„วิกฤติจากการมี Single Gateway
“Single Internet Gateway” หมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งในและต่างประเทศ ด้วยท่อรับ-ส่งอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการเชื่อมต่อเพียงท่อเดียว วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 เวลา 5:42 น. หากคำว่า “Single Gateway” หรือ “Single Internet Gateway” หมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งในและต่างประเทศ ด้วยท่อรับ-ส่งอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการเชื่อมต่อเพียงท่อเดียว ก็ขอบอกว่า...ประเทศไทยเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว!
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2549 (ตามเวลาไต้หวัน) เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริคเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะ ไต้หวัน ส่งผลให้โครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำได้รับผลกระทบ ซึ่งโทรศัพท์ระหว่างประเทศและการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศกระทบไปด้วย
วันนั้น นายสิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตออกต่างประเทศยังถูกผูกขาดด้วยการเชื่อมต่อผ่านเกตเวย์ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัทภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที
ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะไต้หวัน ส่งผลกระทบต่อ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และส่งผลกระทบต่อการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 007 และ 008 ของทีโอที ราว 10-15% ส่วนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเสียหาย 30% แต่ลูกค้ายังใช้งานได้ปกติเพราะทีโอทีมีโครงข่ายสำรอง ซึ่งแน่นอนว่าความเร็วของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอาจมีปัญหาบ้าง ด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กสท คือ สายเคเบิลใต้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก 4 เส้น ที่เชื่อมต่อจากไทยไปยังฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เสียหายจากแผ่นดินไหวที่เกาะไต้หวัน
ทางแก้ไขของ กสท เวลานั้น คือ การเพิ่มช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตในเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมต่อไปยุโรปผ่านมหาสมุทรอินเดียจำนวน 600 เมกะบิต เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2549 ทำให้การรับ-ส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตดีขึ้น แต่การซ่อมแซมเคเบิลใต้น้ำที่เสียหายให้สมบูรณ์ใช้เวลา 2 สัปดาห์
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะไต้หวันสะเทือนถึงอินเทอร์เน็ตไทย ทำให้บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตแบบที่ 2 ประเภทมีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องต่อเช่าใช้วงจรเชื่อมต่อต่างประเทศ (เกตเวย์) จากทีโอทีและกสท แต่ขณะนั้นระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตวงจรต่างประเทศ ไม่สามารถใช้งานได้ ทรู จึงยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อขออนุญาตเชื่อมต่อวงจรต่างประเทศโดยตรงไม่ต้องผ่านทีโอทีและกสท เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยและลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรูจำนวน 3 แสนราย ซึ่งกทช.อนุญาตให้ทรูเชื่อมต่อเกตเวย์ตรงไปต่างประเทศได้ตามคำขอ
จากข้อมูลของผู้จัดการรายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2550 ระบุว่า นายนพปฎล เดชอุดม ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ จำกัด ในเวลานั้นให้สัมภาษณ์ว่า ทรู ได้ขออนุญาตจาก กทช. เพื่อให้บริการเชื่อมต่อวงจรอินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศโดยไม่ผ่านทีโอทีและกสท ซึ่ง กทช.อนุญาตให้ดำเนินงานแต่มีเงื่อนไขให้ทดลองดำเนินงานก่อนเป็นระยะเวลา 3 เดือน หากเกิดผลประโยชน์จริง กทช. จะพิจารณาให้ ทรู ให้บริการต่อไปได้
ซึ่งการอนุญาตให้ ทรู เชื่อมต่อวงจรอินเทอร์เน็ตกับต่างประเทศได้โดยตรงนั้น ถือ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของตลาดบรอดแบนด์(อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ไทยในเวลานั้น เนื่องจากเป็นการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดเช่นเดียวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะไต้หวันแล้วส่งผลกระทบถึงอินเทอร์เน็ตประเทศไทย รวมทั้งการเตรียมระบบให้บริการอินเทอร์เน็ตสำรอง
วันที่ 1 เม.ย. 2553 บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ จำกัด ในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ สะท้อนภาพผู้ให้บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตและดาต้าครบวงจรทั้งในและต่างประเทศให้ชัดเจนมากขึ้น
เมื่ออ่านถึงตรงนี้คงพอเข้าใจแล้วว่าเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วประเทศไทยผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Single Gateway มาแล้ว กระทั่งเผชิญกับปัญหาแผ่นดินไหวสะเทือนถึงการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจนทำให้เกิดการพัฒนาสู่การเชื่อมต่อเกตเวย์มากกว่า 1 ท่อ เพื่อมีทางหนีทีไล่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ยืนยันว่า แนวนโยบายยัน ซิงเกิลเกตเวย์มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจประเทศ ไม่ใช่เน้นในการใช้งานด้านความมั่นคงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) ของตนเอง สามารถใช้งานในโครงข่ายเดียวกันเพื่อการให้บริการร่วมกัน ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะไม่บังคับผู้ประกอบการให้เข้ามาร่วมแต่จะขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ
นายอุตตม อธิบายว่า ขณะนี้ โครงการซิงเกิลเกตเวย์ อยู่ในขั้นตอนศึกษาและพิจารณา ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและไม่ควรที่จะเร่งรัด ต้องเชิญทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนเข้ามาหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้ตรงกันด้วย “ไม่อยากให้ประชาชนสับสนในสิ่งที่รัฐบาลจะทำ ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวจะไม่ได้นำมาใช้เพื่อควบคุมข่าวสารอย่างที่เข้าใจกัน เพราะรัฐบาลยังเคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนในการใช้งานอินเทอร์เน็ต และการทำซิงเกิลเกตเวย์ ก็ไม่ได้ยึดโมเดลต้นแบบของประเทศในระบบคอมมิวนิสต์ที่ใช้กัน แต่จะยึดประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้งาน”
นายอุตตม กล่าว หากวันนี้จะย้อนกลับไปสู่การใช้งานแบบ Single Gateway อีกครั้ง ในวันที่รัฐบาลประกาศนโยบายสู่การเป็นดิจิตอล อีโคโนมี ที่ทุกหน่วยงานมุ่งสู่การใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อการสื่อสารและเศรษฐกิจ ปัญหาเมื่อเกิดอินเทอร์เน็ตล่มคงมีมากกว่าเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน.
น้ำเพชร จันทา @phetchan รู้จัก National Single Internet Gateway National Single Internet Gateway เป็นโครงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียวของรัฐบาลไทยที่เพิ่งเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 เป็นการเข้ามาควบคุมช่องทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศจากเดิมที่มีหลายช่องทางให้เหลือเพียงช่องทางเดียว เพื่อควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจาก ต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับประเทศจีนและเกาหลีเหนือที่รัฐบาลสามารถควบคุมช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศได้“