ฎีกาหมิ่นทักษิณ 2 คดี ปมปฏิญญาฟินแลนด์ พิพากษา คุก 1 ปี ปรับ 1 แสน ปราโมทย์ นาครทรรพ โดยโทษจำคุก ให้รอลงอาญา 2 ปี ปมหมกมุ่นไสยศาสตร์ สนธิ รอดชี้ติชมด้วยความเป็นธรรม
21 ต.ค. 2558
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ถึงคดีที่พรรคไทยรักไทย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์ผู้จัดการ ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา
ทั้งนี้นายปราโมทย์ยื่นฎีกาสู้คดีซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฎีกาของนายปราโมทย์ เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์จำคุก นายปราโมทย์ 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่โทษจำคุกให้รอรอลงอาญา 2 ปี
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 17 ถึง 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยทั้งห้าคนได้ ร่วมกันตีพิมพ์และเผยแพร่บทความ “ ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ : แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย? ” ของนายปราโมทย์ จำเลยที่ 1 ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ ซึ่งใส่ร้ายโจทก์ทั้งสองให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจึงให้จำคุกนายปราโมทย์ จำเลยที่ 1 และ นายขุนทอง จำเลยที่ 4 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 1 แสนบาท แต่โทษจำคุก ให้รอลงอาญา 2 ปี ต่อมา นายปราโมทย์ และนายขุนทอง ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนายขุนทอง
สนธิรอดชี้ติชมด้วยความเป็นธรรม
วันเดียวกัน
Astvผู้จัดการข่าวอาชญากรรม เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.1062/2549 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายชาตรี ถริปภัสสโร เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.328 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ. 2541
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 6-24 มี.ค. 2549 จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยทำนองว่า โจทก์ใช้เงินซื้อประชาชนให้รักตนเอง และสร้างภาพให้ลูกน้องไปเผาเวทีของพันธมิตรกู้ชาติที่ จ.ภูเก็ต และกล่าวหาว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีบ้า ต้องไล่ให้ไปประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า โจทก์หมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์ ให้หมอเขมรไปทำพิธีที่ทำเนียบรัฐบาล ทำพิธีฝังรูปฝังรอยที่ศาลพระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ เหตุเกิดที่เขตดุสิต กทม.และทั่วราชอาณาจักร
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา (เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550) ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 328 จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 328 ประกอบ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 รวม 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 4 หมื่นบาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550 ของศาลนี้ ให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อใน นสพ.ผู้จัดการ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชนรายวัน รวม 4 ฉบับ เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า โจทก์จัดการปราศรัยโดยมีประชาชนมานั่งฟังจำนวนมาก จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและใช้อุปกรณ์ในการจัดเวทีปราศรัย ติดป้าย แขวนบัตรจำนวนมากตามไปด้วย ข้อเท็จจริงทำให้จำเลยที่ 1 และคนทั่วไปเข้าใจได้ว่า การจัดปราศรัยของโจทก์ต้องใช้เงินจำนวนมาก การปราศรัยของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นธรรม ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่าได้ข้อมูลลับจากนายทหารระดับนายพลว่า มีการสั่งทีมสังหารจากภาคใต้-ภาคอีสาน ให้จัดการลอบสังหารตนเอง และถูกลูกน้องของนายหน้าเหลี่ยมเผาเวทีพันธมิตรกู้ชาติที่ จ.ภูเก็ต
โดยจำเลยนำสืบว่า ขณะรณรงค์ต่อต้านให้โจทก์ลาออกนั้น บ้านจำเลยถูกลอบยิง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาคนร้ายมาลงโทษได้ ประกอบกับเห็นคนแต่งกายคล้ายตำรวจมาซุ่มอยู่แถวบ้าน และเวทีพันธมิตรที่ภูเก็ตก็ถูกเผา ประเด็นนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าขณะจำเลยที่ 1 รณรงค์ต่อต้านโจทก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่ป้องกันตัวเอง ส่วนกรณีกล่าวหาว่าโจทก์เป็นบ้านั้น คนทั่วไปยังเห็นว่าโจทก์เป็นคนปกติ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย แต่กรณีที่กล่าวหาว่าชาติกำลังวิบัติ เพราะมีนายกฯ ที่หมกมุ่นกับไสยศาสตร์นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำตามที่จำเลยที่ 1 ปราศรัย และการที่โจทก์จะเชื่อไสยศาสตร์ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับประชาชน การกล่าวหาดังกล่าวของจำเลยในส่วนนี้ย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง
อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หนึ่งกระทง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี โดยให้รอลงอาญา 2 ปี อนึ่ง เพื่อให้หลาบจำให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 2 หมื่นบาท และให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อใน นสพ.ผู้จัดการเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง (อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554) ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาและจำเลยที่ 1 ก็ได้ยื่นฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวปราศรัยว่า ชาติบ้านเมืองกำลังจะวิบัติเพราะเรามีนายกฯ ที่หมกมุ่นเรื่องไสยศาสตร์ มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้สมัครใจและลงสมัครรับเลือกตั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อจะบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สามารถกำหนดนโยบายและมีผลโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ และยังได้บริหารเงินงบประมาณของแผ่นดินอันมีผลตามกฎหมาย การกระทำความเชื่อ อุปนิสัยต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็อาจมีผลต่อความไว้วางใจตามศรัทธาความเชื่อ ความสง่างามและศักดิ์ศรีของประเทศด้วย ซึ่งประชาชนทุกคนย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่จะสามารถวิจารณ์ให้ความเห็นในทางปกป้องส่วนได้เสียของตนเองรวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติได้
ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยนั้นก็มีพฤติกรรมต่างๆ ของโจทก์เห็นว่าโจทก์มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยที่โจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าพฤติกรรมของโจทก์ในหลายเรื่องมุ่งไปทางไสยศาสตร์ เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ในทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ทำพิธีเป็นชาวกัมพูชา และมีคนร้ายทุบพระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ ต่อมามีการประดิษฐานพระพรหมขึ้นมาใหม่ โดยเป็นหน้าที่ของมูลนิธิท้าวมหาพรหม ซึ่งโจทก์ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย แต่รีบเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อร่วมพิธี โดยห้ามบุคคลอื่นไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรมด้วย เว้นแต่คนใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีการใช้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อทำบุญประเทศ อีกทั้งมีการนำคณะรัฐมนตรีไปประชุมที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อ้างว่าส่งเสริมการท่องเที่ยว ความจริงเป็นการแก้เคล็ด เพื่อให้โจทก์ได้นั่งอยู่ในตำแหน่งอย่างยั่งยืน และสถานที่ดังกล่าวใช้ทำพิธีกรรมของกษัตริย์ ที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นสถานที่ชุมนุมของเทพและเทวดา จึงน่าเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรรมตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ ประชาชนและคนทั่วไปจึงสามารถแสดงความคิดเห็น ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1