วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

TDRI ชี้ ‘น้ำท่วม-แล้ง’ ไม่ได้เป็นเพราะแค่ภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากปัญหาด้านการจัดการ


เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ร่วมกับ International Development Centre (IDRC) จัดเสวนาในหัวข้อ ‘การบริหารการจัดการน้ำของประเทศไทย: ข้อเสนอเชิงนโยบาย’ ที่ห้องบอลรูม2 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์  โดยรายงานเสวนานี้จะเสนอส่วนของ นิพนธ์ พัวพงศกร อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และเดือนเด่น  นิคมบริรักษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
000000

นิพนธ์ พัวพงศกร : การจัดการน้ำแบบไม่ใช่สิ่งก่อสร้างในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา : การศึกษาด้านสถาบัน

นิพนธ์ กล่าวว่า วิกฤตน้ำท่วมหรือวิกฤตน้ำแล้งมิได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากปัญหาการจัดการน้ำอีกปัจจัยหนึ่งด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง แต่ปัญหาการจัดน้ำกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ปัญหาด้านการจัดการน้ำเกิดจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอหรือเสื่อมโทรม ถัดมาคือการจัดการที่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากการไร้เอกภาพ ขาดกฎหมายหรือกติกาที่ชัดเจน การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และการเมืองแทรกแซงในแต่ละรัฐบาล การแก้ปัญหาและเยียวยา ครัวเรือนมีการปรับตัวหลังน้ำท่วม แต่ในระดับชุมชนและเมืองแทบไม่มีการปรับตัวใดๆ
องค์การปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการปรับตัวอย่างจำกัดในเชิงระบบตามกฎหมายการกระจายอำนาจมีพันธะกิจในการวางแผนการใช้ที่ดิน การรวมตัวแบบไม่เป็นทางการเพื่อแก้ปัญหามีปัญหาทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ มีการรวมตัวแบบหลายชุมชนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม อันนี้เกิดขึ้นบ่อยในชุมชนต่างๆ แต่มีข้อจำกัดระยะยาว เช่น หมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งในชุมชนมีข้อจำกัดด้านพันธมิตรและเครือข่ายเนื่องจากกลุ่มเครือข่ายหรือพันธมิตรที่ทำงานอยู่ไม่สามารถทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ได้ ในระดับประเทศ ภาค และท้องถิ่นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎ กติกาการดำเนินงาน กฎกติกาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน การเลือกว่าจะเลือกทำงานในเรื่องไหนบ้าง หรือกฎหมายตั้งแต่ระดับพระราชบัญญัติขึ้นไป เหล่านี้คือปัญหาในด้านการจัดการที่ดิน  เพราะขาดเครื่องมือในการแบ่งใช้ที่ดิน เช่น กรุงเทพมหานคร  
ปัญหาด้านการจัดการน้ำ : ปัญหาโครงสร้าง ขาดกฎกติกา นโยบายผิด การเมืองแทรกและการใช้ที่ดิน
นิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาการจัดการน้ำทั้งน้ำท่วมและแล้งไม่ได้มาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านโครงสร้าง การจัดการที่ล้มเหลว ไร้คุณภาพ ขาดกฎกติกา นโยบายผิดพลาด การเมืองแทรก  ปัญหาการใช้ที่ดิน ผลกระทบก็คือ การใช้ที่น้ำไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วม ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เราเสียหายมากกว่าปี 2538 ทั้งๆ ที่ระดับน้ำใกล้เคียงกัน รัฐบาลรับมือโดยมีแผนแม่บท และเรามีข้อเสนอการจัดการน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการด้านสิ่งปลูกสร้าง เช่น การป้องกันน้ำท่วม การจัดการน้ำแล้ง แก้ปัญหาน้ำเสีย พยายามมีศูนย์ข้อมูล มีกฎหมายน้ำ แต่ว่าเป็นการแก้ไขในลักษณะการเขียนกฎหมายจากบนลงสู่ล่าง 
นิพนธ์ กล่าวถึงโจทย์วิจัยที่ทีมตนเองทำว่า การจัดการน้ำชลประทานแบบรวมศูนย์มีลักษณะอย่างไรและมีจุดอ่อนอย่างไร ประเด็นที่สองคือการเปลี่ยนแปลงระบบจัดสรรของน้ำชลประทานจากระบบรวมศูนย์มาเป็นการกระจายอำนาจสู่คณะกรรมการน้ำมีความเป็นไปได้เพียงใดโดยมีประเด็นย่อยลงไปในเรื่องการกระจายอำนาจของกรมชลประทานโดยการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำมีข้อดีของเสียอย่างไร และอะไรคือข้อต่อสำคัญในการกระจายอำนาจการจัดการน้ำ ประเด็นถัดมาคือการจัดการน้ำท่วมมีปัญหาที่อย่างไร และท้ายที่สุดการใช้ที่ดินและการวางแผนการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายหลังน้ำท่วมปี 2554
ชี้ภัยแล้งเกิดจากการจัดการที่ผิดพลาดอีกด้วย
กรณีการจัดการน้ำกับวิกฤตน้ำแล้งปี 2558 นิพนธ์ กล่าวว่าว่าสาเหตุของวิกฤตนี้ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ El Nino เท่านั้น แต่เกิดจากการจัดการที่ผิดพลาดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยแล้งปี 2558 หรือเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงเนื่องจากข้อบกพร่องของนโยบายและการจัดการ  
การทำนายังใช้น้ำสิ้นเปลืองมากเนื่องจากน้ำเป็นของฟรี
นิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาความต้องการน้ำมากกว่าต้นทุน โดยมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน โดยปริมาณการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีมากกว่าน้ำต้นทุน การจัดสรรน้ำชลประทานแบบรวมศูนย์กำลังเผชิญปัญหาท้าทายที่รุนแรงขึ้น ซึ่งภายใน ปี 2565 ความต้องการในการใช้น้ำจะมีมากกว่าต้นทุนน้ำที่มี โดยความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำจะสูงขึ้น เพราะการทำนายังใช้น้ำสิ้นเปลืองมากเนื่องจากน้ำเป็นของฟรี
ในยามที่ขาดแคลนน้ำก็จะเกิดปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลและความเป็นธรรมในยามที่ขาดแคลนน้ำ ผู้ใช้น้ำของแต่ละพื้นที่จะใช้วิธีรวมตัวเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ชลประทานให้จัดสรรน้ำเพิ่ม หรือใช้การวิ่งเต้นนักการเมือง เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกร และระหว่างเกษตรกรกับรัฐ เกษตรกรไม่เชื่อคำเตือนของของกรมชลประทานเรื่องน้ำในเขื่อนที่ไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพในการใช้น้ำชลประทานของไทย ต่ำกว่าประเทศพัฒนา เนื่องจากประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจการใช้น้ำชลประทานของเกษตรกรที่อยู่ฝั่งตะวันตกต่ำกว่าฝั่งตะวันออก โดยการแก้ปัญหาการจัดการน้ำเริ่มมีความพยายามในการปฏิรูประบบการจัดการน้ำ โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำทราบปัญหาการจัดการน้ำมานานแล้ว จึงพยายามในการนำเสนอร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำถึง 4 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ในขณะนี้ก็ยังมีร่างฉบับใหม่ของกรมทรัพยากรน้ำ และนอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งแห่งชาติ และคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ชุด โดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ทำไมคณะกรรมการลุ่มน้ำที่แต่งตั้งแบบบนสู่ล่าง จึงใช้การไม่ได้
ขาดข้อต่อสำคัญในระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
นิพนธ์ กล่าวว่า TDRI สันนิษฐานว่าเกิดจากการขาดข้อต่อสำคัญในระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการที่ใช้ มีความพยายามตั้งคณะกรรมการ แต่ไม่ได้ผลเนื่องจากคณะกรรมการน้ำขาดประสบการณ์ จึงไม่สำเร็จ ต่อให้คุณตั้งคณะกรรมการแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มอื่นๆไม่ได้อยู่ดี กรมชลประทานก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อปี 2530 ในปัจจุบันมีสมาชิก 1.03 ล้านคน เพื่อทำหน้าที่ช่วยจัดสรรน้ำชลประทานในพื้นที่ 66% ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด  โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำบางกลุ่มรวมตัวกันตามกฎหมายตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำชลประทาน 49 แห่งและเป็นสมาคมผู้ใช้น้ำ 34 แห่ง  อีกทั้งในช่วงหลังกรมชลประทานยังสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มระหว่างผู้ใช้น้ำประเภทต่างๆในระดับจังหวัดเรียกว่า กลุ่มจัดการชลประทาน(JMC) รวม 216 กลุ่ม ทำหน้าที่จัดสรรน้ำระหว่างเกษตรกรอุตสาหกรรมและประปา  ในระยะหลังกรมชลประทานเริ่มหันมาสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่ม JMC หลังจากที่กลุ่ม JMC ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำจนได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดของสหประชาชาติเมื่อปี 2554  เราจะชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำมีบทบาทความสำคัญจากผลประเมินดังนี้ ผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์มากขึ้นจากการมีกลุ่มผู้ใช้น้ำ  และกลุ่มสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ดีมาก อีกทั้งกลุ่ม JMC ยังสามารถลดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำได้  อย่างไรก็ตามผู้ใช้น้ำมีความพอใจในระดับสูงต่อผลงานของกลุ่มน้อยกว่ากลุ่มคนที่พอใจในระดับปานกลาง  
กลุ่มผู้ใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังมีความเข้มแข็งน้อยมาก
ความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังมีความเข้มแข็งน้อยมาก ผู้ใช้น้ำเชื่อถือข้อมูลเรื่องสถานการณ์น้ำที่ได้จากกลุ่มทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลจากกรมชลประทาน ต่างกับในปัจจุบันที่ผู้ใช้น้ำจำนวนมากไม่เชื่อข้อมูลของกรมชลประทาน ความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำโดยส่วนรวม เพราะในปีที่แล้งจัด กลุ่มจะตัดสินใจไม่ทำนาหรือปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อประหยัดน้ำไว้ใช้ทำนาในฤดูฝนทำให้ความเสียหายลดลง ผลผลิตสูงขึ้น แต่กลุ่มผู้ใช้น้ำก็ยังขาดความสำคัญบางประการ เช่นการขาดงบประมาณ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย 
นิพนธ์ กล่าวว่า มีปัจจัยที่ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำประสบความสำเร็จ พบว่ามีการร่วมมือกัน เช่น การทำความสะอาดคลองหรือเก็บค่าสมาชิก การมีส่วนร่วมของสมาชิก เช่นการเลือกกรรมการ การร่วมกำหนดกติกาการจัดสรรน้ำ ประชุมร่วมกัน และสมาชิกยังได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม เช่น ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ มีการปรับปรุงรูปแบบบริหารให้สนองตามความต้องการของสมาชิก เช่น เปลี่ยนกติกาการจัดสรรน้ำ เพิ่มจำนวนกรรมการ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบางคนเอาใจใส่ช่วยประสานงานกับหน่วยข้าราชการ  หรือกรรมการของกลุ่มผู้ใช้น้ำรู้จักกับข้าราชการและนักการเมืองในจังหวัด สามารถขอความช่วยเหลือทางการเงินได้ แต่ก็ยังมีปัญหาในการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มลุ่มน้ำเนื่องจากเงื่อนไขที่ว่าไทยจะต้องบริหารการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และให้รัฐบาลเก็บค่าใช้น้ำเนื่องจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ซึ่งให้เงินกู้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแก่ไทย
ถึงแม้จะมีการร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ รวม 25 ชุดตามจำนวนลุ่มน้ำ ธนาคารโลกจะให้เงินสนับสนุนการทดลองจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ 3 แห่งโดยมีการจัดฝึกอบรม นอกจากการจัดการประชุม คณะกรรมการลุ่มน้ำก็ยังไม่มีบทบาทที่สำคัญ แต่รัฐบาลชุดนี้กำลังร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วย แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นความพยายามในการก่อตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำจากอำนาจส่วนบน และพยายามแก้ปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องทรัพยากรน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นร่างกฎหมายนี้ยังสะท้อนปัญหาการแย่งชิงอำนาจระหว่างหน่วยราชการซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการลุ่มน้ำที่จะตั้งขึ้นไม่สามารถดำเนินต่อได้อย่างที่คาดหวัง เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดสรรน้ำชลประทานถูกลดบทบาทลง ซึ่งจุดอ่อนของร่างกฎหมายฉบับนี้และฉบับก่อนหน้าคือ การไม่ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจการจัดการน้ำ และสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะเข้ามามีบทบาทหลักในคณะกรรมการลุ่มน้ำได้ และถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายใหม่และสามารถตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำได้ แต่โครงสร้างระบบจัดการน้ำก็ยังขาดข้อต่อสำคัญที่สุดที่จะทำให้คณะกรรมการลุ่มน้ำทำงานอย่างจริงจัง    โอกาสความร่วมมือของกลุ่ม JMC ระหว่างจังหวัดซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อสร้างความร่วมมือกันขึ้นเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเช่นกรณีของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้เหมืองฝายที่อยู่ต่างลุ่มน้ำ

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ : การบริหารจัดการน้ำกับการจัดการด้านสถาบัน

เดือนเด่น กล่าวถึงประเด็นที่จะนำเสนอประเด็นคือการบริหารจัดการน้ำนั้นไม่เป็นระบบอย่างในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ฝ่ายการเมืองก็ตั้งองค์กรขึ้นมาหลายองค์กร โครงสร้างองค์กรที่มีอยู่ก็ได้ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้าง ซึ่งกรณีของน้ำแล้งก็เช่นเดียวกัน โจทย์ของเราคือโครงสร้างขององค์กรการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ควรจะเป็นมีรูปแบบอย่างไร   และนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่แสดงข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยจะสรุปภาพที่ผ่านมาในช่วง 55 ปี ที่ผ่านมา อัตราความถี่ของวิกฤตน้ำแล้งและน้ำท่วมมีเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ตัวอย่างเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 พื้นที่ 65 จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย มีน้ำท่วมขังมากกว่า 3 เดือน  มูลค่าความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท  หรือร้อยละ 13 ของผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศ ปัญหาของการเกิดน้ำท่วมที่รุนแรงและท่วมขังนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ
น้ำท่วมน้ำแล้งแยกออกจากกันไม่ได้
เดือนเด่น กล่าวว่า แรกเริ่มจะศึกษางานวิจัยเพียงแค่เรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม และมีอาจารย์อีกท่านดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ง แต่ภายหลังเมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ พบว่า 2 เรื่องนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวกันคือเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และพอมาศึกษาจริงๆพบว่าการบริหารจัดการน้ำมี 2 สภาวะ คือภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีโครงสร้างองค์กรจะต่างกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน คล้ายกับเหรียญสองด้าน คนที่จะมาบริหารจัดการน้ำในสภาวะปกติจะต้องเข้าใจการบริหารจัดการน้ำในสภาวะฉุกเฉินด้วย ปัญหาการบริหารจัดการน้ำมีหลายมิติ ทั้งการป้องกันและการประเมินความเสี่ยง การบริหารจัดการน้ำที่ดีคือเราจะต้องดูทั้งสองด้าน   
โดยสรุปแล้วการบริหารจัดการน้ำ มี 2 ระบบ คือแบบ macro คือการบริหารจากบนลงล่าง ทุกสำนักที่ไปศึกษาเขียนไว้ตรงกัน  การบริหารจัดการน้ำที่จะต้องเป็นในลักษณะ area based คือพื้นที่ใครพื้นที่มัน แต่ว่าผู้มีอำนาจในการจัดการและกำหนดจะต้องมีอำนาจครอบคลุมในการบริหารจัดการน้ำ แต่ในระดับล่างซึ่งก็คือผู้ใช้น้ำในต่างประเทศไม่สามารถเชื่อมต่อระหว่างระดับบนกับระดับล่างได้ เราต้องมาคิดกันเองว่าจะออกแบบให้ระดับบนและล่างเชื่อมต่อให้ติดกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ท้ายว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมต่อกันให้ได้  
คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละที่มีความแตกต่าง ชี้ต่างประเทศมีหน้าที่เบ็ดเสร็จ
เดือนเด่น กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำของต่างประเทศและของไทยนั้นมีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน คณะกรรมการลุ่มน้ำของประเทศอื่นมีอำนาจในการจัดสรรน้ำ บริหารจัดการน้ำจริง ไม่ได้เป็นอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดใหญ่ เราจะเห็นว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำนั้นอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายน้ำ และคณะกรรมการนโยบายน้ำเองก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมาย ซึ่งนั่นไม่ใช่รูปแบบของคณะกรรมการลุ่มน้ำในต่างประเทศ และที่สำคัญคือคณะกรรมการลุ่มน้ำในต่างประเทศมีหน้าที่เบ็ดเสร็จทั้ง มีอำนาจในการจัดสรรน้ำ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดินและน้ำท่วม และจัดการเรื่องน้ำเสียอีกด้วย ต่อมามีอำนาจในการจัดการใช้ที่ดิน ที่สำคัญคือมีอำนาจในการกำกับดูแลการก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างที่มีผลกระทบต่อทางไหลของน้ำและระดับน้ำด้วย เช่น หากกระทรวงคมนาคมต้องการสร้างถนนที่มีพื้นที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการลุ่มน้ำ กระทรวงคมนาคมจะต้องขออนุญาตคณะกรรมการลุ่มน้ำก่อน หรือใครจะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่คณะกรรมการลุ่มน้ำก็ต้องขออนุญาต เนื่องจากจะต้องดูว่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมนั้นจะกีดขวางทางเดินของน้ำหรือไม่ หรือทำให้ระดับน้ำในพื้นที่นั้นสูงขึ้น รึเปล่า นี่คือสิ่งสำคัญมาก ในฝรั่งเศสจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า Water Police เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรงซึ่งทุกประเทศมีหมด แต่ประเทศไทยไม่มี
จุดอ่อนไทยบริหารจัดการน้ำของไทยยังเป็นแบบแยกส่วน
เวลาที่เราถามถึงวิกฤตน้ำท่วม แน่นอนว่ากรมบรรเทาและป้องกันสาธารณะภัยมีหลักอยู่แล้วว่าจะจัดการอย่างไรต่อระดับน้ำท่วม แต่สุดท้ายก็ใช้หลักเกณฑ์ที่ว่าน้ำท่วมในพื้นที่ไหนก็ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำไปดูแลในแต่ละพื้นที่ของตนเอง แต่ถ้าน้ำท่วมในระดับใหญ่ซึ่งกินพื้นที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำหลายกลุ่มจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบวิธีการบริหารจัดการน้ำ ไม่สามารถแยกตัวใครตัวมันได้อีก จะต้องมีหน่วยงานที่ประสานงานและมีหน้าที่ในการตัดสินใจ ฝ่ายบริหารจัดซึ่งจะต้องมาจากส่วนกลาง ฉะนั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงจากลักษณะที่เป็นการกระจายกลายเป็นรวมศูนย์ได้หากเกิดกรณีที่เป็นภัยพิบัติแบบข้ามลุ่มน้ำ แต่ที่พบในต่างประเทศ ผู้ที่มาแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะต้องมีส่วนในการบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติด้วย  แต่ของประเทศไทยที่พบในร่างกฎหมายกลับไม่มีการระบุให้กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณะภัยเข้าไปมีบทบาทร่วมในการบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติ ซึ่งเป็นจุดอ่อน    การบริหารจัดการน้ำของไทยยังเป็นแบบแยกส่วน มีหลายกระทรวง หลายองค์กร  คณะกรรมการลุ่มน้ำมีแต่ฟอร์ม แต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง เห็นได้จากสถิติการประชุมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งลดลงไปเรื่อยๆในแต่ละปี  เราอาจจะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ หน่วยงานต่างๆ ที่ควรจะอยู่ในคณะกรรมการลุ่มน้ำก็กระจายไป และอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ ตอนนี้เราไม่เห็นภาพในอย่างที่ควรจะเป็น พอมาพูดถึงภาพของผู้ใช้น้ำที่แตกต่างจากที่อื่น ซึ่งที่อื่นสามารถเชื่อมต่อและรวมตัวกันได้ ที่สำคัญที่รวมตัวกันได้เพราะที่ไทยบางกลุ่มก็ได้ผลประโยชน์จากการรวมตัว ส่วนบางกลุ่มก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากกการรวมตัว จึงไม่เห็นถึงความสำคัญในการรวมตัว 
ในต่างประเทศนั้นการจัดสรรน้ำไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่จะต้องรวมตัว แต่มีหลายสาเหตุที่จะต้องรวมตัวกัน มีมิติอื่นๆ ที่ทำให้รวมตัวกันเช่นการบริหารจัดการน้ำเสียร่วมกัน ป้องกันน้ำท่วมร่วมกัน ซึ่งทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เราพยายามที่จะออกแบบคนในระบบเล็กเพื่อให้เข้าไปเชื่อมกับระบบข้างใหญ่ได้อย่างไร รูปแบบของไทยในตอนนี้คือจากบนลงสู่ล่าง มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา จากล่างขึ้นบนก็คือระบบ JMC ตอนนี้ทั้งระดับบนและล่างต่อกันติดแล้ว หากได้ดูร่างทรัพยากรน้ำล่าสุดคณะกรรมการน้ำมาจากผู้ใช้น้ำ 8 คน แต่เราไม่รู้ที่มาว่า 8 คนนี้มาจากที่ไหน ถ้าเราสามารถสร้างระบบล่างขึ้นบนให้เป็นระบบได้ 8 คนนี้จะมีที่มาที่ไป และเชื่อมต่อกันติดแต่เราจะต้องทำทั้งระบบบนลงล่างและล่างขึ้นบนให้มาชนกันให้ได้ นี่คือข้อเสนอของร่างพ.ร.บ.น้ำ แต่ร่างพ.ร.บ.น้ำ ที่เสนอนี้จะแก้ปัญหาและสร้างรูปแบบที่นำเสนอได้หรือไม่ ก็ต้องบบอกว่าไม่ได้แก้ปัญหา เพราะยังเป็นกระทรวงใครกระทรวงมันอยู่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำก็ไม่ได้มีอำนาจ และตัวแทนผู้ใช้น้ำก็ไม่ได้มีอำนาจ 
เสนอการจัดการการใช้ที่ดินต้องอยู่ในขอบเขตของคณะกรรมการการจัดการน้ำด้วย
เดือนเด่น กล่าววา ข้อเสนอถ้าอยากให้มีรูปแบบที่ได้นำเสนอไปนั้นคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดการการใช้ที่ดิน หากประเด็นนี้ไม่อยู่ในขอบเขตของคณะกรรมการการจัดการน้ำก็ถือว่าจบ เพราะใครอยากจะทำอะไรก็ได้ ต้องมีการปรับแก้อำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หรือคณะกรรมการนโยบายน้ำชุดใหญ่ จะต้องมีอำนาจในการอนุมัติการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จะขวางทางน้ำหรือมีผลต่อระดับน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการตกลงร่วมกันตามหลักการ มีตัวแทนที่จะป้องกันสาธารณะภัยอยู่ในคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อเชื่อมต่อการบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติด้วย ที่สำคัญจะต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำและจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของตนเอง เพื่อที่จะมีทรัพยากรในการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่ของตนเอง โดยไม่ต้องขอจากที่อื่นก็อาจทำบ้างไม่ทำบ้าง เพราะหากสมาชิกเป็นผู้จ่ายเงินให้จะเป็นแรงกดดันให้มีผลงาน เราต้องสนับสนุนผู้ใช้น้ำให้เกิดองค์กรขึ้นได้ ทางคณะวิจัยเห็นว่าผู้ที่ทำได้คือกรมชลประทานที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงที่มาพัฒนาให้กลุ่มผู้ใช้น้ำให้เติบโตได้ เราอาจจะไม่สามารถสร้างคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ได้อย่างที่ต้องการได้ทั้งหมดได้ แต่อาจจะเริ่มจาก 3 ลุ่มน้ำที่มีปัญหาและมีความสำคัญก่อนได้ ส่วนในระยะยาวก็ต้องวางแผนว่าจะเพิ่มอำนาจให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำทั้งหมดได้อย่างไรซึ่งจะต้องใช้เวลานาน

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา : การบริหารจัดการน้ำกับการใช้ที่ดิน

อดิศร์ กล่าวถึงประเด็นที่ศึกษาว่า เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยไปสอบถามและพูดคุยกับคนในพื้นที่ ที่อยากจะคุยก็เป็นเรื่องของลักษณะการลงทุนของรัฐอย่างในพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่เราทำเป็นกรณีศึกษาว่าจะมีปัญหาหรือเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างโดยเฉพาะกับปัญหาโรคภัยและการใช้ประโยชน์จากน้ำ  
ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มขึ้นมากไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์ขงที่ดินในรูปแบบต่างๆ แต่ที่ปรากฏชัดเจนคือการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่หนาแน่นมากขึ้นเกิดขึ้นในบริเวณรอบๆกรุงเทพซึ่งเป็นที่มาของตัวอุปสรรคในการไหลของน้ำ และทำให้เผชิญปัญหาหลายๆ ครั้ง เวลาเอาตัวแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ระบุความสูงต่ำของที่ดินว่าน้ำจะไปทางไหน โดยตรรกะแล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพ แต่โดยปฏิบัติแล้วกลับไม่ท่วม เพราะว่ามีสิ่งกีดขวาง ทำให้พื้นที่ที่ต่ำที่สุดกลับไม่โดนน้ำท่วม
การป้องกันพื้นที่โดยไม่ให้น้ำท่วม ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการผลักน้ำไปพื้นที่อื่น
สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โดยการป้องกันพื้นที่ไม่ให้ถูกน้ำท่วมนั้น อดิศร์ มองว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นการผลักปัญหาน้ำท่วมจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง ทีนี้ไปดูในส่วนกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งมีหลายฉบับและอยู่ภายใต้การดูแลของหลายหน่วยงานด้วยกัน ในเรื่องของประสิทธิภาพ ช่วงนี้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย ก็อยากให้ดูเรื่องเรื่องกฎหมายผังเมืองด้วย  อย่างที่เราเคยทราบกันในอดีต เวลาผังเมืองหมดอายุจะเป็นช่องโหว่ให้สามารถปลูกสร้างอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นอีกหน่อยผังเมืองไม่หมดอายุ ก็จะช่วยได้มากขึ้น แต่ว่าการทำผังเมืองมีกฎหมายบังคับแค่พระราชบัญญัติผังเมืองที่เป็นทางบกเท่านั้น
แนะไทยควรมีผังภาค ผังลุ่มน้ำ
ถ้าเราถามว่าประเทศไทยมีผังภาคไหม ผังลุ่มน้ำไหม ตอบได้ว่ามี แต่ไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ ก็ต้องรอพิจารณาว่าเราอยากจะมีผังลุ่มน้ำไหม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ หลังจากนั้นเราก็ไปสำรวจทัศนะและพูดคุยกับคนในพื้นที่ โดยเน้นที่ภาคกลางเป็นหลัก เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง หลายคนที่เราได้พูดคุยด้วยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ และนำไปสู่อุปสรรคต่างๆที่เราเห็นได้ เช่น ถนนพอเราตัดถนนก็จะกลายเป็นเขื่อนเล็กๆ นั่นเอง ทำให้น้ำผ่านไม่ได้ มีการเรียกร้องในอนาคตว่าหากจะตัดถนนต้องมีทางลอดข้างใต้ให้น้ำผ่านไปได้  การที่เรามีน้ำไหลตามธรรมชาติ หรือน้ำท่วมตามธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างไรกับภาคเกษตรกรรม เพราะว่าสารต่างๆ ในดินมากับน้ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ แต่พอน้ำไหลไม่ได้มันจะเกิดปัญหาน้ำท่วมและส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนของการผลิตด้านเกษตรกรรมระยะยาว และในช่วงปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ประชาชนก็มีบทเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางแห่งก็ช่วยกัน บางแห่งก็ขัดแย้งกัน  
การใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม
อดิศร์ กล่าวถึงงานวิจัยว่าได้รวบรวมแบบสอบถามเพื่อสังเกตว่าประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ขอสรุปเป็นบางประเด็น ที่สอดคล้องในส่วนก่อนหน้าของ เดือนเด่น คือ ไม่ใช่ทั้งหมดของชาวบ้าน แต่เป็นบางส่วน จากแบบสอบถามคือ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าไปกีดกันทางไหลน้ำ ฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็นสิ่งสำคัญที่จะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือเวลาเราถามคนส่วนใหญ่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ที่ไหนเวลาน้ำท่วม เขาก็บอกว่าจะยู่ที่เดิม และพอถามว่าจะขายที่ไหมส่วนใหญ่ก็บอกว่าจะไม่ขาย เพราะฉะนั้นข้อมูลตรงนี้บอกถึงวิธีการเตรียมการรับมือเป็นเรื่องยาก และอีกสาเหตุที่เขาไม่ย้ายไปไหนเพราะว่าการโยกย้ายมีค่าใช้จ่ายสูง บางชุมชนหรือประชาชนหลายๆครอบครัวก็ไม่ได้มีเงินทองมากถึงขนาดไปซื้อที่อยู่ใหม่ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
อีกประเด็นที่ได้ทำคือเราทำตัวแบบจำลอง ซึ่งเป็นการทดสอบว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ผลกระทบมีความสามารถในการดูแลตัวเองในเรื่องที่ดินได้ดีขนาดไหน ผลก็ออกมาว่าประชาชนมีทักษะความสามารถในการดูแลตัวเองได้ดีพอสมควร เพราะฉะนั้นการปรับตัวหรือไม่ปรับตัวของประชาชน สามารถยืนยันได้จากสถิติ เราพบว่าแบบจำลองหรือสมการการใช้ประโยชน์จากที่ดินก็มีตัวแปรสำคัญหลายตัวอย่างมีนัยสำคัญ  เราพบว่าครัวเรือนที่ขนาดใหญ่ คือครัวเรือนที่มีความรับผิดชอบเยอะเนื่องจากมีสมาชิกหลายคน ก็จะทำการปรับตัวได้มากขึ้นกว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกน้อย ที่สำคัญคือครัวเรือนที่มีโฉนดที่ดินและน.ส.3 มักจะยอมลงทุนดูแลพื้นที่ให้ปลอดจากปัญหาน้ำท่วม นี่เป็นนัยเชิงนโยบายถ้าที่ดินของประชาชนยังไม่มีสถานะมั่นคงยังเป็น ที่ดินส.ค.หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่อยากลงทุนอะไรกับที่ดินและก็ปล่อยให้น้ำท่วมไปอย่างนั้น ครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิงจะไม่ค่อยปรับตัวเท่าไร อาจเป็นเพราะขาดสรรพกำลังหากรัฐจะเข้าไปดูแลก็ต้องเน้นที่กลุ่มสตรีก่อน เราจะเห็นได้ว่าการปรับตัวของประชาชนไม่ได้เกิดแบบสะเปะสะปะ แต่เกิดขึ้นอย่างมีทิศทางพอสมควร เราอาจนำตัวแปรบางตัวไปนำเสนอให้กับภาครัฐได้

สมัชชาคนจน ถามรัฐบาลทำอะไรอยู่ ชาวนาไม่มีน้ำใช้ แต่สนามกอล์ฟใช้น้ำได้เต็มที่


20 ก.ค. 2558 เมื่อวานนี้ สมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในช่วงภัยแล้ง โดยมติคณะมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ได้เห็นชอบให้มีการลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำ เพื่อใช้ในภาคการเกษตรกรเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พร้อมกันนั้นปรากฎภาพเจ้าหน้าที่ทหารออกลาดตะเวนห้ามไม่ให้ชาวนาสูบน้ำเข้านา โดยชาวนาที่ไม่ทำตามกลับถูกประณามว่า ไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว และไม้สียสละ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ และห้างสรรพสินค้า ยังสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่
สมัชชาคนจน ได้เสนอให้รัฐบาล จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีส่วนได้เสียส่วนเสียในบริหารจัดการน้ำ เข้ามาดูแลมาตราการการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม โดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
00000
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
ต้องจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา และขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยอ้างสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยว่า ทำให้มีปริมาณน้ำน้อย จึงต้องการเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค พร้อมกับปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ทหารออกลาดตระเวนห้ามชาวนาสูบน้ำเข้านา ยิ่งไปกว่านั้น ชาวนาที่ไม่ทำตามคำขอของรัฐบาลกลับถูกกล่าวหาว่า เป็นคนไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ
สมัชชาคนจนเห็นว่า ปัญหาวิกฤตน้ำในประเทศไทยขณะนี้ เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการจัดการน้ำของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่รัฐบาลห้ามสูบน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุมไม่ให้ชาวนาสูบน้ำเข้านา แต่กลับปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ อาบอบนวด โรงแรม และห้างสรรพสินค้า สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่เท่าที่ต้องการโดยมีมาตรการใดๆ เข้ามาควบคุมดูแล หรือมีคำสั่งห้ามใดๆ ขณะที่ชาวนามีสิทธิแค่เพียงนั่งเบิกตาดูต้นข้าวที่พวกเขาปลูกค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายลงเพราะขาดน้ำ และค่อยแบกความเสี่ยงกับหนี้สินกองโตที่จะตามมา ทั้งที่ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีมาตรการจัดการน้ำและมาตรการรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานรัฐบาลต่อเกษตรกรอย่างไร สิ่งเหล่าล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานยืนยันความไม่เป็นธรรมในการจัดการน้ำของรัฐบาลทั้งสิ้น
ดังนั้นสมัชชาคนจนขอเรียกร้องยุติการให้เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยง โดยการจัดสรรปันส่วนน้ำอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมบนพื้นฐานที่ทุกคนเท่ากัน เช่น
1. กำหนดมาตรการใช้น้ำในทุกระดับ เช่น 1) กำหนดมาตรการใช้น้ำในระดับครัวเรือน เช่น กำหนดเวลาในการปล่อยน้ำประปา 2) กำหนดมาตรการใช้ในในภาคการเกษตร เช่น สามารถสูบน้ำได้สัปดาห์ละ 4 วัน งดสูบน้ำ 3 วัน 3) กำหนดมาตรการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือธุรกิจอื่นๆ เช่น ในหนึ่งสัปดาห์สามารถรดน้ำสนามกอล์ฟได้ 4 วัน
2. ให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีส่วนได้เสียส่วนเสียในบริหารจัดการน้ำ เข้ามารับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการตามมาตรการดังกล่าว ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน 19 กรกฎาคม 2558

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน โต้รายงานตำรวจ “รอยฟกช้ำน่าจะเกิดจากล้มไปกระทบสิ่งของไม่มีคม”


วันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.2558) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะเข้ายื่นหนังสือของสรรเสริญที่เขียนตอบโต้ผลการสอบสวนของตำรวจกรณีการซ้อมทรมานเขาที่มีผลสรุปว่า “รอยฟกช้ำน่าจะเกิดจากการกระทบหรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม”
ทั้งนี้ สรรเสริญเป็นหนึ่งในจำเลย14 รายในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อคืนวันที่ 7 มี.ค.2558 ในจำนวนนี้จำเลยเป็นหญิง 4 คน ชาย 10 คน ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำ ยกเว้น 2 รายที่ได้รับการประกันตัว ศาลทหารรับฟ้องแล้วเมื่อราวเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มีการนัดวันสืบพยานแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)
สรรเสริญ เป็นชายอายุ 63 ปี อาชีพขับแท็กซี่ และมีแนวคิดค่อนไปทางซ้าย เขาถูกโยงเข้ากับคดีนี้เนื่องจากการไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองให้กับกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า เป็นการพบปะเพื่อวางแผนก่อเหตุ
ภายหลังการจับกุมสรรเสริญ ( 9 มีนาคม 2558) เขาเป็นคนแรกที่แจ้งกับทนายความเรื่องการถูกซ้อมทรมานระหว่างในระหว่างถูกควบคุมตัวโดยใช้กฎอัยการศึก 7 วัน (อ่านที่นี่) เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อทนายความของศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในคดีนี้มีลูกความอย่างน้อย 4 รายที่แจ้งว่าถูกซ้อมทรมาน (อ่านที่นี่)  สรรเสริญเรียกร้องให้ตำรวจทำการสอบสวนเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
หากพิจารณาเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ จะพบการตรวจร่างกายจาก 2 หน่วยงาน ดังนี้
15 มีนาคม 2558 ภายหลังทหารนำตัวเขามาส่งให้ตำรวจ มีการจัดทำบันทึกการตรวจร่างกายผู้ต้องหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจมาตรวจร่างกาย ผลการตรวจร่างกาย มีดังนี้
“มีรอยฟกช้ำบริเวณ แขนขวาท่อนบน, หน้าท้อง
พบรอยแผลไฟไหม้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 ซม.หลายจุดบริเวณต้นขาขวา”
20 มีนาคม 2558 ใบความเห็นแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ได้ทำการตรวจร่างกาย นช.สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 แล้วปรากฏว่า
“พบรอยเขียวช้ำหลายรอบ บริเวณหน้าขาและท้อง
พบจุดคล้ายรอยไฟไหม้หลายจุดที่ต้นขาขวา”
13 พฤษภาคม 2558  พล.ต.ท.ศรีวราห์ สังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่สรรเสริญได้ทำหนังสือร้องขอ โดยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการสอบปากคำ สรรเสริญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ แพทย์และพยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ตรวจร่างกายในวันรับตัวและระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ โดยไม่ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวสรรเสริญ 7 วันก่อนนำตัวส่งตำรวจ

ข้อสรุปของตำรวจระบุว่า
“ยืนยันว่า ผลการตรวจร่างกายของท่านพบรอยฟกช้ำบริเวณลำตัวด้านหน้า สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการกระทบหรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด อีกทั้งในขณะที่ตรวจร่างกายแพทย์ได้ทำการสอบถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกาย ซึ่งปรากฏตามบันทึการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายการตรวจร่างกาย และใบความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของท่าน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ท่านได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายร่างกายตามที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่อย่างใด”
5 มิถุนายน 2558  สรรเสริญเขียนจดหมายเปิดผนึกจากในเรือนจำเพื่อโต้แย้งผลการตรวจสอบข้างต้น มีใจความสำคัญว่า ขอให้ผู้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ บัญชาการตำรวจนครบาล ทำการตรวจสอบอีกครั้งด้วยความเป็นธรรม พร้อมทั้งอธิบายว่าการแจ้งว่าไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่พนักงานทำร้ายร่างกายนั้นหมายถึงเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานราชทัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวน  
"จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อโต้แย้งของข้าฯ และโปรดเมตตาข้าฯ สักครั้งหนึ่ง จักเป็นพระคุณยิ่งแก่ข้าฯ และครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะที่ผ่านมา ข้าฯ ได้รับความบอบช้ำทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส อีกทั้งข้าฯ ก็อายุมากแล้ว ควรมิควรแล้วแต่จะเมตตาพิจารณา" จดหมายระบุ
000000
จดหมายของนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ทำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
เรื่อง      ข้อโต้แย้ง ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน
เรียน     ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ตามที่ข้าพเจ้า นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ผู้ร้องเคยทำหนังสือ ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง ขอให้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ข้าฯ และต่อมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีหนังสือ แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน ที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงนามโดย พล.ต.ท. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงข้าฯ แล้วนั้น
จากหนังสือที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ฉบับดังกล่าวได้กล่าวในหน้า ๑ วรรค ๒ บรรทัดที่ ๔ ถึงหน้า ๒ ทั้งหมด ความว่า “ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบร่างกายท่าน (ท่านหมายถึงข้าพเจ้า - ผู้ร้อง) พบรอยฟกช้ำบริเวณลำตัวด้านหน้า สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการกระทบ หรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด อักทั้งในขณะที่ตรวจสอบ แพทย์ได้ทำการสอบถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกาย ซึ่งปรากฎตามบันทึกการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายการตรวจร่างกาย และใบความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของท่าน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ท่านได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้หนึ่งผู้ใด ทำร้ายร่างกาย ตามที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแล้วแต่ประการใด”
จากข้อความและสรุปผลการตรวจสอบข้างต้นนั้น ข้าฯขอโต้แย้งข้อความข้างต้นว่า เป็นข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นซึ่งตามที่ข้าฯ เคยทำหนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อเท็จจริง คือ ข้าฯ ถูกจับกุมตัว เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลากลางคืน และทหารได้สอบสวนซักถามข้าฯ ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เจ้าหน้าที่ซึ่งข้าฯ หมายถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวนข้าฯ ได้บังคับ ขู่ และทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ข้าฯ รับสารภาพ ข้าฯ ได้ให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ชกต่อยที่บริเวณหน้าท้องและทรวงอก บริเวณลิ้นปี่และชายโครง และเหยียบบริเวณลำตัว ต่อยและตบบริเวณศีรษะและทรวงอกหลายสิบครั้ง ทำให้ข้าฯได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องอกและชายโครง และถูกบังคับให้ถอดกางเกงและถูกช็อตด้วยไฟฟ้า บริเวณโคนขาขวาด้านนอกประมาณกว่า ๓๐ ครั้ง แต่เนื่องจากวันที่แพทย์ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ทำการตรวจร่างกายข้าฯ เวลาได้ล่วงเลยมาจนวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างจากวันที่ข้าฯ ถูกทำร้ายร่างกายดังกล่าวถึง ๘ วัน ทำให้ร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายข้างต้นได้ทุเลาลงบ้างแล้ว เหลือให้เห็นเป็นบางส่วน ที่ชัดเจนคือบริเวณที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า บริเวณโคนขาขวาด้านนอก ที่ยังปรากฎร่องรอยอยู่ชัดเจน ซึ่งมิได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการกระทบ หรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม และเนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจร่างกายข้าฯ ไม่เห็นเหตุการณ์ที่ข้าฯ ถูกทำร้าย กอปรกับระยะเวลาเกิดเหตุ ห่างจากวันตรวจร่างกายถึง ๘ วัน และข้อความที่ว่า “อีกทั้งในขณะที่ตรวจร่างกาย แพทย์ได้ทำการซักถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกายซึ่งปรากฎตามบันทึกการตรวจร่างกาย”นั้น ข้าฯหมายถึงไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ทำร้ายร่างกายข้าฯ แต่อย่างใด  แต่ไม่ได้รวมถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวน ที่ทำร้ายร่างกายข้าฯ ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนที่จะนำตัวข้าฯ ส่งสถานีตำรวจนครบาล ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามหนังสือที่ข้าฯ บันทึก ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่อ้างถึงในบันทึกที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ข้างต้น และตามบันทึกการตรวจร่างกายผู้ต้องหา สถานที่บันทึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผลการตรวจก็ระบุไว้ชัดเจนว่า มีรอยฟกช้ำบริเวณแขนขวาท่อนบน,หน้าท้อง  พบรอยแผลไฟไหม้ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๖ ซม. หลายจุดบริเวณต้นขาขวา ซึ่งร่องรอยดังกล่าว ข้าฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า เกิดขึ้นขณะถูกควบคุมตัวและสอบสวนโดยทหาร ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ก่อนที่จะถูกส่งตัวข้าฯ มอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ ณ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และผลใบความเห็นแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยนายแพทย์มานพ ศรีสุพรรณถาวร ได้ทำการตรวจร่างกายข้าฯ ปรากฎว่า
  • พบรอยเขียวช้ำหลายรอยบริเวณอกและท้อง
  • พบจุดคล้ายรอยไหม้หลายจุดที่ต้นขาขวา
ซึ่งจากผลการตรวจร่างกายของ สำนักงานตำรวนแห่งชาติ โดยพ.ต.อ.ไพบูลย์ มะระพฤกษ์วรรณ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจและแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผลออกมาสอดคล้องกันดี ในผลการตรวจร่างกายข้าฯ แต่พนักงานสืบสวนได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ข้าฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้หนึ่งผู้ใด ทำร้ายร่างกายตามที่ข้าฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่ประการใด
จากเรื่องแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน ที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงนามโดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงข้าฯ ดังกล่าวข้างต้น ข้าฯจึงขอทำหนังสือฉบับนี้ เพื่อโต้แย้งผลการสืบสวนในครั้งนี้ว่า เป็นการสรุปผลการสืบสวนที่ไม่เป็นธรรมแก่ข้าฯ ผู้ร้อง เป็นการอนุมานข้อเท็จจริงที่เลื่อนลอย ไร้เหตุผลที่ข้าฯมิอาจจะรับได้ ดังนั้น หนังสือฉบับนี้ ข้าฯขอให้ท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คือท่าน พล.ต.ม.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ตรวจสอบเอกสารด้วยความเป็นธรรม ตามเอกสารคำร้องตามที่อ้างถึง ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ของข้าฯ และบันทึกผลการตรวจร่างกายผู้ต้องหา ตามสถานที่บันทึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ และใบความเห็นแพทย์ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ อีกครั้งหนึ่งด้วยตัวท่านเอง เพื่อดำรงความยุติธรรมในการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแก่ข้าฯ ผู้ร้องอีกครั้งหนึ่ง อย่าด่วนสรุปใดๆ ตามที่เจ้าพนักงานสรุปนำเสนอลงนาม โดยมิได้ตรวจสอบก่อนลงนาม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อโต้แย้งของข้าฯ และโปรดเมตตาข้าฯ สักครั้งหนึ่ง จักเป็นพระคุณยิ่งแก่ข้าฯ และครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะที่ผ่านมา ข้าฯ ได้รับความบอบช้ำทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส อีกทั้งข้าฯ ก็อายุมากแล้ว ควรมิควรแล้วแต่จะเมตตาพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
นายสรรเสริญ อุ่นเรือน ผู้เรียง/เขียน

00000
รายละเอียดผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา แบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
ผู้ถูกจับได้ในที่เกิดเหตุ 2 ราย (+ 2 ภรรยา) 
มหาหิน ขุนทอง กับ ยุทธนา เย็นภิญโญ ทั้งคู่อายุ 34 ปี กำลังหาอาชีพ อาศัยในห้องเช่าชานเมืองกรุงเทพฯ เขาถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ ยุทธนาเป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนมหาหินเป็นผู้ซ้อนท้าย โดยในช่วงเกิดเหตุยุทธนาถูกยิงหลายนัดได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ก่อนจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำเช่นเดียวกับมหาหิน
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมหาหินมาแถลงข่าวคนเดียวเพราะยุทธนาได้รับบาดเจ็บ ตำรวจและทหารระบุว่า ทั้งคู่มีอาวุธปืน .357 กระสุนยิงไปแล้ว 6 นัด กลุ่มนี้มีแผนจะสร้างสถานการณ์อีก 100 จุดทั่วประเทศในวันที่ 15 มี.ค.
ข้อขัดแย้งสำคัญประเด็นหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ระบุว่าทั้งคู่มีปืนและยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยทั้งคู่ยืนยันผ่านทนายความว่า พวกเขาไม่มีอาวุธปืน มีก็เพียงระเบิดลูกดังกล่าวที่ได้มาจากวีระศักดิ์ โตวังจร หรือ ‘ใหญ่ พัทยา’ ที่ยังจับตัวไม่ได้ ในการจับกุมไม่มีการยิงต่อสู้ มีแต่วิ่งหนี และในที่เกิดเหตุนั้นพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบได้ดักซุ่มอยู่แล้ว ราวกับเตรียมพร้อมเพื่อการนี้
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็น ‘การข่าว’ ของหน่วยงานความมั่นคง ทำให้ทหารไปปักหลักอยู่ที่นั่นเพื่อรอจับกุมได้ทันท่วงที และเกิดการปะทะกันเล็กน้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงมหาหินและยุทธนาที่ถูกจับกุมตัว แต่เจ้าหน้าทียังจับกุมภรรยาของทั้งสองไปควบคุมตัวในเรือนจำด้วย เนื่องจากทั้งคู่ก็อยู่ในไลน์กลุ่มเดียวกับสามี โดยภรรยาของยุทธนา(ธัชพรรณ) นั้นตั้งครรภ์หลายเดือนจึงได้ประกันตัวในที่สุด ขณะที่ภรรยาของมหาหิน (ณัฐฏพัชร์ อ่อนมิ่ง) ยังอยู่ในเรือนจำ 
https://farm1.staticflickr.com/470/18178431553_041dc7ef30_o.jpgการประชุมที่ขอนแก่น 6 คน
การประชุมที่ขอนแก่นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การประชุมเกิดขึ้นจากการหารือและชักชวนกันในกลุ่มไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการขายตรง สร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจและสามารถนำเงินไปเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยหลายคนระบุว่าพวกเขาดำเนินนโยบายแบบกลุ่มติดอาวุธทางความคิด
ผู้ต้องหาในเซ็ทนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด แบ่งเป็น
เจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ
นายณเรศ อินทรโสภา 
นรภัทร เหลือผล หรือ บาส
วิชัย อยู่สุข หรือ ตั้ม
ชาญวิทย์ จริยานุกูล
สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน
นอกเหนือจากเจษฎาพงษ์ที่เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการขายตรงสบู่สมุนไพร และยาสมุนไพร ในครึ่งวันแรก ก็ยังมีชาญวิทย์และสรรเสริญ วิทยากรสูงวัยที่มาบรรยายเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง ส่วนที่เหลือก็เป็นผู้เข้าร่วมอบรม บรรดาผู้ร่วมอบรมนี้ถูกจับกุมจากเหตุที่อยู่ในไลน์กลุ่มเดียวกับผู้ก่อเหตุทั้งสองคือมหาหินและยุทธนา ซึ่งไลน์ที่ว่าก็มีหลากหลายกลุ่ม มีคนตั้งแต่หลายสิบคนไปจนถึงไม่กี่คน
อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ตั้งต้นจากการรู้จักกันในโซเชียลมีเดีย มีไม่กี่คนที่รู้จักตัวกันจริงๆ จังๆ พวกเขายืนยันว่าตั้งกลุ่มคุยและวิเคราะห์การเมืองในแบบผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกัน และรวมถึงแลกเปลี่ยนช่องทางการทำมาหากิน หรือการจัดกิจกรรมทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เช่นการอบรมให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือจัดกลุ่มพูดคุยการเมือง
ที่น่าแปลกคือ ชาญวิทย์และสรรเสริญ ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไลน์กับใคร แต่ก็ถูกจับกุมมาด้วยโดยตำรวจกล่าวหาว่าเขาทั้งสองเป็น ‘ตัวการวางแผน’ ในการปฏิบัติการครั้งนี้ที่ขอนแก่น หรือวันที่เขาไปร่วมบรรยายเรื่องการเมืองนั่นเอง
กล่าวสำหรับสรรเสริญนั้น เป็นอดีตสหาย มีอาชีพขับแท็กซี่ และมีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เขาต่อสู้ในแนวทางของรัฐสภา เคยพยายามตั้งพรรคกสังคมประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ชาญวิทย์ก็เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใกล้เคียงกัน ทั้งคู่มีลักษณะเป็นปัญญาชนค่อนข้างสูงและมีแฟนคลับให้ความสนใจติดตามศึกษาแนวคิด นรภัทรก็เป็นคนหนึ่งในนั้นจึงได้ชวนชาญวิทย์มาบรรยายที่ขอนแก่น และชาญวิทย์ก็ได้ชวนสรรเสริญให้มาช่วยบรรยายด้วย
ทั้งสรรเสริญ ชาญวิทย์ นรภัทร และวิชัย ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าถูกซ้อมระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะสรรเสริญมีร่องรอยการช็อตไฟปรากฏที่ขาและรอยช้ำตามลำตัว (อ่านที่นี่)
การโอนเงิน 6 ราย  (+ 1 ราย) 
นั่นคือ สุภาพร มิตรอารักษ์ หรือ เดียร์, ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน, วาสนา บุษดี, สุรพล เอี่ยมสุวรรณ, วสุ เอี่ยมลออ, สมชัย อภินันท์ถาวร, ( +มนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟาน ยังจับกุมตัวไม่ได้)
การโอนเงินที่ตำรวจกล่าวหาว่า ต้นทางคือ เอนก ซานฟราน จนมาถึงผู้ปฏิบัติการ ดูเหมือนจะเลี้ยวลดไปตวัดเอาหลายคนเข้าเกี่ยวข้อง
พ.อ.วิจารณ์ จดแตง  จาก กอ.รมน.แถลงข่าวเรื่องเส้นทางการเงินในวันที่นำตัวเดียร์ส่งให้ตำรวจที่ บช.น. ว่า กลุ่มนี้เตรียมก่อเหตุ 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือน ก.พ.2558 โดยเอนก ซานฟาน ติดต่อทางไลน์กับเดียร์เพื่อจ้างวานสร้างสถานการณ์ 5 จุดในกทม. พบการโอนเงิน 50,000 บาท ผ่านนายวสุ ส่งต่อให้นางวาสนา บุษดี และมีการติดต่อแหวน จากนั้นแหวนติดต่อนายสุรพลให้รับงาน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดนายสุรพลยกเลิกภารกิจ จึงดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค. เดียร์เปลี่ยนไปติดต่อผ่านวิชัยหรือตั้ม และนรภัทรหรือบาส ก่อนติดต่อว่าจ้างใหญ่ พัทยา เพื่อไปว่าจ้างมหาหินและนายยุทธนาปาระเบิดที่จอดรถศาลอาญาอีกที 
ขณะที่วิญญัติ ทนายความของแหวนระบุว่า แหวนรู้จักคนกลุ่มนี้ในไลน์ เกือบทั้งหมดไม่เคยเจอตัวกัน ตำรวจอ้างว่าวาสนาโอนเงินให้แหวน แต่แหวนยืนยันว่าไม่รู้จักวาสนา แหวนได้รับการโอนเงินจริง แต่เป็นเงินที่ขอยืมจากสุรพลจำนวน 5,000 บาทเพื่อมาชำระหนี้สินที่ทำร้านซักอบรีด และตัวแหวนเองยืนยันว่าไม่เคยมีแนวคิดสนับสนุนความรุนแรงแต่อย่างใด (อ่านที่นี่)
สำหรับวาสนารู้เพียงคร่าวๆ ว่า วาสนาซึ่งมีอาชีพรับจ้างขายเสื้อผ้าที่ จ.มุกดาหารนั้น รับโอนเงินให้คนอื่นจริงจำนวน 40,000 บาท โดยได้ค่าจ้างจากเดียร์ 200 บาท เหตุที่รู้จักกันเนื่องจากเดียร์เช่าบ้านแม่ของวาสนา
ขณะที่วสุระบุว่าเขาติดต่อสื่อสารทางไลน์กับกลุ่มเป็นร้อยกลุ่มเนื่องจากตัวเองจะนำคลิปรายการที่เขาผลิตไปเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ แต่ไม่เคยโพสต์หรือพูดคุยข้อความที่มีลักษณะสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง สำหรับความสัมพันธ์กับเอนก ซานฟราน นั้นเคยสื่อสารโต้ตอบกันในเรื่องทั่วไปในทางสาธารณะ ไม่เคยคุยหลังไมค์
ส่วนเดียร์ที่วสุและหลายคนรู้จักผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ดูเหมือนจะเป็น ‘เดียร์’ ที่ยังสาวและอยู่ต่างประเทศ ต่างจากเดียร์ที่เจ้าหน้าที่จับกุมมา
ส่วนสมชัยวัย 53 ปี  โดนจับที่บ้านพัก เขาระบุว่ามีอาชีพเสริมในการรับจ้างโอนเงินแทนคนในต่างประเทศอยู่แล้ว และดีลนี้มาจากลูกชายของเขาที่ทำงานอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของเอนก ซานฟาน ตัวเขามีอาชีพค้าขายเสื้อผ้ากีฬาและไม่ได้สนใจการเมือง