วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

'สกอ.' จี้มหาลัยจับตา นศ.เคลื่อนไหวต้าน 'คสช.' ด้านคณะทำงานปฎิรูปขอข้อมูลจากจุฬา


สกอ.ร่อนหนังสือถึงมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้จับตานักศึกษาจัดกิจกรรมต้าน คสช. หากพบให้สร้างความเข้าใจเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช. ด้าน 'คณะทำงานเตรียมการปฏิรูป' ขอความร่วมมือด้านแนวคิดและข้อมูลจากนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
              27 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 18 มิ.ย. 2557 โดยเนื้อความของหนังสือระบุว่า ด้วยพล.อ.อุดมเดช สีหบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติที่สำคัญ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการจากการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเรื่องการดูแลกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต่อต้าน คสช.โดยขอให้ดูแลกวดขันนิสิตนักศึกษากลุ่มดังกล่าว และจัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน
 
               เนื้อหายังระบุอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จึงขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาให้ดูแลนิสิตนักศึกษาในสถาบันอย่างใกล้ชิด หากพบนิสิตนักศึกษาที่มีพฤติกรรมต่อต้าน คสช. ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดประกาศ คสช.ได้ ขอให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างความเข้าใจเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช.ที่ชัดเจนโดยอาศัยหลักเหตุผลนำไปสู่การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และไม่เข้าร่วมการชุมนุมสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือแนะนำให้นิสิตนักศึกษาใช้ช่องทางที่เหมาะสมในการเสนอแนะความคิดเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างเป็นระบบต่อไป
 
             อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังกลุ่มนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด และยังไม่ถูกมหาวิทยาลัย หรือหน่วยกิจการนักศึกษาเรียกไปพูดคุยหรือขอความร่วมมือเป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างปิดภาคการศึกษา หากเปิดเทอมแล้วก็จะจัดกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยต่อไป
 
 
'คณะทำงานเตรียมการปฏิรูป' ขอความร่วมมือด้านแนวคิดและข้อมูลจากนายกสภาจุฬา
 
 
            วันนี้ (27 มิ.ย.) ได้มีการเปิดเผยหนังสือ "ขอความร่วมมือด้านแนวคิดและข้อมูล เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" โดยหัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฎิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ส่งถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2557
 
           เนื้อหาของเอกสารระบุว่าด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อการปฎิรูปคืนความสุขให้คนในชาติ โดยประสานกับทุกภาคส่วนเก็บรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ความต้องการในการปฎิรูป เพื่อนำมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล ที่จะต้องใช้ในการสนับสนุนสภาปฏิรูปในอนาคต โดยขอรับการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องหรือสอดคล้องกับหน่วยงานของท่านที่ควรจะปฏิรูป ในเรื่องดังต่อไปนี้
 
  • 1. แนวทางการปฏิรูปการเมือง
  • 2. แนวทางการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ อันได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ
  • 3. แนวทางการปฏิรูป ขบวนการยุติธรรม
  • 4. แนวทางการปฏิรูป การบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การกระจายอำนาจ หรือความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
  • 5. แนวทางการปฏิรูป การทุจริต คอรัปชั่น
  • 6. แนวทางปฏิรูปการศึกษา
  • 7. แนวทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
  • 8. แนวทางปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร
  • 9. แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
  • 10. แนวทางปฏิรูปด้านอื่นๆ
 
              ทั้งนี้ในเอกสารยังระบุว่านอกจากจะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งข้อมูลให้แล้ว ก็ยังจะมีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความเห็น สัมภาษณ์เชิงลึก และเสวนาวิชาการ ในโอกาสต่อไป

'ศนปท.' แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี นศ. ถูกจับกุมกิจกรรมกินแซนวิช



ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกจับกุมนิสิตนักศึกษาในกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช”
 
 
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมาศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกจับกุมนิสิตนักศึกษาในกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช” ผ่านแฟนเพจกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกจับกุมนิสิตนักศึกษาในกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช”
 
ตามที่ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ได้จัดกิจกรรม “ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนวิช” ที่สยามพารากอนนั้น
 
ทาง ศนปท. ได้แบ่งทีมออกเป็น 2 ทีม คือ ทีมสำหรับเตรียมกิจกรรม และทีมเจรจา(ตามที่ทางกองทัพได้เชิญไปพูดคุยที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลก่อนเริ่มกิจกรรม)
 
สำหรับทีมเตรียมกิจกรรมนั้น ทาง ศนปท. ได้นัดรวมตัวกันที่ลานน้ำพุ ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.00 น. ในระหว่างเดินทางภาย ปรากฏว่าทางทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าจับกุมสมาชิก ศนปท. จำนวน 6 คนภายในห้างสรรพสินค้าพารากอน ทำให้สมาชิกของ ศนปท. จำนวนหลายคนได้รับบาดเจ็บบริเวณคอและใบหน้า การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ ศนปท. จะได้เริ่มจัดกิจกรรม โดยไม่มีการแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่แต่ประการใด ทั้งนี้นิสิตนักศึกษาที่ถูกจับกุมตัวนั้น ได้ถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อทำการสอบสวนในเบื้องต้น และส่งต่อให้กับทางกองทัพเพื่อนำตัวไปยังสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีต่อไป
 
ในส่วนของทีมเจรจาที่มีจำนวน 3 คนนั้น ทางกองทัพได้ “เชิญ” ไปเจรจาในเวลา 15.00 น. โดยสัญญาว่าจะรับรองความปลอดภัยให้กับ ศนปท. ว่าการเจรจาครั้งนี้จะไม่มีการอุ้มหรือการจับกุมแต่ประการ เมื่อเข้าเจรจาได้จนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. คณะเจรจาได้แสดงเจตนาที่จะออกจากโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัลเพื่อมารวมตัวกับทีมที่เตรียมกิจกรรม ปรากฏว่าทางกองทัพไม่ยินยอมให้ทีมเจรจาออกจากโรงแรม โดยกล่าวว่า ถ้าออกจากโรงแรม ทีมเจรจาทุกคนจะถูกจับกุมตัว ทีมเจรจาได้ถูกกักตัวภายในโรงแรมจนถึงเวลา 18.00 น. ทีมเจรจาจึงได้ถูกนำตัวไปที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี
 
กระบวนการสอบสวนโดยกองทัพได้เริ่มขึ้น โดยทุกคนถูกแยกสอบสวนอย่างเข้มข้นเป็นเวลา มากกว่า 5 ชั่วโมง ในระหว่างนั้น อาจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาสังเกตการณ์ และร่วมพูดคุยกับ นิสิต นักศึกษาเป็นรายบุคคล จนกระทั่งเวลา 01.20 น. ผู้ถูกสอบสวนทั้ง 10 คน ได้ลงนามยอมรับข้อตกลงตามข้อห้ามของ คสช. โดยมีอาจารย์ปริญญา ลงนามเป็นพยานให้กับทุกคน 

 
หลังจากการปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาทั้ง 10 คน ทางทหารได้แจ้งกำหนดนัดหมายอีกครั้งเพื่อมารับสิ่งของส่วนตัว อาทิ โทรศัพท์มือถือ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 โดยพร้อมเพียงกัน 
 
เมื่อเวลา 10.00 น. ณ สโมสรกองทัพบก วิภาวดีรังสิต ทุกคนถึงที่นัดหมาย หลังจากนั้นได้รับแจ้งจากทหารให้เตรียมตัวเดินทางไป สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกับ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ. ทบ. ในเวลา 14.00 น. 
 
เมื่อเวลา 15.30 น. นักศึกษาทั้ง 10 คนจึงถูกปล่อยตัว พร้อมทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกยึดไป

 
สุดท้าย ศนปท. ยืนยันว่าการควบคุมตัวเพื่อสอบสวน จนถึงการพูดคุยกับนายทหารทุกระดับ ได้รับการดูแล และดำเนินการด้วยไมตรี และการให้เกียรติมากพอสมควรจึงทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และทาง ศนปท. ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมอย่างแข็งขัน และมั่นคง แต่จะปรับกระบวนวิธีการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

คตร.สั่งยกเลิก 2 ทบทวน 4 โครงการวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท



คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบโครงการวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท สั่งยกเลิก 2 โครงการ "จัดหารถจักร รฟท.-แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา" ทบทวน 4 โครงการใหญ่ "หารถรุ่นใหม่ รฟท.- คัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า-พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-กองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน" 
 
27 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ให้มีการตรวจสอบ ว่า เบื้องต้น คตร. มีมติยกเลิก 2 โครงการ คือ โครงการจัดหารถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่า  
 
“คตร.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาโครงการที่เกิดประโยชน์และคุ้มค่า แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมของโครงการมาเสนอใหม่ ทดแทนโครงการที่ถูกยกเลิกไปเพื่อให้การทำงานต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและส่วนรวม” พล.ท.อนันตพร กล่าว
 
พล.ท.อนันตพร กล่าวว่า คตร.ยังมีมติให้ทบทวนอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ของ รฟท.โครงการตรวตสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากมีการกำหนดราคากลางที่สูงเกินไป จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความคุ้มทุน
 
สำหรับโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาพพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. พล.ท.อนันตพร กล่าวว่า ที่ประชุมได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ที่เคยให้ชะลอไปก่อน เป็นการให้ไปพิจารณาทบทวนใหม่ให้คุ้มทุน หลังจากฟังคำชี้แจงของ กสทช.เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเดินหน้า โดยให้เวลา 15 วันในการไปปรับการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สุงสุด
 
พล.ต.อนันตพร กล่าวว่า ที่ประชุม คตร.ยังเพิ่มการตรวจสอบ อีก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ยังมีความล่าช้าทั้งเรื่องการก่อสร้างการเวนคืนที่ดิน การใช้งบประมาณที่สูง และเพิ่มการตรวจสอบการก่อสร้างที่พักของเจ้าหน้าที่และ สมาชิกรัฐสภา จำนวน 2,600 ห้อง ซึ่ง คตร.เห็นว่า ทั้งจำนวนและความจำเป็น อาจไม่คุ้มทุนกับการก่อสร้าง และเตรียมจะตรวจสอบโครงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรัฐสภา ที่ยังมีหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความชัดเจน
 
พล.ท.อนันตพร ยังแถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาว่า จากการตรวจสอบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล พบว่าผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลยังขายเกินในราคา 80 บาทอยู่ คสช.จะเร่งดำเนินการให้มีการขายสลากในราคาที่เหมาะสม  และหลังจากมีการจัดระเบียบแล้ว หากยังมีการฝ่าฝืน อาจจะต้องมีการยกเลิกโควต้าสำหรับผู้ค้ารายใหญ่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
 
“แต่ในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม เป็นต้นไป ผู้ค้าบริเวณหน้ากองสลาก สนามบินน้ำ ประมาณ 50 ซุ้ม จะขายสลากในราคา 80 บาท เพื่อเป็นการนำร่องก่อน” พล.ท.อนันตพร กล่าว
 

คสช. ออกคำสั่งโยก 'ปลัด- ขรก.' ระดับสูงอีก



คสช. ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 77 - 79 โยกย้ายปลัดกระทรวง-ข้าราชการระดับสูงหลายกระทรวง
 
27 มิ.ย. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 77-79 โยกย้ายปลัดกระทรวง-ข้าราชการระดับสูงหลายกระทรวง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 77/2557
เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
 
เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังนี้
 
ข้อ 1 ให้กำหนดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มขึ้นในส่วนราชการ ดังนี้
 
  • (1) ตำแหน่ง ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม (อัตราจอมพล) ในกระทรวงกลาโหม จำนวนหนึ่งตำแหน่ง โดยให้เป็นตำแหน่งข้าราชการทหาร ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521
  • (2) ตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตำแหน่งข้าราชการอัยการ ชั้น 8 เทียบเท่าอัยการสูงสุด จำนวนหนึ่งตำแหน่ง โดยให้เป็นตำแหน่งข้าราชการอัยการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553
  • (3) กำหนดตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนห้าตำแหน่ง โดยให้เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
  • ข้อ 2 ให้ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ตามข้อ 1 (1) เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 3 ให้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง พ้นจากตำแหน่ง อัยการสูงสุด และให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด ตามข้อ 1 (2) เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 4 ให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 5 ให้ นายธงทอง จันทรางศุ พ้นจากตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 6 ให้ นายสุรชัย ศรีสารคาม พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 7 ให้ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 8 ให้ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 9 ให้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงกลาโหม และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม
  • ข้อ 10 ให้ นายตระกูล วินิจนัยภาค พ้นจาก รองอัยการสูงสุด และให้ดำรงตำแหน่ง อัยการสูงสุด
  • ข้อ 11 ให้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ข้อ 12 ให้ นางเมธินี เทพมณี พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • ข้อ 13 ให้ นายภานุ อุทัยรัตน์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ข้อ 14 ให้ นายจเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  • ข้อ 15 ให้ พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตต์ พ้นจากตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
  • ข้อ 16 ให้ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้างต้น ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้เป็นต้นไป
  • ข้อ 17 ให้กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าว ให้เรียบร้อยโดยด่วน โดยจัดให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่า ตำแหน่งที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่เดิม
  • ข้อ 18 เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
  • ข้อ 19 เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 แล้ว ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
  • ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 78/2557
เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
 
เพื่อให้การปฎิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังนี้
 
ข้อ 1 ให้กำหนดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มขึ้นในส่วนราชการ ดังนี้
 
  • (1) ตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนหนึ่งตำแหน่ง
  • (2) ตำแหน่ง ที่ปรึกษาในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม จำนวนหนึ่งตำแหน่ง
  • (3) ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการ ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง จำนวนหนึ่งตำแหน่ง
  • ข้อ 2 ให้ นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1(1) เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 3 ให้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์
  • ข้อ 4 ให้ พันตำรวจเอก ประเวศน์ มูลประมุข พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ตามข้อ 1(2) เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 5 ให้ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ พ้นจากตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
  • ข้อ 6 ให้ นายราฆพ ศรีศุภอรรถ พ้นจากตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ตามข้อ 1(3) เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 7 ให้ นายสมชัย สัจพงษ์ พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และให้ตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร
  • ข้อ 8 ให้ นายกฤษฏา จีนะวิจารณะ พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักเศรษฐกิจการคลัง และให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง
  • ข้อ 9 ให้ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้างต้น ปฎิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้เป็นต้นไป
  • ข้อ 10 ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน โดยจัดให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่เดิม
  • ข้อ 11 เมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
  • ข้อ 12 เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตาม ข้อ 2 ข้อ 4 และข้อ 6 แล้ว ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
 
ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 79/2557
เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง
 
เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังนี้
 
  • ข้อ 1 ให้กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนสี่ตำแหน่ง โดยให้เป็นข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
  • ข้อ 2 ให้นายปรีชา กันธิยะ พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 3 ให้ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 4 ให้นายทศพร ศิริสัมพันธ์ พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 5 ให้นายอภิชาต จีระวุฒิ พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 เป็นพิเศษเฉพาะราย
  • ข้อ 6 ให้ นายอภินันท์ โปษยานนท์ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
  • ข้อ 7 ให้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน
  • ข้อ 8 ให้ นายกำจร ตติยกวี พ้นจากตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • ข้อ 9 ให้ นายกมล รอดคล้าย พ้นจากตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • ข้อ 10 ให้ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้างต้น ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่งนี้เป็นต้นไป
  • ข้อ 11 ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน โดยจัดให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ข้าราชการผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่เดิม
  • ข้อ 12 เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
  • ข้อ 13 เมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แล้วให้ตำแหน่งดังกล่าว เป็นอันยกเลิก
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

'กสม.' ชี้บังคับ นศ.แต่งกายตรงเพศกำเนิด ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์




มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้กรณีมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดแต่งกายตามเพศที่ตนเลือก ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
27 มิ.ย. 2557 ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กรณีผู้ร้องมีเพศกำเนิดเป็นชายแต่ดำเนินชีวิตหรือเพศวิถีเป็นหญิง  ซึ่งในระหว่างศึกษาได้แต่งกายเป็นหญิงตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 2 จนกระทั่งจบการศึกษา และเตรียมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่ทั้งนี้มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้แต่งกายเป็นบัณฑิตหญิงในการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทำให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ  
 
กสม. ได้พิจารณาและมีมติเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดข้ามเพศ (Transgender) แต่งกายตามเพศสภาพในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อระเบียบและแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยที่กำหนดเครื่องแต่งกายในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับบัณฑิตชายและบัณฑิตหญิงทุกระดับโดยให้เป็นไปตามเพศชายหรือเพศหญิงตามที่กฎหมายรับรองนั้น ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน  
 
กสม. ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มหาวิทยาลัยพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยให้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการแต่งกายเข้าเรียน การเข้าสอบ ตลอดจนการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลให้เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนต่อไป               

ตั้งกรรมการ ปตท.ใหม่ 6 คนแทนกรรมการลาออก



คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่งตั้งกรรมการใหม่ 6 คน ทดแทนกรรมการที่ลาออก มี “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ที่คาดว่าจะเป็นประธานกรรมการคนใหม่รวมอยู่ด้วย
 
27 มิ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าบมจ.ปตท.แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ามีกรรมการ 4 คนลาออกเนื่องจากมีภารกิจอื่น ประกอบด้วย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ และนายอินสอน บัวเขียว มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไป และการประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันนี้ (27 มิ.ย.) มีมติแต่งตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ลาออก ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายคุรุจิต นาครทรรพ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายพรชัย รุจิประภา นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ปตท.ทดแทนกรรมการที่ลาออก จะทำให้คณะกรรมการ ปตท. หลังวันที่ 1 กรกฎาคมมีจำนวน 14 คน จากจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ 15 คน
 
ขณะที่มีรายงานว่า คณะกรรมการ ปตท.ทั้งหมด จะนัดประชุมอีกครั้งหลังจากนี้เพื่อแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นนายปิยสวัสดิ์


ฝากขัง 'วรเจตน์' ผลัด 2 ศาลทหารให้ปล่อยตัวชั่วคราว


ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว"วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ด้านเจ้าตัววอนเจ้าหน้าที่เร่งสอบหวั่นกระทบสอน ชี้สัญญาณดี คสช.เลิกเรียกรายงานตัว
 
 
27 มิ.ย. 2557 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และคณะนิติราษฎร์ เดินทางมารายงานตัวตามกำหนดที่พนักงานสอบสวนนัดยื่นคำร้องต่อศาลขอควบคุมตัวผลัดสองอีก 12 วัน จากฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอเก็บข้อมูลและสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งนายวรเจตน์เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไปแล้วในผลัดแรก ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา 
 
นายวรเจตน์ กล่าวก่อนเข้าพิจารณาว่า จะไม่คัดค้านการฝากขัง เนื่องจากคดีอยู่ในขั้นตอนการทำงานของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม หากศาลพิจารณาฝากขัง ตนจะยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว เพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ยังเรียกร้องขอให้ศาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความแตกจากคดีทั่วไป 
 
นายวรเจตน์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า คสช.อาจจะไม่มีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มนั้น เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี อีกทั้งทาง คสช.ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
 
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรเจตน์ เดินทางมายังศาลทหาร ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มผ่อนคลาย ทั้งยังมีนักศึกษาธรรมศาสตร์ ประมาณ 20 คน มายืนรอมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ นับสิบรายที่ตรึงกำลังอยู่ด้านหน้ามากกว่าปกติ จากที่ผ่านมาก็ได้ถ่ายภาพบุคคลที่มาให้กำลังใจบันทึกไว้เป็นหลักฐาน 
 
ต่อมาเวลา 11.15 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ตุลาการศาลทหารนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้อง โดยพนักงานสอบสวนยืนยันตามคำขออำนาจศาลฝากขังจำเลยผลัดสอง อีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 11 ก.ค. เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชาญากรรมจากลายพิมพ์นิ้วมือและสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปาก ด้านนายวรเจตน์ ไม่ขอคัดค้านคำขอของพนักงานสอบสวน แต่ได้ขออนุญาตกล่าวผ่านศาลไปยังพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างใด จึงอยากขอให้พนักงานสอบสวนกรุณาเร่งรัดกระบวนการสอบประวัติอาชญากรรมและการสอบพยานบุคคลด้วย 
 
จากนั้นตุลาการได้พิจารณาอนุญาตตามคำขอฝากขังผลัดสองนายวรเจตน์ตามเหตุจำเป็นในคำร้อง แต่เนื่องด้วยนายวรเจตน์ได้รับอนุญาตประกันตัวไปแล้วในผลัดแรกจึงไม่ต้องถูกคุมขัง 
 
จากนั้นเวลา 11.40 น. นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการพิจารณาว่า ศาลยืนตามคำขอของพนักงานสอบสวน แต่เนื่องด้วยตนได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา สัญญาประกันตัวยังมีอยู่ ด้วยหลักทรัพย์ 20,000 บาทเท่าเดิม และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลตามเดิมเช่นกัน อย่างไรก็ตามตนก็ขอขอบคุณทุกคนที่มีความห่วงใยและเดินทางมาให้กำลังใจด้วย 
 
ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ทนายความ นายวรเจตน์ กล่าวเสริมว่า ศาลอาจจะนัดพิจารณาคำขอฝากขังผลัดสามจากพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. ซึ่งนายวรเจตน์ก็พร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนกรณีที่นายวรเจตน์ร้องขอให้พนักงานสอบสวนกระทำการสอบสวนโดยเร็วนั้น เนื่องจากนายวรเจตน์อยากให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปอย่างต่อเนื่องว่าท้ายสุดแล้วจะดำเนินมีการทำสำนวนส่งฟ้องหรือไม่ จึงมองว่ากระบวนการขออำนาจศาลฝากขังในแต่ละผลัดนั้น จะไปส่งผลกระทบต่อภาระความรับผิดชอบในการให้ความรู้ทางวิชาการแก่นักศึกษาของนายวรเจตน์ 


จอม เพชรประดับ: แถลงการณ์ จากสถานที่อันเงียบเหงา


ณ สถานที่อันเงียบเหงา
เดือนกว่าของการทำรัฐประหาร เป็นความสว่างในตวงตา ที่กลับมาเห็นความจริงของประเทศไทยอย่างเด่นชัดอีกครั้ง ความจริงที่ว่า คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำหรือบุคคลชั้นสูง ซึ่งได้ทำลายอนาคตของคนไทย และประเทศไทยลงไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง
ความจริงข้อนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกนำมาวิเคราะห์ ไม่เคยนำมาศึกษา ไม่เคยนำมาเพ่งมองให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และนำไปสู่การกำหนดอนาคตประเทศว่าจะอยู่อย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน
เป็นความจริงที่พูดคุยกันหลังไมค์ วิเคราะห์กันหลังฉาก ตามเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่เป็นสังคมต่อหน้าคือความเท็จ ลับหลังคือความจริง การไม่พยายามศึกษาวิเคราะห์ความเป็นจริงของประเทศ เพื่อนำไปสู่การวางฐานของประเทศให้มั่นคงถาวรในอนาคตนี่่เอง นอกจากจะไม่สามารถทำให้ประเทศไทย เข้มแข็ง แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจแล้ว ยังไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงภายในประเทศได้ด้วย แม้ว่าเราจะผ่านบทเรียนอันเลวร้าย ผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เจ็บปวดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ความเป็นจริงที่เด่นขึ้นอีกครั้งก็คือ กลุ่มชนชั้นสูง หรือ ชนชั้นนำของประเทศไทย ที่ยึดกุมทรัพยากร อำนาจ และความเป็นประเทศไทยไว้ เพียงกลุ่มเดียวหรือเพียงไม่กี่กลุ่มนี้ กำลังอ่อนล้า อ่อนล้าทั้งปัญญา และอ่อนล้าทางร่างกาย จึงเต็มไปด้วยความสับสน และขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง
อาการหวาดกลัวว่า อำนาจ โภคทรัพย์ และผลประโยชน์ทั้งหลาย ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวยึดถือ ครอบครองมาเป็นเวลานาน กำลังจะถูกแย่งชิง แบ่งปัน หรือยึดครองโดยกลุ่มบุคคลอื่่น หรือ แม้แต่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง เป็นความหวาดกลัวอย่างที่สุดของ บุคคลกลุ่มนี้
การแก้ปัญหาเพื่อขจัดความหวาดกลัวของบุคคลชนชั้นนำเหล่านี้ คือการสร้างหลุมดำขนาดใหญ่ขึ้นในใจกลางประเทศ ด้วยหวังที่จะให้หลุมดำ ดูดกลืนเอาความหวาดกลัวของพวกตนให้หมดสิ้นไป แต่การแก้ปัญหาแบบสิ้นปัญญาเช่นนี้ กลับทำให้ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องมาพลัดตกลงไปในหลุมดำแห่งหายนะนี้ด้วย นี่คือความเป็นจริงที่เจ็บปวดใจของคนไทย
การแก้ปัญหาด้วยการ รัฐประหาร จึงเป็นความต้องการของชนชั้นนำผู้มีอำนาจและบุคคลชั้นสูงในสังคมไทย ที่ต้องการจะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองไว้ให้นานที่สุดเท่่านั้น ไม่ได้หวังที่จะปฎิรูปประเทศให้ คนไทยได้ภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง หรือไม่ได้ต้องการที่ีจะหยิบยื่นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับประชาชนแต่อย่างใด
ดูเหมือนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ ไม่ได้สร้างอนาคตของประเทศให้สดใส เพื่อลูกหลานไทยในอนาคต เหมือนอย่างที่ได้โฆษณาเอาไว้แต่อย่างใด

ดังนั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่ใช่เครื่องมือหนึ่งของชนชั้นนำ ที่ออกมาเพื่อ ทำหน้าที่่พิทักษ์ รักษาอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ. จะคาดหวังได้อย่างไรว่า คสช.จะนำพาประเทศ ก้าวข้ามหุบเหวแห่งหายนะ หรือ หลุมดำที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น เพื่อนำความสงบสุขมาสู่่สังคมไทย
เกือบ 30 ปีของการ ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน เพื่อสะท้อนความจริงของสังคมไทย หลายครั้ง ภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ออกจาก กระจกใบนี้ อาจจะพร่ามัว แต่หลายครั้งกระจกใบนี้่ ก็ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน แม้จะ ถูกกระทำ ย่ำแย่ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจนเกือบจะยืนหยัดอยู่ไม่ได้
สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นประชาธิปไตย คือ อุดมการณ์อันสูงสุด ที่ผู้เขียน พยายามรักษาและหวงแหน ในการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ตลอดมาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
ถึงเวลานี้ ด้วย อำนาจ ที่มาจากปลายกระบอกปืน อำนาจเผด็จการทหาร ที่ เข้มแข็งรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง คงถึงเวลาที่จะสารภาพว่า ความอดทนอดกลั้น ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
เพราะนอกจากต้องอดทน อดกลั้่น ที่อยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำแล้ว การเห็นภาพประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ออกมา เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคน บนท้องถนน แล้วถูกจับกุม ถูกกระทำย่ำยีอย่างไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่ทำมาหากินอยู่บนหลัก สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม แต่กลับช่วยอะไรไม่ได้
อีกทั้ง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยส่วนใหญ่ กลับสยบยอม ต่อการทำลายจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพของตนเอง ยิ่งทำให้สะท้อนใจว่า แล้วจะทนอยู่ในฐานะ นักสื่อสารมวลชน ที่ทำตัวเหมือนคนโกหกหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงคืนอื่นต่อไปได้อย่างไร
ณ สถานที่อันสงบเงียบแห่งนี้ จึงขอประกาศดัง ๆ ว่า "ข้าพเจ้า..นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ขอยุติบทบาท การทำหน้าที่สื่อสารมวลชนในประเทศไทย ตั้งแต่บัดนี้ จนกว่า คนไทยทั้่งประเทศจะได้รับสิทธิเสรีภาพกลับคืนมา และจนกว่า ประเทศไทย จะกลับมาปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง อีกครั้ง"
ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจตลอดมา ...... สวัสดีครับ