วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ศาลทหารส่งคำร้องจาตุรนต์ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล


28 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย. 58) ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล กรณีจาตุรนต์ ฉายแสง ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ซึ่งอัยการทหารสั่งฟ้องใน 3 ฐานความผิด คือ ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงต้องส่งความเห็นส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัย
โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. องค์คณะตุลาการ ประกอบด้วย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู น.ท.สุรชัย สลามเต๊ะ และ น.ท.หญิงวิภาวี คุปต์กาญจนากุล ออกนั่งบัลลังก์อ่านความเห็นของศาลกรณีเขตอำนาจศาล ในคดีที่จาตุรนต์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 25/2557 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ศาลทหารกรุงเทพได้ทำความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 ในเรื่องการฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 1/2557 ฉบับที่ 2/2557 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ส่วนคำฟ้องข้อ 1.3 กรณีความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ หากศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นตรงกัน การชี้ขาดเขตอำนาจศาลถือเป็นที่สิ้นสุด จะทำคำร้องอีกไม่ได้
ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คำฟ้องข้อ 1.1, 1.2, และ 1.3 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เนื่องจากบรรดาคำสั่งใดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งมาเป็นโทษแก่จำเลยนั้น กฎหมายจะออกมาให้มีผลบังคับย้อนหลัง ต่อกระบวนการพิจารณาให้เป็นโทษต่อจำเลยทางอาญาไม่ได้ เมื่อทั้งสองศาลมีความเห็นไม่ตรงกันจึงต้องส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อชี้ขาดเขตอำนาจศาลตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้เหตุที่ศาลทหารเห็นว่าความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารเนื่องจากตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดที่เกี่ยวโยงขึ้นต่อศาลทหาร อย่างไรก็ตามประกาศดังกล่าวประกาศ ได้ลงวันที่ประกาศ 25 พฤษภาคม 2557 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ในขณะเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นจากกรณีนายจาตุรนต์ได้รับเป็นวิทยากรพูดเรื่องผลกระทบของการรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียา ถ.สุขุมวิท ในวันที่ 27 พ.ค. 2557
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 (3) ระบุว่า ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ศาลทหารกรุงเทพจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้ง
จาตุรนต์ เผยพร้อมคำวินิจฉัยน้อมรับ 
สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จาตุรนต์ ได้กล่าวขอบคุณศาลทหารที่รับคำร้องไว้พิจารณา และทำความเห็นส่งไปยังศาลอาญา จนกระทั่งศาลอาญามีความเห็นว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของศาลอาญา ซึ่งไม่ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจของหน้าที่ระหว่างศาล จะวินิจฉัยอย่างไรก็น้อมรับ  และว่า ขณะนี้ คดีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ยังพักการพิจารณาไว้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องขอบเขตอำนาจของศาล
จาตุรนต์ ยังกล่าวถึง การเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า ขณะนี้ทำได้เพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน ยืนยันว่า เป็นความเห็นที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ด้วยการไม่กระทำผิดกฎหมาย
“ที่ผ่านมาไม่เคยปลุกปั่นหรือยุยง และได้ไปแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการปรองดอง ซึ่งก็ได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายข้อมูลที่ให้นั้น กลับเงียบหาย” จาตุรนต์ กล่าว

ศาลอาญารับฟ้อง 8 กปปส. ขัดขวางเลือกตั้งล่วงหน้าต้นปี 57


เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ทินกร ปลอดภัย อายุ 35 ปี แนวร่วม กปปส. เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันขัดขว้างการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76 ,152 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550
ตามฟ้องอัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.57 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส.ในเขตเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างจังหวัด และ กทม. โดยใช้โรงเรียนบ้านบางกะปิ เป็นสถานที่ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมาจำเลย กับพวกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ได้มาชุมนุมขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยดังกล่าว โดยนำกุญแจและโซ่เหล็กไปคล้องประตู และชุมนุมปิดล้อมขวางถนนทางเข้า - ออกของโรงเรียนบ้านบางกะปิ ทำให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อันเป็นการขัดขวางและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จนเจ้าหน้าที่ กกต. ประจำเขต 15 กทม.ต้องประกาศให้งดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดดังกล่าว เพราะไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามกำหนด เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ต่อมาวันที่ 11 มี.ค. 57 จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธ
โดยศาลได้ประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3230/2558 และนัดตรวจหลักฐาน 21 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ส่วนนายทินกร จำเลย ศาลได้ปล่อยชั่วคราวไปภายหลังจำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดประกันตัว โดยศาลตีราคาประกัน 100,000 บาท
นอกจากนี้ วันเดียวกันนี้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ยังได้ยื่นฟ้องแนวร่วม กปปส. อีก 7 ราย ประกอบด้วย ฉลองรัฐ เนคะมัชชะ อายุ 49 ปี กิจจา อุ้ยนอก อายุ 52 ปี ทิพย์พร นามดี อายุ 47 ปี มงคล ทองชัย อายุ 62 ปี อารมณ์ สิทธิโชติ อายุ 65 ปี จันทิมา ชูจันทร์ อายุ 42 ปี นิทัศน์ จันทนากร อายุ 49 ปี ในความผิดฐานร่วมกันขัดขว้างการเลือกตั้ง และความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมไปขัดขวางการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง จากการทีจำเลยทั้ง 7 คน ใช้รถติดเครื่องเสียงพูดปราศรัยชักชวนไม่ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งเขต 16 กทม. อันเป็นฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนด เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึ่งกุ่ม กทม. ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยคดีนี้ศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3229/2558
วันธงชัย ชำนาญกิจ ทนายความกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า วันนี้อัยการได้ยื่นฟ้องแนวร่วม กปปส. ที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนบางกะปิและสำนักงานเขตบึ่งกุ่มเมื่อวันที่26มกราคม 2557 รวม 2 คดี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม แต่ในที่สุดอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ต้องต่อสู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยในวันนี้ได้มีการเตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1000,000 บาท ส่วน แนวร่วม 7 คน นั้นเป็นเงินกองทุนจากกระทรวงยุติธรรมรายละ 1บาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาอยู่
วันธงชัย กล่าวต่อ ว่าก่อนหน้านี้พนักงานอัยการเคยยื่นฟ้อง แนวร่วม กปปส. ที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการเลือกที่สำนักงานเขตดินแดงไปซึ่ง ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว 1 คดีเป็นคดีแรก เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
ภายหลังศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันจำเลยทั้ง 8 คน คนละ 1 แสนบาท และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 21 ธันวาคม 2558 เวลา 13.30 น. ทั้ง 2 คดี

ยิ่งลักษณ์ฟ้องอัยการสูงสุดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมดำเนินคดีจำนำข้าว


29 ก.ย. 2558  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. วันนี้ (29 ก.ย.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทนายความ และผู้ติดตาม ได้เดินทางมาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) ชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตาม มาตรา 200 และมาตรา 83 โดยเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม 3 กรณีดังต่อไปนี้
1. การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีได้รวม 4 ข้อ อันประกอบไปด้วย ประเด็นปัญหาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นเรื่องการทุจริต และประเด็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งเป็นคุณกับตน แต่กลับไม่ได้ไต่สวนให้เสร็จสิ้นตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภายหลังกลับมีความเห็นสั่งฟ้อง 1 ชั่วโมงก่อนการพิจารณาถอดถอนตนที่ สนช.
2. การบรรยายฟ้องของอัยการสูงสุด ที่ยื่นฟ้องตนต่อศาลมีการเพิ่มเติมข้อกล่าวหาจากที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยไม่มีข้อกล่าวหาว่าทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริต แต่คำฟ้องของ อสส.กลับบรรยายว่าตนรู้เห็นและสมยอมให้เกิดการทุจริต ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น
3. ในชั้นพิจารณาของศาล อัยการสูงสุดกลับนำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้นป.ป.ช. และในชั้นคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและป.ป.ช. ในคดีที่กล่าวหาดิฉันเข้ามาในสำนวนจำนวนกว่า 60,000 แผ่น ซึ่งถือเป็นการนำเอกสารนอกสำนวน เข้ามาในสำนวนโดยมิชอบ
นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ ยังเห็นว่าการดำเนินการของอัยการสูงสุดทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องฟ้องร้องกับทุกกรณีที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ระเบียบ และหลักนิติธรรม
"การดำเนินการของอัยการสูงสุดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงจำเป็นต้องรักษาและใช้สิทธิตามกม. ฟ้องร้องทุกกรณีที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกม. ระเบียบ และหลักนิติธรรม" ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผบ.โรงเรียนนายร้อย จปร. ยอมรับมีอาหารกลางวันหลุดการตรวจสอบจริง

พล.ท.ชาญชัย ยศสุนทร (ซ้าย) ผบ.รร.จปร. (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาสัมพันธ์กิจกรรม รร.จปร.)

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. ยอมรับว่าผู้โพสต์รูปโวยอาหารกล่อง ไม่สมเบี้ยเลี้ยง 120 บาท เป็นนักเรียนนายร้อยจริง โดยยอมรับว่าอาหารอาจหลุดลอดการตรวจสอบไปบ้าง เมื่อนักเรียนเหนื่อยและหิวเปิดกล่องอาหารจึงเกิดอารมณ์ ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยืนยันไม่มีเหตุทุจริตเรื่องอาหาร พร้อมให้สื่อมวลชนตรวจสอบ
29 ก.ย. 2558 หลังจาก "ชนินทร์ คล้ายคลึง" หรือฉายา "ผู้พันสู้" อดีตนายทหารอากาศที่ถูกให้ออกจากราชการได้แชร์โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ค ที่ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากค่าเบี้ยเลี้ยงนักเรียนนายร้อย จปร. วันละ 120 บาท พร้อมโพสต์อาหารกลางวันที่ได้รับการจัดสรรตามเบี้ยเลี้ยง เป็นภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัดกับขนม 1 ห่อ นั้น
ล่าสุด ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด พล.ท.ชาญชัย ยศสุนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับว่าผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจริง แต่ก็ได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนแล้ว และทำการตักเตือนว่าสิ่งที่กระทำนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งการกระทำอาจจะเกิดอารมณ์ชั่ววูบ
เนื่องจากในช่วงนี้ที่ รร.จปร.จัดกิจกรรมและมีงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องอาหารอาจจะหลุดลอดสายตาการตรวจสอบไปบ้าง เพราะอาหารนั้นมีเป็นจำนวนมากหลายกล่อง เราไม่ได้ตรวจสอบให้ดีบางกล่อง จึงอาจตกหล่นหรืออาหารไม่ครบบ้าง นักเรียนอาจจะเหนื่อยและหิว เมื่อเปิดกล่องอาหารมาเจอแบบนั้นจึงเกิดอารมณ์  ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าไม่มีการทุจริตเรื่องอาหารอย่างแน่นอน และพร้อมให้สื่อมวลชนตรวจสอบได้

ชีวิต 2 นักแสดงละคร 'เจ้าสาวหมาป่า' ผู้ลี้ภัยในต่างแดน


หลังรัฐประหาร ข้าวเหนียว และ ปุก คือนักแสดง 2 คนจากละครล้อเลียนการเมืองเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ต้องลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาไม่มีทางเลือก เพราะเพื่อนนักแสดงในเรื่องเดียวกันถูกตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นฯ ไปแล้ว ประชาไทคุยกับทั้งสองว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกม. และความหวังที่จะกลับ "บ้าน" 
 
 
‘เจ้าสาวหมาป่า’ คือละครเวทีที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มประกายไฟการละคร สมาชิกสามคนของกลุ่มใช้เวลาแค่วันเดียวในการร่างบทและเขียนสคริปต์ขึ้นมา ด้วยเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยการเสียดสีราชวงศ์และการเมืองไทย เจ้าสาวหมาป่าจึงเล่นไปได้เพียงสองรอบเท่านั้น ในวันที่ 6 ต.ค. 56 และ 13 ต.ค. 56 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงในวันที่ 13 ต.ค. เพียงประมาณหนึ่งชั่วโมงทำให้ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงค์ วัย 24 ปี และภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือกอล์ฟ วัย 26 ปีถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ติดคุกคนละ 2 ปี 6 เดือนแบบไม่รอลงอาญา เจ้าสาวหมาป่าจึงกลายเป็นละครเวทีเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้นักแสดงติดคุกด้วยมาตรา 112 ไปโดยปริยาย
 
นอกจากแบงค์และกอล์ฟแล้ว ยังมีรายงานว่านักแสดงอีกหกคนในเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่ถึง 30 ปี ก็เป็นที่ต้องการตัวของตำรวจด้วยเช่นกัน พวกเขาต่างใช้ชีวิตบนความหวาดกลัว บางคนเดินทางออกนอกประเทศและลี้ภัยโดยสมัครใจอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ประชาไทขออนุญาตไม่เปิดเผยที่อยู่และรายละเอียด เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว)
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มประกายไฟทำการแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พูดถึงได้ยากหรือไม่ถูกพูดถึงบ่อยนักในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งพวกเขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของสังคมเสมอ เพราะเชื่อว่าการสื่อสารผ่านศิลปะนั้นมีเสรีภาพมากกว่า
 
ปุก (นามสมมติ) หนึ่งในนักแสดงเจ้าสาวหมาป่าวัย 19 ปี ต้องย้ายออกจากบ้านของเขาในภาคใต้ของประเทศไทย หลังแบงค์และกอล์ฟถูกจับ เขาย้ายที่พักไปเรื่อยๆ และอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จนสุดท้ายตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
 
แบงค์ กับ กอล์ฟ ขึ้นศาล
 
“ผมโคตรกลัวเลย ผมเล่นละครเนี่ย พูดไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ แต่มันทำลายชีวิตทั้งชีวิต ผมเพิ่งสอบที่รามได้แค่สองครั้งเอง ก็ต้องมาอยู่นี่ ผมอยากเป็นวัยรุ่นที่ได้ไปเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง แต่ที่นี่ทุกอย่างมันขึ้นกับเงินและสถานการณ์ ต้องทนอยู่ับความอึมครึมของบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมือง ผมยังเด็ก บางทีเราก็คุยเล่นแบบเด็กวัยรุ่น ก็จะโดนผู้ใหญ่ว่า แล้วที่นี่ก็แทบไม่มีคนอายุไล่เลี่ยกันอยู่เลย” ปุกกล่าว เขาบอกด้วยว่า เขาถูกเตือนไม่ให้คบกับคนท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ไทย
 
ปุกเป็นนักศึกษาปีหนึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชีวิตมหาวิทยาลัยและอนาคตด้านการศึกษาในกรุงเทพฯ ของเขาพังทลายลงอย่างกะทันหัน เพียงเพราะคณะรัฐประหารระบุว่าละครเวทีมือสมัครเล่นเรื่องนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
 
ด้านข้าวเหนียว (นามสมมติ) นักแสดงอีกคนจากละครเรื่องเดียวกันและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีที่ผ่านการแสดงในงานเล็กๆ อย่างค่ายอาสาราว 20 ครั้ง เปิดเผยว่าเขาคาดการณ์ไว้นานแล้วว่าอย่างไรก็ต้องมีวันที่ตัวเองหนีออกนอกประเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัย
 
สถานการณ์การเมืองไทยที่ย่ำแย่และการกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้เขากังวลอย่างมาก ขณะเดียวกัน มันเป็นแรงกระตุ้นให้เขาพยายามท้าทายขีดจำกัดของประเด็นที่พูดถึงไม่ได้ในสังคมผ่านละครเวที ขณะเดียวกัน เขาก็หาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ประเทศใหม่’ ใกล้เคียงไปด้วย ทั้งในเรื่องสังคม การเมือง อาหาร ค่าครองชีพ ไปจนถึงภาษา
 
บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า “ตั้งแต่ที่อ่านบท ผมก็คิดเลยว่าผมต้องหนีออกนอกประเทศแน่นอน ผมบอกเรื่องนี้กับทั้งเพื่อนนักแสดงและที่บ้าน ทุกคนบอกว่าผมพูดเหลวไหลเพราะมันเป็นแค่การแสดง แม้จะมีความเสี่ยง แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเล่น เพราะผมคิดไว้แล้วว่าวันหนึ่งก็ต้องลี้ภัยอยู่ดีและผมก็ไม่อยากอยู่ประเทศไทยอีกต่อไป” 
 
ข้าวเหนียวต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกออกหมายจับโดยตำรวจ ซึ่งเขายังคงรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้รีบเดินทางออกนอกประเทศก่อนหน้านั้น
 
“ตอนนั้นผมก็มั่นใจว่าเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่พอเจอจริงๆ ตั้งตัวไม่ถูกเลย เพราะตั้งใจว่า จะออกนอกประเทศแบบบนดิน แต่ตอนนั้นก็สายเกินไปแล้วที่จะไปบนดิน ต้องไปแบบเถื่อน” ข้าวเหนียวกล่าว
 
เจ้าสาวหมาป่าถูกสร้างขึ้นมาโดยสมาชิกสามคนของประกายไฟการละคร ซึ่งรวมถึงกอล์ฟและปุก แม้จะมีชื่อเรื่องว่าเจ้าสาวหมาป่า เนื้อเรื่องจริงๆ กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวละครเจ้าสาวที่เป็นหมาป่าเท่าไรนัก เค้าโครงเรื่องโดยรวมค่อนข้างไม่ชัดเจน เส้นเรื่องหลักมักถูกคั่นด้วยเรื่องสั้นเป็นระยะๆ ส่วนการแสดงของนักแสดงนั้นเต็มไปด้วยการ ‘อิมโพรไวซ์’ หรือแสดงสด
 
เจ้าสาวหมาป่าเป็นเรื่องราวของอาณาจักรในจินตนาการที่ถูกปกครองและบริหารโดยกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งทรงอำนาจอย่างมากหลังอภิเษกสมรสกับพระชายาที่เป็นหมาป่า แต่หลังการสมรสก็กลับสังหารเธอทิ้ง หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงอ่อนแอลงเพราะถูกวางยาโดยปุโรหิต เมื่อกษัตริย์ประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ ปุโรหิตก็ลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทน 
 
ปุโรหิตคนดังกล่าวรับสินบนจากนักธุรกิจที่ต้องการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บนที่ดินของกษัตริย์ จากนั้นไม่นาน เงาของกษัตริย์ในกระจกก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอย่างพิศวงและขึ้นมาบริหารอาณาจักรด้วยตัวเอง กษัตริย์องค์ที่ออกมาจากกระจกทรงลุแก่อำนาจและทะเยอทะยานอย่างมาก ขณะที่กษัตริย์ตัวจริงยังคงนอนป่วยอยู่โดยไม่รู้ความเป็นไป
 
ปุกอธิบายว่าราชวงศ์ในเรื่องเป็นตัวแทนของชนชั้นนำไทย ส่วนเงาในกระจกเป็นตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิน ชินวัตร นักการเมืองที่นำมาซึ่งความแตกแยกมากที่สุดในประเทศและผู้นำในดวงใจของคนเสื้อแดง
 
ปุกกล่าวว่า “เราต้องการแสดงให้เห็นความย้อนแย้งของขบวนการเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พวกเขาบูชาทักษิณแบบแตะไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ทักษิณจะไม่แตกต่างอะไรจากอีกฝ่ายเลย การห้ามวิจารณ์ทักษิณมันขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ” 
 
ด้านข้าวเหนียวมองว่าความหมายแฝงที่แทรกอยู่ในบทของเจ้าสาวหมาป่าอาจจะลึกซึ้งเกินไป
 
“ผมไม่คิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจสารที่เราต้องการจะสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพวกเราเองที่ฝึกซ้อมไม่มากพอ นักแสดงบางคนก็เพิ่งขึ้นแสดงละครเวทีเป็นครั้งแรก และหลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงบทที่เล่นเท่าไร”
 
พราหมณ์ (แสดงโดยปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) วางยาพระราชาให้อ่อนแอ
 

ชีวิตกับการเมือง 24 ชม.

 
ประมาณสิบวันหลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจ คสช.ได้เรียกตัวนักเคลื่อนไหว 28 คนไปรายงานตัวต่อทหารในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ซึ่งอย่างน้อย 11 คนในนั้นถูกสอบถามเกี่ยวกับละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ตลอดจนถูกบังคับให้เปิดเผยชื่อของนักแสดงแต่ละคนด้วย
 
“ผมก็เข้าใจความจำเป็นของเพื่อน ว่าถูกบีบให้คายชื่อ ก็ได้ชื่อกอล์ฟ ชื่อแบงค์ แล้วก็กับชื่อผม” ข้าวเหนียวกล่าว สามวันหลังจากนั้น ตำรวจออกหมายจับพวกเขา กอล์ฟและแบงค์ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม
 
ข้าวเหนียวเล่าว่า เขาต้องออกจากบ้านด้วยเงินสดเพียง 4,000 บาท ส่วนปุกถูกไล่ออกจากบ้านหลังญาติๆ ที่เป็นรอยัลลิสต์รู้ว่าเขาไปทำอะไรมา (ปุกเป็นเด็กกำพร้า) ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถูกขู่ฆ่าจากญาติของตัวเองอีกด้วย
 
“ผมกลัวมาก กลัวที่สุดในชีวิตเลย” ปุกกล่าว
 
ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าการอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมายอย่างไรเสียก็ดีกว่าการหลบซ่อนในไทย แต่แม้ว่าจะอยู่ต่างบ้านต่างเมือง พวกเขาก็ยังระแวงและพยายามปกปิดตัวตนเสมอ เช่น สวมแว่นกันแดดและหมวกเวลาออกไปซื้อของที่ตลอดทุกครั้ง เพราะยังคงมีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่จากไทยกำลังตามหาและอาจมาลักพาตัวพวกเขาไปได้ทุกเมื่อ นอกจากปกปิดตัวตนแล้ว ที่อยู่บ้านใหม่ของพวกเขาก็ถือเป็นความลับสุดยอดเลยทีเดียว
 
ปัจจุบัน ข้าวเหนียวและปุกอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันร่วมกับสมาชิกในบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชายล้วน ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองจากประเทศไทย หลายคนเป็นที่ต้องการตัวในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112  พวกเขาอยู่กันแบบคอมมูน สมาชิกบ้านจะลงขันคนละ 40 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน และสำหรับอาหารค่ำในแต่ละวัน ส่วนมื้อกลางวันส่วนใหญ่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
 
งานประจำของพวกเขาทุกวันนี้คือจัดรายการการเมืองรายวันผ่านระบบพ็อดแคสต์ รายได้ส่วนหนึ่งได้มาจากแฟนๆ รายการที่ช่วยกันบริจาคนั่นเอง
 
จากเดิมที่เป็นคนพูดน้อย และเก็บตัว ปุกต้องพยายามอย่างมาก เพื่อเปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวเองให้เป็นนักจัดรายการที่ดุดันและตลกขบขันเพื่อดึงดูดเงินบริจาค แต่การทำเช่นนั้นก็อาจทำให้เขาเสี่ยงที่จะมีโทษตามกฎหมายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทย
 
“ถ้าตำรวจรู้ว่าผมเป็นใคร ผมคงต้องติดคุกอีก 15,000 ปี ผมไม่เคยพูดมากขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่ก็ต้องทำ เลือกไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็อดตาย” ปุกเผย
 
ข้าวเหนียวรับหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการการเมืองและรายการเพลง นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบดูแลด้านความเรียบร้อยด้านเทคนิคของสถานีด้วย ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนคุยเรื่องการเมืองกันตลอดเวลา งานของพวกเขาก็คือการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตของพวกเขายังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองไทยด้วย ซึ่งสำหรับปุกแล้ว สภาพที่เป็นอยู่นำมาซึ่งความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
 
“ชีวตคนลี้ภัย ชีวิตไม่มีเรื่องอื่น นอกจากการเมือง เรื่องเจ้า เรื่องประยุทธ เหลือง แดง ผมฟังพวกลี้ภัยด้วยกันถกกัน ก็มีแต่เรื่องเดิมๆ ดูแล้วโคตรสิ้นหวังกับขบวนการเลย ต่างคนต่างบ้าผลประโยชน์ขนาดนี้ มันเน่าเฟะมาก ผู้ลี้ัยแข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินบริจาค” ปุกกล่าว
 
ภาวะซึมเศร้าและสุขภาพจิตของปุกแย่ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ลี้ภัยมา เพราะเขารู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายและน่าเบื่อ ประกอบกับการอยู่รวมกับเพื่อนคนอื่นเกือบตลอดเวลาในบ้านหลังเดียวกันทำให้ขาดความเป็นส่วนตัวอย่างมาก เขายอมรับว่าคิดฆ่าตัวตายวันละหลายครั้ง 
 
ที่แย่ที่สุดคือเขาไม่สามารถไปปรึกษาจิตแพทย์ในประเทศที่อาศัยอยู่ได้ เพราะเขาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
 

อนาคตที่เลือนลาง

 
อดีตนักศึกษารามฯ ปีหนึ่งคนนี้เปิดเผยกับประชาไทว่า เขาอยากเรียนต่อ เขาติดต่อไปยังสถานทูตหลายประเทศเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วแต่ยังไม่มีที่ไหนตอบกลับมาเลย
 
“ผมไปมาทุกสถานทูตแล้ว ผมอยากได้สถานะผู้ลี้ภัยจะได้ไปอยู่ประเทศที่สามและเรียนหนังสืออีกครั้ง แต่ไม่ได้เลย ตอนนี้มืดมนมาก จนแอบยอมแพ้แล้ว เริ่มหมดหวังแล้ว”
 
“ชีวิตอยู่ไปวันๆ ไร้รสชาด เช้าตื่นนอน กินข้าว อัดรายการ คุยกับแม่ยกขอตังค์ กินข้าว นอน” ปุกเสริม
 
ในทางตรงกันข้าม สำหรับข้าวเหนียวแล้ว การใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจในต่างแดนคือโอกาสที่จะได้สนุกไปกับบทบาทใหม่ นั่นก็คือการเป็นนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวการเมืองอย่างเต็มที่
 
“ข้อมูลบางอย่างถูกปิดในประเทศไทย และคนในประเทศก็หิวกระหายข้อมูลเหล่านั้น เราก็ใช้โอกาสนี้ทำให้เขาหายกระหาย” ข้าวเหนียวกล่าว
 
นักแสดงและนักเคลื่อนไหววัย 30 ปีเชื่อว่า เขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไปอีกสองปีเป็นอย่างน้อย เขาเองอยากขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่คุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไข
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งข้าวเหนียวและปุกยังรอวันที่ประเทศไทยจะเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ การเปลี่ยนแปลงภายในที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนนอกอย่างพวกเขา
 
“ผมอยากให้คนไทยเลิกชิล ใส่ใจปัญหาประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมว่า อาจต้องรอให้เศรษฐกิจพังก่อนหรือเปล่าจึงจะเห็นพวกเขามาใส่ใจสิทธิในการเลือกตั้ง” ข้าวเหนียวตั้งคำถามถึงคนไทยทุกคน
 
ปุกเสริมว่า “ผมอยากให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง ให้ระบบศักดินาหายไป และระบอบประชาธิปไตยรุ่งเรือง แต่อาจยากหน่อยเพราะคนไทยเป็นคนอดทน ดูแล้วอนาคตผมโคตรมืดเลย ตอนนี้กระแสเริ่มซาแล้ว ยอดบริจาคก็น้อย ในที่สุดอาจต้องไปทำมาค้าขายแทน”
 
ปุกบอกว่า เขาไม่ค่อยเห็นอนาคตที่จะได้กลับประเทศไทย “น่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ นี่ไม่ได้ดูถูกนะ แต่ผมเองยังมองไม่เห็นหนทางชนะจริงๆ”

ถนอม-สงัด-สุนทร-สนธิ ถอยไป เมื่อประยุทธ์ ขอเวลา 16+20 เดือน


เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 16 เดือน ของการรัฐประหาร คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที 22 พ.ค. 2557 และหลังจากที่ สปช. โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีการเสนอขยายเวลาโรดแมปของ คสช. โดยเพิ่มไปอีก '6+4+6+4' หรือ 20 เดือนจากนี้ วิษณุ เครืองาม ระบุว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 6 เดือน ลงประชามติภายใน 4 เดือน และออก กม.ลูกอีก 6 เดือน จากนั้นอีก 4 เดือนหาเสียงเลือกตั้ง
รวมทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับเลขาธิการสหประชาชาติ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 ส่งผลให้เป็นไปได้ที่อายุของการรัฐประหาร คสช. จะอยู่ไม่ต่ำกว่า 36 (16+20) เดือน ขณะก่อนหน้านั้นคณะรัฐประหารที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้ขอยอมยกเลิกการรัฐหารทั้งที่ผ่านได้เพียงสัปดาห์เดียว (อ่านรายละเอียด)
จากตัวเลขเวลา 36 เดือนดังกล่าวส่งผลให้คณะรัฐประหารของ คสช. นี้ ขอเวลาอยู่นำอำนาจยาวนานที่สุด และหากจะย้อนไปที่ใช้เวลาครองอำนาจยาวนานกว่านั้นต้องย้อนไปเกือบ 60 ปีที่แล้ว คือการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 นั้นเอง

การขอเวลาของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา 6 คณะหลังปี 2500

เกือบ 11 ปี : รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2512  เกิดขึ้นหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารในปี 2500 ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ต่อมา วันที่ 1 มกราคม 2501 พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ภายหลัง พล.อ. ถนอม กิตติขจร ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมา ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พล.อ.ถนอม จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นในเวลา 21.00 น.จอมพลสฤษดิ์ และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ก่อนหน้านั้นได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  2502 โดยมี นายทวี บุณยเกตุ เป็นประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ 22 กุมภาพันธ์  2511 ในยุคที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขึ้นมาแทน จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506
จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2512 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2511 โดยจอมพลถนอม พรรคสหประชาไทย ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ
23 เดือน : รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2516  การรัฐประหารครั้งนี้อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 23 เดือน นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง จนเกิดเหตุการณ์ ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  2516 จนมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก จนกระทั่งในเวลาหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม ได้มีประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และวันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชน ต่างพากันช่วยทำความสะอาด พื้นถนนและสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย
12 เดือนกว่า : รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 อยู่ได้ถึงแค่ 20 ตุลา 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
18 เดือน : รัฐประหาร 20 ตุลาคม  2520 ถึง 22 เมษายน  2522  รัฐประหารครั้งนี้ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจ และได้แต่งตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ  2521 แล้ว รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน  2522 หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก
เกือบ 15 เดือน : รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 อยู่ได้ถึง 17 พฤษภา 2535  การรัฐประหารครั้งนี้อยู่ในอำนาจเกือบ 15 เดือน นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวเปรียบเทียบกับรัฐประหาร คสช. ด้วยว่า ก็ยังไม่ครบเหมือนตอนนี้ ที่สำคัญ รสช เองไม่สามารถเข้าบริหารได้เอง ต้องเชิญอานันท์มาเป็น ดังนั้น ระยะเกือบ 15 เดือนนั้น ก็ไม่ใช่ รสช เต็มที่ และสะท้อนว่า ในขณะนั้น ทหารไม่สามารถจะขึ้นมาบริหารได้เอง (เพราะไม่มีฐานมวลชน ไม่มีฐานการเมืองแบบตอนนี้) และในที่สุด ที่ล้มไป ก็เพราะชนชั้นกลางในเมืองไม่เอา และสถาบันกษัตริย์เอง ก็ไม่ถึงกับเป็นเอกภาพกับทหารเต็มที่
15 เดือน : รัฐประหาร 19 กันยายน  2549 ถึง 23 ธันวาคม  2550  ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี 50 รวมอยู่ 15 เดือน โดยรัฐประหารครั้งนี้นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง คมช. ก็ได้เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มาเป็นนายกฯ
ทั้งนี้ไม่รวมผลพวงของระบอบรัฐประหาร ผ่านสถาบันทางการเมืองจาก รธน. ที่มีผลบังคับใช้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่างๆ ทาการเมืองด้วย

ประยุทธ์ให้คำมั่นยูเอ็นมุ่งสร้างสังคมไทยที่เคารพความเป็นมนุษย์-ยอมรับเท่าเทียม


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อรับรองวาระการพัฒนาหลังปี 2015 ยืนยันว่ามนุษย์คือสาเหตุหลักของโลกร้อน ไทยจะพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเคารพธรรมชาติ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสังคมที่ความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน พร้อมร่วมมือกับโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ทุกคนเข้มแข็ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในที่ประชุม "UN Summit for the Adoption of the Post-2015 Development Agenda" เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558 ที่องค์การสหประชาชาติ, นิวยอร์ก (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (UN Summit for the Adoption of the Post-2015 Development Agenda) ยืนยันว่า จะพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเคารพธรรมชาติ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างสังคมที่ความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยมีรายละเอียดตามที่เผยแพร่เป็นวิดีโอในเว็บไซต์รัฐบาลไทยดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าเดินทางมาร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลและชาวไทยในการร่วมกับประชาคมโลก ที่จะทำให้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุผลตามที่ได้ตั้งใจไว้
และยินดีมากที่วาระการพัฒนาใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องคน เพราะคนเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด และเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับการกระทำของเรานั้นอยู่ที่จะกำหนดความอยู่รอดของคนหลังว่าอย่างไร เพราะทุกวันนี้แน่ชัดแล้วว่ามนุษย์คือสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งเป็นคุกคามภัยร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจำเป็นต้องตัดสินใจกันว่าจะยังคงบริโภคกันอย่างไม่ยับยั้งและมุ่งมั่นแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือจะเลือกอยู่อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นชีวิตที่มีคุณภาพ พอเพียง และสมดุล
เราสามารถเลือกที่จะเคารพธรรมชาติ ไม่มองธรรมชาติเป็นทรัพย์สินแต่เพียงอย่างเดียว ทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนให้คนไทยมีเหตุผล รู้จักความพอดี สร้างความต้านทาน และช่วยนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้ง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2543 (หมายเหตุ: พล.อ.ประยุทธ์น่าจะหมายถึงสึนามิปี พ.ศ. 2547) ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเป็นพื้นฐานการจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2558-2563 และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป
โลกคงยังประสบความท้าทายเร่งด่วน คือ ความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นพื้นฐานของปัญหามากมาย เช่นปัญหาความยากจน การแย่งชิงทรัพยากร การโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นปัญหาพื้นฐานของปัญหามากมาย และยังเป็นปัจจัยบ่มเพาะความรุนแรงในสังคมอีกได้
การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการวางกรอบกติกาของสังคมให้มั่นคงและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีความเสมอภาคและมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม จำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐ ด้วยหลักธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ขจัดการทุจริตและระบบอุปถัมภ์  รัฐบาลจึงออกกฎหมายหลายฉบับ ที่จะสร้างความทัดเทียม เช่น กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ
การขจัดความเหลื่อมล้ำเริ่มจากการยอมรับในคุณค่าของคนทุกคน รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับกลุ่มที่เปราะบาง โดยจัดวางมาตรการต่างๆ เช่น การประกันสุขภาพทั่วหน้า การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งการให้เงินอุดหนุนรายครัวครอบครัวยากจน เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดรายเดือน
รัฐบาลพยายามสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคคลและครอบครัว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้สังคมมีความกลมเกลียวเหนียวแน่น ไม่แต่เฉพาะคนไทย รัฐบาลยังให้การคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมืออีกด้วย ปีที่แล้วไทยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากกว่า 1.6 ล้านคน มาตรการนี้ช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญในการพัฒนาข้อมูลสถิติที่ครอบคลุมและจำแนกตามกลุ่มคน เพื่อกำหนดนโยบายและตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ เราต้องทำให้สังคมมองเห็นคนเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับความเคารพความเป็นมนุษย์ มีเมตตา และยอมรับความเท่าเทียมกัน โดยปลูกฝังทัศนคติเหล่านั้นให้กับลูกหลานของเราแต่เยาว์วัย
การขจัดความเหลื่อมล้ำ ต้องมาจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐบาลเน้นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจและสังคมมาจากฐานราก ให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการขยายการลงทุนสู่ท้องถิ่น ผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับสังคมในชนบท
นอกจากนั้นยังเน้นการดูแลเกษตรกรอย่างเต็มที่ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิ้น ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัจจุบันคนไทยทั่วประเทศมีงานทำแทบทุกคน และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน "Smart Job Centre" ให้ผู้มีรายได้น้อยมีช่องทางในการหางานทำด้วย
การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นเฉพาะเรื่องภายในของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องช่วยกันขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศผ่านความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เรามุ่งหวังสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวจังหวัดชายแดน 6 แห่ง ภายใต้แนวคิดไทยบวกหนึ่ง และจะพัฒนาขยายความร่วมมือกับเพื่อนเรานอกภูมิภาคด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า "เมื่อประชาชนเข้มแข็ง ประเทศและโลกก็จะเข้มแข็งไปด้วย ในอีก 15 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำและความยากจนจะลดน้อยลง ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การสหประชาชาติ  เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกคนเข้มแข็งด้วยกัน อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขอบคุณครับ Thank you"