วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เฟซบุ๊กยอมรับมีกรณีถูกใช้เป็นเครื่องมือ 'ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร' (IO)


แม้เฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เองก็นำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นเครื่องมือในการยุยง ปลุกปั่น ชักจูงประชาชนด้วยวิธีที่เรียกว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" (information operations หรือ IO) ซึ่งทางเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่ามีรัฐที่ใช้เฟซบุ๊กทำเช่นนั้นอยู่จริง
ทีมงานด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กเปิดเผยในเอกสารอธิบายรายละเอียดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมาว่ามีรัฐหรือกลุ่มองค์กรอื่นๆ ใช้เทคนิควิธีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชวนให้ไขว้เขวและกระทั่งข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายของตัวเองอยู่จริง อย่างการพยายามชักจูงประชาชน กรณีนี้เคยมีการนำมาใช้แล้วในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส
วิธีการชักจูงประชาชนไม่ได้มีแต่การใช้ "ข่าวปลอม" เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้กลวิธีทำให้เนื้อหาของพวกเขาปรากฏได้ง่าย การเก็บข้อมูลของเป้าหมาย ทั้งยังมีการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อปั่นกระแสแนวคิดในทางเดียวหรือชวนให้ไขว้เขวด้วย
ในรายงานของเฟซบุ๊กยังเปิดเผยหนึ่งในวิธีการหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ด้วยการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมแล้วไปหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว สอดแนมเป้าหมาย หรือแฮ็กเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการยุยงส่งเสริมเนื้อหาที่ผิดๆ ผ่านการรุมกดไลค์หรือสร้างกลุ่มในเชิงโฆษณาชวนเชื่อขึ้น
เจน วีดอน และวิลเลียม นูแลนด์ จากทีมป้องกันภัยทางข้อมูลข่าวสารของเฟซบุ๊กรวมถึงอเล็ก สตาร์มอส หัวหน้าหน่วยความปลอดภัยของเฟซบุ๊กระบุในรายงานว่า ภารกิจของเฟซบุ๊กคือการให้ผู้คนมีอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีคนบางกลุ่มที่ไม่มีวิสัยทัศน์เช่นนั้นและยังพยายามทำลายวิสัยทัศน์แบบพวกเขาด้วย แต่ทางเฟซบุ๊กก็พยายามสร้างระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์และปลอดภัยเหมาะแก่การแลกเปลี่ยนของประชาชนทั่วไป
ในรายงานเปิดเผยด้วยว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" ที่เน้นบิดเบือนความเชื่อของผู้คนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลต่างๆ นำมาใช้เพื่อกำจัดคู่แข่ง หรือทำลายการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งข่าวปลอมและการใช้บัญชีปลอมในการจงใจส่งต่อกระจายเนื้อหาที่บิดเบือน (False Amplifiers) รวมถึงการใช้ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีทำลายกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม
ขณะที่การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการกระทำของโปรแกรมอัตโนมัติที่เรียกว่า "บ็อต" (Bot) แต่เฟซบุ๊กรายงานว่าการกระทำเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากโปรแกรมอัตโนมัติ
เฟซบุ๊กระบุว่าพวกเขาต้องขยายขอบเขตความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่เน้นการป้องกันการแฮ็กบัญชี มัลแวร์ สแปม การหลอกลวงทางการเงิน พวกเขาต้องขยายขอบเขตไปป้องกันการพยายามชักจูงชี้นำประชาชนรวมถึงความพยายามหลอกลวงประชาชนด้วย
ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยพยายามจัดการกับการใช้ชักจูงหรือหลอกลวงเช่นนี้มาแล้วโดยการสั่งระงับบัญชีที่น่าสงสัย 30,000 บัญชีในฝรั่งเศสก่อนช่วงที่จะมีการเลือกตั้งโดยดูจากพฤติกรรมการใช้งานและจำนวนผู้รับชม นอกจากนี้ในรายงานของเฟซบุ๊กยังระบุอีกว่าพวกเขาตรวจสอบพบหลายสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่เข้าข่าย "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" โดยการแชร์ข้อมูลที่ขโมยมาเพื่อจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการใช้บัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อชี้นำแนวทางความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามถึงแม้การกระทำเช่นนี้จะมีอยู่จริงในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2559 แต่เฟซบุ๊กก็ระบุว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" เช่นนี้มีอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้นเมื่อนับในเชิงสถิติเทียบกับกิจกรรมทางการเมืองโดยรวม
เฟซบุ๊กให้คำมั่นว่าจะพยายามสอดส่องดูแลไม่ให้มีการใช้พื้นที่ของพวกเขากระทำเรื่องแบบนี้โดยการหาวิธีบ่งชี้บัญชีผู้ใช้ปลอม ให้ความรู้กับผู้คนถึงวิธีการทำให้ข้อมูลของพวกเขาปลอดภัย ร่วมมือกับกลุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริง และส่งเสริมโครงการของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่า "ในสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่ในเวลาที่มีสถานการณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในการแสดงออกในชีวิตประจำวันด้วย"


เรียบเรียงจาก
Facebook admits: governments exploited us to spread propaganda, The Guardian, 27-04-2017
https://www.theguardian.com/technology/2017/apr/27/facebook-report-government-propaganda
Facebook says it will crack down on government-led misinformation campaigns, The Verge, 27-04-2017
http://www.theverge.com/2017/4/27/15453368/facebook-fake-news-information-operations-political-propaganda
Facebook announces plan to fight misinformation campaigns, Tech Crunch, 27-04-2017
https://techcrunch.com/2017/04/27/facebook-announces-plan-to-fight-misinformation-campaigns/
รายงานฉบับเต็ม Information Operations and Facebook (version 1.0, 27-04-2017) โดย By Jen Weedon, William Nuland and Alex Stamos
https://fbnewsroomus.files.wordpress.com/2017/04/facebook-and-information-operations-v1.pdf

เสธ.กองทัพเรือชี้แจงซื้อเรือดำน้ำ S-26T คิดดีแล้วอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล


Mon, 2017-05-01 15:44
กองทัพเรือเปิดฐานทัพเรือสัตหีบตั้งโต๊ะแถลงข่าวซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน โฆษกกองทัพเรือยืนยันเดินหน้าจัดซื้อตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ระบุเรือดำน้ำปัจจุบันต้องมีภารกิจหลากหลาย ทั้งกองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ โจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำและเป้าหมายบนฝั่ง โดยใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้ปฏิบัติการลับ ใช้ยกพลขึ้นบก ต่อต้านการก่อการร้าย โดยเรือดำน้ำ S-26T มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจนี้
แถลงข่าวชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อ 1 พ.ค. 2560 ที่มาของภาพ: โต๊ะข่าวการเมือง/ไทยพีบีเอส Live
1 พ.ค. 2560 เวลา 15.00 น. วันนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) จะนำคณะชี้แจงทุกขั้นตอนและรายละเอียดในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ให้สื่อมวลชนสามารถซักถามในข้อสงสัยต่างๆ
สำหรับรายชื่อผู้ที่ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน ประกอบด้วย 1.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2.พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล 3.พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 4.พล.ร.ต.วิสาร ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยผู้ใช้งาน และ 5.พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ
ทั้งนี้ พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 เมษายน 2560
ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) ชี้แจงว่าขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงสามารถเล่าให้ฟังในบางประเด็นได้ กองทัพเรือไม่ได้เสนอเรือดำน้ำแค่ในยุคนี้ เสนอกองบังคับการเรือดำน้ำมาทุกยุคทุกสมัยมาเป็นศตวรรษ ไม่ได้มีวาระแอบแฝง แต่พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล คำนึงยุทธศาสตร์กองทัพเรือ มีกระบวนการจัดหาแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้จัดหาเรือดำน้ำไม่ได้เบียดบังกระทรวง ทบวงกรมอื่น ฝากไปถึงเพื่อนๆ ทหารเหล่าอื่น ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อซื้อเรือดำน้ำจะทำให้ไม่มีงบประมาณจัดหาอากาศยานในภายภาคหน้า หรือไม่มีการซ่อมบำรุงรักษารถรบ เรือรบ เครื่องบิน เรื่องนี้จะมีการแถลงเพื่อให้สบายใจ
ในอดีตในการซื้อเรือดำน้ำ จะเน้นใช้ในลักษณะเรือโจมตีเรือผิวน้ำ ด้วยตอร์ปิโด แต่ในยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถปัจจุบัน เรือดำน้ำจึงมีภารกิจหลากหลาย เช่น กองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ การโจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำ และเป้าหมายบนฝั่ง ใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้งานร่วมกับหน่วยอื่น ใช้ปฏิบัติการลับยกพลขึ้นบกได้ นอกจากนี้จะมีการใช้ในภารกิจพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย
โดยเรือดำน้ำต้องมีขีดความสามารถ มีคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ และเรือดำน้าดีเซลรุ่น S26T จากจีน มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะพึงพอใจหรือไม่ ผู้ใช้ก็คือผู้บัญชการกองเรือดำน้ำจะมาตอบโจทย์นี้
ทั้งนี้กองทัพเรือแถลงด้วยว่า กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมากว่า 60 ปีแล้ว และการมีเรือดำน้ำจะป้องกันการถูกปิดอ่าวไทยที่มีลักษณะเป็นก้นถุง โดยเรือดำน้ำถือเป็นเส้นเลือดสำคัญในการขนส่งสินค้าและเชื้อเพลิง หากมีการใช้กำลังน้อยนิดก็ปิดอ่าวไทยได้ ที่ว่าอ่าวไทยตื้นนั้น ก็เคยมีเรือดำน้ำต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวงสมุยซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำมันก็ถูกเรือดำน้ำของสัมพันธมิตรโจมตี ยืนยันว่ากองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำรอบใหม่มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2538 ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
แฟ้มภาพอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำแห่งใหม่ และการเตรียมการจัดพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยในเวลานั้นมี พล.ร.ท.ภาณุ บุณยะวิโรจ เป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองเรือยุทธการ (ที่มา: เพจกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ)
เรือหลวงสินสมุทรและลูกเรือ เป็น 1 ใน 4 เรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ประจำการระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2494 (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)
อนึ่งกองทัพเรือมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเรือดำน้ำ โดยกองทัพเรือได้อนุมัติแผนการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ บริเวณท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ และจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ พร้อมอาคารฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ จากบริษัท Rheinmetall Defence Electronics (GmbH) และมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2557
โดยขณะนี้กองทัพเรือไทยอยู่ระหว่างจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ โดยรายงานในวารสารด้านความมั่นคง Janes ในเดือนตุลาคม 2556 ระบุว่ากองทัพไทยต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังดีเซล 1 ลำ ภายในปี พ.ศ. 2567
ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีเรือดำน้ำในประจำการแล้ว โดยอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นเรือดำน้ำ Type 209 จากเยอรมนี 2 ลำ และขณะนี้อยู่ระหว่างต่อเรือที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ สิงคโปร์เริ่มมีเรือดำน้ำประจำการใน พ.ศ. 2538 ปัจจุบันมีเรือดำน้ำ 6 ลำ ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำจากสวีเดน แบ่งเป็นเรือดำน้ำ Sjoormen class 4 ลำ และเรือดำน้ำ Vastergotland-class 2 ลำ ส่วนเวียดนามมีเรือดำน้ำชั้น Kilo-class ของรัสเซีย 6 ลำ
ส่วนมาเลเซียมีเรือดำน้ำ The Scorpene class จากฝรั่งเศส 2 ลำ ประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ที่ฐานทัพเรือในรัฐซาบาห์ ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ขณะที่ฟิลิปปินส์ และพม่า มีแผนที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำมาประจำการเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ รัฐสภาไทยอนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้งบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ทั้งนี้มีการตั้งงบจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ รวมวงเงิน 6.9 ล้านบาท ต่อมาในการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 บริษัทมิตซูบิชิจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ราคาลำละ 8.2 แสนบาท
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า เรือดำน้ำ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงสินสมุทร เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ และเรือหลวงพลายชุมพล เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็ก ระวางขับน้ำต่ำกว่า 500 ตัน ประกอบขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการส่งมอบในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 และเข้าปะจำการที่ไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ต่อมามีการปลดประจำการพร้อมกันทั้ง 4 ลำเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ และประเทศญี่ปุ่นถูกห้ามผลิตอาวุธหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และภายหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ

สปท.มติ 141 เสียง เห็นชอบกฎหมายคุมสื่อ นิยามคลุมสื่อออนไลน์-เพจดัง



Mon, 2017-05-01 18:04
กมธ. ตัดบทลงโทษสื่อฯ ไม่มี 'ใบประกอบวิชาชีพ' โดยเปลี่ยนเป็น 'ใบรับรอง' ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นิยามคลุมสื่อออนไลน์ แฟนเพจ อภิปราย 'หนุน-ค้าน' กษิต คำนูณ นิกร  ชี้อาจขัด รธน. ด้าน หมอพรทิพย์หนุนคุมสื่อ พล.ท.ธวัชชัย แรง อัดสื่อเสนอข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ น่าเอายิงเป้าให้หมด
1 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้ (1 พ.ค.60) เริ่มขึ้น เวลา 9.30 น. มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน จำนวน 2 เรื่อง คือ รายงานการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ที่เสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม สมาชิกหลายคนแสดงความเห็น โดยประธานสปท.แสดงความเห็นส่วนตัวว่า สื่อควรมีใบรับรองจากสภาวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองได้
โดยหลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 17 
สำหรับการพิจารณานั้นเริ่มจาก พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กมธ.รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และเมื่อเช้าวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้นัดประชุมกมธ.นัดพิเศษ เพื่อฟังข้อคัดค้านจากสื่อมวลชน กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมติเสียงข้างมากว่า จะขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชนและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92 อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน แต่ได้ปรับลดโควตาตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน และเพิ่มโควตาให้มีคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อเพิ่มเป็น 7 คน

ตัดบทลงโทษสื่อฯ ไม่มี 'ใบประกอบวิชาชีพ' นิยามคลุมสื่อออนไลน์ แฟนเพจ

ขณะที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการฯชี้แจงว่า กมธ.ยอมแก้ไขตัดมาตรา 91 และ 92 เรื่องบทลงโทษสื่อมวลชนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทิ้งไปตามข้อห่วงใยของสื่อมวลชน โดยจะเปลี่ยนจากใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นใบรับรองที่จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้ ส่วนคำนิยาม “สื่อมวลชน” ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆ คนด้วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทั้งนักข่าว และบรรณาธิการ แต่ไม่มีสังกัด แม้จะอ้างว่า ไม่มีรายได้เป็นค่าตอบแทนโดยตรงจากงานที่ทำ แต่มีรายได้ทางอ้อมเกิดขึ้นจากรายได้โฆษณาออนไลน์ เพราะมีผู้ติดตามจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องบัญญัติให้กลุ่มเหล่านี้เป็นสื่อด้วย ยืนยันกมธ.ไม่มีเจตนาควบคุม แทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ต้องการให้การติดต่อสื่อสารอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

13 กก. สภาวิชาชีพ

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ชี้แจงความจำเป็นในการมีคณะกรรมการวิชาชีพและกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ที่จะเข้ามากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีสื่อที่เข้ามาแฝงการทำงานมากมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายในวงกว้าง พร้อมยืนยันคำนิยามสื่อมวลชนว่าจะครอบคลุมผู้ที่ทำเว็บเพจต่างๆ ที่ทำธุรกิจเพื่อรายได้ด้วย ทั้งนี้ จะไม่ถอยการพิจารณาร่างกฎหมายนี้อีกแล้ว เพราะถอยมาแล้วถึง 3 ครั้ง
 
“สำหรับสัดส่วน คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนผู้บริโภค กรรมสิทธิ์มนุษยชน กรรมการอื่นๆอีก 4 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 คน รวม 15 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี แต่ช่วงจัดตั้ง 2 ปีแรก กำหนดไว้ 13 คน โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ออกกฎ มาตรฐานกลาง รับเรื่องร้องเรียน” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

อภิปราย 'หนุน-ค้าน' กษิตชี้อาจขัด รธน.

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.สื่อได้รุมคัดค้านใน 2-3 ประเด็น 1.เรื่องการให้จดทะเบียนสื่อมวลชนกับสภาวิชาชีพ 2.กรณีสภาวิชาชีพจะมีสัดส่วนตัวแทนรัฐ 2 คน มีช่องโหว่อันตรายให้รัฐแทรกแซงสื่อได้ โดยเสนอให้สื่อควบคุมกำกับดูแลกันเอง เพราะที่ผ่านมาดูแลกันเองได้ หลายกรณีได้ลงโทษสื่อมวลชนที่ขัดจริยธรรมด้วย ห้ามมีเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐมายุ่งเกี่ยว และ 3.ท้วงติงความไม่ชัดเจนในนิยามกฎหมายที่อาจครอบคลุมเกินเลยไปถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่สื่อ อย่าง กษิต ภิรมย์ สปท.ได้ลุกขึ้นอภิปรายถามว่า “ผมเป็นนักการเมือง หากเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ถือว่า เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตาและต้องมีใบอนุญาติสื่อมวลชนหรือไม่” อีกทั้งยังมีสปท.อภิปรายโดยมองว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ 26- 34 -35 และมาตรา 77 จนถึงขั้นมีคนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะที่ สปท.ที่ลุกขึ้นอภิปราบไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า สื่อขาดจรรยาบรรณควบคุมกันเองไม่ได้ สื่อบางสำนักสร้างความแตกแยก บิดเบือน เสนอข่าวโจมตีรัฐบาลกระทบต่อความมั่นคง ควรมีหน่วยงานกำกับดูแล และ เห็นด้วยให้มีสัดส่วนของรัฐเข้าไปในคณะกรรมการใดๆที่ตั้งขึ้นมาดูแลจริยธรรมสื่อ

คำนูณชี้สัดส่วน จนท.รัฐใน สภาวิชาชีพ อาจขัด ม.35 ในรธน.

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และบังคับใช้จริยธรรมวิชาชีพได้อย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง แบบมีสภาพกฎหมายบังคับ แต่ไม่เห็นด้วย 3 ประเด็น คือ การมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าร่วมในสภาวิชาชีพ การบัญญัติความบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือใบรับรอง โดยสภาวิชาชีพที่มีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในสภาวิชาชีพ และไม่เห็นด้วยกับการนิยามสื่อมวลชนในร่างกฎหมายกว้างเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่นอกวิชาชีพสื่อ และขอให้กลับไปใช้ร่างที่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นต้นร่างพิจารณากฎหมายสื่อ 
คำนูณ กล่าวว่า การกำหนดให้มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อ อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 35 เพราะถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดพิเศษติดตามการแก้ไขรายงานของกรรมาธิการ และเสนอให้แยกการลงมติ เช่นเห็นด้วยหรือไม่ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

นิกร ชี้คุมสื่อมากกว่าคุ้มครอง  

นิกร จำนง สมาชิก สปท. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการควบคุมสื่อมากกว่าคุ้มครองสื่อ และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทั้งเชื่อว่าจะมีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพราะอาจขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นระบบตามมาตรา 77

หมอพรทิพย์หนุนคุมสื่อ

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กล่าวสนับสนุนให้มีกฎหมายควบคุมสื่อและเร่งปฏิรูปสื่อ เพราะเล็งเห็นความจำเป็นในการควบคุมสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นระหว่างวิชาชีพแพทย์กับสื่อว่าไม่เหมือนกันเพราะแพทย์มีหน้าที่รักษาพยาบาล ต้องมีการควบคุมการทำงานหากเกิดความผิดพลาด แต่สื่อบทลงโทษและจริยธรรมเป็นเรื่องยาก กรณีที่สื่อทำความเสียหายต่อสังคม
“ทุกวันนี้สื่อเอาคลิปมาตัดต่อ ด่าสิ่งในคลิปที่นำเสนอ ซึ่งคุมยากมาก และเขียนข้อกำหนดในเรื่องเหล่านี้ยาก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายสังคม สภาวิชาชีพ มีหน้าที่คุ้มครองประชาชนและสังคม สิ่งที่พูดถึงคือองค์ประกอบของคณะกรรมการค่อนข้างยาก และมีบทเรียนว่าพวกเดียวกันเองเป็นกรรมการสภาวิชาชีพยังมีปัญหา และเป็นแหล่งของผลประโยชน์ ไม่สามารถทำหน้าที่คุมผลประโยชน์ได้ เช่น แพทยสภาไม่มีคนอื่นเข้ามา หลักถูกหรือไม่ ถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเป็นกรรมการ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กล่าวว่า สื่อไม่ใช่ฐานันดรที่ 4 และไม่ได้เป็นดั่งคำเปรียบเทียบว่าสื่อเป็นแมลงวันที่ไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อลงโทษที่กระทำขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมไป 2 คน ขับออกจากอาชีพสื่อมวลชนคือกรณีการรับทรัพย์และกรณีบิดเบือนข่าว

พล.ท.ธวัชชัย อัดสื่อเสนอข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ น่าเอายิงเป้าให้หมด

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท. อภิปรายเห็นด้วยกับการตีทะเบียนสื่อมวลชน เพราะสื่อถือเป็นคนไทย ไม่ใช่อภิสิทธิชน จึงต้องยอมรับกติกาและกฎหมาย ทั้งนี้ หลายประเทศมีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ อาทิ สิงคโปร์ จีน ขณะเดียวกันระบุว่า เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวโดยไม่ไตร่ตรอง
"ขนาดวันก่อน ผมอ่านสื่อออนไลน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ด่าทหารประจำ ไม่รู้อยากเล่นการเมืองหรือไม่ อยู่ดี ๆ มาบอกว่าถ้าเอาก้อนหินปาไปในค่ายทหารโดนแต่หัวพลเอก แล้วยังถามว่ารถถังซื้อมาทำไม เคยไปรบหรือไม่ เขาเป็นรุ่นพี่ ผมเป็นเตรียมทหารรุ่น 12 พี่เขารุ่น 7 พูดแบบนี้ผมไม่เคารพกันแล้ว แล้วสื่อที่เผยแพร่ก็น่าเอายิงเป้าให้หมด ปัญหาภาคใต้ก็รายงานกันทุกวัน สิ่งที่สร้างความเสียหายไม่ควรรายงาน อย่างกรณีผู้ว่าแม่ฮ่องสอนยังไม่ได้ข้อสรุปก็นำเสนอกัน ฟังแล้วผมทนไม่ได้" พล.อ.ธวัชชัย กล่าว
พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือสื่อต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อ เพราะผ่านมาสื่อไม่ได้คำนึงถึงหน้าที่

ประยุทธ์ เปิดวันแรงงาน ชู 'แรงงานรู้รักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง'


Mon, 2017-05-01 19:25
คนงานยื่น 5 ข้อเรียกร้อง รับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ปฏิรูปประกันสังคมปรับเป็นองค์กรอิสระ ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ ประยุทธ์ ย้ำไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้ทำให้ตกงาน แนะหนุนลูกหลานให้เรียนในสาขาอาชีพ อย่ายึดติดกับปริญญา แต่เน้นเรียนจบมามีงานทำต่อไป 
ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
1 พ.ค. 2560 วันกรรมกรสากลละแรงงานแห่งชาติ รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (1 พ.ค.60) เมื่อเวลา 12.10 น. ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ แรงงานรู้รักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง โดยมี รัฐมนตรี ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรสหพันธ์แรงงาน และผู้ใช้แรงงานเข้าร่วม
สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2560 มีทั้งหมด 5 ข้อ แบ่งเป็นแรงงานเอกชน 3 ข้อ รัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบอย่างละ 1 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันและเป็นกลไก ให้ลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เข้าถึงสิทธิ 2. การปฏิรูปประกันสังคม โดยปรับให้เป็นองค์กรอิสระ 3. ไม่ให้มีการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจ 4. การตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ เพื่อดูแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน และ 5. การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า แรงงานทุกคนมีส่วนในการสร้างประเทศเป็นทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งตนเองก็ใช้แรงงานเหมือนกัน แต่ใช้แรงใจมากกว่าในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และขอให้แรงงานทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ จะได้มีความทุ่มเทกับกิจการมากขึ้น โดยรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยกำหนดให้ใช้แรงงานในประเทศมากขึ้น จึงขอให้แรงงานอย่ากังวลกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากไม่มีงานรัฐบาลก็จะหางานให้ทำจนได้ จะไม่ปล่อยปะละเลย เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องดูแลคนไทย ทั้ง 70 ล้านคน ไม่ว่าจะดูแลได้มากหรือดูแลได้น้อยก็ต้องทำ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของตนจะเร่งแก้ปัญหาให้มากที่สุด เพื่อปลดล็อคอุปสรรคต่าง ๆ และยกระดับรายได้ให้กับประชาชน โดยต่างประเทศต่างชื่นชมแรงงานไทยว่ามีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องพัฒนาด้านภาษาให้สามารถสื่อสารได้ เพื่อพัฒนาเป็นระดับหัวหน้า รวมทั้งขออย่าสร้างความขัดแย้ง เพราะถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ต้องร่วมมือกันสร้างความมั่นคงให้กับประเทศเดินหน้าต่อไปได้
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวต่อไปว่า ขออย่าฟังคำบิดเบือนที่บอกว่าการพัฒนาเป็นไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้แรงงานไม่มีงานทำ เพราะไทยแลนด์ 4.0 เป็นการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้ตกงาน แต่จะมีงานและรายได้มากขึ้น ขออย่ากังวล และไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการทำงานมา 3 ปีของรัฐบาล ได้มุ่งมั่นแก้ไขปรับเปลี่ยนทุกอย่าง รวมทั้งแรงงานที่เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญเพื่อเดินหน้าสู่อนาคต ถ้าทำหรือปรับไม่ได้ก็เหมือนเรือที่กำลังจะจม จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย และขอให้สบายใจยืนยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ไม่เคยกลัวปัญหา ไม่กลัวใครมาต่อต้านเพราะมีใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติตลอดเวลาที่ยังอยู่ในตำแหน่ง สำหรับผู้ปกครองขอให้ส่งเสริมลูกหลานให้เรียนในสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน อย่ายึดติดกับปริญญาบัตร ขอให้เน้นเรียนจบมาแล้วมีงานทำต่อไป