วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สมาคมนัก กม.สิทธิฯ เผย 5 จุดอ่อน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เสี่ยงกระทบเสรีภาพการชุมนุม

24 ก.พ.2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่ง (สนช.) ในวันที่ 25 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยชี้ว่า เนื้อหาบางส่วนของของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ในประเด็นเกี่ยวกับนิยามของผู้จัดการชุมนุมที่เปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง, การจำกัดพื้นที่และระยะห่างในการชุมนุม, การวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, เขตอำนาจศาลที่จะตรวจสอบการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการและเข้าควบคุมการชุมนุม และแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ร่วมชุมนุม โดยมีรายละเอียดข้อสังเกต ดังนี้
  • 1. นิยามของผู้จัดการชุมนุม หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะและหมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น การให้นิยามเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการชุมนุมในร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเป็นการให้ความหมายเพื่อการตีความอย่างกว้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อการที่ต้องรับผิดหากการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • 2. การจำกัดพื้นที่และระยะห่างในการชุมนุมตามมาตรา 7  ห้ามชุมนุมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ภายในรัศมี 150 เมตร ห้ามชุมนุมในรัฐสภา ทำเนียบ และศาลเว้นแต่จะจัดพื้นที่ไว้เพื่อสำหรับการชุมนุมซึ่งอาจส่งผลให้การชุมนุมไม่บรรลุเป้าหมายของการชุมนุมเพราะในวรรคท้ายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจสามารถสั่งห้ามการชุมนุมในพื้นที่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรแม้เป็นพื้นที่ที่จัดให้ชุมนุมได้
  • 3. มาตรา 21 กรณีมีการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งยกเลิกการชุมได้นั้นหากมีการร้องขอต่อศาลโดยพนักงานผู้ดูแล เห็นว่ากลไกของศาลควรจะนำมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบภายหลังจากมีการชุมนุมมิใช่อยู่ในขั้นตอนการออกคำสั่งเพื่อห้ามการชุมนุม
  • 4. เขตอำนาจศาล การกำหนดให้ศาลยุติธรรม มีเขตอำนาจศาลที่จะตรวจสอบการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการและเข้าควบคุมการชุมนุม ในประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ซึ่งตามบทบัญญัติมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางฝ่ายปกครอง เห็นว่าควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงจะเหมาะสม มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักนิติรัฐมากกว่าการตรวจสอบของศาลยุติธรรม
  • 5. ขาดการกำหนดกลไกและแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลอื่น ในกรณีที่มีการชุมนุมมากกว่าหนึ่งกลุ่มและมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทะหรือความขัดแย้ง ในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว


สัมภาษณ์นักกฎหมายสิทธิว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในสมัยห้ามการชุมนุม


ร่างพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะที่เป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่าย กำลังจะมีการพิจารณาวาระในวันที่ 25 ก.พ. นี้ โดยก่อนหน้านี้มีความพยายามในการออกร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมาหลายครั้งและมีเสียงค้านมาโดยตลอด ล่าสุด ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดย คณิต ณ นคร ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อให้ชะลอการออกร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไว้ก่อนจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไทยฉบับถาวร อย่างไรก็ตาม มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมดังกล่าวออกมาในวันที่ 18 ก.พ. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ ในระเบียบวาระการประชุมวันที่ 25 ก.พ. 58 ได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอยู่ในวาระเร่งด่วน (อ่านเพิ่มเติม)

‘ประชาไท’ สัมภาษณ์ พูนสุข พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ติดตามประเด็นการร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพื่อสอบถามในประเด็นของตัวร่างกฎหมายเดิม และร่างใหม่ที่มีการปรับแก้แล้วว่ามีจุดที่ดี และจุดที่มีปัญหาอย่างไรบ้าง

ประชาไท: จุดที่ดีขึ้นในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมีอะไรบ้าง

พูนสุข: ร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกปรับแก้ออกมาในปี 2558 (อ่านเพิ่มเติม) โดยคณะรัฐมนตรีซึ่งมีการปรับเพิ่ม และขยายความจากร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ออกมาในปี 2557 (อ่านเพิ่มเติม) ร่างเดิมมาตรา 7 มีการขยายความคำว่า “ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”  ให้เกินไปกว่ากรอบรัฐธรรมนูญเดิมมาก โดยหากเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวตั้งแล้วนั้นตามมาตรา 63 การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจำกัดได้เฉพาะกรณีที่ไปกระทบความสะดวกของประชาชนที่ถูกกระทบในเรื่องของการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ซึ่งตัวร่างก่อนเข้า ครม. มันมีการขยายความจากเดิมไปมาก ดังเช่นกรณีที่ขัดขวางการใช้ทางหลวง และการต้องได้รับอนุญาต กรณีที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินพึงคาดหมายซึ่งสิ่งที่ขยายความเหล่านี้เกินจากกรอบรัฐธรรมนูญเดิมไปมาก จุดที่ดีขึ้นคืออันดับแรกคือ การขยายความบางจุดเช่นมาตรา 7 วรรคสองได้ถูกตัดออกไป หากแต่หลักการก็กลับไปใช้การชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ

อันดับที่สองคือ ในร่างเดิมมีการยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่เขียนเอาไว้ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง และทางวินัย โดยปกติแล้วหากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งทางแพ่งและทางอาญา จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติไว้ และร่าง พ.ร.บ.ที่จะยื่นให้กับ สนช. ก็มีการตัดมาตราที่พูดเรื่องการยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่ออกไป

อันดับที่สามคือ เป็นเรื่องของสถานที่ที่ห้ามมีการชุมนุมในร่าง พ.ร.บ.ฉบับก่อนหน้านี้จะต้องให้มีการชุมนุมห่างจากพื้นที่ ศาล รัฐสภา และทำเนียบ ไม่น้อยกว่า 150 เมตร หากแต่ในร่าง พ.ร.บ. ที่จะยื่นให้กับ สนช. มีการปรับแก้เป็นห้ามชุมนุมในสถานที่นั้น แต่มีการเพิ่มอำนาจให้ผู้บัญชาการตำรวจสามารถประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรได้ตามเห็นสมควรซึ่งถือเป็นจุดที่ดีขึ้น

อันดับสุดท้ายก็คือ กรณีที่มีการเพิ่มข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะจะต้องผ่านการฝึกอบรม และแต่งเครื่องแบบแสดงตนซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี

ประชาไท: แล้วปัญหาในร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ยังคงอยู่คืออะไร
พูนสุข: ประเด็นที่เป็นปัญหาอันดับแรกคือ การที่ร่าง พ.ร.บ.ยังคงตัดเขตอำนาจศาลปกครอง โดยมีการกำหนดให้ศาลมีหน้าที่พิจารณาในคดีนี้เป็นศาลแพ่งหรือศาลในจังหวัดที่มีเขตอำนาจ ซึ่งเป็นการตัดอำนาจศาลปกครอง และมีการกำหนดให้คำสั่งของเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำการของเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ไม่ใช่การกระทำตามปกครอง ซึ่งจะส่งผลให้ไม่ต้องนำกฎหมายวิธีการปฏิบัติทางปกครองมาใช้กับการออกคำสั่งต่างๆ เหล่านี้

โดยสรุปตัวร่างยังมีปัญหาในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ 2 ประเด็น คือหนึ่ง การตัดเขตอำนาจศาลปกครอง และสอง คือ ยกเว้นกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองซึ่งส่งผลทำให้การออกคำสั่งหรือ การกระทำทางปกครองไม่ถูกตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจะมีการออกคำสั่ง กฎหมายก็จะเปิดโอกาสให้คู่กรณีโต้แย้งสิทธิ หากแต่กรณีต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้กับคำสั่งของเจ้าพนักงานตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ในความเป็นจริงแล้วเนื้อหาของการกระทำหลายกรณี ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้เป็นการกระทำทางปกครอง ซึ่งองค์กรที่ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือศาลปกครอง หากแต่กลับตัดอำนาจของศาลปกครองออกไปทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้ยากขึ้น เนื่องจากตัวศาลปกครองมีวิธีการพิจารณาที่เอื้อกับประชาชนได้มากกว่าศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีเพราะว่าศาลยุติธรรมใช้ระบบการกล่าวหาซึ่งผู้ที่ฟ้องร้องจะต้องเป็นผู้นำสืบ ในขณะที่ศาลปกครองใช้ระบบการพิจารณาแบบไต่สวนซึ่งจะเอื้อโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิได้มากกว่า

ประเด็นที่สองก็คือ ในส่วนของผู้เสียหายการไปฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมจะต้องเกิดการการโต้แย้งสิทธิอยู่แล้วหากแต่ว่าในกรณีของศาลปกครองผู้ที่อาจได้รับความเดือดร้อนหรืออาจเป็นผู้ได้รับความเสียหายก็จะสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ซึ่งเป็นจุดที่ต่างกัน การตัดอำนาจศาลปกครองออกไปจะทำให้การตรวจสอบ กฎระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ที่ออกมาตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ในขณะที่ศาลยุติธรรมไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของ กฎ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เป็นการทั่วไป ซึ่งมันจะทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่ง กฎ ระเบียบ ประกาศ อะไรกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาจะไม่มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายลำดับรองต่างๆ เหล่านั้น กลายเป็นช่องว่างด้วยสาเหตุที่ไม่มีองค์กรใดตรวจสอบเลย สมมติว่าเป็นเรื่องของการออกกฎหมายลำดับรองศาลปกครองสามารถตรวจสอบได้ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็คือเพิกถอนและมีผลเป็นการทั่วไป ในขณะที่ศาลยุติธรรมอาจบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่สามารถเพิกถอนให้มีผลเป็นการทั่วไปได้

ประเด็นที่สามคือ มาตราที่ 21 ที่มีการกำหนดให้ศาลเข้ามาออกคำสั่งบังคับในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ออกจากพื้นที่ที่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งโดยหลักการแล้วฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจและศาลจะเข้ามาตรวจสอบการทำงานในภายหลังอันเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่ในกรณีนี้แม้จะบอกว่าเจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจประกาศให้ยุติการชุมนุมแต่จะให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้ยุติการชุมนุมกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ยอมออกจากพื้นที่ประกาศ ก็ยังคงขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจซึ่งอาจส่งผลทำให้ศาลกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมเอง โดยหลักการศาลจึงไม่ควรที่จะเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุมตามการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหาร เพราะศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าคำสั่งที่อกมาจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งบังคับให้ยุติการชุมนุมตามดุลพินิจของของเจ้าพนักงานแล้วคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มันก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งนั้นในภายหลัง

ประเด็นที่สี่ ซึ่งเป็นปัญหาคือประเด็นการแจ้งการชุมนุม คือได้มีการกำหนดให้ผู้ที่จัดการชุมนุมและผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่รวมถึงบุคคลที่เชิญชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วในการชุมนุมขนาดใหญ่ เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมามันก็จะมีบุคคลที่สนใจจะไปร่วมชุมนุมและได้เชิญชวนคนรู้จักไปร่วมชุมนุม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ดังนั้นจึงไม่ควรกำหนดกฎหมายให้รวมไปถึงกรณีดังกล่าวเพราะมันจะเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามมาด้วย

รวมถึงมาตราที่ 14 ที่เป็นปัญหา คือมีการกำหนดว่าการชุมนุมประเภทใดเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญเดิมนั้นถือว่าการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธนั้นย่อมได้รับการรับรอง แต่ในร่างใหม่นี้มันมีความแตกต่างอยู่คือถ้ามีการชุมนุมเกิดขึ้นและการชุมนุมนั้นไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมแม้ว่าจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็จะถือว่าการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดผลตามมาตรา 21 คือถ้าไม่มีการแจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถสั่งให้เลิกการชุมนุมได้

ประเด็นที่ห้าซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ คือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ร่างมาบนพื้นฐานของความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยที่ผ่านมาการชุมนุมขนาดใหญ่ของประเทศไทยไม่สามารถจัดการได้แล้วมันได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง แล้วก็ยังไม่สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นเข้าควบคุมได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายใหม่นี้ก็อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมขนาดใหญ่ได้ และในขณะเดียวกันมันก็ได้ไปลิดรอนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของคนทั่วไปที่อาจไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเช่น การชุมนุมของกลุ่มแรงงาน หรือกลุ่มเกษตรกร ที่โดยปกติแล้วก็ไม่ใช่การชุมนุมขนาดใหญ่ แต่ปัญหาที่ผ่านมาที่ทำให้มีความพยายามในการออกกฎหมายฉบับนี้นั้นมันมาจากการชุมนุมขนาดใหญ่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีความพยายามในการออกมานานแล้วแต่กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้มันยังไม่ตกผลึกเพียงพอ มันควรจะเปิดโอกาสมีการถกเถียงมากกว่านี้ว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมันควรจะมีขอบเขตเพียงใด และนอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับถาวรที่จะใช้เป็นกรอบในการที่จะออกกฎหมายว่าจะจำกัดการใช้เสรีภาพได้เพียงใด ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงอาจทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิไปมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เคยกำหนดไว้

ประชาไท: มีกฎหมายที่กำกับการชุมนุมสาธารณะในต่างประเทศหรือไม่

พูนสุข: สำหรับกฎหมายที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนนี้ มีใช้ในต่างประเทศด้วยเช่น ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ หากแต่การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศกับประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกัน และมีการรับรองสิทธิเสรีภาพที่แตกต่างกัน อย่างในฝรั่งเศสนั้นมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนคือในกรณีที่มีใครมาขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็จะได้รับโทษ แต่ของประเทศไทยจะมีลักษณะที่ควบคุมการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และยังไม่มีบทบัญญัติส่งเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ชัดเจน

ในการแจ้งการชุมนุมนั้นสามารถที่จะถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธได้เนื่องจากปัญหาของการแจ้งการชุมนุมตามบทบัญญัตินี้คือการที่จะต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และแม้ว่าจะมีบทบัญญัติผ่อนผันอยู่ก็อาจไม่ได้รับอนุญาตทันที ตัวกฎหมายไม่ได้รองรับการชุมนุมที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน และนอกจากนี้การแจ้งการชุมนุมยังสามารถถูกปฏิเสธได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามันขัดกับมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ในเรื่องของสถานที่ในการชุมนุมเช่นไปชุมนุมในสถานที่ต้องห้าม เจ้าหน้าที่ก็สามารถที่จะสั่งห้ามการชุมนุมได้

“หัวใจของกระบวนการออกกฎหมายคือมันควรจะต้องออกมาในขณะที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว และจะต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ทุกคนสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมในการที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะว่าในท้ายที่สุดหากมีการผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้มาในขณะนี้มันก็อาจไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข เนื่องจากมันไม่ได้มีประสิทธิผลในการที่จะไปแก้ไขปัญหาการชุมนุมขนาดใหญ่เลย อีกทั้งมันยังไปลิดรอนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมขนาดเล็กต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย”

ศูนย์กฎหมายในเบลเยียมเผย 'นโยบายความเป็นส่วนตัวเฟซบุ๊ก' ขัดกฎหมายยุโรป

ศูนย์กฎหมายในเบลเยียมชี้นโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กยังคงขัดกับกฎหมายของยุโรปแม้จะปรับปรุงระบบความเป็นส่วนตัวแล้วก็ตาม ทั้งนี้ยังมีผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจและต้องการฟ้องร้องเฟซบุ๊กเรื่องนโยบายบังคับใช้ชื่อจริงด้วย
24 ก.พ. 2558 ศูนย์เพื่อกฎหมายสหวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยลูวเวนในเบลเยียมเปิดเผยรายงานระบุว่าการปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ยังคงผิดต่อหลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป
เฟซบุ๊กปรับปรุงนโยบายเพื่อความเป็นส่วนตัวใหม่เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาซึ่งยังคงมีการอนุญาตให้เฟซบุ๊กติดตามการใช้งานของผู้ใช้จากเว็บไซต์หรือเครื่องมือ อนุญาตให้เฟซบุ๊กใช้รูปโปรไฟล์ทั้งในแง่การค้าหรือไม่ใช่การค้า รวมถึงอนุญาตให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ของผู้ใช้ ซึ่งรายงานของศูนย์กฎหมายในเบลเยียมระบุว่าเฟซบุ๊กไม่ได้เปลี่ยนนโยบายอะไรมากด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เพียงแค่ทำให้การปฏิบัติแบบเดิมของเฟซบุ๊กเห็นได้ชัดเจนขึ้น
รายงานระบุอีกว่านโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กขัดต่อกฎหมายของยุโรปในแง่ที่หนึ่งคือการให้ผลักภาระให้ผู้ใช้มากเกินไปเพราะต้องเข้าสู่การปรับแต่งระบบที่ซับซ้อนจึงจะสามารถปรับค่าความเป็นส่วนตัว การใช้แอปพลิเคชัน การเพิ่มเพื่อน รวมถึงระบบผู้ติดตาม
รายงานระบุว่า ระบบการตั้งค่าดั้งเดิมเกี่ยวกับการติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้หรือการขึ้นโฆษณาก็ยังมีปัญหา เนื่องจากผู้ใช้ไม่มีทางเลือกว่าจะอนุญาตให้โปรไฟล์ของตัวเองปรากฏบนหน้า "เรื่องราวจากผู้สนับสนุน" (sponsored stories) หรือไม่ โดยผู้ใช้ก็ไม่ได้รับข้อมูลมากเพียงพอจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจเลือกได้ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลหรือไม่
รายงานของศูนย์กฎหมายเบลเยียมวิจารณ์อีกว่า สำหรับผู้ใช้งานจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะไม่สามารถปิดบังสถานที่เข้าถึงเฟซบุ๊กในเวลานั้นได้เพราะเฟซบุ๊กจะทำการเก็บข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา
ศูนย์กฎหมายในเบลเยียมระบุว่านโยบายของของเฟซบุ๊กขัดกับมาตราที่ 5(3) ของแนวทางกฎหมายสิทธิความเป็นส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ตของสหภาพยุโรป (EU e-Privacy Directive) ซึ่งระบุให้ต้องมีการขออนุญาตโดยแจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูลหรือเข้าถึงข้อมูลจากเครื่องมือของผู้ใช้
รายงานระบุอีกว่าก่อนหน้านี้ตัวแทนของเฟซบุ๊กได้เข้าพบกับ บาร์ต ทอมเมเลียน รัฐมนตรีด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวของเบลเยียมเพื่อพารือด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่านโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊กไม่ขัดต่อกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลของเบลเยียม
ทั้งนี้เฟซบุ๊กยังอยู่ภายใต้การไต่สวนโดยเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลของเนเธอร์แลนด์ และยังถูกสืบสวนโดยกลุ่มคณะทำงาน Article 29 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย
ทางโฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่าพวกเขาปรับปรุงนโยบายและวิธีการใช้งานให้เข้าใจง่ายและทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมเรื่องการโฆษณาได้มากขึ้น และพวกเขายังเชื่อว่านโนบายของพวกเขาเป็นไปตามหลักกฎหมายเนื่องจากสำนักงานนานาชาติของพวกเขาคอยติดตามพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายและเว็บไซต์ตามความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
อนึ่ง มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า นักกิจกรรมชาวพื้นเมืองอเมริกันวางแผนฟ้องร้องเฟซบุ๊กในนโยบายให้ผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายประเภทตั้งแต่กลุ่มคนแต่งหญิง เหยื่อจากการถูกข่มเหงในครัวเรือน และนักกิจกรรมทางการเมืองทั่วโลก ซึ่งนักกิจกรรมชาวพื้นเมืองอเมริกันชื่อ ดานา โลน ฮิล กล่าวว่าเธอตั้งชื่อตามธรรมเนียมชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของอเมริกันแต่ชื่อของเธอกลับดูน่าสงสัยสำหรับเฟซบุ๊กทำให้เธอถูกระงับการใช้บัญชี จนกระทั่งเรื่องของเธอตกเป็นข่าวเฟซบุ๊กจึงยอมยกเลิกระงับบัญชีผู้ใช้ของเธอ
นักกิจกรรมชื่อนาเดีย เคย์ยาลี จากมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation: EFF) กล่าวว่า ผู้ใช้งานบางคนยังถูกระงับบัญชีเนื่องจากถูกเล่นงานจากฝ่ายตรงข้ามที่ใช้วิธีรายงานพวกเขา นอกจากนี้การใช้ชื่อจริงยังสร้างความเสี่ยงต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ที่มีรัฐบาลโหดร้าย


เรียบเรียงจาก
Facebook’s privacy policy breaches European law, report finds, The Guardian, 23-02-2015
http://www.theguardian.com/technology/2015/feb/23/facebooks-privacy-policy-breaches-european-law-report-finds

มติ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ส่อทำผิดต่อ ‘หน้าที่’ สั่งสลายเสื้อแดงปี53 จนมีคนตายจำนวนมาก


มติ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ มีพฤติการณ์ส่อกระทำผิดต่อ ‘ตำแหน่งหน้าที่’ กรณีสั่งใช้กำลังขอคืนพื้นที่ชุมนุมของ นปช. ปี 53 จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นเหตุให้ถอดถอนทั้ง 2 จากตำแหน่ง
24 ก.พ.2558 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. วันนี้ ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) สั่งใช้กำลังทหารตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. ) ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19  พ.ค.53
นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่า ภายหลังจากที่ได้มีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 แล้วปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต และ ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นผู้มอบนโยบายในการขอคืนพื้นที่ กลับละเว้นไม่สั่งระงับ ยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหาร และวิธีการควบคุมการปฏิบัติงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงไม่ได้ปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องประสานกัน ทั้งในระดับนโยบาย การบังคับบัญชาและการปฏิบัติในพื้นที่ ในการใช้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธ แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และ ประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
“เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ เสียชีวิต และนายสมร ไหมทองได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมถึง ประชาชนอื่นที่เสียชีวิตอีกหลายราย ดังปรากฎตามคำสั่งไต่สวนและชันสูตรพลิกศพของศาล ว่าความตายเกิดจาการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทหาร จึงเป็นพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ออกจากตำแหน่ง จึงให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าได้ดำเนินการอย่างไร  สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นในฐานะผู้ปฎิบัติ จะมีความรับผิดชอบเพียงใดหรือไม่ จะได้ดำเนินการไต่สวนต่อไป” นายวิชา กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ปีที่แล้ว ศาลอาญาได้ยกคำฟ้องในความผิดต่อชีวิตของทั้ง 2 แล้ว โดยศาลมีคำพิพากษาระบุว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่ฟ้องทั้ง 2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย โดยศาระบุว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย (อ่านรายละเอียด)

นักวิเคราะห์มะกันวิพากษ์ 'ไอซิส' ก่อศัตรูไปทั่วเพราะหลงผิดว่าเป็น "ฝ่ายดี"

ปีเตอร์ เบอร์เกน รองประธานมูลนิธินิวอเมริกาวิเคราะห์ไว้ว่าเพราะไอซิสเป็นกลุ่มลัทธิปลุกปั่นความเชื่อเรื่องจุดจบของโลก ทั้งเชื่อว่ากำลังทำสงครามที่ตนเป็น "ฝ่ายดี" จึงกล้าแสดงออกให้เห็นความโหดร้ายของกลุ่ม
23 ก.พ. 2558 ปีเตอร์ เบอร์เกน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของสำนักข่าวซีเอนเอนและรองประธานมูลนิธินิวอเมริกา องค์กร Think Thank ด้านนโยบายระหว่างประเทศ เขียนบทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ซีเอนเอนถึงสาเหตุที่กลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' (ISIS) ชอบแสดงออกให้คนทั่วไปเห็นความโหดร้ายของตนและมักจะสร้างศัตรูไปทั่ว ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างจากกลุ่มโหดร้ายในประวัติศาสตร์อย่างนาซีหรือเขมรแดงที่พยายามกลบเกลื่อนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่พวกเขาก่อไว้ 
เบอร์เกน ระบุว่าไอซิสมักจะแสดงความโหดร้ายด้วยการเผยแพร่ภาพวีดิโอสังหารผู้คนด้วยการตัดหัวตัวประกันรวมถึงกลุ่มชาวอียิปต์ผู้นับถือคริสต์ การจุดไฟเผาเหยื่อทั้งเป็น และการจับผู้หญิงชาวยาดิซเป็นทาส นอกจากนี้ยังสร้างศัตรูไปทั่วทั้งชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ชาวเคิร์ด ชาวยาดิซ ชาวคริสต์ และชาวมุสลิมคนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา ไอซิสยังก่อสงครามแม้กระทั่งกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในซีเรียทั้งที่สองกลุ่มนี้น่าจะเป็นมิตรต่อกัน
บทความของเบอร์เกนอ้างถึงโรเบิร์ต เกตส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ซึ่งอธิบายว่า กฎทั่วไปข้อหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ ก็คือการสร้างความประหลาดใจด้วยการกระทำที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือแม้กระทั่งการทำลายตัวเอง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ไอซิสทำ
เบอร์เกนระบุว่าเขาพยายามหาคำตอบโดยศึกษาจากนิตยสารของกลุ่มไอซิสภาษาอังกฤษชื่อนิตยสาร 'ดาบิก' (Dabiq) ซึ่งออกมา 7 ฉบับแล้ว จากการศึกษานิตยสารฉบับนี้เบอร์เกนพบว่ามันเป็นเรื่องผิดพลาดที่จะมองไอวิสในฐานะกลุ่มที่มีเหตุมีผล เพราะสิ่งที่ไอซิสนำเสนอผ่านสื่อของตนคืออุดมการณ์แบบกลุ่มลัทธิคลั่งคำพยากรณ์ที่เชื่อว่าพวกเรากำลังอยู่ในช่วงโลกใกล้จะแตกแล้วการกระทำของพวกไอซิสเองก็เร่งให้เกิดภัยพิบัติต่อมนุษยชาติเร็วขึ้น
นิตยสารของไอซิสระบุว่าเมืองทางตอนเหนือของซีเรียที่ชื่อ 'ดาบิก' ในเขตปกครองอเล็ปโป จะเป็นแหล่งของสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าง "กองทัพอิสลาม" กับ "โรม" ที่จะทำให้เกิดจุดจบของโลกและชียชนะจะเป็นของ "ผู้เป็นอิสลามที่แท้จริง" ในนิตยสารของไอซิสยังระบุอีกว่าผู้ที่จะชนะในสงครามครั้งใหญ่นี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าร่วมสงครามด้วย ผู้ที่เป็นคนดูอยู่เฉยๆ จะถือว่าพ่ายแพ้ ซึ่งตีความได้ว่าไอซิสอ้างให้คนต้องเข้าร่วมเป็นพวกเขาเท่านั้นคนอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มของตัวเองถือเป็น "พวกนอกรีต" หรือ "ผู้ทำสงครามศาสนา" (Crusader) ทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ที่กลุ่มไอซิสได้สังหารปีเตอร์ แคสซิก คนทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวอเมริกัน โดยสมาชิกกลุ่มไอซิสรายหนึ่งที่สื่อตั้งชื่อว่า "ญิฮาดิ จอห์น" พูดผ่านวีดิโอว่า "พวกเราฝังผู้ทำสงครามศาสนา (Crusader) คนแรกไว้ในดาบิกแล้ว และกำลังตั้งตารอกองทัพที่เหลือของพวกคุณบุกเข้ามา"
เบอร์เกนระบุว่าในแง่นี้กลุ่มไอซิสต้องการให้ประเทศตะวันตกรุกรานซีเรียซึ่งจะกลายเป็นการทำให้คำทำนายเรื่องดาบอกของพวกเขาเป็นจริง
สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่มีการแยกรัฐออกจากศาสนามากขึ้นอาจจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการเชื่อในคำทำนายศาสนาอย่างจริงจังเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ แต่เบอร์เกนก็ระบุว่าไอซิสถือคำทำนายเรื่องดาบิกเป็นเรื่องจริงจังและพวกเขาคิดว่าตัวเองกำลังทำสงครามศาสนาตามคำทำนายอยู่จริง เช่นที่เขียนไว้ในหนังสือเกี่ยวกับไอซิส โดย เจ เอ็ม เบอรฺเกอร์ และเจสสิกา สเติร์น ว่า "กลุ่มเชื่อในคำทำนายของศาสนาหัวรุนแรงมักจะมองว่าพวกเขาเองกำลังเข้าร่วมในสงครามที่ยิ่งใหญ่ระหว่างความดีกับความชั่ว ซึ่งไม่ได้สนใจหลักการจริยธรรมใดๆ"
มีผู้สรุปคล้ายๆ กันคือ แกรม วูด ผู้เขียนบทความในนิตยสารแอตลินติกระบุว่า การตัดสินใจใหญ่ๆ ของกลุ่มไอซิสรวมถึงการนำเสนอตัวเองของพวกเขามักจะเป็นการปฏิบัติตามคำทำนายหรือตัวอย่างของศาสดาในระดับลงรายละเอียด ชาวมุสลิมเองก็สามารถปฏิเสธกลุ่มไอซิสได้ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธจะทำตามกลุ่มไอซิส แต่การคิดว่ากลุ่มไอซิสไม่มีลักษณะทางศาสนาและไม่ทำความเข้าใจแนวคิดเชิงศาสนาของกลุ่มนี้ก็ทำให้สหรัฐฯ ประเมินกำลังของไอซิสต่ำไป
เบอร์เกนระบุว่าการที่ไอซิสมีแนวคิดว่าตัวเองกำลังต่อสู้ในสงครามยิ่งใหญ่ซึ่งตนเองนั้นอยู่ใน "ฝ่ายดี" นี้เองที่ทำให้พวกเขาคิดว่าจะฆ่าใครก็ได้ที่ขัดขวางพวกเขาโดยไม่มีความสำนึกใดๆ ซึ่งถือเป็นอาการหลงผิดอย่างรุนแรง

เรียบเรียงจาก

ม.รังสิตมอบดุษฎีบัณฑิตให้ 'สุเทพ' อ้างเป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย ทั้งที่คะแนนโหวตระดมจากไทย

Image result for มหาวิทยาลัยรังสิต

ม.รังสิต มอบดุษฎีบัณฑิตฯ ให้ ‘สุเทพ’ อ้างเว็บ ‘เอเชียโซไซตี’ โหวตเป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย ทั้งที่เมื่อตรวจสอบคะแนนโหวตระดมมาจากไทย จนแซงสาวรางวัลโนเบล ขนาดแอดมินเว็บยังงง ชี้ผู้เข้าเว็บ 1.72 แสนครั้งเป็นชาวไทย 1.65 แสนครั้ง
หลังจากที่ เว็บไซต์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการเผยแพร่คำประกาศเกียรติคุณ ต่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพ ปภากโร ในพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี 2557 โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ได้มีการจัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2557 ดังกล่าว แต่พระสุเทพไม่ได้เดินทางมารับมอบปริญญา
สำหรับเหตุผลที ม.รังสิต มอบ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดังกล่าวให้สุเทพ ประกอบด้วย 3 ประการ คือ ประการแรก มอบให้ในฐานะเป็นแกนนำภาคประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยยึดหลักอหิงสา  และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศอย่างมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ประการที่สอง เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองในภาคประชาชน และสร้างอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่มิชอบ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ
และประการที่สาม เป็นบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงจากการโหวตให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชียจากเว็บไซต์เอเชียโซไซตี้ด้วยคะแนนเสียงถึงร้อยละ 88 ในปี 2557 โดยมีคะแนนเสียงเหนือผู้นำและบุคคลสำคัญๆ ในเอเชียอีกหลายราย
คะแนนโหวตระดมมาจากไทย แซงสาวรางวัลโนเบล ขนาดแอดมินเว็บยังงง
จากตรวจสอบเพิ่มเติม คะแนนการโหวตเว็บไซต์เอเชียโซไซตี้ของสุเทพนั้น สูงกว่ามาลาลา ยูซาฟไซ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีนี้ด้วย
โดยเดลินิวส์ ได้เคยรายงานถึงคำชี้แจงของเอเชียโซไซตีหลังทราบผลว่าสุเทพถูกโหวตเป็นบุคคลแห่งปี 56 ด้วยโดย เอเชียโซไซตี ระบุว่าเว็บไซด์ได้เปิดให้มีการโหวตบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี2556 ตั้งแต่วันที่20 ธ.ค.ซึ่งในขณะนั้นมาลาลายังคงมีคะแนนนำมาเป็นอันดับ1 ส่วนอันดับ2 คือ เจี่ยจางเคอผู้กำกับภาพยนตร์ของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ส่วนสุเทพยังคงมีคะแนนเป็นศูนย์
อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มเข้าปี 2557 ได้เพียง 2 วันหน้าเว็บไซด์ที่มีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากชาวไทยโดยมีผู้เข้าชมเว็บไซด์มากถึงราว 172,000 ครั้งเป็นชาวไทย 165,000 ครั้ง เป็นผลให้สุเทพเทือกสุบรรณได้คะแนนตีตื้นสาวน้อยมาลาลามาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวสุเทพได้คะแนนโหวตมากถึงร้อยละ 97 ของการโหวตทั้งหมด ในที่สุดเมื่อมีการปิดการโหวตสุเทพจึงได้คะแนนไปร้อยละ 88
โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมในเผซบุ๊กส่วนตัว Pipob Udomittipong โดยอ้างถึงคำชี้แจงของ ‘เอเชียโซไซตี’ ด้วยว่า ความจริงคือว่า 96% ของคะนนโหวต 116,000 เสียงที่สุเทพได้ มาจากเมืองไทย “ที่เดียว” ไม่มีประเทศอื่นในเอเชียปนมาเลย โดยมาจากการรณรงค์ต่อ ๆ กันของพวกนกหวีดให้เข้าไปโหวตในเว็บไซต์ Asia Society หลังปีใหม่ปีที่แล้วนี่เอง เรียกว่าเป็น “คะแนนจัดตั้ง” 100% จากกะลาแลนด์ล้วน ๆ ไม่ได้มาจากเอเชียแบบที่คำประกาศระบุสักหน่อย
“Admin ของเว็บ Asia Society อธิบายไว้ว่า เป็นงงเลย จู่ ๆ page view ของเว็บก็ขึ้นไป 170,0000 ต่อวัน ตรวจพบว่า 96% มาจากเมืองไทยทั้งนั้น” พิภพ กล่าว

แอมเนสตี้ฯ ชี้จำคุกคดี ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ทำลายเสรีภาพการแสดงออก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์หลังศาลพิพากษาจำคุกสองนักกิจกรรมคดี ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ชี้เป็นเรื่องน่าอดสูและเป็นการทำลายเสรีภาพการแสดงออก ระบุเป็นนักโทษทางความคิด จี้ปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไข
24 ก.พ.2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ต่อกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกสองนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แถลงการณ์อ้างคำกล่าวของรูเพิร์ต แอ็บบอต ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กล่าวว่า การพิพากษาจำคุกนายปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) และนางสาวภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) เป็นการปราบปรามและทำลายเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลทหาร และเป็นเรื่องน่าอดสูอย่างยิ่งที่ทั้งสองถูกคุมขังเพียงเพราะการเล่นละคร
“นับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว ทางกองทัพไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ เพื่อปราบปรามและพุ่งเป้าไปที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ ที่เพียงใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ”            
ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัวโดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ เช่น กรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2554 และศาลลงโทษข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดือนมกราคมปี 2556 โดยนายสมยศถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวถึง 16 ครั้ง
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะแสดงความเห็นอย่างสงบเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ซึ่งอ้างคำกล่าวของผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย