วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรร้านโกลเด้นเพลสซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์


ที่มาของภาพ: เพจกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานร้านโกลเด้นเพลส สาขา 10 ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันแพทย์แผนไทย เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเสด็จฯ กลับ
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานร้านโกลเด้นเพลส สาขา 10 ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ในการนี้ ทรงเลือกซื้อสินค้าจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เช่น นมเปรี้ยวจิตรลดา นมจืดจิตรลดา ไอศกรีม และผลไม้ต่าง ๆ ทั้งนี้ ร้านโกลเด้นเพลส ภายใต้บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ที่ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นร้านค้าปลีกต้นแบบของคนไทย จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัยจากสารพิษและเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายกระจายสินค้าให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการส่งเสริมผู้ผลิตให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่ขาดทุนและผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าดีมีคุณภาพมาตรฐาน และราคายุติธรรม
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันแพทย์แผนไทย เพื่อประทับเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ พร้อมเสวยพระสุธารส และทอดพระเนตรทัศนียภาพ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 17.00 น.ซึ่งตลอดเส้นทางเสด็จ ฯ มีประชาชนรอเฝ้า ฯ รับเสด็จและเปล่งเสียงถวายพระพรทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง

เครือข่ายผู้ป่วยขอ ‘ประยุทธ์’ ปลดปลัด สธ.คืนความสุข ปชช. ชี้ 2 ปีมีแต่ความวุ่นวาย


เครือข่ายผู้ป่วยยื่น จ.ม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ขอให้ปลด นพ.ณรงค์ จากปลัด สธ. ระบุเหตุผล 4 ข้อ ชี้ 2 ปีสร้างแต่ความวุ่นวาย ขอ ‘ตู่’ ปลดปลัด สธ.คืนความสุขให้ประชาชนโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2557 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 100 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ขอให้สั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เปิดเผยว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน และตั้ง นพ.รัชตะ ซึ่งเป็นนักบริหารที่ประชาชนยอมรับเป็น รมว.สธ. และประกาศนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมากลับต้องเจอกับการท้าทาย ขัดขวางปลุกระดมข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือจาก นพ.ณรงค์ ปลัด สธ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทย ทำให้สังคมมองว่ากระทรวง สธ. ไม่มีผลงาน ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ทำให้ระบบสุขภาพแตกร้าว บุคลากรมีความขัดแย้งกันในทุกระดับ เอาความเจ็บป่วยของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐมนตรี
ธนพลกล่าวว่า เพื่อระงับความเสียหายและคืนความสุขให้คนไทย เครือข่ายผู้ป่วยฯ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งย้าย นพ.ณรงค์ พ้นจากตำแหน่งปลัด สธ. เพื่อไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่ปลุกปั่นข้าราชการสร้างความแตกแยก ด้วย 4 เหตุผล
1. นพ.ณรงค์ ใช้อำนาจปลัดเรียกประชุม สั่งการข้าราชการและคนใกล้ชิดสร้างความแตกแยกระหว่าง รพ.ใหญ่ในเมืองกับรพ.ขนาดเล็กในชนบท ทำให้รพ.ชุมชนอ่อนแอลง โดยไม่ใส่ใจกับปัญหาสาธารณสุขและความเจ็บป่วยของประชาชน
2. เอาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองดึงเอาอำนาจการจัดสรรงบประมาณที่อยู่ในบอร์ด สปสช.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนกลับไปอยู่ที่ สธ. ล่าสุด รพ.ขนาดใหญ่ถึงขั้นขู่ รมว.สธ. ว่าจะไม่ส่งข้อมูลการเบิกเงินให้ สปสช. จนกว่าบอร์ด สปสช.จะทำตามข้อเสนอการจัดสรรงบของปลัด สธ. ถือว่าไร้มนุษยธรรม และทำผิดกฎหมายชัดเจน
3.ใช้อำนาจปลัดท้าทายและไม่สนองตอบนโยบายผู้บังคับบัญชา นพ.ณรงค์ ไม่เคยลงพื้นที่และเข้าร่วมประชุมนโยบายสำคัญ ทั้งนโยบายของขวัญปีใหม่ ที่มีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการประชุมนโยบายหมอครอบครัว ที่ รมว.สธ.เชิญให้นพ.ณรงค์มาร่วมประชุม เมื่อถึงเวลาก็ไม่มา สร้างความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในฐานะปลัด
4.ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเขตสุขภาพประชาชนของ คสช.และรัฐบาล ยังคงเดินหน้าเขตบริการสุขภาพของตนเพื่อดึงดันจะดึงงบประมาณมาจัดสรรเองให้ได้ โดยไม่สนใจร่มใหญ่คือ เขตสุขภาพประชาชน
“ด้วยความจำเป็นจากเหตุผล 4 ข้อ และยุติความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และระบบบริการสาธารณสุข ที่แตกแยก บอบช้ำมาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี จากแนวคิดที่ผิดพลาด ถอยหลังเข้าคลอง และจากการบริหารจัดการที่ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และเพื่อให้นโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาล สามารถเดินหน้าได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนตามความตั้งใจของ คสช. เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัดสินใจสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเร็ว เพื่อคืนความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ป่วยและประชาชนโดยทั่วไป” นายธนพล กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า นพ.รัชตะ รมว.สธ. ได้เชิญ นพ.ณรงค์ ปลัด สธ., นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพ  หารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในวันที่ 5 ม.ค.58 นี้ เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งภายในกระทรวง สธ. และหวังเดินหน้านโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขหลังมีข่าวเรื่องไม่มีผลงาน และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามประสานรอยร้าวดังกล่าว ด้วยการเรียกตัว นพ.ณรงค์ เข้าพบที่ทำเนียบจนมีข่าวลือเรื่องการให้โอกาสอีกครั้ง
...................................
จดหมายเปิดผนึก
ของเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ
และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
เรื่อง  ขอให้คืนความสุขให้กับระบบบริการสาธารณสุขของประชาชน
         ด้วยการสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
                     
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสม สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม คืนความสุขให้ประชาชน และเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย  โดยมอบหมายให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน นักวิชาการ และนักบริหารที่ประชาชน และชาวสาธารณสุขยอมรับอย่ากว้างขวาง ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับประกาศนโยบายเดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข สร้างทีมหมอครอบครัวทำงานเชิงรุก ดูแลสุขภาพคนไทยทุกครัวเรือน แต่ตลอดเวลาสามเดือนต้องมาเจอกับการท้าทาย ขัดขวาง ปลุกระดมข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับคำสั่ง ไม่สนองนโยบาย ทำตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน จากข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ทำให้สังคมมองว่ากระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีผลงานประกฎ  ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล และทำให้ระบบบริการสาธารณสุขเกิดความแตกร้าว บุคลากรวิชาชีพต่างๆ ขัดแย้งในทุกระดับ ทุกวิชาชีพ มีการสั่งการให้เอาการเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพื่อการต่อรองอำนาจกับรัฐมนตรี  โดยใช้ภาพความขัดแย้งกับ สปสช. เป็นตัวแทน สร้างความเสียหายให้กระทรวงสาธารณสุขอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์
              
เพื่อระงับความเสียหายของระบบสาธารณสุข คืนความสุขให้กับคนไทย  และเดินหน้านโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่  เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้มีโอกาสใช้อำนาจหน้าที่สั่งการและปลุกปั่นข้าราชการสร้างความขัดแย้ง เพิ่มความเสียหายให้กับระบบบริการสาธารณสุข และชีวิตของผู้ป่วย ด้วยเหตุผล 4 ประกาศดังนี้
1. ตลอดเวลากว่าสองปีของการเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโดยเฉพาะช่วงสามเดือนของรัฐบาลปัจจุบัน นพ.ณรงค์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลุกระดมและสั่งการข้าราชการ และคนใกล้ชิด เป็นผลให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งกับหน่วยงานต่างในระบบสาธารณสุข ปล่อยให้เกิดการปลุกปั่นทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ในเมืองกับโรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบท และทำให้โรงพยาบาลชุมชน อ่อนแอลง  โดยไม่ใส่ใจกับปัญหาสาธารณสุข และการเจ็บป่วยของประชาชน
2. เอาความเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอำนาจการบริหารงบประมาณกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. เพื่อสนองต่อความต้องการของตนในการรวมศูนย์อำนาจการออกหลักเกณฑ์การบริหารงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้ร้ายคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ร้ายรัฐมนตรี และให้ร้าย สปสช. เป็นผลให้ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  แถลงข่าวสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ไม่ร่วมมือ ไม่ส่งข้อมูลการเบิกเงิน และไม่รับเงินค่าบริการจาก สปสช. ตลอดปีงบประมาณ 2558 หรือจนกว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะมีมติยอมตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการเอาความเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ได้อำนาจการบริหารงบประมาณตามที่ตนต้องการ โดยไร้มนุษยธรรม และผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. ใช้อำนาจหน้าที่ปลุกปั่นข้าราชการ ท้าทายไม่สนองตอบนโยบายมอบของขวัญปีใหม่คืนความสุขให้ประชาชน ของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ตลอดเวลาสามเดือนของรัฐมนตรีปัจจุบัน นพ.ณรงค์ ได้แสดงให้สังคมทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความขัดแย้ง ไม่ยอมรับ ไม่เคยพูดถึงให้ความสำคัญกับนโยบายและไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ไม่ออกพื้นที่ ไม่ร่วมประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม และครั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีได้มาประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตามความก้าวหน้าของนโยบายมอบของขวัญปีใหม่ของรัฐบาล แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอลากิจอย่างกระทันหัน ไม่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม มีการประชุมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 1,500 คน เพื่อรับฟังการชี้แจงนโยบายเน้นหนัก “ทีมหมอครอบครัว” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญแก่ประชาชน โดยมีรัฐมนตรี เป็นประธานให้นโยบาย และได้เชิญ นพ.ณรงค์ มาร่วมชี้แจงแนวทางดำเนินการด้วย แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าไม่มา สร้างความเสียหายให้กับการดำเนินงานตามนโยบาย และเป็นการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในฐานะปลัดกระทรวง
4. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเรื่องเขตสุขภาพประชาชน ของ คสช.และรัฐบาล นพ.ณรงค์ พยายามผลักดันเรื่อง “เขตบริการสุขภาพ” เพื่อเป็นข้ออ้างการดึงอำนาจการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ถอยหลังกลับไปเป็นของเขตตรวจราชการของตน สร้างความขัดแย้ง เกิดเสียงคัดค้านจากโรงพยาบาลระดับต่างๆ จากกลุ่มผู้ป่วย และจากนักวิชาการภายนอก เป็นการสวนกระแสนโยบายสร้างความปรองดองของ คสช. และเมื่อความขัดแย้งมีแนวโน้มขยายกว้างออกไป จนในที่สุด พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการกองทัพเรือ รองหัวหน้า คสช. ได้เป็นประธานประชุมหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดชนวนความขัดแย้ง แก้ไขปัญหา และหาทางด้วยการให้ตั้งเป็น “เขตสุขภาพประชาชน” ที่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ ขึ้นมาแทน และประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมา แต่หลังจากนั้น นพ.ณรงค์ ก็ยังไม่ยอมหยุดเดินหน้าเขตบริการสุขภาพของตน ไม่ยอมหยุดสร้างความขัดแย้งกับ สปสช.และเครือข่ายผู้ป่วย ที่เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง
ด้วยความจำเป็นจากเหตุผลทั้ง 4 ข้อใหญ่ และเพื่อยุติความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และระบบบริการสาธารณสุข ที่แตกแยก บอบช้ำมาเป็นเวลามากกว่าสองปี จากแนวคิดที่ผิดพลาด ถอยหลังเข้าคลอง และจากการบริหารจัดการที่ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และเพื่อให้นโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาล สามารถเดินหน้าได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนตามความตั้งใจของ คสช. เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัดสินใจสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเร็ว เพื่อคืนความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ป่วยและประชาชนโดยทั่วไป
เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง  โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
29  ธันวาคม  2557

ทีมงานกระทรวงวัฒนธรรมพบ พล.อ.ประยุทธ์ มอบสื่อรณรงค์ "ส่งความสุข" รับปีใหม่


ประชุม ครม. ส่งท้ายปี 2557 กระทรวงเกษตรขอตั้งงบกลางช่วยผู้ประสบภัยยพิบัติการเกษตร และขอเบิกงบรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้านสภาพัฒน์เตรียมงานรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจท้ายปี 2557 ขณะที่คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนประชุม ครม. เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม "ส่งความสุข มอบของขวัญปีใหม่"
30 ธ.ค. 2557 - คณะรณรงค์กิจกรรม "กระทรวงวัฒนธรรม ส่งความสุข มอบของขวัญปีใหม่ 2558 แก่ประชาชน" เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อประชาสัมพันธ์และมอบสื่อรณรงค์ ณ บริเวณด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนเข้าประชุม ครม. นัดสุดท้ายของปี 2557
ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย
ทั้งนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ในการประชุม ครม. นัดสุดท้ายวันนี้ มีวาระที่สนใจหลายด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางการดำเนินการรวมตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตรกรรม ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... รวมถึงการขอเปลี่ยนแปลงวงเงินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการการจ้างบำรุงรักษาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ของกรมศุลกากร
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 และขออนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมโครงการศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ขอยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีก หรือ ค้าส่ง พ.ศ.. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอถอนร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ.2509 (พ.ศ....) ส่วนสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เตรียมรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน ตุลาคม 2557 และแนวโน้มปี 2558
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นตัวแทน คณะรัฐมนตรี อวยพรปีใหม่แด่นายกรัฐมนตรี

สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน


          ชมวิดีโอการบรรยายหัวข้อ 'สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน' โดย ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการห้องเรียนสิทธิมนุษยชน “สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

           งานดังกล่าว จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆ ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไมเคิล เฮย์ส จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล, ยู คาโนะซูเอะ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และแซม ซาริฟี ผู้อำนวยการคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล



ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต-ชดใช้ทรัพย์ 1.94 ล้านบาท คดีอุ้มฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีอุ้มฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร โดยให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1-2 และร่วมกันชดใช้ทรัพย์แก่ทายาทผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 1.94 ล้านบาท จำเลยที่ 3 จำคุก 19 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุก 8 เดือน จำเลยที่ 5-6 จำคุก 1 ปี 4 เดือน
กรณีที่ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร หรือ "จอร์จ ตัน" เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ อดีตเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ และนักธุรกิจชื่อดัง ถูกแจ้งความว่าหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2556 และต่อมานายสันติภาพ เพ็งด้วง อายุ 25 ปี คนขับรถส่วนตัว สารภาพว่าได้สังหารเพื่อชิงทรัพย์ โดยมีเพื่อน 2 คน ชื่อนายเปี๊ยก และนายชวลิตช่วยเหลือนำศพไปทิ้งก่อนฝังไว้ในพื้นที่ จ.พัทลุง นั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องหารวม 6 คนนั้น
ล่าสุด วอยซ์ทีวี รายงานวันนี้ (30 ธ.ค.) ว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว มีนายสันติภาพ เพ็งด้วง คนขับรถส่วนตัว เป็นจำเลยที่ 1 นายสุทธิพงษ์ พิมพิสาร เพื่อนของจำเลยที่ 1 นายชวลิต วุ่นชุม เพื่อนของจำเลยที่ 1 นายทิวากร เกื้อทอง เพื่อนของจำเลยที่ 1 จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง บิดาของจำเลยที่ 1 และนางจิตอำไพ เพ็งด้วง มารดาของจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 1-6 ร่วมกัน
โดยศาลพิพากษาประหารชีวิตนายสันติภาพ และนายสุทธิพงษ์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่เนื่องจากคำให้การมีประโยชน์ต่อรูปคดี จึงพิจารณาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และให้ร่วมกันชดใช้ทรัพย์สินแก่ทายาทผู้เสียชีวิต เป็นเงินจำนวน 1.94 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 นายชวลิต ศาลพิพากษาจำคุก 13 เดือน รวมกับโทษรอลงอาญาจากคดีเก่าที่ศาลจังหวัดพัทลุงอีก 6 เดือน รวมเป็น 19 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 4 นายทิวากร จำคุก 8 เดือน ฐานปิดบังซ่อนเร้นอำพรางศพ ส่วน จ.ส.อ.อิทธิพล และนางจิตอำไพ บิดามารดาของนายสันติภาพ ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานรับของโจร

เครือข่ายพลเมืองเน็ตวิจารณ์ กสทช.กรณีให้อำนาจ ISP ปิดเว็บ


เครือข่ายพลเมืองเน็ตวิจารณ์ กสทช.กรณีให้อำนาจ ISP ปิดเว็บ ถาม กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา ย้ำบทบาท กสทช.ควรกำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต เน้นเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม
30 ธ.ค. 2557 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ กรณี กสทช.ให้อำนาจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อคเว็บได้ทันทีโดยไม่ต้องขอคำสั่งหรือความเห็นชอบ โดยตั้งคำถามว่า อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด
นอกจากนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุด้วยว่า ในภาวะที่สถานะของ กสทช. มีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ กสทช.กลับให้มีการปิดเว็บโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อแสดงออกถึงความสำคัญและจำเป็นในการมีอยู่ขององค์กร ทั้งที่ที่่ผ่านมา แม้แต่การปิดเว็บภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ
เครือข่ายพลเมืองเน็ตย้ำบทบาท กสทช. ด้วยว่า ต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ มีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด ชี้ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่
รายละเอียด มีดังนี้
7 ปีที่ผ่านมา มีงานศึกษาพบชัดเจนแล้วว่า กระทั่งการสั่งปิดเว็บไซต์ด้วยวิธีให้เจ้าหน้าที่ยื่นให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งศาล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ยังมีข้อผิดพลาด ปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ
เมื่อ กสทช.สั่งให้ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล โดยไม่ต้องแม้แต่ทำหนังสือขอความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช. และทำได้ “ภายใน 30 วินาที” คำถามคือ อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบนี้ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด
คำถามสำคัญกว่านั้นคือ กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา เนื่องจากเงื่อนไขในการประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตทุกประเภทนั้นเจาะจงเฉพาะเรื่องทรัพยากรโทรคมนาคม มาตรฐานโครงข่าย และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เท่านั้น ไม่มีเรื่องที่ว่าด้วยการคัดกรองเนื้อหา
ในภาวะที่สถานะองค์กรมีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ ดูเหมือนว่า กสทช.กำลังพยายามแสดงออกให้สังคมเห็นว่าตัวเองยังสำคัญและจำเป็น ด้วยการเสนอสิ่งที่สังคมไทยส่วนหนึ่งเรียกร้องต้องการ นั่นคือการอ้างว่าตนเองสามารถสั่งปิด “เว็บหมิ่น” ได้ และปิดได้เร็วกว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสียอีกด้วย เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล (และก็เป็นเรื่องย้อนแย้งไปอีก ถ้า กสทช.จะยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ ด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่ด้วยกฎหมายที่รับรองสถานะและความจำเป็นของการมีอยู่ของ กสทช.เอง)
ดังที่เราได้เห็นมาโดยตลอด พฤติกรรมฉวยโอกาสอ้าง “ความมั่นคงของชาติ” เช่นนี้ปรากฏในหลายหน่วยงาน ซึ่งสุดท้ายสังคมคงจะตอบได้เอง ว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำเพื่อ “ความมั่นคง” ของชาติหรือของหน่วยงานหรือของใคร
เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันความสำคัญของ กสทช. และยืนยันว่า กสทช.จะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด เนื่องจากหน้าที่สำคัญของ กสทช.คือการปกป้อง “ประโยชน์สาธารณะ” ที่หมายถึงประโยชน์ของประชาชนในท้ายที่สุด โดยความอิสระดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบพันธกิจของ กสทช. ไม่น้อยหรือมากไปกว่านั้น
ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางข่าวเรื่องการดักรับและขอข้อมูลการสื่อสารโดยภาครัฐ ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่
30 ธ.ค. 2557
เครือข่ายพลเมืองเน็ต