วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555


"นพดล" โต้ "ศาสตราจารย์เสื้อกั๊ก" มาตามเทศกาล!?

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ออกคำแถลงกรณีที่นายธีรยุทธ บุญมีได้แถลงข่าว “วิเคราะห์การเมืองไทยและแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยในคำแถลงการณ์ตอบโต้ของนายนพดล ระบุว่า

1. การแถลงข่าวและวิเคราะห์ของนายธีรยุทธนั้น ไม่อยู่เหนือความคาดหมายและเป็นไปตามเทศกาล คิดอยู่แล้วว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายธีรยุทธจะใส่เสื้อกั๊กออกมาวิเคราะห์การเมืองไทยแน่นอน หลังจากที่หายไปช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ก็เคารพสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการของนายธีรยุทธ

2. เนื้อหาการวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธโดยทั่วไป ถือว่าสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังละเลยและละเว้นที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญของประเทศอย่างถึงแก่น รวมทั้งยังมีอคติและความไม่เข้าใจต่อตัวพ.ต.ท.ทักษิณในหลายประเด็น

3.การวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธ จงใจที่จะละเลยไม่พูดถึงการยึดอำนาจรัฐบาลในปี 49 ที่มาจากประชาชน 19 ล้านเสียง ถือเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยม ว่าอำนาจคือความถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ และทำลายความฝันและความหวังของคนไทย ที่จะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา

นายนพดล พูดด้วยว่า นายธีรยุทธ์ ไม่ได้พูดถึงการทำลายหลักนิติธรรมที่ตั้งผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง มาตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ในรูปแบบ คตส.นายธีรยุทธไม่พูดถึงการใช้กฎหมายย้อนหลังยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมือง นายธีรยุทธไม่พูดถึงความอยุติธรรมที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือรัฐธรรมนูญปี 50 ได้สร้างขึ้น เช่น ม.237 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร และขุดหลุมพรางของการยุบพรรคและตัดสิทธิ์นักการเมืองที่เป็นกรรมการการบริหารแม้ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการกระทำความผิด ที่สำคัญที่สุด คือนายธีรยุทธละเลยไม่พูดถึงการแทรกแซงกระบวนการตัดสินของฝ่ายตุลาการในบางกรณี จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี 1 ประเทศแต่ 2 มาตรฐาน” นายนพดล กล่าว

4. นายธีรยุทธกล่าวว่าการขยายตัวของขั้วทักษิณ - รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้นซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีนโยบายเร่งด่วน ที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยยึดมั่นในนิติรัฐและนิติธรรม การสร้างความเท่าเทียมกันและการสร้างประชาธิปไตย โดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ หากนายธีรยุทธเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขความไม่ถูกต้อง ตนอยากให้นายธีรยุทธเรียกร้องให้นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงแนวร่วมและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดำเนินการทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

5.ตนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนายธีรยุทธ ที่ว่านโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะล้มเหลวในท้ายที่สุด คำว่าประชานิยมเป็นคำกว้างและมิได้เป็นสิ่งเลว ไม่ได้หมายความว่านโยบายทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นประชานิยม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายการสร้างโอกาสให้คนยากจนเข้าถึงเงินทุน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล การให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ล้วนเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกยังยกย่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะใช้เป็นโมเดลในทั่วโลก ดังนั้นการพูดแบบเหมารวมของนายธีรยุทธ ว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหมด ถือเป็นการสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและเต็มไปด้วยหมอกควันทางวิชาการ

6.นายธีรยุทธสรุปเองว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ เห็นได้จากการอ้างว่าเวลาปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นโครงสร้างแบบยั่งยืน และสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะการเป็นผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ประเด็นนี้ตนไม่เห็นเหตุและผลของนายธีรยุทธ เห็นเพียงอคติ ทัศนคติทางการเมือง ความรู้สึกของนายธีรยุทธอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นมหาเศรษฐีก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนเลือกก่อนเป็นนายกฯ และสร้างประวัติศาสตร์ชนะการเลือกตั้งถึง 3 สมัยติดต่อกัน สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ถ้าประชาธิปไตย คือการปกครองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดและตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง การผ่านการตัดสินของประชาชนและชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นถึง 3 ครั้ง ยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะเรียกว่าเป็นผู้นำทางประชาธิปไตย และถ้าไม่ถูกยึดอำนาจไปเสียก่อนก็จะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 นายธีรยุทธมีสิทธิ์ที่จะเชื่อตามที่ตนเองอยากจะเชื่อ ซึ่งตนไม่ขอลบหลู่แต่ประชาชน 10 กว่าล้านคนไม่เชื่อนายธีรยุทธ

7.นายธีรยุทธสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณมุ่งหวังให้รากหญ้าเป็นลูกค้า ซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะใช้รากหญ้าเป็นรากฐานมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ซึ่งข้อสรุปของนายธีรยุทธได้ลดความน่าเชื่อถือ และคุณค่าการวิเคราะห์ทางวิชาการลงไปมาก ข้อสรุปสวนทางกับความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมองรากหญ้าเป็นลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของตน แต่มองว่าประชาชนเพื่อนร่วมชาติควรจะได้รับโอกาสจากการบริหารจัดการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่กินได้ น่าเสียดายที่นักวิชาการอย่างนายธีรยุทธ ไม่ได้เก็บข้อมูลนโยบายและความสำเร็จของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นมรดกทางการเมืองเช่นที่กล่าวมาแล้ว

“ข้อสรุปของนายธีรยุทธที่ถือไม่ได้ว่าเป็นงานทางวิชาการ แต่เป็นการรำพึงรำพันทางวิชาการ ที่สะท้อนความรู้สึกและอคติของนายธีรยุทธ ทำให้เห็นว่านายธีรยุทธยังไม่หลุดพ้นจากกรอบความคิดของคนบางกลุ่มในสังคมไทย ที่ปฏิเสธการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ใช้อคตินำทางสู่ข้อสรุป นอกจากนั้นข้อสรุปของนายธีรยุทธหมิ่นเหม่และเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสีและเป็นการหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนักวิชาการที่มีมาตรฐานไม่พึงกระทำ อาจทำให้นายธีรยุทธถูกมองว่าเป็นขาประจำที่มาตามนัดเพื่อฟัด พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น” นายนพดล กล่าว
http://redusala.blogspot.com

ความเหลวไหลของ "ประชาธิปไตย" และ "ศีลธรรม" ในมือของ "คนดี"
        ทำไมจึงมีคำถามกับ "คนดี" และ "ความดี" ตามความคิดกระแสหลักในสังคมไทยมากขึ้น ?

             ผมคิดว่า เกิดจากปรากฏการณ์ที่ประชาธิปไตยและศีลธรรมตกอยู่ในมือ หรืออยู่ใน "อำนาจการตีความ" ของ "เครือข่ายคนดี" และการกระทำ "ความดี" ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ส่งผลให้เกิด "ความเหลวไหล (absurd)" ของประชาธิปไตยและระบบศีลธรรมของสังคมไทยอย่างน่าตระหนก ในระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา

             ลองพิจารณาความหมายของ "คนดี" และ "ความดี" ตามความคิดกระหลัก ดังเช่น
            "คนดี" คือคนเช่นไร? ตอบว่า "คนดีในอุดมคติ" ตามความคิดกระแสหลักของสังคมไทย คือคนซื่อสัตย์ ไม่โกง จงรักภักดี กตัญญูต่อแผ่นดิน และ/หรือคนดีตามบรรทัดฐานศีลธรรมทางศาสนาที่ดีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ

             ตัวอย่างของคนดีตามนิยามดังกล่าว เช่น คนที่ได้รับยกย่องว่า เป็น "เสาหลักทางจริยธรรม" และเครือข่ายคนดีที่ยกย่องกันว่าซื่อสัตย์ ไม่โกง

              แต่การเกิดรัฐประหาร 19 กันยา กลับมี "ข้อกังขา" ที่สำคัญยิ่งว่า คนดีเหล่านั้นซื่อสัตย์ต่อหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือไม่? กตัญญูต่อประชาชน และเคารพการตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ "อำนาจอธิปไตยสูงสุด" ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? 

              "ความดี" คืออะไร? ตอบได้ว่า ความดีของคนดีเหล่านี้ คือ "การกระทำทุกวิถีทางไม่เลือกวิธีการว่าถูกหรือผิด" เพื่อขจัด "คนเลว" (บางที "เลว" เพียงเพราะมีความเห็นต่าง มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากพวกตน)

              เช่น อ้างความจงรักภักดี อ้างศาสนา อ้างธรรมนำหน้า อ้างสถาบันกษัตริย์แบ่งแยกประชาชนในประเทศเป็นฝักฝ่าย จนนำไปสู่การทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้กฎหมายแบบ "สองมาตรฐาน" ขจัดนักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โจมตีใส่ร้ายเรื่องล้มเจ้า อ้างข้อหาล้มเจ้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนด้วย "กระสุนจริง" เป็นต้น

               รวมทั้งที่ออกมาต่อต้านการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ด้วยข้อกล่าวหาว่า "ล้มเจ้า" อย่างที่พยายามทำกันอยู่ในขณะนี้ !

                แน่นอนว่า "ประชาธิปไตย" และ "ศีลธรรม" ในมือของบรรดาคนดีเหล่านี้ ย่อมบิดเบี้ยว และ "เหลวไหล" ไปด้วย กล่าวคือ

               "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย" ที่ไม่ปรับใช้ "หลักการสากล" คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกับ "ทุกคน" อย่างเท่าเทียม ซึ่งขัดกับ "แก่นสาร" ของความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้หลักการสากลดังกล่าวอย่างเสมอกัน
                    
แต่เพื่อปกป้อง "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย" พวกคนดีจึงต่อต้านการแก้ไข ม.112 และรัฐธรรมนูญบางหมวดอย่างแข็งขัน พร้อมๆ กับการโจมตีใส่ร้าย ปลุกปั่นความเกลียดชังฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว
               ทั้งๆ ที่เป็น "ข้อเรียกร้อง" เพื่อเปลี่ยนความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตยสู่ความมี "แก่นสาร" คือ ความเป็นประชาธิปไตยที่หลักการสากลถูกปรับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมแบบอารยประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลดีแก่ทุกสถาบัน ทุกสี ทุกฝ่ายในสังคมอย่างเสมอหน้ากัน!

                "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของศีลธรรม" แน่นอนว่า เมื่อระบบสังคม-การเมืองบิดเบี้ยวเหลวไหลแล้ว "ศีลธรรมทางสังคม-การเมือง" ก็ย่อมบิดเบี้ยวเหลวไหลตามไปด้วยอย่างจำเป็น (necessary)


               เช่น แทนที่สังคมนี้จะเน้น "ศีลธรรมเชิงหลักการ" หรือเน้นการใช้ศีลธรรมสากล หรือศีลธรรมภาคสาธารณะเป็นบรรทัดฐานในเรื่อง "ถูก-ผิด" ทางการเมือง กลับไปเน้นเรื่องความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูต่อตัวบุคคลให้เป็น "ศีลธรรมที่เหนือกว่า" การเคารพ หรือปฏิบัติตามหลักการสากล ศีลธรรมสากล หรือศีลธรรมภาคสาธารณะ คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

               ฉะนั้น จึงเกิด "ภาวะบิดเบี้ยวเหลวไหลทางศีลธรรม" คือ เกิดการอ้างความดีงามของความจงรักภักดีต่อตัวบุคคลทำลายหลักการสากลอันเป็นศีลธรรมทางสังคม หรือศีลธรรมภาคสาธารณะ ซึ่งเป็น "แก่นสาร" ของความเป็นประชาธิปไตย

               ภายใต้ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตยและศีลธรรมดังกล่าวนี้ ยังก่อให้เกิด "ความบิดเบี้ยวเหลวไหล" ที่สำคัญตามมาอีกอย่างน้อยสองเรื่องที่สำคัญคือ

              "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของนักสันติวิธี" ที่มองไม่เห็นปัญหาระดับรากฐานที่สุด คือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ "ไม่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม" อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถพูดถึง "ความจริงของสาเหตุแห่งปัญหา" ได้อย่างถึงที่สุด
              ซึ่งทำให้ปัญหาความอยุติธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตย มองไม่เห็นทางแก้ไข และกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด!

              เมื่อมองไม่เห็น นักสันติวิธีก็พยายามรักษา "บทบาทเป็นกลาง" อย่างสุดโต่ง ทำได้แค่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน ลืมความหลัง หันหน้ามาปรองดอง แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ฯลฯ
               แต่ทั้งหมดนั้นคือ "ข้อเสนอนามธรรมแบบสูตรสำเร็จ" ที่ไม่ตอบปัญหาความอยุติธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานของความขัดแย้งแต่อย่างใด

               "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของสื่อ" ไม่ใช่เรื่องไม่เป็นกลางหรือเลือกข้าง แต่เป็นเรื่อง "ซีเรียส" กว่านั้น คือสื่อหลักไม่มีความกล้าหาญที่จะใช้ "เสรีภาพ" ในการเสนอความเห็นต่าง หรือ "ความคิดนอกกระแสหลัก" ในบริบทของ "ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน"

               ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ สื่อที่มีความรับผิดชอบ ย่อมตระหนักว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" มีคุณค่ามาก เนื่องจากเราได้เห็นแล้วว่า ความคิดกระแสหลักที่ว่ามานั้นทำให้ประชาธิปไตย และศีลธรรมของสังคมบิดเบี้ยวเหลวไหลไปอย่างไร

                ฉะนั้น "ความคิดนอกกระแสหลัก" ถ้ามันจริง ถูกต้อง มันก็จะเปลี่ยนความคิดกระแสหลักที่ไม่จริง ที่ผิด ถ้ามันไม่จริง หรือมันผิด ก็จะกระตุ้นความคิดกระแสหลักเข้ามาปะทะสังสรรค์ทำให้มีพลังเข้มแข็งขึ้น

                และถึงแม้ว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" ที่จริง ที่ถูกต้องนั้นๆ มันอาจจะดูเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ สื่อก็ต้องเปิดโอกาสให้มันได้แสดงออก ได้ "บ่มเพาะ" ตัวมันเองในสังคม เพื่อให้งอกงามเติบโต ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในระยะยาว

                กล่าวโดยสรุป สภาวะบิดเบี้ยวเหลวไหลของคนดี ความดี และความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย และศีลธรรมในมือของคนดีเหล่านั้น เกิดจาก "ระบบสังคม-การเมืองที่ไม่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม" นั่นเอง

                ระบบนี้แหละคือที่มาของ "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของทุกสิ่ง"

               ทางออกจึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นต่าง หรือ "ความคิดนอกกระแสหลัก" ได้ปะทะสังสรรค์กับ "ความคิดกระแสหลัก" ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

              ในที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" จะบ่มเพาะตัวมันเอง และเจริญเติบโตจนมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม เฉกเช่นกับอารยประเทศ!
http://redusala.blogspot.com

จริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดิน

สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์ 
จริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในมติชน ออนไลน์ 

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 
21:10:00 น.

           แนวคิดผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) มีกำเนิดมาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ดูแลปัดเป่าเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนแทนพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้มีการพัฒนามาสู่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

            สำหรับประเทศไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2542 โดยใช้ชื่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

             ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 ท่าน โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (24 สิงหาคม 2550) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน

              ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันมี คุณผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธาน ได้รับเรื่องร้องเรียนให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกระทำการไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

             ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดแถลงภายหลังการประชุมโดยมีใจความสรุปว่า การแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน และ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีไม่ขัดกฎหมาย แต่ขัดจริยธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

           1. การแต่งตั้ง ดร.นลินีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนและอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติหรือไม่ โดยให้นำระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 27 มาพิจารณา

           2. การแต่งตั้งคุณณัฐวุฒิดำรงตำแหน่งโดยที่คุณณัฐวุฒิอยู่ในระหว่างถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญา แต่นายกฯไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของคุณณัฐวุฒิมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสนอแต่งตั้ง

            หากจะเปรียบเทียบเรื่องนี้กับสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่เคยมีการนำประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองมาใช้กับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำเช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยทำในขณะนี้ แถมบางเรื่องเห็นได้ชัดเจนว่าไร้ซึ่งจริยธรรมและมนุษยธรรม ดังจะขอยกตัวอย่างมาเทียบเคียงเป็นรายกรณี ดังนี้

            1. การแต่งตั้ง คุณกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งๆ ที่คุณกษิตนำพรรคพวกไปบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าพฤติกรรมของคุณกษิตก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติตามประมวลจริยธรรมข้อ 27 กระนั้นหรือ

              อีกทั้งการบุกยึดสนามบินของคุณกษิตและพรรคพวกแสดงว่าเป็นการเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นกระนั้นหรือ ถ้าใช่ ต่อไปหากใครคิดจะประท้วงเรื่องใดก็ให้ไปยึดสนามบินเพราะไม่ผิดทั้งกฎหมาย และจริยธรรม

              นอกจากนี้ การที่คุณกษิตออกมาด่านายกฯฮุน เซน ว่าเป็นกุ๊ย ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพตามประมวลจริยธรรมข้อ 11 กระนั้นหรือ

            2. กรณีรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ปล่อยให้มีการฆ่าหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวง กลางวันแสกๆ โดยยังไม่สามารถหาตัวผู้สั่งการและตัวผู้ลงมือสังหารหมู่ประชาชน โดยคุณอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอะไรให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

                อย่างนี้แสดงว่าคุณอภิสิทธิ์สูงส่งไปด้วยคุณธรรม จริยธรรมใช่ไหม เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นองค์กรใดออกมาร้องหาจริยธรรมจากคุณอภิสิทธิ์

                เช่นเดียวกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่เห็นทำอะไรเลย ซึ่งผิดกับกรณีนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ผู้ตรวจการดูจะกุลีกุจอเรื่องนี้เป็นพิเศษ รีบพิจารณาและเสนอให้นายกฯรับไปพิจารณาตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีใหม่ และให้แจ้งกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน
                     จริงๆ แล้วคนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมผู้อื่นควรจะต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยจริยธรรม ปราศจากซึ่งอคติ และมีมาตรฐานเดียวในการพิจารณาไม่ใช่หรือ

                 แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดที่มีคุณผาณิตเป็นประธานไม่แน่ว่าจะมีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ อาจดูได้จากการแต่งตั้งที่ปรึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ท่าน ที่ล้วนแต่ประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตของเผด็จการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

               หรือไม่ก็เป็นกลุ่มบุคคลผู้ได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารในครั้งนี้เกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ที่ปรึกษาดังกล่าวยังประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่เกลียดทักษิณเป็นชีวิตจิตใจอีกจำนวนหนึ่ง แล้วอย่างนี้ยังจะพูดได้เต็มปากอีกหรือไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินชุดนี้ปราศจากซึ่งอคติ และเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม

              ดังนั้น จึงอยากจะขอฝากเตือนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินว่าอย่าบ้าจี้ไปตามแรงกดดันของกลุ่มผู้มากบารมีเลย ไม่เช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นอกจากจะต้องยุบเลิกองค์กรศาลบางประเภท เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระที่ไม่อิสระสมชื่อ เช่น กกต. และ ป.ป.ช.แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินก็อาจเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สมควรต้องถูกยกเลิกเช่นกัน

             ตอนนี้จึงอยากจะเรียกหาจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนที่ท่านจะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้อื่น
 

http://redusala.blogspot.com

แง่มุมในการตอบโต้เผด็จการยังห่างชั้นมาก!!

แง่มุมในการตอบโต้เผด็จการยังห่างชั้นมาก!!

              การจัดรายการทั้งทีวีและวิทยุรวมทั้งอินเตอร์เน็ทของฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อตอบโต้และอธิบายเพื่อต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการนั้น ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมากมายหลายประการ 

              ทั้งการใช้ศัพท์ทางการเมืองที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง เพื่อไม่ให้ใช้กันจนเพี้ยนเปลี่ยนแปลงและหลงความหมายไป หลายคนที่เป็นแกนนำยังใช้ภาษาศัพท์ทางการเมืองเพี้ยนอย่างไม่น่าให้อภัย ยิ่งการจ่อสู้กันในทางการเมืองต่างขั้วนี้ย่อมมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก 


              การอธิบายความเป็นจริงเพื่อให้ได้แนวร่วมจากประชาชนเพื่อเพิ่มปริมาณมวลชนนั้น พวกแกนนำทางความคิดจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่ให้ความสำคัญถือเป็นอันตรายทางความคิดเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายเผด็จการมีความชำนาญในการสรรหาวาทกรรมคำศัพท์ทางการเมืองต่างๆหลากหลายประโยคหลากหลายคำเพื่ออะไร? ที่พวกมันพูดแต่ละคำแต่ละประโยคนั้นมีความหมายทั้งสิ้น มีความหมายและเป็นผลทางจิตวิทยาทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ฟังผู้เห็น 


              การสร้างความเพี้ยนให้เกิดกับฝ่ายตรงข้ามนั้นถือเป็นยุทธวิธีต่อสู้อย่างได้ผลมายาวนานและประวัติศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยจะค่อยๆมลายหายไปในที่สุด อย่างเช่นคำว่า”คณะราษฎร” (คณะ-ราด-สะ-ดอน) ก็ถูกทำให้เพี้ยนไปเป็นคณะราษฎร์ (เติมการันต์) ในฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนมองว่าไม่เห็นจะสำคัญใด ๆ คณะราด หรือราด-สะ-ดอน เราก็รู้อยู่ว่าคือใคร? อย่างนี้ถือว่าคนที่คิดอย่างนั้นปัญญาอ่อนในการต่อสู้เป็นอย่างมาก เพราะคำนี้มีความหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย นี่น่ะหรือไม่สำคัญ? 
              ความเพี้ยนมันเริ่มต้นมาจากฝ่ายเผด็จการที่จงใจจะให้ผู้คนเรียกให้ติดปากเพราะมันจะพ้องเสียงกับคำว่า”ราช” (ราชา) ทำให้คนรุ่นหลังมองว่าการต่อสู้ครั้งนั้นไม่ใช่ฝ่ายราษฎรแต่เป็นฝ่ายเจ้าด้วยกันเอง นี่เป็นความจงใจให้คนรุ่นต่อๆมาเข้าใจเป็นอย่างนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ ประเด็นคือทำให้ฝ่ายราษฎรมองผ่านเลยการต่อสู้ของประชาชนและกลับไปจำยอมรับเพียงความช่วยเหลือจากระบอบเก่าอีกนั่นเอง ทำให้มองว่าแค่คำศัพท์จะไปสำคัญอะไร? 


              นี่คือการปลูกฝังความคิดที่ผิดให้คนต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการตั้งแต่ต้น ความคิดก้าวหน้าก็จะผิดเพี้ยนไปและเป็นไปในทางที่พวกมันอยากจะให้เป็น 

              การอธิบายเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายยิ่งแล้วใหญ่ หาคนตอบโต้จากฝ่ายประชาธิปไตยได้ยากยิ่ง เพราะไม่เคยจะคิดจะค้นหาและนำประเด็นมาขยายให้ได้ประโยชน์แก่ฝ่ายประชาธิปไตย  เรื่องเหล่านี้ จะมีก็เป็นเพียงการพูดผ่าน แตะบ้างพออาศัยเพียงเท่านั้น ไม่หาประเด็นข้อเท็จจริงมาตอบโต้เลย 


              เช่นในเรื่องการเยียวยาเหตุการณ์ เม.ย. พ.ค.๕๓ นั้น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เองเป็นคนออกคำสั่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง คอป.มาค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะและให้ทำการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่เคยจะเห็นใครเอามาพูดว่า  นี่ไงพวกมึงเป็นคนออกคำสั่งไว้แค่เหตุการณ์นี้เท่านั้นไง? แล้วมึงจะให้เขาไปเยียวยาเหตุการณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้ยังไง? 


              แต่รัฐบาลนี้ก็ยังออกคำสั่งแต่งตั้งคณะใหม่คือ ปคอป.มาศึกษาและเยียวยาผู้เสียหายในทางการเมืองครอบคลุมมากกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์  และรัฐบาลอภิสิทธิ์ตอนเป็นรัฐบาลเองก็ไม่เคยคิดจะเยียวยาเหตุการณ์ทางภาคใต้เลย อย่างนี้ไม่เคยเห็นใครเอามาพูดเลย!!!!!

               ยิ่งการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงยิ่งแล้วใหญ่ทั้ง ๆ ที่มีแง่มุมที่จะสามารถพูดได้เต็มปากทางข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า การจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงนั้นมีข้อกำหนดไว้ ให้รัฐส่งเสริมให้ภาคประชาชนรวมกลุ่มและจัดตั้งได้เพื่อสร้างความเข้าใจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของภาคประชาชน และรัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเสียด้วย  ก็ยังไม่เคยเห็นฝ่ายประชาธิปไตยจะอธิบายแง่มุมนี้เลย?


               การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ปล่อยให้พวกลิ่วล้อเผด็จการเอามาโพนทะนาอยู่ได้ว่าจะฉีกทิ้งเขียนใหม่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแก้ไขหมวด ๑ และหมวด ๒ แล้วอย่างนี้มันจะเขียนใหม่หมดยังไง?ไม่เห็นมีใครอธิบายเรื่องง่ายๆแบบนี้ พูดกันแต่ว่าทำได้ทำถูกตามรัฐธรรมนูญ ก็รู้อยู่แล้วว่าทำได้โดยเสียงข้างมากในสภา เพราะเสียงข้างมากในสภาก็มาจากเสียงข้างมากของประชาชนนั่นเอง มันก็รู้ แต่มันก็ลากเราออกไปให้ไขว้เขวแค่นั้น แต่ก็พากันเถียงไปตามที่มันพาไป

                ยิ่งเรื่องคดีท่านทักษิณยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งไม่มีนักกฎหมายใด ๆ และนักการเมืองคนใดของฝ่ายที่บอกว่ารักทักษิณเหลือเกินจะอธิบายได้เป็นอย่างดีเลย เอาแต่ฝังความกลัวคำว่า ”หมิ่นศาล” กันจนมั่วและเพี้ยนไปหมด ทั้ง ๆ ที่แง่มุมในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมีให้อธิบายมากมายเหลือเกิน 


                 ยกตัวอย่างเช่น คดีที่ตัดสินให้ท่านทักษิณต้องจำคุก ๒ ปี ด้วยกฎหมาย พรบ.ปปช.นั้น ยิ่งแล้วใหญ่ และเป็นเรื่องใหญ่จริงๆว่า ทำไมตัดสินได้อย่างนั้น ทั้งๆที่กฎหมายมีเจตนารมณ์ ที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่โดยตรงรวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะของเจ้าหน้าที่รัฐ มีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยทุจริต การห้ามการเป็นคู่สัญญากับรัฐทั้ง ๆ ที่เป็นสัญญาซื้อขาย และไม่ใช่การสัมปทานเลยก็ถูกลากให้มั่วไปได้ คำพิพากษาก็ยังระบุไว้ว่าไม่ใช่การทุจริต แต่ก็ยังมีความผิดไปได้? ยิ่งต่อมาการประมูลถูกตีความให้เป็นโมฆะคืนเงินแถมดอกเบี้ยด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน และคืนทรัพย์สินที่ประมูลกลับไป ก็ยังทำกันได้หน้าตาเฉย แต่การลงโทษปล่อยเลยตามเลย ไม่มีใครแย้งอะไรเลย? เวรกรรมจริงๆ 

                  แล้วที่อดีต รมต.คมนาคม ประมูลทะเบียนรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบก ทะเบียนสวยประมูลเป็นล้าน นี่เป็นคู่สัญญากับรัฐไหม? นี่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ควบคุมองค์กรของรัฐโดยตรงไหม? ฝ่ายประชาธิปไตยที่อวดเก่งเคยเอามาพูดกันบ้างไหมในแง่มุมนี้?

                  คดียึดทรัพย์อดีตนายกฯทักษิณ ยิ่งแล้วใหญ่เลย ถูกพิพากษาว่าหุ้นยังถือเป็นของเขา ทั้ง ๆ ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี ๔๔ วินิจฉัยว่าการแจ้งทรัพย์สินต่าง ๆ ของอดีตนายกทักษิณ ถูกต้องไปแล้ว กลับไม่มีผลผูกพันทุกองค์กรไม่เว้นแม้แต่ศาล ก็ถูกละเลยไปได้ การพิพากษาเรื่องการออกพระราชกำหนดแก้ไขภาษีสรรพสามิต ที่ออกโดยความเห็นของคณะรัฐมนตรีแท้ ๆ ยังถูกพิพากษาว่าทำผิดเอื้อประโยชน์ให้ตนเองทั้ง ๆ ที่ความรับผิดชอบต้องรับผิดชอบกันทั้งคณะรัฐมนตรี แต่คนถูกยึดทรัพย์และมีความผิดเป็นเพียงแค่อดีตนายกฯทักษิณ เท่านั้น แปลกไหมล่ะ? ถูกต้องไหมล่ะ? ทั้ง ๆ ที่มีคำวินิจฉันของศาลรัฐธรรมนูญว่า การออกพระราชกำหนดในเรื่องนั้นถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกพูดถึงและหยิบยกมาผูกพันทุกองค์กร ทั้งที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแท้ ๆ กลับปล่อยให้เลยตามเลย ไม่มีการฟ้องต่อสังคมให้เข้าใจกันเลย? นี่เป็นการปล่อยปละละเลยแง่มุมในการตอบโต้ และกลับไปตอบโต้ในแบบลูกทุ่งด่าทอกันทั้งทางทีวี อินเตอร์เน็ทและวิทยุชุมชนกันเอิกเกริกเมามัน เข้าทางมันโหมเติมเชื้อให้หนักเข้าไว้ด้วยการพูดความเท็จต่าง ๆ นานา

                   ยิ่งการยึดอำนาจรัฐประหารของไอ้พวกทหารบางตัวที่ทำเมื่อ ๑๙  ก.ย.๔๙ นั้นไม่ใช่เพียงแค่การยึดอำนาจประชาชนเท่านั้นแต่มันยึดอำนาจพระมหากษัตริย์มาใช้เสียเองยึดอำนาจ ”จอมทัพไทย” อย่างนี้ไม่มีใครพูดถึง? อย่างนี้ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์อันเป็นความผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือไม่? ไม่มีใครพูดถึงไม่มีใครกล้าอธิบายเลย? ทั้ง ๆ ที่พวกมันยกโทษตัวเองด้วยการเขียนกฎหมาย แต่ไม่เคยมีการขอและพระราชทานอภัยโทษในโทษานุโทษร้ายแรงนี้ กลับไม่มีใครเอามาเปิดประเด็น? ไม่มีใครเอาไปฟ้องต่อศาลในความผิด ๑๑๒ นี้ มีแต่เอาไปฟ้อง ม.๑๑๓ ให้มันอ้างรับธรรมนูญมาตรา ๓๐๙ มาหักล้าง ไม่มีใครเปิดประเด็นฟ้องประชาชนให้รู้และให้มันอ้างดูว่ามันสามารถหักล้างความผิด ม.๑๑๒ ที่พวกมันทำกับพระมหากษัตริย์ได้อย่างนั้นหรือ?


                  นี่เป็นแค่ตัวอย่างหลัก ๆ ที่ควรจะอธิบายต่อสาธารณะ เพื่อชี้ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย เพื่อความเข้าใจของประชาชนคนอื่น ๆ ทั้งฝ่ายต่อสู้เองและประชาชนที่มองอยู่รอบนอก ทั้งจะสร้างกระแสต่อต้านการยึดอำนาจรัฐประหารอย่างได้ผลถาวร ทีพวกมันอ้างปกป้องสถาบันฯ ทั้ง ๆ ที่พวกมันนั่นล่ะที่ล้มล้างและดูหมิ่นสถาบันฯ ชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครในฝ่ายประชาธิปไตยจะหยิบยกมาพูดเลย? ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่แกนนำและสื่อฝ่ายประชาธิปไตยจะเห็นเรื่องแบบนี้เป็นความสำคัญและน่าจับเอามาเปิดประเด็นกับสาธารณะ? 

                 นี่ไงถึงตั้งชื่อบทความไว้ว่า ”ยังห่างชั้น”กันมากเหลือเกิน 


                 
แต่ที่มีประชาชนเห็นและให้คะแนนเสียงมาเป็นเสียงข้างมากนั้นเป็นเพียงแค่ความสงสารและเบื่อความไม่เป็นธรรมเสียมากกว่าจะมีความเข้าใจข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายเพราะไม่เคยมีใครอธิบายไว้ต่างหาก แต่ถ้าประชาชนเขาไขว้เขวไปตามพวกเผด็จการเมื่อไหร่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยาวก็แล้วกัน!!!



-------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจากคุณ auss : เวบบอร์ด หมู่บ้านคนไทยรักประชาธิปไตย 

http://redusala.blogspot.com

ภาพลวงตาของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์”
ธงชัย วินิจจะกูล: ภาพลวงตาของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์”


               “ธงชัย” ชี้เงื่อนไขการเติบโตของ “ไฮเปอร์รอยัลลิสม์” มาจากวาระทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม และความหวั่นกลัวต่ออนาคตของสถาบันฯ ประกอบกับกระบวนการ “แปรความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า” และวัฒนธรรมการจ้องมองก็ได้ยิ่งทำให้สภาวะดังกล่าวกลายเป็น “ภาพลวงตา”


                 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ร่วมจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "Democracy and Crisis" หรือ "ประชาธิปไตยและวิกฤติการณ์" โดยหนึ่งในหัวข้อการอภิปรายมีหัวข้อเรื่อง สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย โดยประชาไทขอนำเสนอในส่วนการอภิปรายโดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ดังนี้


วิดีโอคลิปการบรรยายโดยธงชัย วินิจจะกูล ที่มา: youtube.com/tdwwatchtv

             ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นจากพิธีกรรม และการประกอบพิธีต่างๆ ของราชวงศ์ที่มีอยู่ทุกทีและสามารถพบเห็นได้ทุกเวลา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519เป็นต้นมาเขาชี้ว่าไฮเปอร์รอยัลลิสม์ไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกผลิตโดยรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สาธารณชนและประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ


             ในแง่หนึ่ง เมื่อเทียบกับเสรีภาพทางศาสนา คนไทยยังมีสิทธิเลือกศาสนาและแสดงออกต่างกันได้ แต่ในแง่ของความจงรักภักดี หรือความเป็นกษัตริย์นิยมนั้นคนไทยกลับเลือกได้น้อยกว่า และประชาสังคมก็มีความอดทนต่อคนที่เห็นต่างไปน้อยเสียยิ่งกว่าการเห็นต่างทางศาสนา


               ธงชัยได้ตั้งคำถามที่สำคัญสามข้อต่อไฮเปอร์รอยัลลิสม์คือ


               อะไรที่ทำให้เกิดสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์?

               สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในภาวะสมัยใหม่/ประเทศไทยเองเป็นรัฐสมัยใหม่หรือยัง ?

               สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ได้อย่างไรในสภาพสังคมที่เปิด เป็นฆราวาส และเข้าสู่การใช้เหตุผลสมัยใหม่แล้ว?

               ต่อคำถามข้างต้น ธงชัยอธิบายว่า มีสิ่งที่ทำให้เกิดสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์อยู่สองอย่าง คือ วาระทางการเมืองของระบอบกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และความกลัวต่ออนาคตของสถาบันกษัตริย์ โดยทั้งหมดนี้ สามารถอธิบายได้ในเชิงประวัติศาสตร์และวาทกรรมเรื่อง “ธรรมราชา” สมัยใหม่ธงชัยกล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ (foundational moment) คือ พระราชดำรัสเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่   5 พ.ค. 2493 ว่า ”เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งภายหลังถูกยกมาอ้างบ่อยครั้งในฝ่ายไฮเปอร์รอยัลลิสม์ เช่นเดียวกันกับเพลง “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ที่ได้ถูกผลิตซ้ำหลายต่อหลายครั้งในเวลาต่อมา


               ธงชัยขยายความต่อถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดสภาวะรอยัลลิสม์ โดยชี้ว่ามาจากเหตุผลสองด้าน อย่างแรก มาจากการที่ฝ่ายนิยมเจ้าต้องการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภายหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎร ซึ่งฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการสถาปนาอำนาจเหนือประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม (Royalist Democracy)


               ต่อมาการขึ้นสู่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเต็มที่ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัตช์ ราวต้นทศวรรษที่ 2500ซึ่งตรงกับสมัยสงครามเย็น และด้วยนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่มุ่งปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐหันมาสร้างพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ไทย และถึงแม้ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมจะมีความไม่เสถียรทางอำนาจอยู่บ้างในช่วงนี้ โดยเฉพาะการที่ต้องเจรจาอำนาจกับกองทัพ แต่เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ก็แสดงให้เห็นว่าสถาบันฯ สามารถเจรจาผลประโยชน์กับกองทัพได้อย่างสำเร็จและลงตัว


                ธงชัยชี้ว่า ในปี 2518 ซึ่งเป็นการปฏิวัติอินโดจีน เป็นช่วงที่สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์เริ่มต้นขึ้นจนมาถึงในสมัยเหตุการณ์พฤษภา 2535 ภาพของสุจินดา คราประยูร และจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อไกล่เกลี่ยเหตุการณ์ความวุ่นวาย ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการบรรลุอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองได้อย่างสำเร็จ


                เรื่องที่น่าสนใจคือว่า เมื่อสถาบันฯ เริ่มกล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงทศวรรษ 1990 (ราวทศวรรษ 2530) กลับทำให้คนที่คิดต่างทางอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็นกลายมาเป็นพวกเดียวกันจะเห็นจากการที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมและคนที่เคยสมาทานคอมมิวนิสต์ล้วนกลายมาเป็นคนเสื้อเหลืองได้ ก็เพราะมีความหวาดกลัวต่อทุนนิยมและนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ความกลัวในสังคมจะเกี่ยวกับขบวนการคอมมิวนิสต์


ธรรมราชาที่เปลี่ยนความหมาย


                ธงชัยกล่าวว่า เมื่อพูดถึงธรรมราชาในสมัยโบราณคือสมัยอยุธยาขึ้นไปนั้น เป็นการพูดภายใต้บริบทของ ฮินดู หรือเขมร ในขณะที่ธรรมราชาในปัจจุบันนี้เปลี่ยนความหมายไป  พระองค์เจ้าธานีนิวัต (พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม ทรงพยายามอธิบายว่ากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้เป็นเทวราชาแบบเก่าแต่เป็น “ธรรมราชา” พยายามสร้างคำอธิบายและจัดการความรับรู้ การเป็นธรรมราชาในแง่นี้คือ มีหลักจริยธรรมของราชา แต่ไอเดียที่ว่ากษัตริย์ต้องรับใช้ประชาชน เริ่มเมื่อทศวรรษ1980 (ราว 2520) นี่เอง ไม่ได้มีมาก่อนหน้านั้น กษัตริย์สมัยโบราณนั้นไม่ได้มีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่รักษาสถานภาพตัวเองและอยู่ในราชวัง ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่กษัตริย์ที่คิดว่าต้องรับใช้ประชาชนนั้นเป็นกษัตริย์สมัยใหม่


                วาทกรรมของพวกไฮเปอร์รอยัลลิสม์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกินสามสิบ-สี่สิบปีมานี้ โดยผลิตออกมาหลายเวอร์ชั่น เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัติ และสำนักกษัตริย์นิยมผลิตคำอธิบายว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนที่อื่น มีความเป็นเอกลักษณ์ ในทางตรงกันข้าม หากเราฟังข้อเสนอจากนิติราษฎร์หรือผู้สังเกตการณ์บางส่วน ที่ยกเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกมาโต้แย้ง ก็จะเห็นว่าสองฝ่ายนี้มีมุมมองที่สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด นี่แสดงว่าพวกเราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน  และในสองภาษาที่แตกต่างกันนี้ ถ้าเรามานั่งบนโต๊ะเดียวกันเพื่ออภิปรายเราก็พบว่าเราพูดจากันคนละเรื่อง


                ธงชัยย้ำถึงคำอธิบายเกี่ยวกับอำนาจอธิปัตย์โดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งระบุว่ารัฐฐาธิปัตย์ เป็นการใช้ร่วมกันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน และจริงๆ แล้วอำนาจรัฐนั้นเป็นของกษัตริย์แล้วมอบให้ประชาชน เป็นการใช้อำนาจร่วมกัน จากนั้นประชาชนก็ยกอำนาจให้กษัตริย์ทำแทน แล้วอำนาจจะกลับมาสู่ประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง


                ธงชัยอธิบายว่าเขาเรียกวาทกรรมเช่นนี้ว่า เวทมนตร์ หรือ “Spell” เพราะว่าวาทกรรมแบบนี้ไม่ใช่การใช้เหตุใช้ผลไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์และเมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เมื่อพื้นที่สาธารณะที่ปกครองด้วย “Magic” ก็สงสัยว่าเราตั้งคำถามถูกหรือเปล่า เพราะเราจะเรียกร้องให้คนมาอภิปรายกันเรื่องเวทมนตร์ได้หรือ เพราะการใช้เหตุผลยิ่งเป็นการคุกคามและเป็นอันตรายต่อตัว “ศรัทธา” หรือ “เวทมนตร์” นั้นเอง


                คำอธิบายแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าสภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็คือ “มายาภาพที่เป็นสมัยใหม่” ชนิดหนึ่ง (Modern Magic)รอยัลลิสม์สมัยใหม่ของไทยนั้นแตกต่างจากรอยัลลิสม์ของฝรั่งที่มีเหตุผลเกินไป เพราะรอยัลลิสม์สมัยใหม่แบบไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเวทมนตร์ที่น่าลุ่มหลงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน(increasingly enchanted Magic)โดยหากเปรียบเทียบกับ “ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5”แล้ว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก็เสมือนกับเป็น “ลัทธิ” ที่ถูกมองว่ายึดเหนี่ยวเสถียรภาพของสังคมเอาไว้


                ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำความจงรักภักดีให้เป็นสินค้า (Commodification of Royalism) และการบริโภค การทำให้สถาบันฯ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถเสพได้ผ่านการมอง (Visual Culture) ทั้งโทรทัศน์ พิธีกรรม การผลิตซ้ำในรูปแบบอื่นๆ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยที่ไม่ได้ฟังมากนักหากแต่ได้เห็นบ่อยๆ (Public Spectacle)


                 สุดท้ายธงชัยย้ำว่า  ในภาษาอังกฤษความหมายของ “Magic” อาจจะแปลได้ว่าสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่มันก็แปลได้อีกว่าเป็น “มายาภาพ/มายากล” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลอกความคิดของเราและในทางตรงกันข้าม “ภาวะตาสว่าง” ก็คงจะเป็นการใช้คำได้อย่างถูกต้องแล้ว เพราะมันหมายถึง คือการเปิดตาขึ้น การตื่นรู้ และรู้ทันต่อสิ่งที่หลอกตาเพราะท้ายที่สุดแล้ว สภาวะไฮเปอร์รอยัลลิสม์ ก็เป็นเพียงมายาภาพเท่านั้น


ข้อมูลที่มา : มติชนออนไลน์ 
http://redusala.blogspot.com