารบก ในฐานะ หัวหน้า คสช.ขอความร่วมมือเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ทำการติดตามบุคคลที่ คสช.มีคำสั่งให้มารายงานตัว แต่พำนักอยู่ในต่างประเทศ ว่า คสช.ขอความร่วมมือทูตให้สร้างความเข้าใจ และไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเคลื่อนไหว ขัดกับคำสั่ง คสช. แต่ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เป็นการเคลื่อนไหวเข้าข่ายผิดมาตรา 116 (2) ยุยง ปลุกปั่น นำไปสู่การต่อต้าน ซึ่งต้องจะดำเนินการอย่างเข้มงวด โดย คสช.ไม่ต้องการให้มีความเคลื่อนไหวที่ละเมิดกฎหมาย
ส่วนการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านฟรีทีวี จะต้องรอความชัดเจนในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือภาครัฐ และเอกชนว่าสามารถทำได้หรือไม่ ยืนยันไม่ได้บังคับภาคเอกชน เพราะเข้าใจเงื่อนไขทางธุรกิจ ส่วนอบายมุข การพนันช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 คสช.มีความเป็นห่วง แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมาตรการดูแลอย่างเข้มงวด

กระทรวงคมนาคมทำแผน 5 ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 3 ล้านล้าน ชง คสช


คมนาคมชง 5 ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานทางราง-บก-น้ำ-อากาศ เสนอ คสช.ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี วงเงิน 3 ล้านล้าน ส่วนรถไฟความเร็วสูง จะเสนอเฟส 2 ชง 2 เส้นทาง กทม.-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย
12 มิ.ย. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมหัวหน้าหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมข้อมูลแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ในภาพรวมทั้งหมด ก่อนที่จะประชุมร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจในวันนี้ (12 มิ.ย.)
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมเดิมที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินของกรมทางหลวง (ทล.) ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนรอบนอกและการขนส่งสินค้าเกษตร การก่อสร้างท่าเทียบเรือและการขุดลอกร่องน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้แต่ละหน่วยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง บอกเหตุผลความจำเป็นของโครงการ วงเงินลงทุน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมเสนอทีมด้านเศรษฐกิจ ส่วนเงินลงทุน จะต้องหารือกับทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งจะยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้ จะถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวม ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้
ส่วนการลงทุนนั้น หน่วยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะสามารถใช้เงินลงทุนของตัวเองได้ ดังนั้นในส่วนโครงการที่เป็นของหน่วยงานราชการนั้น หลังจาก คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้ว จะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง

สำหรับยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงคมนาคม ได้แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์รถไฟ จะมีโครงการรถไฟระหว่างเมือง เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 1.16 แสนล้านบาท คือ 1. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท 2. มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท 3. ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท 4. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และ 5. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว
2. โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น 3. โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ 4. โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คือ 1. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. 2. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม.
3. สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม. 4. ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 5. ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. และ 6. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ. 2 กู้เงิน คือ 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. 2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ 3. ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม.
ด้านยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ
และยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือโครงการที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง นั้นจะนำเสนอในแผนโครงการเฟส 2 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2559 โดยจะเสนอเส้นทางที่มีความพร้อมคือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก หรือ กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย เส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง

คอบอลได้เฮ! ‘ช่อง 5-7-8’ ยิงสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีครบ 64 นัด


 
12 มิ.ย. 2557 พลโทชาตอุดม ดิตถะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พร้อมด้วย นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 และ ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 ร่วมแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว ที่สถานีโทรทัศน์วิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
 
พลโทชาตอุดมเผยว่า ครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรอย่างช่อง 7 และ ช่อง 8 ในการการผนึกพลังกันถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 อย่างเต็มอิ่มครบทุกนัก โดยต่างใช้ศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่าย หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อส่งความสุขให้คนไทย ในช่วงการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดย ททบ.5 ได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์องค์กรพันธมิตร ที่ห่วงใยสิทธิประโยชน์ของผู้ชม และได้มีการติดต่อกับ ททบ.ในการสนับสนุนเวลาในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 จากประเทศบราซิล ให้ครบทั้ง 38 นัดที่เหลือ รวมพิธีเปิดและปิดตลอดจนการทดเวลาถ่ายทอดต่างๆ ที่ผู้ชมจะได้ชมครบถ้วนทุกนาที รวมเวลาทั้งสิ้น กว่า 80 ชั่วโมง
 
"ททบ.พร้อมสละเวลาดังกล่าว เป็นของขวัญคืนความสุขให้คนในชาติ นอกจากนี้ ททบ.จะได้รับสิทธิ์ในการติดตามรายงานข่าวฟุตบอลโลกตลอดการแข่งขันในฤดูกาลนี้ เพื่อตอบสนองความสนใจเกาะติดกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์ในห้วงวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค. 57 ด้วย"
 
สำหรับการถ่ายทอดสดทาง ททบ.5 นั้น จะเป็นการส่งสัญญาณผ่านทั้งทางภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแบบความคมชัดสูง ซึ่ง ททบ.ได้ขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลออกอากาศครอบคลุมครัวเรือนประชากร กว่าร้อยละ 50 ตามแผนงานของกสทช.ในเฟสแรก ซึ่งท่านผู้ชมสามารถติดตามได้ผ่านกล่องรับสัญญาณโดยกดที่หมายเลข 1 ส่วนการรับผ่านเคเบิ้ลหรือจานดาวเทียมให้ผู้ชมกดหมายเลข 11 การส่งสัญญาณในระบบอนาล็อกที่ผู้ชมทั่วไปติดตามได้สะดวกอยู่แล้ว ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า ร้อยละ 95 พร้อมให้บริการส่งสัญญาณการถ่ายทอดสดไปทั่วไทย
 
ด้าน นายพลากร เผยว่าการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 นี้ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จะรับผิดชอบในการถ่ายทอดสดทั้งสิ้น จำนวน 29 แมตช์ ทางสถานีฯ มีความพร้อมและรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งความสุขให้ประชาชน คนไทย สามารถรับชมการแข่งขันในครั้งนี้ผ่านฟรีทีวี
 
ขณะที่ ดร.องอาจเผยว่า ท่านผู้ชมจะได้ติดตามการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ผ่านทางฟรีทีวีครบ 64 แมตช์ โดยได้จับมือกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ถ่ายทอดสดจำนวน 38 แมตช์, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จำนวน 29 แมตช์ และทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 จำนวน 56 แมตช์ (บางแมตช์มีการถ่ายทอดซ้ำมากกว่า 1 ช่อง)
 
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการรับชมมากกว่าเกมการแข่งขัน อาทิเช่น บรรยากาศสุดพิเศษกับภาพเอ็กซ์คูลซีฟในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขันฯ นับตั้งแต่นักกีฬาออกเดินทางจากโรงแรมถึงสนามแข่งขันฯ การเข้าเก็บตัวในห้องพักก่อนเตะ รวมถึงการรับชมรีรันทุกแมตช์ในวันถัดมาทันที และรายการสุดเอ็กซ์คูลซีฟที่ส่งตรงมาจากฟีฟ่า ซึ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการนำภาพสุดพิเศษเหล่านั้นมาเผยแพร่สามารถรับชมได้ที่ช่องเวิลด์คัพ ซึ่งรับชมผ่านกล่องบอลโลก หรือ กล่องพีเอสไอ เอชดี หรือ ทรู วิชั่นส์
 
ความร่วมมือกันของทั้ง 3 องค์กรในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของคนในชาติ ที่ตระหนักในผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด อันเป็นเจตนารมณ์ของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.” ที่ต้องการสร้างความสุขให้คนไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยา เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในชาติอย่างยั่งยืน
 
สรุปการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ช่อง 5 ถ่ายทั้งหมด 38 นัด, ช่อง 7 = 29 นัด และ ช่อง 8 = 56 นัด ตามลำดับ