วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นป.ป.ช.สอบสติ๊กเกอร์ LINE ค่านิยม 12 ประการ แพงเกินกว่าเหตุ


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จี้ ป.ป.ช. สอบการจัดทำสติกเกอร์ไลน์ค่านิยม 12 ประการ ระบุมีราคาแพงเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมาย
หลังจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา สติกเกอร์ Line ค่านิยมหลัก 12 ประการ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนที่นิยมส่งสติกเกอร์ไลน์ได้แสดงความรู้สึกในโอกาสต่างๆ โดยราคารวมของการจัดทำสติกเกอร์ค่านิยมหลัก 12 ประการอยู่ที่ 7.1 ล้านบาท
ล่าสุด วันนี้(5 ม.ค.) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ตัวแทนจากองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ผ่าน พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการกำหนดราคากลางในการจัดทำหรือจัดซื้อจัดจ้างการดำเนินการโครงการจัดทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการที่กระทรวง ไอซีทีเป็นผู้จัดทำนั้น มีราคาแพงเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมาย
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า การตั้งราคากลางในการจัดทำโครงการดังกล่าวแพงเกินความเป็นจริงหรือเกินมาตรฐานการค้าทั่วไปหรือไม่ เพราะมีราคาในการดำเนินการอยู่ที่ 7.1 ล้านบาท โดยเป็นราคากลางจากบริษัท Line Company (Thailand) limited ซึ่งมี อาทิตยา สุธาธรรม, พฤฒิพงศ์ พัวศิริ, พิศิษฐ์เดช สายแสง, ชุติพันธุ์ พิมทอง และธีรยุทธ พูลรอด นักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่เป็นผู้กำหนดราคากลาง แต่กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด เหตุและผลการตั้งราคากลางดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบราคาจากบริษัทไลน์คอเปอร์เรชั่น (ประเทศไทย)จำกัด กลับมีราคาในการดำเนินการเพียง 2-3 ล้านบาทเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และขัดกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล และขอให้ตรวจสอบว่ากระบวนการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวแพงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่นอกจากนั้นก็ขอให้ตรวจสอบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่เพราะในการดำเนินการมีบริษัทที่ยื่นข้อเสนอเพียงบริษัทเดียว คือบริษัททีวีพูล ที่ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย อดีตภรรยาของ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเจ้าของ จึงมีข้อสังเกตว่าบริษัทผู้รับดำเนินการอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบุคคลในรัฐบาล
“หากตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าข่ายความผิด ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายของ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ที่ดาวโหลดสติกเกอร์ไลน์ดังกล่าวด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา” ศรีสุวรรณ กล่าว
ข้อสังเกต/ความผิด
  •        1)การจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม
  •        2)การประกาศราคากลางไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ถูกต้องเหมาะสม ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  •        3)มีการกำหนดราคากลางที่สูงเกินจริง โดยไม่มีเหตุผลรองรับ
  •        4)มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง เกินไปกว่าเอกชนทั่วไป
  •        5)การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ไม่เข้าเงื่อนไขวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีเหตุเร่งด่วน โดยเฉพาะไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 24 และหรือข้อ 107 และข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  •        6)บริษัทผู้รับจ้างผลิตหรือดำเนินการอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบุคคลในรัฐบาลอันเข้าข่ายความผิดตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 6 (4) และข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้าน พ.ต.อ.อิทธิพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเอาผิดได้ไม่ยาก เพราะมีราคากลางของบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ป.ป.ช.ก็จะขอข้อมูลการดำเนินการจากกระทรวงไอซีทีเพื่อมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ นอกจากนั้นก็จะต้องตรวจสอบต่อไปว่า นางพันธุ์ทิพามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร
         

สื่อมาเลเซียรายงานเรื่องผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย-หวังเห็นไทยเป็นประเทศเสรี


มาเลเซียกินีเผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย "ชาวมาเลเซียมักมีมุมมองต่อเรื่อง 'อะเมซซิ่งไทยแลนด์' ในฐานะของสวรรค์การท่องเที่ยวและการจับจ่าย โดยไม่ได้ตระหนักว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่จำต้องลี้ภัย หรือลี้ภัยด้วยตัวเองไปอาศัยอยู่หลากหลายประเทศเนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเขา"
วันนี้ (5 ม.ค. 2557) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของมาเลเซีย "มาเลเซียกินี" ได้เผยแพร่บทรายงานพิเศษ "ผู้ลี้ภัยชาวไทยต้องการ "ประเทศไทยที่เสรีและมีประชาธิปไตย" (Thai exiles want 'free, democratic Thailand') รายงานโดย "ซูซาน ลูน" ผู้สื่อข่าวอาวุโสของมาเลเซีย
โดยรายงานพิเศษซึ่งผู้อ่านต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกรับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ดังกล่าว เริ่มต้นรายงานว่า "ชาวมาเลเซียมักมีมุมมองต่อเรื่อง 'อะเมซซิ่งไทยแลนด์' ในฐานะของสวรรค์การท่องเที่ยวและการจับจ่าย โดยไม่ได้ตระหนักว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่จำต้องลี้ภัย หรือลี้ภัยด้วยตัวเองไปอาศัยอยู่หลากหลายประเทศเนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเขา"
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. องค์กรพัฒนาเอกชนในมาเลเซียหลายแห่งประท้วงการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับผู้ลี้ภัยชาวไทย ทั้งนี้พวกเขาเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเยือนให้เอาอย่างนักกิจกรรมมาเลเซียทำ นั่นคือการส่งข้อความอย่างแข็งกร้าวว่าพวกเขาต่อต้านเผด็จการทหารไทย
โดยในรายงาน  "ผู้พลัดถิ่นชาวไทยต้องการ 'ประเทศไทยที่เสรีและมีประชาธิปไตย' " นั้น มาเลเซียกินีระบุว่า "ยังได้สัมภาษณ์ผู้พลัดถิ่นชาวไทยหลายคน ซึ่งพวกเขาได้แสดงออกถึงความปรารถนาของพวกเขาว่า ภายในชั่วชีวิตของพวกเขา อยากเห็นประเทศไทยที่เป็นอิสระ"

ฮัฟฟิงตันโพสต์สรุป 8 สัญลักษณ์การประท้วงปี 57 รวม 'ชูสามนิ้ว' ในไทย



4 ม.ค. 2558 สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์นำเสนอรายงานเรื่อง 8 สัญลักษณ์การประท้วงที่น่าจดจำแห่งปี 2557 ตั้งแต่การประท้วงด้วยอักษรย่อเอสโอเอส (S.O.S.) ในเวเนซุเอลา การใช้ร่มในฮ่องกง รวมถึงการชูสามนิ้วตามแบบภาพยนตร์เรื่อง ดิ ฮังเกอร์ เกม ในไทย
 
'ยูโรไมดาน' ในยูเครน
ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่ากรณีการประท้วงในยูเครนเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานุโควิช ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย มีการใช้แฮชแท็กและชื่อเรียกว่า #Euromaidan หรือ 'ยูโรไมดาน' ซึ่งมาจากชื่อจัตุรัสไมดาน เนซาเลซนอสติ (Maidan Nezalezhnosti) หรือที่แปลว่า "จัตุรัสแห่งเอกราช" โดยจัตุรัสนี้ถูกเปลี่ยนชื่ออยู่หลายครั้งจนกระทั่งมีการเปลี่ยนเป็นชื่อดังกล่าวหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ด้วย
การเคลื่อนไหวยูโรไมดานมีขึ้นเพื่อต่อต้านการที่ยานุโควิชยกเลิกการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับยุโรปชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวยูเครนส่วนหนึ่งมีแนวคิดสนับสนุนยุโรปมากกว่าจะยอมรับอิทธิพลจากรัสเซีย เพราะเห็นว่ายุโรปเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่แท้จริงรวมถึงการเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างจากระบบที่ฉ้อฉลและการใชักำลังตำรวจปราบจลาจลอย่างรุนแรงโดยยานุโควิช

'S.O.S.' ในเวเนซุเอลา
ชาวเวเนซุเอลาทนไม่ไหวในเรื่องอัตราอาชญากรรมและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงภายในประเทศ จึงพากันออกมาประท้วงรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีนิโกลาส์ มาดูโร ในสโลแกน "SOSVenezuela" เสมือนเป็นการส่งสัญญาณฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ ความคิดนี้มาจากกลุ่มนักกิจกรรม "อุน มุนโด ซิน มอร์ดาซา" (โลกที่ไม่มีการเซ็นเซอร์) เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลเวเนซุเอลาปิดกั้นสื่อ
ในการประท้วงเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลบุกโจมตีแหล่งปักหลักชุมนุมของฝ่ายต่อต้าน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการทำลายแผงกั้นและบุกจับกุมผู้ชุมนุมหลายพันราย มีผู้ชุมนุมจากทั้งสองฝ่ายอย่างน้อย 43 คน เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง แม้ว่าการประท้วงจะสลายตัวไปแต่ปัญหาเรื่องอัตราอาชญากรรมและการขาดแคลนสินค้าในชีวิตประจำวันยังคงมีอยู่ แต่ก็ทำให้ความนิยมของมาดูโรลดลง

'ดอกทานตะวัน' ในไต้หวัน
ช่วงเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ชาวไต้หวันมากกว่า 100,000 คนประท้วงต่อต้านที่ทางการไต้หวันแอบเซ็นสัญญาทางการค้ากับจีนเนื่องจากกลัวว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้นต่อไต้หวันอีกทั้งยังกังวลเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการของรัฐบาลไต้หวันเอง ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเองก็ยอมรับว่าจะใคร่ครวญมากขึ้นในการทำสัญญากับจีน
สัญลักษณ์ชูดอกทานตะวันของผู้ประท้วงเป็นเครื่องหมายแทน "แสงสว่าง" หรือก็คือ "ความโปร่งใส" ในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน

'นำลูกสาวของพวกเราคืนมา' ในไนจีเรีย
หลังเหตุการณ์ลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนชิบอกในไนจีเรียโดยกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามเมื่อเดือน เม.ย. สร้างความไม่พอใจให้กับชาวโลกเป็นอย่างมากจนมีการรณรงค์ในชื่อ #BringBackOurGirls ที่แปลว่า "นำลูกสาวของพวกเราคืนมา" จนเกิดเป็นกระแสผ่านอินเทอร์เน็ต ที่แม้แต่คนดังอย่างมิเชลล์ โอบามา ภริยาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาลาลา ยูซาฟไซ หญิงชาวปากีสถานที่เคยถูกกลุ่มติดอาวุธตอลีบันยิงศีรษะจนเกือบเสียชีวิต ก็ร่วมรณรงค์ภายใต้คำขวัญนี้ด้วย
เด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไปยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวแต่กลุ่มฐาติและผู้สนับสนุนการณรงค์นี้ก็ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป

'ชูสามนิ้ว' ในไทย
หลังจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ผู้นำเผด็จการทหารในไทยก็สั่งห้ามการประท้วงรวมถึงการแสดงออกในเชิงต่อต้าน ซึ่งรวมถึงการชูสามนิ้วแบบในภาพยนตร์หรือวรรณกรรมเรื่อง 'ดิ ฮังเกอร์ เกมส์' ด้วย
ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่า การแสดงออกชูสามนิ้วถือเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมตามแบบใน ดิ ฮังเกอร์ เกมส์ ทำให้ทางการไทยขู่ว่าจะจับกุมผู้ที่แสดงออกด้วยการชูสามนิ้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว จนกระทั่งในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ดิ ฮังเกอร์ เกมส์ ในไทยก็มีนักศึกษาส่วนหนึ่งถูกทางการควบคุมตัว ทั้งจากกลุ่มที่ชูสามนิ้วในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวปราศรัย และนักศึกษาอีกบางส่วนที่ชูสามนิ้วหน้าโรงภาพยนตร์ นักกิจกรรมไทย สมบัติ บุญงามอนงค์ ระบุว่าการชูสามนิ้วเป็นเครื่องหมายเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง

'ยกมือ อย่ายิง' ในสหรัฐฯ
เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงวัยรุ่นชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ชื่อไมเคิล บราวน์ เสียชีวิต ในเดือน ส.ค. 2557 จุดฉนวนให้เกิดการประท้วงเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจและการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันต่อคนต่างเชื้อชาติ ทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูแขนสองข้างขึ้นเป็นท่าในเชิงยอมแพ้และอย่ายิง
นอกจากนี้ยังมีกรณีของอิริค การ์เนอร์ ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวด้วยการใช้ท่าล็อคคอที่มีกฎหมายห้ามใช้ในรัฐนิวยอร์ก ทำให้มีผู้ประท้วงนำประโยคก่อนเสียชีวิตของการ์เนอร์ที่บอกว่า "ฉันหายใจไม่ออก" มาใช้ในการประท้วง นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากไม่พอใจที่คณะลูกขุนใหญ่มีมติไม่สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงทั้งสองกรณี
'การประท้วงด้วยร่ม' ในฮ่องกง
เมื่อเดือน ก.ย. 2557 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและผู้ต่อต้านเริ่มปฏิบัติการปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้ทางการจีนยกเลิกแผนการคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตฮ่องกงและให้มีการลงสมัครตามหลักการเลือกตั้งแบบสากล ผู้ประท้วงใช้ร่มในการป้องกันตนเองจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย ทำให้ร่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอย่างสันติ
สื่อหลายแห่งเริ่มเรียกการประท้วงในฮ่องกงว่าเป็น "ขบวนการร่ม" (Umbrella Movement) รวมถึงยังมีการนำสัญลักษณ์มาใช้ในโซเชียลมีเดีย และในศิลปะการจัดวาง
แม้ว่าการประท้วงจะยังไม่สามารถทำให้ทางการจีนเปลี่ยนใจได้ แต่แทตต์ ซีฮาน นักข่าวจากสำนักข่าวเวิลด์โพสต์ ไชน่า กล่าวว่า การประท้วงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้คนหนุ่มสาวในฮ่องกงมีความเข้มแข็งมากขึ้นและไม่ยอมเอนเอียงตามอำนาจของผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่มากเท่าคนรุ่นก่อนหน้านี้
'43' ในเม็กซิโก
เหตุเกิดในเดือน ก.ย. 2557 เมื่อนักศึกษาวิทยาลัยครูในเม็กซิโก 43 คน หายตัวไปหลังจากถูกซุ่มโจมตีจากตำรวจช่วงเดินทางกลับจากการประท้วง ทางรัฐบาลเม็กซิโกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่ามีแก๊งอาชญากรรมท้องถิ่นรับสารภาพว่าร่วมมือกับตำรวจและนายกเทศมนตรีท้องถิ่นสั่งหารนักศึกษา แต่ญาติและนักข่าวบางคนก็สงสัยว่ารัฐบาลกลางของเม็กซิโกก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
การหายสาบสูญของนักศึกษาที่ไปประท้วงสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประชาชนทั่วประเทศและในต่างประเทศซึ่งมองว่ามีการอุ้มหายนักศึกษา มีผู้ประท้วงบางส่วนเขียนตัวเลข '43' เท่ากับจำนวนนักศึกษาที่หายตัวไปตามที่ต่างๆ อย่างบนกำแพง บนใบหน้า และบนป้ายประท้วง มีป้ายประท้วงแผ่นหนึ่งเขียนว่า "พวกเราอยู่ไม่ครบทุกคน เพราะขาดไป 43 คน"
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าการประท้วงการหายตัวไปของนักศึกษานี้สะท้อนให้เห็นวิกฤติด้านความปลอดภัยของเม็กซิโกที่มีอาชญากรรมการสังหารและการอุ้มหายมากกว่า 20,000 ราย
นอกจากเลข 43 แล้วยังมีการล้อเลียนประโยคที่อธิบดีกรมอัยการของเม็กซิโกเคยกล่าวไว้ในที่ประชุมแถลงข่าวว่า "ผมทนมามากพอแล้ว" กลายมาเป็นคำขวัญประท้วงและแฮชแท็กในอินเทอร์เน็ตว่า #YaMeCanséDelMiedo ("ฉันทนอยู่กับความกลัวมามากพอแล้ว")

กสทช.เล็งชงออกนโยบายลงทะเบียนใช้ไวไฟ แก้ปัญหาหมิ่นสถาบันฯ

กสทช.เผยทิศทางปี 58 เล็งชง ครม.ออกนโยบายลงทะเบียนยืนยันตัวตนในการใช้อินเทอร์เน็ตไวไฟ แก้ปัญหาหมิ่นสถาบัน เดินหน้าประมูล 4 จี เตรียมให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะอีกสามช่อง
5 ม.ค. 2558 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 สำนักงานฯ มีแผนจะดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ดังนี้
  • 1. การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz  เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาระบบ 4 G LTE เพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการเข้าสู่ยุค Digital Economy โดยเราจะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต และการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อีก 2 ใบอนุญาต รวม 4 ใบอนุญาต ขณะนี้อยู่ในระหว่างนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อดำเนินการประมูลดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการเคาะราคาประมูลได้หลังจากวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 อย่างแน่นอน สำหรับรายได้ที่เกิดจากการประมูลครั้งนี้ จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก
  • 2. การเปิดประมูลเลขสวย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300,000 เลขหมาย โดยในขณะนี้ ได้จัดทำหลักเกณฑ์แล้วเสร็จอยู่ในระหว่างเสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อดำเนินการ คาดว่าจะมีการเปิดประมูลได้ในเดือนเมษายน 2558 นี้ สำหรับรายได้ที่เกิดจากการประมูลซึ่งไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท สำนักงาน กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด
  • 3. การให้ประชาชนลงทะเบียนซิมพรีเพดทั้งซิมเก่า และซิมใหม่ ถึงแม้ว่าสำนักงาน กสทช. จะได้มีการดำเนินการในส่วนนี้แล้ว ซึ่งขณะนี้มีประชาชนมาลงทะเบียนแล้วเป็นจำนวนกว่า 1.3 ล้านเลขหมาย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยจะเร่งรัดให้มีการดำเนินการลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน
  • 4. การลงทะเบียนแสดงตนในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อินเทอร์เน็ตไปในทางที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่ว่าด้านหมิ่นสถาบัน สร้างความแตกแยกในสังคม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของสังคมไทย ลดการแอบอ้างข้อมูลส่วนตัวมาเข้าใช้งาน และหากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องหรือใช้ในการกระทำผิด สำนักงาน กสทช. จึงได้รีบดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟ จะต้องลงทะเบียนโดยการใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าใช้งานไวไฟ โดยจะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล
  • 5. การแจกคูปองดิจิตอลทีวี ซึ่งขณะนี้มีการแจกคูปองดิจิตอลทีวีไปแล้วประมาณ 7.045 ล้านใบ โดยสำนักงาน กสทช. จะเร่งแจกให้ครบทั้ง 14.1 ล้านครัวเรือน ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำเนินการแจกให้กับครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน และมีเจ้าบ้าน ภายในเดือนมีนาคม 2558 โดยจะเร่งรัดให้มีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมตามแผน
  • 6. จะมีการให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะเพิ่มเติมอีก 3 ใบอนุญาต (3 ช่อง) อาทิ ช่องรัฐสภา เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน ช่องความมั่นคงของรัฐ ช่องความปลอดภัยสาธารณะ ช่องการศึกษา เพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • 7. จะมุ่งเน้นการกำกับดูแล โดยในปี 2558 จะมีการกำกับดูแลแบบเข้มข้นมากว่าปี 2556 และ 2557 โดยขณะนี้ได้มีการทำหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าปรับต่างๆ ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ทำตามคำสั่งที่สั่งให้ดำเนินการ จะทำให้การกำกับดูแลเป็นไปด้วยดีกว่าที่เป็นมา และจะทำงานอย่างรวดเร็ว กระชับ เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด
  • 8. เน้นการใช้จ่ายงบประมาณของ กสทช. ให้มีประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

เอกนัฏชี้แจงนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ใช่ข้อเสนอ กปปส. - คำนูณรับทราบและขออภัย



เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ตอบคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าข้อเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. "ไม่อยู่ในข้อเสนอของมวลมหาประชาชน" หากจะเขียนใน รธน. ก็ต้องระบุให้ชัดว่าใช้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น ขณะที่คำนูณรับทราบแล้ว และจะนำข้อสังเกตไปแจ้งให้ กมธ.ร่าง รธน. รับทราบถึงข้อกังวล
6 ม.ค. 2558 - ตามที่คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์สเตตัสเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ต่อกรณีท่าทีของเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ที่ไม่เห็นด้วยต่อการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ทั้งที่ในช่วงเคลื่อนไหว กปปส. เคยมีข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.
ต่อมา เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้โพสต์สเตตัสชี้แจงคำนูณ ยืนยันว่าข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. นั้น ไม่อยู่ในข้อเสนอของ กปปส. โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีที่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ผมได้อ่านความเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งแล้ว เห็นว่าท่านคงเข้าใจความหวังดีของผมและมวลมหาประชาชนผิดไป
ภารกิจการร่างกติกาใหม่เป็นหัวใจของการปฏิรูป ภาระนี้คงสร้างแรงกดดันไม่น้อย หลายครั้งผมก็ให้กำลังใจ แต่สิ่งใดที่เป็นเจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชนผมคงต้องพูดแบบไม่เกรงใจ ท่านอาจจะเคืองบ้าง ใช้วาจากระทบกระทั่งผมบ้าง ผมเข้าใจและไม่ติดใจ แต่ต้องขอชี้แจงด้วยหลักการและเหตุผลเพื่อไม่ให้สับสนครับ
ข้อเสนอของมวลมหาประชาชนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำในช่วงที่มีการชุมนุมได้มีการสรุปและเสนอไปแล้ว ขณะนี้การชุมนุมก็ยุติไปแล้ว ผมคงไม่สามารถไปเพิ่มเติมหรือปรับแก้อะไรได้ ความเห็นของแกนนำคงเป็นเพียงแต่ความพยายามที่จะสะท้อนเจตจำนงค์ของมวลมหาประชาชนเท่านั้น
เรามองว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่การซื้อเสียงทุกระดับ ตั้งแต่ซื้อพรรคการเมือง ซื้อนักการเมือง ซื้อความจงรักภักดี และซื้อเสียงของประชาชน ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการกำจัดการซื้อเสียงทุกระดับ ทำได้ด้วยการสร้างระบบป้องกันที่ดี เช่น การยุบ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ การเพิ่มโทษ เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคต้องมีฐานสมาชิก ต้องมีช่องทางที่จะระดมทุนไปทำกิจกรรมอย่างเพียงพอ สมาชิกต้องมีอำนาจและส่วนร่วมในการบริหารจัดการพรรค ถ้าพรรคเข้มแข็งและเป็นของประชาชน ประชาชนก็เป็นใหญ่ แต่ถ้าพรรคอ่อนแอก็จะถูกนายทุนเข้ามาครอบงำ หลักการง่ายๆ และสามารถทำได้ครับ
ส่วนกรณีที่ท่านจะเสนอให้นายกฯ เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ส.ส. นั้น ไม่อยู่ในข้อเสนอของมวลมหาประชาชน
แต่ไม่ได้แปลว่าจะดีหรือไม่ดีนะครับ ...
ข้อเสนอนี้ผมได้แสดงความกังวลไปแล้วว่า อาจเป็นการเปิดช่องทางให้นายทุนสามารถเข้ามาซื้อเสียงโหวตในสภาและเป็นนายกฯได้โดยไม่ต้องออกแรงลงเลือกตั้งเอง
ผมและมวลมหาประชาชนเคยเดินไปหาท่าน (เมื่อครั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา) ขอให้เลือกนายกเป็นกรณีพิเศษ เพราะนายกสิ้นสภาพ ไม่มีสภา ไม่มีส.ส.ที่จะมาโหวตเลือกนายก และไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันได้ เหลือแต่ ส.ว.เท่านั้นที่ยังมีจุดยึดโยงกับประชาชน จะช่วยผ่าทางตันได้
การคิดรวมๆ ว่า กปปส.ในสถานการณ์พิเศษขณะนั้นเคยขอให้ ส.ว.เลือกนายกคนนอก และติดความต่อว่า กปปส.อยากให้รัฐธรรมนูญใหม่มีนายกมาจากคนนอกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งนั้น เป็นการเข้าใจผิด
ถ้าท่านจะเขียนใหม่เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ควรหาทางระบุให้ชัดว่านายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจใช้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้น หากจะยกหลักอ้างอิงให้เข้าใจง่ายก็เช่น ในสถานการณ์ปกติฆ่าคนตายทำไม่ได้ แต่ยกเว้นในกรณีการป้องกันตัว
ผมไม่อยากให้ท่านเข้าใจความหวังดีของเราผิด กรุณาอย่าสรุปประเด็นจากพาดหัวข่าว ท่านแบกภาระอันใหญ่หลวงเอาไว้เราเข้าใจ แต่นี่ไม่ใช่เวลามาพูดอวยเพื่อให้สบายใจ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ความหวังของมวลมหาประชาชนฝากไว้กับท่านและคณะกรรมาธิการฯครับ
(ภาพ: ผมและมวลมหาประชาชนรอคอยหน้ารัฐสภาด้วยความหวัง)
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
โฆษก กปปส.
กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ
ทั้งนี้ในความเห็นดังกล่าว เอกนัฏได้โพสต์ภาพประกอบสเตตัสเป็นรูปผู้ชุมนุม กปปส. และเขียนข้อความว่า "มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่" ด้วย
ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 5 ม.ค. คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความตอบเอกนัฏใน เฟซบุ๊คของเขา มีใจความว่า
"คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์เป็นอดีต ส.ส.เขตทวีวัฒนาบ้านผม รู้จักกันดี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเคลื่อนไหวประเด็นขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่ถนนพุทธมณฑลสายสองเมื่อปี 2555 ชื่นชมในความเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านมาเป็นโฆษกกปปส. ขอน้อมรับฟังคำชี้แจงของท่าน และจะนำข้อสังเกตไปแจ้งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับทราบถึงข้อกังวล
การที่ผมแสดงความคิดเห็นไปเมื่อวาน ก็เพื่อชี้แจงมุมมองของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต 2 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ทำให้ไม่สามารถหาผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจากส.ส.ได้ จึงเห็นสมควรเขียนคุณสมบัติเปิดกว้างไว้
ทั้งนี้ โดยได้ฟังความเห็นของท่านจากข่าวค่ำช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ค่ำวานซึ่งอาจไม่ครบถ้วนกระบวนความ จึงได้ขออภัยล่วงหน้าไปแล้ว
ขออภัยอีกครั้งหากมีข้อความใดไม่เหมาะสม และขอขอบคุณในคำชี้แจงและความปรารถนาดี"

2 องค์กรประชาสังคมลั่น ไม่ร่วมเวทีให้ข้อมูลเขื่อนดอนสะโฮงที่สโมสรทหารบก พรุ่งนี้

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ชี้แค่พิธีกรรม หวั่นจัดที่สโมสรทหารบก ส่งผลบรรยากาศการเข้าร่วม-แสดงออกไม่มีเสรีภาพ ด้านโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชี้การประชุมไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามกฎหมายไทย

6 ม.ค. 2558 กรณีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จะดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของ สปป. ลาว ในวันที่ 7 ม.ค. ที่ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงออกจดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีดังกล่าว ชี้เป็นแค่พิธีกรรม อีกทั้งการจัดที่สโมสรทหารบกยังเป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วมและแสดงออกไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ นอกจากนี้ เสนอให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจ
ด้านโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เขียนจดหมายถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำเนาถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ระบุจะไม่เข้าร่วมการประชุมในวันพรุ่งนี้เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าการประชุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และประชาชนไทยควรปกป้องมิให้เกิดโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและละเมิดสิทธิในทรัพยากรและการดำรงชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำโขง

รายละเอียด มีดังนี้

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
5 มกราคม 2558
ตามที่ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศดำเนินโครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสักทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวน PNPCA ซึ่งจะต้องมีการดำเนินกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มในปลายเดือนกันยายน 2557 และจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558
ในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการ “ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง” ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย หนองคาย และ เลย ตามลำดับ และในวันที่ 7 มกราคม ศกนี้ กำหนดจะจัดเวที ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร
เครือข่าย ประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามกระบวนการดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด และเคยมีจดหมายไปยังกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากร แม่น้ำโขงในการดำรงชีพ มิใช่เพียงจัดให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว หรือเป็นเพียงเครื่องมือของอุตสาหกรรมเขื่อนและกลุ่มทุน
อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ ไม่ได้นำมาปฏิบัติแต่อย่างใด เวทีที่จัดทั้ง 5 ครั้ง เป็นเพียงการบอกกล่าว “ให้ข้อมูลโครงการ” แต่ถึงกระนั้นผู้จัดก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลผลกระทบอย่างกระจ่างชัด โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น ไม่สามารถตอบคำถามข้อกังวลของชาวบ้านได้ และไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เชื่อว่า กระบวนการนี้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการพิจารณาและตัดสินใจในโครงการเขื่อนที่จะ สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของ ภูมิภาค
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า “ประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยริมโขง เราได้แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่เอาเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนตอนบนในจีน หรือเขื่อนตอนล่าง การจัดเวทีง่ายๆ เชิญคนไม่กี่คนมานั่งฟัง ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ดูภาพรวมของเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ตั้งแต่จีน และ 11 เขื่อนตอนล่าง แบบนี้ก็เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น”
นอกจากนี้ การจัดประชุมในวันที่ 7 มกราคม ยังใช้สถานที่สโมสรทหารบก เป็นการตอกย้ำว่า กรมทรัพยากรน้ำปราศจากความจริงใจและไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของ ประชาชนไทยในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ และทำให้บรรยากาศในการเข้าร่วม และแสดงออกต่อข้อกังวล ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีเสรีภาพ
"ด้วยเหตุผลดังกล่าวพวกเราจึงไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้"
แม่ น้ำโขงเป็นดั่งมารดาของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง เฉพาะในประเทศไทยก็กินพื้นที่ถึง 8 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน มิใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด การตัดสินใจใดๆ ต่อแม่น้ำโขง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เพียงพอ กระบวนการที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยืนยันข้อเรียกร้องในการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ดังนี้
1. ให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือออกไปอีกมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้เพียงพอที่จะดำเนินการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสิน ใจ
2. ให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุมอย่างน้อย 1 เวที ในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้ประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง
3. ให้มีการแปลเอกสารโครงการเขื่อนดอนสะโฮง และข้อมูลที่ เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทย โดยต้องเป็นข้อมูลที่เพียงพอในการ พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการ เพื่อเผยแพร่ล่วงหน้า อย่างน้อย 30 วันในแต่ละเวทีดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ให้ผู้ลงทุนเอกชน เจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชนให้รอบด้าน
5. ให้ดำเนินการบนฐานของการเคารพต่อสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว
6. ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิ มนุษยชน ทั้งของประเทศไทย ในภูมิภาค และในระดับสากลอย่างเคร่งครัด


ที่ มฟธ 001/2558

5  มกราคม  2558

เรื่อง    โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกระบวนการ PNPCA
เรียน    ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อ้าง ถึง  จดหมายกรมทรัพยากรน้ำ เลขที่ ทส 0630/ว.695 เรื่อง ขอเชิญเข้าร่วมการดำเนินการให้ข้อมูล โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามกระบวนการ PNPCA ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557

ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จะดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของ สปป. ลาว ตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ครั้งที่ 6 เพื่อสรุปข้อกังวล ประเด็นคำถามและข้อเสนอแนะ จากการดำเนินการให้ข้อมูลฯ ทั้ง 5 ครั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น
โครงการ ฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในฐานะองค์กรที่ติดตามประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา และในฐานะสมาชิกของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) จะไม่เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 7 มกราคม 2558  ทั้งนี้ โดยมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. เราเห็นว่ากระบวนการ PNPCA ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป. ลาว ในปี 2553-2554 เป็นกระบวนการที่ล้มเหลว กล่าวคือ มีการจัดการประชุมในประเทศไทย 4 ครั้ง  และผู้เข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง มีข้อสรุปตรงกันว่า เป็นการประชุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายของประเทศไทย และผู้เข้าร่วมและภาคประชาสังคมไทยมีจุดยืนที่ชัดเจน ในการคัดค้านโครงการฯไซยะบุรี
อย่างไรก็ตาม รายงานของกรมทรัพยากรน้ำ ที่เสนอไปยังคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission (MRC)’s Joint Committee) กลับมีเนื้อหาคลุมเครือ สะเปะสะปะ จนไม่อาจสะท้อนข้อเป็นห่วงของภาคประชาสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งคณะกรรมการร่วมฯ ก็มิได้กำกับดูแลให้กระบวนการ PNPCA ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง จนกระทั่งฝ่ายไทยและ สปป.ลาว โดยเฉพาะหน่วยงานและนักลงทุนของไทยที่เกี่ยวข้อง สามารถเร่งรัดการลงนามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า และดำเนินการก่อสร้างได้ในท้ายที่สุด ในท่ามกลางข้อกังขาของทุกฝ่าย

กระบวน การ PNPCA ที่จัดขึ้นในประเทศไทย และโดยภาพรวม จึงปราศจากความน่าเชื่อถือ และยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดว่า เป็นกระบวนการที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนและภาคประชาสังคมไทย ซึ่งถือว่ามีความเข้มแข็งมากที่สุดในภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ อันเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรน้ำไม่เคยชี้แจง และแสดงความรับผิดชอบใดๆ

2. เราขอคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง  ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำลายระบบนิเวศของพื้นที่สีพันดอนในประเทศ สปป.ลาว และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและถาวร เขื่อนดอนสะโฮงจะกีดขวางทางน้ำฮูสะโฮง ซึ่งเป็นทางน้ำที่มีปลาว่ายอพยพผ่านมากที่สุดในแม่น้ำโขง เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญยิ่งต่อการประมงน้ำจืดลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โครงการนี้ ยังจะเป็นภัยคุกคามต่อปลาอพยพขนาดใหญ่ที่หายากและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งปลาบึกและปลาเอิน และโลมาอิระวดี

การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิด การขุดลอกดินและหินที่ท้องแม่น้ำในบริเวณฮูสะโฮงออกมามากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเปิดทางให้มีน้ำไหลเข้าฮูสะโฮงเป็นจำนวนมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุทกวิทยาในพื้นที่สี่พันดอนที่เหลือทั้งหมด เมื่อพิจารณาผลได้ผลเสียโดยรวมของโครงการซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ของเขื่อนดอนสะโฮง จึงเป็นผลประโยชน์ที่เทียบกันไม่ได้กับผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นอย่าง รุนแรงต่อการประมง วิถีชีวิตของประชาชน และต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนหลายล้านคนในประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา ไทยและเวียดนาม

อนึ่ง กำลังผลิตไฟฟ้าและผลผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนดอนสะโฮง คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก (ไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตในประเทศไทย) ซึ่งไม่มีนัยต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และสามารถจัดหาทดแทนได้ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากกว่า

โครงการ เขื่อนดอนสะโฮงจึงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแม่น้ำโขง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3. กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย และประชาชนไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ย่อมต้องมีหน้าที่ปกป้อง มิให้เกิดโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบและละเมิดสิทธิในทรัพยากรและการดำรง ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำโขง

รายงาน สรุปจากการประชุมทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ต้องเป็นรายงานที่สะท้อนจุดยืนของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งคัดค้านโครงการเขื่อน ดอนสะโฮง  นอกจากรายงานสรุปแล้ว กรมทรัพยากรน้ำจะต้องรวบรวมจดหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนดอนสะโฮ งของภาคประชาสังคมทุกฉบับ และเสนอให้ประเทศลาวและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาครับรู้ โดยให้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีช่องทาง และระยะเวลาที่ประชาชนจะสามารถทักท้วงได้หากพบว่าไม่เป็นตามข้อเท็จจริง ความล้มเหลวดังที่ได้กล่าวข้างต้นกรณีโครงการฯไซยะบุรี จะต้องไม่เกิดซ้ำรอยอีก

จึงเรียนมาเพื่อแถลงจุดยืนและคัดค้านโครงการดังกล่าว

ขอแสดงความนับถือ


(นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง)
ผู้อำนวยการร่วม โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


สำเนาถึง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ

‘ประยุทธ์’ ประเดิมคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ผู้บริหาร-สมาชิก อปท.หมดวาระอยู่ต่อ

พลเอกประยุทธ์ ใช้อำนาจ ม.44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 1 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระหลัง 1 ม.ค.58 ดำรงตำแหน่งต่อไป ระบุสถานการณ์คลี่คลาย ประชาชนร่วมมือแก้ปัญหาประเทศ
6 ม.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 1/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา
คำสั่งดังกล่าวระบุว่า เป็นการ “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557”  ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.สั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ในกรณีที่หัวหน้า คสช. “เห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร”
ในคำสั่งอ้างถึงประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ที่ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่ง และกำหนดให้สรรหาบุคคลที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาท้องถิ่นไปพลางก่อน และระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าปัจจุบันประชาชนในท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการแก้ไขปัญหาของประเทศ สถานการณ์จึงได้คลี่คลาย “จึงสมควรให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  แต่เดิมมีส่วนรับผิดชอบในฐานะตัวแทนของประชาชนในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น อันจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในสถานการณ์ที่ยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน”
สาระสำคัญโดยสรุปของคำสั่งดังกล่าว กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่ง ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และหากมีจำนวนสมาชิกไม่ครบหรือพ้นจากตำแหน่งในภายหลัง ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่โดยไม่ต้องคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่าง สำหรับกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นมีจำนวนเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ให้ใช้การสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557
โดยทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 และประกาศ คสช.ที่ 86/2557 ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นใน อปท.ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 และประสงค์จะกลับเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้มารายงานตัวต่อประธานกรรมการสรรหาภายในวันที่ 11 มกราคม 2558 และเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นได้นับแต่วันที่ประธานกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้ง และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เคยได้รับการประกาศแต่งตั้งตามประกาศ คสช.พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นขึ้นใหม่
ในคำสั่งกล่าวถึง กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เหลืออยู่เป็นอันสิ้นสุดลง หรือในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น ให้มีการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557
โดยคำสั่งกำหนดให้ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ประยุทธ์ เชื่อไร้ทุจริตสติกเกอร์ไลน์ ระบุ “มีใครโง่ที่จะโกงเงินแค่ 7 ล้าน”

          หลังจากที่วานนี้(5 ม.ค.58) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ผ่าน พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการกำหนดราคากลางในการจัดทำหรือจัดซื้อจัดจ้างการดำเนินการโครงการจัดทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการที่กระทรวง ไอซีทีเป็นผู้จัดทำนั้น มีราคาแพงเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมาย (อ่านรายละเอียด)
          ล่าสุดวันนี้(6 ม.ค.58) สำนักข่าวไทย รายงานความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอให้ดูเจตนาและความตั้งใจในการจัดทำ แต่หากมีหลักฐานว่ามีการทุจริต ขอให้ส่งข้อมูลมาให้ เพื่อนำไปตรวจสอบ และจะดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ที่ทุจริต แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะเป็นเงินจำนวนไม่มาก
           “คงไม่คิดว่ามีใครโง่ที่จะโกงเงินแค่ 7 ล้าน ซึ่งถือว่าไม่มาก  ที่ผ่ามมาผมก็ตรวจสอบทุกโครงการ ที่ทำงานทุกวันนี้ก็เหนื่อย  ไหนจะคิดโครงการ ไหนจะต้องมาตรวจสอบการใช้เงิน ดังนั้น หากมีหลักฐานก็ต้องส่งมา อย่ามากล่าวหากัน ผมพร้อมจัดการเด็ดขาด แต่การแก้ปัญหาทุจริต ต้องขึ้นกับจิตสำนึกของแต่ละคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รบ.เตรียมร่อนหนังสือถึงทุกประเทศที่ผู้ต้องหาหนีคดีปักหลักเคลื่อนไหว

            ประยุทธ์ เผย กต.ทำหนังสือถึงนิวซีแลนด์ กรณี 'ตั้ง อาชีวะ' เพื่อชี้แจงว่าเป็นความผิดทางอาญา ไม่ใช่ทางการเมือง เตรียมทำหนังสือถึงทุกประเทศที่ผู้หลบหนีคดีไปเคลื่อนไหว
            6 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือถึงประเทศนิวซีแลนด์ ชี้แจงการดำเนินคดีนายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ ว่า เป็นการทำหนังสือชี้แจงความผิดของบุคคลที่หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ว่าเป็นความผิดทางอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และการเคลื่อนไหวในต่างประเทศได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในประเทศไทย จึงขอให้ส่งตัวกลับประเทศไทย เพื่อดำเนินคดี
               พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จะมีการทำหนังสือถึงทุกประเทศ ที่บุคคลที่ทำความผิดทางอาญาหลบหนีไปอยู่ และมีการเคลื่อนไหวอยู่ ยอมรับว่า แม้มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่บางประเทศไม่เข้าใจ และไม่ยอมส่งตัวให้ เพราะความผิดที่ถูกดำเนินคดีในไทย ในต่างประเทศไม่มีกฎหมายรองรับ  การดำเนินการดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นคนไทยเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยกับบุคคลเหล่านี้ 
              วานนี้ (5 ม.ค.) กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายเอกภพ เหลือรา หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2557 ระบุว่า ได้รับหนังสือเดินทางของนิวซีแลนด์ และได้พำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์เรียบร้อยแล้วว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2557 กระทรวงการต่างประเทศเชิญนายแชนนอน ออสติน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เข้าพบเพื่อขอรับทราบเกี่ยวกับสถานะของนายเอกภพ ในการพำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยกำลังตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์และกระทรวงการต่างประเทศจะเชิญเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อขอทราบสถานะและความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป

             โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อฝ่ายนิวซีแลนด์ เนื่องจากนายเอกภพใช้ประโยชน์จากการได้รับสถานะที่ได้รับจากรัฐบาลนิวซีแลนด์การเคลื่อนไหวทางการเมืองและกระทบต่อความมั่นคงไทย ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าและต้องการความสมานฉันท์
          นายเสกกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวอาจไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ไทยและนิวซีแลนด์ ไทยจึงต้องการขอรับทราบคำชี้แจงที่ชัดเจนจากนิวซีแลนด์เกี่ยวกับสถานะที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ให้แก่นายเอกภพ รวมทั้งได้แจ้งขอให้ฝ่ายนิวซีแลนด์พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม เพื่อยุติการเคลื่อนไหวที่ผิดต่อกฎหมายไทยของนายเอกภพในนิวซีแลนด์
          ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ว่าขณะนี้มีกลุ่มชุมชนชาวไทยที่พำนักอยู่ในนิวซีแลนด์ได้เปิดเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก โดยโพสต์ข้อความคัดค้านกรณีได้ถิ่นพำนักและได้เอกสารนิวซีแลนด์ของนายเอกภพ และการที่นายเอกภพใช้สถานะดังกล่าวเคลื่อนไหวทางการเมือง และชุมชนไทยยังได้ส่งจดหมายถึงนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝ่ายค้านแสดงการคัดค้านต่อการให้สถานะแก่บุคคลดังกล่าว อีกทั้งชุมชนไทยบางส่วนรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้เพิกถอนสถานะนายเอกภพ นอกจากนี้ ยังมีชาวนิวซีแลนด์บางส่วนส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เพื่อเรียกร้องในกรณีนายเอกภพอีกด้วย
            ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนิวซีแลนด์ให้พาสปอร์ตแก่นายเอกภพจริง จะกระทบต่อไทยอย่างไร นายเสกกล่าวว่าประเทศไทยและนิวซีแลนด์เป็นมิตรกันมาช้านาน โดยฝ่ายไทยคาดหวังไม่ให้นิวซีแลนด์อนุญาตให้คนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทยใช้นิวซีแลนด์เป็นฐานเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างไรเสียกระทรวงการต่างประเทศต้องขอทราบความกระจ่างจากทางเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยก่อน โดยรอดำเนินการหลังจากเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยกลับมายังไทยก่อน