วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

ผบ.พล.ร.9 แจงไม่เคยพูดว่าจะดำเนินคดีหากวัฒนาไม่กินข้าว ขอสื่ออย่าบิดเบือน


22 เม.ย.2559 พล.ต.ธรรมนูญ วิถี  ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9(ผบ.พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าตนเองจะดำเนินคดีกับ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย หากไม่ยอมรับประทานอาหาร ว่า ไม่เคยพูดเช่นนั้น เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของสื่อ สิ่งที่ระบุหมายถึงหากนายวัฒนายังไม่ยอมให้ความร่วมมือในเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอร้องให้งดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีไว้กับคสช.ก่อนหน้านี้. จำเป็นต้องดำเนินคดีฐานขัดประกาศคสช.
“ทางเราจึงเห็นว่า นายวัฒนา คงไม่สามารถเข้าคอร์สหรือหลักสูตรอบรมผู้นำสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์ได้ จึงให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจเรื่องการดำเนินคดี ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา อย่าบิดเบือน” พล.ต.ธรรมนูญ กล่าว

ข้าหลวงใหญ่สิทธิฯ UN กังวลหนัก ทหารใช้อำนาจเข้มข้น-ปิดความเห็นค้านร่าง รธน.


ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ UN Human Rights - Asia

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติห่วงบทบาทของทหารที่เพิ่มขึ้นในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนของไทย และการลิดรอนสิทธิผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
22 เม.ย. 2559 UN Human Rights - Asia รายงานว่า ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ไซอิด รา’เอด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อบทบาทของทหารที่เพิ่มขึ้นในการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนของไทย รวมทั้งการลิดรอนสิทธิผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดในขณะที่ประเทศไทยเตรียมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไซอิด กล่าวว่า ผู้วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญหลายรายถูกจับกุมโดยพลการ ถูกควบคุมตัว และคุกคามนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยเมื่อวันจันทร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนา เมืองสุข ถูกควบคุมตัวโดยทหารหลังวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในโซเชียลมีเดีย ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อวานนี้ ต่อมาในวันอังคาร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 5 คนถูกนำไปควบคุมตัวยังสถานที่ควบคุมตัวของทหารหลังชุมนุมต่อต้านการลิดรอนสิทธิของรัฐบาลอย่างสันติ แต่ขณะนี้ทุกคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ไซอิดได้แสดงความกังวลโดยเฉพาะต่อการจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะยิ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐรายอื่นๆ แสดงความเห็นต่อเนื่องอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ในการออกเสียงประชามติได้จำกัดขอบเขตในการแสดงออกของกลุ่มคนหรือบุคคลเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว กฎหมายดังกล่าวซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยจึงอาจได้รับการตีความตามอำเภอใจและนำไปใช้กับผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
“การอภิปรายสาธารณะร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างและมีพลวัตจะบ่มเพาะความสมานสามัคคีระดับชาติ ทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับและมีความชอบธรรมมากขึ้น และส่งผลให้ผู้คนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญร่วมกัน” ไซอิดกล่าวและว่า “แทนที่จะขัดขวาง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการเสวนาและการมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนี่จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นฐานอันมั่นคงเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทย”
ทั้งนี้ แม้ว่าข้าหลวงใหญ่จะกล่าวว่า ยินดีที่เห็นว่าประชาชนได้รับอนุญาตให้แสดงความเห็น นอกจากนี้ บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบางประการยังถูกนำมารวมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ย้ำเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้พื้นที่แก่สาธารณชน สมาชิกพรรคการเมือง ประชาสังคม รวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน สื่อ และนักวิชาการในการแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวถูกคุกคาม ตอบโต้ หรือถูกจับกุม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ออกคำสั่งใหม่หลายฉบับเพื่อเพิ่มบทบาทของทหารในการกำหนดนโยบายและบังคับใช้กฎหมาย หลังจากประเทศประสบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและการประท้วงอย่างรุนแรงมาหลายปีแล้ว
“การเพิ่มอำนาจทหารไม่ใช่คำตอบในการสร้างภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ของไทย” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว “ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีสถาบันพลเรือนที่มีความสามารถ และดังนั้น จึงควรหาทางเพิ่มความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ทำให้กฎนิติรัฐและธรรมาภิบาลอ่อนแอลงแต่อย่างใด”
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลขที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารประจำการและอาสาสมัครทหารพรานดำเนินการกรณีมีการทำความผิดต่างๆ ภายใต้กฎหมายอย่างน้อย 27 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเคหสถาน ยึดทรัพย์ ระงับธุรกรรมทางการเงิน ห้ามไม่ให้ผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศ ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ การตรวจสอบโดยศาล หรือความความรับผิดแต่ประการใด แม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าอำนาจดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งใช้กับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ แต่ก็มีความกังวลว่าจะมีการใช้อำนาจนี้กับผู้คัดค้าน นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกฉบับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 เพิ่มอำนาจทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ยังส่งผลให้บทบาททหารในการกำหนดนโยบายและบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (institutionalized) กล่าวคือ มาตรา 265 และ 279 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คำสั่งของทหารที่ออกภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้รับการรับรองว่าชอบด้วยกฎหมายและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถออกคำสั่งนิติบัญญัติ คำสั่งบริหาร หรือคำสั่งตุลาการใดก็ได้ โดยในปีที่ผ่านมา มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ถึง 61 ฉบับภายใต้มาตรา 44
“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะระงับการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งแบบปูพรมไม่เลือกหน้าซึ่งเปิดทางให้ทหารมีอำนาจมากกว่าเดิม” ไซอิดกล่าว
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องซ้ำอีกครั้งให้โอนทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนประชาธิปไตย ตลอดจนปฎิบัติตามกฎบัตรอาเซียนและสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้
 

ผบ.ตร.สั่งศรีวราห์จับตาโซเซียล เล็ง 'จ่านิว' ทำผิดหลายครั้ง สงสัยท้าทาย


22 เม.ย. 2559 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้กำชับให้ตำรวจเข้ามาดูแลสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เพราะถูกใช้เป็นช่องทางในการปลุกระดม และสร้างความปั่นป่วนขัดแย้งในสังคม
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า เรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ดูแลเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ส่วนในเรื่องของกฎหมาย จะมีการขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเข้ามาดูแล ส่วนจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องโซเชียลและสังคมออนไลน์โดยเฉพาะหรือไม่นั้นยังไม่ขอเปิดเผย โดยเฉพาะกรณีของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ที่มีการกระทำความผิดในโซเชียลมีเดียหลายครั้ง ไม่รู้ว่ามีเจตนาในการท้าทายหรือไม่

ผบ.สส. บอกถ้ารักประเทศไทยก็ต้องไปลงประชามติ 7 สิงหา

พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2559 ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ และตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.สมหมาย กล่าวถึงการดูความสงบเรียบร้อยช่วงก่อนการลงประชามติ โดยบอกว่า ไม่เป็นห่วง เพราะผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการออกไปใช้สิทธิลงประชามตินั้น รัฐบาล คสช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งเหล่าทัพอยากเชิญชวนให้ประชาชนไปลงประชามติ เพราะถ้ารักประเทศไทยก็ต้องไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีการชี้นำ
 

ทักษิณบอกประยุทธ์ ไม่มีล็อบบี้ยิสต์ไหนทำลายคุณได้ เท่ากับคุณทำลายตัวเอง


22 เม.ย. 2559 จากกรณีที่วานนี้ (21 เม.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกมาระบุว่ากลุ่มพลเมืองโต้กลับและนักศึกษามีความเชื่อมโยงกันกับ ทักษิณ ชันวัตร อดีตนายกฯ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้ (22 เม.ย.59) เมื่อเวลา 19.14 น. ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Thaksin Shinawatra' ตอบโต้ว่า  ทุกวันนี้ตนเงียบมาตลอด ตั้งใจที่จะไม่ออกความคิดเห็นในเรื่องใดๆ และอยากให้ทุกฝ่ายตั้งใจแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่อยู่ดีๆ ตนกลับถูกพาดพิงอย่างรุนแรง จนต้องเสียความตั้งใจ เลยต้องขอพูดสักครั้ง 
โดย ทักษิณ ระบุว่า การแก้ปัญหาของประเทศ ภายใต้รัฐบาลทหารของไทยในขณะนี้ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็โทษคนอื่น โดยตนเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ไม่เคยทำอะไรผิด ตัวเองดีทุกอย่าง เช่นน้ำแล้งก็บอกว่า เป็นเพราะรัฐบาลก่อน ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ขายไม่ออกอย่างยางพารา ก็บอกให้ไปขายดาวอังคาร บริหารประเทศแบบนี้ใครๆ ก็เป็นได้ครับ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

รัฐบาลนี้ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ได้เข้ามาปกครองประเทศแล้วร่วม 2 ปี ได้ทำประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ให้ชาวโลกเขาได้เห็นบ้าง ภาพลักษณ์ที่เผยแพร่ออกไป มีแต่การใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิประชาชน และกฎหมายสากลอย่างไม่เคยเกิดในประเทศไทยมาก่อน เมื่อนานาอารยประเทศ และองค์กรสากลต่างๆ เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเขาก็ออกมาเตือน เป็นเรื่องปกติทั่วไป ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ผู้นำฯ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง

ทักษิณ ระบุต่อว่า เมื่อผู้นำของประเทศเราไม่สนใจคำเตือน ประเทศอื่นเขาย่อมใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นครับ ไม่ว่าจะเป็นการระงับการค้าการลงทุน มาตรการปิดกั้นและกีดกันต่างๆ รวมถึงการย้ายถิ่นฐานการผลิตไปยังประเทศที่ 3 กระบวนการเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และโมเมนตัมนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี แต่แทนที่ผู้นำเราจะยอมรับความผิด แก้ไขปัญหาเหล่านั้น และทำให้มันถูกต้องเสีย กลับออกมาโทษว่า เป็นเพราะตนไปจ้างล็อบบี้ยิสต์ เพื่อล็อบบี้ประเทศต่างๆ ให้แอนตี้ บอยคอตประเทศไทย ช่างคิดไปได้

"ผมไม่จำเป็นต้องไปจ้างใคร ให้เสียเงินเสียทอง เพื่อประจานนายกฯ ไทย ให้เสียภาพลักษณ์ประเทศหรอกครับ ประวัติศาสตร์มีให้เห็นอยู่เสมอว่า เผด็จการฯที่ลุแก่อำนาจ ด่ากราดคนที่พูดจาไม่ถูกใจ ดูถูกคนยากจนว่าโง่ ใช้อำนาจเกินขอบเขต และปกครองประเทศโดยไม่เห็นหัวประชาชนนั้น ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตัวเองทั้งนั้น" ทักษิณ ระบุ

ทักษิณ ระบุอีกว่า อยากจะเป็นผู้นำประเทศ ถ้าอารมณ์ของตัวเองยังควบคุมไม่ได้ ใช้อารมณ์ด่ากราดผู้คนเพื่อเอาชนะ ตะคอกใส่นักข่าวให้เขาสงบปากสงบคำ และเขียนข่าวให้ถูกใจตน ทำแบบนี้บอกเลย อย่าหวังว่าจะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศคล้อยตาม  พร้อมแนะนำด้วยว่า ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองแย่แค่ไหน ลองเอาเทปที่พูดทุกวันมาฟังย้อนหลังดู แล้วคุณจะรู้

"ไม่มีล็อบบี้ยิสต์ในโลกคนไหนที่จะมีความสามารถทำลายคุณได้ เท่ากับคุณทำลายตัวคุณเอง" ทักษิณ ระบุ พร้อมชี้ด้วยว่า เมื่อคุณมั่นใจว่าเป็นคนดี ก็จงก้มหน้าก้มตาเป็นคนชอบแก้ไขไปเถอะ อย่าทำตัวเหมือนที่ผ่านมาเล

FTA Watch ลั่นไม่รับร่างรธน.มีชัย เหตุทำหลักการเจรจาสัญญาระหว่างประเทศเสื่อมถอย


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน แถลงไม่รับร่างรธน.มีชัย เหตุเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการจนทำให้การเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเสื่อมถอย ทั้งกัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ทำลายตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างบริหาร-นิติฯ ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร จำกัดและลดความสำคัญของประชาธิปไตย
22 เม.ย. 2559 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยระบุว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 178 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่เสื่อมถอยไปจากมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างสิ้นเชิง จนกระทบต่อหลักการสำคัญ 4 ประการ เป็นการบ่อนเซาะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา เนื่องจาก กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล ทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร จำกัดและลดความสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้ : 
แถลงการณ์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามการเจรจาระหว่างประเทศและผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาการเจรจาการระหว่างให้มีความสมดุลและเป็นธรรมพบว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ “การเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 178 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่เสื่อมถอยไปจากมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างสิ้นเชิง
นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ประเทศไทยได้มีการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศจำนวนมาก และในท้ายที่สุดได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงระหว่างประเทศภายใต้การปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้เกิดความรอบคอบในการเจรจา เพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจา ทำให้เกิดผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติมากขึ้น และแม้ว่าจะได้มีความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หลายครั้งเพื่อเร่งรัด ลดขั้นตอนและเวลา แต่เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการเจรจามีต้นเหตุมาจากการไม่ได้จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 มิใช่เกิดจากตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 178 นั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดทอนและปรับเปลี่ยนเนื้อหาบทบัญญัติของมาตรา 190 เดิม จนกระทบต่อหลักการสำคัญ 4 ประการ เป็นการบ่อนเซาะทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา ดังนี้
1. กัดกร่อนหลักธรรมาภิบาล :  โดยการตัดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงสาระสำคัญของหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาตั้งแต่ในขั้นการจัดทำกรอบการเจรจา  ข้อบัญญัติที่เคยมีอยู่ดังกล่าว เป็นการสร้างความโปร่งใส สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และเป็นแนวทางป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหนังสือสัญญา
2. ทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ :  โดยตัดข้อบัญญัติที่ให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น ในมาตรา 178 วรรคสองยังได้เพิ่มข้อกำหนดตอนท้ายว่า ในขั้นการพิจารณาเข้าร่วมผูกพันในหนังสือสัญญา หากรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 60 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง
3. ลดอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหาร : การตัดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาออกไป เป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของฝ่ายบริหารในการเจรจา ขั้นตอนดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศต่างๆ ยึดถือปฏิบัติและอ้างอิงเพื่อสร้างและเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายบริหารในการเจรจา
4. จำกัดและลดความสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา : โดยการตัดทอนข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญในกระแสโลกาภิวัตน์  การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการจัดทำหนังสือที่ผ่านมาตามมาตรา 190 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทำให้การเจรจามีความรอบคอบ ช่วยตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนเป็นกลไกที่ช่วยทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีคุณภาพและมีผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาที่แท้จริง
นอกจากหลักการทั้ง 4 ประการข้างต้นจะถูกบ่อนเซาะทำลายแล้ว ข้อบัญญัติในมาตรา 178 วรรคสามยังได้กำหนดขอบเขตของประเภทหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางไว้อย่างจำกัด ทำให้ขอบเขตการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ และพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาสังคมถูกจำกัดและหดแคบลงไปอีก
ยิ่งกว่านั้น ข้อบัญญัติในมาตรา 178 วรรคสี่ ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายลูกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่กฎหมายที่จะมีสาระสำคัญเพื่อการกำหนดขั้นตอนและวิธีดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา มีความโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามหลักธรรมาภิบาลตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550  แต่กลายเป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับมาตราอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประกันสิทธิพื้นฐานของประชาชนโดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาและการคุ้มครองผู้บริโภค ยังพบว่า มีบทบัญญัติที่ล้าหลังอันเป็นการลดทอนสิทธิของประชาชน แต่มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจรัฐลดอำนาจประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการที่ไม่ดี ไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้
ด้วยเหตุผลและข้อวิเคราะห์ดังกล่าว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จึงขอประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ  และพร้อมที่จะจัดเวทีหรือเข้าร่วมเวทีถกแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ และความเห็นต่างอย่างรอบด้าน อันเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองอันชอบธรรมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 

สตช.สั่งห้ามนำเข้าหนังสือ 'The New Age of the Kings' ระบุหมิ่นกษัตริย์ฯ

 


22 เม.ย.2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่ 196/2559 เรื่อง ห้ามสั่งเข้าหรือนําเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร โดยระบุว่าสั่ง ณ วันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ลงนามโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คำสั่งระบุว่า ด้วยปรากฏว่าบทความเรื่อง Thailand : Colossally Popular จากหนังสือ The New Age of the Kings : Modern Monarchies In Malaysia and the World ของสํานักพิมพ์ Partisan Puplication ตีพิมพ์บทความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคง แห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อาศัยอํานาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จึงห้ามสั่งเข้า หรือนําเข้าบทความเรื่อง Thailand : Colossally Popular จากหนังสือ The New Age of the Kings : Modern Monarchies In Malaysia and the World ของสํานักพิมพ์ Partisan Puplication เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร รวมทั้งให้ริบหรือทําลายซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มมีการเผยแพร่คำสั่ง สตช. ห้ามนำเข้านิตยสาร Marie Claire ฉบับภาษาฝรั่งเศส เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ของฝรั่งเศส เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ด้วยเช่นกัน

มาแล้ว พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ร่าง รธน. ห้ามก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม


ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ห้ามรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม เพื่อให้คนอื่นไปโหวตอย่างใดอย่างหนึ่ง ป่วน-ซื้อเสียงมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ห้ามจัดยานพาหนะนําไปโหวต แต่ 'ไม่มี' ผลบังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออํานวยความสะดวก แก่ผู้มีสิทธิออกเสียง
22 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
โดยมี หมายเหตุ ระบุถึง เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557(ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 มาตรา 39/1 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ การเลือกตั้งในการดําเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และกําหนดเวลาในการจัดให้มี การออกเสียงประชามติ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และคําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ การนับคะแนน บัตรเสีย และการประกาศ ผลการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับมาตราที่น่าสนใจเช่น มาตรา 61  ระบุว่า ผู้ใดกระทําการดังต่อไปนี้ (1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (2) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง (3) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สําคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการ ลงคะแนนออกเสียง (4) เปิด ทําลาย ทําให้เสียหาย ทําให้เปลี่ยนสภาพ ทําให้สูญหาย ทําให้ไร้ประโยชน์ นําไป หรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง เว้นแต่เป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ โดยชอบด้วยกฎหมาย (5) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง (6) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอยางใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง (7) ขาย จําหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง
ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ผู้ใดกระทําการตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับ ไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้ ในกรณีการกระทําความผิดตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) เป็นการกระทําความผิดของ คณะบุคคลตั้งแต่ห 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี
ผู้ใดกระทําการตาม (7) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทําการตาม (6) เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้แจ้งถึงการกระทําดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ การเลือกตั้งมอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
มาตรา 62 ผู้ใดจัดยานพาหนะนําผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียงเพื่อการออกเสียง หรือนํากลับไปจากที่ออกเสียงโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือจัดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียง หรือกลับจากที่ออกเสียง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิ ออกเสียงไปลงคะแนนหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกําหนดห้าปี บทบัญญัติในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออํานวยความสะดวก แก่ผู้มีสิทธิออกเสียง
มาตรา 63 ผู้ใดเผยแพร่ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียง ในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

พล.อ.ประยุทธ์ขออีก 5 ปีแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น-หลังจากนั้นใครจะทำอะไรก็ทำไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมชมและมีส่วนร่วมในการละเล่นกระอั้วแทงควาย ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 19 เม.ย. 2559 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ทำเนียบรัฐบาล)

พล.อ.ประยุทธ์ ออกรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” บอกว่าอยู่มาจนถึงวันนี้เพราะอยากสร้างประชาธิปไตยใหม่ขึ้นมาให้เป็นสากล ไม่คิดฝืน ทำตามโรดแมปตลอด ใครจะกดดันก็จะอยู่อย่างนี้เพราะทำเพื่อคนไทยทุกคน หากมีเลือกตั้งจะไม่ไปยุ่ง แต่ขอให้สุจริต อาจเข้มงวดบ้าง แต่ขอแค่ 5 ปี แล้วจะทำอะไรก็ทำไป ลั่น 5 ปีแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นถ้าทุกคนร่วมมือ
23 เม.ย. 2559 ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ เฉพาะกิจ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2559 เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถาม ร.ต.หญิง ปริยา เนตรวิเชียร โดยตอนหนึ่ง ร.ต.หญิง ปริยา พิธีกรถามว่า “ท่านนายกฯ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลา และแน่นอนว่าต้องอาศัยความเข้าใจด้วย คือการเลือกตั้งค่ะ เราก็มีความหวังว่าจะเกิดการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ หลาย ๆ คนก็มักจะพูดว่า “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง” ประเทศไทยพร้อมหรือไม่ที่จะเป็น“ประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง หรือไม่ คะ ท่านนายกคะ”
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ถ้าถามผม ผมก็อยากให้เกิด ไม่มีใครไม่อยากให้เกิด ผมคิดว่าเราฝืนประชาธิปไตยโลกไม่ได้ แล้วทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผมเข้ามาตรงนี้เพราะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วถ้าเราไม่เข้ามาทำ จะเกิดอะไรขึ้น แล้วอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก ทุกคนต้องกลับมาย้อนดูตรงนี้ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่ามองกันเรื่องอำนาจ
เรื่องผลประโยชน์อะไรกับผมอย่างนั้น ไม่ได้ ถ้าไม่เดือดร้อนผมไม่เข้ามาให้เสียไปหรอก ผมทำในสิ่งที่ดีกว่า ผิดหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างประชาธิปไตยใหม่ขึ้นมาให้เป็นสากล ทุกคนมองว่าต้องเลือกตั้ง แล้วถึงจะเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แล้วผมถามที่ผ่านมาประชาธิปไตยไหม ที่บ้านเมืองวุ่นวายมีปัญหามาทั้งหมด ผมต้องเข้ามาแก้นี่ รัฐบาลอะไรทำไว้ แล้วผมมาทำแก้หรือเปล่า นี่ดูตรงนี้ แล้วมาบอกแก้ให้เสร็จ แก้เร็ว ๆ แก้แล้วไป แก้แล้วเลือกตั้งใหม่ ผมถามว่า ผมก็ยินยอมอยู่แล้ว ผมไม่ได้ฝืนเลย จะเลือกตาม Road Map ของผม ถ้าผมเห็นแก่ตัวเองหรือ เห็นแก่อำนาจหรือ ผมก็ไม่ให้ ผมก็อยู่ของผมไปอย่างนี้ ใครจะกดดันผมก็อยู่อย่างนี้ เพราะผมทำเพื่อประเทศผม เพื่อนไทยทุกคน วันนี้ก็เร่งให้ผมทำให้เสร็จเร็ว ๆ ไปซะที วันนี้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็จริง วันนี้มีการต่อต้าน มีความขัดแย้งกันมากอยู่ พร้อมจะกลับมาที่เดิมทุกอย่าง ผมถึงบอกว่า อย่ามองการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ผมไปขัดแย้งการเลือกตั้ง เลือกได้ก็เลือก ผมให้แล้ว ไม่มีการทำประชามติ ก็ทำไม่ได้ พอไม่ได้ขึ้นมาให้ผมลาออก ผมให้ทุกอย่างแล้ว แต่ท่านไม่ให้ผมเลย อย่างนี้ไม่ได้ เพราะผมเข้ามาทำขนาดนี้แล้ว
เพราะฉะนั้นให้คิดว่าเนื้อแท้ประชาธิปไตยมีอะไรบ้าง 1) ต้องมีการเคารพเหตุผลคนอื่นเขาบ้าง มากกว่าบุคคล อันที่ 2) คือต้องรู้จักการประนีประนอมเคารพกฎหมาย การมีระเบียบวินัยสังคม ความรับผิดชอบต้องมี
จะเป็นเลือกตั้ง ประชาธิปไตย เป็นการเมืองว่าไป ผมไม่ไปยุ่ง แต่ขอให้เป็นการเมืองที่สุจริต มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ขอแค่นี้ให้ผมได้ไหม ถ้าให้ผมได้ ให้รู้ว่าผมให้อะไรไปแล้ว ให้ทำประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ อาจจะมีเข้มงวดบ้าง ในระยะ 5 ปี ยังให้ไม่ได้เลย แล้วอย่างนี้จะไปยังไง ต้องการอะไร ต้องการให้ดีขึ้น ถ้าเหมือนเดิม ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีบทเข้มงวด กลับที่เก่า ก็ขอแค่ 5 ปี แค่นี้ แล้วท่านจะทำอะไรขอท่านไป ผมคิดว่า 5 ปีนี่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมาก ถ้าทุกคนร่วมมือ แล้วผมก็หวังให้มีการเลือกตั้ง มีการทำประชามติ ต่าง ๆ ไม่ได้บังคับใคร ใช้ความคิด คิด มีเหตุมีผล ด้วยหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง แล้วจะหาเจอว่าที่ผมทำมาคืออะไร ไม่ใช่มามองว่าผมมายังไง แล้วผมควรจะไปได้แล้ว แล้วผมทำอะไรทุกวันอยู่ ผมแก้ปัญหาให้เขาทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ปัญหาของผม ผมไม่ได้ทำไว้ เพื่อเขาในวันหน้า เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตนั่นคือสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ