วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สมัชชาเสรี มช. แจกเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญมีชัย - จนท.สภาตามเก็บเกลี้ยง


สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร เปิดเวทีสัญจร 3 จังหวัด “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง” โดยเวทีซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฯ เดินแจกเอกสาร “ความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ” แต่แจกไปได้ 5 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินเก็บเอกสารคืนทั้งหมด
ที่มาของภาพ: เพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย
4 ก.ค.59 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม 40 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง” โดยเดิมนั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีกำหนดเดินทางมาร่วมงาน แต่ได้ยกเลิกกำหนดการมา วิทยากรหลักที่ร่วมพูดคุยในงานเสวนาจึงมีนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ตามจดหมายและเอกสารของโครงการเสวนา นี้ที่สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรทำถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุวัตถุประสงค์กิจกรรมว่าเพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการก่อนและหลังทำประชามติ จนนำไปสู่การเลือกตั้ง จึงมีการขอให้ส่งนักศึกษาในสถานศึกษาเข้าร่วมจำนวนคณะละ 15 คน
ตัวโครงการระบุว่าได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad Adenauer Foundation) จำนวน 700,000 บาท เพื่อจัดเวทีในลักษณะนี้จำนวน 3 ครั้ง ใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากิจกรรมมีผู้เข้าร่วมราว 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับค่าเดินทางจำนวน 100 บาท นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจราว 40 นาย คอยสังเกตการณ์ในเวทีเสวนา
ทั้งนี้ในระหว่างการเสวนาได้มีกลุ่มนักศึกษาจากสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ได้เดินแจกเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดทำโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อย่างไรก็ตามผู้จัดงานไม่ยอมให้มีการแจกเอกสารดังกล่าว โดยเมื่อกลุ่มนักศึกษาแจกเอกสารดังกล่าวได้ราว 5 นาที ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินเก็บเอกสารดังกล่าวไปในทันที แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดกับผู้แจกเอกสาร

'ธิดา' ชี้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรเรียก 'ประชามติ'



4 ก.ค. 2559 MGR Online และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ระบุว่า ในเวทีโต๊ะกลม หัวข้อ “ถกแถลงสาธารณะ มองไปข้างหน้า หลังประชามติ” ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายได้ตั้งสมมติฐานถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และคำถามพ่วงไม่ผ่านการประชามติ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ขาดองค์ประกอบของประชาชน จึงขอให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เป็นเพียงรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ถาวรต่อไป โดยมีทางเลือก 2 ทาง คือ คสช.ยังคงมีบทบาทนำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 อยู่ หรือ คสช.ปล่อยมือ เน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกที่มีที่มาอย่างหลากหลาย เชื่อว่าจะทำให้เป็นที่ยอมรับ และการเมืองจะมีเสถียรภาพทางการเมือง       
ด้าน จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อประชาชนศึกษาข้อมูลแล้วคงจะออกเสียงประชามติไปในทางเดียวกันทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง คือผ่านหรือไม่ผ่านทั้งคู่ แต่ปัญหาคือประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ เพราะการแสดงความเห็นถูกปิดกั้นมาก หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านทั้งสองอย่าง ส่วนตัวอยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประเด็นที่เป็นปัญหามาก คือ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านแล้ว คสช.จะไปเร็ว
      
ขณะที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช.เห็นว่า กระบวนการในขณะนี้มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นประชามติครั้งนี้ไม่สมควรเรียกว่าประชามติ และเชื่อว่าจะมีวิกฤติเกิดขึ้นก่อนวันที่ 7 ส.ค. เพราะ ฮิวแมนไรต์วอตช์ประกาศให้นานาประเทศไม่ควรรับผลประชามติเนื่องจากมีการปิดกั้นความเห็นต่างๆ ดังนั้น สมมติฐานที่ระบุว่าวันที่ 7 ส.ค.จะไม่มีการทำประชามติก็อาจเป็นได้ หรือถ้ามีแล้วร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านต้องดูว่าจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีก
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านทั้งคู่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้กระบวนการเลือกตั้งช้าไป 2 เดือน คือ การเลือกตั้งเกิดขึ้นเดือนตุลาคม 2560 แต่หากร่างรัฐธรรมนูญคำถามพ่วงไม่ผ่านจะมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2560 ตามปกติ หรือหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแต่คำถามพ่วงผ่าน และทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านการลงประชามติ การเลือกตั้งจะช้าออกไป 3-4 เดือน เพราะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่จะไม่ผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 แน่นอน ส่วนประชาชนจะเลือกแนวทางไหน ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดของประชาชนในสังคม และอยู่ที่ฝ่ายใดจะโน้มน้าวจูงใจคนในสังคมมากกว่ากัน

ประวิตรยันไม่ใช่คนกดดันให้ ทร.เลือกซื้อเรือดำน้ำจากจีน



Mon, 2016-07-04 23:44


4 ก.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงาน ถึงท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมต่อกรณีการแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ โดย พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ ว่า แผนจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่าลำละ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ถือว่าไม่มากเนื่องจากสามารถผ่อนชำระเป็นเวลาร่วม 10 ปี ทั้งยังสามารถใช้งานได้ยาวนาน ส่วนเรื่องเทคโนโลยีของจีนที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่าสู้ชาติอื่นไม่ได้นั้น ตนรับรองว่ามันดีแล้ว ใช้ได้แน่นอน แล้วเป็นเทคโนโลยีใหม่

ล่าสุดวันนี้(4 ก.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นไปตามแผนของกองทัพเรือที่ดำเนินการมานานแล้ว โดยผ่านคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเลือกจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีขั้นตอนต่างๆ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

พล.อ.ประวิตร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่กองทัพเรือจะจัดซื้อเรือดำน้ำ มักจะมีกระแสต่างๆ ออกมาเสมอ ทั้งที่กองทัพเรือได้พิจารณาทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ เชื่อมั่นว่า เรือดำน้ำจีนมีความเหมาะสม ทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ เพราะภายใต้งบประมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถซื้อเรือดำน้ำที่มีราคาสูงของบางประเทศได้

"ผมไม่ใช่เป็นผู้กดดันให้กองทัพเรือเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน" พล.อ.ประวิตร กล่าวยืนยัน

แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจม.กดดันไทยปล่อยตัว-ยกเลิกข้อหา 13 รณรงค์ประชามติ


5 ก.ค.2559 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานกรรมการการเลือกตั้ง เรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ 13 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่โดนจับกุมและตั้งข้อหาจากการรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยกิจกรรมระบุว่า ผู้ที่สนใจสามารถเขียนในภาษาไทยหรือภาษาของท่านเองโดยมีเนื้อหา แสดงความกังวลกรณีนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 13 คนถูกจับและตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ กระตุ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 13 คนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และกระตุ้นให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการเมือง
 
ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปจนถึงวันที่ 15 ส.ค. 2559 (อ่านรายละเอียดการรณรงค์ที่ได้เว็บไซต์แอมเนสตี้ฯ)

ศาลทหารยกคำร้องฝากขัง ปล่อย 7 น.ศ. ระบุไม่มีเหตุให้ฝากขังต่อ


NDM แสดงความดีใจหลังทราบข่าวศาลทหารยกคำร้องฝากขังเพื่อนเจ็ดคนที่รณรงค์ประชามติต่อ  

 
5 ก.ค. 2559 เวลา 15.25 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารยกคำร้องฝากขัง ปล่อย 7 น.ศ. ระบุพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีเหตุให้ฝากขังต่อ
หลังฟังคำสั่งศาล ผู้ต้องขังทั้งหมดกอดกัน โดยหลายคนร่ำไห้

สำหรับกระบวนการต่อไปจะมีการนำผู้ต้องหาทั้งหมดไปปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คาดว่าจะปล่อยตัวพรุ่งนี้เช้าตรู่ ในช่วงเช้าเนื่องจากยังไม่ครบผัด 12 วันเต็ม
7 น.ศ.ประกาศอดอาหาร ยันไม่ได้ทำสิ่งใดผิด ลุ้นศาลมีคำสั่งปล่อยตัวหรือไม่ บ่ายนี้
เวลา 14.28 น. ที่ศาลทหาร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว รอฟังคำสั่งศาลบ่ายนี้ โดยในการไต่สวนวันนี้ พนักงานสอบสวน-ผู้ต้องหา เข้าร่วม โดยพนักงานสอบสวนยืนยันฝากขังผัดสองแม้ว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำสำนวนคดีเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างส่งผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ ด้านจำเลยทั้งเจ็ด มีตัวแทนกล่าวแถลงต่อศาล คือ รังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท มธ. และ นันทพงศ์ ปานมาศ นักศึกษาปริญญาโท รามคำแหง

นันทพงศ์ กล่าวว่า "ผมปวดใจ ผมนั่งสั่นตลอดเวลาที่ฟังการพิจารณาคดี วันที่มีการจับกุม วันนั้นมีพยานหลักฐานชัดเจน ว่าปลัดอำเภออนุญาตให้นักศึกษาแจกเอกสาร รวมถึงทหารเรือ ยศร้อยโท ร้อยเอกก็อยู่ด้วย"

นันทพงศ์ กล่าวว่า "การกักขังพวกผมในเรือนจำทั้งที่พวกผมไม่ได้ทำอะไรผิด ทำให้ทุกคนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมากที่สุดแล้ว แต่ในวันนี้ผมอยากเรียนศาลว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พวกผมไม่ประกันตัว คือผมไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่สมควรขึ้นศาลทหาร ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมมีหน้าที่ตอบแทนภาษีประชาชน

"วันนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไร หากต้องอยู่ในเรือนจำจนตายในเรือนจำ ก็ยังจะยืนยันสิ่งที่กล่าวไป และจะขออนุญาตอดอาหารนับแต่นี้" นันทพงศ์ กล่าว

ผู้คุมพยายามห้ามรังสิมันต์ หลังจากเขาลงจากรถชูกำปั้นและตะโกนว่า รณรงค์เป็นสิทธิ

นันทพงศ์ ปานมาศ

 
ภาพโดย Banrasdr Photo

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เวลา 9.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน้าศาลทหาร มีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอให้กำลังใจนักศึกษา-ประชาชนทั้ง 7 คนที่ถูกนำตัวมาฝากขังผัดสองที่ศาลในวันนี้จากกรณีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่เคหะบางพลี
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชูป้ายเรียกให้ยุติการดำเนินคดีด้วย ตัวแทนของแอมเนสตี้ที่มาในวันนี้กล่าวว่า แอมเนสตี้แสดงความกังวลถึงการที่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรภาพถูกควบคุมตัว ถูกลิดรอนสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมทั้งขอให้ทางการมอบพื้นที่ที่ให้แสดงออกและเคลื่อนไหวในช่วงที่มีการปฏิรูปทางการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมการลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษานักกิจกรรมทั้ง 7 คนด้วย
เวลา 10.10 น. สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM พร้อมด้วยประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ได้มารวมตัวที่หน้าศาลทหาร เพื่อเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ให้ปล่อยตัวนักโทษประชามติทั้ง 7 คน พร้อมทั้งยืนยันว่าการรณรงค์ไม่ผิด ซึ่งในวันนี้ เป็นวันที่ศาลทหาร จะพิจารณาฝากขังผัดสองหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเจรจา โดยระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้ามจัดการชุมนุมทางการเมือง

สถานทูตมาสังเกตการณ์เต็มศาล-'โรม' ทรุดน้ำหนักลด 13 ก.ก.
10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลทหาร การดูแลสถานที่เป็นไปอย่างเข้มงวด และเจ้าหน้าที่ทหารอนุญาตให้เฉพาะอาจารย์ ญาติ สื่อบางส่วน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่สถานทูตเข้ามาภายในศาลและร่วมฟังการพิจารณาคดี นอกจากนั้นต้องรอภายนอกบริเวณศาลหลักเมือง โดยในวันนี้มีตัวแทนสถานทูตหลายแห่งมาสังเกตการณ์คดี เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น
ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนถูกนำตัวขึ้นศาลในชุดนักโทษและมีตรวนล่ามขา เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผัดที่ 2 อีก 12 วันและทนายได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจะมีการไต่สวนก่อนมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ฝากขังผัด2 หรือไม่
ทั้งหมดมีสภาพอิดโรย ผู้ต้องขังคนหนึ่งกล่าวว่า ทุกคนน้ำหนักลดกันหมด 5-10 ก.ก. และเพิ่งฟื้นจาก "ไข้คุก" ซึ่งเป็นไข้ที่ผู้ต้องขังใหม่มักจะเป็นเนื่องจากปรับสภาพไม่ได้ ขณะที่ รังสิมันต์ โรมนั้นอาการหนักที่สุด น้ำหนักลดถึง 13 กก. และเมื่อเช้านี้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนจนศาลทหาต้องส่งแพทย์เข้ามาฉีดยา
10.50 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตและบุคคลที่ร่วมฟังการพิจารณคดีว่า พนักงานสอบสวนเพิ่งแจ้งว่าจะมาศาลในเวลา 13.00 น. การไต่สวนของศาลจึงขอเลื่อนไปเป็นเวลาดังกล่าว


ภาพโดย Banrasdr Photo

จตุพร เยี่ยม 7 นักรณรงค์ประชามติ
เวลา 12.25 น. บริเวณหน้าศาลทหารกรุงเทพ จตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมผู้ติดตามรวม 5 คน ได้เดินทางมา เพื่อขอเข้าเยี่ยม 7 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง โดยกล่าวด้วยว่า หากวันนี้ยังไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว 7 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภายในวันพรุ่งนี้จะมีการออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว

นักวิชาการ-นักกิจกรรม ร่วมให้กำลังใจ
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง อาทิ พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์จากคณะนิติราษฎร์ อาทิ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ รวมถึงบรรดานักกิจกรรม อย่าง นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ ร่วมให้กำลังใจผู้ต้องขังทั้ง 7 คน 

"ผมต้องการยืนยันว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง" รังสิมันต์ โรม
"ผมไม่รู้เลย ห้าสิบห้าสิบ" รังสิมันต์ โรม หนึ่งในผู้ต้องขัง 7 คนกรณีแจกใบปลิวประชามติกล่าวระหว่างรอการไต่สวนการฝากขังผัดที่ 2 ที่ศาลทหาร ที่กำลังจะเริ่มในเวลา 13.00 น. พวกเขาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ชุมนุมเกิน5คนและผิด พ.ร.บ.ประชามติ
รังสิมันต์ กล่าวว่า พวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ต่อไปในเว้นทางเดิม แม้หากไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะสิ่งที่เขาทำ (รณรงค์โหวตโน) นั้นไม่ใช่สิ่งผิด มีคนถามมากว่าทำไมจึงไม่ประกันตัว คำถามก็คือ พวกเขาสงสัยอย่างยิ่งว่าเขาทำอะไรผิด และรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม การประกันตัวเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาได้รับความยุติธรรมหรือ
"พวกผมถูกขัง ถูกตีตรวน ทั้งที่แค่แจกใบปลิว อันที่จริงพวกเราไม่ควรมีแม้แต่มลทินด้วยซ้ำ" รังสิมันต์ กล่าว

เขากล่าวอีกว่า หากไม่ได้ประกัน เขายินยอมที่จะถูกขังต่อหากนั่นคือ ความปรารถนาของ คสช.เพราะปัจจุบันประเทศไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมายอยู่แล้ว
"ผมไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดอะไรหลังจากนี้ ผลของการที่พวกผมติดคุกก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่เราทำเพราะต้องการแสดงจุดยืน ต้องการยืนยันว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง หลายๆ คนในกลุ่มที่โดนจับก็ไม่ใช่คนที่เคลื่อนไหวการเมืองเข้มข้นมาก่อน เพียงแต่เขารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง และยังสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมต้องมาอยู่ในนี้"
รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่าเป็นไปอย่างค่อนข้างยากลำบาก หลายคนป่วยเป็นไข้หวัดและเริ่มเป็นโรคผิวหนังกันแล้วจำพวกเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนในเรือนจำ

จากกันด้วยใจ? รถยนต์ญี่ปุ่นค่ายยักษ์ ให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงลาออกเกือบพัน



Tue, 2016-07-05 15:31


4 ก.ค.2559 นักสื่อสารแรงงาน voicelabour.org รายงานว่า หลังกระแสการเปิดโครงการสมัครใจลาออกของบริษัทผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อโครงการ “จากกันด้วยใจ”

โดย แหล่งข่าว กล่าวว่า การเปิดโครงการดังกล่าวเพื่อที่จะให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดในการสมัครใจลาออกโดยทางบริษัทต้องการคนที่สมัครใจลาออกจำนวน 800-900 คน โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต ได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการเป็นเวลา 1 อาทิตย์ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยผู้บริหารลงชี้แจงลูกจ้างเหมาค่าแรงทั้งสำโรง เกตเวย์ บางชอน พร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงหากผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการเปิดโครงการ “จากกันด้วยใจ” สำหรับลูกจ้างเหมาค่าแรงนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ลาออกโดยทางบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษและค่าชดเชยให้ตามอายุงาน พร้อมค่าจ้าง และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า การที่ไม่บอกคืนลูกจ้างเหมาค่าแรงเหมือนกับบริษัทอื่นๆนั้นเพราะเห็นว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงอยู่ด้วยกันมานาน และมีเรื่องของการทำงานดีจะมีการบรรจุให้เป็นลูกจ้างประจำด้วย ซึ่งมีการบรรจุเกือบทุกปี ซึ่งปีละหลายร้อยคน ซึ่งขณะนี้คนที่มาสมัครใจลาออกจำนวนมากโดยบริษัทเปิดรับสมัครใจลาออกในส่วนของลูกจ้างเหมาค่าแรงที่มีอายุงานต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งหลังจากครบกำหนดตามที่บริษัทเปิดโครงการฯทางบริษัทก็จะมีการใช้การประเมินดูเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายอย่างไรบริษัทต้องการที่จะใช้การลาออกโดยสมัครใจก่อน

ทั้งนี้ล่าสุดแหล่งข่าวรายงานว่า ทางผู้บริหารบริษัทได้มีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงกับลูกจ้างเหมาค่าแรง และได้มีการร่วมส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงขึ้นรถกลับบ้านด้วย

ด้าน วิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในฐานะการทำงานในประเภทกิจการยานยนต์คงต้องคอยจับตาดูเรื่องการปฏิบัติการของนายจ้างในประเภทกิจการรถยนต์ ซึ่งขณะนี้มีปรากฏการการเปิดโครงการสมัครใจลาออกทั้งส่วนของลูกจ้างประจำและพนักงานเหมาค่าแรง โดยจะดูเรื่องสิทธิของลูกจ้างเรื่องสิทธิแรงงาน และความเป็นธรรมซึ่งกรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้นสังกัด

ทั้งนี้ได้มีลูกจ้างเหมาค่าแรงของบริษัทดังกล่าวออกมาโพสต์เรื่องราวชีวิตการทำงานในบริษัทดังกล่าวด้วยความผูกพัน เพื่อเป็นการบอกลาในโซเซียลมีเดียอีกด้วย

อิรักสั่งเลิกใช้เครื่องตรวจระเบิดปลอม หลังเหตุระเบิดคร่าชีวิตคนจำนวนมาก




Tue, 2016-07-05 19:07


หลังเกิดกรณีระเบิดในอิรักที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ไฮดา อัล อบาดี นายกรัฐมนตรีของประเทศอิรักก็สั่งยกเลิกเครื่องตรวจระเบิดปลอม ADE 651 ซึ่งเคยมีการพิสูจน์ก่อนหน้านี้นานแล้วว่าเป็นเครื่องมือตรวจระเบิดที่ไม่สามารถใช้การได้จริง แต่ก็ยังมีการใช้กันอยู่ ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนมองว่าเครื่องมือปลอมนี้ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน

5 ก.ค. 2559 ก่อนหน้านี้อิรักเคยสั่งซื้อเครื่องตรวจระเบิดปลอมมูลค่า 53 ล้านปอนด์ (ราว 2,400 ล้านบาท) จากชาวอังกฤษชื่อเจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ทำรายได้มหาศาลจากการขายเครื่องมือนี้ แต่ต่อมาในปี 2557 เขาก็ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีข้อหาต้มตุ๋นหลอกลวงหลังจากที่ถูกจับในปี 2553 และรัฐบาลอังกฤษก็สั่งห้ามการส่งออกเครื่องตรวจระเบิดของเขา โดยที่แมคคอร์มิคถูกดำเนินคดีคู่ขนานไปกับคนขายเครื่องตรวจระเบิดปลอมอีกคนหนึ่งชื่อแกรี่ โบลตัน ผู้เคยขาย GT200 ให้กับทางการไทย

หลังจากเกิดเหตุระเบิดในอิรักครั้งร้ายแรงที่สุดในปีนี้ที่มีกลุ่มไอซิสอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ อบาดีก็สั่งยกเลิกเครื่องมือตรวจระเบิดที่ชื่อ ADE 651 ซึ่งแมคคอร์มิคอ้างว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจระเบิดและยาเสพติดได้แม้อยู่ห่างออกไป 1 กม. โดยอาศัย "การ์ดตรวจจับสสาร" อ้างอิงสรรพคุณว่าตรวจจับได้แม้กระทั่งช้างหรือธนบัตร 100 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามจากการสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวบีบีซีในปี 2553 ระบุว่าเครื่องมือนี้เป็น "ไม้ไสยศาสตร์ที่โฆษณาเกินจริง" อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดในกองทัพอังกฤษก็บอกว่าการขาย ADE-651 เป็นเรื่อง "ไร้จริยธรรมโดยสิ้นเชิง"

ไม่เพียงแค่ยกเลิกการใช้ "ไม้ไสยศาสตร์" นี้เท่านั้น นายกรัฐมนตรีอิรักยังสั่งให้มีการสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชันกรณีการขายเครื่องมือ ADE-651 ในช่วงปี 2550-2553 ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้สูญเสียในเชิงค่าใช้จ่ายเท่านั้นแต่ยังส่งผลเสียหายต่อชีวิตของผู้คนด้วย ในอิรักมีกรณีการระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 4,000 รายตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน โดยที่ระเบิดเหล่านี้ส่วนใหญ่เล็ดลอดด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทางการมาได้เพราะใช้เครื่องมือตรวจระเบิดปลอมชิ้นนี้

"เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคนต้องเลิกใช้เครื่องตรวจระเบิดปลอมชิ้นนี้ที่ด่านตรวจและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในจะต้องเปิดการสืบสวนกรณีการทุจริตคอร์รัปชันการติดต่อซื้อขายเครื่องมือเหล่านี้รวมถึงติดตามทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายนี้" อบาดีกล่าว

อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ (5 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อิรักบางส่วนยังคงไม่ตอบสนองคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและยังคงใช้เครื่องมือ ADE-651 อยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหานี้มาจากการที่ไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าในการสกัดกั้นผู้ก่อเหตุวางระเบิดให้ออกห่างจากเมือง มีเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งกล่าวว่าที่เขายังคงใช้เครื่องมือนี้เพราะต้องการแสดงละครเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมีประชาชนอย่างชีค คาดิม อัลซาเยด กล่าวว่าเรื่องตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดปลอมควรจะมีมานานแล้วเพราะการทุจริตเช่นนี้เป็นภัยต่อประชาชน ประชาชนอีกรายหนึ่งชื่ออัฟส์ ยาสซิน ประท้วงอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) บอกว่าประชาชนต้องทนร้อนต่อแถวเพื่อผ่านเครื่องตรวจจับระเบิดปลอมซึ่งเป็นแค่ของเล่น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนก็มองว่ามีคนรู้เรื่องเครื่องตรวจระเบิดปลอมมาตั้งนานแล้วและคงมีคนหัวเราะเยาะพวกเขาที่ยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่

ซาอิด อัล อาลี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอนาคตของอิรักเล่าย้อนไปว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังแมคคอร์มิคถูกดำเนินคดีมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้งในเมืองหลวงของอิรัก นักข่าวพากันซักถามนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ นูรี อัล มาลิกิ ว่าทำไมยังคงมีการใช้เครื่องมือนี้อยู่ แต่อัลมาลิกิก็ตอบว่าเครื่องมือนี้ใช้ตรวจสอบได้ร้อยละ 20-54 ถ้าหากทหารใช้มันเป็น และบอกว่าบางชิ้นก็ของแท้บางชิ้นก็เป็นของเทียม จากคำตอบของเขา อาลีตีความว่าถ้าอดีตนายกฯ ไม่ได้เชื่อสิ่งที่ตัวเองพูดจริงๆ ก็เป็นการบิดเบือนความจริง ในมุมมองของอาลีเรื่องนี้สะท้อนว่าปัญหาในอิรักไม่ได้มาจากเชื้อชาติหรือศาสนาแต่มาจากการปกครองแย่ๆ

เครื่องมือตรวจระเบิดนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปรวมถึงสถานที่ต้องการความปลอดภัยสูงอย่างหน้าสถานทูตหรือที่ทำการกระทรวงต่างๆ รวมถึงจุดตรวจแถวใกล้ย่านการค้าคาร์ราดาที่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

"มีคนจำนวนมากต้องตายเพราะแท่งพลาสติกนี่" เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านตรวจชื่อทิมิมีกล่าว เขาหวังว่าจะมีเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเพื่อใช้คุ้มครองประชาชน