เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่ง คณะรัฐศาสตร์ มธ. และสำนักพิมพ์ openworlds ได้จัดกิจกรรม เสวนา "อ่านมาร์กซ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย" ซึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือ "มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา" (Marx: A very short introduction) ของ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ แปลโดย เกษียร เตชะพีระ (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่เว็บไซต์
http://openworlds.in.th/books/marx-vsi/ ) โดยมี เกษียร เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา ซึ่งประชาไทได้ถอดคำอภิปรายมานำเสนอดังนี้
VIDEO
เกษียร : มี 4 เรื่องที่ผมอยากคุยโดยอิงที่ตัวหนังสือเป็นหลัก หนึ่ง ทำไมถึงแปลหนังสือเล่มนี้ สอง อยากจะให้ภาพกว้างๆ ว่าในสังคมไทยที่ผ่านมามีคู่มือลัทธิมาร์กมาอย่างไรบ้าง ถ้าเราคิดถึงหนังสือเล่มนี้ในฐานะคู่มือเบื้องต้นในการศึกษาทำความเข้าใจลัทธิมาร์กซ ก่อนจะมาถึงเล่มนี้มันมีมาอย่างไรบ้าง เล่มที่สำคัญๆ เป็นอย่างไร สาม คือใครคือปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และอันที่สี่ ที่คิดว่าเป็นแก่สารใจกลางที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือวิสัยทัศน์ใจกลางของลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลียน อะไรเป็น central vision ในการมองลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลี่ยนที่ปีเตอร์ ซิงเกอร์ นำเสนอ
ทำไมถึงแปลหนังสือเล่มนี้
ทำไมถึงแปล ผมสอนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นมานาน 10 กว่าปี คนที่เคยเรียนกับผคงรู้ว่าผมใช้ตำราหลักก็คือ “การิทัตผจญภัย นิยายปรัชญาการเมือง” ซึ่งแปลมาจากนิยามที่จะสอนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นของ สตีเว่น ลุคส์ ผมก็สังเกตเห็นปัญหาบางออย่าง คือวิธีเล่าเรื่องปรัชญาการเมืองของสตีเว่น ลุคส์ ก็คือว่า เขาเล่าเรื่องการผจญภัยของตัวเอกชื่อการิทัต เข้าไปในเมือง 5 เมือง โดยที่เมืองแต่ละเมืองเป็ฯตัวแทนแนวคิดหลักทางปรัชญาการเมืองที่สำคัญในโลกปัจจุบันนี้ คือ เสนานคร ก็เป็นตัวแทน authoritarianism อำนาจนิยม ประโยชน์นคร เป็นตัวแทน Utilitarianism ประโยชน์นิยม ชุมชนนคร เป็นตัวแทน communitarianism ชุมชนนิยม กรรมาชีพนคร เป็นตัวแทน Communism และอิสรเสรีนคร เป็นตัวแทน Liberalism หรือว่า New Liberalism ก็ได้
ระหว่างที่สอน 5 เมืองนี้มันจะเป็นปัญหาประจำของทุกปีทุกเทอมที่สอน เพราะว่าพอมาถึงบทกรรมาชีพนครมันยุ่ง มันเป็นเมืองเดียวในหนังสือนิยายทั้งเล่มสั้นเกินไป คือบทเดียวจบ ขณะที่เมืองอื่นประมาณ 7-8 บท แต่เนื้อหามันยาวพอที่ทำให้ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ว่าลัทธิมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่ มีคำถามจำนวนหน่างเข้ามาเวลาเขาเล่าเรื่องการเดินทางในเมืองนี้ แต่มันสั้นมันเกินกว่าจะตอบอย่างชัดเจนเป็นระบบเมื่อเทียบกับนครอื่นหรือลัทธิอื่น จึงรู้สึกจริงๆ ว่าจะหาคู่มืออธิบานแนวคิดมาร์กซเบื้องต้นที่ดีและพอเหมาะจากไหนอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีที่ถูกใจเท่าไหร่ ก็พอดีเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.57 จึงว่าง สำนักพิมพ์ openworlds อยากชวนให้ผมแปลหนังสือนี้มาตั้งนานแล้ว จึงรับปากไป จึงแปลได้เสร็จ
ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับคู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทย
ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับคู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทย ข้อมูลมาจากข้อมูลที่เก็บเกี่ยวตนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง Commodifying Marxism การทำลัทธิมาร์กซให้เป็นสินค้า พูดถึงลัทธิมาร์กซในเมืองไทยหลังสงครามโลก
ผมใช้คำว่าลัทธิมาร์กซในความหมาย Marxism Communism หรือ Orthodox Marxism ลัทธิมาร์กซในความหมายนี้มีลักษณะพิเศษที่เป็น totalizing discourse คือเป็นวาทกรรมที่มีลักษณะครอบคลุมเบ็ดเสร็จ คือเป็นทั้งอุดมการณ์ปฏิวัติและชุดคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์สังคม เป็นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติ เป็นทั้งโลกทัศน์และชีวะทัศน์ พยายามเสนอมุมมองที่กว้างขวางครอบจักรวาล เป็นชุดความเชื่อเกี่ยวกับโลก สังคมและประวัติศาสตร์ที่เมื่อเข้าไปสมาทานรับแล้ว มันก็จะเรียกร้องให้ผู้ที่รับปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ให้สอดคล้องต้องกันกับลัทธินั้นเหมือเข้าบวช
ความเข้าใจของผมอันนี้มาจากการทำกิจกรรมนักศึกษาและก็อยู่กับแนวความคิดนี้เป็นเวลาหลายสิบปี ผมจำได้แม่นว่าก่อน 6 ตุลา 2519 มีหนังสือเล่นหนึ่งที่แปลมาขายในเมืองไทย แปลจากจีน ชื่อหนังสือ ปลูกผักแบบวิพากษ์วิธี คือวิพากษ์วิธีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมาร์กซอธิบายได้ทุกอย่างแม้กระทั่งวิธีปลูกผัก คือถ้าคุณรู้ลัทธิมาร์กซแล้วปัญหาอะไรแก้ได้หมด
เวลาเราเข้าสู่ชุดความคิดที่มันใหญ่ขนาดนี้ เหมือนกับเราเข้าบวช จะให้อ่านพระไตรปิฏกตั้งแต่ต้นก็ลำบากก็จะต้องมีคู่มือมนุษย์หรือคู่มือพุทธศาสนาเบื้องต้นที่ทำให้เราเข้าใจความคิดทางพุทธกว้างๆ ก่อน ดังนั้นในทำนองเดียวกันลัทธิมาร์กซแบบนี้ก็ต้องการเอกสารที่อธิบายแนวคิดพื้นฐาน แนะนำศัพท์แสงวาทกรรม เพราะว่าคุณจะเจอชุดศัพท์ใหม่ซึ่งคุณไม่เคยเจอ ไม่เคยพูดไม่เคยใช่มาก่อนในชีวิตประจำวันของคุณ จะใช้คำเหล่านี้ พลังการผลิต ความสัมพันธ์การผลิต ชนชั้น อุมการณ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้มันแปลว่าอะไร จึงต้องมีคู่มือที่อธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เรียบง่าย ชัดเจน แม่นยำ เพื่อให้ผู้บวชใหม่ทั้งหลายอย่างคนไทยซึ่งต่างชาติต่างภาษาจากต้นทางลัทธิมาร์กซดังเดิมได้อ่านทำความเข้าใจ
ผมเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่แต่ต้น ผมอยู่กับแนวคิดนี้ตั้งแต่เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่ปี 18 แล้วก็ไปเข้าป่าออกมาแล้วไปเรียนต่อ แต่กว่าผมจะเข้าใจเนเจอร์ของมัน มันมี moment of epiphany คือแบบความจริงเป็นอย่างนี้นี่เอง ผมไปถึง moment of epiphany คือตอนนั้นผมไปเยี่ยมเพื่อนนักศึกษาไทยที่อยู่ที่อเมริกาด้วยกัน เป็นรุ่นพี่ผม คือคุณยุค ศรีอาริยะ หรือ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ซึ่งตอนนั้นท่านยังอยู่ในโหมดลัทธิมาร์กซเข้มข้น ท่านเรียนอยู่มหาวิทยาลัย Binghamton ได้ไปเที่ยวที่อพาตเมน จึงดูว่าสะสมหนังสืออะไรไว้บ้าง ผมนั่งดูชั้นหนังสือของพี่ยุค ประมาณ 5-10 นาที มันเต็มไปด้วยหนังสือของมาร์กซ และบุคคลสังกัดลัทธิมาร์กซ และคำตาความลัทธิมาร์กซในแง่มุมต่างๆ เต็มไปหมด แล้วมานั่งคิดว่าที่บ้านก็เหมือนกัน มันเป็นชุดความคิดที่ครอบโลกและคนที่เข้าไปสังกัดหรือสนใจลัทธินี้ห้องสมุดก็จะเป็นแบบนี้
ยุคที่ 1 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
คู่มือลัทธิมาร์กซในเมืองไทยเป็นอย่างไร ปรากฏในเมืองไทยแพร่หลาย 2 ยุค ยุคที่ 1 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงราวรัฐประหารของสฤษดิ์ ในปี 2501 ยุคที่ 2 คือ ยุคหลัง 14 ตุลา 2516 ถึงปลายพุทธทศวรรษ 2520
ยุคแรก ความสนใจลัทธิมาร์กซเกิดจากอะไร ต้องนึกสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โซเวียตมีเกียรติภมิสูงเพราะร่วมรบและเอาชนะนาซีและก็บุกเข้าไปถึงกรุงเบอร์ลิน กลายเป็นมหาอำนาจ 1 ใน 2 ของโลก เคียงคู่อเมริกา เพราะฉะนั้นมองไปในโลกตอนนั้นมีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นทางเลือกให้คนอยู่ 2 ระบบ คือทุนนิยมกับสังคมนิยมแบบโซเวียต ซึ่งนอกจากจะเป้นระบบสังคมนิยมแบบโซเวียตแล้ว ก็ยังมีการอธิบายประชาธิปไตยแบบของตัวว่าถ้าคุณอยากจะเดินไปสู่ประชาธิปไตย คุณไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนะ คุณสามารถเป็นประชาธิปไตยแบบไม่ทุนนิยมได้ เรียกว่า “ประชาธิปไตยแผนใหม่” ยกตัวอย่างเช่นจีนในระยะต่อมา เป็นต้น
ขณะเดียวกันในประเทศสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน มันมีช่องว่างความชอบธรรมทางการเมืองไทย คือระบบการเมืองทุกระบบที่คนไทยรู้จักเมื่อถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนต่อถูกดิสเครดิตชิบหายหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ม่าว่าจะเป็นระบอบเผด็จการทหารของจอมพลแปลก พบูลสงคราม และไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยสร้างใหม่ของท่านปรีดี ในช่วงเวลาไม่กี่ปีทั้ง 3 ระบอบมีปัญหาหลักทั้งนั้น ในจังหวะที่มีช่องว่างความชอบธรรมนั้นลัทธิมาร์กซมันเสนอตัวเข้ามาเหมือนกับเป็นระบอบการเมืองทางเลือก
พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ประจอบเหมาะคือพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งตั้งมาในช่วงสงครามโลก ก็โผล่ขึ้นมาบนดินกลายเป็นพรรคถูกกฏหมาย ตามเงื่อนไขที่โซเวียตบีบให้ไทยยอมรับยกเลิกกฏหมายคอมมิวนิสต์เพื่อจะให้ไทยเข้ายูเอ็นได้ การที่พรรคโผล่ขึ้นมาบนดินก็เป็นที่มาจของการผลิตคู่มือลัทธิมาร์กซออกมาจำนวนมาก คู่มือของพรรคจะแปลเป็นไทยจากจีน ซึ่งอาจแปลต่อจากภาษารัสเซียอีกทอดหนึ่ง ส่วนของปัญญาชรอิสระนอกพรรคจะแปลเป็นไทยจากอังกฤษหรือไม่ก็เขียนขึ้นเอง เล่มที่สำคัญๆ จำนวนหนึ่ง เช่น “ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางสังคม” เล่มนี้มาตีพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวปี 2517-2518 แต่ว่าเผยแพร่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ตอนที่มาตีพิมพ์ครั้งหลังลงชื่อผู้เขียนว่า “อธิคม กรองเกรดเพชร” เป็นเอกสารศึกษาในหน่วยพรรค ในหมู่นักศึกษาปัญญาชนตั้งแต่รุ่นจิตร ภูมิศักดิ์
เล่ม 2 “วิวัฒนาการของสังคม” เล่มนี้อ่านดูจะได้เซนต์ทันทีว่าแปลมาจากภาษารัสเซีย เข้าใจว่าแปลเป็นจีนแล้วมาแปลเป็นไทยอีกที ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2522 แต่เข้าในว่าแพร่หลายใต้ดินมาก่อนหน้านั้น ตอนทีตีพิมพ์ออกมานั้นนามปากกาตั้งโดยนักศึกษา คือ “เดชา รัตตโยธิน” ทำไมชื่อนี้ เพื่อนผมให้ข้อมูลว่า “เดชทหารแดง” คือนามปากกาพวกนี้ไม่ค่อยมีตัวตนจริงๆ เท่าไหร่ แต่ว่าตั้งชื่อให้มันสอดคล้องกับภาระกิจการต่อสู้
เล่ม 3 “ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์” เล่มนี้ตีพิมพ์ 2517 ต่อมาพิมพ์ซ้ำในปี 2520 กว่าๆ เปลี่ยนชื่อเป็น “ปรัชญาสังคมเปรียบเทียบ” เพราะว่าตอนนั้นกฎหมายคอมมิวนิสต์ยังอยู่ เล่มโดยคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และจากงานภาษาอังกฤษชื่อ “What is Marxism” ของ Emile Buens ซึ่งเป็นชาวพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ จริงๆ การแปลหนแรกเกิดขึ้นหลังสงครามโลก โดยที่คุณกุหลาบแปลหลังจากไปเรียนออสเตรเลียช่วงสั้นๆกลับมา แล้วทยอยลงในอักษรสาร ตั้งแต่ปี 93-94
เล่ม 4 เป็นงานของโจเซฟ สตาลิน “Dialectical and Historical Materialism” คนแปลคือคุณสมัคร บุราวาส แปลโดยใช้นามปากกาว่า “กัปตันสมุทร” สมัคร บุราวาส เป็นราชบัณฑิต เชียวชาญวิทยาศาสตร์กับปรัชญา ตอนที่แปลเล่มนี้ลงในอักษรสารตั้งชื่อว่า “ลัทธิสสารนิยมแบบไดอเล็คติกและสสารนิยมทางประวัติศาสตร์” ตีพิมพ์ในอักษรสารปี 93-94 ที่น่าสนใจคนที่สนใจเรื่องภาษาสนใจเรื่องประวัติของมันงานชิ้นเดียวกันนี้ถูกเอามาแปลใหม่โดยคนแปลใช้นามปากกาว่า “ประกาย สุชีวิน” เมื่อปี 2518 แล้วแปลใหม่ก็กลับไปใช้ภาษาลัทธิมาร์กซแบบพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกมันว่า “ลัทธิวัตถุนิยมวิพากษ์และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” เป็นภาษาลัทธิมาร์กซแบบพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
อีกเล่มหนึ่งคือ “ปัญญาวิวัฒน์” อันนี้คุณสมัคร บุราวาส เขียนขึ้นเอง อาจจะค้นคว้าศึกษาแต่ไม่ได้แปลจากอะไร ตีพิมพ์รวมเล่มปี 2507 งานนี้ 2 เล่มจบ พยามที่จะสมานลัทธิมาร์กซเข้ากับพุทธปรัชญาในทางแนวคิดในทางภาษาและในทางวัฒนธรรม มีเกร็ดนิดหนึ่งเกี่ยวกับงานเล่มนี้ ผมไปเจองานเล่มนี้ในป่า จัดตั้งนำเทปมาให้เป็นการเอา “ปัญญาวิวัฒน์” อัดลงเทปส่งเข้ามาทั้งเล่ม สะท้อนว่าทาองพรรคหรืออย่างน้อยหน่วยศึกษาของพรรคเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ใช้ได้ เป็นหนังสือที่ใช้แนะนำลัทธิมาร์กซแบบสมานเข้ากับวัฒนธรรมแบบไทยๆ
เล่มสุดท้ายคือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ของท่านปรีดี พนมยงค์ ตีพิมฑ์ออกมาปี 2500 คิดว่าเป็นความพยายามของอาจารย์ปรีดีที่จะสมานลัทธิมาร์กซเข้ากับพุทธปรัชญาในทางแนวคิดภาษาและวัฒนธรรม คล้ายๆกับ “ปัญญาวิวัฒน์” แต่วิธีตีความต่างกันไป งานพวกนี้จำนวนหนึ่งถูกตีพิมพ์ซ้ำใหม่และบางอันก็ถูกแปลใหม่
ช่วงที่ 2 คือหลัง 14 ต.ค.2516
ช่วงที่ 2 คือหลัง 14 ต.ค.2516 จากที่การเมืองถูกปิดมานาน พอเปิดใหม่ก็ตื่นตัวสนใจในความคิดที่ก้าวหน้าก็แพร่ขยาย จีนกลายเป็นเหมือนกับเมกะใหม่ของบรรดาผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย ก็มีการเอางานสมัยยุคเก่าออกมาพิมพ์ใหม่ และมีการเขียนงานใหม่ๆ ขึ้นมาในลักษณะที่เป็นคู่มือลัทธิมาร์กซของนักวิชาการไทยที่เรียนจบจากตะวันตก อันนี้จะไม่ใช่คนของพรรค เป็นการแปลบ้าง เรียบเรียงบ้าง ไม่ใช่เอกสารของคนที่เชื่อลัทธิมาร์กซแบบบวชแล้ว มีลักษณะเป็นเชิงวิชาการมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามมากขึ้น หรือไม่ก็แอนตี้คอมมิวนิสต์ไปเลย งานที่เด่นๆ ในช่วงนั้น เช่น “วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์” โดย น.ชญานุตม์ ปี 2516 “มาร์กซ และสังคมนิยม” โดยคุณสุรพงษ์ ชัยนาม ปี 2517
“มาร์กซ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร” ของคุณสุภา ศิริมานนท์ ปี 2518 คุณสุภา จะไม่เหมือนคนรุ่นหลัง 14 ตุลา นิดหน่อย คือเอาเข้าจริงคุณสุภา เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี และมีบทบาทตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในเสรีไทยและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณสภาเป็นมาร์กซิสม์อิสระนอกพรรค วิธีหาความรู้ของคุณสภาไม่เกี่ยวกับพรรคเลย เช่น แกได้รับเชิญจากญี่ปุ่นให้ไปเยือนในฐานะนักหนังสือพิมพ์ แกก็ไปร้านหน้งสือเก่าในกรุงโตเกียวแล้วก็ซื้อหนังสือลัทธิมาร์กซภาษาอังกฤษกลับมา แกอยู่เมืองไทยแกส่งจดหมายสั่งซื้อหนังสื่อลัทธิมาร์กซจากอเมริกามานั่งอ่าน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แกได้รับแต่งตั้งเป็นทูตหนังสือพิมพ์ไปอยู่ยุโรปตะวันตก ไปอยู่โซเวียตก่อนแล้วต่อมาไปอยู่สวิสฯ อยู่ฝรั่งเศส แกก็ไปเข้าคอร์สของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นั่นเรียนลัทธิมาร์กซ คนที่จะอยู่ร่วมรุ่นเดียวกันและมีประสบการณ์คล้ายๆกันก็คือคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ดังนั้นแกจะมาของแกอีกทาง จะไม่เกี่ยวกับพรรคโดยตรง และคุณสุภานี่ล่ะที่เป็นโต้โผในการอักษรสารขึ้นมาในช่วงปี 2492-2495 อักษรสารเป็นวารสารทางภูมิปัญญาที่โดดเด่นนำสมัยที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวารสารที่บุกเบิกเผยแพร่ลัทธิมาร์กซทางปัญญาวิชาการในสังคมไทย
เล่มถัดไป “วิเคราะห์ลัทธิคอมมิวนิสต์” ของอาจารย์ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ พิมพ์ออกมาเมื่อ 2523 แปลจาก “the Theory and Practice of Communism” ของ R.N. Carew Hunt เป็นหนังสือแอนตี้คอมมิวนิสต์ และ “เศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องต้น” ของอาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ อันนี้อยู่ในกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ พิมพ์มาปี 2523 แปลจากงานของ Ernest Mandel เป็นนักลัทธิมาร์กซที่มีชื่อเสียง อยู่ในพวก Trotskyism อยู่ในองค์การสากลที่ 4 แปลมาจากงานของ Mandel เรื่อง “From Class Society to Communism: Introduction to Marxism”
ก็มีงานชุดที่ 2 ออกมาช่วงหลัง 14 ตุลา แต่ว่าช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2520 เป็นต้นมางานทำนองนี้ก็ขาดหายไป ไม่มีใครแปลหรือเขียนและไม่ค่อยมีคนซื้อหา พร้อมกับการล่มสลายของขบวนการปฏิวัติใต้การนำของ พคท. ในเมืองไทย พร้อมกับการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ในระดับสากล และการเสื่อมอิทธิพล เสื่อความสนใจของคนทั่วไปต่อลัทธิมาร์กซ เพราะฉะนั้นพมมาปลาย 2520 คู่มือลัทธิมาร์กซก็หายไปจากตลาดเมืองไทย
ภาพจากเว็บไซต์ openworlds.in.th
ความเกี่ยวพันของเล่มนี้กับคู่มือก่อนหน้า มันไม่ใช่งานโฆษณาชวนเชื่อ
เล่มที่ผมแปลนี้ มันเข้าไปเกี่ยวพันอย่างไรกับเล่มทั้งหลายที่มาก่อนหน้านี้ เทียบกับงานเหล่านี้ "มาร์กซ : ความรู้ฉบับพกพา" ที่ผมแปลจาก “Marx: A Very Short Introduction” ของ Peter Singer มีลักษณะเฉพาะที่แปลกต่างออกไป มันเป็นงานเชิงวิชาการที่เน้นไปในทางความคิดปรัชญา มันไม่ใช่งานโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าจากมุมมองแบบคอมมิวนิสต์หรือแอนตี้คอมมิวนิสต์ แกพยายามทำความเข้าใจความคิดแบบมาร์กซแบบเห็นอกเห็นใจ แต่ก็สงสัยไต่ถามและวิพากษ์วิธี พยายามรักษาดุลระหว่างหยั่งเข้าใจตรรกะภายในความคิดของมาร์กซ ขณะเดียวกันก็มีการมองลัทธิมาร์กซจากภายนอกด้วย ในความหมายนี้มันไม่เหมือนคู่มือลัทธิมาร์กซเท่าที่สังคมไทยเคยผลิตออกมา
ใครคือ Peter Singer
Peter Singer เหมือนกับมี 2 มิติ Peter Singer ที่วงการวิชาปรัชญาโลกรู้จัก ซึ่งโด่งดังมากคนนี้ คือแกเป็นนักจริยปรัชญาหรือเป็นนักจริยศาสตร์สำนักประโยชน์นิยม แกเป็น “Utilitarianism” เป็นคนออสเตรเลีย ที่แกดังจริงๆ ไม่ใช่งานประเภทเกี่ยวกับมาร์กซหรือเฮเกล แกดังจากงานเขียนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสัตว์และการปลดปล่อยสัตว์ แล้วแกจะโจมตีว่าพวกที่ห่วงใยแต่มนุษย์นี่ จะปลดปล่อยมนุษย์ แต่ว่ากดขี่ข่มแหงรังแกสัตว์เป็นพวกหมกมุ่นแต่เผ่าพันธ์ของตัว แกก็ประยุกต์แนวคิด Utilitarianism ของแก ไปครอบคลุมสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายของแกด้วย อันนี้ทำให้แกดังระเบิด ทุกวันนี้แกเป็นศาสตราจารย์ด้าน bioethics หรือชีวจริยศาสตร์ อยู่ Princeton สหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งที่ออสเตรเลีย แกเคยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 10 ปัญญาชนสาธารณะที่ทรงอิทธิพลที่สุดของออสเตรเลียในปี 2006 แกกินเจเป็นมังสวิรัติ
อีกมิติหนี่งของ Peter Singer ซึ่งคนรู้จักน้อยกว่าและมักถูกบดบังไป คือแกเป็นคนที่สนใจศึกษาและเชียวชาญปรัชญาของมาร์กซและเฮเกล งานของแก 2 เล่มที่ทำออกมาคือ มาร์กซและสองปีให้หลังแกเขียนงานเรื่องเฮเกลออกมา ทั้ง 2 เล่มนี้ถูกนำเข้ามาในชุดหนังสือ Very Short Introduction ของ OUP ในปี 2000 และ 2001
VIDEO
Peter Singer สนทนากับ Bryan Magee ประเด็นมาร์กซและเฮเกล
นอกจากนี้ใรทศวรรษ 1980 แกยังได้รับเชิญให้ไปคุยกับ Bryan Magee เป็นนักปรัชญาทางทีวี คุยกันทางปรัชญาและออกทาง BBC ทุกวันนี้แกเลิกทำไปแล้ว แต่ในยูทูบมี แกจะเชิญนักปรัชญาน่าสนใจมาคุย ตัว Peter Singer มีวาระที่ไปคุยกับ Bryan Magee ประมาทศวรรษ 1980 ตอนต้น หลังจากพิมพ์หนังสือ 2 เล่มนี้ออกมา คุยกันเรื่องเฮเกลกับมาร์กซ ซึ่งยังอยู่ในยูทูบ เขาถอดเทปการคุยนั้นแล้วรวมเป็นหนังสือที่ Bryan Magee เป็นบรรณาธิการชื่อ “The Great Philosophers: An Introduction to Western Philosophy” ตีพิมพ์ปี 1987
อะไรคือวิสัยทัศน์ใจกลางของลัทธิมาร์กซแบบเฮเกลเลียนของ Peter Singer
ในแวดวงผู้บวชลัทธิมาร์กซมันจะมีข้อที่ทะเราะกันไม่เลิก เป็นข้อถกเถียววิวาทะในบางประเด็นสำคัญว่า “เอาเข้าจริงเนื่อแท้และพัฒนาการความคิดของมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่” ประเด็นที่เถียงกันมี 3-4 ประเด็นหลักๆ
ประเด็นที่ 1 จะเน้นความคิดช่วงไหนในชีวิตของมาร์กซ จะเน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม หรือมาร์กซในวัยแก่ ถ้าเน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม งานที่คุณจะเน้นความสนใจไปก็คือ “Economic and philosophic manuscripts” ปี 1844 และต้นฉบับเศรษศาสตร์และปรัชญาซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของมาร์กซ อีกเล่มที่คุณจะเน้นถ้าเชื่อในมาร์กซวัยหนุ่มคือ “Grundrisse” ซึ่งเป็นเหมือนโน๊ตบุ๊คที่มาร์กซจดเอาไว้ ร่างเอาไว้ ซึ่งแกทำไว้ในปี 1957 ถ้าคณสมาทานมาร์กซในวัยหนุ่มคุณจะเน้นความสำคัญของ 2 เล่มนี้
แต่ถ้าคุณเน้นไปที่มาร์กซในวัยแก่ คุณจะให้ความสำคัญกับงาน “A Contribution to the Critique of Political Economy” ปี 1859 และก็งาน “Capital” (Das Kapital) ซึ่งเล่มแรกตีพิมพ์มาปี 1867 อันนี้ก็จะเถียงกันไปไม่หยุดระหว่างคนที่เน้นมาร์กซในวัยหนุ่ม(young marx)กับมาร์กซในวัยแก่(old marx)
ประเด็นที่ 2 องค์รวมของความคิดมาร์กซมีลักษณะอย่างไรกันแน่ มันก็จะมี 2 สกุลใหญ่ๆ สกุลหนึ่งบอกว่าองค์รวมของความคิดมาร์กซมีความต่อเนื่อง เป็นเอกภาพ อีกสกุลก็บอกว่าไม่ใช่ความคิดของมาร์กซมีการแตกหักสำคัญระหว่างช่วงที่เป็นมาร์กซในวัยหนุ่มกับแก่
ประเด็นที่ 3 คือ ตกลงเนื้อแท้ของความคิดมาร์กซเป็นอย่างไรกันแน่ เป็น philosophic หรือ social science เป็นปรัชญาหรือสังคมศาสตร์
และประเด็นสุดท้าย จะให้ความสำคัญกับปัจจัยไหน ระหว่าง ‘Subject’ กับ ‘Structure’ Subject ในความหมายองค์ประธานหรือผู้กระทำการ อาจจะเป็นบุคคล เป็นกลุ่มชนชั้นที่เป็นคนซึ่งกระทำการ หรือจะเน้น Structure จะเน้นโครงสร้างสังคม โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งมันกำหนดคน ก็จะมีการตีความแตกกันออกไป คนที่เน้น Subject ก็จะออกไปทาง Marxist Humanism คือมนุษย์นิยมแบบมาร์กซ เช่น George Lucas หรือ Edward Thompson ขณะที่ผู้ที่เน้นโครงสร้างก็จะออกไปแบบ Structuralist Marxism ลัทธิมาร์กซแบบโครงสร้างนิยม เช่น Louis Althusser
Peter Singer อยู่ซีกที่เน้น young marx เน้นองค์รวมของความคิดมาร์กซมีความต่อเนื่อง เป็นเอกภาพ เน้น philosophic เน้น Subject
Peter Singer แกเสนออย่างนี้ วิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียน แกนำเสนอองค์รวมวิสัยทัศน์ความคิดของมาร์กซที่เชื่อมโยงความคิดในวัยเยาว์ของมาร์กซเข้ากับวัยวุฒิอย่างสืบเนื่องเข้าด้วยกันในเชิงปรัชญา เน้นเป้าหมายของมาร์กซที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากความแปลกแยกเพื่อให้มนุษยเป็นองค์ประธานหรือเป็นผู้กระทำการแห่งประวัติศาสตร์ของตนอย่างเสรี อันนี้คือวิสัยทัศน์ใจกลางที่แกอ่านมาร์กซแบบเฮเกลเลียนแล้วยึดอันนี้ตีความมาร์กซทั้งหมด
ที่บอกว่าวิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียน มันเป็นเฮเกลตรงไหน
ผมอ่านงานของ Peter Singer เล่ม มาร์กซ หลังจากอ่านงานของเขาเล่มเฮเกลแล้ว เวลาที่ผมอ่านงานของ Peter Singer เล่ม เฮเกล มันจะมีจังหวะที่ตาสว่างวาบ แกเข้าใจว่าเฮเกลคิดอย่างนี้ เฮเกลคิดว่ามันมีจิตวิญญาณของมนุษย์โดยรวม ซึ่งแปลกแยกออกจากโลกหรือวัตถุธรรม และทั้ง 2 ส่วนต่างก็พัฒนาไป ปฏิสัมพันธ์กันไป มีการเรียนรู้มากขึ้นผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงนี้จนถึงจุดหนึ่งจิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมมันตระหนักสำนึกถึงเนื้อแท้ของโลกหรือวัตถุธรรม แล้ว ณ โมเม้นที่จิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมเหลียวไปมองโลกวัตถุธรรมแล้วตระหนักว่าโลกวัตถุธรรมมันคือตัวเราเองและมันของเราในจังหวะนั้นคือการข้ามพ้นความแปลกแยกแล้วสมานกับเข้าด้วยกัน ถึงตอนนั้นก็จะมีความรู้ที่สมบูรณ์และมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ อันนี้คือสิ่งที่แกเอามาใช้ทำความเข้าใจการเดินเรื่องในมาร์กซ
ถ้าเราอุปมาอัปมัยให้เข้าใจง่ายมันคืออะไร คล้ายๆ อย่างนี้ เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ปลุกสร้างชุบชีวิตแฟรงเกนสไตน์ขึ้นมาจากซากศพอุ้มชูเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน แต่แล้วแฟรงเกนสไตน์ที่นักวิทยาศาสตร์สร้าง ปรากฏว่าตัวนักวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจแฟรงเกนสไตน์กำกับควบคุมแฟรงเกนสไตน์ไม่ได้ จนกระทั่งถูกแฟรงเกนสไตน์คุกคามครอบงำทำร้ายคนรักและชีวิตของตัว มันทำนองนั้น คือถ้าความเปรียบตรงนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับแฟรงเกนสไตน์ คือคนที่สร้างสิ่งที่ตัวเองสร้างมากับมือแต่คุมมันไม่ได้ ไม่รู้จักมันแล้วตัวมันกลับมาทำร้ายเขาหรือมาควบคุมครอบงำเขา คือภาพจำลองภาวะแปลกแยกของมนุษย์จากสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นฝีมือของตัวเอง แต่แล้วถึงจุดหนึ่งคนกลับไม่เข้าใจมันกำกับควบคุมมันไม่ได้ กระทั่งถูกมันคุกคามทำร้ายสิ่งที่ตนรักและวิถีชีวิตของตน
โดยความเข้าใจอันนี้ มนุษย์กับพระเจ้าหรือศาสนาก็แบบเดียวกัน มนุษย์สร้างพระเจ้าขึ้นโดยจินตนาการ มนุษย์สร้างศาสนาขึ้นแล้วก็คุมมันไม่ได้ กลับถูกพระเจ้าหรือศาสนาครอบงำ มนุษย์กับความคิดปรัชญาก็ทำนองเดียวกัน มนุษย์เป็นคนคิดสร้างปรัชญาขึ้น แต่แล้วก็ไม่สามารถเข้าใจหรือคุมมันได้กลับถูกมันควบคุมครอบงำ
ชนชั้นกรรมาชีพไร้สมบัติผู้ขายแรงงาน ชนชั้นกรรมกรอุตสาหกรรมกับทุน ชนชั้นกรรมกรสร้างทุนขึ้น แต่ทุนกับแปลกแยกกับชนชั้นกรรมกร คุกคามชนชั้นกรรมกร ชนชั้นกรรมกรคุมมันไม่ได้ ไม่สามารถจะกำกับมันได้ ในแง่เศรษฐกิจการเมือ ทำนองเดียวกัน
ในความหมายนี้กรรมกรซึ่งในสายตามาร์กซเป็นกลุ่มคนที่ทนทุกข์ทรมานที่สุดไม่มีอะไรสูญเสีย อยู่ในสภาวะแปลกแยก ไม่มีเหตุผลอะไรจะธำรงรักษาทุนไว้ พร้อมจะดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นจากสภาวะแปลกแยกอย่างถึงที่สุด คนกลุ่มนี้ในขณะที่ทุกข์ที่สุดก็เป็นพลังดัน เป็นความหวังของการยกเลิกสภาวะแปลกแยกนั้นอย่างถึงที่สุดด้วยในเวลาเดียวกัน คล้ายๆกับเอาวิสัยทัศน์ใจกลางแบบเฮเกลเลียนไปอ่านความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแบบต่างๆ แล้วมาลงเอยที่เศรษกิจการเมือง และก็ดูความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกรรมกรกับทุน แล้วเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วชนชั้นกรรมกรซึ่งทุกข์ที่สุดจะเป็นกลุ่มคนที่ปฏิวัติที่สุด เป็นพลังที่สำคัญที่สุดที่จะยกเลิกทุนนิยม
ถ้าเข้าใจแบบนี้ผมอยากประมวลสรุปตอนท้าย นึกออกไหมว่าเวลาพูดถึงมาร์กซก็จะอ้างอิงประโยคแบบนี้บ่อยๆ ซึ่งเขาไปตอกไว้ตรงหินฝังศพมาร์กซด้วยคือ Thesis ที่ 11 ของ Feuerbach มาร์กซเขียนงานสั้นๆ เกี่ยวกับ Feuerbach ซึ่ง Thesis ที่ 11 ของ Feuerbach คือ "Philosophers have hitherto only interpreted the world in various ways; the point is to change it." นักปรัชญาตีความโลกไปต่างๆนานา แต่ความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก มาร์กซเขียนอันนี้ไว้เมื่อปี 1845 แล้วมันถูกตีความไปหลากหลายมาก ถ้าเข้าใจมันแบบที่ Peter Singer อ่านเฮเกล อ่านมาร์กซ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าอย่างนี้ “ปัญหาปรัชญานั้นแก้ไม่ได้หรือไม่มีคำตอบอย่างถึงที่สุดในทางปรัชญา” เพราะคุณอยู่ในซีกนี้คุณไม่ได้ข้ามไป จะแก้ปัญหาปรัชญาได้ก็โดยข้ามไปเปลี่ยนโลกเท่านั้น ความหมายมันอย่างนี้ คือประโยคนี้เขียนขึ้นมาในวิธีคิดแบบเฮเกลที่เห็นความแปลกแยกระหว่างจิตวิญญาณกับโลกทางวัตถุธรรม พูดอีกอย่างคือมนุษย์ต้องเอื้อมมือคว้าจับ จัดการปรับเปลี่ยนโลกในฐานที่มันเป็นภาวะที่จิตวิญญาณมนุษย์โดยรวมเหลียวไปมองโลกวัตถุธรรมแล้วตระหนักว่าโลกวัตถุธรรมมันคือตัวเราเอง