วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อำนวยยัน ฉีกตั๋วหนังก็มีความผิด




              คืนความสุข - คสช.พร้อมด้วยทีมงานนักแสดงหนังนเรศวร ภาค 5 ตอนยุทธหัตถี จัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนในชาติ โดยมีประชาชนมาร่วมงานกันคึกคัก ที่บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.

            วอยซ์ทีวีคืนจอ-เที่ยงวันนี้ ปล่อยจิตรา-ขัง"ทอม ดันดี" ตร.สอบบึ้มแยกพระราม9 ชี้ไม่เกี่ยวยกเลิกเคอร์ฟิว 

ส่งศาล
            ตร.คุมตัวน.ส.จิตรา คชเดช นักต่อสู้เพื่อแรงงานสตรี เจ้าของป้าย "ดีแต่พูด" ส่งฝากขังศาลทหาร ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ก่อนได้ประกันตัว ส่วนทอม ดันดี ถูกส่งไปยัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.

คสช.คืนจอให้ "วอยซ์ทีวี"
         หลังปรับผังรายการใหม่ เข้มจับกุมแก๊งทำลายป่า โต้ข่าวลือสั่งกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ส่วนจะประกาศเคอร์ฟิวอีกหรือไม่ ต้องดูเป็นรายพื้นที่ "บัวแก้ว"ร่อนคำแปลแจงทั่วโลก "วัชรพล"ยัน ตำรวจพร้อมดูแลสถานการณ์ ชี้บึ้มแยกพระราม 9 ไม่เกี่ยวเลิกเคอร์ฟิว "อำนวย"เตือน อย่าฉีกทำลายตั๋วหนัง"นเรศวร" ย้ำอีกห้ามชู 3 นิ้วหน้าร้านเซเว่นฯ "กัมปนาท"ขอตำรวจช่วยงานสร้างปรองดอง ศาลทหารปล่อยตัว"จิตรา คชเดช" แต่ให้ฝากขัง "ทอม ดันดี"


หมายจับ 17 รายไม่รายงานตัว

            วันที่ 14 มิ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายทหารพระธรรมนูญได้ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบ สวน บก.ป.เพื่อพิจารณาออกหมายจับบุคคลที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เรียกให้เข้ารายงานตัวตามกำหนดแต่ยังไม่เข้ารายงานตัว รวม 17 ราย ไม่ใช่ 21 รายตามที่มีข่าวออกไป

ประกอบด้วย
  • 1.สุนัย จุลพงศธร คำสั่ง คสช.ที่ 53 /2557, 
  • 2.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 3.นายธีร์ บริรักษ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 4.นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 5.น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 6.นายชัยอนันต์ ไผ่สีทอง คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 7.นายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข คำสั่ง คสช.ที่ 53/2557, 
  • 8.นางดารุณี กฤตบุญญาลัย คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 9.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 10.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557
  • 11.นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 12.นาวาอากาศตรีชนินทร์ คล้ายคลึง คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 13.นิธิวัต วรรณศิริ คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 14.นายศรัณย์ ฉุยฉาย คำสั่ง คสช.57/2557, 
  • 15.นายไตรรงค์ สินสืบผล คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557, 
  • 16.นายชฤต โยนกนาคพันธุ์ คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 และ 
  • 17.นายวัฒน์ วรรลยางกูร คำสั่ง คสช.ที่ 57/2557

สำหรับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวต่อคสช. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นำตัว"ทอม-จิตรา"ขึ้นศาลทหาร


             เวลา 10.30 น. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. เดินทางมาที่ บก.ป.เพื่อประสานกับ พ.ต.อ. ประสพโชค พร้อมมูล รองผบก.ป. เบิกตัวผู้ต้องหารวม 4 คน ประกอบด้วย 1.นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ พันทิวา ภูมิประเทศ หรือ ทอม ดันดี นักร้องนักแสดงชื่อดัง 2.น.ส.จิตรา คชเดช เจ้าของถ้อยคำ "ดีแต่พูด" อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมฯ ทั้ง 2 คนเป็นผู้ต้องหาไม่มารายงานตัวตามหมายเรียกของ คสช. 3.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ 4. นายสุรสิทธิ์ ม่วงศิริ ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เพื่อเดินทางไปฟ้องศาลทหารกรุงเทพ

           ผู้สื่อข่าวถาม ทอม ดันดี ว่านอนห้องขังกองปราบฯ มา 2 คืน รู้สึกอย่างไร นายทอม ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า "นอนหลับสบายดี"  ระหว่างรอขึ้นรถ ทอม ดันดี ได้ชูนิ้วโป้งให้ช่างภาพถ่ายรูป ก่อนได้รับคำแนะนำให้ชูนิ้ว 3 นิ้ว (โป้ง ชี้ ก้อย) สัญลักษณ์ฉันรักเธอ แบบเดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ชูให้สื่อมวลชนถ่ายภาพเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนต่างก็ยินดีทำตามแต่โดยดี

ยันไม่เคยคิดหลบหนี

            เวลา 11.00 น. ที่ศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ พ.ต.อ.ประสพโชค คุมตัว ทอม ดันดี ขออำนาจฝากขัง ผลัดแรก 12 วัน เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องรอผลตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบประวัติอาชญากร รวมถึงหาพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานเพิ่ม

          ทอม ดันดี กล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดหลบหนี เป็นความผิดพลาดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถเข้ารายงานตัวต่อ คสช.ได้ และวันนี้เตรียมยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 หมื่นบาท ระหว่างถูกคุมตัวเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นอย่างดี ขอฝากไปยังพี่น้องทั้งประเทศว่าระหว่างความโกรธกับความรัก ตนขอให้เลือกความรักจะปลอดภัยกว่ากันเยอะ และหลังจากนี้ตนอยากรวมตัวศิลปินจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทางราชการเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ร่วมแรงร่วมใจปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อและร่วมกันสร้างชาติ

           ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนกองปราบปรามคุมตัวน.ส.จิตรา ผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวของคสช.มาขออำนาจศาลทหาร ฝากขังผลัดแรก 12 วันเช่นกัน

           น.ส.จิตรา กล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดหลบหนีการเข้ารายงานตัวต่อคสช. และเตรียมหลักทรัพย์ขอประกันตัวเป็นเงินสด 2 หมื่นบาท


ทั้ง ทอม ดันดี และน.ส.จิตรา ได้ชู 3 นิ้ว สัญลักษณ์ฉันรักคุณ ก่อนเดินเข้าไปในศาล


จิตราได้ประกัน-ฝากขังทอม

            เวลา 14.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทอม ดันดี และน.ส.จิตรา ผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. ถึง 25 มิ.ย. ตามที่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยื่นคำร้อง เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องรอผลตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา รวมถึงหาพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานเพิ่มเติมในคดีของนายทอม ดันดี 2 ปาก ส่วนคดีน.ส.จิตรา อีก 1 ปาก โดยทั้งสองไม่คัดค้านคำร้องฝากขัง ศาลพิจารณาคำร้องฝากขังแล้วเห็นคดีมีมูลว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำผิดอาญา ประกอบกับพนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำเพิ่มเติม จึงอนุญาตให้ฝากขังไว้

            ส่วนที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเบิกตัว ทอม ดันดี ไปสอบปากคำเพิ่มเติมในวันนี้ (14 มิ.ย.) ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมได้ และให้ส่งตัวก่อนเวลา 19.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนน.ส.จิตรา ให้นำตัวฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

            การพิจารณาครั้งนี้ศาลอนุญาตให้สื่อมวล ชนเข้าฟังด้วยแต่ห้ามถ่ายภาพ บันทึกเสียง ห้ามจด และในเวลา 14.40 น. นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. ได้เดินทางมายังศาลทหารเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาด้วย

         น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายของน.ส.จิตรา เผยว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ศาลอนุมัติให้น.ส.จิตรา ประกันตัวในวงเงิน 2 หมื่นบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้ใช้วาจาปลุกระดม และต้องมารายงานตัว เบื้องต้นกำหนดไว้ 2 วัน คือ วันที่ 19 มิ.ย. และ 25 มิ.ย. โดยจะปล่อยตัวที่เรือนจำช่วงค่ำ ส่วน ทอม ดันดี ศาลไม่ให้ประกัน เนื่องจากเป็นการจับกุมตัวและเกรงจะหลบหนี

ตร.จัดสัมมนาสร้างปรองดอง

           เวลา 13.10 น. ที่ห้องเพลนเนอรี่ 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คณะกรรมการติดตามและบริหารงานตำรวจ กต.ตร.กทม. และกต.ตร.สน. จัดโครงการสัมมนาการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และความร่วมมือป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มี พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. เป็นประธาน ร่วมด้วยพล.ต.อ.เอก อังสนานันท์ รอง ผบ.ตร. พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลกว่า 1,000 นาย เข้าร่วมการสัมมนา มีการเปิดวีดิทัศน์ภารกิจของ กต.ตร. และบรรเลงดนตรีของวงดุริยางค์ตำรวจด้วย

           ก่อนเริ่มสัมมนา พล.ต.อ.วัชรพลให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการประชุมของส่วนราชการ โดย กต.ตร.กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ได้เชิญหน่วยงานของทหารมาพูดคุยร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานในการสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาอาชญากรรม เพราะลำพังเพียงกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้งหมด

"กัมปนาท"ให้ช่วยชี้แจงชาวบ้าน

            พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผอ.ศปป. กล่าวว่า ที่ตนมาร่วมงานครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเป็นหลัก โดยนำนโยบายของ คสช.มาปรับใช้เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเชื่อว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะให้การตอบรับมากขึ้น เมื่อถามว่าการสร้างความปรองดองจะใช้ระยะเวลาเท่าไร พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า คสช.มีโรดแม็ปเป็นอย่างดี ช่วงแรกจะเป็นการควบคุมสถานการณ์ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ขณะนี้ได้เดินหน้าเป็นรูปธรรมทุกจังหวัดแล้ว และจะทำงานต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะสงบ

            เวลา 13.30 น. พล.ท.กัมปนาทกล่าวในการสัมมนาหัวข้อ "การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า ตำรวจทุกนายถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชน ประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจต่อการยึดอำนาจการปกครองโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชน ทั้งที่อีกเพียง 5 เดือน พล.อ. ประยุทธ์จะเกษียณ หากอยากสบายก็นับเวลาถอยหลังแล้ว แต่ตอนนี้ผบ.ทบ.ไม่ได้สบายเพราะต้องแบกภาระของประเทศเอาไว้ รวมถึงชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อแผนโรดแม็ปประเทศ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ที่ต้องใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย และจัดระเบียบปัญหาที่สะสมมานาน รวมถึงสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ขอความร่วมมือจากตำรวจในการร่วมทำบรรยากาศของประเทศให้มีความรักและเอื้ออาทรต่อกัน รวมถึงสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศ

ยันปรองดอง-ไม่นิรโทษกรรม

            พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า คสช.เข้ามาควบ คุมอำนาจการบริหารประเทศ โดยเเบ่งเป็น 3 ส่วน คือ รักษาความสงบเรียบร้อย บริหารราชการเเผ่นดิน เเละการสร้างความปรองดอง ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนพิเศษ โดยศปป.ที่ตนเป็นผอ.จะมีหน้าที่ดูเเลเรื่องการปฏิรูปเเละการปรองดอง เพื่อจะนำไปสู่สภาปฏิรูป หลายคนถามว่าศูนย์ปรองดองคืออะไรและมีคนถามว่าทะเลาะกันมา 10 กว่าปีจะปรอง ดองสำเร็จหรือไม่ ตนก็ตอบไม่ได้เพราะความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับทุกคน

            พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ยืนยันว่า ศปป.ไม่ใช่คู่ขัดเเย้งแต่สามารถพูดคุยได้กับทุกกลุ่ม ไม่มีหน้าที่ชี้ผิด ชี้ถูกใคร และจะไม่มีการนำไปสู่นิรโทษกรรมอย่างที่หลายคนพูด ตนได้กำหนดเเนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยจะให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เริ่มจากข้าราชการพลเรือน ตำรวจเเละทหาร ซึ่งทหารจะไม่ได้เป็นพระเอกในเรื่องนี้แต่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดว่าจะบูรณาการเเนวทางอย่างไร ให้ประชาชนในจังหวัดเกิดความสามัคคีสมานฉันท์ ขณะที่ศูนย์ปรองดองฯ จะมีหน้าที่รวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย เเละช่วยจัดกิจกรรมเพื่อพบปะคลายความขัดเเย้ง จากนั้นจะนำข้อมูลไปใส่กล่องเเละให้คณะกรรมการปฏิรูปที่จะตั้งขึ้นได้ดำเนินการ

          พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ประเทศไทยไม่สามารถปิดประเทศได้ เราต้องมีเพื่อน ต้องไม่ทะเลาะกับประเทศอื่น แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเเรงกับเรา เเละสื่อมวลชนมีการนำประเด็นนี้มายั่วยุก็ต้องเรียกมาเพื่อปรับความเข้าใจ เราอย่าไปเชื่อตะวันตกมากเกินไปต้องเป็นตัวของตัวเอง ยกตัวอย่างอย่างประเทศจีนก็มีวิถีขนบธรรมเนียมของเอเชีย เราเป็นคนไทยต้องมีสติปัญญาของตนเองอย่าให้ตะวันตกมาครอบงำเเละล้างสมอง

ยันตร.พร้อมคุมสถานการณ์


            พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุระเบิดที่แยกพระราม 9 เมื่อคืนวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนดูร่องรอยต่างๆ และตรวจสอบภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นการเชื่อมโยงเหตุ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบนานเท่าไรจึงจะสรุปและรายงานสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเหตุ การณ์ที่เชื่อมโยงประเด็นทางการเมืองหรือไม่ แม้ระเบิดอาร์จีดี 5 ที่ใช้ก่อเหตุจะพบได้บ่อยในช่วงการชุมนุมทางการเมือง ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุอาชญากรรมปกติในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มักจะมีปัญหา

          รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า สถานการณ์หลังจาก คสช.ยกเลิกประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว สถานการณ์ยังคงมีความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังพร้อมจะดูแลและมีแผนในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงการเฝ้าระวังบางจุด โดยไม่ต้องปรับกำลังเจ้าหน้าที่หรือปรับแผนแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นจะต้องทบทวนการประกาศเคอร์ฟิวอีกครั้งหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คสช. แต่ส่วนตัวเห็นว่าขณะนี้เหตุการณ์คงยังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนของ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมั่นใจว่าสามารถดูแลสถานการณ์ได้

ตามจับโพสต์ 3 นิ้วลงธนบัตร

            ที่บก.ป. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการรอง ผบช.น.เปิดเผยถึงกรณีมีผู้โพสต์รูปภาพการพิมพ์สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วต่อต้านรัฐประหารลงบนธนบัตรชนิดต่างๆ ว่า ผู้ที่ทำจะมีความผิดตามพ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 48 คือเมื่อธนบัตรถูกกระทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น ธนบัตรใบละ 1,000 บาท เมื่อประทับตราสัญลักษณ์ลงไปอาจเป็นธนบัตร 100 บาท ซึ่งถือว่าเงินชำรุดไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ สำหรับผู้ที่ได้ธนบัตรเหล่านี้ไปแล้วร้านค้าไม่ยอมรับชำระสามารถนำธนบัตรไปแลกได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่จะออกธนบัตรให้ใหม่เท่าจำนวนธนบัตรที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามบนธนบัตรมีรูปประมุขของประเทศเพราะฉะนั้นผู้ที่กระทำไม่สมควรอย่างยิ่ง ตนจะติดตามสืบสวนหา ผู้ที่กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป

ฉีกตั๋วหนังนเรศวรมีความผิด

            พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า กรณีมีผู้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กนัดแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ที่เซเว่นอีเลฟเว่น ในวันที่ 14 มิ.ย.นั้นยืนยันว่ามีความผิด แม้จะไม่ได้รวมกลุ่มกันถึง 5 คน แบ่งกันยืนตามเซเว่นฯ ที่ละ 2-4 คน แต่บุคคลเหล่านั้นมีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้น มีการตกลงใจร่วมกันที่จะทำสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ กรณีมีบุคคลโพสต์ว่าจะไปนั่งดูหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรฟรี ในวันที่ 15 มิ.ย. แล้วออกมาฉีกตั๋ว และแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารหน้าโรงหนัง ฝากบอกว่าคนที่อยากดูก็มีมากอย่าไปใช้สิทธิ์โดยไปขวางสิทธิ์ของคนอื่น และเจ้าหน้าที่ทหารกับตำรวจได้เตรียมกล้องวงจรปิดคอยบันทึกภาพผู้ที่กระทำผิดแล้ว ถ้ามีการแสดงสัญลักษณ์ชุมนุมทางการเมืองลักษณะดังกล่าวก็จะจับกุมมาดำเนินการตามกฎหมายทันที

             ที่ จ.เชียงใหม่ เวลา 16.00 น. ทหารร่วมกับตำรวจ ภาค 5 ส่งกำลังไปยืนเฝ้าที่ห้างเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่ว จ.เชียงใหม่ จุดละ 1 นาย และต่างอำเภอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจแต่ละโรงพักออกตรวจตราและประสานกับพนักงานขายเซเว่นฯ พบเห็นกลุ่มแสดงสัญลักษณ์ให้รีบแจ้ง ซึ่งเหตุการณ์ปกติ ไม่พบกลุ่มที่มาแสดงสัณลักษณ์แต่อย่างใด

คสช.ให้"วอยซ์ทีวี"ออกอากาศ

           เมื่อเวลา 20.30 น. คสช.มีประกาศที่ 65/2557 เรื่อง การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและระบบผ่านดาวเทียม เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเข้าสูภาวะปกติ จึงให้ 1.สถานีโทรทัศน์ออกอากาศรายการประจำได้ตามปกติ (1) สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (2) สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 23/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 คือห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้าน คสช.

          โดยหลังมีคำประกาศ วอยซ์ทีวีแจ้งผ่านหน้าจอว่าจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 15 มิ.ย. เวลา 12.00 น.

              ประกาศฉบับที่ 66/2557 เรื่อง การออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ออกอากาศรายการได้ตามปกติ เมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม แล้วแต่กรณี

เข้มคดีบุกรุกทำลายป่า

            คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก และกองทัพเรือ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า รวมทั้งผู้สมคบและสนับสนุนให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่

            รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควบคุม ตรวจสอบ กิจการแปรรูปไม้ การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ การค้าไม้แปรรูป ตลอดจนการค้าไม้หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามและสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้หวงห้าม หากพบมีการปล่อยปละละเลยหรือมีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย ให้ดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาดกับเจ้าของหรือผู้ประกอบการโดยทันที และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามผลคดีป่าไม้และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย โดยประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนและองค์กรชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดปล่อยปละละเลย หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดตามผลการดำเนินการ และรายงานผลให้ คสช.ทราบอย่างต่อเนื่อง

บัวแก้วแปลประกาศเลิกเคอร์ฟิว

             นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศภายหลังการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้แปลประกาศฉบับดังกล่าวส่งเป็นหนังสือเวียนไปยังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกแล้ว พร้อมขอให้หน่วยงานดังกล่าวติดตามท่าทีของแต่ละประเทศและรายงานกลับมา โดยเฉพาะการปรับข้อความคำแนะนำและระดับของคำเตือนของแต่ละประเทศเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาประเทศไทย

              นายเสขกล่าวว่า เชื่อว่าพัฒนาการในเชิงบวกครั้งนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อีกทั้งยังสอดรับกับฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่จะมาถึงไม่นานนี้ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุมีแผนจะเชิญผู้ประกอบการสหรัฐอเมริกา ออสเตร เลีย และยุโรป มาหารือเพื่อเรียกความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน นายเสขกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้รับการประสานให้ดำเนินการใดๆ ต่อแผนดังกล่าว

ใช้เคอร์ฟิวดูที่สถานการณ์

             พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ทีมโฆษก คสช.ชี้แจงกรณี คสช.ยกเลิกเคอร์ฟิว ว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลายดีขึ้น ไม่ปรากฏเหตุความรุนแรง ประชาชนเริ่มมีความปลอดภัยมากขึ้น คงเหลือเพียงการลักลอบครอบครองอาวุธสงคราม ที่ยังพบอยู่ต่อเนื่องเป็นจำนวนมากซึ่งเจ้าหน้าที่คงต้องกวดขันด้วยความเข้มงวดต่อไป

             พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สถานการณ์ความสงบเรียบร้อยสามารถคงระดับได้ในลักษณะนี้ คสช.ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเคอร์ฟิวมาเสริมในการทำหน้าที่ แต่ถ้าไม่สามารถคงระดับเช่นนี้ไว้ได้คงต้องพิจารณากันอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เข้าใจ ต่อความจำเป็นในการใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงให้ความร่วมมือกับ คสช.เป็นอย่างดี

            ด้าน น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า การข่าวจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ประเมินสถาน การณ์เห็นว่าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ปรากฏมีความเคลื่อนไหวลักษณะต่อต้าน คสช.จึงต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีและผ่อนคลายให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว หากพื้นที่ใดมีการเคลื่อนไหว ที่กระทบต่อความมั่นคง คสช.อาจพิจารณากลับมาประกาศใช้ได้อีกเป็นรายพื้นที่ ขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกใช้ควบคุมทุกพื้นที่อยู่ และจะเน้นใช้กฎหมายปกติดำเนินการกับ ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ช่วงการประกาศเคอร์ฟิวสถิติการกระทำผิดกฎหมายเรื่องการจราจร การพนัน อาชญากรรม ลดลง จึงอยากให้ประชาชนนำสิ่งดีที่ปฏิบัติในช่วงประกาศเคอร์ฟิวมาใช้ต่อไป เพื่อสร้างบรรยากาศของเมืองให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

โต้ข่าวลือกวาดล้างต่างด้าว

             น.ส.ปถมาภรณ์กล่าวกรณีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศจำนวนมากในช่วงนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ทุกหน่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมายหรือข้อตกลง ส่วนสาเหตุที่ชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศมากในขณะนี้เพราะเป็นฤดูกาลทำการเกษตร จึงต้องกลับไปช่วยครอบครัว นอกจากนั้นจากข่าวลือการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวทำให้ผู้ประกอบการบางรายเกิดความกังวลจึงต้องส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศชั่วคราว ยืนยันว่าคณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ คสช.ตั้งขึ้นอยู่ระหว่างจัดระบบแรงงาน ยังไม่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กวาดล้างแรงงานต่างด้าวตามที่มีกระแสข่าว

เอพีตีข่าวเขมรผวา-แห่กลับบ้าน

           วันเดียวกัน เอพีรายงานว่า ชาวกัมพูชากว่า 8 หมื่นคน พากันเดินทางทยอยออกจากไทยกลับสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง เนื่อง จากมีข่าวลือว่าจะถูกปราบปรามโดย คสช.ที่เข้าควบคุมอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการตั้งแต่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

           รายงานอ้างแหล่งข่าวจากผู้ว่าฯ บันเตียเมียนเจยว่า ชาวกัมพูชากว่า 84,000 คน ทยอยเดินทางกลับกัมพูชาในเดือนมิ.ย.นี้ ผ่านทางจุดผ่านแดนที่อยู่ทางด้านตะวันตกของปอยเปต โดยมีชาวกัมพูชาเดินทางกลับเข้ามาถึง 4 หมื่นคน เมื่อ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา

           เอพีระบุว่า การอพยพครั้งใหญ่ของชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทยน่าจะมีสาเหตุมาจากแถลงการณ์ของ คสช.ที่ระบุว่า จะปราบปรามแรงงานเถื่อนและผู้ว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย โดยมีรายงานว่าแรงงานบางส่วนถูกไล่ออกจากงานและส่งกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ชาวกัมพูชาเชื่อว่าแรงงานกัมพูชาทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายกำลังถูกผลักดันกลับ นอกจากนี้ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดด้วยว่ามีแรงงานกัมพูชาบางรายถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยยิงเสียชีวิต

ไทยพร้อมรับกลับแรงงานถูกกม.

           ความเคลื่อนไหวกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุ ตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักเผยแพร่ข่าวทหารไทยกวาดล้างจับกุมแรงงานผิดกฎหมายชาวกัมพูชา รวมถึงการผลักดันส่งแรงงานกัมพูชากลับจำนวนมาก อีกทั้งยังมีรายงานข่าวการทุบตี ทำร้ายร่างกาย และทำลายเอกสารเดินทางของแรงงานกัมพูชาที่เข้าเมืองทั้งถูกและผิดกฎหมาย ภายหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกและการควบคุมอำนาจของ คสช.

           นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าเหตุดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือและยังไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาของข่าวได้ ข่าวลือดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้แก่แรงงานกัมพูชาและผู้ประกอบการชาวไทย จนทำให้มีแรงงานกัมพูชาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวนมากสมัครใจเข้ารายงานตัวต่อทางการไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วจึงร่วมกับกองกำลังบูรพาจัดหายานพาหนะส่งแรงงานเหล่านั้นกลับกัมพูชา การดำเนินการของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นการอำนวยความสะดวกเท่านั้น มิใช่การผลักดันแรงงานกัมพูชากลับแต่อย่างใด

           นายเสขกล่าวว่า หน่วยงานไทยตระหนักดีถึงความสําคัญของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องการให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและบูรณาการมากขึ้น รวมทั้งขจัดการแสวงหาผลประโยชน์จากการนําเข้าแรงงานผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานและการค้ามนุษย์

           ทั้งนี้ หากแรงงานกัมพูชาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เดินทางกลับไปยังกัมพูชาแล้ว และประสงค์จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก กระทรวงการต่างประเทศขอประชาสัมพันธ์ให้แรงงานดังกล่าวแสดงความจำนงผ่านกระบวนการจ้างแรงงานและเดินทางเข้ามาประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ถก 7 หน่วยงานแก้"ต่างด้าว"

            ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. รองหัวหน้าคสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงและประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวง อาทิ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผอ.สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเลขาธิการสภาพัฒน์ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายและนำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

           พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวมีความเกี่ยวพันกับทั้ง 7 กระทรวง กฎหมายมากกว่า 12 ฉบับ หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้ว นโยบายของหัวหน้า คสช.เน้นให้บูรณาการทำให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้การจัดการกับปัญหาแรงงานต่างด้าวซึ่งมีปัญหาสะสมมานานนับ 10 ปี โดยต้อง บูรณาการงานของกระทรวงต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางและหลักการเดียวกันให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นหลักการเดียวกัน โดยยึดหลักมนุษยธรรมและเป็นไปตามหลักสากล เกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับแรงงานต่างด้าวอย่างทั่วถึงและถูกหลักสุขอนามัย

เร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์

             พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือการแก้ปัญหาแรงงานเด็ก หรือการดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การค้ามนุษย์ เราจะดำเนินการอย่างจริงจังและออกกฎ กติกาที่จะให้มีการควบคุม ตรวจจับได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามหลักสากล สำหรับการดำเนินการเรื่องอื่นๆ กำลังพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม เป็นธรรม จะทยอยออกมาระหว่างที่เรากำลังพิจารณามาตรการที่เหมาะสมก็ขอให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ควบคุม ดูแลคนของตนเองหรือคนที่เป็นแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อยและมีความเหมาะสม

            "สำหรับเรื่องคดีความต่างๆ ที่มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง นายหน้าต่างๆ เราจะดำเนินการอย่างจริงจัง และคดีความที่ยังคั่งค้างเราจะสะสางและรีบดำเนินการให้เห็นผลในทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเป็นธรรมตามหลักสากล" พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว

           พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการด้านอื่นๆ ในภาพรวมจะค่อยๆ ออกมา การออกมานี้จะต้องเป็นไปตามหลักสากลและมนุษยธรรม และเป็นเรื่องที่ไม่น่าตกใจ เมื่อทำแล้วเป็นเหตุเป็นผล สมกับความเป็นจริง และการดำเนินการชีวิตประจำวัน ขอให้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวดำเนินการไปตามปกติและดูแลแรงงานให้อยู่ในความเรียบร้อย ที่สำคัญจะต้องส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป

ลงนามรับรองพิธีสารแรงงานใหม่

            นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา กล่าวว่า คณะผู้แทนแรงงานของไทยแจ้งต่อการประชุมองค์การแรงงานสากล (ไอแอลโอ) ว่าหลังได้หารือกันแล้วประเทศไทยเห็นสมควรให้การรับรอง "พิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน" ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งจะมีผลให้ไทยต้องปฏิบัติเงื่อนไขต่างๆ ในพิธีสารดังกล่าวเท่าที่ขอบเขตกฎหมายไทยให้ทำได้

           นายธานีกล่าวว่า เดิมทีในการประชุมเมี่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ผู้แทนไทยได้ลงมติรับรองข้อแนะนำ (recommendation) แต่ไม่ลงมติรับรองพิธีสาร เนื่องจากมีภาระในการให้สัตยาบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานและผู้แทนแรงงานของไทยเห็นว่าไทยยังไม่มีความพร้อมและการรับรองข้อแนะนำไม่มีภาระผูกพัน แต่ไทยสามารถปฏิบัติตามได้เท่าที่กรอบกฎหมายของไทยเอื้ออำนวย แต่เมื่อได้มีการลงมติแล้วไทยเห็นความจำเป็นว่าจะต้องทบทวนและกระทรวงแรงงานก็เห็นสมควรว่าต้องทบทวน เพราะไม่ต้องการส่งสัญญาณที่ผิดต่อชุมชนนานาชาติในเรื่องนี้

         เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติระบุว่า คณะผู้แทนไทยแจ้งให้ที่ประชุมองค์การแรงงานสากลรับทราบอีกครั้งหนึ่งแล้วในการประชุมวันต่อมาถึงท่าทีซึ่งได้มีการทบทวนเพื่อให้การรับรองพิธีสาร และกระทรวงแรงงานจะได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงผู้อำนวยการอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันท่าทีดังกล่าว

แจงข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น

           ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดฯ ต่างประเทศ เผยหลังเข้าพบหารือกับนางนาวาเนเธ็ม พิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ค่ำวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ว่า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อห่วงกังวลของทางยูเอ็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลและเสรีภาพของประชาชนว่าได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แจ้งกับข้าหลวงใหญ่ว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ไม่มีใครถูกคุมตัวนานเกิน 7 วัน และล่าสุดส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว อีกทั้งการควบคุมตัวไม่ได้เป็นลักษณะของการคุมขังอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่เป็นการเชิญตัวมาพบเพื่อพูดคุยขอให้ทุกฝ่ายได้สงบลง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ยูเอ็นเอชซีอาร์มีหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย และมีแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกิจกรรมต่างๆ จำนวนถึง 440 คน อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งยกเลิกมาตรการใดๆ ที่เป็นการละเมิด หรือจำกัดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานด้วย

คาดยูเอ็นทำหนังสือถึงปธ.คสช.
            นายสีหศักดิ์เผยว่า ตนบอกกับนางพิลเล่ถึงสถานการณ์ล่าสุดที่มีการยกเลิกเคอร์ฟิวไปแล้วทำให้เสรีภาพของประชาชนได้รับการฟื้นฟูมากขึ้น ส่วนเสรีภาพด้านอื่นๆ เช่นของสื่อมวลชนนั้นปรากฏชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพมาก นักและภายหลังจากได้อนุญาตให้เปิดสถานี โทรทัศน์จำนวนหนึ่งแล้ว เสรีภาพสื่อ มวลชนโดยทั่วไปก็ดีขึ้น สามารถรายงานข่าวได้อย่างเสรี โดยเฉพาะสื่อมวลชนต่างประเทศนั้นสามารถเดินทางทำข่าวได้ทั่วประเทศโดยไม่มีข้อจำกัด

             นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ทางเราได้ขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์และการดำเนินงานของฝ่ายไทย จะทำให้ได้เห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังได้เข้าพบชี้แจงทำความเข้าใจครั้งนี้แล้วคาดว่าข้าหลวงใหญ่ฯ จะได้มีหนังสือไปยังประธาน คสช.อีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงถึงความรับรู้ต่อพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

              ปลัดฯ ต่างประเทศกล่าวย้ำว่า การเข้าชี้แจงครั้งนี้เป็นไปโดยความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ข้าหลวงใหญ่ฯ ยินดีรับฟังข้อมูลจากฝ่ายไทย และการแสดงความกังวลก็อยู่ในขอบเขตในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

"อุดมเดช"นำชมพระนเรศวร

             เวลา 16.00 น. ที่ลานพาร์กพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน คสช.ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและคณะผู้สร้างภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี จัดกิจกรรม "คืนความสุขให้คนในชาติ" เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมกิจกรรมภายในงาน ทั้งชมการแสดงดนตรีจากวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ และนักร้องชื่อดัง อาทิ จอห์น รัตนเวโรจน์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม การสาธิตปั้นดินเผาเกาะเกร็ด การแสดงตลกจากคณะสภาโจ๊ก และถ่ายรูปกับนักแสดงนำและทีมงานนักแสดงภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมและผู้ที่สัญจรไปมาอย่างคึกคัก รวมทั้งข้าราชการระดับสูง อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาชมกิจกรรมเช่นกัน

            เวลา 17.00 น. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการ คสช. เป็นประธานเปิดงานและชมการร้องเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย จากตัวแทนนักเรียน จากนั้น พล.อ.อุดมเดชนำคณะนายทหาร ข้าราชการ ภาคเอกชน และทีมนักแสดงนำจากภาพยนตร์และผู้สื่อข่าวชมภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี" ที่โรงภาพยนต์สยามภาวลัย รอยัล แกรนเธียเตอร์ โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ

            สำหรับการจัดกิจกรรมคืนความสุขของหน่วยงานรัฐยังดำเนินการเป็นระยะโดยวันที่ 15 มิ.ย.นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองพลทหารม้าที่ 2 รอ. และกทม.ร่วมจัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนไทยที่สวนลุมพินี ในงานมีการจัดแสดงดนตรีจากกองดุริยางค์ตำรวจ การแสดงจากนักร้อง ศิลปิน ดารา ประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 เป็นต้นไป

ปปช.ชงกม.ไต่สวนเอกชน

            ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จ.พิษณุโลก นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายของป.ป.ช.เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ก่อนนำเสนอ คสช.ว่า สรุปได้หลายประเด็นแล้ว ส่วนที่ยังติดค้างอยู่ อาทิ การให้อำนาจป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนเอกชน ไม่ใช่เฉพาะแค่นักการเมืองหรือข้าราชการ การให้เอกชนต้องร่วมรับผิดด้วยในกรณีของการทุจริตหากมีส่วนเข้าไปร่วมหรือสนับสนุนในการทุจริตนั้น ซึ่งในต่างประเทศผู้บริหารของบริษัทเอกชนจะต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเท่านั้น

              นายวิชากล่าวว่า ตนไปประชุมที่สหประชาชาติ เขาถือเป็นกฎหมายที่สำคัญมากของโลกในอนาคต ไม่เช่นนั้นบริษัทเอกชนที่ไปให้สินบนกับข้าราชการระดับสูง เจ้าของบริษัทจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ทำแต่ตัวเองไม่รับรู้ไม่ได้ กฎหมายใหม่ของโลกโดยเฉพาะอังกฤษจะให้ผู้บริหารพิสูจน์ว่าได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอและหาแนวทางป้องกันแล้วหรือไม่ รวมทั้งได้เป็นคนสั่งการให้มีการให้สินบนหรือไม่

            นายวิชากล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายป.ป.ช.ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมี 2 ทางคือ ผ่านช่องทางการปฏิรูป แต่หากรวดเร็ว คสช.และรัฐบาลชุดใหม่เห็นด้วย อาจยื่นขอแก้ไขกฎหมายไปที่สภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะตั้งขึ้น

"2557 ทหารไทย..พ่อของทุกสถาบัน"





    เบื้องต้น : ต้องขออภัยผู้อ่านเป็นปฐมที่การใช้ภาษาของบทความนี้อาจหยาบ

    เบื้องต่อมา : ต้องขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าตัวเอกของบทความนี้คือทหารที่ทำตัวเป็นเจ้าพ่อ
การใช้ภาษาจึงต้องกร่างและกักขฬะ เข้ากับบุคคลิกของเจ้าพ่อทหารไทยยุคใหม่

    เบื้องสุดท้ายก่อนเข้าเรื่อง : ขอให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันว่าทหารไทย "กร่างแต่ปาก" ความจริงปอดแหกและกลัวจนขี้ขึ้นสมอง ทหารไทยไม่ใช่นักเลงจริง แต่เป็นอันธพาลชั้นเลว มีพฤติกรรมเถื่อนชอบข่มขู่และอยู่กันเป็นครอก คล้าย "พวกหัวไม้ปากซอย" ถ้าไม่ยกโขยงกันมาเป็นฝูงหรือมีอาวุธติดมือมาด้วยพวกมันก็ "หน้าซีดปากสั่น" กรอกหน้า ส่ายตาร็อกแร็กมองซ้าย มองขวาหาตัวช่วยก็เท่านั้น แต่ตัวช่วยพวกมันใหญ่ มีทั้งนายทุนผูกขาด
นักการเมืองลากตั้ง ขบวนการศาลไทย องค์กรอิสระ นักวิชาการใฝ่ต่ำ พรรคการเมืองเลว
และบรรดาอำมาตย์หวงอำนาจ จิตใจอำมหิต ล้วนเป็นตัวช่วยของพวกมันทั้งสิ้น

             อารัมภบทมายืดยาวแต่เรื่องมีอยู่ว่า  ณ ปัจจุบันในปี 2557 ประเทศไทยมีกี่สถาบันไม่สำคัญ พวกกูทหารไทยไม่สนใจ  แต่พวกมึงจงจำไว้ให้ขึ้นใจเพียงเรื่องเดียวก็พอว่า พ่อของทุกสถาบันคือทหารไทย "พวกมึงเข้าใจใช่ไหมคำว่าทุกสถาบัน" คือไม่เว้นแม้แต่สถาบันเดียว ไม่ว่าสถาบันไหน  พวกมึงไปถามสำนักราชเลขาฯ หรือศาลหาคำตอบเอาเองก็ได้ว่าพวกกูเจ๋งแค่ไหนและเป็นจริงหรือไม่ ว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารสมัย "สนธิ บัง" ทั้งสำนักราชเลขาฯ และศาลไทยมีความเห็นตรงกันว่า "มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าพระบรมราชโองการ" เพราะคณะรัฐประหารเป็น "องค์รัฏฐาธิปัตย์" พวกมึงเข้าใจไหม และพวกมึงจงจำใส่หัวไว้ให้แม่นว่ารัฏฐาธิปัตย์ "สมัยฮิตเหล่" เหี้ยมและโหดกว่าสมัย "สนธิ บัง" หลายเท่า



            พวกกูไม่ต้องการได้ยินใครพูดว่า 2499 อันธพาลครองเมือง เพราะวลีนั้นมันหยามหน้ากันเกินไป  พวกกูเก๋ากว่าพวกมันเยอะ พวกมันแค่ครองเมือง กระจอกว่ะขอบอก อันธพาล 2499 กระจอกมากว่ะ พวกกูเจ๋งกว่าพวกมันราวฟ้ากับดิน แค่ใช้มือตบโต๊ะเปรี้ยงเดียวก็สามารถยึดประเทศมาครองได้แล้ว  พวกกูมีเคืองนะ...ถ้าใครพูดให้ได้ยินอีกว่า 2499 อันธพาลครองเมือง "เข้าใจตรงกันแล้วนะ"

          "การโชว์เพาว์ อวดบารมี แสดงความยิ่งใหญ่ ของทหารไทยเจ้าพ่อคนใหม่ ก้องกระฉ่อนไปทั้งโลก ยกกองกำลังนับพัน นับหมื่นไล่จับคนถือกระดาษ A4 คนชู 3 นิ้ว คนกินแฮมเบอร์เกอร์ คนอ่านหนังสือ คนเอามือปิดปากก็ห้าม ก่อนๆ เอาทหารตำรวจไปล้อม MC ตอนนี้ลามไปถึง 7-Eleven  ผลจากการปฏิบัติภาระกิจจับได้เพียงคนมือเปล่าไม่กี่คน ส่วนมากคนที่ถูกจับเอาไปจองจำเป็นผู้หญิงสูงวัย  จนทหารไทยกลายเป็นตัวตลก เป็นที่ขบขันของประชาคมโลกและนานาอารยะประเทศ"

             พวกมึงคิดว่าพวกกูแคร์กับคำพูด 4-5 บรรทัดข้างบนหรือไง "ดังกระฉ่อนไปทั้งโลกแล้วไง"  แค่พวกมึงกลัวพวกกู ทำตามที่พวกกูสั่ง พวกกูก็บรรลุเป้าหมาย mission accomplished แล้ว พวกมึงเข้าใจไหม "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ถ้าพวกมึงเข้าใจว่างานคือเงิน เรื่องของประชาคมโลกและเสียงวิพากษ์จากประเทศอารยะ ก็แค่เรื่องชิวๆ เหมือนใบไม้ปลิวมาติดบนบ่า เพียงเอามือปัดออกก็จบ จะต้องไปคิดอะไรให้ยุ่งยากพวกมึงว่ามั้ย เพราะงานมันสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว เงินมันก็ผ่านเข้ามือมาแล้ว

          แต่การติดตามผลงานยังเป็นภาระผูกพันอยู่ ดังนั้น คนรักประชาธิปไตย คนรักความเป็นธรรมไม่ว่า เด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา อย่ามาให้กูเห็นหน้า พวกมึงทำให้จิตกูหลอน นอนหวาดผวา หลับตาไม่ลง เป็นพารานอยกลัวถูกเชือด เป็นผีหัวขาด คนที่พอพึงพา ทำให้จิตใจพวกกูสงบ คอยเป็นเพื่อนในยามยากก็มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ กำนันสุเทพ กปปส โล้นอิสระ นายทุนผูกขาด และอำมาตย์ผู้ชื่นชอบความกักขฬะ เอียงเข้าข้างพวกมันของพวกกู ฉะนั้นพวกมึงอย่ามาให้กูเห็นหน้า เดี๋ยวของขึ้นพวกมึงจะเจ็บตัว แล้วจะหาว่าพวกกูไม่เตือน


              พวกมึงกล่าวหาว่าการทำรัฐประหาร ทำให้ประเทศชาติเสียหาย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวบรรลัย นักลงทุนเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น การส่งออกตกต่ำ รายได้ประชากรลดลง อัตราการว่าง งานถีบตัวสูงขึ้นและอีกมากมายหลายข้อกล่าวหาทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่พวกกูฟังไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าพวกมึงจะมากล่าวหาพวกกูทำไม พวกกูก็แค่

  • - ล้มรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์ กำนันสุเทพและคณะไม่ชอบ
  • - ล้มรัฐบาลที่องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญบอกว่าทำผิดกฎหมายและโกงกิน
  • - ล้มรัฐบาลที่นายทุนผูกขาดร่วมกับขุนนางและอำมาตย์บอกว่าไม่อยากให้อยู่ในแผ่นดินไทย
  • - ล้มขบวนการเสื้อแดง แนวร่วมและผู้ให้การสนับสนุนที่อำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์และทหารไม่ชอบ


แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับความเสียหายของประเทศชาติ
แล้วการสูญเสียอย่างที่พวกมึงยกมานั้น มันเกี่ยวข้องอะไรกับพวกกู


  • พวกมึงต้องเข้าใจ พวกกูก็แค่ล้มรัฐบาลเท่านั้น มันไม่เกี่ยวกับความเสียหายที่พวกมึงพูดถึง  
  • พวกมึงต้องเข้าใจ ที่พวกกูล้มรัฐบาลและยึดอำนาจมาครอบครอง ไม่ได้รับคำสั่งจากใครมา
  • พวกกูย้ำให้พวกมึงฟังหลายครั้งแล้ว อย่าให้ต้องพูดซ้ำพูดซาก ก็บอกแล้วไงไม่มีใครสั่งให้พวกกูทำ
  • พวกกูก็แค่อยากเป็นใหญ่ แค่อยากครอบครองอำนาจ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ ที่มีทั้งอำมาตย์ นักการเมือง
  • ขบวนการศาล องค์กรอิสระ และนายทุนน้อยใหญ่ต่างก็เห็นดีเห็นงามไปกับพวกกูด้วยกันทั้งนั้น
  • พวกเขาไม่ได้สั่งให้พวกกูล้มรัฐบาล พวกกูเพียงอยากอิ่มท้อง มีเงินมีทองมากๆ มีอำนาจเหนือใครๆ
  • พวกเขาก็ดลบันดาลให้พวกกูได้สมปรารถนาก็เท่านั้น แล้วพวกมึงจะมาเดือดร้อนกันไปทำไม

  • พวกกูยืนยันและก็ขอย้ำอีกครั้งว่าพวกมึงต้องเชื่อและเข้าใจตามนี้ ว่าพวกกูไม่ได้รับคำสั่งจากใครมา

              ดังนั้นเพื่อความปรองดอง หากพวกมึงไม่เชื่อและไม่เข้าใจตามที่บอก พวกกูจะไม่รับประกันความปลอดภัย เนื่องจากพวกกูอาจโมเมเอาเรื่องในอดีตมาเล่นงานพวกมึงหรือไม่ก็ปั้นเรื่อง สร้างข้อหาใหม่มากล่าวหา เอาผิดพวกมึงในฐานะสอดรู้ และขี้สงสัยเกินงาม



               พวกมึงก็รู้ว่าพวกกูถูกสั่งสอนมาให้รับฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น พวกกูบริหารจัดการอะไรไม่เป็น  พวกมึงมีเป็นหมื่นเป็นแสนทั้งข้าราชการประจำ นักวิชาการ ทั้งหมอทั้งพยาบาล ผู้เชียวชาญทุกสาขา พนักงานรัฐวิสาหกิจ พวกมึงเก่งๆ ทั้งนั้น ทั้งการบริหารจัดการ ทั้งการค้าการขายก็จัดการกันไปซิ จะมากล่าวหาพวกกูทำไมว่าทำประเทศเสียหาย ทำลายเศรษฐกิจของชาติ พวกกูเปล่าทำนะมึง ก็เหมือนกับพวกมึงไปกล่าวหาไอ้มาร์คว่าปลอมเอกสารนั่นแหละ มันทำอะไรเป็นซะที่ไหน ไอ้มาร์ค "มันดีแต่พูด" พวกมึงก็รู้

            อย่างไรก็ตามพวกกูอยากบอกให้พวกมึงได้รับรู้ไว้เผื่อเป็นประโยชน์ คือว่าหลังจากพวกกูล้มรัฐบาลเพื่อไทยไปหมาดๆ พวกกูเห็นภาพลางๆ คล้ายกับว่า ประเทศลาวกำลังแซงหน้าประเทศไทยไปและคนไทยต้องย้ายถิ่นฐานไปขายแรงงานที่ลาว พวกมึงคิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหม แต่พวกกูคิดว่าไม่น่าจะเป็นจริงเพราะภาพที่พวกกูเห็น มันเป็นเพียงภาพลางๆ เท่านั้นเอง

             พวกมึงกล่าวหาว่าพวกกูว่าหมั่นใส้ใคร ไม่ชอบหน้าใคร ก็ออกประกาศเรียกมารายงานตัว แล้วตั้งข้อหาจับตัวขังไว้โดยให้เหตุผลโก้หรูว่าเรียกมาปรับพฤติกรรม จนคนเขาลือกันไปทั้งสามโลก แถมประกาศโพนทนาอีกว่าผู้ที่ต้องปรับพฤติกรรมก่อนใครน่าจะเป็นพวกกูไม่ใช่ใครอื่น พวกมึงกล่าวหาว่าพวกกูเลวตั้งแต่ ก.ไก่ ยัน ฮ.นกฮูก โกงทุกเรื่องตั้งแต่ผืนดินยันผืนฟ้า พวกมึงเรียกร้องให้พวกกูต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากมายหลายเรื่องจนพวกกูเวียนหัว

           พวกมึงไม่รู้หรือแกล้งโง่ ว่าพวกกูคือพ่อของทุกสถาบัน พวกมึงต้องเปลี่ยนตามพวกกูไม่ใช่พวกกูต้องเปลี่ยนตามพวกมึง พวกกูอยากบอกพวกมึงให้รับรู้ว่า "ไม้แก่ดัดยาก" ยิ่งเป็นไม้แก่ที่ดามด้วยปืน ค้ำยันด้วยรถถังอย่างพวกกู พวกมึงอย่าหวังให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียให้ยาก แค่นิสัยประจำตัวง่ายๆ พวกกูยังไม่อยากเปลี่ยนเลย อย่าง "ตีกอล์ฟ อ๊อฟเด็ก คุณนายที่บ้านเรื่องเล็ก" พวกกูก็เปลี่ยนไม่ได้ เรื่องอย่างนี้พวกมึงคงไม่เข้าใจ แต่คนเค้ารู้กันทั้งนั้นว่าไอ้เณรที่ถูกส่งไปรับใช้ตามบ้านจะช่วย "ล้างชาม" คุณนายให้แทน

พวกมึงอย่ามาบอกให้พวกกูเปลี่ยนพฤติกรรม มันไม่สำเร็จหรอก
"เพราะพวกกูคือทหารไทย....พ่อของทุกสถาบัน" จงจำใส่กระโหลกไว้


RED USA
June 14, 2014

ธิดา ถาวรเศรษฐ: เรื่องเล่าการถูกควบคุมตัว

ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงถูกควบคุมตัวโดยคณะรัฐประหาร คสช. 22-28 พฤษภาคม 2557

๐๐๐๐
เรื่องเล่าการถูกควบคุมตัว 22-28 พ.ค. 57
การประชุม 7 คณะ ที่สโมสรทัพบกที่ ผบ.ทบ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขอนัดหลายฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. นปช. คณะกรรมการ กกต. วุฒิสภา และผู้บัญชาการเหล่าทัพ พร้อม ผบ.ตร. เพื่อพบปะกัน โดยอ้างว่าเชิญมาตกลงเจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน
การเจรจาในวันแรก (21 พ.ค.) ให้ต่างฝ่ายแสดงความคิดเห็น ทิ้งประเด็นไว้ให้กลับมาพูดคุยใหม่ อันเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี, รัฐบาลกลาง, การเลือกตั้ง, การลงประชามติ, การสร้างบรรยากาศที่ดีและการยุติการชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย
ในวันรุ่งขึ้น (22 พ.ค.) ก็นัดประชุมใหม่เวลาบ่าย 2 โมง สำหรับพวกเรากลุ่ม นปช. ส่วนมากของแกนนำถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ศาลนัดไต่สวนพยานในวันที่ 22 และขอให้ศาลอนุญาตให้ไปประชุมได้ในเวลาบ่าย 2 โมง กับคณะของพลเอกประยุทธ์ (กอ.รส. ปัจจุบันกลายเป็น คสช.) พวกเรา นปช. 5 คนมี จตุพร, ณัฐวุฒิ, ผู้เขียน, ก่อแก้ว และคุณวีระกานต์ ก็ไปรับประทานอาหารพูดคุยกันก่อนเวลานัดหมายประชุม ก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมากมาย เพราะมีแฟนคลับบ้าง แขกที่บังเอิญเห็นบ้างเข้ามาทักทายเป็นระยะ ๆ แล้วก็ออกเดินทางไปถึงสถานที่ประชุมเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง เพื่อเตรียมตัวเข้าประชุม
ครั้นได้เวลาประชุมฝ่ายรัฐบาลก็เปิดการประชุมด้วยการยินดีถอยร่นให้คณะรัฐมนตรีได้ลดบทบาท Low Profile ให้ปลัดกระทรวงทำงานเป็นหลัก ยกเว้นเรื่องที่ต้องให้รัฐมนตรีทำ เช่น การรับสนองพระบรมราชโองการ งานรัฐพิธี ราชพิธี เท่านั้น ตามข้อเสนอสูตรหนึ่งของ กกต. เพื่อเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง แน่นอนว่าฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์โดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เห็นด้วย ส่วน นปช. โดยคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ยังใช้ข้อเสนอเดิมคือทำประชามติก่อน ในที่สุดฝ่าย กปปส. ขอเวลานอกให้ได้พบปะกับ นปช. เป็นการขอเจรจาอ้างว่าขอความร่วมมือฝ่ายประชาชนด้วยกัน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ยังไม่มีข้อยุติใด ๆ ทหารก็มาเตือนให้กลับเข้าห้องประชุมใหญ่
เมื่อกลับมายังห้องประชุมคุยกันได้ไม่กี่ประโยคลงท้าย ผบ.ทบ. ก็ลุกขึ้นยืนบอกว่า “ผมยึดอำนาจแล้ว” จากนั้นทหารถืออาวุธกรูกันเข้ามาในห้องประชุมแล้วก็เชิญออกมาควบคุมตัวขนาบ 2 ข้างทีละราย ที่ผู้เขียนเห็นคนแรกคือท่านรัฐมนตรีชัชชาติ ถัดมาเป็นคุณวีระกานต์ ต่อมาเป็นคุณจตุพร แล้วก็เป็นผู้เขียน ตามด้วยคุณก่อแก้ว จากนั้นจะควบคุมตัวใครอย่างไรผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสรู้ จะควบคุมตัวฝั่ง กปปส. และพรรคฝ่ายค้านไปด้วยหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้ แต่เดาว่าเขาคงควบคุมตัวด้วยชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วคงปล่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ 5 คน
ส่วนตัวผู้เขียนเองถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ เข้าใจว่ามีคุณก่อแก้วนั่งมาด้วย สักพักก็มีทหารใช้หมวกไหมพรมดำมาครอบหัวจงใจปิดตาเพื่อไม่ให้มองเห็น แล้วเอาเอ็นรัดข้อมือมามัดมือ 2 ข้างไว้ด้วยกัน หมวกไหมพรมครอบศรีษะ ปิดตาใช้ครอบซ้ำ 2 ชั้นเพื่อไม่ให้มองเห็นได้เลย ผู้เขียนคาดเดาว่ารถตู้ที่นำมาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ก็เป็นความจริง ก่อนหน้านี้ ณัฐวุฒิได้พูดในวงอาหารแล้วว่า ได้ข่าวว่ามีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ น่าจะเอา 2 ฝ่ายไปเก็บหมด แต่ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นความจริง รวดเร็วเพียงไร แต่ละฝ่ายขนหัวหน้ามาหมด ยกเว้นฝ่ายรัฐบาลที่คุณนิวัฒน์ธำรงไม่มา และคุณจารุพงศ์หัวหน้าพรรคไม่มา
นี่ต้องยอมรับว่าฝั่งเราประเมิน ผบ.ทบ. ต่ำไปในแง่นี้ แต่ถามว่าการสรุปทางออกว่าอย่างไร เขาต้องทำรัฐประหารแน่นั้นเราสรุปเช่นนี้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราศรัยของผู้เขียนใน 2-3 วันก่อนรัฐประหารว่า เมื่อวิถีทางต่าง ๆ ล้มเหลวในการกำจัดรัฐบาลและสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ผู้เขียนได้ประเมินด้วยว่าจะประกาศใช้กฎอัยการศึกและทางสุดท้ายเขาจำเป็นต้องทำรัฐประหารในที่สุด นี่เป็นคำปราศรัยหลายครั้งที่ถนนอักษะ
เมื่อเฮลิคอปเตอร์บินมาสักพักก็จอด (ก่อนหน้าขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แว่นตาผู้เขียนก็ถูกยึดไป และได้รับคืนในเวลาต่อมา) ผู้เขียนถูกนำตัวขึ้นรถปิ๊กอัพ ยังถูกหมวกไหมพรมคลุมหัวจนถึงจมูก แล้วก็ถึงบ้านที่เขาให้เก็บตัว มีทหารถือปืนรักษาการณ์เข้มแข็ง หน้าบ้านและหลังบ้านมีลวดหนามกลมขนาดใหญ่เต็มล้อมบ้านไว้ ตอนแรกยังคาดว่าจะได้อยู่กับก่อแก้ว แต่กลายเป็นอยู่คนเดียว แล้วก็มาเสื้อผ้าชุดเดียว ไม่มีกระเป๋าติดมาเลย ปกติต้องกินยารักษาความดันโลหิตทุกวัน ก็บอกเขาแล้วว่ายารักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องรับประทานทุกวัน และยาสำหรับผู้สูงอายุอื่น ๆ ที่สำคัญคือยาความดันโลหิต
วันที่ 23 เช้า ยังออกมายืดเส้นยืดสายได้บ้าง แต่ไม่ถึงชั่วโมงทหารก็ขอให้ขึ้นไปอยู่เฉพาะในห้องข้างบน จะอยู่ภายในบ้านชั้นล่างก็ไม่ได้ ดังนั้นจากวันที่ 23 ถึงวันที่ได้รับการปล่อยตัวผู้เขียนก็ต้องอยู่ในห้องเล็ก ๆ 3.5 x 3.5 เมตร ตลอดเวลา...คนเดียว...ไม่มีหนังสือพิมพ์ ในวันที่ 26 จึงได้รับอนุญาตให้ดูทีวีได้ ดังนั้น 3 วันแรกนับจากถูกตำตัวออกมาจากห้องประชุม 7 ฝ่ายนั้น ผู้เขียนไม่ได้รับรู้ข่าวคราวข้อมูลใด ๆ ของพี่น้องประชาชนและสังคมไทยเลย

เปิดประวัติวัยเยาว์ : “ไอ้หมาใหญ่” ธิดา ถาวรเศรษฐ
สิ่งที่ตัวเองได้รับการปฏิบัติ ไม่ว่าจะใช้ถุงครอบหัวและมัดมือดุจอาชญากร ไม่ได้ทำให้วิตกกังวลใด ๆ เมื่อเทียบกับชะตากรรมของพี่น้องประชาชนเสื้อแดงที่ถนนอักษะและในทุกพื้นที่ที่ไม่รู้ว่าจะเผชิญสภาพเลวร้ายเพียงใด เมื่อได้ดูทีวีจึงพอรับรู้ข้อมูลว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่าที่โทรทัศน์จะสามารถให้ข้อมูลได้ อย่างน้อยก็ได้รับรู้ประกาศของ คสช.
ความจริงผู้เขียนต้องการเขียนบันทึกทุกวัน แต่เขาไม่ให้แม้แต่กระดาษเปล่า จึงเขียนได้ 4-5 หน้า หนังสือที่เอามาให้อ่านก็มีแต่หนังสือธรรมะแบบเดียวกับคนในคุก ประมาณว่าเป็นอาชญากร สมควรอ่านหนังสือธรรมะได้อย่างเดียว ผู้เขียนก็บอกว่าหนังสืออะไรก็ได้ ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว อะไรก็ได้ เพราะตอนนั้นไม่แน่ใจว่าจะถูกขังอยู่นานเท่าไร?
ไม่ได้พูดกับใครเลย เขาให้อยู่ชั้นบน ห้องขนาด 3.5 x 3.5 เมตร แต่ยังดีมีแอร์คอนดิชั่น และช่วงหลังได้ดูทีวีบ้าง ของไทยไม่มีอะไรดูก็ไปดูสารคดีและหนังต่างประเทศบ้าง วันแรก ๆ ผู้เขียนมอง ๆ ดูชั้นล่างเห็นหนังสือชีวประวัติอาจารย์เสาร์ เล่มเบ้อเริ่ม อ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระป่าธรรมยุติและประวัติศาสตร์ของประชาชนอีสานส่วนหนึ่ง ถือว่าได้หนังสือดี ได้รับรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ของพระสายธรรมยุติอีสาน สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ที่ผู้เขียนพูดกับนักข่าวว่า หนังสือธรรมะก็สนุกเหมือนกันคือเล่มนี้นี่เอง มีเรื่องราวกบฏ
ผีบุญ ซึ่งผู้เขียนเพิ่งรู้ว่าไม่ได้มีคนเดียว
สถานที่ที่ควบคุมตัวเป็นบ้านพักนายทหาร มองออกมามีต้นไม้ใหญ่ ด้านหน้ามีไม้ใหญ่เช่นมะม่วง ด้านขวามือมีต้นมะขามใหญ่ หน้าบ้านมีไม้ดอกลีลาวดีต้นใหญ่ รอบบ้านถูกล้อมด้วยลวดหนาม (หีบเพลง) มีทหารเฝ้าหน้าบ้าน หลังบ้าน ในบ้าน
แรก ๆ ก็ให้รับประทานอาหารกล่องแบบเดียวกับทหาร แต่หลังจากนั้น 2-3 วันก็เริ่มมีอาหารใส่จานเดินมาส่ง และก็พยายามบริการอาหารเครื่องดื่มดียิ่งขึ้น แต่ไม่เห็นมีใครมาคุยเลย โดยเฉพาะนายทหารคงจะไม่มีเวลากระมัง จนถึงวันสุดท้ายที่จะปล่อยตัว จึงมีนายทหารมาแจ้งและได้คุยกันเล็กน้อย พร้อมทั้งแจ้งว่ามีกระเป๋าเสื้อผ้าและยาจากครอบครัว
ผู้เขียนเข้าใจว่าคุณหมอสลักธรรมคงจะพยายามฝากยาและเสื้อผ้าให้แม่และพ่อ ลูกของเราคงจะยากลำบากในสถานการณ์เช่นนี้ และมารู้ภายหลังว่าในเย็นวันที่ 22 มีทหารมาค้นบ้าน ดีที่หมอสลักธรรมอยู่บ้านจึงได้เชิญตำรวจมาร่วมตรวจสอบและลงบันทึกหลักฐานและการตรวจสอบ วันรุ่งขึ้นทหารก็เอาเอกสารที่เก็บไปมาคืนที่สถานีตำรวจ
นอกจากนั้นลูกได้ไปยื่นหนังสือกับ ผบ.ทบ. ในนามครอบครัวร่วมกับภรรยาแกนนำอื่น ๆ เพื่อขอเยี่ยมในฐานะคนในครอบครัว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงให้สัตยาบันกับองค์กรสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ต้องเปิดเผยสถานที่คุมขัง ญาติต้องเยี่ยมได้ แต่ในที่สุดแม้จะเป็นประกาศกฎอัยการศึกเองก็รวมให้คุมขังไม่เกิน 7 วัน ไม่ว่าจะถูกคุมขังแบบไหนก็ตาม ซึ่งจริง ๆ หลักการของสังคมอารยะชน การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การคุกคามและเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้
จึงอยากเรียกร้องมายังผู้กระทำรัฐประหารและประกาศกฎอัยการศึกให้เข้าใจประชาชนที่เขาต้องออกมาคัดค้านการทำรัฐประหารว่า ไม่ใช่เรื่องเกลียดชังส่วนตัว แต่เป็นปัญหาหลักการของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ดังที่ท่านก็ทราบดีว่าวิธีการทหารไม่อาจแก้ปัญหาทางการเมืองได้จริง แต่อารยชนในสังคมโลกและสังคมไทยย่อมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน การจับกุมคุมขังประชาชน และต้องการให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว
คืนวันที่ 27 พ.ค. ก็มีนายทหารมาพูดคุยแจ้งว่าให้เตรียมตัวกลับพรุ่งนี้เช้าเวลา 06.00 น. ขอให้ตื่นตั้งแต่ 04.30 น. โดยจะให้ทหารมาเรียกที่ประตูพร้อมทั้งมีกระเป๋าใบเบ้อเร่อฝากมาให้ เราก็บอกเขาว่าต้องรีบเอามานะเพราะกลับไปแล้วจะต้องมาทวงคืนแน่นอน ก็ได้ผลคือเขารีบเอามาให้หลังจากนั้นทันที คุณหมอหวายขนเสื้อผ้ากับยามาเพียบเลยโดยเฉพาะยากับหนังสือสองเล่ม คงเข้าใจว่าแม่ต้องอยู่นานกระมัง ก็เลยได้มีโอกาสใช้ครีมล้างหน้าเพราะก่อนหน้าแชมพูสระผมเพียงขวดเดียวใช้งานในทุกกรณี
ผู้เขียนตื่น 04.00 น. โดยไม่ต้องมีใครมาปลุก จากนั้นทหารมาเรียกให้ลงไปรอประมาณตีห้าเศษและใช้ผ้าปิดตา ต่อมามีนายทหารมาโวยวายและขอโทษเพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องปิดตาและออกมารอ
จากนั้นประมาณหกโมงเศษก็ถูกนำขึ้นรถตู้และปิดตามาจนถึงกทม. สังเกตว่าบ้านใกล้ ๆ ก็มีรถตู้มาจอดอยู่ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นบ้านที่ควบคุมตัวคุณวีระกานต์ จนมาถึงใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเขาก็เปิดตา ถือว่าเข้าเขตกรุงเทพฯ แล้ว ก็ตรงมาที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อรถจอดจึงเห็นว่ามีรถตู้ตามกันมา 5 คัน ก็เข้าใจได้ว่าคงจะตามมาด้วยจตุพร ณัฐวุฒิ ก่อแก้ว ครบ 5 คนพอดี แล้วได้มาพบกันพร้อมหน้าในห้องประชุมเล็กเพื่อพูดคุยกันจนถึงบ่าย จากนั้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ (มาก ๆ) ก็มาคุยแลกเปลี่ยนขอความเห็นใจในการทำรัฐประหารและขอความร่วมมือ
ผู้เขียนก็ได้แสดงความคิดเห็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ คนที่ต่อต้านการทำรัฐประหารนั้นเป็นปัญหาหลักการของผู้รักประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว ขอให้หลีกเลี่ยงการจับกุมคุมขัง ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพวกเราตกลงกันว่าให้คุณจตุพรเป็นผู้แถลงต่อหน้าสื่อเพียงคนเดียว และอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นกังวลสักเท่าไร เพราะมีสื่อของกองทัพเพียงสื่อเดียวเท่านั้น จากนั้นนพ.สลักธรรมก็มารับพ่อกับแม่กลับบ้าน
มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ได้แลกเปลี่ยนกันก่อนหน้านี้ได้ถามผู้เขียนว่าทำไมหน้าตาเฉย ๆ ไม่ยิ้มแย้มดีใจที่ได้กลับบ้าน ผู้เขียนกล่าวว่าจะยิ้มและดีใจได้อย่างไรเพราะยังมีคนที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวอีกมาก!!!
เป็นอันว่าจบเรื่องไปตอนหนึ่ง ต้องถือโอกาสขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความเป็นห่วงปัญหาความปลอดภัยของแกนนำทุกท่าน แต่ว่าจริง ๆ เราเป็นห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนมากกว่า ดังนั้นความลำบากหรืออิสรภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ไม่เท่ากับความห่วงใยซึ่งกันและกันของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ขอบคุณและยังไม่รู้ว่าจะมีเรื่องทำนองนี้ให้เล่าในเวลาต่อไปอีกหรือเปล่า.
รักและห่วงใยพี่น้องทุกคน
ธิดา ถาวรเศรษฐ
13 มิ.ย. 57

นี่คือการยึดอำนาจเพื่อไปสู่ยุคศรีอารยะ!


คนถือปืนกลายเป็นพระเจ้า 
ใส่บาตรเช้าด้วยเลือดพิราบ
รัฐประหารคือการล้างบาป
เสรีภาพคือมารศาสนา

พระไตรปิฎกไม่เคยกล่าวไว้ 
ทำไมพิราบต้องถูกไล่ล่า
ปล่อยค้างคาวสยายปีกเต็มฟ้า
บนดินแดนอันน่าสาปแช่ง

ยึดอำนาจเพื่อบำเพ็ญภาวนา
สิทธิคนธรรมดากลายเป็นของแสลง
หุบปากไว้!, อย่าได้ระแวง
นี่คือการปูพรมแดง...สู่ยุคศรีอารยะ!


(หุบปากไว้! และโปรดอย่าได้ระแวง  เรากำลังพาท่านเดินพรมแดง...สู่ยุคศรีอารยะ!)

คราบ'นกหวีดหลบไปผสมพันธุ์


เอาอกเอาใจกลัวออกห่าง
อีแอบอีข้างเอาข้างสี
เครื่องแบบยังคราบเกรอะค้างปี
อ้างโน่นอ้างนี่ในวังวน

คราบเก่าโสมมสะสมอยู่
กี่ฤดูซักล้างกร่างไม่สน
แปดเปื้อนปกป้องพาหมองชน
บอกใครสุขล้นบนนิยาม

บางใครบางพวกยังมุดหัว
ก่อนหน้าอวดตัวทั่วปากพล่าม
การณ์เป็นเช่นนี้ เป็นตามกาม
อยากถามนกหวีด..ว่ายังไง?

สมยอมเขาแล้วหรือ.....
ไม่หือไม่อือไม่ท้าใส่
ปากเหม็นเหม็น นายเก่าไม่เร้าใจ
หานายใหม่เครื่องแบบทำแนบเนียน

ใครอีแอบ ใคร แนบใคร
คราบกามเลอะในให้คลื่นเหียน
คราบเลือดเกรอะนอกบอกบทเรียน
ยุคเปลี่ยนเห็นคราบใครผสมพันธุ์












เจ็ดคำถามถามกองทัพไทย



ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง  ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยกลับมาดำรงสถานะผู้นำในการปั้นแต่งโครงสร้างการปกครองของประเทศนี้อีกครั้ง  ความหวังที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังในประเทศไทยภายในกรอบรัฐธรรมนูญมีอันต้องมอดมลายไป เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่า เขายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและระงับการใช้รัฐธรรมนูญ
ในการปราศรัยทางโทรทัศน์หลังจากรัฐประหารหนึ่งสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์สัญญากับประชาชนไทยว่า “การเลือกตั้งทั่วไป” จะเกิดขึ้นแน่นอนหลังจากการปฏิรูปเป็นเวลาหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น  ขณะที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง ประยุทธ์ประกาศด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงจะอยู่ “ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”
ดังนั้น “การปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง” จึงดูเหมือนเป็น fait accompli (เรื่องที่ได้ข้อยุติแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับโดยดุษณีผู้แปล) อย่างน้อยที่สุดก็ตราบเท่าที่กองทัพและการคุกคามบังคับของกองทัพยังคงอยู่ในฐานะเครื่องมือควบคุมทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ  ระบอบของการกดขี่บังคับให้เงียบเสียงปกครองประเทศนี้แล้ว  และแม้ว่าจะมีกระแสอื้ออึงและพูดถึงความเป็นไปได้ แต่ “สงครามกลางเมือง” ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะมีแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มีอาวุธเต็มอัตราศึก  บทเรียนของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ยังสะท้อนสะเทือนต่อฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร  หนังสะติ๊กกับระเบิดขวดเป็นเดิมพันที่เสี่ยงเกินไปในการต่อสู้กับกระสุนปืนของกองทัพสมัยใหม่  มีเพียงแค่ความแตกแยกที่คาดไม่ถึงและรุนแรงภายในกองทัพเองเท่านั้นที่อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ในจุดนี้
ขอละไว้ไม่เอ่ยถึงคำถามมากมายว่ากองทัพจะปกครองประเทศนี้และดำเนินนโยบายอย่างไรในระหว่างที่ครองอำนาจ  เพียงแค่คำมั่นสัญญาที่เน้นหนักเป้าหมายของพลเอกประยุทธ์ก็สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่ออนาคตของรัฐบาลพลเรือนและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยแล้ว  ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทยจะมีขึ้นหลังจากการปฏิรูปการเมือง  นี่จึงเป็นเวลาอันสมควรที่เราพึงตั้งคำถามบางประการเกี่ยวกับการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น
คำถามเจ็ดข้อต่อไปนี้เป็นคำถามต่อคณะผู้นำการรัฐประหารของประเทศไทย  ผู้เขียนตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ ปราศจากการเสียดสีหรือยอกย้อน  แต่ละคำถามตามด้วยข้อคิดเห็นโดยสังเขปเพื่ออธิบายว่าทำไมคำถามนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรวิตกกังวล  คำถามและข้อคิดเห็นเหล่านี้นำเสนอโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของรัฐบาลพลเรือนในอดีตของประเทศไทย และตั้งอยู่ในบริบทของเงื่อนไขพื้นฐานหลายประการของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง
ชาวไทยและรวมทั้งสมาชิกชุมชนนานาชาติต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยรับผิดชอบต่อตารางเวลาที่ตัวเองประกาศออกมา รวมถึงเป้าหมายการปฏิรูปที่อ้างว่าจะฟื้นฟู “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” แก่ประเทศนี้  ในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ คำตอบต่อแต่ละคำถามจะเผยออกมาโดยดูได้จากการวางแผน ชี้นำและกระทำการของผู้นำอำนาจนิยมชุดใหม่ของประเทศไทย  ผู้เขียนตั้งใจจะย้อนกลับมาดูคำถามเหล่านี้อีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 กล่าวคือครบรอบหนึ่งปีหลังจากพลเอกประยุทธ์ให้คำสัญญาต่อสาธารณชนว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่และฟื้นระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทย
คำถามที่ 1. ท่านวางแผนจะร่างและสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ของประเทศไทยอย่างไร?
ประเทศไทยฉีกรัฐธรรมนูญมาสิบแปดฉบับแล้ว  เมื่อคำนึงถึงความล้มเหลวที่ผ่านมา พลเมืองชาวไทยหรือชุมชนนานาชาติจะมั่นใจได้แค่ไหนว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 จะเอื้ออำนวยให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพ?  หากมุ่งหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประสบความสำเร็จและยืนนาน ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญและนำมาใช้อย่างชอบธรรม  หากพิจารณาดูอดีตระยะใกล้ ดูเหมือนมีโมเดลพื้นฐานสองแบบในการพยายามสร้างความชอบธรรม  กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 จะเดินตามโมเดลไหน? หรือกระบวนการจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง?
โมเดลแรกคือกระบวนการที่เปิดกว้างและประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเคยใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญและได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน นั่นคือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” พ.ศ. 2540 ซึ่งจัดเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย  กระบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชวน บรรหารและชวลิต รวมทั้งผู้มีอิทธิพลอย่าง ดร.ประเวศ วะสี  กระบวนการครั้งนั้นก่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใน พ.ศ. 2540 ซึ่งมีการปรึกษาหารือและร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
สมาชิก 99 คนของ ส.ส.ร. ประกอบด้วยตัวแทน 76 คนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกจากรายชื่อผู้สมัครที่แต่ละจังหวัดเสนอขึ้นมา ดังนั้น แต่ละจังหวัดจึงมีตัวแทนหนึ่งคน สมาชิก ส.ส.ร. อีก 23 คน ก็รัฐสภาอีกเช่นกันที่คัดเลือกจากรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา  ในระหว่างเก้าเดือนของการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ส.ส.ร.เชิญชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม  ในที่สุด “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็ผ่านรัฐสภาโดยได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 578 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง ซึ่งถือเป็นชัยชนะท่วมท้นสืบเนื่องจากกระบวนการร่างที่เปิดกว้าง รับฟังและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
อีกโมเดลหนึ่งของการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งใช้ครั้งล่าสุดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการยกเลิก “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่เคยได้รับการชื่นชมเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 กันยายน 2549  กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ชี้นำโดยกองทัพและมีการเปิดกว้างน้อยกว่าโมเดลที่ประชาชนเคยมีส่วนร่วมในฉบับ 2540 มาก  รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นมาอย่างรีบร้อนโดยกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลที่คณะรัฐประหารหนุนหลัง  รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามอย่างมากที่จะแสวงหาความชอบธรรมและผ่านการลงประชามติระดับชาติอย่างฉิวเฉียด ทั้งที่อยู่ภายใต้การข่มขู่อย่างหนักว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน กองทัพจะปกครองประเทศต่อไป
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19  คงเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินตามโมเดลของรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งคอยตรวจสอบ เลือกตั้งหรือให้ความชอบธรรมต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่  กระนั้นก็ตาม ณ จุดนี้ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” หากกฎหมายพื้นฐานยังถูกร่างขึ้นมาโดยกลุ่มบุคคลที่กองทัพแต่งตั้งแต่ฝ่ายเดียว  กระบวนการที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
คำถามที่ 2. ในทัศนะของท่าน สัดส่วนของเก้าอี้ที่มาจากการแต่งตั้งกับมาจากการเลือกตั้งในรัฐสภาครั้งหน้าของไทยควรอยู่ที่ร้อยละเท่าไร
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีหลายข้อเสนอที่กลุ่มต่อต้านทักษิณโยนหินถามทาง โดยชี้แนะให้ประเทศไทยออกแบบสภานิติบัญญัติใหม่โดยมีเก้าอี้ที่มาจากการเลือกตั้งน้อยลง  บางข้อเสนอสนับสนุนให้มีรัฐสภาที่จำนวนเก้าอี้ที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่าจำนวนเก้าอี้ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาล่าง  กลุ่มที่เป็นกระบอกเสียงบางกลุ่มถึงขนาดเสนอให้มีสมัชชาแห่งชาติที่สัดส่วนแต่งตั้งกับเลือกตั้งอยู่ที่ 70:30 ตามลำดับ  ในเมื่อระบบแบบนี้ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย กองทัพตั้งใจจะจัดการอย่างไรกับความปรารถนาที่ขัดกันระหว่างคนไทยเสียงข้างน้อยที่อยากได้สภานิติบัญญัติแบบแต่งตั้งที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเสียงข้างมากที่คาดหวัง (อย่างน้อยที่สุด) ว่าสภาผู้แทนราษฎรของไทยควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด?
ถ้ามองหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์ไทยก่อนการรัฐประหารย้อนไปถึงยุคทศวรรษ 1970 ก็มีบางช่วงที่พรรคการเมืองถูกสั่งห้ามและนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์  พลเมืองไทยควรวิตกหรือไม่ที่แนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้อาจย้อนรอยกลับมาอีกครั้ง?  พรรคการเมืองจะได้แข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อเก้าอี้ในสภานิติบัญญัติในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่?  นายกรัฐมนตรีของไทยจะมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือเปล่า?  การปฏิรูปการเมืองจะสวนทางกับหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงหรือไม่?
คำถามที่ 3. ท่านนิยามประชาธิปไตยอย่างไร?
จากผลงานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของ Robert Dahl นักวิชาการชาวอเมริกัน นักรัฐศาสตร์ชี้ให้เห็นความแตกต่างมานานแล้วระหว่าง “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” (procedural democracy) กับ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” (substantive democracy) คำถามก็คือ การปฏิรูประบบการเมืองของไทยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไหน?  หากมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงทั้งสองแบบก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม กระนั้นก็ตาม มีระบอบประชาธิปไตยแบบเดียวเท่านั้นที่เราบรรลุถึงได้จริง นั่นคือ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ”
“ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” กอปรด้วยกระบวนการขั้นต่ำสุดชุดหนึ่งที่เชื่อมโยงกับแนวทางปฏิบัติแบบประชาธิปไตย นั่นคือ รัฐบาลที่มาจากตัวแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม พลเมืองมีเสรีภาพเต็มที่ ซึ่งหมายถึงเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมตัวทางการเมือง สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคมโดยปราศจากความกลัวว่ารัฐจะเข้ามาแทรกแซงห้ามปราม
ในทางตรงกันข้าม “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” นิยามจากผลลัพธ์ที่ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด ทั้งในด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ  บางครั้งก็เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยในอุดมคติ” ไม่มีระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในประเทศใดจนถึงทุกวันนี้ที่สามารถบรรลุ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” ได้อย่างสมบูรณ์  ระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในโลกล้วนเป็น “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” ทั้งสิ้น (ลองคิดดูว่า ท่านสามารถหยิบยกระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในประเทศไหนสักประเทศหนึ่งที่กระบวนการประชาธิปไตยรับประกันความเท่าเทียมของผลลัพธ์ได้บ้างไหม?) ระบอบ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” ที่ยาวนานมักนำพาสังคมเข้าใกล้ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” มากขึ้น  แต่ประชาธิปไตยทั้งสองแบบนี้ก็ยังแตกต่างจากกันอยู่ดีและมีแต่แบบแรกเท่านั้นที่สามารถบรรลุถึงได้ในความเป็นจริง  ไม่ว่าจะมีระบอบกองทัพธิปไตย (praetorianism[1]) หรือต่อให้ “ปฏิรูปการเมือง” ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีวันจบสิ้น ก็ไม่มีทางนำมาซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” ในประเทศไทยหรือประเทศไหนในโลก  อีกทั้งการใช้กำลังขู่เข็ญบังคับและการคาดหวังถึงระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบในอุดมคติล้วนแต่บ่อนเซาะทำลายความแข็งแกร่งของ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ”
ดังนั้น ความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยโดยกำหนดให้ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” เป็นมาตรวัดความสำเร็จ นั่นย่อมประสบความล้มเหลวแน่นอน  สังคมประชาธิปไตยยอมรับผลลัพธ์ของ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ”  ผลลัพธ์เหล่านี้อาจไม่เท่าเทียมหรือเป็นธรรมเสมอไปและย่อมมีผู้ชนะกับผู้แพ้เสมอ แต่ผลลัพธ์ใน “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เพราะประชาชนสามารถแสวงหาหนทางแก้ไขความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมโดยอาศัยสถาบันอิสระ ฝ่ายปกครองที่มาจากการเลือกตั้งและศาลที่ไม่ลำเอียง
ด้วยเหตุนี้ ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อจัดการความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติ  ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมขนาดใหญ่และการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ระบอบนี้ต้องการผู้ชนะที่ดี ผู้แพ้ที่ดีและกรรมการที่เที่ยงตรง ซึ่งทุกฝ่ายยินดีปฏิบัติตามกฎกติกาอันชอบด้วยกฎหมาย
คำถามที่ 4. ประเทศไทยควรใช้ หลักนิติวิธี (rule by law) หรือ หลักนิติธรรม” (rule of law)
“หลักนิติธรรม” ย่อมไม่เกิดขึ้นในสังคมตราบจนปัจเจกบุคคลทุกคน กลุ่มทุกกลุ่มและสถาบันทุกสถาบันอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับและข้อจำกัดของกฎหมายพื้นฐานเหมือนกันหมด  ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็น “หลักนิติธรรม” เพราะไม่มีผู้เล่นหนึ่งใดได้รับสิทธิอำนาจนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ  สังคมที่ปกครองด้วย “หลักนิติธรรม” ย่อมแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ตามกรอบรัฐธรรมนูญทุกครั้งไป
ในทางตรงกันข้าม “หลักนิติวิธี” เกิดขึ้นเมื่อผู้นำบางคนบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา สร้างสิทธิอำนาจให้แก่ตัวเองด้วยการออกกฎหมายโดยประกาศคำสั่งหรือบัญชาให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำตัวเป็นอ้อลู่ลมทำตามที่ได้รับบัญชามา  การที่ประเทศไทยมักระงับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญบ่อยๆ  มีการยกร่างและแก้ไขร่างกฎหมายพื้นฐานของประเทศอยู่เสมอ รวมทั้งการที่ผู้แพ้เลือกตั้งและผู้แพ้ด้านนโยบายไม่ยอมใช้ยุทธศาสตร์การแก้ไขภายในกรอบรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ทำให้สังคมไทยใช้ “หลักนิติวิธี” มากกว่า “หลักนิติธรรม”  นอกจากนี้ยังมีการใช้ “หลักนิติวิธี” ในรูปแบบอำพรางที่สร้างความเสียหายร้ายแรง โดยผู้เล่นที่มีอิทธิพลมักใช้ “หลักนิติวิธี” เชิงยุทธศาสตร์หลายครั้งเพื่อขัดขวางมิให้ “หลักนิติธรรม” มาควบคุมจำกัดผลประโยชน์ของตน
คำถามที่ 5. ท่านจะเชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศมาติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้าหรือไม่?
ข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดกติกาการหาเสียงและทุจริตการเลือกตั้งได้สร้างปัญหาให้การเลือกตั้งในประเทศไทยมานาน  อย่างไรก็ตาม ระบบในปัจจุบันที่ให้ศาลสั่งยุบพรรคการเมือง ถอดถอนนักการเมืองและคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลายครั้งก็เกิดขึ้นหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปตั้งนานแล้ว มันเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ  ยิ่งกว่านั้น มันกลับทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาพัวพันกับการเมืองและซ้ำเติมการแบ่งแยกแตกขั้วในสังคมไทยยิ่งกว่าเดิม  มันขัดขวางการทำงานของรัฐสภา สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้ลงคะแนนเสียงและก่อให้เกิดการบูชายัญทางการเมือง  พรรคการเมืองที่ถูกศาลสั่งยุบพรรคก็แค่รวมตัวกันตั้งพรรคในชื่อใหม่และนักการเมืองที่ถูกบังคับให้ถอนตัวหรือถูกสั่งห้ามเล่นการเมืองก็ยังคงมีอิทธิพลหลังฉากคอยชักใยเครือข่ายทางการเมืองของตนอยู่ดี
วิธีการหนึ่งที่อาจเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งก็คือ เชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลางมาตรวจสอบการหาเสียงและการลงคะแนน  แน่นอน ชุมชนนานาชาติมีประวัติยาวนานในการช่วยเหลือหลายประเทศที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ผลลัพธ์การเลือกตั้ง เพื่อเป็นหลักประกันให้ผลลัพธ์นั้นมีความน่าเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย  เมื่อคำนึงถึงข้อกล่าวหาซ้ำ ๆ ไม่สิ้นสุดที่อ้างว่ามีการทุจริตเลือกตั้งและผลพวงยาวเหยียดที่ตามมาจากข้อกล่าวหาเหล่านี้ การยินยอมให้การเลือกตั้งของไทยอยู่ภายใต้การตรวจสอบของนานาชาติไม่เพียงช่วยสร้างความชอบธรรมและชี้ตัวผู้กระทำผิด แต่จะช่วยกระตุ้นให้พรรคการเมือง ผู้สมัครและคณะกรรมการการเลือกตั้งเองปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกระบวนการประชาธิปไตย ในระดับโลก
คำถามที่ 6. ท่านเห็นพ้องหรือไม่ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องให้คำนิยามทางกฎหมายแก่คำว่า เผด็จการรัฐสภา และ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย?
ขณะเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น  ข้อกล่าวหา “เผด็จการรัฐสภา” และ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” มักผุดโผล่ขึ้นมาจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสมอ  ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งหากมีคำนิยามในรัฐธรรมนูญหรือคำนิยามตามกฎหมายสำหรับคำศัพท์สองคำนี้  เพื่อให้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการวัดข้อกล่าวหาพวกนี้  หรืออีกหนทางหนึ่งก็คือ คำศัพท์พวกนี้ควรลบทิ้งไปจากศัพทานุกรมไทยโดยสิ้นเชิง  ในกรณีของไทยนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาว่าเสียงข้างมากในรัฐสภากระทำตน “เป็นเผด็จการ” เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลทางการเมืองอย่างมาก กล่าวคือ มันกลายเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลที่ใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารของกองทัพและการระงับใช้ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในทฤษฎีประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้น การครองเสียงข้างมากในรัฐสภาคือเครื่องหมายแสดงคุณภาพถึงคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  ความสามารถของฝ่ายรัฐบาลในระบบรัฐสภาที่จะผ่านกฎหมายโดยขัดต่อความพอใจของเสียงข้างน้อยที่ได้รับการเลือกตั้งมาไม่ใช่อะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นเผด็จการแม้แต่น้อย แต่นี่คือสารัตถะแก่นแท้ของการปกครองด้วยเสียงข้างมากต่างหาก  แนวคิดเกี่ยวกับ “เผด็จการรัฐสภา” จะนำมาใช้กล่าวอ้างได้ ก็ต่อเมื่อเสียงข้างมากในรัฐสภาเต็มใจและจงใจใช้อำนาจเกินกว่าสิทธิอำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย  กระนั้นก็ตาม หากมีการพิสูจน์ความผิดได้จริงและมีการตัดสินชี้ขาดอย่างเหมาะสม มันก็แค่เป็นเรื่อง “ขัดรัฐธรรมนูญ” หรือ “ผิดกฎหมาย” แล้วก็พึงจัดการกับการกระทำผิดนี้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่จะต้องใช้คำศัพท์ทางการเมืองที่คลุมเครืออย่างคำว่า “เผด็จการรัฐสภา”
ในทำนองเดียวกัน ข้อกล่าวหา “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ก็ควรมีคำนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจนหรือมีบรรทัดฐานในการวัดว่าคำคำนี้หมายถึงอะไรกันแน่  ในขณะที่การรับผลประโยชน์โดยมิชอบ การยักยอก การรับสินบนและการใช้ตำแหน่งหน้าที่คอร์รัปชั่นในรูปแบบอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งควรมีการควบคุมดูแลและตัดสินชี้ขาดความผิดที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ  แต่การที่เสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยจะให้รางวัลตอบแทนฐานเสียงทางการเมืองและเขตเลือกตั้งที่สนับสนุนตนด้วยการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ นี่ไม่ใช่ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” แต่เป็นผลผลิตของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่ยอมรับกันมานมนานแล้วต่างหาก
คำถามที่ 7. พลเมืองไทยทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองหรือเปล่า?
คำถามสุดท้ายนี้คงเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดกระมัง เมื่ออเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์เดินทางมาสังเกตการณ์ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันในฐานะชาวต่างชาติเมื่อศตวรรษที่ 19 เขาให้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งหลายประการเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ  ในงานเขียนคลาสสิกของเขานั้น ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อปลอบเพื่อนร่วมชาติที่เป็นชนชั้นผู้ดีชาวฝรั่งเศสให้บรรเทาความกริ่งกลัวต่อระบอบประชาธิปไตย  ท็อกเกอร์วิลล์ตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ประชาชน “เกิดมาเท่าเทียมกันทางสังคม ไม่ใช่มาเท่าเทียมกันทีหลัง”  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความเท่าเทียมกันทางการเมืองของพลเมืองเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด  สิทธิทางการเมืองไม่ได้มาจากนามสกุล ถิ่นที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษาหรือบทบาทอาชีพการงาน
คำขวัญสามประการคือ “เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ” ที่มวลชนชาวฝรั่งเศสใช้กันในยุคของท็อกเกอร์วิลล์เกิดมาจากความขุ่นแค้นของชนชั้นล่างที่มีต่อชนชั้นสูง ซึ่งทึกทักว่าตัวเองเหนือกว่าทางสังคมและการเมืองจนต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของปวงชน  การที่ผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทยหันมาใช้คำขวัญเดียวกันโดยชูสามนิ้วจึงมีนัยสำคัญยิ่ง
หากกองทัพมีความตั้งใจจริงที่จะสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” กองทัพก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับความเท่าเทียมกันทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นผลพวงของความเท่าเทียมกันดังกล่าว  กองทัพต้องยอมรับว่า คนไทย “เกิดมาเท่าเทียมกันทางสังคม”  กองทัพจะต้องไม่เอาความไม่เท่าเทียมกันทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตัดต่อยัดเยียดเข้าไปในระบบปฏิรูปการเมือง  ยิ่งกว่านั้น ความรับผิดชอบที่จะสร้างหลักประกันให้เกิดระเบียบสังคมไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้มาตรการกีดกันเสรีภาพทางการเมืองและอิสรภาพของพลเมือง โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามแนวทางประชาธิปไตยในระยะยาว
ระบอบประชาธิปไตยมีมากกว่าการเลือกตั้งก็จริง ถึงแม้มันรับประกันหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยต้องรับประกันด้วยว่า พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลข่าวสาร การรวมตัวชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) และกระบวนการขั้นตอนอันถูกต้องตามกฎหมาย  หากรัฐสภาไม่อาจละเมิดสิทธิเหล่านี้ คำประกาศของกองทัพ การดำเนินงานของราชการ คำสั่งของศาล หรือ “หลักนิติวิธี” ในรูปแบบอื่นใดก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเหล่านี้เช่นกัน  ภายใต้หลักนิติธรรม สิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่ล่วงเกินมิได้และละเมิดมิได้

Dr. Robert Dayley เป็นศาสตราจารย์ของภาควิชา International Political Economy and Asian Studies ที่มหาวิทยาลัยไอดาโฮในสหรัฐอเมริกา

[1] หมายถึงการที่กองทัพเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างล้นเกินในประเทศ  ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Daniel R. Headrick อธิบายคำนี้ว่า หมายถึงระบอบทหารที่มุ่งเน้นอำนาจครอบงำภายในประเทศมากกว่ามุ่งหมายที่จะต่อสู้กับประเทศอื่น ส่วนใหญ่ระบอบนี้มักเกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ  กองทัพจะเข้ามาควบคุมการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกองทัพในฐานะบรรษัท หรือสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มก๊กการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ