"วิษณุ" ยืนยันแจกเงินชาวนาไร่ละพันไม่ใช่ประชานิยม เพราะไม่ได้นำไปสู่การได้มาซึ่งคะแนนเสียง "ประยุทธ์" นั่งประธานประชุมบอร์ดบีโอไอ อนุมัติ 18 โครงการใหญ่ เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ไฟเขียวอีโคคาร์ 2 อีก 5 ราย
3 ต.ค. 2557 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ ถึงเสียงวิจารณ์นโยบายรัฐบาล ที่จะจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ว่าเป็นประชานิยม ว่า เรื่องดังกล่าวมีการนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้มีการถกเถียงกันว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าประชานิยมหรือไม่ และจะนำไปสู่สิ่งต้องห้ามขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ เพราะบางอย่างการให้เงินอุดหนุนไม่สามารถทำได้
“มีการถกเถียงกันยาว และเห็นว่าไม่ใช่ประชานิยม เพราะไม่ได้นำไปสู่การได้คะแนนเสียงกลับมา แต่เป็นการช่วยประชาชน และไม่ได้ขัดกับข้อกำหนด WTO และไม่ได้ขัดต่อพันธะระหว่างประเทศ จึงคิดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะเดินไปได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ประชานิยมหรือไม่ประชานิยม ไม่ได้เป็นกฎหมาย หรือ กำหนดในรัฐธรรมนูญ ว่าทำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลแถลงในนโยบายว่า จะไม่พยายามให้เกิดประชานิยม และในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ก็กำหนดไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเขียนขึ้นมา ห้ามมีเรื่องประชานิยม ที่จะนำไปสู่การหาคะแนนเสียง โดยการใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อหวังผลทางการเมือง
"ในการเขียนรัฐธรรมนูญต่อไปนี้ จะต้องสร้างเกราะป้องกัน ไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในโครงการ ในทางที่ผูกพันให้เกิดหนี้ยาวนานกับประชาชน เพื่อแลกกับคะแนนนิยม ดังนั้น ถ้าเราแปลว่า ประชานิยมคือสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่พึงปรารถนา ถ้าพ้นจากนี้ก็ทำได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ช่วยประชาชน ซึ่งต้องใช้งบประมาณอยู่แล้ว จะถือว่าเป็นประชานิยมทั้งหมดไม่ได้ เพราะประชานิยมที่ดีก็มี" นายวิษณุ กล่าว
'ประยุทธ์' นั่งประธานประชุมบอร์ดบีโอไอ อนุมัติ 18 โครงการใหญ่ เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ไฟเขียวอีโคคาร์ 2 อีก 5 ราย
วันนี้ (3 ต.ค.57) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2557 โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอวันนี้ได้อนุมัติ 18 โครงการใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมเป็นโครงการอีโคร์คาร์หลายโครงการ เพราะขณะนี้บริษัทต่างชาติได้ทำโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ที่ประเทศไทย ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกอีโคคาร์ และจะเป็นศูนย์กลางอีโคคาร์แห่งหนึ่งของโลก พร้อมกันนี้ มีโครงการพลังงานทดแทนต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ที่ได้รับอนุมัติโครงการ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต่อจากนี้ไปในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของประเทศจะเน้นเจาะในจุดที่ต้องการให้มากขึ้น จะการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประเภท Non TAX ให้มากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนและคณะทำงานไปวางแผนให้ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนรูปโฉมการส่งเสริมการลงทุนเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมใดที่ต้องการเจาะลึก ให้ทำให้ดีให้ได้ โดยให้ระบุชัดเจน และจะลดการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไปให้น้อยลง เพราะขณะนี้แรงงานมีจำกัด ฉะนั้นจึงต้องดึงในส่วนที่ต้องการจริง ๆ เพื่อให้ไทยเป็นผู้เล่นที่สำคัญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในโลกให้ได้ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูเรื่องผลประโยชน์สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการความชัดเจนเรื่อง Non TAX มาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำงานและการเติบโตของเอสเอ็มอี พร้อมกับให้เตรียมการเรื่องการส่งเสริมการลงทุนภาค Digital Economy ด้วย นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า จะมีการส่งเสริมการลงทุนให้คนไทยขยายฐานการผลิตไปที่ต่างประเทศ เพราะขณะนี้ถึงจุดที่ประเทศไทยจะต้องขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยจะได้นำแผนทั้งหมดมาเสนอนายกรัฐมนตรีและบอร์ดบีโอไอภายใน 1 เดือน
ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอในครั้งนี้ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 18 โครงการ และแก้ไขโครงการอีก 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 89,713.4 ล้านบาท จึงทำให้ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วรวมครั้งนี้ด้วย จำนวนทั้งสิ้น 603 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 458,595 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- 1. บริษัท เต๋อหลง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน กำลังผลิตปีละประมาณ 600,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,440.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง
- 2. Mr.CHANG,HSIEN-MING ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ กำลังผลิตปีละประมาณ 80,000 ตัน และชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม ปีละประมาณ 4,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,450 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี
- 3. บริษัท ไทย อาซาฮี คาเซอิ สแปนเด็กซ์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตเส้นด้ายสแปนเด็กซ์ กำลังผลิตปีละประมาณ 3,700 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตอุตสาหกรรมของบริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี
- 4. บริษัทเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานพาหนะ เช่น กันชนรถยนต์ เป็นต้น กำลังผลิตปีละประมาณ 1,191,670 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,089.4 ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
- 5. บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังผลิตปีละประมาณ 180,000 คัน และเครื่องยนต์ กำลังผลิตปีละประมาณ 2,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,180 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด จังหวัด ระยอง
- 6. บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังผลิตปีละประมาณ 158,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,109 ล้านบาท ตั้งอยุ่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง
- 7. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย ) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) และชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 123,000 คัน และชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังการผลิตปีละประมาณ 2,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,860 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
- 8. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (ECO-CAR 2) กำลังการผลิตปีละประมาณ 233,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
- 9. บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิตเอทธิลีนออกไซด์บริสุทธิ์ กำลังการผลิตปีละประมาณ 60,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,826 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง
- 10. บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 52.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,690 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
- 11. บริษัท อาร์อีเอส นครศรีธรรมราช จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย กำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 970 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
- 12. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,165.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
- 13. บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 300 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,306.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
- 14. บริษัท อุทัยธานี ไปโอ เอเนอยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล 35 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,050 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี
- 15. บริษัท ซีเอชพี 1 จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 125.8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 16 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,983 ล้านบาท ตั้งที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี
- 16. บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 42 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,350 ล้านบาท ตั้งที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี
- 17. บริษัท เค.อาร์.วัน จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,203.2 ล้านบาท ตั้งที่อำเภอด่านขุนทด และอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา
- 18. บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และ ไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 117.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น5,340 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกันนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอีก 2 ราย ขอแก้ไขโครงการเพื่อลงทุนเพิ่ม คือ
- 19. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) โดยลงทุนประมาณ 7,700 ล้านบาท และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มจาก 180,000 คัน เป็น 220,000 คัน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ทั้งรุ่นที่ 1 และ 2 สำหรับความต้องการตลาดต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
- 20. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 โดยจะลงทุนเพิ่ม 1,900 ล้านบาท และจะมีกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิม 100,000 คัน เป็น 160,000 คัน (ECO-CAR เดิมและ ECO-CAR รุ่นที่ 2) โดยเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการสำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ