28 ก.ย. 2559 นพดล หลาวทอง ทนายความ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ทบทวนและวินิจฉัยสั่งการให้การสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ
นพดล กล่าวว่า กระบวนการสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนของคณะกรรมการทั้งสองชุด ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรค 2 ที่วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดเพียงผู้เดียวกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐไม่ได้เกี่ยวกับการค้ากำไรส่วนบุคคล เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรฐานรากให้เกิดความแข็งแรง เพราะชาวนาเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ หากให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดคนเดียวจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกทั้งมติของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายทดแทนจำนวน 3.57 หมื่นล้านบาท จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าความเสียหาย ขาย 1.78 แสนล้านบาท จาก การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวฯ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่สามารถคิดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องรับผิดได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่อาจนำพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบที่มีความเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดจากที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบทั้งสิ้น ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องดำเนินการตามกฏหมายละเมิดปกติที่ใช้บังคับกับบุคคลทั่วไป
“ผมมาขอความเป็นธรรมให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้ ว่ากระบวนการทุกอย่างควรจะต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน ไม่ควรยกเว้นหรือเลือกปฎิบัติกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ผมจึงต้องมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมก่อนที่คณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” นพดล กล่าว
ประยุทธ์มอบ รมว.คลัง ลงนามเรียกค่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (27 ก.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผย ถึงกรณีการดำเนินคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า จะมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไว้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ากรณีนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงคลัง และข้าราชการของกระทรวงที่รับผิดชอบ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ และให้รัฐมนตรีลงนาม ในฐานะเจ้ากระทรวง ตนเองสามารถมอบหมายให้ลงนามแทนได้ ยืนยันว่า ดำเนินการส่งฟ้องศาล ทันอายุความ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย จาก ยิ่งลักษณ์ 20% หรือ 35,700 ล้านบาท จากความเสียหายทั้งหมด 178,000 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการ ในฐานะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ และไม่ระงับยับยั้งโครงการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ได้แจ้งเตือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนความเสียหายที่เหลือ 80% หรือ 142,000 ล้านบาท ที่มีการฟ้องร้องผู้ที่กระทำทุจริตอีก 850 คดีนั้น จะมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เข้าไปร่วมในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดในระดับผู้บริหาร ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำผิด และเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และเอกชน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ไม่ใช่เป็นการเข้าไปตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ข้าราชการมั่นใจในการตรวจสอบคดีนี้
“ผมมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ผิด ชี้ถูก แต่ปกป้องเจ้าหน้าที่ไว้ เพราะเขาไม่กล้า ที่ผ่านมามีการขู่ ผมต้องมีมาตรการของผมปกป้องเขา ไม่ใช่ปกป้องให้เขารังแกคน แต่ให้เขากล้าทำงานแค่นั้น ม.44 ไม่ใช่ไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูก ไม่ได้ไปตัดสินจำนำข้าว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะฟ้องกลับ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายกรัฐมนตรียืนยันไม่กังวลต่อเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่า “ผมทำตามหน้าที่ ในการทำให้คดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น”