วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้บริหาร Line ประเทศไทย ลาออกไปช่วยงาน 'เศรษฐกิจดิจิทัล' ของไอซีที


3 ก.พ. 2558 เว็บไซต์ Forbes Thailand รายงานว่า รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้จัดการทั่วไป Line ประจำประเทศไทย ยื่นใบลาออกและจะมีผลกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังทำงานได้ 8 เดือน เพื่อย้ายไปทำงานภาครัฐ ต้นเดือนมีนาคม โดยรับผิดชอบดูแลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
โดย Forbes Thailand อ้างแหล่งข่าวใน Line ประเทศไทยว่า “ผู้ใหญ่ของกระทรวง ICT มาชวนไปช่วยงาน ใช้เวลาคิดอยู่นาน จึงตัดสินใจออกมา”
สำหรับ รัฐศาสตร์ หรือ เปปเปอร์ เคยเป็นสมาชิกบอยแบนด์ "ยูเอชที"  ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Internet Technology เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาวิชา Computer Business, และหลักสูตรบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อีกทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการเว็บไซต์ sanook.com

4 องค์กรประชาสังคมร้อง 'นิติบัญญัติ' ทบทวนชุด กม.เศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นละเมิดสิทธิ-ผูกขาดทรัพยากร

มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) พร้อมด้วยสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ กมธ.รธน. สนช. สปช. เรียกร้องให้ทบทวนชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นละเมิดสิทธิประชาชนและเอกชน นำสู่การผูกขาดทรัพยากรและไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจริง
3 ก.พ. 2558 เมื่อเวลา 10.30 น. ณ อาคารรัฐสภา มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) พร้อมด้วยสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ มณเฑียร บุญตัน กรรมาธิการการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  และ สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปต่อชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”

สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวว่า ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ออกมาถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแหล่งที่มา เนื้อหาสาระ ประโยชน์และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายเหล่านี้ จากการพิจารณาแล้วพบว่ากฎหมายบางส่วนอาจจะเป็นประโยชน์แต่ในภาพรวมแล้วอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเอกชนในหลายด้าน อีกทั้งยังมีแนวโน้มอันจะนำไปสู่การผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร และมิได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง ตัวอย่างเช่นการให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ และกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนอาจทำให้เกิดการคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพหลายประการ เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในเคหสถาน เสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน สิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องรวดเร็วเป็นธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน สิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ สิทธิของผู้บริโภค และเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

จุมพล กล่าวว่า เรื่องที่นำมายื่นนี้อยู่ในกระบวนการการศึกษาเพื่อที่จะนำมาเป็นแนวคิดหรือแนวทางในเรื่องของการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศในอนาคต รวมถึงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ต้องบอกว่าเราได้นำมาพิจารณาแล้ว จึงอยากฝากบอกว่าไม่ต้องกังวล
คำนูณ กล่าวว่า จะนำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไปทำสำเนาแจกให้ กมธ. ยกร่างฯทั้ง 36 คนพิจารณาศึกษาต่อไป เพราะเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่าง มีความมุ่งหมายที่จะขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกันทั้งนั้น
สฤณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ เพราะได้เรียกร้องให้มีการทบทวนให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ ให้มีการเปิดรับฟังกลไกลความคิดเห็น ต้องรอดูว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นรูปธรรมตรงไหนอย่างไร
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล' เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผ่านทาง change.org โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,892 รายแล้ว

ข้อสังเกตของเครือข่ายพลเมืองเน็ตต่อชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล (ที่มาchange.org)
  • ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่
  • ชุดกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ถูกเสนออย่างเร่งรีบ ไม่อยู่ในวาระประชุมปกติ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่เคยเห็นร่างมาก่อน จนน่าสงสัยว่าชุดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้างเช่นนี้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่
  • มีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือบางกรณีที่มีก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของหน่วยงานกำกับกิจการ และฉวยโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือรัฐบาลและกองทัพ เหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม
  • กองทุนที่มาจากค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียม ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการเข้าถึง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส) กลายเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  • ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ ซ้ำยังมีร่างกฎหมายใหม่ในชุดที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันขึ้นอีก 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน
  • ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ -- ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังใช้สำนักงานเลขานุการร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่อาจขัดแย้งกัน จนทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก

30 องค์กรยื่นหนังสือ ‘บวรศักดิ์’ ค้านรวม ‘กรรมการสิทธิ์ฯ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน’


องค์กรสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กรยื่นหนังสือค้านและให้ทบทวนการควบรวมกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ผิดเจตนารมณ์ บวรศักดิ์ขอผู้คัดค้านศึกษารายละเอียดให้ดี
3 ก.พ.2558 องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชน รวม 30 องค์กร จัดทำข้อเสนอถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า วันนี้ที่อาคารรัฐสภา นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมตัวแทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 30 องค์กร เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน และจัดตั้งองค์กรใหม่ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” โดยกล่าวว่า การควบรวมทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกันจะมีข้อเสีย เนื่องจากหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ และ กสม.มีความแตกต่างกัน โดย กสม. มุ่งตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย โดยกระทำดังกล่าวอาจไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่าอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานคล้ายคลึงกัน จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์และภารกิจขององค์กร ทางสมาคมจึงนำข้อเสนอแนะของ 30 องค์กรมายื่นเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนข้อเสนอการควบรวม กสม.เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายบวรศักดิ์กล่าวหลังรับหนังสือว่า การควบรวมทั้งสององค์กรจะเป็นการยกระดับการทำงาน โดยจะมีคณะกรรมการ 11 คนดูแล 11 ด้าน และการควบรวมมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย จึงอยากจะให้คิดถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลักและต้องเป็นไปตามหลักสากล ในบางประเทศให้ กสม.ควบรวมกับผู้ตรวจการ และบางประเทศให้แยก ถ้าหากมีการควบรวม องค์กรประชาชนจะไม่ต้องฟ้องร้องกับหน่วยงานหลายหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนต้องไปฟ้อง 3 หน่วยงานได้แก่ กสม. ผู้ตรวจการ และศาล หากมีการควบ 2 องค์กรจะช่วยประหยัดเวลาในการฟ้องได้มาก ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า อยากให้ผู้ที่ค้านไปลองอ่านรายละเอียดและลองเทียบดูกับระบบของต่างประเทศเพื่อหาข้อดีและข้อเสีย โดยทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียถึงวันที่ 23 ก.ค.นี้
โดยรายละเอียดของหนังสือดังกล่าว มีดังนี้

ที่ พิเศษ 001/2558
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
เรื่อง  ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน
เรียน  ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตอนที่ 5 ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีมติในการพิจารณาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ให้มีการรวมทั้งสององค์กรเข้าด้วยกันและใช้ชื่อใหม่ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” นั้น องค์กรที่มีรายชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอคัดค้านการรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยขอแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบความคิดเห็น ดังต่อไปนี้
1. เจตนารมณ์ของการก่อตั้งและวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินแตกต่างกัน กล่าวคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมุ่งตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นจะเกิดจากการกระทำของบุคคลใด ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นมุ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายโดยการกระทำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้
แม้เรื่องร้องเรียนบางกรณีสามารถร้องเรียนได้ทั้งสององค์กร คือกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องที่ได้รับร้องเรียน หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบของทั้งสององค์กรนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะนอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังต้องพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวทั้งนโยบาย กฎหมายและการกระทำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบายและการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน  ประชาชนจึงย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมากกว่าการพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว
การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการพิจารณารวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยอ้างว่าเป็นเพราะอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานคล้ายคลึงกันนั้น ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนารมณ์และภารกิจขององค์กร  องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสมแล้ว ความบกพร่องที่มีเกิดจากกระบวนการสรรหากรรมการและสำนักงานที่ไม่เป็นอิสระจากระบบราชการซึ่งจะต้องแก้ไขในเรื่องดังกล่าวแทนการควบรวมสองหน่วยงานซึ่งมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกันอาจมีปัญหาในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานตามวัตถุประสงค์ขององค์กรในอนาคต
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามหลักการปารีส (Paris Principles) ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันดังกล่าว 106 ประเทศทั่วโลก โดยคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) จัดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไทยในระดับ A คือเป็นไปตามหลักการปารีส  อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA) ภายใต้ ICC ได้มีข้อเสนอเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาในการลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นระดับ B คือเป็นไปตามหลักการปารีสบางส่วน ซึ่งจะมีผลในระยะเวลาหนึ่งปีข้างหน้า
เนื่องจากตามหลักการปารีสนั้น สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมาจากกระบวนการสรรหาที่มีความโปร่งใส และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ซึ่งองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้เห็นว่าปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในปัจจุบันมีที่มาจากการสรรหาซึ่งขาดการมีส่วนร่วม จึงควรแก้ไขที่กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ซึ่งคณะกรรมการสรรหานั้นควรประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน  อาทิเช่น  ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน  สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน  หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีกระบวนการสรรหาที่เป็นอิสระ เปิดกว้างและมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม
3. ในส่วนของสำนักงาน  เนื่องจากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการคุ้มครองและการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงควรมีความอิสระ และมีสำนักงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยวัตถุประสงค์องค์กรและภารกิจที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณากำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหน่วยงานอิสระแยกจากกันเป็นสองหน่วยงาน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 โดยแก้ไขให้คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีความโปร่งใสและมีความเป็นธรรมในการคัดเลือก เพื่อให้ได้กรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถอันจะนำไปสู่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
1. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
3. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
4. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
5. เครือข่ายผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย
6. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
7. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
8. โครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัค
9. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
10. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
11. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
12. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
13. สมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
14. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
15. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
16. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
17. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
18. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
19. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
20. ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
21. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย)
22. เครือข่ายผู้ชายข้ามเพศแห่งประเทศไทย (TMAT)
23. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
24. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
25. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนภาคเหนือ
26. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
27. เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง
28. มูลนิธิผู้หญิง
29. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
30. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย