วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เครือข่าย ปชช. แถลงค้าน 'ประยุทธ์' ใช้ ม.44 ปลด 7 กรรมการ สสส. นัดวางแนวเคลื่อน 11 ม.ค.นี้


จากเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ อาศัยอำนาจตามม.44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ค. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยในจำนวนนั้น  ได้สั้งให้ 7 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (อ่านรายละเอียด)
ส่งผลให้ วานนี้(7 ม.ค.59) ไทยพีบีเอส รายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชนในนาม "ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน" ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นคำสั่ง ไม่ชอบธรรม และนำไปสู่การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ 
แถลงการณ์ระบุว่าผลการตรวจสอบของหลายหน่วยงานไม่พบการทุจริตในการดำเนินงานของ สสส.และคณะกรรมการ 7 คนจึงเชื่อว่าคำสั่งนี้ จะนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการฯรวมถึงผู้จัดการ สสส.คนใหม่ ซึ่งมาจากกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ และตัวแทนจากกลุ่มทุนบางกลุ่ม เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกองทุน สสส. ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจึงขอคัดค้าน และหากการประกาศแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่พบว่า เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือ กลุ่มทุน วันที่ 11 ม.ค.2559 จะประชุมหาแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
วันเดียวกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ( ศอตช. ) โดย พล.อ.ไพบูลย์ ยืนยันว่า สาเหตุที่ต้องส่งเรื่องให้ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม. 44 เพื่อปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ทั้ง 7 คนก็เพราะเป็นเรื่องของการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ 
พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงองค์กรเอกชน หลายองค์กรกำลังเดือดร้อนจากการถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กรณีไปรับเงินสนับสนุนจาก สสส. แล้วไม่ได้ไปชำระภาษีว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่จะต้องเสียภาษี เพียงแต่เรื่องนี้ถูกละเลยกันมานาน 
 
สำหรับ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ระบุว่า มีเครือข่ายที่ตอบรับการประชุมเพื่อร่วมเคลื่อนไหว ได้แก่ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายองค์กรแรงงานไทย (อรท.) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ เครือข่ายสุขภาวะผู้หญิง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายหมออนามัย เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายสมาคมวิศการ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกัน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 

เพนกวิน นร.ม.5 แนะเลิกยัดเยียด 'คำขวัญวันเ­ด็ก' แต่ควรหนุนเด็กมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตมากขึ้น

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

เพนกวิน นักเรียน ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ชี้ควรจะยกเลิก 'ขวัญวันเ­ด็ก' ระบุเป็นการยัดเยียดให้เด็กเป็น แนะควรหนุนให้เด็กไ­ด้มีส่วนร่วม-เปิดโอกาสใ­นการกำหนดอนาคตและทิศทางชีวิตของตัวเอง
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มอบคำขวัญวันเด็กในปี 59 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 9 ม.ค. 59 ว่า “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต”
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา Thaivoiemedia ได้สัมภาษณ์ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2559 พร้อมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับคำขวัญวันเด­็กประจำปีนี้
โดย นายพริษฐ์ มองว่า ควรจะยกเลิก การที่จะให้นายกรัฐมนตรีต้องมอบคำขวัญวันเ­ด็กให้กับเด็กประจำทุกปี เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการสื่อสารทางเดียวที่ยัดเยียดให้เด็ก­เป็น ทางที่ดีควรจะส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เด็กไ­ด้มีส่วนร่วมหรือเปิดโอกาสให้เด็กมีบทบาทใ­นการกำหนดอนาคตและทิศทางชีวิตของตัวเองและ­บ้านเมืองให้มากขึ้น ผู้ใหญ่ควรจะฟังเด็กให้มากขึ้น ไม่ใช่จะฟังในสิ่งที่อยากฟัง คำขวัญวันเด็ก เป็นการสะท้อนถึงระบบอำนาจนิยมในการศึกษาไ­ทย ไม่ได้สร้างผลดีต่อการพัฒนาความคิดของเด็ก คำขวัญวันเด็ก ไม่สามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพทั้งในระ­ดับประเทศและระดับสากล
นอกจากนี้ ประชาไท ได้นำคำขวัญวันเด็กตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมาเพื่อสำรวจเนื้อหาของคำขวัญดังนี้

5 คนทริปรถไฟส่องราชภักดิ์ ไปสน.แต่ไม่รายงานตัว ยันไม่ผิดและไม่หลบหนี


‘จ่านิว’ นำทีมเพื่อนรวม 5 คน ที่ถูกหมายเรียกจากกรณีจัดทริปไปราชภักดิ์เมื่อ 7 ธ.ค.มาสถานีตำรวจแถลงข่าว ไม่ผิด ไม่หนี ไม่รายงานตัว เป็นหน้าที่พลเมืองต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ ส่วนอีก 6 คนมาตามหมายแล้วก่อนหน้า ด้าน ‘ไผ่ ดาวดิน’ เพิ่งลาสิกขา ทราบข่าวคดี ชี้ “เป็นเรื่องไร้สาระ”
8 ม.ค.2559 เมื่อเวลาประมาณ 13.55 น. กลุ่ม 'ส่องทุจริตราชภักดิ์' 5 คนเดินทางมาถึงหน้าสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เพื่อเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในสถานีตำรวจ โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากกลุ่มดาวดินหลายคนเดินทางมาร่วมให้กำลังใจ โดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องตอนเพื่อนถูกจับเพราะบวชอยู่ แต่พอสึกแล้วได้ทราบข่าวรู้สึกว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียก 11 คนที่ทำกิจกรรมนั่งรถไฟ ไปราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 ให้มารายงานตัว ก่อนหน้านี้ซึ่งมีผู้มารายงานตัวแล้ว 6 คน อีก 5 คนที่เหลือแม้เดินทางมาสถานีตำรวจแต่ยืนยันว่าจะไม่เข้ารายงานตัว พวกเขาระบุว่าสิ่งที่ทำไม่ผิด การตรวจสอบอำนาจที่ไม่ชอบมาพากลเป็นสิ่งที่พลเมืองต้องทำ และการตรวจสอบคอร์รัปชันที่ผ่านมา กรณีของ กปปส. ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีเพราะการตรวจสอบ
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กล่าวว่า
“ที่เราหลายๆ ฝ่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นต้องต่อต้านบนมาตรฐานเดียวกัน และผู้ที่จะไปตรวจสอบนั้นต้องได้รับการคุ้มครองมิใช่ถูกฟ้องร้องคดีความเหมือนวันนี้ วันนี้ผมขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในวันที่ 7 นั้นมิใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย หากเป็นสิ่งที่เราในฐานะพลเมืองของรัฐพึงกระทำ ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมนี้เราจะไม่ปล่อยให้ใครก็ตามที่ทำการทุจริตคอร์รัปชันลอยหน้าลอยนวลอยู่ในสังคมนี้ได้ และเราจะขอปฏิเสธกระบวนการทุกอย่างที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีคนที่จะไปตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน”
ชลธิชา แจ้งเร็ว กล่าวว่า
“เราอยากรู้เหมือนกันว่าเพราะอะไรทำไมเราถูกตั้งข้อกล่าวหาแบบนี้ ทั้งที่สิ่งที่เราทำเป็นการทวงคืนสิทธิเสรีภาพให้กลับคืนมาในสังคมไทย เป็นการที่เราต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ตรวจสอบคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่าสิ่งต่างๆ ที่เรากระทำถูกตั้งข้อกล่าวหา วันนี้เรายังยืนยันเหมือนเดิมว่า ประชาชนทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบริหารประเทศด้วยตัวเอง และเกดยังยืนยันว่าวันนี้เกดก็จะเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ คสช.ที่ยึดอำนาจมา”
อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ กล่าวว่า
“เราก็ยังสงสัยว่าทำไมเราต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำตลอด ทั้งที่เรามาแสดงเจตจำนงในการเป็นประชาชน เราต้องการส่งเสริมการตรวจสอบในภาคประชาชน มีรัฐมนตรีบางท่านบอกว่าการตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ของนักศึกษา ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน เพราะมีองค์กรตรวจสอบอยู่แล้ว แสดงว่าท่านไม่ได้เข้าใจระบบการตรวจสอบในภาคประชาชนเลย การเมืองจะเข้มแข็งได้ต้องส่งเสริมการมีส่วนรวมของภาคประชาชน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทำให้เราเห็นแล้วว่า คนตรวจสอบกลับเป็นคนผิด แล้วก็จะมีคำถามจากอีกฝ่ายว่า จำนำข้าวทำไมคุณไม่ตรวจสอบ ผมมองว่าตรงนั้นมันอยู่ในกระบวนการของกฎหมายอยู่แล้ว แล้วที่ผ่านมาไม่มีใครตรวจสอบจำนำข้าวแล้วโดนดำเนินคดีเลยซักคนเดียว กลับกันกับราชภักดิ์ คนตรวจสอบกลับโดนดำเนินคดี โดนควบคุมตัวมาโดยตลอด ก็เลยคิดว่าครั้งนี้มันน่าสงสัยหรือเปล่า คุณกำลังปกปิดความผิดอะไรหรือเปล่า จึงเกรงกลัวต่อการตรวจสอบ วันนี้เรามาแสดงตัวเพื่อยืนยันให้เห็นว่าเราไม่ผิด เราไม่มีเจตนาหลบหนี เรามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์”
ชนกนันท์ รวมทรัพย์ กล่าวว่า
“วันที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าจะไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น เราก็โอเคตามนั้น แต่หลังจากนั้นมาก็ได้รับหมาย มันทำให้เห็นว่า การส่งหมายมาในภายหลัง เขากำลังจะทำให้การตรวจสอบคอร์รัปชันกลายเป็นอาชญากรรม อาจเป็นการปกปิดคอร์รัปชัน ทำให้ผู้ตรวจสอบกลายเป็นอาชญากร เรามาตรงนี้เพราะต้องการมายืนยันว่า การตรวจสอบคอร์รัปชันไม่ใช่อาชญากรรม และพวกเราไม่ใช่อาชญากร”
กรกช แสงเย็นพันธ์ กล่าวว่า
“ที่พวกเราไปทำกิจกรรมตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์นั้น พวกเราต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศนี้จอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่ก็มีเสรีภาพและความโปร่งใส พวกผมแม้ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง แต่พวกผมมีหน้าที่ตอบลูกหลานในอนาคตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วพวกผมจะทำยังไงในเมื่อไปตรวจสอบแล้วถูกดำเนินคดีแบบนี้ เราจะตอบลูกหลานเราในอนาคตยังไงว่าเกิดการทุจริตแล้วเรากลับนิ่งเฉย เราจะปล่อยให้ลูกหลานของเราเติบโตในสังคมเช่นนี้หรือ”
หลังการแถลงข่าวและให้กำลังใจ เวลาประมาณ 15.30 น. ทั้งหมดก็แยกย้ายออกจากสถานีตำรวจ

00000000

แถลงการณ์ผู้ได้รับหมายเรียกจากการเข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558  พวกเราได้เข้าร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อความไม่โปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์
สิ่งที่พวกเรากระทำเป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีตามระบอบประชาธิปไตย ในการที่จะตรวจสอบและตั้งคำถามต่อการดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐว่าเป็นไปโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนด้วยกันเอง ให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเงินที่พวกเขาเสียสละให้ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจจะถูกนำไปใช้ตรงตามความมุ่งหมายอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่พวกเราได้รับกลับเป็นการแจ้งข้อหาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยอาศัยคำสั่งที่ คสช. เป็นผู้ออกเองและกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ภายใต้การครอบงำของ คสช.ทั้งหมด
นี่หรือคือรางวัลที่พวกผู้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันสมควรจะได้รับ?
พวกเราขอยืนยันว่าสิ่งที่พวกเรากระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรมที่คสช.หยิบยื่นให้พวกเราล้วนแต่เป็นกลไกของระบอบเผด็จการ พวกเราจึงไม่ขอเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวโดยเด็ดขาด
ในวันนี้ พวกเรามายังสถานีตำรวจแห่งนี้ไม่ใช่เพื่อรายงานตัว แต่เพื่อยืนยันว่าพวกเราจะไม่หนีไปไหนและจะขอดำเนินกิจกรรมเพื่อตรวจสอบและต่อต้านเผด็จการต่อไป หากจะจับกุมตัวพวกเราก็เชิญกระทำได้ พวกเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รู้ว่าธาตุแท้ของเผด็จการนั้นเป็นเช่นไร
ผู้ได้รับหมายเรียกจากการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์
กรกช แสงเย็นพันธ์
ชนกนันท์ รวมทรัพย์
ชลธิชา แจ้งเร็ว
อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์