วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หวั่นถูกแทรกแซง 1,130 ผู้พิพากษาลงชื่อค้านร่างรัฐธรรมนูญปมที่มา ก.ต.




Wed, 2015-06-17 01:13


ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ หวั่นการเมืองแทรกแซง

16 มิ.ย.2558 - ตามที่มีรายงานข่าว ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้น

มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ

ที่มา ก.ต.ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้พิพากษา 437 คนได้ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้มีสัดส่วนจากบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ ซึ่งตัวแทนจากศาลยุติธรรมได้เข้าไปร่วมประชุมเรื่องนี้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจนได้ข้อสรุปว่าจะมีการยกเลิกสัดส่วนที่ให้บุคคลภายนอก 1 ใน 3 เข้ามาเป็น ก.ต. ได้ แต่จะมีการเสนอให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน

ซึ่งทางเราเองก็ได้สอบถามเหตุผลของแนวคิดดังกล่าว เพราะหลักการของศาลยุติธรรมไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง

ซึ่งทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศาลปกครอง แต่ส่วนตัวเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจของศาลปกครองนั้น เป็นการใช้อำนาจตรวจสอบรัฐผู้ถืออำนาจบริหาร ทางฝ่ายรัฐบาลเองจึงมีความกริ่งเกรงว่า จะมีการใช้อำนาจในการรังแกฝ่ายบริหารจากตุลาการที่มีแนวคิดสุดโต่ง จึงมีการเจรจาให้มีตัวแทนจากฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) เพื่อคานอำนาจ

แต่หลักการของศาลยุติธรรมนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะศาลยุติธรรมใช้หลักคุณธรรม การพิจารณาตัดสินจะต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งระบบนี้จะต้องให้ผู้พิพากษาปกครองกันเอง

ศรีอัมพร กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องที่จะมีการกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ไปยังศาลฎีกาได้อีกนั้น ตนมองว่าการตรวจสอบของ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบวินัยของตุลาการนั้นมีการตรวจสอบจำนวน 4 ขั้นตอนตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลเหตุอนุ ก.ต. ก่อนจะมีคำสั่ง และเมื่อมีคำสั่งแล้วผู้ที่ถูกตรวจสอบยังสามารถขอให้มีการพิจารณาคดีอีกครั้งได้อีก ถือว่าการพิจารณาของ ก.ต. นั้นมีคุณภาพเชื่อถือได้ หากกำหนดให้ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรที่ลงโทษทางวินัยมีคำสั่งมาแล้ว สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ซึ่งเป็นองกรที่ใช้อำนาจตุลาการตัดสินอีกจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

ศรีอัมพรกล่าวต่อว่า ในตอนนี้มีผู้พิพากษาที่เข้าชื่อลงในจดหมายเปิดผนึกแล้วกว่า 1,130 คนและคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยืนยันว่าการเข้าชื่อของผู้พิพากษาในครั้งนี้นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เราแค่แสดงจุดยืนคัดค้านและป้องกันการก้าวล่วงและแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาคดี และกระทบต่อประชาชนโดยตรง โดยเรื่องดังกล่าวจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ จากนั้นทางตัวแทนผู้พิพากษาก็จะนำจดหมายเปิดผนึกนี้ไปมอบให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อไป

ต่อประเด็นคำถามถึงการยืนยันที่จะให้ตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นหนึ่งใน ก.ต.อยู่ จะเกิดการประท้วงคัดค้านของผู้พิพากษาจนนำไปสู่วิกฤติตุลาการดังเช่นอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ ศรีอัมพร ตอบว่า จะยังไม่เกิดวิกฤติตุลาการ แต่หากมีการปล่อยคนนอกเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา จนทำให้ผู้พิพากษาขาดความเชื่อมั่นไม่มีความไว้ใจและขาดความเป็นอิสระ และส่งผลให้ผลคดีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอำนาจ เมื่อนั้นก็อาจจะเกิดวิกฤติตุลาการได้อีก

“ต้องถามว่าจะให้ฝ่ายบริหารเข้ามาเพื่ออะไร ในเมื่อหลักการที่เราคัดค้านสัดส่วน ก.ต. 1 ใน 3 ตอนแรกนั้นก็เพราะไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง การที่ให้มีการปฎิรูปนั้นจะต้องปฎิรูปในสิ่งที่มีปัญหาในสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้มาตรฐาน แต่ในส่วนของ ก.ต. นั้นมันไม่มีปัญหาอยู่แล้วจะมาแก้ไขให้มีคนเข้ามาแทรกแซงทำไม เราไม่ได้จะล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่เราค้านในเรื่องการแทรกแซงนี้” ศรีอัมพร กล่าว

ผบ.ตร.ชี้มีบ่อนเสรี รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เล็งเปิดเว็บ ‘สมยศฟอร์กาสิโน’ ฟังความเห็น



Wed, 2015-06-17 19:07


17 มิ.ย.2558 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กลุ่มรักชาติ เสนอให้รัฐบาลเปิดบ่อนกาสิโนเสรี ว่า เรื่องนี้ตนเห็นด้วย และพูดมาตั้งนานแล้วว่าควรจะมีบ่อนกาสิโนถูกต้องตามกฎหมายเสียที เพราะถึงเวลาที่คนไทยต้องยอมรับความจริงแล้วว่าอย่างไรเสียประเทศไทยก็ต้องมีบ่อน อยากให้ดูประเทศสิงคโปร์หรือประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์เป็นตัวอย่าง ประเทศเหล่านั้นมีสภาพภูมิศาสตร์ติดต่อประเทศเพื่อนบ้านคล้ายบ้านเรา โดยก่อนหน้านี้สวิตเซอร์แลนด์ก็คัดค้านบ่อนเสรี แต่สุดท้ายเวลาผ่านไป 20 ปี ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านการทำประชามติกว่า 30 ครั้งให้เปิดบ่อนอยู่ใจกลางประเทศ ดังนั้นอยากฝากไปถึงผู้ที่เข้ามาทำเรื่องนี้ว่าควรไปถามประชาชนว่าประเทศของเราควรมีบ่อนการพนันเสรีหรือยัง

"มันหนีไม่พ้นอยู่แล้ว เชื่อเถิดว่าการพนันอยู่ในสายเลือดของคนไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในเมื่อคนมันจะเล่นก็จัดพื้นที่ให้เล่นแบบถูกกฎหมายไปเลย ผมไปศึกษาดูงานมาทั่วโลกและได้เข้าบ่อนหลายแห่ง ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จนมีแนวคิดให้เปิดบ่อนเสรีในเมืองไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เพราะที่ผ่านมาคนไทยนำเงินไปเล่นพนันนอกประเทศจนเม็ดเงินหลุดออกไปมหาศาล เช่น กัมพูชาและมาเก๊า ทั้งที่ควรนำเงินรายได้เหล่านั้นมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการศึกษาในประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัจจัยเกื้อหนุนที่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิง รวมทั้งแหล่งชอปปิงต่างๆ จึงควรสร้างได้แล้ว ผมแนะนำให้สร้างที่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ อุบลราชธานี และเกาะล้าน ต้องกำหนดด้วยว่าห้ามคนในพื้นที่เล่นการพนันในเขตพื้นที่ของตัวเอง ต้องข้ามพื้นที่ไปเล่นต่างจังหวัดเพื่อเป็นการคัดกรองผู้มีรายได้สูงให้เข้าบ่อนนำรายได้เข้ารัฐ อย่ามัวแต่ห่วงเรื่องศักดิ์ศรีว่าเราเป็นเมืองพุทธ ให้คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นหลัก เพราะเงินไปต่างประเทศหมดแล้ว" ผบ.ตร. กล่าว

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตอนไม่มีบ่อนเสรีคนจะเล่นมันก็เล่น แต่พอมีบ่อนถูกกฎหมายแล้วพวกเขาก็ยังแอบไปเล่นในบ่อนกระจอกๆ อยู่ดี แต่เมื่อมีบ่อนเสรีรัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคนที่มีศักยภาพพอที่จะจ่าย ส่วนปัญหาอาชญากรรมนั้นแก้ได้ด้วยการจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ มีการเก็บประวัติ คิดค่าใช้บริการ แสดงบัตรประชาชน หรือถ่ายภาพเก็บไว้ จึงอยากถามคนไทยว่าอยากให้มีบ่อนเสรีหรือไม่ เรื่องนี้หากจะทำจริงๆ ให้ตั้งตนเป็นคณะทำงานได้เลย ตนจะแนะนำให้ว่าควรทำอย่างไร และพร้อมชี้แจงได้ทุกประเด็น

“ผมคือ ผบ.ตร.คนแรกที่กล้าพูดว่าเมืองไทยควรมีบ่อนเสียที อย่าหลอกตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธเลย แม้แต่ประเทศที่ประชาชนเป็นชาวมุสลิมยังมีบ่อนกาสิโนเปิดทั่วประเทศแม้กระทั่งในโรงแรม ผมเชื่อว่าวิธีคิดของผมสุดยอด หากรัฐบาลไม่ทำผมจะเปิดเว็บไซต์ขึ้นมา ชื่อ สมยศฟอร์กาสิโน เพื่อถามความคิดเห็นประชาชนเลยว่าควรเปิดหรือไม่ รัฐบาลต้องกำหนดว่าจะนำรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์จากบ่อนกาสิโน มาใช้ในเรื่องของการศึกษา ช่วยเหลือคนจน และทะนุบำรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้ ผมพร้อมถูกโจมตีจากกลุ่มต่างๆ ที่จะมาต่อต้าน ไม่กลัวอยู่แล้ว ผมสู้ได้ทุกประเด็น”พล.ต.อ.สมยศ กล่าว

เมื่อถามว่าอาจถูกสังคม หรือกลุ่มเอ็นจีโอ ต่อต้าน ผบ.ตร. กล่าวว่า ผมกลัวหรือ ถ้าผมพูดอย่างนี้ผมไม่มีกลัวอยู่แล้ว ไม่ใช่พ่อผมนี่ ผมขอพูดให้ประชาชาชนฟังและยอมรับเสียทีว่าประเทศเราควรมีบ่อนการพนันถูกกฎหมายเสียที

‘ประยุทธ์’ ชี้ต้องวางรากฐานต้านคอร์รัปชันเข้มงวด สู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่การตรวจสอบและถ่วงดุลแท้จริง



Wed, 2015-06-17 18:16


17 มิ.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 (The Third Conference on Evidence-Based Anti-Corruption Policies – CEBAP III) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงาน องค์กร สถาบันต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ โดย เว็บศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล ได้สรุปประเด็นสาระสำคัญ ดังนี้

ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริตจะได้มาร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการต่อต้านการทุจริตที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากผลการวิจัยและการสืบสวนสอบสวน

การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานและนับวันจะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการขาดความเชื่อมั่นจากสายตาของชาวต่างชาติ ทำให้ถูกปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งยังทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรแบบสูญเปล่า พวกเราทุกคนล้วนเป็นพลังสำคัญที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมการโกงกินที่หยั่งรากลึกมายาวนานให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของเราเดินหน้าต่อไปด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย ตลอดจนเป็นแนวทางที่ดีงามให้เยาวชนไทยยึดถือและนำไปปฏิบัติ

รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในทุกหัวข้อของการปฏิรูปและถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ

การแก้ไขปัญหาทุกด้านจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ ข้าราชการทุกคนต้องนำแนวทางของหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการทำงานทุกระดับ ขั้นตอนการดำเนินงานทุกขั้นตอนต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแม้จะเพียงเล็กน้อย

หัวข้อของการประชุมปีนี้ คือ การต่อต้านคอร์รัปชันเชิงระบบ ซึ่งเป็นการคอร์รัปชันที่มีความเชื่อมโยงระหว่างเงินและการเมือง และการครอบงำสถาบันของภาครัฐโดยกลุ่มทุนที่มีอำนาจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การยอมรับ เรียกร้อง และขู่เข็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสินบน การใช้อำนาจในทางที่ผิดผ่านทางระบบอุปถัมภ์และการเล่นพรรคเล่นพวก การยักยอกทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการเปลี่ยนหรือผันการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นภัยอันตรายที่สามารถทำให้ประเทศเป็นอัมพาตได้

ประเทศไทยต้องสร้างรากฐานเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน ในสถานการณ์ปัจจุบันบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างแท้จริง แม้จะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบออกมาบังคับใช้ แต่ทางออกของการแก้ไขปัญหานี้ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เปลี่ยนจากการเพิกเฉยและการยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันมาเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านอย่างจริงจัง และร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีบรรยากาศน่าอยู่ มีความชอบธรรมในทุกด้าน นำงบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญเสียไปกับการทุจริตคอร์รัปชันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศของเราเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานเรา

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมือที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการภาครัฐแบบเดิม ได้แก่ กลไกด้านความโปร่งใส ด้านความพร้อมรับผิดและตรวจสอบได้ และกลไกการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของกลุ่มต่างๆ เช่นภาคประชาคมระหว่างประเทศ ภาคเอกชนในประเทศ ภาคการเงิน และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ หรืออาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้กลไกที่เป็นการสั่งการหรือการใช้อำนาจบังคับ

รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร การผ่านกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ และอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมใน Open Government Partnership หรือ ความร่วมมือรัฐบาลเปิด และการเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อภาครัฐขององค์การการค้าโลกเพื่อการพัฒนาด้านความโปร่งใส และความมีอิสระในการเข้าถึงของข้อมูลข่าวสารอันเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู่กับการคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มที่จะเป็นสมาชิกโครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative-EITI) ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้มีบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเปิดเผยและตรวจสอบได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ประเทศผู้สมัครจะต้องปฏิบัติก่อนเพื่อการเป็นสมาชิก EITI ต่อไป

รวมทั้งได้จัดทำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency หรือ CoST) ในโครงการก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่ และได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่มีส่วนพัวพันกับคดีการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด เพื่อให้กระบวนการสืบสวนแล้วเสร็จโดยเร็วและสามารถดำเนินไปได้ โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม

การสืบสวนสอบสวนคดีคอร์รัปชันและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบธรรมภิบาลในระดับชาติ ถือเป็นความท้าทายของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนโยบายที่ดีต้องมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีมาจากงานวิจัย นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้จำกัดตัวเองเพียงการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวน หากแต่ยังได้สร้างเสริมสมรรถนะและความสามารถในการดำเนินงานผ่านการวิจัยและการบริหารจัดการข้อมูล

การประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศฯ ในครั้งนี้ จึงช่วยสนับสนุนการทำงานที่ท้าทายของสำนักงาน ป.ป.ช. และนายกรัฐมนตรีหวังว่าผลของการประชุมนี้จะนำมาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังและนำไปเป็นข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และปราบปรามการทุจริตของชาติให้หมดไป

คสช.เรียก 'จาตุรนต์-จตุพร-ณัฐวุฒิ-พิชัย-ถาวร' คุย 19 มิ.ย. นี้



Wed, 2015-06-17 15:43


17 มิ.ย. 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญนักการเมือง อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ,นายพิชัย นริพทะพันธ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และนายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. เข้าพูดคุยที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต ในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 11.00 น.

ด้าน นายพิชัย กล่าวว่า สิ่งที่ตนแสดงความเห็นนั้นเป็นการแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ และการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจก็นำข้อมูลตัวเลขต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐเอง ไม่ได้แต่งเติมหรือบิดเบือนตัวเลขแต่อย่างใด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ถูกเชิญไปปรับทัศนคติก็ได้ชี้แจงเช่นนี้เสมอ ซึ่งนายทหารที่มาพูดคุยด้วยต่างมีความเข้าใจและเห็นด้วยในแนวคิดของตน เช่น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมามีนายทหารมาพบที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ตนแสดงความคิดเห็น