วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุก ‘เจเจ’ 1 ปีรอลงอาญา 2 ปี กรณีพ่นสีป้ายศาลอาญา


8 มิ.ย.2559 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายณัฐพล เข็มเงิน หรือ เจเจ ชายหนุ่มนักดนตรีตกเป็นจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดซึ่งความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์ , พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 จากกรณีที่เขาใช้สีสเปรย์สีดำพ่นสัญลักษณ์อนาธิปไตย (anarchist) ลงบนป้ายชื่อ ศาลอาญาริมถนนรัชดาภิเษก และด้านหลังข้อความศาลอาญา 2 แห่งเมื่อ 24 พ.ค.2558
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจำเลย กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โทษจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี และเพิ่มโทษปรับ 9,000 บาท สารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 4,500 บาท และให้ทำกิจกรรมบริการสังคม 12 ชั่วโมง รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญาและไม่มีโทษปรับ และคดีนี้ถือเป็นที่สิ้นสุดเนื่องจากเป็นคดีที่โทษจำคุกน้อยไม่สามารถฎีกาได้

ทั้งนี้ เพจมติชนรายงานรายละเอียดคำพิพากษาว่า  ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การพ่นสีสเปรย์ไม่ได้ทำให้ป้ายเสียหาย ไม่ได้ทำให้ไร้ประโยชน์และเสื่อมค่า ฟังไม่ขึ้นไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นนี้แต่ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ และจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ต้องอุปการะบิดามารดา และไม่เคยกระทำผิดอาญามาก่อนนั้น อุทธรณ์ฟังขึ้น
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2558 ศาลอาญาก็ได้พิพากษาจำคุกเจเจฐานละเมิดอำนาจศาลจากการกระทำกรณีดังกล่าว เป็นเวลา 1 เดือน แต่ทางไต่สวนศาลเห็นว่า นายณัฐพล ได้สำนึกผิด ประกอบกับไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี 

กกต. เอาจริงเพจปล่อยเพลงหยาบจูงใจโหวตทางใดทางหนึ่ง ปัดตอบเพลงตัวเอง


8 มิ.ย. 2559 กรณี บทเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ที่ถูกจัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิจารณ์ถึงเนื้อหาที่มีการดูถูกภาคเหนือ-อีสาน นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) วานนี้ (7 มิ.ย.59) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคนที่จะมีความเห็น กกต.คงไม่ไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น อีกทั้งทราบว่าทางศิลปินก็ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้วด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้กระบวนการทำประชามติทุกขั้นตอนมีความพร้อมมาก ซึ่งหลังจากนี้ กกต. ก็จะเน้นไปที่แผนการประชาสัมพันธ์การทำประชามติให้มากยิ่งขึ้น
วันนี้ (8 มิ.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ยังเลี่ยงที่จะตอบกรณี เพลง ดังกล่าว ของ กกต. ที่ถูกมองว่า มีเนื้อหาบางท่อนดูหมิ่นคนภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยระบุว่า ขอไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และ กกต.ก็ไม่ได้หารือถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุม กกต. ส่วนตัวยังเห็นว่า เนื้อหาไม่ได้เป็นการดูหมิ่นคนภาคใด และผู้แต่งเพลงก็ยืนยันแล้วไม่ได้เจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด
 
ต่อคำถามที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ กกต.จะต้องระงับเพลง 7 สิงหาฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย สมชัย กล่าวว่า คิดว่าบางทีสังคมก็อ่อนไหวเกินไป และบางเรื่องก็ไม่เป็นสาระสำคัญมากนัก
 

เอาจริงเพจปล่อยคลิปเพลงหยาบจูงใจคนโหวตทางใดทางหนึ่ง

สมชัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กกต. ได้รับทราบกรณีที่มีเพจในเฟซบุ๊กได้เผยแพร่เพลงที่มีข้อความหยาบคาย และโน้มน้าวจูงใจให้คนไปออกเสียงประชามติในทางใดทางหนึ่ง และได้มอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กกต.ไปศึกษา ว่าเข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ ตามที่ได้ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ คาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์น่าจะได้ข้อมูล อยากฝากถึงบุคคลที่ปรากฏในคลิปเพลงดังกล่าว หากไม่รู้เห็น หรือกระทำการก่อน พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับ ก็ควรไปแจ้งลงบันทึกประจำวัน ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น หรือสนับสนุนให้มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวหลัง พ.ร.บ.ประชามติมีผลใช้บังคับ เพราะไม่ฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดไปด้วย รวมทั้งประชาชนทั่วไปขอให้ระมัดระวังในการส่งต่อคลิปดังกล่าว
 
สมชัย กล่าวว่า การออกมาเตือนเรื่องดังกล่าวไม่ใช่แค่ขู่เพื่อให้เลิกกระทำ แต่กกต.เอาจริงทุกเรื่อง แต่การจะทำอะไรต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ขณะนี้เรื่องจึงอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล หากพบว่าเข้าข่ายมีความผิด ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อ หรืออย่างกรณี การขายเสื้อโหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก็อยู่ในขั้นการดำเนินการ และยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว กกต. ไม่สามารถรอคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะตราบที่ศาลยังไม่วินิจฉัยต้องถือว่า พ.ร.บ.ประชามติยังมีผลบังคับใช้อยู่  กกต. ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายก็ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง หากหยุดดำเนินการก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
 

ศูนย์ปราบโกงประชามติ ต้องระวังไม่ผิด กม.

ส่วนกรณีการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น  สมชัย กล่าวว่า ตนเคยยืนยันแล้วเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะช่วยกันสอดส่องการออกเสียงประชามติ แต่ระเบียบของ กกต.ไม่ได้ส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาร่วมตรวจสอบประชามติ เหมือนกับการเลือกตั้ง ที่ กกต. สามารถเข้าไปสนับสนุนได้เต็มที่ ดังนั้น กกต. จึงไม่สามารถไปส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาสังเกตการณ์การออกเสียงในหน่วยออกเสียงได้
 
สมชัย กล่าวว่า การรวมตัวกันของประชาชนที่จะสังเกตการณ์การออกเสียงแม้จะทำได้ แต่ต้อง 1.ไม่เข้าไปในหน่วยออกเสียง 2.ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย 3. ไม่ก่อความวุ่นวาย หรือแสดงท่าทีการโน้มน้าว จูงใจ ปลุกระดม ข่มขู่ ให้ผู้มาออกเสียงออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง ถ้ายึดในหลักการนี้ได้การรวมตัวสอดส่องก็สามารถทำได้ รวมทั้ง กกต. มีแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด เพื่อรับแจ้งเหตุ ประชาชนก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งขณะนี้ยังมีน้อยอยู่ รวมถึงถ้า นปช. อยากให้ กกต. ส่งคนไปอบรมการใช้แอพพลิฯดังกล่าวก็พร้อม

ปธ.กกต. ยันเพลงไม่เหยียดคนภาคใด วอนอย่านำประเด็นเล็กน้อยมาจับผิดประชามติ


9 มิ.ย.2559 กรณีที่มีการเผยแพร่มิวสิควีดีโอเพลง “7 สิงหาประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาเหยียดคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  
โดยเนื้อเพลงบางท่อนระบุว่า

“พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความหลักการสำคัญ ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ์ ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน เฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้”
“ปักษ์ใต้คนใต้แหลงใต้ รักประชาธิปไตยรักความเสรี ไปลงประชามติ เป็นพลเมืองดีหน้าที่ของชาวไทย ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ช่วยนำพาชาติให้เจริญก้าวไกล ดอกไม้ประชาธิปไตย หกสิบห้าล้านใจคนไทยบานสะพรั่ง”
“ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าหื้อใครเขาชักจูงจี้นำ ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความฮื้อมันกระจ่าง บ้านเมืองจะค้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง หนึ่งเสียงหนึ่งใจหนึ่งพลัง ฮ่วมกันสรรค์สร้างบ้านเฮาเมืองเฮา”

วันนี้ (9 มิ.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ผู้ประพันธ์เพลงได้เก็บข้อมูลจาก กกต.  โดยอ้างอิงมาจากคำขวัญที่อยู่ในหน้าสุดท้ายของบุ๊คเล็ต ระบุว่า เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ยอมให้ใคร ชี้นำ ตัดสินใจอย่างอิสระ เพื่อประชามติเที่ยงธรรม  จึงนำไปแต่งเป็นเพลง
“ขอย้ำว่าเนื้อเพลงดังกล่าวไม่มีการชี้นำหรือเหยียดคนภาคใดภาคหนึ่ง ตามที่มีการกล่าวหา ขอร้องอย่านำประเด็นเล็กประเด็นน้อยมาจับผิดกระบวนการการทำประชามติ  เพราะเป้าหมายเราต้องการให้ประชาชนออกใช้สิทธิโดยไม่มีการชี้นำ ทุกคนมีเสรีภาพ ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้กรอบกฎหมาย” ศุภชัย กล่าว
 
ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการทำประชามติวันที่ 7  สิงหาคมด้วยว่า  กกต.จะทำหน้าที่คุมนโยบายให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า หากเรารักประเทศชาติจริง ๆ อย่าทำให้เป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่านำมาเป็นประเด็น ต้องทำให้บ้านเมืองสงบ  เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
ต่อกรณีคำร้องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ส่งมาให้ กกต.พิจารณากรณีการบิดเบือนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะดำเนินการอย่างไร  ศุภชัย กล่าวว่า ถ้าส่งเรื่องมาก็จะให้สำนักกฎหมายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยตรวจสอบ ถ้าข้อกล่าวหามีมูล กกต.จะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน ดำเนินคดีต่อไป  เบื้องต้นยังไม่เห็นรายละเอียด  ยังวินิจฉัยไม่ได้  จะถูกหรือผิดอย่างไร ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ชี้ขาด  ขอย้ำว่าการพิจารราจะไม่ล่าช้าเพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งกล่าวไว้

อานนท์โต้ กกต. คลิปพลเมืองโต้กลับไม่ผิดกม. “แค่เต้นยังไม่ได้ ทำประชามติทำไม”


9 มิ.ย.2559  มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต. กล่าวว่า จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปเพลงที่มีเนื้อหาหยาบคาย จูงใจให้คนไปใช้สิทธิออกเสียงรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะทำงานของกกต.แล้วพบว่า คลิปดังกล่าวมีการเผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ก่อน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 23 เม.ย. จึงถือว่าผู้จัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจจะผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา กฎหมายความมั่นคง และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นอกจากนี้แนะนำว่าผู้ที่จะนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ซ้ำในระหว่างนี้ไม่สามารถทำได้เพราะจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายประชามติมาตรา 61 วรรคสอง
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบตัวบุคคลที่อยู่ในคลิปพบว่ามีลักษณะคล้ายกับบุคคลที่เป็นที่รู้จักในทางสังคม 1.อานนท์ นำภา ทนายความ 2.สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.ณัฐภัทร อัคฮาด  4.นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด 5.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเรียน ส่วนตัวอยากแนะนำให้บุคคลเหล่านี้และบุคคลอื่นที่อยู่ในภายคลิปอีก 20 คน หากไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ซ้ำคลิปดังกล่าวขอให้ไปแจ้งลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กกต.จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นความผิดที่จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปหรือไม่
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างว่าการประชามติครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องมีมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติไว้ในบังคับ เนื่องจากมีบุคคลออกมาเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ปลุกปั่น ซึ่งสังคมไทยไม่ปรารถนาให้ความวุ่นวายเกิดขึ้น มาตราดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณา อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีมาตราอื่นในพ.ร.บ.ประชามติ เช่นการกล่าวเท็จ ก็มีมาตรา 61(3) ที่ห้ามหลอกลวง ใช้ควบคุมอยู่ หรือการพูดหยาบคาย ก็มี กฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ควบคุมดูแลอยู่ แต่ทั้งนี้จะไม่ครอบคลุมในเรื่องที่สามารถเอาผิดว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย ได้เหมือนกับมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ และกกต.ก็ต้องไปยกร่างกฎหมายและแก้ไขระเบียบกกต.ให้สอดคล้องต่อไป
ทั้งนี้ การกระทำความผิดมาตรา 61 วรรคสองนั้น กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
“ผู้ได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปสิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อไม่ให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"
ด้านอานนท์ นำภา ทนายความซึ่งถูกอ้างถึงว่าปรากฏในคลิปให้สัมภาษณ์ว่า คลิปดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถ่ายทำและเผยแพร่กันก่อนพ.ร.บ.ประชามติจะบังคับใช้ แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าถึงแม้มีพ.ร.บ.ประชามติแล้ว ก็ยังเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวของกลุ่มไม่ได้ผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด
“เรายืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แม้แต่มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติเองก็รับรอง”
ทั้งนี้ มาตรา 7 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย
อานนท์กล่าวอีกว่า คลิปดังกล่าวเป็นการรณรงค์ โดยใช้ถ้อยคำในชีวิตประจำวัน ไม่มีคำรุนแรง ก้าวร้าว การที่กกต. ออกมาพูดเรื่องนี้มีเจตนามสกัดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่จะพูดแง่ร้ายหรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นข้อดีกลับพูดได้
“เรายืนยันว่าคลิปนี้ไม่ผิดกฎหมาย จะเผยแพร่ต่อไป มันเป็นแค่การเต้นใส่เพลง เป็นการแสดงออกโดยสงบสันติอย่างถึงที่สุดของประชาชน ถ้าแค่เต้นไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำประชามติกันไปทำไม” อานนท์กล่าว
ขณะที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับเขาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร พ.ร.บ.ประชามติที่บังคับใช้เอาผิดในลักษณะนี้ก็เป็นกระบวนการที่มารับรองการประชามติที่ไม่เสรี จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ให้ไปลงบันทึกประจำวันแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ซ้ำ
“ถ้าจะมีประชามติก็ต้องรับเรื่องเหล่านี้ให้ได้” สิรวิชญ์กล่าว
เมื่อถามว่าเขามีความกังวลใจหรือไม่ว่าอาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีกคดีหนึ่งจากคลิปนี้ เขาตอบว่า “ผมเองก็โดนคดีมาจนไม่กังวลแล้ว ถ้ามีคดีนี้อีกก็จะเป็นคดีที่ 5” 
ด้านสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวสั้นๆ ว่า จะไม่ไปลงบันทึกประจำวันตามคำแนะนำ และไม่เห็นว่าคลิปรณรงค์ดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือไปปิดคูหา หรือขัดขวางประชามติ พร้อมย้ำว่า กกต.ควรมีบทบาทส่งเสริมให้ประชาชนไปลงประชามติ และได้แสดงออกทางความคิดไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบไหน
"ผมอยากถามคุณสมชัยว่าที่ใช้เงินภาษีของประชาชนเดินทางไปดูงานเรื่องประชามติยังประเทศต่างๆ นั้น มีประเทศไหนบ้างที่เขามีกฎแบบนี้ มีประเทศที่ กกต.มาไล่ขู่ประชาชนแบบนี้บ้างไหม" สมบัติกล่าว