วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปชป.ชี้จุดอ่อนระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ไม่สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง


ปชป. ยื่นข้อเสนอให้ กรธ. ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน คงสิทธิเสรีภาพ ชี้จุดอ่อน ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคประชาธิปไตยใหม่ ค้านด้วย ด้านกรธ.ยังไม่สรุปวิธีคำนวณ
4 พ.ย. 2558 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับข้อเสนอจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมสมาชิกพรรคเข้าพบ เพื่อยื่นข้อเสนอใช้ประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายจุรินทร์ กล่าวว่า หัวหน้าพรรคเห็นควรให้คงเรื่องการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสาระสำคัญยังคงอยากให้สิทธิเสรีภาพและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีหลักประกันไม่น้อยกว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550  มีกลไกจัดการซื้อเสียง ทุจริตคอรัปชั่น ให้มีบทลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังเสนอให้กำหนดกรอบการพิจารณาคดีทุจริตให้ชัดเจนเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ทันเวลา
ส่วนระบบการเลือกตั้ง นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับหลักการของนายมีชัย ที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงของประชาชน แต่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ยังมีจุดอ่อนที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะประชาชนถูกกำหนดให้เลือกคนกับพรรคในบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่คะแนนที่ประชาชนเลือก ส.ส.เขตกลับถูกโอนไปให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งความเป็นจริงแล้วประชาชนอาจไม่ต้องการให้ผู้สมัครคนดังกล่าวเป็น ส.ส. จึงอยากเสนอให้ประชาชนเลือกทั้งพรรคและคนแล้วค่อยนำคะแนนของพรรคมาคำนวนเป็น ส.ส.ทั้งหมดที่พรรคแต่ละพรรคควรจะได้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญควรระบุประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูปไว้ และให้นำไปขอความเห็นจากประชาชนผ่านการทำประชามติ  และการปฏิรูปควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการปรองดอง ควรยึดกฎหมายเป็นหลัก เพราะเชื่อว่า จะทำให้สร้างสังคมปรองดองและสันติได้ในระยะยาว
พรรคประชาธิปไตยใหม่ ค้านระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม
วันเดียวกัน พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ กรธ. ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ  รับหนังสือจากนาย    สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่  ที่เสนอให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิม ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบ เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบ และภาพรวมของพรรคการเมืองจะอ่อนแอ  เนื่องจากไม่มีเงินทุนส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเหมือนพรรคขนาดใหญ่  จึงไม่สามารถนำคะแนนของผู้แพ้ในการเลือกตั้งแบบเขตมาเพิ่มให้กับแบบบัญชีรายชื่อได้
นายสุรทิน กล่าวว่า ทางพรรคยังเสนอให้ตั้งองค์กรพรรคการเมืองโดยตรงเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง ไม่ควรสังกัดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วให้พรรคการเมืองควบคุมกันเอง เพราะที่ผ่านมาเห็นว่าพรรคการเมืองยังไม่ได้รับการพัฒนาและถูกข้าราชการประจำคลอบงำมาโดยตลอด รวมทั้งเสนอเรื่องการประกันตัวในชั้นศาล ว่าประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนพร้อมทรัพย์สินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาทประกันตัวได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีข้าราชการมาประกันตัวด้วย
กรธ.ยังไม่สรุปวิธีคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม
วันเดียวกัน นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงว่า วันนี้ (4 พ.ย.)   นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ ได้เสนอความคืบหน้าระบบการเลือกตั้งต่อที่ประชุม  ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จำนวน ส.ส.จะอยู่ที่ 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน
นายนรชิต กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการเสนอวิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบใหม่ หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งแบบเขตไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น วิธีแรก ให้นำส่วนต่างระหว่างผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของ ส.ส.เขตกับผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับที่ 2 ของ ส.ส.เขต มาเพิ่มให้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแบบเขต
นายนรชิต กล่าวว่า หรือ วิธีที่ 2 ให้นำส่วนต่างระหว่างผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของ ส.ส.เขต กับคะแนนรวมของผู้แพ้การเลือกตั้งในเขตนั้นทั้งหมด มาเพิ่มให้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด แต่หากผลรวมของผู้แพ้ทั้งหมด มีมากกว่าผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในส.ส.เขต จะถือว่า ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดไม่ได้ชนะใจคนส่วนใหญ่ของเขตนั้น ดังนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด จะไม่ได้นำคะแนนไปเพิ่มให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรคเดียวกัน
“อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงแค่การเสนอในที่ประชุม แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาบนพื้นฐานที่ให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย และพร้อมจะนำทุกข้อเสนอจากหลายฝ่ายไปพิจารณาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ” นายนรชิต กล่าว

ประยุทธ์โยนให้ผบ.ทบ. แจงปมนายทหารระดับสูงเอี่ยวคดีม.112


4 พ.ย. 2558  เดลินิวส์ASTVผู้จัดการออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีฯ เมื่อเลา 14.15 น. วันนี้ (4 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข่าวว่ามีนายทหารยศพลตรี และพันเอก เกี่ยวข้องกับคดีผิดมาตรา 112 ว่า “กำลังดำเนินการสอบสวน ให้ไปถาม พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ถ้าผิดก็สอบไป” จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางกลับทันที
ด้านแหล่งข่าวนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก เปิดเผยว่า ในขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาพาดพิง ในส่วนของระบบทหารการพาดพิงยังไม่ถือว่าเป็นความผิด นอกจากจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้กับเจ้าตัวทราบ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ผู้ถูกพาดพิงอยู่ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นตรงกับสำนักงานเลขานุการกองทัพบกจะต้องมีเอกสารมายืนยันว่ากระทำความผิดในเรื่องใด หรือจนกว่าเจ้าพนักงานจะนำหมายจับหรือหมายศาลมาแจ้งข้อกล่าวหาถึงจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของกองทัพ หากมีการแจ้งมาแล้วทางกองทัพบกก็ยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการสืบสวน
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ในเรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลจริงๆ