วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

เราจะไปทางไหน#5: ประจักษ์ ก้องกีรติ การสถาปนา ‘อำนาจนำใหม่’ ของกองทัพ

ภาพจากแฟ้มภาพ

คุยกับประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และศึกษาเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้ง โดยวาระนี้คงหนีไม่พ้นการพูดคุยกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ไปจนถึงวิเคราะห์สถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และทางออกจากรัฐทหารมีมากน้อยเพียงไหน
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด คิดว่าอนาคตการเมืองไทยกำลังจะเจอกับอะไร เช่น รัฐประหารซ้อน, เป็นไปตาม road map, การนองเลือด ประชาธิปไตยครึ่งใบ,  hybrid regime หรือการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหาร
อนาคตการเมืองไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยซับซ้อนหลายอย่างที่สะสมผูกเป็นปมเงื่อนที่ยากแก้การแก้ไขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ที่เปราะบางและอ่อนไหวนี้ ลำพังปัจจัยในระดับตัวบุคคล (หมายถึงการตัดสินใจต่างๆ ของชนชั้นนำหยิบมือเล็กๆ) ก็สามารถพลิกผันการเมืองไทยได้ให้ออกหัวออกก้อยได้ แต่สำหรับ scenario ที่เป็นไปได้หลากหลายดังที่ถามมา ผมคิดว่ารัฐประหารซ้อนมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าจะถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่เท่าที่ดูสถานการณ์ปัจจุบัน มันยากมาก เพราะกองทัพค่อนข้างเป็นเอกภาพโดยเฉพาะในระดับนำ เนื่องจากถูกยึดกุมโดยขั้วเดียวกลุ่มเดียวมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ ขั้วอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในสายคุมอำนาจปัจจุบันถูกเตะโด่งหรือถูกสกัดกั้นออกจากสายอำนาจ จึงยากที่จะมีการรัฐประหารซ้อนในกองทัพเกิดขึ้นได้ในระยะใกล้นี้ 
แต่แน่นอนว่า roadmap ที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 นั้นไม่ได้ราบเรียบมีโอกาสสะดุดได้ตลอดทาง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเองก็เคยถูกเลื่อนมาจาก roadmap เดิมแล้ว หัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ที่ประชามติ ถ้าประชามติรัฐธรรมนูญผ่านและนำไปสู่การเลือกตั้งและไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกลางทางระหว่างนั้น หลังเลือกตั้ง สังคมไทยก็จะเผชิญกับการสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่แฝงตัวมาในร่างประชาธิปไตย (อย่างน้อยเอาไว้แสดงต่อนานาชาติ เพื่อให้ระบอบมันพอดูมีความชอบธรรม) ที่ชนชั้นนำในระบบราชการโดยเฉพาะกองทัพจะมีอำนาจในการกำกับควบคุมการเมืองไทย โดยสถาบันทางการอย่างการเลือกตั้ง พรรคการเมือง รัฐสภา จะเป็นเพียงสถาบันพิธีกรรมที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก คือ จะเป็นระบอบที่ถอยไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยอดีตนายกฯ เปรม เรียกว่าประชาธิปไตยแบบเศษเสี้ยวจะดีกว่า เพราะมันไม่ถึงครึ่ง
อย่าลืมว่าสมัยรัฐธรรมนูญ 2521 เรายังไม่มีองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจล้นฟ้าแบบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สามารถขัดขวางการทำงานของรัฐบาลหรือทำให้รัฐบาลล้มไปได้ตลอดเวลา ยังไม่ต้องพูดถึงว่านายกฯ ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งมันแทบจะไม่สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้เลย คราวนี้แหละจะกลายเป็น “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ของจริง คือเลือกตั้งเสร็จแล้วอำนาจประชาชนก็แทบหมดไปทันที กระบวนการตั้งรัฐบาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลจะหลุดไปอยู่ในมือขององค์กร “อิสระ” และกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนเลย โดยเฉพาะส.ว. 250 คนที่จะมาจากการแต่งตั้งโดยคสช. องค์กรและกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มอำนาจที่ทรงพลัง
พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ได้ถอยกลับไปสู่ระบอบ “เปรมาธิปไตย” เพราะระบอบที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามสร้างขึ้นมันเป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยยุคเปรม เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างชนชั้นนำข้าราชการ ศาลและองค์กรอิสระโดยมีรัฐบาลและรัฐสภาเป็นเครื่องประดับ และทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การชี้นำของกองทัพ เป็นระบอบ “อำนาจนิยมแบบไทยๆ”
นี่คือพิมพ์เขียวที่ชนชั้นนำในปัจจุบันพยายามสร้างขึ้น และต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เค้าตั้งใจให้มันเป็นระบอบถาวร ถามว่าระบอบดังกล่าวจะสร้างได้สำเร็จและจะอยู่คงทนหรือไม่ อันนี้ตอบลำบาก แต่ถ้าดูจากพลวัตรการเมืองไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นต้นมา ไม่มีกลุ่มชนชั้นนำไหนสถาปนาอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำจากการเลือกตั้งหรือชนชั้นนำจากกองทัพ การรัฐประหาร 2534 และ 2549 ล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถสถาปนาระบอบเผด็จการที่มีเสถียรภาพขึ้นมาแทนที่ได้ คือเราไม่มีทั้ง consolidation of democracy และ consolidation of authoritarianism ถ้าเราดูข้อเท็จจริงง่ายๆ หลังปี 2535 เป็นต้นมา ไม่มีระบอบไหนหรือใครอยู่ในอำนาจได้เกิน 5 ปี ห้าปีนี่ยาวสุดแล้ว
ในเมืองไทย อำนาจและระบอบการเมืองมันสวิงไปมาตลอด เพราะชนชั้นนำมันมีหลายกลุ่มไม่เป็นเอกภาพและมวลชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อต่อต้านและล้มรัฐบาลเกิดขึ้นให้เห็นมาตลอดตั้งแต่ปี 2535 ฉะนั้นเราไม่อาจตัดความเป็นไปได้นี้ออกไป เพราะประวัติศาสตร์มันมีบทเรียนให้เห็นมาหลายครั้ง และเราต้องไม่ลืมว่าทศวรรษที่ผ่านมาคือ ทศวรรษที่การตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้ว ภาวะสงบตอนนี้เป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น เทียบกันแล้วโอกาสที่จะเกิดการขบวนการประท้วงของมวลชนเพื่อล้มรัฐบาลมีมากกว่าการรัฐประหารซ้อน แต่ต้องอาศัยสถานการณ์ที่สุกงอมมากๆ บวกกับสิ่งที่เรียกว่า “ชนวน” หรือน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากๆ ของผู้กุมอำนาจเองที่ทำให้ตัวเองสูญเสียความชอบธรรมอย่างฉับพลันและรุนแรง มันเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้เลยว่าอะไรจะคือชนวนหรือน้ำผึ้งหยดนั้น ตอน14 ตุลาฯ ที่ล้มรัฐบาลถนอม ก็คือการจับกุมแกนนำเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตอนพฤษภา35 คือการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของพลเอกสุจินดา ตอนล้มรัฐบาลทักษิณคือ การขายหุนเทมาเส็ก และตอนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
สรุป รัฐประหารซ้อนโอกาสน้อย การลุกฮือของประชาชนมีโอกาสมากกว่าแต่สถานการณ์ต้องสุกงอม ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวมวลชน แนวโน้มก็คือ การเมืองไทยเดินหน้าสู่ระบอบเผด็จการจำแลงในนามประชาธิปไตยที่เหลือแต่รูปแบบที่กลวงเปล่า ที่ชนชั้นนำในกองทัพเป็นผู้คุมทิศทางประเทศ
ในฐานะที่ศึกษาเรื่องการใช้ความรุนแรงในทางการเมือง เห็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในการเมืองไทยยุคปัจจุบันหรือไม่
เงื่อนไขของความรุนแรงเกิดขึ้นได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะชนชั้นนำทยอยปิดประตูของการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีลงไปทีละบานๆ จนแทบไม่เหลือแล้ว ไม่เปิดให้มีเวทีที่ความเห็นต่างสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างอิสระเลย  และถ้าความขัดแย้งแตกต่างมันไม่สามารถมีทางออกตามช่องทางในระบบ ผ่านสถาบันทางการเมือง และกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน มันก็กลายเป็นเงื่อนไขของการเกิดความรุนแรง ซึ่งชนชั้นนำเป็นฝ่ายสร้างขึ้นเอง โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ มิหนำซ้ำยังแก้ไขได้ยากหรือจริงๆ ต้องพูดว่าแทบแก้ไขไม่ได้เลยด้วยซ้ำ  ซึ่งมันเท่ากับการวางระเบิดเวลาไว้ในอนาคต
จริงๆ เงื่อนไขของการเกิดความรุนแรงในเมืองไทยมีอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์ เพราะการสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยและการสถาปนาสถาบันการเมืองให้เข้มแข็งถูกตัดตอนตลอดเวลา พอกลไกในระบบอ่อนแอและสถาบันการเมืองต่างๆ อ่อนแอ การเมืองจึงจบลงที่การใช้ความรุนแรงได้ง่าย การรัฐประหารเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่ชัดเจนและเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในการเมืองไทย
การเมืองไทยไม่ใช่การเมืองที่สงบ ความคิดว่าเมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มนั้นเป็นมายาคติที่ใหญ่ที่สุด เราเป็นสังคมที่มีการนองเลือดและการปราบปรามประชาชนโดยรัฐบ่อยครั้งมากที่สุดประเทศหนึ่ง ฉะนั้นเงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงมันมีมาตลอดประวัติศาสตร์ ยิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา ที่เงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งจากรัฐและขบวนการประชาชนเอง คือทิศทางอันหนึ่งของขบวนการภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ หลัง 2548 มีแนวโน้มของการเคลื่อนไหวแบบแตกหักเผชิญหน้าและไม่ปฏิเสธยุทธวิธีรุนแรงเสียทั้งหมด จึงทำให้เงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงมีสูงขึ้น
แต่เปรียบเทียบกันแล้ว เงื่อนไขในการเกิดความรุนแรงก็ยังคงเกิดจากรัฐมากที่สุด เมื่อชนชั้นนำที่ควบคุมรัฐอยู่รู้สึกว่าตนเองเสียการควบคุมก็จะใช้ความรุนแรงเพื่อกระชับอำนาจ เช่น รัฐประหารหรือปราบปรามประชาชน หรือในระยะหลังรูปแบบที่น่าสนใจคือ ชนชั้นนำบวกกับภาคประชาชนบางกลุ่มจงใจสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้นบนท้องถนนเพื่อสร้างสภาวะให้ดูเหมือน “รัฐอัมพาต” ที่เรียกกันว่ารัฐล้มเหลว แต่มันไม่ได้ล้มเหลวตามธรรมชาติ มันถูกจงใจสร้างขึ้น ปูทางไปสู่การรัฐประหาร คือ กลไกรัฐด้านความมั่นคงเองปล่อยให้ความรุนแรงยืดเยื้อโดยตัวเองนิ่งเฉยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้ามายึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบของตนเอง ซึ่งเป็นอะไรที่มหัศจรรย์
ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว รัฐเป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงมากที่สุดและทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมากที่สุด และปัจจุบันเราอยู่ในรัฐที่ใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดนับจาก 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา มีลักษณะ repressive มากเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว และควบคุมประชาชนไม่ให้คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ และจากร่างรัฐธรรมนูญบวกคำถามพ่วงที่ให้ส.ว. มีส่วนเลือกตั้งนายกฯ ด้วย ก็สะท้อนชัดเจนว่าผู้มีอำนาจยังต้องการสืบทอดและรักษาอำนาจต่อไป รัฐแบบนี้เมื่อเผชิญกับการต่อต้านและการเคลื่อนไหวจากประชาชน ย่อมไม่ลังเลที่จะยกระดับการใช้อำนาจปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง อย่างที่เห็นชัดเจนในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในปี 2553
เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความรุนแรงน่าจะอยู่ที่ช่วงหลังเลือกตั้ง ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในลักษณะที่ผิดคาด ทำให้ชนชั้นนำจากระบอบรัฐประหารสูญเสียอำนาจในการควบคุม อาจมีการใช้กำลังเพื่อกระชับอำนาจกลับมา หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้ยากมาก ก็อาจเผชิญกับแรงโต้กลับอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เงื่อนไขของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการทำประชามติ กรณีที่ประชามติไม่ผ่าน แล้วผู้มีอำนาจตัดสินใจนำรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าร่างนี้มาประกาศใช้ เท่ากับไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ณ จุดนั้นอาจสร้างเงื่อนไขของการเผชิญหน้าและความรุนแรงขึ้นได้
คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คิดว่าจะได้ประกาศใช้ไหม และหากประกาศใช้จริง ประเด็นใดที่ concern มากที่สุด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ วิเคราะห์ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่างและผู้มีอำนาจเบื้องหลังผู้ร่างนั้นมีความชัดเจน คือ อย่างที่ตอบไปในตอนแรกว่า ร่างนี้ต้องการควบคุม “ประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก” โดยลดทอนอำนาจของพรรคการเมือง ผู้เลือกตั้งและรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาปรกติ และถ่ายโอนอำนาจไปให้กับชนชั้นนำเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือกองทัพ ราชการพลเรือน ศาล องค์กรอิสระ แต่ก็ต้องรักษาฉากหน้าของประชาธิปไตยให้พอมีอยู่บ้าง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความชอบธรรม เช่น ยอมรับให้มีการจัดการเลือกตั้ง มีส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐสภา แต่ผ่านระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ กลายเป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งดูแล้วคสช. ค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันร่างนี้ให้ผ่านประชามติได้ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550  อย่าลืมเราอยู่ในรัฐที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนยิ่งกว่าตอนปี 2550 และรัฐคงทุ่มทรัพยากรและใช้กลไกความมั่นคงทั้งหนักและเบาทุกอย่างภายใต้การควบคุมเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญนี้ให้ผ่านประชามติให้ได้
แต่สถานการณ์เริ่มไม่แน่นอน เพราะกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ต่างขั้วต่างสีกันค่อยๆ ทยอยออกมาประกาศไม่รับร่าง แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาประกาศไม่รับคำถามพ่วงและชี้ว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คืออาจจะพูดได้ว่าทั้งในภาคการเมืองและภาคประชาสังคม ตอนนี้เริ่มมีการก่อตัวของฉันทามติบางอย่างที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มแต่ละพรรคมีเหตุผลและแรงจูงผลักดันต่างกันในการไม่รับร่าง แต่ผลก็คือโมเมนตัมตอนนี้มันไปในทางไม่รับ เพราะคนเริ่มเห็นแล้วว่าเนื้อหาไม่ตอบโจทก์การแก้ปัญหาสังคมไทยอำนาจมันไปกระจุกตัวที่คนกลุ่มเดียวคือ ชนชั้นนำในระบบราชการ ตัดอำนาจและการมีส่วนของคนกลุ่มอื่นไปหมด ทั้งพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้เลือกตั้งทั่วไปคือคนเทียบข้อดีกับข้อเสียแล้ว เห็นว่าข้อเสียมันมีมากกว่า
คือเท่าที่ผมพยายามตามอ่านอย่างละเอียดข้อดีข้อเดียวของฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนร่างนี้ที่มีการยกมาก็คือการปราบโกง ยังไม่เห็นมีใครยกข้อดีข้ออื่นขึ้นมาชัดๆ เลย แต่รัฐธรรมนูญที่ตัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและรวมศูนย์อำนาจกลับไปที่รัฐราชการส่วนกลางมันไม่มีทางปราบโกงได้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมามันชี้ให้เห็นว่าระบบราชการรวมศูนย์ภายใต้โครงสร้างรัฐแบบอุปถัมภ์คือต้นตอสำคัญของการคอร์รัปชั่นของสังคมไทย นี่แหละคือเนื้อดินที่หล่อเลี้ยงให้การคอร์รัปชั่นมันดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ถามว่าหลังรัฐประหารมานี้ คอร์รัปชั่นมันหายไปหรือไม่ มันไม่ได้หายไป แต่สื่อและประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ใครก็ตรวจสอบเอาผิดไม่ได้ เพราะรัฐอำนาจนิยมมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในมือปิดกั้นการตรวจสอบ ใครพยายามจะตรวจสอบก็จะโดนข่มขู่คุกคามหรือไม่ก็ถูกจับไปปรับทัศนคติ กรณีคอร์รัปชั่นที่ชวนสงสัยต่างๆ ก็ถูกทำให้เงียบหายไปด้วยอำนาจรัฐและด้วยการประดิษฐ์คำใหม่ๆ มาเรียกแทน จากคอมมิสชั่นก็กลายเป็น “ค่าที่ปรึกษา” ประชาชนกลุ่มต่างๆ  ก็เริ่มเห็นประเด็นนี้แล้ว แม้แต่องค์กรประชาสังคมที่เคยสนับสนุนคสช.ในช่วงต้น  ทำให้จุดขายเรื่องปราบโกงมันเลยไม่ค่อยมีน้ำหนักเพราะมันไม่ได้สร้างระบบการเมืองที่โปร่งใสและอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มันแค่ลดทอนอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเอาอำนาจไปให้ชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช้แทน โดยประชาชนและสื่อตรวจสอบควบคุมไม่ได้ บทเรียนจากทั่วโลกที่เขาประสบความสำเร็จในการปราบโกงก็ชี้ชัดแล้วว่าหัวใจสำคัญคือ ความแข็งขันของสื่อและประชาชน รัฐธรรมนูญเฉยๆ ในฐานะกระดาษแผ่นหนึ่งมันปราบโกงไม่ได้ 
ดังนั้นโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำในการลงประชามติมีอยู่ไม่น้อย ถ้าบรรยากาศการลงประชามติมีเสรีภาพอย่างแท้จริงและมีองค์กรต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตาม พอกระแสการไม่รับร่างมันเริ่มแพร่หลายออกไป ชัดเจนว่ากลุ่มผู้มีอำนาจรัฐเริ่มกลัวประชามติจะไม่ผ่าน และยิ่งใช้อำนาจอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในการปิดกั้นและปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ และตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณว่าเราอาจไม่ได้ทำประชามติกันด้วยซ้ำ
ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นกลุ่มไหนออกมาประกาศชัดๆ ว่ารับร่างรัฐธรรมนูญนี้แบบ 100% แบบว่าสนับสนุนแบบเต็มที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริงๆ อย่างมากก็บอกว่าไม่ขี้เหร่มาก พอรับได้ หรือบางคนบอกว่าให้รับไม่ใช่เพราะเห็นว่าดี แต่กลัวได้ฉบับที่แย่กว่านี้ คือในแง่หนึ่งก็ตลกดี มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใคร (นอกจากผู้ร่างเอง) ชื่นชมได้อย่างเต็มปากอย่างจริงใจว่ามันดีและมันสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ นอกจากพรรคขนาดกลางบางพรรค ซึ่งเข้าใจได้อยู่แล้ว อันนี้ไม่มีอะไรน่าแปลกใจเลย เพราะพรรคดังกล่าวเป็นพรรคท้องถิ่นแบบเจ้าพ่อที่ไม่มีทั้งอุดมการณ์และนโยบายเป็นจุดขาย และเป็นพรรคที่จะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบใหม่มากที่สุด เพราะระบบเลือกตั้งใหม่มันเน้นให้เลือกตัวบุคคล เอาส.ส.เขตเป็นฐานและจากการคำนวณคร่าวๆ แล้วพรรคขนาดกลางจะได้ที่นั่งมากกว่าเดิมมากพอสมควร
สำหรับผมประเด็นที่น่าวิตกมากที่สุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแทบไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไข ลองไปอ่านดู เงื่อนไขต่างๆ ที่วางไว้มันแทบจะทำให้แก้ไขไม่ได้เลย ฉบับ 2550 ว่ายากแล้ว มาเจอฉบับนี้แทบจะปิดประตูตายในการแก้ไข  ปัญหาก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนขอบกพร่องมากมาย ลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน และสร้างระบอบการเมืองของชนชั้นนำที่เป็นอำนาจนิยมในขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่จะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เพราะวางกลไกให้รัฐบาลอ่อนแอ ทำงานได้ลำบาก เป็นรัฐบาลที่สำนวนอังกฤษเรียกว่ารัฐบาลเป็ดง่อย เนื่องจากถูกออกแบบมาจากฐานของความกลัว กลัวประชาชน กลัวพรรคการเมืองมันจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่สอคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ประชาชนทุกกลุ่มตื่นตัวทางการเมืองมากแล้ว และเราต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันการแก้ปัญหายากๆ ที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่มากมายนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน การมีรัฐบาลอ่อนแอนี่จริงๆ มันไม่มีประโยชน์กับประเทศเลยนะ เพราะมันไม่มีศักยภาพที่จะผลิตหรือผลักดันนโยบายอะไรดีๆ ได้เลย มันมีแต่จะฉุดให้ประเทศหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือไม่ก็ถอยหลังไปเรื่อยๆ ทีนี้พอรัฐธรรมนูญแทบไม่เปิดช่องให้แก้ไขได้ ก็เท่ากับมันทำให้สังคมไทยไม่มีทางออกในอนาคต และสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงอีกครั้ง
ดูจากร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่าทหารต้องการสถาปนาอำนาจของตัวเองในทางการเมืองให้กลายเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ คือ จะ "อยู่ยาว" คำถามคือทหารต้องการจะอยู่ยาวไปถึงเมื่อไร เป้าหมายของการอยู่ยาวคืออะไร
อย่างน้อย 5 ปีตามที่เขาประกาศ แต่ก็อาจจะนานกว่านั้น เพราะส.ว.ชุดแรกอยู่ในอำนาจ 5 ปี คือนานกว่ารัฐบาล จึงอาจกำหนดตัวคนเป็นนายกฯ ได้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเท่ากับ 8 ปี และบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญก็อาจถูกต่ออายุได้อีกโดยอ้างความจำเป็นของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยเป้าหมายก็คือคุมการ “เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งทหารย้ำอยู่บ่อยครั้ง ทุกคนทราบดีกว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ความสัมพันธ์ทางอำนาจและดุลอำนาจของชนชั้นนำทุกกลุ่มในสังคมไทยกำลังปรับเปลี่ยนอย่างมโหฬาร ทหารไม่อาจยอมให้มีสุญญากาศเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านที่เปราะบางนี้  กองทัพเชื่อมั่นว่าตัวเองเท่านั้นที่สามารถคุมการเปลี่ยนผ่านนี้ให้สงบได้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่ความเชื่อ กองทัพมีผลประโยชน์ผูกพันในระบบที่ทำให้ต้องเข้ามาเป็นคนกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนผ่านซะเอง อย่าลืมว่ากองทัพเป็นชนชั้นนำเก่าแก่ที่ครองอำนาจในการเมืองไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ว่าประเทศจะผ่านช่วงที่เข้าสู่ประชาธิปไตยอยู่เป็นระยะๆ แต่อำนาจของกองทัพไม่เคยหายไปจากการเมืองไทยโดยสิ้นเชิง เหมือนที่นักวิชาการบางคนเปรียบกองทัพว่าทำหน้าที่เสมือน “รัฐพันลึก” (แอเจนี เมริโอ) หรือ “รัฐคู่ขนาน” (พอลแชมเบอร์ และนภิสา ไวฑูรเกีรติ 2016) ในระบบการการเมืองไทย
หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มชนชั้นนายทุนต้องกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเอง  สำหรับกองทัพ ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมารวมทั้งในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นช่วงที่สร้างความหวาดวิตกให้กับชนชั้นนำในกองทัพอย่างมาก เพราะปัจจัย 3 ประการคือ 1.ฐานความชอบธรรมของชนชั้นนำแบบประเพณีกำลังลดน้อยถอยลง 2.พรรคการเมืองกลับมีความเข้มแข็งและมีฐานเสียงมวลชนที่ขยายตัวใหญ่โตอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 3.การเกิดขึ้นของการเมืองแบบมวลชนที่มีคนเข้าร่วมมหาศาลและเป็นการเมืองที่มีลักษณะเชิงอุดมการณ์ สามปัจจัยนี้มันทำให้กองทัพวิตกกังวลกับสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ตนเอง เพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพ โดยเฉพาะในการเมืองแบบเลือกตั้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพไทยไม่มีความถนัดและไม่มีทักษะที่จะแข่งขันได้เลย ผิดกับกองทัพในหลายประเทศที่ปรับตัวเข้าสู่เกมการเลือกตั้งเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง
ด้วยเหตุเหล่านี้กองทัพจึงต้องการมา “คุมเกม” เพื่อสถาปนาระเบียบการเมืองใหม่ new political order ในสถานการณ์ที่ระเบียบการเมืองเก่าที่ดำรงอยู่มายาวนานกำลังจะเสื่อมไป ในกระบวนการ “คุมเกม” นี้ ก็ลดทอนอำนาจของพรรคการเมืองให้อ่อนแอลง ทำให้พรรคการเมืองเชื่องและการเลือกตั้งไม่เป็นภัยคุกคามสำหรับชนชั้นนำเดิมอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็กดปราบภาคประชาชนทุกสีให้สงบราบคาบเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่ได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ที่สำคัญ นอกจากสองกลุ่มนี้แล้ว ทหารกำลังปรับความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจอื่นในเครือข่ายเดียวกันด้วย เช่น กลุ่มนายทุน แบบเดียวกับในสมัยสฤษดิ์ ที่ทหารกับกลุ่มทุนบางกลุ่มก่อตัวเป็นพันธมิตรที่เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ภาคประชาชนจำนวนมากก็คงตระหนักแล้วว่าหลังรัฐประหารครั้งนี้ มีการฉวยใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากมายมหาศาล มีการใช้กลไกรัฐไปรุกรานและละเมิดสิทธิชุมชนและชาวบ้านเพื่อให้กลุ่มทุนดำเนินกิจกรรมสะสมทุนได้อย่างสะดวก ไม่ว่ามันจะผิดระเบียบหรือทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร คือจริงๆ ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ากองทัพไทยตั้งแต่หลัง 2500 ไม่ได้มีอุดมการณ์ต่อต้านทุนหรือเป็นปฏิปักษ์กับระบบทุนนิยม กองทัพอยู่ข้างทุน เขาแค่ต้องการให้ทุนต้อง “จิ้มก้อง” เค้าต่างตอบแทนกัน และเพิ่มอำนาจและโอกาสให้ตนเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากระบบทุนนิยมด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่เราเห็นหลังรัฐประหารเป็นต้นมาคือ กระบวนการที่กองทัพสถาปนาให้ตนกลายเป็น hegemonic rulerกลุ่มใหม่ที่จะครองอำนาจในระยะยาวมิใช่คนที่ต้องคอยคอยแชร์อำนาจหรืออยู่ใต้อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มอื่น เห็นได้ชัดทั้งในเรื่องการเพิ่มงบประมาณ เพิ่มอภิสิทธิ์ เพิ่มเงินเดือน เพิ่มกำลังพล ขยายขอบเขตการใช้อำนาจ แก้กฎระเบียบต่างๆ จัดวางบุคลากรในกองทัพเข้าไปยึดกุมวิสาหกิจของรัฐ องค์กรของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ  ที่สำคัญที่สุดก็คือ เอาอำนาจตัวเองไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญผ่านส.ว.แต่งตั้ง ซึ่งเท่ากับกองทัพมีพรรคการเมืองของตัวเอง มีเสียงในสภา 250 เสียง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง 
ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาเรื่องการเมืองยุคเดือนตุลา คิดว่าแนวโน้มที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลในครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เงื่อนไข บริบท และปัจจัยแวดล้อมอะไรที่จะทำให้ไม่เกิดขึ้น
อันที่จริง อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น 1 ทศวรรษที่ผ่านมาคือทศวรรษที่ภาคประชาชนไทยเข้มแข็งที่สุดและมีส่วนร่วมมากที่สุด กลายเป็นตัวละครทางการเมืองที่มีบทบาทและมีอิทธิพลมาก แต่จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 2 ปีแล้วหลังการรัฐประหาร ที่ถามว่าทำไมเราไม่เห็นการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล ผมคิดว่ามีปัจจัย 2 ประการ ประการแรก คือระดับการควบคุมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐบาลหลังการรัฐประหาร และประการที่ 2 ความแตกแยกแบ่งขั้ว (polarization) ระหว่างภาคประชาชนเอง ในประการแรก ข้อมูลและรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าระบอบรัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะ repressive สูงกว่ารัฐบาลรัฐประหารในปี 2549 มาก ตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจก็มีการจับกุมคุมขังและล็อคตัวแกนนำนักเคลื่อนไหวทันที จนถึงทุกวันนี้ระดับของการควบคุมและปิดกั้นก็ยังไม่ลดลง แม้แต่กลุ่มนักศึกษาก็ยังถูกจับกุมติดคุกแม้ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างสงบสันติเพียงใดก็ตาม และการควบคุมปิดกั้นนี้มีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อการทำประชามติใกล้เข้ามา จึงเป็นสาเหตุที่เข้าใจได้ที่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวเช่นนี้ การเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนไม่ปรากฏ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงตาย เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางกับอนาคตการเมืองข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็นทางออกหรือทางเลือกที่ชัดเจน และที่ผ่านมาคนที่ตายก่อนคือประชาชนคนธรรมดา และในสังคมนี้ถ้าคุณเป็นชาวบ้าน เป็นคนจน เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถแสวงหาความยุติธรรมได้อีก ฉะนั้นถ้ามองจากตรงนี้ มันเข้าใจได้มากๆ เลยว่าทำไม “ความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ” การไปติเตียนต่อว่าต่อขานประชาชนด้วยกัน ผมว่ามันไม่ค่อยแฟร์นัก
ส่วนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคประการที่สองก็คือ การแบ่งขั้วของภาคประชาชนไทย มันไม่เหมือนตอน 14 ตุลาฯ หรือตอนพฤษภา 2535 ที่ตอนนั้นมันชัดเจน เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสู้กับรัฐ ประชาชนแม้จะมีแนวคิดต่างกันบ้าง แต่ชัดเจนว่ามีฉันทามติบางอย่างร่วมกันในปี 16 และปี 35 คือ ไม่ยอมรับการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกต่อไปและเชื่อว่าสังคมไทยมีทางเลือกที่ดีกว่าถูกปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยของกองทัพ แต่ตอนนี้ฉันทามติแบบนี้มันไม่เหลืออยู่แล้ว ภาคประชาชนแตกเป็นสองขั้วอย่างที่ทุกคนทราบดี โดยในขั้วหนึ่งยังมีความเชื่อว่าการมีทหารปกครองนั้นยังไงก็แย่น้อยกว่านักการเมือง คือไม่ใช่ว่าทหารบริหารประเทศดีกว่ามีประสิทธิภาพกว่าหรือโปร่งใสกว่า แต่พวกเขาเกลียดนักการเมืองมากกว่า คือมันเป็นการเมืองที่ขับดันด้วยความเกลียดชัง
ผลของการแบ่งขั้วนี้ทำให้ชนชั้นนำในปัจจุบันปกครองง่าย หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากสภาวะสังคมแบ่งขั้ว ไม่ว่าการบริหารประเทศจะผิดพลาดหรือขาดประสิทธิภาพอย่างไร แต่ก็ยังปกครองได้สบายๆ เพราะกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยอ่อนแอและขาดพลังเนื่องจากไม่สามารถรวมพลังกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะความบาดหมางและความขัดแย้งรุนแรงที่สะสมในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันมีอยู่สูง แม้แต่การสร้างแนวร่วมกว้างๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะความไว้วางใจระหว่างกันในภาคประชาสังคมมันไม่เหลืออยู่ ซึ่งถามว่าเข้าใจได้ไหม เข้าใจได้ไม่ยากเลย เพราะความขัดแย้งมันยืดเยื้อเรื้อรังและความเกลียดชังระหว่างกันมันมีอยู่สูง แต่ตราบใดที่สภาวะแบ่งขั้วอย่างที่ไม่สามารถประสานกันได้แม้แต่เรื่องเดียวแบบนี้ยังดำรงอยู่ ทหารก็จะสามารถปกครองต่อไปได้เรื่อยๆ
การออกจากระบอบชนชั้นนำของกองทัพในครั้งนี้ เป็นเรื่องยาก มันต้องการฉันทามติใหม่ new consensus ร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในภาคประชาชนว่าเราสามารถสร้างสังคมไทยที่มีอนาคตดีกว่านี้ โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและความเกลียดชัง แต่เป็นการเมืองของความหวังที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของบ้านเมืองตนเองได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องรวมพลังกันในการเดินขบวนประท้วงอย่างเดียวเสมอไป มันอาจจะรวมพลังกันในรูปแบบอื่นๆ ได้หลากหลายมากมายตามแต่สถานการณ์ เช่น เฉพาะหน้านี้คือเริ่มจากการแสดงพลังร่วมกันในการลงคะแนนประชามติว่าประชาชนทุกกลุ่มต้องการรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาและกระบวนการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่กำหนดมาแล้วโดยชนชั้นนำแบบเบ็ดเสร็จโดยที่ประชาชนไม่มีทางเลือก
แต่ทั้งหมดที่พูดนี้ ก็ตระหนักดีว่ามันยากมากๆ ที่จะเกิดขึ้นได้และเราอาจจะต้องอยู่กับการเมืองที่ไม่มีความหวังแบบนี้ไปอีกนานพอสมควร

iLaw: ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ "ตั้งคณะกรรมการปิดเว็บแม้ไม่ผิดกฎหมาย"


ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.... หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปแล้ว และกำลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เมื่อต้นปี 2558 คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติหลักการกฎหมายชุดนี้ ก่อนมีกระแสคัดค้านอย่างมากบนโลกออนไลน์ จนกระทั่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เคยเปิดเผยว่า ภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนองค์กรสื่อ ผู้ค้า อี-คอมเมิร์ซ ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงออกและชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของชุดกฎหมายดังกล่าวที่จะต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน
ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งในฉบับที่โดดเด่นในชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ซึ่งสาเหตุของการเสนอแก้ไขเนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาการบังคับใช้หลายประเด็น เช่น ถูกใช้กับความผิดด้านความมั่นคงมากกว่าความผิดเกี่ยวกับการเจาะระบบ กำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการไว้กว้างเกินไปทำให้เกิดบรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเอง การตีความมาตรา 14(1) เพื่อใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ซึ่งผิดเจตนารมณ์ ทำให้ตลอด 9 ปีของการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พบว่า กฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก
ขณะเดียวกันทางฝั่งเจ้าหน้าที่ก็ยังพบปัญหาว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้กันอยู่นั้นให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้น้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกอินเทอร์เน็ต และควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อสังคม
หลังผ่านมากว่า 1 ปี ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ถูกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขปรับปรุงเสร็จไปทีละฉบับ และทยอยส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อส่งต่อให้สนช. นำไปพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นฉบับหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

แก้มาตรา 14(1) ไม่มุ่งเอาผิดกับการหมิ่นประมาท แต่ยังคลุมเครือเปิดช่องตีความได้

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์มุ่งเอาผิดการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้ามาทำธุรกรรมต่างๆ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเว็บไซต์จริงๆ หรือ ที่เรียกว่า Phishing แต่เนื่องจากกฎหมายเดิมเขียนเอาไว้ว่า “ผู้ใด... นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ทำให้มาตรานี้ถูกตีความไปใช้ลงโทษการโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือการใส่ความกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ และส่งผลสร้างความกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างมาก
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 เคยเสนอแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเขียน มาตรา 14(1) ใหม่เป็น “ผู้ใดโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนสำคัญที่เขียนเข้ามาใหม่ คือ การโพสต์ข้อมูลต้องมีเจตนาเพื่อ “ให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล” ทำให้ชัดเจนว่าเป็นการเอาผิดกับการ Phishing และการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ก็จะไม่ผิดตามกฎหมายนี้อีกต่อไป
แต่ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ครม. มีมติเห็นชอบล่าสุด เขียนมาตรา 14(1) ใหม่ว่า "ผู้ใด... โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน"
ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปในร่างฉบับนี้ คือ กำหนดให้ชัดเจนว่าผู้กระทำต้องมีเจตนา "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง" ซึ่งคำว่า โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า "เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น" เห็นได้ว่า ผู้ร่างต้องการแก้ไขให้ชัดเจนขึ้นว่ามาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์ใช้เอาผิดการกระทำที่มุ่งต่อประโยชน์ทางทรัพย์สิน ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ และการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) จะต้องมีพฤติการณ์ที่จะสร้างความเสียหายแก่ประชาชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต่างจากมาตรา 14(1) เดิม ซึ่งการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งก็เป็นความผิดได้
อย่างไรก็ดี การเขียนมาตรา 14(1) ตามร่างฉบับนี้ ยังเปิดช่องให้เกิดการตีความนำไปใช้ลงโทษกับการหมิ่นประมาทออนไลน์ได้อยู่บ้าง โดยอาจมีผู้เข้าใจผิดตีความไปได้ว่า การโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนทั่วไปสับสน เป็นเจตนา "โดยหลอกลวง" และยกเอามาตรา 14(1) มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงความคิดเห็นต่อไปอีก การเขียนมาตรา 14(1) ตามร่างฉบับนี้จึงยังเปิดช่องให้กฎหมายถูกใช้อย่างผิดเจตนารมณ์ได้อยู่ ต่างจากร่างฉบับปี 2558 ที่เขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมชัดเจนกว่า
ส่วนบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 14(1) ของร่างล่าสุด แบ่งโทษออกเป็นสองระดับ โดยความผิดฐานนำเข้าข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ หากมีลักษณะจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปได้ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และหากจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น มาตรา 14 วรรคสอง เขียนให้มีโทษน้องลง โดยให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท

เพิ่มความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบ "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"

จากเดิมที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เอาผิดการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สองลักษณะ คือ 1) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ 2) น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ เพิ่มข้อความขึ้นมาโดยเอาผิดกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สี่ลักษณะ คือ 1) น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ 2) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะ 3) น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 4) น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
"ความปลอดภัยสาธารณะ" และ "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" เป็นคำที่มีความหมายกว้างและเป็นคำใหม่ที่ไม่ค่อยใช้เป็นเงื่อนไขกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดและกำหนดบทลงโทษ ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน การนำคำที่มีความหมายกว้างมาบัญญัติเป็นข้อห้ามลักษณะนี้อาจเป็นการใช้ถ้อยคำให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การคุ้มครองความมั่นคงของระบบไซเบอร์ และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายรวมของการผลักดันกฎหมายชุดความมั่นคงดิจิทัลทั้งระบบ จึงยังต้องรอดูร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ในชุดกฎหมายนี้ที่จะเผยแพร่ตามมาอีกด้วยว่า มีกฎหมายฉบับใดให้คำนิยามของสองคำนี้ไว้หรือไม่

แอดมินที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจรับผิดเท่าคนโพสต์ เพิ่ม "ขั้นตอนการแจ้งเตือน" ให้ทำตามแล้วพ้นผิด

ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ประเด็นความรับผิดของ “ผู้ให้บริการ” เป็นปัญหาใหญ่ เพราะกฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการที่ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่ดูแลอยู่ ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการสร้างภาระทางกฎหมายให้ผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นอย่างมาก ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเว็บไซต์หลายแห่งจึงยกเลิกบริการพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่าง เว็บบอร์ด หรือการคอมเม้นต์ท้ายข่าว และต้องคอยเซ็นเซอร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์โดยการลบข้อความที่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ แม้จะยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดเท่ากับผู้กระทำความผิด แต่ก็เพิ่มบทบัญญัติขึ้นมาว่า
“มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14
ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์
ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"
จุดที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมคือพฤติการณ์อันแสดงถึงเจตนาของผู้ให้บริการ ซึ่งกฎหมายเดิมเอาผิดกับผู้ให้บริการที่ "จงใจสนับสนุนหรือยินยอม" ส่วนตามร่างฉบับนี้ เอาผิดกับผู้ให้บริการที่ 1) ให้ความร่วมมือ 2) ยินยอม 3) รู้เห็นเป็นใจ
การ "ให้ความร่วมมือ" หรือ "รู้เห็นเป็นใจ" อาจต้องชัดเจนว่าผู้ให้บริการมีเจตนากระทำความผิดร่วมกับผู้ที่โพสต์เนื้อหาผิดกฎหมายเองด้วย แต่คำว่า "ยินยอม" ยังเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า กรณีใดผู้ให้บริการพบเห็นข้อความแล้วแต่มีเจตนาที่จะยินยอมให้อยู่ต่อไป หรือกรณีใดที่ผู้ให้บริการไม่ได้ยินยอมแต่ทำหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อตรวจสอบไม่พบเนื้อหาผิดกฎหมาย หรือเนื่องจากความผิดพลาดส่วนบุคคลโดยไม่ได้ตั้งใจ
สำหรับ “ขั้นตอนการแจ้งเตือน” หรือระบบ Notice and Takedown นั้น เป็นหลักการใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในกฎหมายเดิม ร่างฉบับนี้ยังไม่ได้เขียนไว้ว่าขั้นตอนการแจ้งเตือนจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ให้บริการจะต้องลบออกภายในเวลาเท่าใด และผู้ให้บริการมีสิทธิอุทธรณ์ได้หรือไม่ ร่างฉบับนี้เพียงกำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่จะตั้งขึ้นใหม่ เป็นผู้มีอำนาจกำหนดรายละเอียดต่อไป จึงต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบที่จะออกมาในอนาคตอีกด้วยว่าจะสามารถสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิมได้หรือไม่
เท่าที่ทราบจากร่างในปัจจุบัน คือ ผู้ให้บริการที่ไม่ได้ลบข้อความผิดกฎหมายออกภายในเวลาที่กำหนดยังคงต้องรับผิดในอัตราโทษเท่ากับผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อความ หากผู้ให้บริการจะพ้นผิดได้เป็นภาระของผู้ให้บริการที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนถูกต้องแล้ว

ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล สั่งบล็อคเว็บ "ขัดต่อศีลธรรม" ได้ แม้เนื้อหาไม่ผิดกฎหมายใด

ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่ใช้กันอยู่ มาตรา 20 เนื้อหาที่เจ้าหน้าที่นำไปขอหมายศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึง หรือการ "บล็อคเว็บ" ได้ ต้องมีลักษณะ คือ เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ก่อนหน้านี้แม้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะตรวจพบเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมายต่างๆ เช่น เว็บไซต์เล่นการพนัน เว็บไซต์ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบล็อคการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ เนื่องจากเป็นกระทำความผิดที่อยู่นอกเหนือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าพนักงาน ทำให้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ได้
ในร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับล่าสุด มาตรา 20(3) จึงกำหนดให้เจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถขอหมายศาลให้บล็อคเว็บที่มีเนื้อหาผิดต่อกฎหมายอื่นได้ด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ ร้องขอมา เช่น เมื่อตำรวจในท้องที่ร้องขอให้ปิดเว็บไซต์เล่นการพนัน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร้องขอให้ปิดเว็บไซต์ที่ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกรมทรัพย์สินทางปัญญาร้องขอให้ปิดเว็บไซต์ที่ขายของละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ยังมีมาตรา 20(4) ที่เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่แม้เนื้อหาจะไม่ผิดกฎหมายใดเลยก็ได้ ถ้าเห็นว่าเนื้อหาของเว็บไซต์นั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยมาตรา 20(4) กำหนดให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ มีกรรมการ 5 คน โดยสองในห้าคนต้องเป็นตัวแทนภาคเอกชน หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ปิดกั้นเนื้อหาใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานก็ดำเนินการขออนุมัติจากศาลให้บล็อคเว็บไซต์ที่มีเนื้อหานั้นๆ ได้
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ยังมีประเด็นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น การขยายระยะเวลาที่ให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่เก็บข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ในกรณีจำเป็นจากไม่เกินหนึ่งปีเป็นสองปี การมีเงินเพิ่มพิเศษให้สำหรับเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การเอาผิดกับการเผยแพร่ภาพตัดต่อไปถึงภาพตัดต่อของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว การเพิ่มโทษฐานส่งสแปมโดยไม่เปิดโอกาสให้บอกเลิก รวมทั้งการเพิ่มโทษการเจาะระบบหรือทำลายระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐด้วย

แอดมินฟักโกสต์ สมาคมต้านงมงาย ฟ้อง 20 เพจเฟซบุ๊ก-ยูทูบ หมิ่นกษัตริย์


ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ และแอดมินฟักโกสต์ สมาคมต้านงมงาย หอบหลักฐานขึ้นโรงพักฟ้อง 20 เพจเฟซบุ๊ก-ยูทูบ หมิ่นกษัตริย์ และผิด พ.ร.บ.คอมฯ 
27 เม.ย. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ และเกียรติศักดิ์ หรือบี (สงวนนามสกุล) แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย หรือ ฟักโกสต์” เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ร.ต.อ.ไพทูล จ้อยสระคู รองสารวัตร (สอบสวน) กก.1 บก.ป. ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ว่าตรวจสอบพบการเผยแพร่ภาพและข้อความทางเฟซบุ๊ก กว่า 20 แห่ง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันกระทำการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามมาตรา 83 รวมทั้งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)
สงกานต์ กล่าวว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่เกิดขึ้นจากแอดมินเพจฟักโกสต์ แล้ว ทางเครือข่ายฯ ตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบการกระทำของกลุ่มบุคคลที่น่าจะกระทำกันเป็นขบวนการ มีการนำภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง มาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งในเฟซบุ๊กต่างๆ และเว็บไซต์ยูทูบ รวมกว่า 20 แห่ง โดยมีการเข้าถึงได้จากบุคคลทั่วไปที่เข้าท่องโลกออนไลน์ กรณีนี้ทางเครือข่ายฯเห็นว่าจะสร้างความเสียหายต่อสถาบันเบื้องสูง อีกทั้งทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งดำเนินการกวาดล้างผู้กระทำผิดในลักษณะนี้อยู่แล้ว จึงพิจารณาเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.ในครั้งนี้ และหากยังพบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดอื่นใดอีก ขอให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจในการพิจารณาดำเนินคดีด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
สงกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีประมาณ 20 กว่าเฟซบุ๊ก หลายเพจ ซึ่งมีการหมิ่นสถาบัน ส่วนใหญ่เป็นนามแฝง หลังจากมีการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วเชื่อว่าจะมีการดำเนินการปิดเฟซบุ๊กเหล่านั้น โดยเชื่อว่าน่าจะมีการทำเป็นขบวนการ โดยลักษณะการกระทำความผิดเป็นการกล่าวอ้างสถาบัน และโพสต์ในทางที่เสียหาย ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง บางรายก็มีการกล่าวอาฆาตร ซึ่งเราเป็นแล้วว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาและเป็นการนำสู้ระบบคอมพิวเตอร์
บี แอดมินเพจฟักโกสต์ กล่าวว่า อยากให้มีการตรวจสอบ โดยการกระทำความผิดมีทั้งยูทูบและเฟซบุ๊ก
ด้าน ร.ต.อ.ไพทูล กล่าวว่า เบื้องต้นรับเรื่องและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยจะรายงานผู้บังคับบัญชาก่อนประสานไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

เครือข่ายนักวิชาการฯเตือนคสช.ทำประชามติแต่กั้นเสรีภาพ แม้ร่างรธน.ผ่านก็ไม่ชอบธรรม

ภาพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิที่กระทำได้ เตือนคสช. ทำประชามติแต่ปิดกั้นคุกคามเสรีภาพ บังคับให้ ปชช.ได้รับข้อมูลด้านเดียว แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ แต่ไม่มีความชอบธรรม
26 เม.ย. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิที่กระทำได้ โดยระบุว่า  25 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและได้มีการเผยแพร่เอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ายึดเอกสารและพยายามเชิญตัวนักวิชาการไปสถานีตำรวจ ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการ “ก่อความวุ่นวาย” ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อีกทั้งยังชี้นำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเอาผิด และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ คสช.และกกต.แสดงท่าทีชัดเจนว่า หลังจากนี้ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใดก็ตามที่แสดงความคิดเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอยืนยันในจุดยืนดังต่อไปนี้
1. การเผยแพร่เอกสารวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในงานเสวนาดังกล่าว และการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะมีต่อไปอีกนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การพูด เขียน อภิปราย เผยแพร่เอกสาร งานศิลปะ ฯลฯ ตราบเท่าที่วิธีการเหล่านี้เป็นไปอย่างสันติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
2. หาก คสช. เห็นว่า การวิจารณ์เหล่านั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง คสช. ก็ควรจะชี้แจงเหตุผลที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง หรือจัดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายอภิปรายกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ไม่ควรใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เช่น พรบ.ประชามติ มาเป็นเครื่องมือคุกคามและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
3. ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการฯได้เคยเรียกร้องไปแล้วว่า กระบวนการทำประชามติต้องเปิดกว้าง และไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย คสช.และกกต.ไม่ควรอ้างพรบ.ประชามติให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐสามารถประชาสัมพันธ์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ แต่กลับใช้อำนาจปิดกั้น ข่มขู่ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
4. เครือข่ายนักวิชาการฯ ใคร่ขอเตือนคสช. ว่า การทำประชามติภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นคุกคามเสรีภาพ และบังคับให้ประชาชนได้รับข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวนั้น ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติในที่สุด แต่คสช.ก็ไม่อาจที่จะอ้างความชอบธรรมใด ๆ ให้แก่ผลประชามติและร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เนื่องจากเป็นกระบวนการประชามติที่มีลักษณะด้านเดียว ปิดกั้นความรับรู้ของประชาชน และจึงขาดความชอบธรรม
เครือข่ายนักวิชาการฯ ขอสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ คสช.และ กกต.ยุติการคุกคามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ทหารคุมตัว 8 ปชช. ยังไม่ทราบชะตากรรม ด้านกกต.ประเดิมแจ้งความโพสต์เฟซบุ๊กผิด กม.ประชามติ


ทหารคุมตัว 8 ประชาชน นักกิจกรรม ช่างภาพ นักเขียน โอตาคุ ฯลฯ ยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ทนายอานนท์นัดยืนเฉยๆ เย็นนี้ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ  ด้านสมชัย กกต. ประเดิม แจ้งความ ‘กองทุนในจ.ขอนแก่น’ โพสต์เฟซบุ๊ก ผิดพ.ร.บ.ประชามติ โทษสูงถึง 10 ปี
27 เม.ย. 2559 จากกรณีเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียถึงบุคคลหลายรายถูกทหารบุกจับกุมตัวนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพและขอนแก่นรวมอย่างน้อย 8 ราย ทราบชื่อเพียง 5 ราย ดังนี้
1. นพเกล้า คงสุวรรณ นักกิจกรรม ผู้จัดรายการประชาชน 3.0 ร่วมกับ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด
2. ศุภชัย สายบุตร ช่างภาพ
3. วรารัตน์ เหม็งประมูล
4. หฤษฏ์ มหาทน 25 ปี อดีตนักข่าว นักเขียน และร่วมหุ้นเปิดร้านราเมงในจังหวัดขอนแก่น และร้านข้าวมันไก่ใน สปป.ลาว
5. นิธิ กุลธนศิลป์ อายุ 26 ปี ผู้จัดการร้านราเมงของหฤษฏ์
นพเกล้า คงสุวรรณ
ศุภชัย สายบุตร
หฤษฏ์ มหาทน
นิธิ กุลธนศิลป์
เบื้องต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สอบถามไปยังญาติ และผู้เห็นเหตุการณ์ ทราบว่า ศุภชัย สายบุตร ถูกทหารและ ตร.ควบคุมตัวจากบ้าน เวลาประมาณ 05.30 น. ไปยัง มทบ.11 ยังไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ หฤษฎ์ มหาทน และนิธิ กุลธนศิลป์ ถูกทหารประมาณ 20 นาย พร้อมอาวุธ บุกไปที่บ้านพักในจังหวัดขอนแก่น ในเวลาประมาณ 06.00 น. ควบคุมตัวทั้งสองพร้อมค้นบ้าน และยึดโทรศัพท์ โน้ตบุ๊ค หนังสือเดินทางของหฤษฏ์ไป โดยไม่แจ้งว่า ควบคุมตัวจากสาเหตุอะไร และจะนำตัวไปที่ใด
ขณะนี้ญาติกำลังติดตามตัว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าทั้ง 8 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน
บีบีซีไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ถาวร สายบุตร ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า ลูกชายของตนคือศุภชัย วัย 30 ปีได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวเมื่อเช้าตรู่เวลาประมาณ 5.30 น.วันนี้ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าลูกชายถูกควบคุมตัวด้วยเรื่องความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวลูกชายไปที่มณฑลทหารบก ที่ 11 (มทบ.11) ขณะนี้ตนเตรียมตัวจะไปหาลูกที่ค่ายทหาร
Theerapat Charoensuk เพื่อนของ หฤษฎ์ โพสต์ด้วยว่า หฤษฎ์ มีกิจการหลักเป็นร้านราเมง แต่คนจะรู้จักกันในฐานะนักเขียนนิยายไลท์โนเวลแนวแฟนตาซีมากกว่า ในนามปากกา starless night/ฟ้าไร้ดาว/synchronise โดยมีงานตีพิมพ์กับหลาย สนพ. ไม่ว่าจะเป็นสนพ.แจ่มใส สนพ.มีดีส์ (ในเครือสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย) สนพ.รักพิมพ์ และล่าสุดมีผลงาน "ผู้พิทักษ์แห่งโนอาห์" นิยายแนวไซไฟแฟนตาซีการเมือง ที่เพิ่งเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยด้วย
 

อานนท์นัดยืนเฉยๆ 6 โมงเย็นนี้ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ

เมื่อเวลา 10.46 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'อานนท์ นำภา' ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โพสต์ว่า วันนี้ 18.00 น. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยืนเฉยๆ เพราะไม่เห็นด้วยกับกรณีทหารบุกจับพลเมืองวันนี้ 8 คน
 

กกต. ประเดิม แจ้งความ ‘กองทุนในจ.ขอนแก่น’ โพสต์เฟซบุ๊ก ผิดพ.ร.บ.ประชามติ

ขณะที่มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันนี้ (27 เม.ย.59)ที่สน.ทุ่งสองห้อง สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ที่สน.ทุ่งสองห้อง โดยมี พ.ต.ท.วินิจ ศรีสูงเนิน หัวหน้างานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เป็นผู้รับแจ้งความ และมี ร.ต.ท.กฤติเดช ชอบค้าขาย ร้อยเวร เป็นเจ้าของสำนวน
สมชัย เปิดเผยว่า ในวันนี้มาแจ้งความดำเนินคดีกับกองทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งการแจ้งความครั้งนี้ก็มาในนามของ กกต. แต่ไม่ถือว่าเป็นมติ เพราะเป็นความผิดที่ชัดเจนอยู่แล้ว กองทุนแห่งนี้ก็มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ที่มีความรุนแรง หยาบคาย ก้าวร้าว มีเจตนาที่จะชักจูงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
สมชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีการนำรายละเอียดของการโพสต์ข้อความและข้อมูลของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้สั่งการกลุ่มดังกล่าว มายื่นให้กับพนักงานสอบสวน แม้ว่ากลุ่มนี้จะมีการลบข้อความไปแล้วก็ตาม แต่หลักฐานยังมีการถ่ายเอกสารมาอยู่ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน โดยการแจ้งความครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าว รุนแรง ข่มขู่ผู้อื่น
สมชัย ยังกล่าวอีกว่า การโพสต์ข้อความว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนเหตุผลทางวิชาการ ไม่มีลักษณะถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย และไม่โน้มน้าว ไม่ชักจูง ปลุกระดม ข่มขู่ผู้อื่น โดยหวังผลให้ออกเสียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หากประชาชนพบเห็นถ้อยคำที่มีลักษณะดังกล่าว สามารถนำหลักฐานมาแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อกกต.
ขณะที่ในวันนี้ กกต.จะมีการประชุมเพื่อหารือในเรื่องการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ยังไม่ชัดเจนและเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ คาดว่าจะสามารถแถลงต่อสื่อมวลชนได้ภายในวันศุกร์นี้ (29 เม.ย.59)


ประชาธิปไตยใหม่ประณามการบุกคุมตัว 'ลุแก่อำนาจ'

ด้านขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การจับกุมประชาชนประณามการกระทำอันอุกอาจของเจ้าหน้าที่ทหารและรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประชาชนทั้ง 8 คนในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น"
"ตามที่ในวันนี้ (27 เมษายน 2559) เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมตัวประชาชนจำนวน 8 คน ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 6.00 น. ที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดขอนแก่น และกรุงเทพมหานครฯ โดยที่ทราบชื่อผู้ถูกจับกุมแล้ว 5 ราย ไม่ทราบชื่อ 3 ราย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของประชาชนทั้ง 8 คนว่าถูกพาตัวไปยังที่ใด
"ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอประกาศประณามการกระทำอันอุกอาจของเจ้าหน้าที่ทหารและรัฐบาลทหาร ซึ่งได้เข้าควบคุมตัวประชาชนโดยไร้ซึ่งหมายจับ กระทำการดังกล่าวนั้นถือเป็นการลุแก่อำนาจ อีกทั้งยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการควบคุมตัวและจรรยาบรรณของผู้รักษากฎหมาย การกระทำดังกล่าวนั้นไม่อาจเรียกว่าเป็นการปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอน หากแต่เป็นการกระทำที่คล้ายคลึงกับพฤติกรรมของกลุ่มคนนอกกฎหมายหรืออันธพาลเสียมากกว่า นอกจากนี้แล้วการกระทำดังกล่าวยังเป็นการทำลายบรรยากาศของการลงประชามติและการเดินหน้าสู่ความปรองดอง อันเป็นการกระทำซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลทหารประกาศมาโดยตลอด ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประชาชนทั้ง 8 คนในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น" แถลงการณ์ NDM ระบุ