วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

นักศึกษา ศนปท. ตบเท้าเข้าถาม คสช. “เพื่อนเราเขาผิดอะไร”



ตัวแทนนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยเข้าสอบถามเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ถึงเหตุผลที่ต้องควบคุมตัวครั้งที่ 2 ‘นันทพงษ์ บุญพงษ์’ นักศึกษา ม.มหาสารคาม
19 ก.ค. 2557 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่บริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ตัวแทนนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย หรือ ศนปท. ประกอบด้วยนายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคบัณฑิต) และนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  ได้เดินทางมาที่บริเวณดังกล่าวเพื่อสอบถามเหตุผลกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่าเหตุใดจึงต้องมีการเรียกตัว นายนันทพงษ์ บุญพงษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปควบคุมตัวอีกเป็นครั้งที่ 2 และต้องการทราบข้อเท็จจริงว่านายนันทพงษ์ กระทำผิดเงื่อนไขอย่างไรและจับไปควบคุมตัวไปไว้ที่ใด
โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ที่เข้าเวรหน้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ได้แนะนำให้นักศึกษาทั้ง 2 คน ไปร้องเรียนเรื่องดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล นักศึกษาทั้ง 2 จึงเดินทางออกจากบริเวณดังกล่าว
ทั้งนี้ ศนปท. ได้ออกแถลงการณ์วันนี้ โดยระบุว่า เนื่องจาก พ.ต.ชายแดน เกาะแก้ว หัวหน้าฝ่ายยุทธการและการข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม ได้ทำหนังสือเรียกตัวนายนันทพงษ์ บุญพงษ์ ให้ไปรายงานตัวที่กองบังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคาม บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคาม ในวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 13.00 น.
แฮ็ค หรือนายนันทพงษ์ บุญพงษ์ เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ไปเดินทางรายงานตัวตามสถานที่และเวลาที่กำหนด ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของนายนันทพงษ์ที่จะต้องไปรายงานตัว แต่ปรากฏว่าทางกองทัพได้ทำการกักตัวนายนันทพงษ์ไว้ และในขณะนี้เวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งรวมเป็นระยะเวลากว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ที่พวกเราทุกคนยังไม่ทราบชะตากรรมของนายนันทพงษ์ ไม่มีการติดต่อกลับมา หรือไม่มีการชี้แจงจากกองทัพใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนไม่มีความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่เป็นตามขั้นตอนปกติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้ “เหยื่อ” นั้นได้รับความไม่เป็นธรรม ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพที่พึงมี (ท่ามกลางเสรีภาพอันน้อยนิด) และจากการกระทำที่ไม่โปร่งใสและการใช้กำลังแบบ “บ้าอำนาจ” นั้น อาจจะทำให้เหยื่อได้รับอันตรายได้ หรือถ้าแย่กว่านั้น ก็คือ ”สูญหาย" หรือไม่ก็ "เสียชีวิต”
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ขอประนามการกระทำเช่นนี้ของกองทัพ ว่า "เป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง” และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้กองทัพปล่อยตัวนายนันทพงษ์ให้เป็นอิสระ เราจะไม่ยอมให้ใครมากดขี่ข่มเหงรังแก เราไม่ยอมให้กองทัพทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจโดยไม่สนใจชีวิตและอิสรภาพของประชาชนอีกต่อไป
ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายปิยรัฐ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ทราบข่าวจากนายวินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ระบุว่า เจ้าหน้าที่แจ้งความคืบหน้าการควบคุมตัวนายนันทพงษ์ ว่าจะได้รับการปล่อยตัว เมื่อถูกควบคุมตัวครบ 7 วันตามกฎอัยการศึก   

'ดีเจแหล่' เสื้อแดงเชียงใหม่ถูกลอบยิง ล่าสุดปลอดภัยแล้ว


19 ก.ค. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 19.45 น. ร.ต.ท.ทรงศักดิ์ ตันยาดี พนักงานสอบสวน สภ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่  ได้รับแจ้งเหตุ นายนิยม เหลืองเจริญ หรือดีเจแหล่ อดีตแกนนำคนเสื้อแดงเชียงใหม่ ที่แยกมาตั้งกลุ่มแดงอีสานล้านนาเชียงใหม่  ถูกคนร้ายบุกซุ่มยิงขณะอยู่ในบ้าน เขตพื้นที่บ้านเหล่า อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่  หลังได้รับแจ้งจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และพร้อมด้วยตำรวจพิสูจน์หลักฐานเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ
 
ร.ต.ท.ทรงศักดิ์  กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าคนร้ายไม่ทราบจำนวนน่าจะซุ่มยิงมาจากสวนป่าลำไยที่อยู่ใกล้บ้าน  แต่ขณะเกิดเหตุมืดมากจึงไม่มีใครพบเห็น  ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังลงพื้นที่เร่งหาร่องรอยเพื่อจะติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี  หลังถูกยิงทางญาติของดีเจแหล่ได้นำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสันกำแพง เบื้องต้นได้รับบาดเจ็บที่ขา ทราบว่าถูกปืนยิงเข้า 2 นัด  แต่อาการปลอดภัยแล้ว  ส่วนสาเหตุนั้นยังอยู่ระหว่างสอบสวน
 
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับดีเจแหล่ ที่ถูกยิงนี้ ก่อนหน้านี้เคยเป็นหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ตกเป็นผู้ต้องหาถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดี  ระยะหลังได้มีเรื่องขัดแย้งไม่ลงรอยกันกับแกนนำทั้งดีเจอ้อม น.ส.กัญญาภัค มณีจักร และนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล จึงแยกตัวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างหาก โดยตั้งกลุ่มแดงอีสานล้านนาเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 เคยถูกคนร้ายยิงถล่มบ้านแห่งนี้มาแล้ว แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เพียงแต่กระจกแตก  และภายหลังจาก คสช. ยึดอำนาจก็ไม่ได้มีบทบาทออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ กระทั่งมาถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

สารพัดจัญไร เข้าสวนโมกข์ปู๊บ เป็นคนดีในทันที



เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ เผยแพร่ภาพพระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือฉายา "ประภากะโร" ระหว่างจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม และภาพญาติโยมร่วมกิจกรรม "ตักบาตรสาธิต" ให้พระสุเทพด้วย
พระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ "ประภากะโร" ระหว่างจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2557 (ที่มา: เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)
19 ก.ค. 2557 - วันนี้ เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เผยแพร่ภาพพระสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือฉายา "ประภากะโร" อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเลขาธิการ กปปส. ระหว่างจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้มีการเผยแพร่ภาพญาติโยมร่วมกิจกรรม "ตักบาตรสาธิต" ที่ลานหินโค้งภายในสวนโมกข์ด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่ภาพในทวิตเตอร์ @Theptai ระบุว่านายสุเทพได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุว่า "กำนันตัดสินใจบวชแบบสายฟ้าแลบ" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
พระสุเทพ เทือกสุบรรณ รับบาตรจากญาติโยม ภาพเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557 (ที่มา: เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)
และเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ในเพจสุเทพ เทือกสุบรรณ มีการเปิดเผยด้วยว่า เลขาธิการ กปปส.ได้ออกบวชเงียบๆ โดยพระเทพพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาาสวัดท่าไทร เป็นผู้โกนผมให้ตั้งแต่ช่วงกลางคืนและนอนพักที่กุฎิเจ้าอาวาสกับญาติผู้น้อง กระทั่งได้ฤกษ์อุปสมบทเมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 15 ก.ค. มีผู้อยู่ในโบสถ์ประกอบพิธี 3 คนโดยพระเทพพิพัฒนาภรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ และให้ฉายา "ประภากะโร" แปลว่าผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง

อภิสิทธิ์หวัง รธน.ใหม่จะไม่นิรโทษถึงความผิดที่ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรม



หัวหน้าพรรค ปชป. เขียนบทความระบุ ความสงบในปัจจุบันจะยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไม่เห็นการไม่ชำระสะสางระบบนิติรัฐนิติธรรม หรือ คสช. อยู่เหนือการวิจารณ์ ก็จะเกิดแรงกดดันทำให้ไม่อาจปรองดองสมานฉันท์ได้ ส่วน รธน.ฉบับใหม่ คงหนีไม่พ้นนิรโทษ คสช. ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในสภาพความเป็นจริงสังคมไทยยอมรับตลอด โดยหวังว่าการนิรโทษกรรมจะไม่เผื่อแผ่ไปถึงการกระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศคงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นจากประชาชนต่อต้านแนวความคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่มา: แฟ้มภาพ/เพจ Abhisit Vejjajiva)
21 ก.ค. 2557 - วันนี้ (21 ก.ค.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเผยแพร่ในเพจ Abhisit Vejjajiva หัวข้อ "สู่ระยะที่ 2 ของคสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม" มีรายละเอียดดังนี้
000
สู่ระยะที่ 2 ของคสช. : รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการนิรโทษกรรม
อีกเพียง 1 วันก็จะครบ 2 เดือนนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดย คสช. ได้แบ่งขั้นตอนการบริหาร (Roadmap) ออกเป็น 3 ระยะ โดยขณะนี้เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในระยะที่ 2
สองเดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าคสช.ประสบความสำเร็จในการนำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ก่อความรุนแรง ผู้ครอบครองอาวุธสงคราม มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ค้างคา เช่น การจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าว สิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างที่เป็นรูปธรรมจากสภาพบ้านเมืองก่อนการยึดอำนาจ ทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบ่งบอกว่าสังคมมีความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญความจริงได้ว่าการทำให้ระบอบประชาธิปไตยสะดุดหยุดลง รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะทำด้วยเจตนาให้เกิดความสงบ ทำให้ คสช. ต้องพบกับแรงกดดันทั้งจากในและต่างประเทศ ให้มีความชัดเจนว่าจะกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยในภาวะปกติเมื่อใดและอย่างไร หากไม่นับบางกลุ่มที่สูญเสียอำนาจ และเคลื่อนไหวแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผย ต้องถือว่าสังคมไทยให้โอกาส คสช. ในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพึงพอใจให้ คสช. ใช้อำนาจอย่างเช่นในปัจจุบันตลอดไป
สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังที่จะเห็นต่อไป คือ “การปฏิรูปประเทศ” เพื่อให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยมีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และนำไปสู่การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน จึงมีความคาดหมายว่า สภาพการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ จะค่อยๆ ถูกผ่อนคลายลง และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติ รวมทั้งสภาปฏิรูป การแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยสุจริต จะสามารถกระทำได้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูป โดยมองว่าหากจะต้องมีการใช้อำนาจโดย คสช. ก็น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบ และชำระสะสางความไม่ถูกต้องทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับเล็กๆ เช่น ปัญหาอิทธิพลรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ จนถึงการทุจริตระดับชาติ
สำหรับประเด็นการบริหารโดยทั่วไปก็ดี หรือการออกคำสั่งหรือประกาศก็ดี ย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าต้องการสร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง หลายคนเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเห็นการปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้ควรมีสิทธิที่จะได้นำเสนอมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ผมก็ตั้งใจทำหน้าที่นี้ และขณะนี้ มีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย โดยเฉพาะการดำเนินการของ คสช. ที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน โดยจะทยอยนำเสนอเป็นประเด็นๆ ต่อไป โดยเฉพาะประกาศและคำสั่งที่ออกมานั้นมีสถานะเป็นกฎหมาย หากไม่มีการแก้ไข หลายกรณีจะต้องไปใช้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐสภาในอนาคตเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นเรื่องยุ่งยาก
ผมมองว่าปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งคือ คสช. ให้น้ำหนักกับประเด็นความแตกแยก ดังที่ประกาศไว้ในวันยึดอำนาจ โดยมองข้ามมิติปัญหาอื่นๆ จึงตกอยู่ในกับดักว่าจะไม่อนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเลย และหวังว่าสภาพการณ์แบบนี้ จะสามารถนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองในทุกระดับได้ โดยไม่ต้องสนใจประเด็นความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ที่นำบ้านเมืองมาสู่วิกฤต
ความสงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีความยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันในภาวะที่ไม่มีการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป หากสังคมเห็นว่าการไม่ชำระสะสางปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมให้เกิดขึ้น หรือการทำงานของคสช.ต้องอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสิ้นเชิง ก็จะเกิดการสะสมแรงกดดันและสุดท้ายไม่อาจนำไปสู่ความสงบหรือความปรองดองสมานฉันท์ได้
สำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมานั้น ผมไม่ได้มีความคาดหวังอะไรมากนักเกี่ยวกับโครงสร้างครม. สภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูป เพราะทางเลือกของคสช.คงมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะต้องจับตามอง คือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกฎหมายที่จะออกต่อไป คงหนีไม่พ้นที่จะมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช. เอง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นสภาพความเป็นจริงที่สังคมไทยยอมรับมาโดยตลอด แต่ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนิรโทษกรรมนี้จะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงการกระทำในความผิดอื่น ซึ่งจำเป็นต้องชำระสะสางในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป เพราะหากมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว ความยุ่งยากวุ่นวายในประเทศคงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งหลังนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ประชาชนเกือบทั้งหมดของประเทศต่อต้านแนวความคิดการล้างผิดกับการกระทำ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับประเด็นปัญหาการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ ขอยกยอดเป็นวันหลังครับ

สมาคมนักข่าวห่วงประกาศ คสช.ฉบับ 97 ปิดกั้นสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร


นายกสมาคมนักข่าวห่วงประกาศ คสช.ฉบับ 97 กระทบสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยเฉพาะให้อำนาจบุคคลระงับการจำหน่าย จ่ายแจก เผยแพร่สิ่งพิมพ์ หยุดการออกอากาศรายการ ย้ำกฎหมายที่มีอยู่เพียงพอแล้วในการกำกับดูแล 
 
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2557 นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อในเบื้องต้นได้แสดงความกังวล ห่วงใย ต่อเนื้อหาในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 (คสช. 97) เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน และเกิดความสับสนและอาจ ไม่เข้าใจในวิธีการทำงาน และนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
 
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ถือเป็นภารกิจเช่นกันในการคืนความสุขให้กับประชาชน ที่ไม่ตอกย้ำ หรือสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในสังคม ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่ก็ได้ใช้ความระมัดระวังในการทำงาน ภายใต้กรอบ กติกาและจริยธรรมของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารที่จะสร้างความเข้าใจและยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องยืนอยู่บนหลักการสำคัญของสื่อมวลชน นั่นคือ การเสนอข่าวที่ต้องยึดถือข้อเท็จจริง ความถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน ซึ่งหากสื่อมวลชนใด กระทำผิดหน้าที่นี้ คสช.ก็ชอบที่จะสั่งการให้มีการดำเนินการ หรือใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่จัดการได้อยู่แล้ว
 
นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯมีความเป็นห่วงว่า การกำหนดให้บุคคลมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น อาจส่งผลบุคคลใช้อำนาจจนเกินสมควรแก่เหตุ เช่น การห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฎิบัติงานของ คสช.เจ้าหน้าที่ของ คสช.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แค่ไหน เพียงใด จึงจะถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ คสช.
 
รวมทั้งข้อความในข้อ 5ที่ระบุว่า "ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย" นั้นไม่มีความชัดเจนว่าจะมีคำเตือนก่อน หรือมีขั้นตอนอย่างไร  หรือมีแนวทางวินิจฉัยความผิดอย่างไร เพราะหากมีการใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุ และไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจ ผลเสียในการใช้อำนาจน่าจะมีมากกว่า
 
“สมาคมนักข่าวฯจะได้เชิญผู้บริหารสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหลาย มาประชุมปรึกษาหารือกันต่อไปว่า จะหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้อย่างไร ในราวสัปดาห์หน้า”