วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ออกแถลงการณ์-เตรียมประท้วงที่มิลานต้านประยุทธ์ประชุมอาเซม

ป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดที่มิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซม ครั้งที่ 10
15 ต.ค.2557 กลุ่มเอเชียเฮาท์ Asienhaus กลุ่มนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (International Solidarity Group for Democracy and Human Rights in Thailand) และ แอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลเผด็จการทหารไทย กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนอิตาลี เพื่อร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป 16-17 ต.ค.นี้  ขณะที่เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า วันนี้หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางถึงนครมิลานได้เดินทางต่อไปยังโรงแรม starhotels Rosa Grand ที่พัก ก็ได้มีคนไทยจำนวนหนึ่ง นำรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ธงชาติไทย ป้ายข้อความ และมอบดอกไม้ มาให้กำลังใจกันอย่างคึกคัก แต่ก็มีคนไทยบางส่วนที่มาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน โดยรายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
000
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แกนนำก่อการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก (รัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2487) และปัจจุบันคือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งตนเองในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 กำลังเดินทางมาเยือนมิลานกับคณะติดตามจำนวนมากเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 10 (อาเซมครั้งที่ 10) ในวันที่ 16-17 ตุลาคม
นอกจากจะเหยียมหยามการต่อสู้อันยาวนานเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของประชาชนชาวไทยแล้ว รัฐบาลอาชญากรของประยุทธ์ยังเป็นภัยต่อการพัฒนาสังคมพลเรือนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย และด้วยเหตุผลนี้ พลเมืองผู้มีความกังวลใจทั้งในเอเชียและยุโรปจึงขอเรียกร้องให้สาธารณชนในอิตาลีร่วมใจกันประท้วงและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม เวลา 18.00 น. ที่ Piazza Duomo เพื่อต่อต้านการเข้าร่วมการประชุมอาเซมครั้งที่ 10 ของรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งนำโดยประยุทธ์
พลเอกประยุทธ์จะต้องไม่ได้รับโอกาสเข้ามาเก็บสะสมตราประทับรับรองรัฐบาลของเขาในอิตาลี หรือประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป
หลังจากการทำรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ได้บังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศไทยทันที ทำให้การรวมตัวของประชาชนมากกว่า 5 คนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ยกเว้นในพื้นที่ท่องเที่ยว) ผู้คนหลายร้อยคน รวมถึงนักการเมืองผู้มีชื่อเสียง นักวิชาการ นักศึกษาและผู้นำชุมนุมถูกจับกุม สอบสวน คุมขังเพื่อเอาไป “ปรับทัศนคติ” และถูกบังคับให้ลงนามยอมรับเงื่อนไขไม่ทำกิจกรรมใดๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร
พลเอกประยุทธ์ได้แต่งตั้งพวกพ้องของตนเองจำนวน 200 คน รวมถึงนายทหารระดับนายพลจำนวน 97 นายให้เข้าไปนั่งในสภาฯ ที่ถูกเรียกว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” พลเอกประยุทธ์จัดตั้งสภาฯ นี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ประยุทธ์แต่งตั้งน้องชายตนเอง (หลังจากที่เลื่อนตำแหน่งในกองทัพให้) ให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่สามซึ่งควบคุมผู้ต่อต้านในภาคเหนือ และแต่งตั้งคนของตนเองให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญในข้าราชการ ในขณะที่รัฐเผด็จเผด็จการของเขาได้ควบคุมปิดกั้นสื่อและอินเตอร์เน็ตอย่างรุนแรง เป้าหมายของเขาเป็นไปเพื่อรับรองว่ากองทัพและกลุ่มอำมาตย์นิยมกษัตริย์จะกลับมามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้ง
ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่าประยุทธ์มีเจตนาที่จะปล่อยให้กระบวนการทางประชาธิปไตยในไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง
ประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตย และอาเซมซึ่งอ้างว่าสนใจเสริมสร้างบทบาทของสังคมพลเรือน พลเอกประยุทธ์ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อปิดปากสังคมพลเรือนในประเทศไทยและไม่สมควรได้รับการต้อนรับจากอาเซม หรือสหภาพยุโรป
แถลงการณ์สุดท้ายของเวทีการประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรป (AEPF 10) ที่จัดขึ้นในมิลานระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคมได้อธิบายสถานการณ์ไว้ดังนี้:
AEPF 10 (การประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10) ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการทำรัฐประหาและการสถาปนารัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไทย พวกเราห่วงใยเป็นพิเศษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยขน การจับกุมและการคุกคามโดยเผด็จการทหาร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรายวัน รวมทั้งความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นของการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร และการข่มขู่คุกคามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
พวกเราขอเสนอแนะถึงมาตรการแรกที่ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน ต่อรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งหลาย คือ การรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ที่อยู่ภายใต้การคุกคามและถูกดำเนินคดีในประเทศไทย
ASEM คือกระบวนการของรัฐบาลพลเรือน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และรัฐบาลประชาธิปไตยทุกประเทศที่ร่วมในการเจรจา ASEM จำเป็นต้องยึดมั่นในการดำรงหลักการแห่งรัฐบาลพลเรือนนี้ไว้ รัฐบาลทั้งหลายจะต้องไม่ยอมให้เผด็จการทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุม ASEM10 ของพวกเขา”
ข้อมูลเกี่ยวกับประยุทธ์
จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และเป็นทหารกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ประยุทธ์เป็นผู้ร่วมจัดเตรียมการทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2549 เขาเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร 40,000 นาย จากทหารรักษาพระองค์ ในการปราบปรามการชุมนุมของพลเรือนอย่างรุนแรงในปี 2553 ซึ่งมีคนจำนวน 100 คนถูกกองทัพยิงสังหาร และอีก 2000 คนได้รับบาดเจ็บ การทำรัฐประหารที่เขาเป็นผู้นำในเดือนพฤษภาคมปีนี้คือการสร้างความแข็งแกร่งในการขึ้นสู่อำนาจของเขา แม้ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งตนเองอย่างพลเอกประยุทธ์จะเดินทางมายุโรปภายใต้เสื้อผ้าพลเรือน แต่แท้จริงแล้ว เข้ายังคงเป็นผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งโดยกองทัพและมีอำนาจควบคุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ร่วมประกาศโดย เอเชียเฮาท์ Asienhaus กลุ่มนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (International Solidarity Group for Democracy and Human Rights in Thailand) และ แอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM)

พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับชินโซ อาเบะ-อียูยังไม่เจรจาเอฟทีเอ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2557 ระหว่างการเยือนอิตาลีเพื่อร่วมประชุมอาเซม ครั้งที่ 10 (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้นำจีน ช่วงการประชุมเอเชีย-ยุโรป ขณะที่เจ้าหน้าที่การค้ายุโรปเปิดเผยกับ "นิคเคอิ เอเชียน รีวิว" ว่ายังไม่มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป จนกว่าจะมีรัฐบาลเลือกตั้ง
ในเมืองมิลาน มีเยาวชนออกมาเดินขบวนประท้วงผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 โดยในจำนวนนี้มีผู้ถือป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ที่มา: รับชมภาพทั้งหมดที่ milano.repubblica.it)

16 ต.ค. 2557 - ทั้งนี้ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 (ASEM 10) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้หารือทวิภาคีกับ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะกับทีมประเทศไทยในสาธารณรัฐอิตาลีและนักธุรกิจไทยที่มาร่วมการประชุมสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Business Forum – AEBF) ณ โรงแรมที่พัก
เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น กล่าวถึงกำหนดการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำไทย-ญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ยังเรียกตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล หรือ interim prime minister
นอกจากนี้ในรายงานข่าวหัวข้อ "Thailand's coup leader works to win over EU's diplomats" โดย Simon Marks ที่เผยแพร่ในนิคเคอิ เอเชียน รีวิว เมื่อวันที่ 14 ต.ค. เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของสหภาพยุโรป ที่ระบุว่า แม้ไทยกับสหภาพยุโรปเจรจากันสองรอบก่อนหน้านี้ แต่เวลานี้ยังไม่มีแผนที่กลับมาเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศไทย จนกว่าไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีกำหนดพบนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และกัมพูชาด้วย (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)
และหลังการพบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ รวมทั้งการเข้าร่วมพิธีเปิด และเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-สหภาพยุโรป อย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN-EU Leaders’ Meeting) โดยในช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีกำหนดการเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายจิออร์จิโอ นาโปลีตาโน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิตาลีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 ด้วย

ผบ.ทบ. ย้ำให้ทหารพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันฯ ยึดความเป็นทหารอาชีพ

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ให้กำลังพลทุกนายพิทักษ์เเละเทิดทูนไว้สถาบันพระมหากษัตริย์ ยึดความเป็นทหารอาชีพ กำชับทุกภาคส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ทบ. เตรียมแนวทางช่วยประชาชนรับมือภัยแล้ง

15 ต.ค.2557 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีสถาปนากองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ครบรอบ 104 ปี พร้อมให้โอวาทตอนหนึ่งว่า รู้สึกภาคภูมิใจเเละเป็นเกียรติที่เดินทางมาเยี่ยมในวันนี้ เห็นการเปลี่ยนเเปลงที่มีการพัฒนาการไปในเเนวทางที่ดี กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ถือเป็นหน่วยหลักของกองทัพบกที่มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจในทุก ๆ ด้าน ทั้งการป้องกันชายแดนทางด้านตะวันออก การเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ และการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย
“ปี 2558 นี้ ได้กำหนดให้เป็นปีเเห่งการปฏิบัติงานกองทัพบก ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ และเป็นรูปธรรมในทุกด้าน การปฏิบัติงานในปัจจุบัน นอกจากหน้าที่ความรับผิดชอบตามปกติแล้ว กองทัพบกยังมีภารกิจที่สำคัญยิ่ง ขอให้กำลังพลทุกนายและทุกหน่วยยึดถือปฏิบัติ คือ การพิทักษ์เเละเทิดทูนไว้สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยทุกคน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อให้การบริหารราชการของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชานมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ขอให้กำลังพลทุกนายยึดความเป็นทหารอาชีพ เเละเป็นทหารของชาติที่มุ่งมั่น ปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบของตัวเองให้ดีที่สุด ขอให้ยึดมั่นว่าการทำหน้าที่เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน เป็นสิ่งสำคัญในหน้าที่ของทหารอย่างเเท้จริง ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามคติพจน์ หรือคำขวัญในปีนี้ว่า ร่วมใจ ริเริ่ม จริงจัง เพื่อชาติ และราชบัลลังก์
กำชับทุกภาคส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาภาคใต้
พล.อ.อุดมเดช กล่าวด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับโรงเรียน จัดทำเป็น "ทุ่งยางแดง โมเดล" ทั้งนี้ ได้กำชับทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร และพลเรือน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยเสริม ยืนยันจะพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวได้ผลดีในทางปฏิบัติ จะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
ส่วนโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากการโดนลอบวางเพลิง เตรียมหาโอกาสลงพื้นที่ไปรับทราบปัญหาต่างๆ พร้อมจัดสรรงบประมาณช่วยซ่อมแซมโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้นักเรียนได้มีที่เรียนชั่วคราวทันเปิดเรียนวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ เห็นว่าการกระทำของกลุ่มคนร้ายดังกล่าว เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเน้นย้ำด้านการข่าวและการปฏิบัติการเพื่มความเข้มงวด เพื่อสร้างสันติสุขในหมู่บ้าน
เตรียมแนวทางช่วยประชาชนรับมือภัยแล้ง
พล.ต.ธเนศ กาลพฤกษ์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก เป็นประธานการประชุมศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดกรอบแนวทางการช่วยเหลือประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง
พล.ต.ธเนศ กล่าวว่า โดยที่ประชุมได้วิเคราะห์ข้อมูลว่าจากการติดตามสถานการณ์ฝนตกในประเทศไทย  ซึ่งมีปริมาณที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ และปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 57-58 ประเทศไทยน่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว ได้กำชับให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม” พล.ต.ธเนศ กล่าว
พล.ต.ธเนศ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันเตรียมแผนงาน/โครงการของแต่ละส่วน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และแหล่งน้ำในชุมชน การซ่อมบำรุงประตูระบายน้ำ , การจัดหาแหล่งเก็บน้ำเและจุดแจกจ่ายน้ำกลางของชุมชนเพื่อการอุปโภค-บริโภค , การซ่อมแซมระบบส่งน้ำ , การขุดเจาะและซ่อมบ่อบาดาล, การสำรวจพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้ง
“ทุกงานเป็นการเตรียมความพร้อมของส่วนราชการตามนโยบายของรัฐบาล โดย กองทัพบกจะมอบให้หน่วยทหารในทุกพื้นที่ ประสานงานกับจังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่บัดนี้ พร้อมกับจะใช้ศักยภาพของสื่อในเครือกองทัพบก เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งข้อมูลน้ำในภาพรวม และหากเกิดภัยแล้งในพื้นที่ใดก็จะเข้าช่วยเหลือร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ตามแผนงานที่วางไว้ โดยเฉพาะการแจกจ่ายน้ำเป็นการเร่งด่วน” พล.ต.ธเนศ กล่าว

'กฤษฎีกา' ตอบสำนักเลขานายกฯ ชี้ประกาศ คสช.เป็นกฎหมาย-คำสั่งบริหาร


วิษณุหารือกฤษฎีกาถึงคำสั่งคสช.หลายฉบับ กฤษฎีกาชี้บ้างเทียบเท่ากฎหมาย บ้างเทียบเท่าคำสั่งทางบริหาร รวมทั้งประกาศ 26/2557 การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ กระทบเสรีภาพประชาชน 'จึงมีสถานะเป็นกฎหมาย'
15 ต.ค.2557 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอหารือเกี่ยวกับสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางฉบับว่าเป็นกฎหมายหรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่ หรือที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิม หรือมีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย เป็นกฎหมาย ส่วนประกาศหรือคำสั่งที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ทั้งชุด เป็นคำสั่งทางบริหาร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตด้วยว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. จำนวนมาก ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน คสช.เป็นกรรมการบ้าง ให้ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการแทนที่รัฐมนตรีบ้าง ซึ่งอาจจำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงควรต้องรีบเร่งพิจารณาคำสั่งแต่ละฉบับว่าจะยังให้คงอยู่ต่อไป หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.หรือปลัดกระทรวงต่อไป มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ได้

เรื่องเสร็จที่ ๙๕๓/๒๕๕๗

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง  สถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ
                 
                 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๔๐๑.๖/๓๓๕๕ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่ได้มีประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับกำหนดมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายและตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาใช้บังคับ เช่น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นั้น รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ และหากจะมีการแก้ไของค์ประกอบ รายชื่อ หรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวเพื่อกลับไปสู่หลักการตามกฎหมายเดิมจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

                  คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา ๔๗[๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีทั้งที่มีฐานะเป็นกฎหมาย (ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย) และที่มีฐานะเป็นกฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง การจะทราบว่าประกาศหรือคำสั่งใดมีฐานะอย่างใด จำเป็นต้องตรวจสอบสาระสำคัญของประกาศหรือคำสั่งแต่ละฉบับ เป็นกรณีๆ ไป จากการตรวจสอบประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ พบว่า ปัจจุบันมีประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มิใช่เป็นเรื่องภายในของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นการเฉพาะ และยังคงมีผลใช้บังคับอยู่และมีการกำหนดเกี่ยวกับองค์ประกอบหรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวน ๔๘ ฉบับ โดยสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
      ๑. ประเภทที่เป็นกฎหมาย สามารถแบ่งได้เป็น ๓ กรณี ดังนี้
  • ๑.๑ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่ มีจำนวน ๓ ฉบับ ทั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ ๑
  • ๑.๒ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิม มีจำนวน ๕ ฉบับ  ทั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ ๒
  • ๑.๓ กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีประสงค์จะใช้เป็นการชั่วคราว มีจำนวน ๙ ฉบับ  ทั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ ๓

        ๒. ประเภทที่เป็นประกาศหรือคำสั่งทางบริหาร มีจำนวน ๓๑ ฉบับ  ทั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ ๔ ในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว หากประกาศหรือคำสั่งใด มีฐานะเป็นกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกย่อมต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป  ส่วนประกาศหรือคำสั่งใดมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกย่อมต้องทำโดยคำสั่งทางบริหารหรือโดยมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

(นายดิสทัต  โหตระกิตย์)
รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตุลาคม ๒๕๕๗
 
เอกสารแนบ ๑
กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่เป็นกฎหมายใหม่

                 
  • ๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๖/๒๕๕๗ เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้คณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ มีอำนาจระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งข้อความ รูปภาพ ภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง และคลิปเสียง ที่ฝ่าฝืนได้ อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง ผู้รักษาการประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และการขออนุมัติโครงการใหม่ หรือการทำธุรกรรมที่มีวงเงินเกินหนึ่งร้อยล้านบาทของรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๘/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้ในกรณีที่ตำแหน่งประธานกรรมการของรัฐวิสาหกิจใดว่างลง นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หากยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการขึ้นใหม่ ให้รองประธานกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการ อันเป็นการกำหนดกลไกขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับกับกฎหมายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๓/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากในข้อ ๑ ของคำสั่งฉบับนี้ได้กำหนดให้คณะทำงานปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
                 
เอกสารแนบ ๒
กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิม             
  • ๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๑/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗  เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติให้ยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการที่จะยกเลิกกฎหมายได้ จะต้องมีฐานะเป็นกฎหมายที่ไม่ต่ำศักดิ์กว่ากัน ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๓. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗  เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมาย โดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๔. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๕. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย          

เอกสารแนบ ๓

กรณีที่เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผลเป็นการยกเว้น เปลี่ยนแปลง หรือระงับใช้กฎหมาย หรือเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย
  • ๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ แม้ประกาศฉบับนี้จะไม่มีบทบัญญัติให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แต่ผลของบทบัญญัติต่างๆ ทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ต้องระงับการใช้บังคับ เช่น ในข้อ ๑ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ซึ่งโดยปกติบทบัญญัติที่มีผลให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ ย่อมต้องมีฐานะไม่ต่ำศักดิ์กว่ากฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๖/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗  ประกาศฉบับนี้มีสาระและฐานะเช่นเดียวกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ฯ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ ๑ ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๓. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕/๒๕๕๗ เรื่อง การให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗  ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๓ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามประกาศนี้ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ซึ่งโดยปกติบทบัญญัติที่มีผลให้กฎหมายใช้บังคับไม่ได้ย่อมต้องมีฐานะไม่ต่ำศักดิ์กว่ากฎหมาย ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๔. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗  ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๒ ของประกาศฉบับนี้ กำหนดยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่แต่งตั้งตามประกาศนี้ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมายด้วยเหตุผลเดียวกับกรณีที่กล่าวข้างต้น                                                          อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตว่า แม้ประกาศฉบับนี้ จะกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศนี้ มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการให้มีผลเป็นการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นการชั่วคราว แต่การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศฉบับนี้อาจเกิดปัญหาในอนาคตหากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยชื่อต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ จะมีผลให้ไม่สามารถตั้งผู้อื่นแทนได้
  • ๕. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลง ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗  ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๒ ของประกาศนี้กำหนดว่า กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องใด ให้บทบัญญัติว่าด้วยส่วนดังกล่าวเป็นอันงดใช้บังคับ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายถูกระงับไป ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๖. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒๐/๒๕๕๗ เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๑/๒๕๕๗ และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗  ประกาศฉบับนี้มีผลทำให้บทบัญญัติในกฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับไม่ได้ เช่น ในข้อ ๓ (๒) ของประกาศนี้กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ๒๕๔๓ อันมีผลให้บทบัญญัติดังกล่าวในกฎหมายถูกระงับไป ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานอันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗  เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อันเป็นอำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโดยปกติต้องออกเป็นกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๔๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๔๕ฯ จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย
  • ๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗  เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมและพิจารณาอนุมัติคำขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือ ซึ่งจะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ยกเลิกคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ จึงมีผลให้คณะกรรมการทั้งสองชุดเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่ขนานกัน จึงมีลักษณะเป็นการสร้างกลไกขึ้นมาคู่ขนานกับกลไกที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย คำสั่งฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นกฎหมาย


              อนึ่ง ประกาศและคำสั่งในลำดับที่ ๔ ลำดับที่ ๖ ลำดับที่ ๗ ลำดับที่ ๘ และลำดับที่ ๙ ได้เปลี่ยนแปลงหรือสร้างโครงสร้างของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องขึ้นใหม่ให้ผิดไปจากที่เป็นอยู่ตามปกติ โดยกำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวง
เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแทนรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว จะสมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้ารับผิดชอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่

             นอกจากนั้น ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีบางฉบับก่อให้เกิดคณะกรรมการคู่ขนานกันจนไม่ทราบได้ว่าคณะกรรมการชุดใดจะรับผิดชอบหรือมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แท้จริง หากประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงในทางปฏิบัติได้ จึงสมควรยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้โดยเร็ว และหากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ก็สมควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนต่อไป
                 
เอกสารแนบ ๔
ประเภทที่เป็นประกาศหรือคำสั่งทางบริหาร

                
  • ๑. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๖/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศฉบับนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่มีอำนาจหน้าที่ใดกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร
  • ๒. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗   เนื่องจากเป็นประกาศที่เพียงแต่แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศฉบับนี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร
  • ๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๗/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการต่างๆ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพิ่มเติม ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๑๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๗/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๑๒. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๑/๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๑๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙๑/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๑/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จังหวัด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๑๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  •                 
  • ๒๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอาหาร ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๒๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๐/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๒๒. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๒/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๒๓. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางพระพุทธศาสนา ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

  • ๒๔. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ ๔ สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๒๕. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๒๖. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑๙/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมาย ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
  • ๒๗. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๘/๒๕๕๗ เรื่อง เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
  • ๒๘. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๓/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๒๙. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๕/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๓๐. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๖/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีข้าวคงเหลือของรัฐ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗
  • ๓๑. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗๗/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

          บรรดาคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่แต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ในลำดับที่ ๓ ถึงลำดับที่ ๓๑ ข้างต้นเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมิได้มีการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ใดที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แม้บางคำสั่งจะมีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่เดิม แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวก็มีฐานะเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารอย่างหนึ่งเท่านั้น (เช่น คำสั่งในลำดับที่ ๑๒) คำสั่งเหล่านี้จึงมีฐานะเป็นคำสั่งทางบริหาร การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกอาจทำได้โดยคำสั่งทางบริหารของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

         สำหรับคำสั่งในลำดับที่ ๒๐ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีความเห็นว่า แม้ว่าในคำสั่งจะกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละชนิด แต่อย่างไรก็ดี อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามคำสั่งฉบับนี้ เป็นเพียงการกำหนดนโยบายและมาตรการในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนำไปดำเนินการต่อไปเท่านั้น โดยคณะกรรมการตามคำสั่งฉบับนี้มิได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
          อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกรรมการบ้าง ให้ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการแทนที่รัฐมนตรีบ้าง ซึ่งอาจจำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี  บัดนี้ มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาคำสั่งแต่ละฉบับว่าจะยังให้คงอยู่ต่อไป หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงต่อไป มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ได
 
            ส่งพร้อมหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๔/๔๕๙ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • [๑] มาตรา ๔๗  บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก

          ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งใด ที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๔ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง ให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งนั้นหรือทรงให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งนั้นด้วย