นับเป็นรัฐประหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในไทย สำหรับประเทศที่มีการรัฐประหารมากสุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวคือ 19 ครั้งนับแต่ปี 2475 รัฐประหารครั้งนี้ต้องใช้ความสามารถมากเหมือนกัน บรรดาชายในชุดเครื่องแบบพยายามปรับตัวให้ทันสมัย อาจเป็นเพราะพวกเขาได้บทเรียนจากนายเออโดกานของตุรกีที่บล็อกสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์และยูทิวส์ แต่ยังคงชนะเลือกตั้งได้ หรืออาจเป็นเพราะทหารไทยคาดการณ์ต่ำเกินไป เนื่องจากการสั่งปิดทวิตเตอร์โดยนายเบนอาลีของตูนีเซียกลับส่งผลสะท้อนในด้านลบ และยิ่งจุดชนวนให้มีการประท้วงมากขึ้น จะอย่างไรก็ดี ทหารไทยมีความคิดที่จะทำการรัฐประหารอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งบนพื้นดินและในโลกไซเบอร์
แต่ประการแรกสุด เหตุใดทหารจึงต้องยึดอำนาจ?
ทหารเห็นว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์วุ่นวาย 7 เดือนในไทย ระหว่างกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล และดูท่าทางจะไม่สามารถ “ประนีประนอม” ระหว่างแกนนำทั้งสองฝ่ายได้ เป็นเหตุให้ทหารต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พวกเขาเริ่มจากประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม ตามด้วยการยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม ปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ทำหน้าที่ราวกับเป็นนายกฯ ชั่วคราว และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไป
นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของรัฐประหารในไทยที่ทหารใช้ประโยชน์จากสื่ออย่างมากมาย เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศการใช้กฎอัยการศึกผ่านทวิตเตอร์ (@ArmyPR_News) และ Facebook (NCPO คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหาร ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจาก 96% ของคนไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตต่างเล่น Facebook เมื่อ คสช.ประกาศรัฐประหาร สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นช่องทางเผยแพร่ที่สำคัญ
แม้จะมีข่าวลือว่าจะมีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่ทหารก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นจริง อย่างไรก็ดี รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม ยังคงเน้นการต่อสู้ในเชิงการควบคุมข้อมูลข่าวสาร เมื่อเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจในปี 2549 และ 2534 ระบอบทหารในครั้งนี้ได้ใช้มาตรการรุนแรงกว่าเพื่อปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทำให้รัฐประหารไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ว่า ใครควบคุมการบริหารประเทศ แต่ยังเป็นเรื่องที่ว่าใครมีอำนาจควบคุมสื่อ
แล้วการควบคุมข้อมูลข่าวสารยังทำได้ในยุคดิจิตัลหรือไม่?
สำหรับผู้นำทหาร การควบคุมสื่อแบบดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุ ดาวเทียม หนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้ความฉลาดมากมาย ทหารเพียงแต่ประกาศกฎอัยการศึก สื่อไทยก็รู้แล้วว่าควรทำตัวอย่างไร อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านเสรีภาพของสื่อมากมายนัก ตามข้อมูลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ประเทศไทยอยู่ในอันดับประมาณ 130 จาก 175 ประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับรัฐเผด็จการอย่างซิมบับเว สื่อมวลชนของไทยคุ้นเคยกับการเซ็นเซอร์ตัวเอง และเมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจ พวกเขารู้ตัวดีว่า ควรหลีกห่างจากการรายงานประเด็น “การเมือง”
แต่ คสช.ไม่ต้องการให้มีข้อผิดพลาดแม้แต่น้อย หลังประกาศกฎอัยการศึก (ก่อนหน้าจะทำรัฐประหาร) พวกเขาได้ออกคำสั่ง 19 ฉบับ โดยมี 6 ฉบับที่มุ่งควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะ ทหารได้สั่งปิดรายการที่ออกอากาศทางวิทยุ เคเบิ้ลทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสั่งให้สื่อมวลชนเผยแพร่ซ้ำรายการที่ทหารอนุญาตเท่านั้น ส่วนคนไทยถูกสั่งให้อยู่กับบ้าน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ดูละครน้ำเน่าที่นิยมชมชอบในตอนกลางคืน เมื่อ 2-3 วันนี้เองที่มีการอนุญาตให้โทรทัศน์ 6 ช่องหลัก กลับมาเผยแพร่รายการตามปรกติได้ แต่ก็อยู่ใต้การควบคุมสอดส่องของรัฐบาลทหาร นอกจากสั่งห้ามไม่ให้รายการทีวีเผยแพร่ทัศนคติที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในประเทศ ยังห้ามไม่ให้นำเสนอความเห็นของผู้ชม เป็นเหตุให้ผู้ชมไม่สามารถส่งข้อความสั้นหรือโทรศัพท์เข้ามาร่วมรายการได้
บทความในหนังสือพิมพ์
The Nation ตั้งคำถามกับทหารว่า จะให้ผู้อ่านคลิกไลค์ตัวอิโมติคอลได้หรือไม่ อย่างน้อยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถแสดงอารมณ์ได้ในทางอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีใครรู้ว่า เส้นแบ่งที่ทำได้อยู่ที่ไหน
สื่อต่างประเทศได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น CNN, Fox, CCTV, CNBC และ Bloomberg ที่ถูกระบอบทหารสั่งห้ามไม่ให้รายงานข่าว CNN ยังคงส่งข่าวผ่านทวิตเตอร์ที่ @cnni ดูเหมือนพวกเขาจะสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่ 25 พ.ค. แต่ต้องไม่รายงานข้อมูลใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในไทย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์นักวิชาการเพื่อขอความเห็นใดๆ
แต่คนไทยบางคนยืดอกยอมรับการควบคุมเซ็นเซอร์มากขึ้นได้
บริษัท True Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเคเบิ้ลทีวียักษ์ใหญ่ของไทย จัดทำบัญชีช่องรายการที่ไม่ได้ออกอากาศสำหรับลูกค้าที่กำลังกลัดกลุ้ม เพราะพวกเขาไม่เคยมีชีวิตที่ขาดโทรทัศน์มาก่อน มีรายงานข่าวว่า คนไทยบางคนที่เริ่มเบื่อกับการฟังเพลงทหารซ้ำๆ ซากๆ ได้ร้องเรียนไปยังเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียงอย่าง drama-addict ขอให้ทหารเปิดเพลงป็อบสมัยใหม่บ้าง คุณ Chawada lovelove โพสต์ข้อความว่า
“เราจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ทหารมาปกป้องเราไม่ให้ได้รับอันตราย แต่พวกคุณกลับเอาสื่อของพวกเราไป เราก็ยังพอทนได้!!! แต่นี่คุณเล่นออกอากาศแต่เพลงโบราณซ้ำๆ ซากๆ เป็นเพลงที่เราไม่ได้ชอบเลย ได้โปรดเถิดท่าน กรุณาเปิดเพลงอย่างอื่นบ้างได้ไหม เราเบื่อแล้ว”
แต่การควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ดูเหมือนจะยากกว่าที่คิด ถึงอย่างนั้นทหารยังคงพยายามและพยายามมากขึ้น ทาง คสช.ได้เรียกตัวผู้บริหารบริษัทอินเตอร์เน็ต 51 แห่งในไทยมาประชุม และ “ขอ” ความร่วมมือให้พวกเขาติดตามสอดส่องและรายงานพฤติการณ์ที่ผิดปกติทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งหมายรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่ทำลายความสามัคคี และทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม เป็นคำนิยามอย่างกว้างๆ มีการกำหนดให้บริษัทอินเตอร์เน็ตต้องส่งรายชื่อ URL ที่ต้องทำการบล็อกภายในหนึ่งชั่วโมงไปยังกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หน่วยงานตำรวจด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีรายงานว่ามีการปิดกั้นเว็บไซต์กว่า 100 แห่งตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นมา
การสั่งห้ามออกอากาศของสื่อระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค. ทำให้คนหันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น การที่โทรทัศน์ไม่นำเสนอ “ข่าวสาร” และข้อมูลในช่วงเวลาวิกฤตหลังจากประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นเหตุให้ทั้งคนทั่วไปและผู้สื่อข่าวต้องหันไปหาข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์แทน
จากการวิเคราะห์โดย Google Analytics คำที่มีการเสิร์ชกันมากสุดในไทยผ่านเว็บไซต์ google.co.th (ซึ่งเป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งของไทย) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ 1) “Facebook” 2) “movie” 3) “music” 4) “news” และ 5) “YouTube” โดยมีคำค้นที่แพร่หลายไม่ว่าจะเป็น “กฎอัยการศึก” “ปฏิวัติ” และ “รัฐประหาร”
ข้อมูลจาก Google Trends
คนไทยยังส่งทวิตกันมากมายโดยใช้ hashtag #รัฐประหาร (#coup) มากถึง 10,724 ครั้ง คิดเป็นจำนวนผู้ติดตามทางทวิตเตอร์เกือบ 8.9 ล้านคนระหว่างวันที่ 21-24 พฤษภาคมหลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
ข้อมูลจาก Keyhole
ความหวาดกลัวดูจะเพิ่มมากขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เนื่องจากมีการจัดทำบัญชีรายชื่อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักวิชาการที่จะถูกเรียกตัวให้ไปรายงานตัวกับทหาร แต่หน่วยงานสื่อเริ่มมีปฏิกิริยาเช่นกัน สมาคมสื่อ 4 แห่งได้ทำจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เรียกร้องให้ คสช. “ทบทวน” การเซ็นเซอร์สื่อ ในขณะที่เว็บไซต์ข่าว “ประชาไท” ซึ่งมีผู้เข้าดูจำนวนมากได้เปลี่ยนภาพพื้นของหน้าแรกเป็นสีดำ พร้อมกับข้อความว่า “วารสารศาสตร์ไม่ใช่อาชญากรรม” (ตามภาพด้านล่าง) Bangkok Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหลักของไทยได้ตีพิมพ์บทความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐประหาร โดยให้ความเห็นว่า รัฐประหารครั้งนี้ “ไม่ได้เป็นทางออก” สำหรับความขัดแย้งของประเทศ
ที่มาของภาพ prachatai.com
การชักเย่อเพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารคงเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสุดสำหรับรัฐบาลทหารชุดใหม่ของไทย โดยเฉพาะในแง่การควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ ที่น่าประหลาดใจก็คือ หน้า Facebook ของ คสช.เอง เต็มไปด้วยความเห็นในเชิงลบที่บรรดาผู้ใช้ Facebook ของไทยเข้าไปเขียน