วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ตร.คุมเข้ม ปชต.ใหม่ประณาม 21 กมธ.ร่างรธน. วาง 12 ศพ ‘นายประชาธิปไตย’ – ดอกไม้จันทน์


6 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ประตูฝั่งตรงข้ามกับสวนสัตว์ดุสิต ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM) ได้รวมตัวกันเตรียมจัดกิจกรรมประณามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นศพจำลองหอด้วยผ้าขาวชื่อ ‘นายประชาธิปไตย’ จำนวน 12 ศพ และดอกไม้จันทร์ มาประกอบกิจกรรมด้วย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจควาบคุมสถานการณ์หลายนาย
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ ‘การ์ตูน’ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่าศพดังกล่าวแทนจำนวนการรัฐประหารที่ได้ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยไป 12 ครั้งแล้ว และการจัดกิจกรรมครั้งนี้ตั้งใจจะนำศพจำลองดังกล่าวมาวางไว้ประตูทางเข้า เพื่อให้ กมธ. ชุดใหม่ทั้ง 21 คนก้าวข้ามไป ด้วย เนื่องจากทราบมาว่า กมธ. ทั้ง 21 คนนั้นจะมาประชุมกันนัดแรกที่นี่
อย่างไรก็ตาม ชนกนันท์ ระบุว่า กิจกรรมไม่สามารถทำได้ตามที่วางไว้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ผู้จัดทำหนังสือขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ก่อน ซึ่งได้รับอนุญาตจัดเพียง 30 นาที และไม่สามารถจัดตรงประตูทางเข้าได้ 
แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่  เรื่อง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ :
 
 
ตามที่ได้มีการประกาศว่าบุคคลจำนวน 21 คน ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นางกีระณา สุมาวงศ์ นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย นายเธียรชัย ณ นคร นายนรชิต สิงหเสนี นายนิวัติ ศรีเพ็ญ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายภัทระ คำพิทักษ์ นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ นายวิระ โรจนวาศ นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายอุดม รัฐอมฤต นายอัชพร จารุจินดา และนายอัตรพร เจริญพาณิช จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แก่ระบอบเผด็จการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น
 
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM) เห็นว่าการกระทำของบุคคลทั้ง 21 คนดังกล่าวเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนการของคณะรัฐประหารที่จะผลิตกติกาแบบเผด็จการเพื่อครอบงำสังคมไทยในระยะยาว โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บุคคลทั้ง 21 คนจะร่างขึ้นนั้นก็คงมีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อน คือมีการบ่อนเซาะองค์กรผู้แทนประชาชนให้มีสถานะที่อ่อนแอ และให้อำนาจมหาศาลแก่องค์กรที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน หากรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝีมือของบุคคลทั้ง 21 คนนี้มีผลบังคับใช้จริง ก็จะเป็นการปลูกฝังความคิดของเผด็จการให้หยั่งรากลงในระบอบการเมืองไทย ทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะถูกรัฐประหารถาวร และคงเป็นการยากที่ประชาธิปไตยจะฟื้นคืนมาได้อีก
 
ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำของบุคคลทั้ง 21 คนนี้เป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตของระบอบเผด็จการให้มีที่ทางในระบบกฎหมาย ทำให้สิ่งที่เลวร้ายกลายเป็นความถูกต้อง และเมื่อสังคมมีกติกาพื้นฐานที่เป็นเผด็จการแล้ว ก็ย่อมเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมมีวัฒนธรรมค่านิยมแบบเผด็จการสืบต่อไป จึงไม่ต้องสงสัยเลยหากว่านับจากนี้จะเกิดการใช้ความรุนแรงเข้าทำลายล้างผู้ที่เห็นต่าง ดังที่เคยเกิดขึ้นในวันนี้ของเมื่อ 39 ปีที่แล้วที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกปลุกระดมด้วยความคิดแบบเผด็จการจนกลายเป็นฆาตกรสังหารประชาชนด้วยกันเอง
 
การกระทำของบุคคลทั้ง 21 คนนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ซึ่งเชื่อมั่นในประชาธิปไตยจะต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด
 
ศพที่วางอยู่หน้ารัฐสภาในวันนี้ คือศพของประชาธิปไตยที่ต้องตายเพราะการรัฐประหารโดยฝ่ายเผด็จการมาแล้วถึง 12 ครั้ง เบื้องหลังของศพเหล่านี้คือความทุกข์ยากของประชาชนที่ต้องตายโดยปราศจากความผิด ต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ต้องได้รับความเดือดร้อนในชีวิตโดยที่ไม่อาจเรียกร้องความรับผิดจากรัฐบาลเผด็จการได้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอใช้ศพเหล่านี้เป็นเครื่องประณามบุคคลทั้ง 21 คนนี้ที่เลือกใช้ความรู้ความสามารถของตนรับใช้เผด็จการเพื่อมาทำร้ายประชาชน
 
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอให้บุคคลทั้ง 21 คนดังกล่าวจดจำกรรมครั้งนี้ไว้ให้มั่น และอย่าได้อายที่จะบอกแก่อนุชนรุ่นหลังว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พวกท่านเคยฉุดรั้งให้ประเทศและประชาชนต้องจมอยู่ในก้นบึ้งของระบอบเผด็จการด้วยมือของพวกท่านเอง
 
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)
6 ตุลาคม 2558

รำลึก 39 ปี 6 ตุลา ธงชัยนำผูกผ้าดำต้นไม้แขวนคอ นศ.


6 ต.ค. 2558 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่สวนประติมากรรมโครงการกำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) มีการจัดกิจกรรมรำลึก 39 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมใน มธ. เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519
จากนั้น ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตนักศึกษาที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว นำผู้ร่วมกิจกรรมเดินเท้าไปยังต้นไม้ที่ถูกใช้แขวนคอร่างของนักศึกษาที่ถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย พร้อมนำผ้าดำคลุมต้นไม้
วิภา ดาวมณี กรรมการโครงการกำแพงประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี2539 และผู้ร่วมจัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา 19 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กล่าวว่า วันนี้ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สั่งห้ามกล่าวรำลึก พร้อมคุมคิววางหรีดด้วย แม้แต่นักศึกษาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภานักศึกษาที่มาร่วมรำลึกก็ไม่ให้พูด โดยให้เหตุผลว่าเดี๋ยวคุมไม่ได้
วิภา กล่าวต่อว่า แม้ผู้บริหารจะอ้างว่ามีการตกลงในที่ประชุมของธรรมศาสตร์ที่เป็นกรรมการจัดงานแล้วว่าจะไม่ให้มีการพูดกล่าวไว้อาลัย  แต่ก็ไม่ได้แจ้งญาติวีรชนหรือคนอื่นที่มีส่วนร่วมงานทราบ ไม่ว่าจะเป็นสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาของธรรมศาสตร์ ซึ่งปกติจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานในทุกปี ก่อนหน้านี้จัดกิจกรรมรำลึกไม่เคยมีปัญหา แต่มามีหลังการรัฐประหารปีที่แล้ว
วิภา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรรักษาจุดยืนประชาธิปไตยให้มั่นคง เพราะถือเป็นเกียรติภูมิของมหาลัยที่มีมาในประวัติศาสตร์

 

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกทีอื่นด้วย เช่น เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ภาคีเครือข่ายนักกิจกรรม ม.เชียงใหม่’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความด้วย โดยระบุว่า จัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา ที่ด้านในและด้านหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

ขณะที่ช่วงค่ำ ที่บริเวณ ณ บริเวณ ต้นมะขาม(สนามหลวง)  ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาประชาชน โดยกิจกรรมประกอบด้วย ดนตรี-บทกวีรำลึก การบอกเล่าประสบการณ์เหตุการณ์จากอดีต-ปัจจุบัน และจุดเทียนแสดงความรำลึกผู้ที่จากไป
 
ช่วงค่ำเช่นกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ได้มีการจุดเทียนและอ่านบทกลอนรำลึกด้วยเช่นกัน 

ประยุทธ์ย้ำซิงเกิลเกตเวย์ยังไม่เริ่ม-โฆษกลั่น ตามได้ใครชวน-ถล่มเว็บ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอมฯ


ประยุทธ์ย้ำซิงเกิลเกตเวย์ยังไม่เริ่ม สรรเสริญลั่น สาวรอยได้ใครชวน-ถล่มเว็บ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอมฯ รมว.ไอซีทีย้ำเพิ่งเริ่มศึกษา 
6 ต.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีประชาชนที่ไม่พอใจแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะไม่ดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยขีดเส้นตายภายใน 14 ต.ค. มิฉะนั้นจะมีมาตรการตอบโต้ ว่า ตนเองพูดไปแล้วว่ายังไม่ได้เริ่มแล้วจะต้องมาประกาศเลิกอะไร ทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ เป็นแนวทางเท่านั้นที่ไปหามาตรการมา เพียงแต่ยกตัวอย่างว่าเรื่องนี้ได้หรือไม่ เรื่องนั้นได้หรือไม่ ให้ไปหามา ถ้ามันผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ทำ ไปดูต่างประเทศว่าเขาทำกันอย่างไร เพียงแต่ถ้าท่านมองอย่างเดียว คิดแต่เข้าตัวเองอย่างเดียว แต่ท่านเคยคิดหรือไม่ว่าการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิดมันมีเยอะหรือไม่ในวันนี้ แล้วท่านไม่เป็นห่วงลูกหลาน ไม่เป็นห่วงสังคมของท่านหรือ ว่าจะทำอย่างไร ถ้ารัฐไม่ทำอะไรก็ดีอยู่แล้ว ผมก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ท่านช่วยรัฐตรงไหนกันบ้าง ท่านไม่ห่วงลูกหลานของท่านหรืออย่างไร ไปหามาตรการอะไรมาก็ได้ที่ไม่ใช่เกตเวย์ ทำไมมันเดือดร้อนกันหนักหนา หลายเรื่องที่เป็นเรื่องของการพูดคุย หารือ สั่งการ เวลาดูเอกสารที่กำลังเผยแพร่อยู่ ต้องดูให้มันครบว่าตอนท้ายเขียนว่าอะไร เขาเขียนว่า ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย
    
“ถ้ามันละเมิดก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ทำไมเลือกแต่จะอ่านตรงนั้น หาจุดที่มันบกพร่อง ผิดพลาดให้ได้ แล้วก็ตีตรงนี้ นึกถึงคนทำบ้าง นึกถึงคนทำบ้างสิครับ ที่ผ่านมามีใครมาชี้แจงให้ฟังหรือไม่ถึงเหตุผลในการทำหรือว่าเป็นมติในการประชุม ครม. มีนายกฯ คนไหนมายืนพูดอย่างนี้หรือไม่ เพราะผมไม่มีอะไร ผมเลยพูดกับท่านได้ ไม่มีอะไรในใจผมซักอย่าง ไม่ได้หวังจะต่อท่ออำนาจ สืบทอดอำนาจ จะสืบไปทำไมอำนาจ ผมไม่ได้ต้องการอำนาจ ผมต้องการทำให้บ้านเมืองนี้มันดีขึ้นและอยากให้ประชาชนร่วมมือกันเพราะเราต้องอยู่กันในแผ่นดินนี้กันอีกยาวนาน ลูกหลานท่าน อนาคตอีกไม่รู้อีกกี่รุ่น ถ้าท่านไม่ทำให้เข้มแข็งวันนี้ มันก็จะเกิดแบบเดิม วันหน้าจะอยู่ไม่ได้กว่านี้อีก ที่ดินถูกบุกรุก จัดระเบียบพื้นที่ไม่ได้ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ประท้วงเรื่องที่ไม่ควรประท้วง ทั้งๆ ที่เราแก้ทุกอัน แต่ก็จะประท้วงให้ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเราจะอยู่กันอย่างไร นี่คือประชาธิปไตย 100% หรือ มันไม่ใช่ ประชาธิปไตยต้องฟังซึ่งกันและกัน วันนี้รัฐเปิดใจพูดทุกอย่าง ประชาชนต้องเปิดใจกับเรา” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

สรรเสริญลั่น สาวรอยได้ใครชวน-ถล่มเว็บ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอมฯ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุม ครม. ถึงกรณีเครือข่ายทางโซเชียลมีเดียประกาศต่อต้านโครงการซิงเกิลเกตเวย์ว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่าปัจจุบันมีข้อมูลหลากหลายที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย และเป็นผลร้ายต่อสังคมโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งในวันข้างหน้าจะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทย อย่างไรก็ตามเรื่องซิงเกิล เกตเวย์ นายกฯและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงไปแล้วหลายครั้ง
แต่ก็ยังมีความพยายามจากบางกลุ่มบิดเบือนข้อมูลและโดยยืนยันให้นายกฯยกเลิกโครงการนี้ให้ได้ จึงขอย้ำว่านายกฯ ไม่เคยสั่งการให้เดินหน้าโครงการ เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการกล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นได้มีการไปดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาลแล้วมาบอกว่าเป็นมติ ครม. ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ดังนั้นอยากไปแปลความหมายผิดๆ
“วันนี้มีความพยายามชักชวนให้คนเข้าไปใช้บริการของเว็บไซต์แล้วถล่มให้เว็บไซต์ล่ม ผมก็ต้องชี้แจงว่าการทำเช่นนี้ผิดกฎหมาย และการกระทำเช่นนี้มีร่องรอย เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดได้และจะดำเนินการกับทุกคน นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อกฎหมาย ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น ในมาตรา 9 ใครที่ทำให้ข้อมูลของคนอื่นเสียหายถือว่ามีโทษ มาตรา 10 ใครทำให้ข้อมูลของคนอื่นถูกระงับ ล่าช้า ถือว่ามีความผิด มาตรา 12 เหตุที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบในวันนี้หรือวันข้างหน้าย่อมมีความผิด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง และมาตรา 13 ใครที่เผยแพร่ชุดข้อมูลเพื่อชักจูงให้คนเข้ามาถล่มเว็บไซต์ก็มีความผิด ทั้งจำทั้งปรับ ต้องไปศึกษาตรงนี้ดูให้ดี ไม่อยากให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและถูกลงโทษตามกฏหมาย” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เว็บไซต์ของราชการส่วนใหญ่เป็นการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมการค้าขาย การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หากมีผู้ไม่หวังดีส่วนหนึ่งถล่มเว็บไซต์ ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน
“ก็มันเป็นประเทศไทย บ้านของเราเอง เราจะไปเผาบ้านของเราทำไม ถ้าบ้านไฟไหม้ ไม่ใช่แค่ พล.ต.สรรเสริญ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นที่เปียกฝน ทุกคนเปียกฝนเหมือนกัน แล้วเราจะไปทำอย่างนั้นทำไม จึงฝากเตือนกลุ่มทั้งหลายที่พยายามจะยุยง ขอให้เห็นแก่ประเทศไทย เห็นแก่ตัวของท่านเอง เห็นแก่ประชาชนทุกคน”

รมว.ไอซีทีย้ำเพิ่งเริ่มศึกษา 
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เผยแพร่คำแถลงข่าวของ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีโครงการซิงเกิลเกตเวย์ โดยระบุว่า ยังไม่มีนิยามของคำว่า "ซิงเกิลเกตเวย์" และการศึกษาก็เพิ่งเริ่ม โดยจะเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคม
อุตตม กล่าวต่อว่า ส่วนการริเริ่มนั้น เข้าใจว่า เป็นปรารภของนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยเด็กและเยาวชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางที่จะดูแล แต่ใครเป็นคนยกเรื่องขึ้นมา ตนเองไม่ทราบ เพราะเกิดขึ้นก่อนตนเองรับตำแหน่ง
ทั้งนี้ อุตตม ชี้แจงว่า ไม่ได้มีแนวคิดจะให้แค่เกตเวย์เดียว ยังศึกษาอยู่ ยังไม่ได้บอกว่าทางไหนจะไปอย่างไร บังเอิญว่า ซิงเกิลเกตเวย์ที่เกิดขึ้น เราก็ยังไม่ได้ตีความว่าคืออะไรจึงยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอย้ำว่า ไม่มีแน่ที่จะลิดรอนสิทธิ ไม่ว่าจะกี่เกตเวย์หรือไม่อย่างไรก็ตามที่จะไปกระทบสิทธิ์ประชาชน เราจะคุ้มครอง 100% เพียงแต่จะหาทางให้มีการใช้สิทธิดียิ่งขึ้นในขอบเขตที่มีอยู่
เขากล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนอย่ากังวลว่าจะมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ในการเข้าถึงข้อมูล รัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดๆ เพราะมันผิดมาก ไม่ทำอยู่แล้ว ขอให้สบายใจว่าสิ่งนี้ไม่เกิดแน่ๆ ก็ขอให้ท่านรอดู
ต่อคำถามว่า ยืนยันว่าจะไม่รวมท่อคอนเทนต์จากทั่วโลกเป็นท่อเดียวเพื่อคัดกรองหรือไม่ อุตตมตอบว่า ไม่มีครับ เพราะจะกระทบสิทธิเสรีภาพ

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีกรณี Single Gateway
30 มิ.ย. 2558
ให้กระทรวงไอซีทีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วย
21 ก.ค. 2558
ให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558) โดยด่วนต่อไป
4 ส.ค. 2558
ให้ทุกส่วนราชการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลให้แก่ประชาชนตั้งแต่เริ่มแรก รวมทั้งต้องมีการแก้ไขข้อสงสัยที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจต่อรัฐบาลและข้าราชการให้ได้ โดยไม่ควรมุ่งที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบังคับแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่าง ๆ เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 นี้ โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 ดังนี้
- กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานความคืบหน้าการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต
25 ส.ค. 2558
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2558) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่างๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดตั้ง single gateway ที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 นั้น ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเร่งรัดการดำเนินการเรื่องดังกล่าวและรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไปด้วย

ประยุทธ์ยันไม่ใช้ ม.44 ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว ให้เป็นไปตามกม. มีมาตรฐานเดียว


ชี้หลายประเทศไม่เข้าใจสถานการณ์ก่อน 22 พ.ค.57 ยันไม่ใช้ ม.44 ยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว ระบุให้เป็นไปตามกฎหมาย ย้ำมีมาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย ทุกกฎหมาย
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในแถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตอนหนึ่งว่า ถึงการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า หลายประเทศไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา เพราะฉะนั้นเขาอาจจะมองเราในแง่ของการเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเขาไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเราก่อน 22 พ.ค.57 วันนี้ตนก็ให้ทุกกระทรวงทบวงกรมไปช่วยกันชี้แจง จริงๆ แล้วตนไม่ต้องการให้มันเสียชื่อประเทศนะ
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ตนจะใช้อำนาจ ม.44 ไปลงโทษยึดทรัพย์กรณีจำนำข้าวว่า ตนไม่ทำอยู่แล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ตนไปใช้อำนาจอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ามันผิดก็คือผิด ถ้ามันไม่ผิดมันก็คือไม่ผิด มันก็มีกลไกของมันอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหาย การคดีแพ่งอะไรก็แล้วแต่ว่าไป
“ผมไม่อยากจะไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นเหมือนเดิมที่ถูกกล่าวอ้างว่าไม่เป็นธรรม สองมาตรฐานอะไรต่างๆ ทำนองนี้ กฎหมายมีมาตรฐานเดียว เพียงแต่คนบังคับใช้กฎหมายบางทีมีกี่มาตรฐานล่ะ ผมใช้มาตรฐานเดียว กับทุกพวกทุกฝ่าย ทุกกฎหมาย เพื่อให้มันเกิดความเป็นธรรมให้ได้ ลดความเหลื่อมล้ำและก็กล่าวอ้างไม่ได้ นะ ผมจะใช้เท่าที่จะเป็น นะ ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลักนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตช่วงการชุมนุมปี 2551

แฟ้มภาพการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 (ที่มา: Mark Micallef/2 Aug 2008/Wikipedia/CC 3.0)

อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ-สารวัตรจ๊าบ ซึ่งเสียชีวิตในช่วงชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา 7 ตุลา 51 และผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตช่วงการชุมนุมพันธมิตร 193 วันในปี 2551
ที่บ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ชุมนุม พธม. ในช่วงการชุมนุม 193 วันในปี 2551 และเหตุปิดล้อมรัฐสภา 7 ตุลาคม 2551 ทั้งนี้ตามรายงานของ เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์
โดยการชุมนุมของ พธม. เริ่มต้นระหว่าง 25 พ.ค. ถึง 2 ธ.ค. 2551 โดยมีการสลายการชุมนุมจากทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย
อนึ่งส่วนผู้เสียชีวิต 11 รายในการชุมนุมปี 2551 ที่อดีตแกนนำพันธมิตรอุทิศส่วนกุศลให้ได้แก่ 1. น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ เสียชีวิตที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 2. พ.ต.ท. เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ จากเหตุระเบิดรถยนต์ที่หน้าพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 15.00 น.
3. นายสมเลิศ เกษมสุขปราการ หัวใจล้มเหลว 21 ต.ค. 2551 4. นายเสถียร ทับมะลิผล ถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณศีรษะซ้าย เมื่อ 30 ต.ค. 2551 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2555 5. นายเจนกิจ กลัดสาคร ถูกระเบิดที่ศีรษะ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2551 หน้าเวทีในทำเนียบรัฐบาล
6. นายยุทธพงษ์ เสมอภาพ ถูกระเบิดที่ศีรษะ เมื่อ 22 พ.ย. 2551 ที่สี่แยกมิสกวัน 7. นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา เหตุปะทะที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 25 พ.ย. 2551 8. น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู ถูกระเบิดที่ศีรษะ หน้าเวทีในทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 พ.ย. 2551 9. นายรณชัย ไชยศรี ถูกระเบิด ขณะชุมนุมที่ดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2551 10. น.ส.ศศิธร เชยโสภณ ประสบอุบัติเหตุในขณะที่ขนย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล กลางคืนวันที่ 2 ธ.ค. 2551 เสียชีวิตวันที่ 6 ธ.ค. 2551
ทั้งนี้ในพิธีมีการทำบุญให้กับ 11. นายสมชาย ศรีประจันต์ หรือ เกี่ยวโซน 7 ด้วย โดยสมชายถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม เมื่อ 23 ต.ค. 2551 ภายในซอยสุวินทวงศ์ 24 โดยตำรวจอ้างว่าเป็นการล่อซื้อยาเสพติดและผู้ตายต่อสู้จึงต้องยิงปะทะ แต่ญาติเชื่อว่าเป็นการจัดฉากเพราะผู้เสียชีวิตเป็นการ์ด พธม.

ทหารเรียก 2 นักศึกษา ม.ราชภัฏเชียงราย เข้าค่ายสอบ หลังจัดรำลึก 6 ตุลา


7 ต.ค. 58 จากกรณีที่ วานนี้(6 ต.ค.58) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ภาคีเครือข่ายนักกิจกรรม ม.เชียงใหม่’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความด้วย โดยระบุว่า จัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา ที่ด้านในและด้านหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมีการจัดแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์และจัดบอร์ดให้นักศึกษาได้ร่วมกันแปะโพสต์อิทแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น ต่อมาในช่วงเย็นได้ร่วมกันร้องเพลงรำลึกที่บริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ล่าสุดวันนี้(7 ต.ค.58) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ทหารได้เรียกตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเข้าพบ ภายหลังจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ดังกล่าว
ศูนย์ทนายความฯ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมวานนี้ ทางกลุ่มนักศึกษาได้รับการติดต่อจากอาจารย์ที่ปรึกษาท่านหนึ่ง โดยแจ้งว่าทางมหาวิทยาลัยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้นำตัวกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมทั้งหมดเข้าไปพบที่ค่ายในวันพรุ่งนี้ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการจัดกิจกรรม แต่ทางกลุ่มนักศึกษาได้ต่อรองว่าจะส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยด้วยจำนวนสองคนแทน
ในเช้าวันนี้ เวลา 9.30 น. นายธิชานนท์ พิทักษ์ประชา และนายสมชาย กู้วัฒนะสกุล สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เป็นตัวแทนของกลุ่ม เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเดินทางไปที่ค่ายทหารด้วย
ในการพูดคุยได้มีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37, รองผู้บัญชาการ และเจ้าหน้าที่ทหาร 3-4 นาย พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายร่วมด้วย
ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงการจัดกิจกรรมรำลึก 6 ต.ค.เมื่อวานนี้ ว่าจัดไปทำไม จัดเพื่ออะไร เหตุใดต้องรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ทางนักศึกษาได้ชี้แจงว่าเป็นการรำลึกถึงนักศึกษาประชาชน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งถูกใช้ความรุนแรงโดยผู้กระทำยังไม่ต้องรับผิดมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนรายละเอียดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 กับเจ้าหน้าที่ด้วย
เจ้าหน้าที่ทหารยังได้แสดงความเป็นกังวลต่อข้อความในโพสต์อิทบางส่วนว่าจะมีเนื้อหาเป็นการปลุกระดมทางการเมือง และยังสอบถามว่าทางกลุ่มนักศึกษาได้ไปร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาที่กรุงเทพฯ หรือขอนแก่นด้วยหรือไม่ พร้อมแจ้งว่าหลังจากนี้จะมีการติดตามกิจกรรมของนักศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ไม่ได้มีการห้ามปรามการทำกิจกรรม และไม่ได้ให้เซ็นเอกสารข้อตกลงใดๆ
การพูดคุยใช้เวลาราวชั่วโมงเศษ ก่อนนักศึกษาทั้งสองคนและอาจารย์จะเดินทางออกจากค่ายเม็งรายมหาราช ในเวลาราว 11.30 น.