วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ศาลสั่งเลื่อนสืบพยาน นปช. คดีก่อการร้าย กดดัน รัฐบาลมาร์คยุบสภา


เลื่อนสืบพยาน นปช. คดีก่อการร้าย ปี 53 กดดันรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ยุบสภา เหตุ ‘จตุพร’ ติดคดีที่ศาลอื่น นัดใหม่ 20 ส.ค. นี้
6 ส.ค. 2558 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/53 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ณัฐวุฒิใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ นพ.เหวงโตจิราการ และก่อแก้ว พิกุลทอง อตีด ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กับพวกรวม24คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจาเพื่อประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีระหว่างวันที่28 ก.พ.2553 -20 พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช. ชุมนุมกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้ยุบสภา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดปรากฏว่า ทนายความของ จตุพร จำเลยที่2ได้แถลงต่อศาลว่า วันนี้จำเลยที่ 2 เดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีอื่น ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ในวันนี้ ขณะเดียวกันทนายความ จำเลยร่วมในคดีนี้อีกสองราย ก็ได้แถลงขอเลื่อนนัดออกไปด้วยเนื่องจากทั้งสองมีเหตุซึ่งไม่สามารถเดินทาง มาได้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรและอัยการโจทก์ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ เป็นวันที่ 20 ส.ค. นี้ เวลา 09.00 น.“

ฮิวแมนไรท์วอทช์ จี้ทางการไทย เลิกปกปิดความผิดทหารช่วงสลายการชุมนุมปี 53


ฮิวแมนไรท์วอช์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทางการไทยเลิกปกปปิดความจริงกรณีสลายการชุมนุมปี 53 เผยภายใต้รัฐบาลทหาร ความยุติธรรมดูสิ้นหวัง เพราะหัวหน้า คสช. ระบุหลายครั้งว่าทหารไม่ควรถูกประณาม
 6 ส.ค. 2558 BBC  Thai รายงานว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยเลิกปกปิดการกระทำความผิด ของทหารในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 และนำตัวผู้กระทำความผิดทุกฝ่ายมาลงโทษ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่าตามรายงานของสื่อไทย ทหารได้กล่าวอ้างไว้ในรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอว่า ได้ใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ประท้วง และเคยมีการเผยแพร่คำกล่าวอ้างที่ว่ามาครั้งหนึ่งแล้วในคราวที่ดีเอสไอสอบ สวนมือปืนซุ่มยิงของทหารเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555
แต่จากหลักฐานแน่นหนาที่มีอยู่ รวมทั้งจากการชันสูตรศพได้ข้อสรุปว่าพลเรือนเสียชีวิตจากกระสุนจริง ทั้งนี้ คาดว่าดีเอสไอจะนำเสนอผลการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในปลายเดือน ส.ค.นี้
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วงและคนอื่น ๆ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีทหารคนใดได้รับผิดจากการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ของผู้ประท้วง
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง พ.ค ปี 2553 การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายวงกลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด ตามตัวเลขของดีเอสไอ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ดีเอสไอเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อเดือน ก.ย. 2555 ชี้ว่าผู้เสียชีวิต 36 ราย เกิดจากการกระทำของฝ่ายทหาร
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งต่อดีเอสไอ ไม่ตรงกับข้อมูลที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้ รับบาดเจ็บจำนวนมากซึ่งรวมถึงผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ แพทย์อาสา เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน นักข่าว ช่างภาพ และคนทั่วไป นั้น เป็นผลมาจากการกำหนด “เขตใช้กระสุนจริง” โดยรอบพื้นที่ประท้วงในกรุงเทพฯ ที่ทหารวางกำลังนักแม่นปืนและมือปืนซุ่มยิงเอาไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ยังตรวจสอบพบในทำนองเดียวกันมาแล้วด้วย และได้เสนอให้ทางการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังมีข้อมูลด้วยว่าผู้เข้าร่วมกับ นปช.บางส่วน ซึ่งรวมถึง “นักรบชุดดำ” เป็นผู้ทำร้ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนจนเสียชีวิตเช่นกัน และแกนนำ นปช.บางคนได้ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงก่อจลาจล วางเพลิงและปล้น
แม้จะมีหลักฐาน แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อการกระทำของทหาร ในขณะที่แกนนำ นปช.และผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง ขณะที่ดีเอสไอเองไม่ได้ใช้ความพยายามเพียงพอที่จะตรวจสอบว่าทหารและผู้ บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้รับผิดชอบให้เกิดการยิงขึ้น และรัฐบาลทั้งของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกกดดันจากฝ่ายทหาร ต่างประกาศว่าทหารไม่ควรมีส่วนรับผิดชอบใดๆ เพราะได้กระทำการภายใต้คำสั่งของรัฐบาล
ขณะเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังสั่งโอนคดีสลายการชุมนุม ที่ อภิสิทธิ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกยื่นฟ้อง ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีก
ฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่าโอกาสที่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น จะได้รับความเป็นธรรมยิ่งสิ้นหวังมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ระบุหลายครั้งว่าทหารไม่ควรถูกประณามจากการที่มีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

พิพากษา สอาด จันทร์ดี คอลัมนิสต์วัย 79 วันนี้ หลังจำคุกเฉียดปีไม่ได้ประกัน ข้อหาหมิ่นเจิมศักดิ์และพวก


วันนี้ ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษาคดี สอาด จันทร์ดี สื่อมวลชนอาวุโส  หลังศาลชั้นต้นลง 11 ปี เหตุสารภาพลดกึ่งหนึ่งแต่ให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา ชายแก่วัย 79 ปี ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท/พรบ.คอมพ์ เจิมศักดิ์และพวก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
เหตุเกิดเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2554 เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการ ผู้จัดรายการโทรทัศน์ และ อดีต ส.ว.  ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี  สะอาด จันทร์ดี วัย 78 ปี นักข่าว นักเขียน คอลัมนิสต์อาวุโส ว่าได้เขียนบทความ "มหากาพย์การเมือง" ชุด : เปิดห้องมืด ลับ ลวง พราง" ซึ่งเผยแพร่ทาง เว็บไซต์ พีเพิลแชนแนล (PEOPLECHANNEL NEWS ONLINE) จำนวน 12 ตอน ระหว่างวันที่ 16 เมษายน - 17 พฤษภาคม 2554  ว่าเนื้อหาในบทความได้ กล่าวหาใส่ร้าย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และพวก ทำนองว่า เป็นตัวการ และจงใจช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550  โดยได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายในหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ขึ้นครองราชย์  โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14,15
11 กันยายน 2557 ผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า
"ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 11 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้ 5 ปี 6 เดือน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยได้สร้างเรื่องขึ้นโดยพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูงซึ่งประชาชนชาวไทยให้ความเคารพศรัทธาอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนส่วนมากเกลียดชังผู้เสียหาย ซ้ำจำเลยยังกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ารวม 11 ครั้ง โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น นับเป็นเรื่องร้ายแรง การที่จำเลยลงขอขมาผู้เสียหายก็หาทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นระงับสิ้นไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ"
จากนั้น สอาด จันทร์ดี  คอลัมนิสต์อาวุโสจึงได้ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2557 โดยไม่ได้รับการประกันตัว จนปัจจุบัน ชายวัย 79 ปี ถูกขังอยู่ในเรือนจำแล้ว 10 เดือน  25 วัน
เกี่ยวกับจำเลย จากปากคำของผู้เป็นบุตรสาว สอาด จันทร์ดี อายุ 79 ปี เคยเป็นผู้สื่อข่าว นสพ.เดลิมิเรอร์ บ้านเมือง ไทยรัฐ ฟ้าเมืองไทย ฟ้าอาชีพ  เคยเขียนนวนิยายเจ้าพ่อกรรมกร ซึ่ง พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง เคยเอามาทำเป็นภาพยนต์ สอาด มีปัญหาสุขภาพ มีอาการความดันสูงเป็นเบาหวานและงูสวัด

หนักสุดเป็นประวัติการณ์ จำคุก 60 ปี 'พงษ์ศักดิ์' รับสารภาพเหลือ 30 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊กผิด 112


จำคุก 60 ปี ! คดี 112 'พงษ์ศักดิ์' หรือ Sam Parr รับสารภาพเหลือครึ่งหนึ่ง จำคุก 30 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ
7 ส.ค. 2558 ศาลทหารสั่งพิพากษาจำคุก พงษ์ศักดิ์ หรือผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Sam Parr เป็นเวลา 60 ปีจากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ (6 กรรม) ตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่สูงที่สุดที่เคยมีมา
สำหรับ พงษ์ศักดิ์ อายุ 40 กว่าปี มีอาชีพเป็นไกด์ เคยใช้ชีวิตทำธุรกิจอยู่ต่างประเทศพักหนึ่ง เขาระบุว่าเขาเคยเป็น “สลิ่มตัวแม่” และเริ่มหันมาสนใจการเมืองจริงจังหลังเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากนั้นก็ศึกษาเรื่องการเมืองเองจากอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งกลับเมืองไทยก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย เขาใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Sam Parr
ภายหลังรัฐประหาร พงษ์ศักดิ์มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของ คสช. ฉบับที่ 58/2557 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557 แต่ปรากฏว่า พงษ์ศักดิ์ไม่ได้เดินทางไปรายงานตัว ภายหลังต่อมาจึงถูกจับกุมในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่สถานีขนส่งพิษณุโลกและถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพจำนวน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ศาลทหารเชียงใหม่ สั่งจำคุก 28 ปี พนง.โรงแรม โพสต์เฟซบุ๊ก 7 ข้อความผิด 112


หลังจากที่ทนายความยื่นประกันไม่ได้ถึง 3 ครั้ง จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอกลับคำให้การเดิม โดยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ไม่ขอสู้คดี ศาลระบุจำเลยผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ และ  ม.112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี สาวลูกสองปล่อยโฮหลังทราบคำตัดสิน 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันนี้ (7 สิงหาคม 2558) ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ นัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่นางศศิวิมล (ขอสงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557
ก่อนหน้านี้จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาไว้ในเดือน มิ.ย.58 ก่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในเดือนถัดมา แล้วจึงเริ่มนัดสืบพยานโจทก์ แต่ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาล ขอกลับคำให้การเดิม โดยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ไม่ขอต่อสู้คดีอีก และได้ยื่นคำร้องประกอบขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกไว้
เนื่องจากเรือนจำได้นำตัวผู้ต้องหามาศาลช้า ทำให้ศาลได้ขึ้นพิจารณาคดีในช่วงบ่าย เมื่อศาลได้รับคำร้องขอกลับคำให้การ จึงได้ให้งดการสืบพยานโจทก์เอาไว้ และได้อ่านคำพิพากษาในทันที โดยศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี
ส่วนคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลเห็นว่าความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพสักการะ การกระทำของจำเลยจึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
สำหรับศศิวิมล ถูกดำเนินคดีจากการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘เฟซบุ๊กเชียงใหม่’ ต่อบัญชีเฟซบุ๊กชื่อรุ่งนภา คำภิชัย ในความผิดตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2557 (รายงานข่าวโดยผู้จัดการออนไลน์) โดยศศิวิมลให้ข้อมูลว่าราวปลายเดือนกันยายน 2557 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นไปที่บ้านและมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือจากบ้านของเธอไปตรวจสอบ
จนเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558 เธอได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร และนำตัวไปควบคุมยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทันที โดยญาติได้เช่าหลักทรัพย์จำนวน 400,000 บาท เพื่อยื่นขอประกันตัวรวม 3 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยมีทนายความที่ญาติจำเลยว่าจ้างเข้าช่วยเหลือในคดีนี้
ศศิวิมล อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีลูกสาวสองคน อายุ 7 และ 5 ปี ตามลำดับ โดยเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มใดๆ มาก่อน
ภายหลังทราบคำพิพากษา จำเลยได้ร้องไห้โฮออกมาในบริเวณศาล ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของครอบครัว โดยลูกสาวทั้งสองคนได้เดินทางมาที่ศาลในวันนี้ด้วย