วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แอมเนสตี้ฯ ออกปฏิบัติการด่วนจี้ไทย-จีน ตามนักข่าวจีนที่หายตัวในไทย

หลี่ ซิน ถ่ายภาพที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนขาดการติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2559 ขณะเดินทางโดยรถไฟมุ่งหน้าไป จ.หนองคาย เพื่อข้ามไปยังประเทศลาว (ที่มาของภาพ: Qiao Long/The Guardian)
1 ม.ค.2559 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและจีน เรียกร้องทางการทั้งสองประเทศให้สืบหานายหลี่ซิน (Li Xin) ผู้สื่อข่าวชาวจีนที่หายตัวไประหว่างการเดินทางจากประเทศไทยไปลาว  หากเขาถูกทางการควบคุมตัวเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวเขาทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่มีการดำเนินคดีกับเขาตามข้อหาทางอาญาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเรียกร้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัว ทนายความ และสาธารณชนทราบทันที ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึง 10 มีนาคม 2559
ปฏิบัติการด่วนผู้สื่อข่าวจีนหายตัวไปในประเทศไทย
นับแต่วันที่ 11 มกราคม ไม่มีผู้พบเห็นหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับหลี่ซิน (Li Xin) ผู้สื่อข่าวจีน ระหว่างเดินทางด้วยรถไฟจากประเทศไทยไปลาว เขามีแผนการขอสถานะผู้ลี้ภัยในไทย แต่มีความกังวลว่าเขาอาจถูกบังคับส่งกลับไปจีน และเสี่ยงจะถูกควบคุมตัว ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย
หลี่ซิน (Li Xin) เป็นผู้สื่อข่าว อดีตผู้เขียนบทบรรณาธิการให้กับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Southern Metropolis Dailyหนังสือพิมพ์จีนซึ่งเป็นที่นิยมมาก เขาได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปให้กับภรรยาของตนเมื่อวันที่ 11 มกราคม ระบุว่าอยู่ระหว่างเดินทางไปที่พรมแดนประเทศไทยและลาว หลังจากนั้นไม่มีผู้ได้ทราบข่าวจากเขาอีกเลย จากข้อมูลของภรรยาเขา เขามีแผนจะขอสถานะผู้ลี้ภัยในไทย และต้องการสิทธิพำนักอาศัยในประเทศอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางออกจากประเทศไทยและกลับเข้ามาใหม่ เพื่อขอวีซ่าใหม่อีกครั้ง
หลี่ซินหลบหนีจากประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยไปที่อินเดียก่อน เมื่อถูกปฏิเสธสิทธิการลี้ภัย เขาจึงเดินทางมาที่ไทย ระหว่างอยู่ในอินเดีย เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในเดือนมิถุนายน 2556 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลจีนกดดันเขาอย่างหนักให้เป็นสายข่าวให้กับทางการ เพื่อสืบหาข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานและเพื่อนคนอื่น ๆ มีการขู่จะจับเขาขังคุกถ้าไม่ยอมทำตาม หลังจากให้ความร่วมมือระยะหนึ่ง หลี่ซินปฏิเสธจะทำงานให้ทางการจีนต่อไป เขาเชื่อว่าการปฏิเสธเช่นนั้นทำให้ตัวเขาและครอบครัวต้องเสี่ยงภัย เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากประเทศจีน โดยที่ภรรยาของเขายังคงอยู่ในจีนต้องคอยดูแลลูกชายอายุสองขวบและอยู่ระหว่างตั้งครรภ์
​มีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีของหลี่ซิน เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ส่งกลับบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาลและสมาชิกของชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยซึ่งหลบหนีออกมาจากประเทศจีน 
แอมเนสตี้ฯ จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงทางการไทยโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
กระตุ้นทางการจีนและไทยให้ดำเนินการทุกประการที่เป็นไปได้ เพื่อสืบหาที่อยู่และพิสูจน์สถานภาพด้านกฎหมายของหลี่ซิน และให้เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ครอบครัว ทนายความ และสาธารณชนทราบโดยทันที
กรณีที่เขาถูกทางการควบคุมตัว เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวเขาทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่มีการดำเนินคดีกับเขาตามข้อหาทางอาญาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กรณีที่เขาถูกทางการควบคุมตัว เรียกร้องทางการให้การประกันว่าเขาจะสามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้อย่างสม่ำเสมอและไม่มีการปิดกั้น 
ข้อมูลเพิ่มเติม โดย แอมเนสตี้ฯ : 
มีแนวโน้มว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement principle) มากขึ้น โดยเป็นผลมาจากการกดดันของรัฐบาลจีน หลักการดังกล่าวห้ามการส่งบุคคลไปประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ๆ กรณีที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า บุคคลจะถูกละเมิดหรือถูกปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นหลักการที่ปรากฏในกฎบัตรระหว่างประเทศจำนวนมาก และมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย (UN Refugee Convention) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) หรืออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)
หลายประเทศได้บังคับส่งกลับบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาลและสมาชิกของชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยซึ่งหลบหนีออกมาจากประเทศจีน เป็นการละเมิดพันธกรณีที่มีต่อหลักการไม่ส่งกลับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เจียงยี่เฟย (Jiang Yefei) และตงกวงปิง (Dong Guangping) นักกิจกรรมจีนสองคนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees - UNHCR) ถูกทางการไทยส่งกลับไปยังจีน และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะได้รับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น รวมทั้งการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม (โปรดดู UA 259/16: https://www.amnesty.org/en/documents/asa17/2880/2015/en/) ในเดือนกรกฎาคม 2558 ทางการไทยบังคับส่งกลับบุคคลประมาณ 100 คนไปประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อุยเก๋อที่มีสัญชาติจีน ซึ่งมีความเสี่ยงจะได้รับการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีเมื่อเดินทางกลับไปประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2555 ทางการมาเลเซียบังคับส่งกลับชาวอุยเก๋อหกคน ซึ่งอยู่ระหว่างรอสิทธิการลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในเดือนธันวาคม 2552 ทางการกัมพูชาบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่พักพิงชาวอุยเก๋อ 20 คน โดยห้าจาก 20 คนนี้ มีรายงานข่าวว่าถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีกแปดคนมีรายงานข่าวว่าได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี โดยเป็นการพิจารณาคดีลับ
นอกจากนั้น บุคคลอื่น ๆ ซึ่งเคยแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ได้หายตัวไประหว่างพำนักในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น กุ้ยมินไห่ (Gui Minhai) ผู้มีเชื้อชาติจีนแต่มีสัญชาติสวีเดนได้หายตัวไประหว่างอยู่ในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2558 และนักกิจกรรมคนอื่นแสดงความกังวลว่า เขาน่าจะถูกส่งตัวกลับไปจีน ในวันที่ 17 มกราคม 2559 กุ้ยมินไห่ได้ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ของรัฐบาลจีน (CCTV) มีท่าทีเหมือน “รับสารภาพ” ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกดดัน ในเดือนเดียวกัน เปาเฉาซวน (Bao Zhuoxuan) อายุ 16 ปี บุตรคนเดียวของนายหวังอยู่ (Wang Yu) ทนายความชาวจีน และตั้งจีฉุน (Tang Zhishun) และซิงจิงเซียน (Xing Qingxian) นักกิจกรรมชาวจีนสองคน ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจับตัวไประหว่างอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งในพม่าใกล้กับพรมแดนประเทศจีน หลังจากหายตัวไปเป็นเวลาหลายวัน เปาเฉาซวนได้ถูกส่งตัวกลับไปอยู่กับปู่ย่าของเขาที่บ้านที่เมืองอูลานฮอต เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน เชื่อว่าผู้ชายอีกสองคนที่เดินทางร่วมกับเขายังคงถูกทางการจีนควบคุมตัวเอาไว้

กกต. ชี้รณรงค์ไม่รับ รธน. ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ สนช.


สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุกรณี 'ณัฐวุฒิ' จ่อรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ตอบไม่ได้ทำได้หรือไม่ ต้องรอ สนช. พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประชามติ แต่แย้มเขียนไว้ใครจะชวนโหวตต้องไปแจ้ง กกต. ก่อน ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ด้าน 'สวนดุสิตโพลล์' ระบุประชาชนไม่มั่นใจ ร่าง รธน.ผ่านประชามติ รอฟังจากกระแสสังคมเสียงส่วนใหญ่ในการพิจารณา
 
31 ม.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ระบุ จะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ต้องไปถามผู้รักษากฎหมาย และรักษาความสงบเรียบเรียบร้อย แต่ขณะนี้ กกต. อยู่ระหว่างเตรียมจัดส่งร่างประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการทำประชามติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ดังนั้น การที่ นายณัฐวุฒิ พูดลักษณะนี้จึงบอกไม่ได้ว่าทำได้ หรือไม่ได้ เพราะประกาศยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสนช. ซึ่ง สนช. อาจจะเห็นด้วยกับ กกต. หรือร่างใหม่ทั้งหมดก็ได้ สำหรับร่างประกาศดังกล่าว กกต. กำหนดให้ผู้ที่จะรณรงค์รับ หรือไม่รับร่างประชามติ ต้องมาทำการจดแจ้งองค์กรกับ กกต. ก่อน ว่า มีสมาชิกกี่คน มีแผน แหล่งที่มาของงบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างไร โดยเป็นการทำกิจกรรมภายใต้ กกต. กำหนดก็จะสามารถรณรงค์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย โดยองค์กรที่จะมารณรงค์จะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือประชาชนทั่วไปก็ได้
 
'สวนดุสิตโพลล์' เผยประชาชนไม่มั่นใจ ร่าง รธน.ผ่านประชามติ
 
วันเดียวกันนี้ (31 ม.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าสวนดุสิตโพลล์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะ รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ในขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มีการแถลงเปิด รัฐธรรมนูญร่างแรกฉบับ ปฏิรูปประเทศ 270 มาตรา เน้นปราบทุจริตอย่างจริงจังและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะปรับแก้ไข ภายใน 15 ก.พ. นี้ เพื่อให้ได้ร่างฉบับสมบูรณ์ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณี การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น 1,338 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2559 สรุปผลได้ ดังนี้ 
 
ประชาชน ร้อยละ 41.42 จะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน ร้อยละ 37.67 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.91 ไม่ไป ขณะที่ ร้อยละ 83.11 ระบุว่า ต้องฟังจากกระแสสังคมเสียงส่วนใหญ่ในการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 79.52 ระบุว่า เนื้อหาชัดเจนเข้าใจง่ายมีความเป็นธรรม ร้อยละ 77.43 ระบุเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
 
เมื่อถามถึงร่างรัฐธรรมนูญ แบบไหนที่ประชาชนจะรับร่าง ร้อยละ 78.48 ระบุเป็นไปตามหลักสากล ประชาธิปไตย ร้อยละ 67.86 ยุติธรรมคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 57.10 มีกฏหมายบทลงโทษที่เหมาะสมชัดเจน และรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ประชาชนจะไม่รับร่าง ร้อยละ 75.78 ไม่เป็นกลางเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ร้อยละ70.40 ปิดกั้นการแสดงความเห็นประชาชนไม่มีส่วนร่วม ร้อยละ 63.23 เนื้อหาไม่ชัดเจนเข้าใจยาก 
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ฉบับนี้ จะผ่านการ รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ร้อยละ 60.92 ไม่แน่ใจเพราะที่ผ่านมามีประเด็นที่สร้างความขัดแย้งตลอด ร้อยละ 22.62 รับร่าง เพราะอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาเชื่อรัฐธรรมนูญนี้จะต้องดี ร้อยละ 66.46 ไม่รับร่างเพราะไม่ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด บ้านเมืองก็ยังคงวุ่นวาย เนื้อหาไม่ชัดเจน
 
 

คสช. จ่อคุยกรอบขบวนล้อการเมือง งานบอล 'จุฬา-มธ.' 3 ก.พ.นี้ ยันไม่ห้ามจัด


1 ก.พ. 2559 หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา การจัดงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 โดยมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง ที่มีการเสียดสี คสช.และรัฐบาล ซึ่งการควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด (อ่านรายละเอียด) นั้น
ภาพขบวนล้อเมื่อ 7 ก.พ.58
ส่งผลต่อขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ที่จะจัดในวันที่ 13 ก.พ. นี้นั้น ล่าสุดวานนี้ (31 ม.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำชับเกี่ยวกับรูปแบบขบวนล้อเลียนการเมือง ในฟุตบอลประเพณี มธ-จุฬาฯ ที่จะมีขึ้นวันที่ 13 ก.พ. นี้ มายัง มธ.แต่งานนี้ผู้จัดการหลักคือ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าทางผู้จัดงานจะกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ โดยในส่วนของ มธ.จะอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่จัดกิจกรรม ซึ่งไม่ได้กำชับอะไรนักศึกษาเป็นพิเศษ ยังยึดหลักเกณฑ์เดิมคือ ต้องไม่มีคำหยาบคาย หรืเอ่ยชื่อบุคคลโดยตรง ส่วนจะเป็นเหตุการณ์อะไร อย่างไรนั้นปล่อยให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
นายวรวิทย์ โสสุทธิ์ อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.พ. ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยงามดูพลี จะมีการแถลงการณ์ร่วมระหว่างสองมหาวิทยาลัยถึงการจัดงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา 2559 และรายละเอียดของการจัดงานในปีนี้ จึงอยากขอเปิดเผยรายละเอียดในวันดังกล่าว
 
แหล่งข่าวจาก มธ.ของมติชนออนไลน์เปิดเผยว่า การจัดงานฟุตบอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ ปีนี้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดงานไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทาง คสช.ได้ตอบรับ อนุญาตให้จัดงานได้ โดยทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯยืนยันว่าเป้าหมายของการจัดงานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของทั้งสองมหาวิทยาลัย และจะดูแลในเรื่องขบวนล้อการเมืองของนักศึกษา ไม่ให้ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือไปละเมิดกฎหมาย โดยมีกำหนดจะนัดประชุมกับ คสช.อีกครั้ง วันที่ 3 ก.พ.
 
คสช. ยันไม่ได้ห้าม แต่ขออย่าเคลื่อนไหวหรือทำสิ่งใด้ให้นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม
 
วันนี้ (1 ก.พ.59) เนชั่นทีวี รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวยืนยันว่า คสช. ไม่ได้ห้ามในการจัดงาน โดยในวันที่ 3 ก.พ.ก็ ตัวแทนทางมหาวิทยาลัยจะมีการประชุมร่วมกันกับ คสช. เป็นหน่วยพลทหารม้าที่้ 2 พื้นที่ที่ดูแลอยู่แล้ว จึงเป็นเพียงการให้กรอบการจัดงานในภาพรวม ที่เป็นแนวทางเดิมหลังรัฐประหาร ที่ไม่ควรเคลื่อนไหวหรือทำสิ่งใด้ให้นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ลักษณะขอความร่วมมือ ทำเข้าใจว่าทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสุ่มเสี่ยง จึงขอให้งดเว้นดีกว่า แต่ไม่ได้ได้มีกำชับพิเศษหรือมีคำสั่งมาจากหัวหน้า คสช.
 
สรรเสริญขอให้ดูว่าบ้านเมืองขณะนี้ใช่เวลาปกติหรือไม่ 
 
ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม ถึงความเห็นของ พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันนี้(1 ก.พ.59) ด้วย โดย เขากล่าวว่าตรงนี้ตนไม่ทราบว่า คสช.มีการหารือหรือห่วงใยเรื่องนี้อย่างไร แต่โดยส่วนตัวต้องดูว่าบ้านเมืองขณะนี้ใช่เวลาปกติหรือไม่ เข้าใจทุกคนต้องการแสดงความคิดเห็นเต็มที่ แต่ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็นเต็มที่แล้วเป็นไงก็ยังมีคอร์รัปชั่นอยู่ เพราะงั้นการสะท้อนปัญหาเหล่านั้นมันทำให้สิ่งต่างๆ ในสังคมดีขึ้นหรือไม่ ทุกคนต้องร่วมคิด อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ตอบลำบากคงเป็นเรื่องของสังคม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ชำแหละร่างรธน.ฉบับมีชัย 'สถาปนาอภิชนเป็นใหญ่'


รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติฯ มช. ชี้ร่าง รธน.มีชัย เป็นฉบับ "อภิชนเป็นใหญ่" เป็นชนวนความขัดแย้งที่จะปะทุอย­่างรุนแรงในอนาคต สวนทางกับการตื่นตัวทางการเมือง ฟันธงประชามติไม่ผ่าน แม้คนที่เคยเชียร์กองทัพ ก็ไม่เอาด้วยกับร่างฯ นี้ 
เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา Thaisvoicemedia ได้เผยแพร่ บทสัมภาษณ์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการยกร่าง
โดย รศ.สมชาย ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปสู่การบัง­คับใช้ จะเกิดการสถาปนาโครงสร้างการเมืองใหม่ ที่จะมีอำนาจเหนือและซ้อนกับโครงสร้างการเ­มืองที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน จะสร้างนักการเมืองสายพันธ์ใหม่ที่ไม่ได้ย­ึดโยงกับประชาชน จึงขอเรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นฉบับ "อภิชนเป็นใหญ่" ซึ่งจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่จะปะทุอย­่างรุนแรงในอนาคต เพระสวนทางกับการตื่นตัวทางการเมืองของคนไ­ทย เชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำในขั้นตอนก­ารทำประชามติแน่นอน เพราะแม้แต่คนที่เคยเชียร์กองทัพ ก็ไม่เอาด้วยกับร่างฯ นี้ ดังนั้นถ้ารัฐบาล คสช.จะให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปก็คว­รจะนำ รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ปี 50 มาใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการทุจริตหรือแก้ปัญหาความขัด­แย้งในอนาคต หรือการปฎิรูปประเทศก็ค่อยมาว่ากันเมื่อมี­รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว