วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

มือปืนก่อเหตุยิง สนง.นิตยสารในฝรั่งเศส-เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย-รวม บก.


สเตฟาน ชาบอนนิเยร์ (Stéphane Charbonnier) หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) และนักวาดการ์ตูน ซึ่งใช้นามปากกาในการวาดการ์ตูนว่า "Charb" เขาถูกข่มขู่บ่อยครั้งเนื่องจากผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร จนกระทั่งมาเสียชีวิตจากเหตุยิงปืนเข้าใส่สำนักงานนิตยสาร "Charlie Hebdo" ในวันนี้ (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

           มือปืนปิดบังใบหน้า 3 ราย บุกถล่ม สนง.นิตยสาร "ชาร์ลี เอบโด" ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย รวม บก. "สเตฟาน ชาบอนนิเยร์" และนักวาดการ์ตูนรวม 4 ราย ตำรวจ 2 ราย ขณะทีมีผู้บาดเจ็บ 10 คน ปธน.ฝรั่งเศสประณามว่าเป็นเหตุป่าเถื่อน ด้านคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนแถลงว่าเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การสังหารหมู่นักข่าวที่ฟิลิปปินส์ปี 2552



            เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารักษาการในพื้นที่หลังเกิดเหตุมือปืนยิงถล่มสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558





          นักศึกษาวารสารศาสตร์ ในปารีส ชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุมือปืนยิงถล่มสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558 มีการแจกสติ๊กเกอร์ "Je Suis Charlie" หรือ "ฉันคือชาร์ลี" เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหยื่อในสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุมือปืนยิงถล่ม

        7 ม.ค. 2558 - ในกรุงปารีสวันนี้ (7 ม.ค.) มีมือปืนปิดบังใบหน้า 3 ราย ยิงปืนเข้าใส่สำนักงานนิตยสารรายสัปดาห์ชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย ในจำนวนนี้มีสื่อมวลชน 4 ราย ได้แก่ นักวาดการ์ตูนและบรรณาธิการ "สเตฟาน ชาบอนนิเยร์" และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 ราย นอกจากนี้มีผู้บาดเจ็บ 10 คน
            คลิปการโจมตีสำนักงานนิตยสารรายสัปดาห์ชาร์ลี เอบโด (ที่มา: บีบีซี)
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส แถลงต่อเหตุการโจมตีสำนักงานนิตยสารรายสัปดาห์ชาร์ลี เอบโด (ที่มา: นิวยอร์กไทมส์)

            โดยคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน หรือ CPJ ออกแถลงการณ์หลังเกิดเหตุทันทีและว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุโจมตีผู้สื่อข่าวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การสังหารหมู่ที่มากินดาเนา เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2552 (อ่านคำแถลงของ CPJ)

            หลังเหตุดังกล่าว บีบีซีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสออกปฏิบัติค้นหามือปืน 3 รายดังกล่าว ซึ่งหลบหนีโดยรถยนต์ ขณะที่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้าย "ซึ่งป่าเถื่อนอย่างยิ่ง"

          ทั้งนี้ มือปืนสามรายซึ่งอำพรางใบหน้าได้ยิงปืนไรเฟิลแบบอัตโนมัติเข้าใส่สำนักงานนิตยสารดังกล่าวและยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนภายนอก ก่อนที่จะหลบหนีไปโดยรถยนต์ โดยต่อมามีการพบรถยนต์ที่ใช้ขับขี่ดังกล่าวถูกทิ้งไว้ข้างถนน "Rue de Meaux" ทางตอนเหนือของปารีส

          นอกจากนี้มีพยานระบุว่า พวกเขาได้ยินมือปืนตะโกนว่า "เราได้แก้แค้นให้ศาสดามูฮัมหมัด"
โดยตอนแรกมีการรายงานว่าจำนวนผู้ก่อเหตุมีสองราย แต่รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศส Bernard Cazeneuve ระบุว่ากำลังไล่ล่าผู้ก่อเหตุรวมสามราย

          สำหรับสเตฟาน ชาบอนนิเยร์ บรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอบโด เสียชีวิตเมื่ออายุ 47 ปี เขาเคยถูกขู่ฆ่ามาแล้ว และก่อนเสียชีวิตเขาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ ทั้งนี้สื่อมวลชนฝรั่งเศสระบุชื่อนักวาดการ์ตูนที่ถูกฆ่าได้แก่ กาบู (Cabu) ติกนู (Tignous) และ โวลินสกี (Wolinski) รวมทั้งผู้เขียนบทความและนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เบอร์นาร์ด มาริส (Bernard Maris)

         การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังมีการประชุมประจำวันของกองบรรณาธิการ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 4 ราย

          สำหรับนิตยสารดังกล่าวเคยก่อข้อถกเถียงมาแล้วในอดีตจากการรายงานข่าวและสถานการณ์ โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 54 เคยถูกปาระเบิดเพลิง โดยเหตุเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสนามูฮัมหมัด ขณะที่ทวีตสุดท้ายของบัญชี "ชาร์ลี เอบโด" เป็นการ์ตูนรูปผู้นำกลุ่มติดอาวุธ IS "อบู อกา อัล-แบกดาจี" (Abu Bakr al-Baghdadi)

          ต่อมาเว็บของชาร์ลี เอบโด ซึ่งในช่วงถูกโจมตีมีการปิดออฟไลน์ไปนั้น ต่อมามีการแสดงภาพข้อความ "Je suis Chalie" หรือ "ฉันคือชาร์ลี" บนพื้นสีดำเพื่ออ้างอิงถึงแฮชแทค #JeSuisCharlie ที่กำลังอยู่ในกระแสของทวิตเตอร์ เพื่อต้องการแสดงความสมานฉันท์กับเหยื่อจากเหตุโจมตีดังกล่าว

        ขณะเดียวกันในช่วงค่ำวันที่ 7 ม.ค. มีผู้ออกมาชุมนุมที่จัตุรัส "Place de la Republique" เพื่อไว้อาลัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สหภาพรัฐสภาเผยอัตราส่วน ส.ส.หญิง ในรัฐสภาประเทศต่างๆ ปี 2557


สหภาพรัฐสภาเผยข้อมูลเชิงสถิติอัตราส่วน ส.ส.หญิงในสภาล่างของประเทศต่างๆ พบ รวันดามี ส.ส.หญิงอยู่ถึงร้อยละ 63.8 ส่วนประเทศไทยมีอยู่ร้อยละ 16 ในระดับภูมิภาค แถบยุโรปสแกนดิเนเวียมีอัตรา ส.ส.หญิงในสภารวมกันมากที่สุด 
7 ม.ค. 2558 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนอัตราส่วน ส.ส. ของผู้หญิงในรัฐสภาทั่วโลกปี 2557 ซึ่งจัดทำโดยสหภาพรัฐสภา (IPU)
โกลบอลโพสต์ระบุว่าแม้สหรัฐฯ จะมีผู้หญิงอยู่ในรัฐสภาราวร้อยละ 20 รวมถึงมี ส.ส. ที่ไม่ใช่คนผิวขาวราวร้อยละ 17 แต่ก็ยังห่างไกลในเรื่องความหลากหลายเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ที่มีผู้หญิงอยู่ราวร้อยละ 51 และมีประชากรคนผิวขาวอยู่ราวร้อยละ 63
จากภาพแผนที่ของสหภาพรัฐสภาระบุว่าประเทศที่มีอัตราส่วน ส.ส. เป็นผู้หญิงในสภามากที่สุดคือรวันดามีอยู่ร้อยละ 63.8 ตามมาด้วยคิวบาร้อยละ 48.9 แอฟริกาใต้ 44.8 เซเนกัล 43.3 นอกจากนี้ยังมีประเทศที่ติด 10 อันดับแรกได้แก่ เอกวาดอร์, อันดอร์รา, สวีเดน, เซเชลส์, ฟินแลนด์ และเบลเยียม ซึ่งล้วนมีอัตราส่วน ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 40 ส่วนประเทศไทยมี ส.ส. ในสภาเป็นผู้หญิงร้อยละ 16 จากผลสำรวจตั้งแต่ปี 2554-2557
เว็บไซต์ของสหภาพรัฐสภาเปิดเผยตัวเลขจากการเก็บข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ย. 2557 ระบุว่า มี ส.ส.หญิงทั่วโลกในสภาล่างราวร้อยละ 22.2 และมีผู้หญิงเป็น ส.ว. ในสภาบนหรือวุฒิสภาทั่วโลกราวร้อยละ 20.2 โดยภูมิภาคที่มีอัตราส่วน ส.ส.หญิงในสภาล่างมากที่สุดคือกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียอยู่ที่ร้อยละ 42
โกลบอลโพสต์ระบุว่ายังมีหลายประเทศที่มีปัญหาความท้าทายในเรื่องการทำให้สภามีความหลากหลายและสามารถเป็นตัวแทนประชากรที่แตกต่างกันทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ และศาสนา ถึงแม้ว่าความหลากหลายอาจจะไม่ทำให้ ส.ส. ในสภาทำงานได้ดีขึ้นในทุกกรณี แต่ความหลากหลายและมุมมองที่แตกต่างกันมีส่วนทำให้ ส.ส. ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น
โกลบอลโพสต์ชี้ว่า มีการสังเกตเห็นว่าจำนวนผู้หญิงในสภาคองเกรสที่น้อยลงในช่วงไม่กี่มานี้ในระหว่างมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องสิทธิในการคุมกำเนิดซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างมาก

เรียกสอบ 2 น.ศ. กลุ่มสภาหน้าโดม ปม ส.ศิวรักษ์ หมิ่นพระนเรศวร


เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียก 2 นักศึกษาผู้จัดงานเสวนา เข้าสอบปากคำ กรณีมีผู้เข้าแจ้งความ ส.ศิวรักษ์หมิ่นพระนเรศวร ด้านนักศึกษาแจงมีเจตนาเพียงจัดพื้นที่ให้ความรู้สาธารณชน
7 ม.ค. 2558 ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เวลา 16.30 น.. 2 นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภาหน้าโดม พร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษา พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ได้เข้าให้ปากคำในคดี ส.ศิวรักษ์ หมิ่นพระนเรศวร ในฐานะผู้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง
ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมิ่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวลักษณ์ เป็นวิทยากรในการเสวนา (อ่านรายงานเสวนาที่นี่)
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 นายทหารยศพลโท 2 คน ได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับ สุลักษณ์ โดยชี้ว่าการเสวนาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 นั้นสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (อ่านข่าวเก่าที่นี่)
ภายหลังจากการให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักศึกษาได้ให้ข้อมูลว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสวนาวิชาการดังกล่าว และถามเจตนาในการจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยนักศึกษาได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนทั้ง 2 คนเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มที่จัดกิจกรรมเสวนา โดยมีหน้าที่ขอใช้และจัดเตรียมสถานที่สำหรับจัดงานเสวนา พร้อมระบุถึงเจตนาในการจัดกิจกรรมครั้งนั้นว่า ทางกลุ่มสภาหน้าโดมไม่ได้มีเจตนาที่จะยุยง หรือปลุกปั้นให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม มีเพียงเจตนาที่ต้องการสร้างพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับสาธารณชนเท่านั้น

‘นิคม’ เข้าชี้แจง สนช. ปมถอดถอน ฐานแก้ไข รธน. 50 ประเด็นที่มา ส.ว.

8 ม.ค. 2558 ที่รัฐสภา นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ได้แถลงต่อสื่อมวลชนก่อนเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการแถลงเปิดคดีถอดถอน โดยชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องเดินทางมาชี้แจงแถลงเปิดคดีด้วยตนเอง เนื่องจาก สนช. กำลังดำเนินการพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ผ่านนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตนเองได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องทุกอย่าง และจะชี้แจงไปตามหลักฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พร้อมยกการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ว่าถึงที่สุดแล้ว ป.ป.ช. สามารถชี้มูลความผิดได้เพียงเรื่องเดียวคือ การรับญัตติปิดประชุม ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่มีถึง 4 เรื่อง
“เพื่อให้สมาชิก สนช.ได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีวิจารณญาณในการลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ และผมก็พร้อมรับผลการลงมติที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร โดยเชื่อว่าสภาแห่งนี้จะให้ความเป็นธรรมกับผม” นิคมกล่าว
ส่วนกระบวนการต่อจากนี้ นิคมกล่าวว่า ตนก็จะต้องเข้ามาชี้ตอบข้อซักถามของกรรมาธิการซักถาม ภายใน 7 วัน และอีก 7 วันก็จะแถลงปิดคดี จากนั้นอีก 3 วันก็จะเข้าสู่การลงมติ แต่เนื่องจากติดวันประชุมของ สปช. จึงคาดว่าจะลงมติได้ในระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค.นี้
ภายในที่ประชุมก่อนการพิจารณาได้มีสมาชิก สนช. เสนอให้เป็นการประชุมลับ แต่สุดท้ายสมาชิก สนช.มีมติด้วยเสียง 107 ต่อ 70 เสียง ให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผย ด้าน วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงเหตุผลในการพิจารณาคดีจากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ตามข้อกล่าวหาไม่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมกล่าวถึงรายงานและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดว่า นายนิคม มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
ขณะเดียวกันตัวแทนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยนำโดย ธัชพงศ์ แกดำ ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดกระบวนการถอดถอนทั้งหมดผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลทุกขั้นตอน