วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาลดโทษจากจำคุก ‘33ปี12เดือน’ เหลือ ‘2ปี16เดือน’ พันธมิตรฯ ขับกระบะชนตร.


20 พ.ค.2558 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ คุมตัวนายปรีชา ตรีจรูญ แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มายังศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฎิบัติหน้าที่ และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา และทำเนียบเพื่อสลายการชุมนุม

โดยนายปรีชา ได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวจึงทำให้สูญเสียลูกตาด้านขวาด้วยบันดานโทสะจึงได้ขับรถยนต์กระบะพุ่งชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายซึ่งปฏิบัติหน้าที่บริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลย มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่จำเลย กระทำไปโดยมีเหตุบันดาลโทสะ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเลยก็ได้รับอันตรายสาหัสตาบอด โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้ สั่งจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง สั่งจำคุก 1 ปี แต่การนำสืบของจำเลย มีประโยชน์ต่อรูปคดี มีเหตุบรรเทาโทษคงจำคุกเหลือ 33 ปี 12 เดือน (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดในวันนี้(20 พ.ค.58) ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพฤติกรรมแสดงออกยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนุมถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบลุแก้อำนาจ ซึ่งนายปรีชา ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสสูญเสียลูกตาข้างขวา และถูกข่มเหงร้ายแรงย่อมเป็นเหตุให้เกิดบันดาลโทสะกระทำผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย โดยศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยบางประเด็นจึงพิพากษาแก้ให้จำคุกนายปรีชา 4 ปี ฐานพยายามฆ่าเจ้าหนักงานแต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกในความผิดฐานมั่วสุ่ม อีก 8 เดือน รวมเป็น 2 ปี 16 เดือน
เดลินิวส์ รายานด้วยว่าภายหลังคำพิพากษา รัศมี ไวยเนตร ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้จำเลยติดคุกมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก 33 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งตนเห็นว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 จึงจะขอพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ยอมรับคำพิพากษาของศาลและยืนยันว่า เป็นการชุมนุมของประชาชนเป็นไปตามกฎหมาย

เรื่องราวของ ‘ทอม ดันดี’ ฝรั่งเศส ปรีดี เสื้อแดง และมาตรา 112



ทอม ดันดี เป็นนักร้องที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ช่วงหลังเขาเงียบหายไปจากหน้าสื่อ จนกระทั่งพบเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งตอนร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง  ล่าสุด เราพบเขาในสื่อบ่อยขึ้น ในสถานะของผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่รายงานตัวกับ คสช. และหมิ่นสถาบัน มาตรา 112
 
วิกิพีเดียบอกว่าชื่อ ทอม ดันดี นั้นมีที่มาจากหนังเรื่องอินเดียน่าโจนส์และเมืองในสกอตแลนด์  แต่เจ้าตัวบอกว่าจริงๆ แล้ว อ.เสก แห่งวงซูซูเป็นคนตั้งให้ มาจากหนังเรื่อง Crocodile Dundee เนื่องจากตัวเอกของเรื่องชื่อ ดันดี มีบุคลิกทะลึ่งตึงตังและสาวๆ เยอะ .. คล้ายกัน
 
นอกจากการเป็นนักร้องนักแสดงแล้ว เรื่องตลกร้ายที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่จดจำอีกอย่างเห็นจะเป็นถุงยางยี่ห้อ “ทอม ดันดี” กลิ่น ลีลาวดี ซึ่ง อย.ไม่อนุญาต กรมศาสนาคัดค้าน กระทรวงวัฒนธรรมไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าชื่อนี้ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีไทยและอาจยั่วยุให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น
 
ในวันพุธที่ 20 พฤษภาคมนี้ ทอม ดันดี มีอายุครบ 57 ปี สองวันก่อนหน้านี้เขาไปศาลทหารในนัดตรวจสอบพยานหลักฐาน เขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและเตรียมต่อสู้คดี หลังติดคุกมาแล้วเกือบ 11 เดือน ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 4 ส.ค.นี้และพิจารณาเป็นการลับ นั่นเป็นคดีแรก
 
คดีที่สองมาเยือนเขาในเดือนที่ 8 ในเรือนจำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางเข้าไปแจ้งคดี 112 เพิ่มอีกหนึ่งคดี ทั้งสองกรณีเกิดจากการปราศรัยของเขา 2 ครั้งในปลายี 2556 แล้วมีการเผยแพร่เป็นคลิปวิดีโอในยูทูป ปอท.นำมาดำเนินคดีหลังรัฐประหาร ตอนแรกคดีของเขาถูกพิจารณาที่ศาลอาญา แต่นัดต่อมามันก็ถูกโอนมายังศาลทหาร
 
“มันคงต้องยอมรับสภาพที่เกิดมาเป็นคนของประชาชน” ทอม ดันดี ในชุดนักโทษกล่าวในวาระวันเกิดของเขา ก่อนเดินขึ้นรถผู้ต้องขังกลับเรือนจำพร้อมด้วยกุญแจมือ
 
หากถามว่าเขาเริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร ความคิดทางการเมืองของเขามาจากไหน อาจต้องย้อนไปถึงวัยเด็กของเขา
 
“ผมน่าจะเป็นส่วนผสมของทั้งสองคน” เขากล่าวถึงอิทพลของพ่อและแม่ที่อยู่ในตัวเขา พ่อเป็นครูใหญ่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี มีความคิดทางการเมืองแบบก้าวหน้าและเคยร่วมเป็นแพทย์เสรีไทย ส่วนแม่มีอาชีพเป็นนางละคร
 
เขาเล่าว่าชีวิตในวัยเด็กของเขายากลำบาก เนื่องจากพ่อแม่มีลูกถึง 11 คนและเขาค่อนข้างเกเรจึงไม่ค่อยได้รับการดูแลมากนักเขาจึงเลือกใช้ชีวิตเร่ร่อนผจญโลกภายนอกเสียมากกว่าอยู่กับครอบครัว จนโตเป็นหนุ่มจึงได้ทุนรัฐบาลไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 1986 ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 6 ปีเต็ม เขาเข้าเรียนในวิทยาลัยซึ่งคล้ายๆ กับ ปวช.-ปวส.บ้านเรา วิชาที่เรียนคือ ภาษา ดนตรี ถ่ายภาพ ควบคู่กัน  
 
ระหว่างเรียนเขาทำงานไปด้วยหลายอย่าง เคยเป็นผู้จัดการร้านน้ำหอม เป็นไกด์และล่ามให้ทูตพาณิชย์ สอนพิเศษภาษาฝรั่งเศสให้คนไทยที่นั่น กลางคืนเล่นดนตรีที่ร้านอาหาร กระทั่งชกมวยโชว์ให้สถานทูต เพราะเขาฝึกมวยที่ค่ายผุดผาดน้อย วรวุฒิ ซึ่งเป็นค่ายมวยไทยในฝรั่งเศส
 
ห้วงยามนั้นเป็นช่วงท้ายๆ ของชีวิต ‘ปรีดี พนมยงค์’ พอดี เขาได้เจอปรีดีในปี 1981 ก่อนหน้าปรีดีจะเสียชีวิตเพียง 2 ปี จากการได้ทำงานกับสถานทูต เป็นประธานปฏิคมต้อนรับนักศึกษาไทยในฝรั่งเศส เขามีโอกาสได้ไปรับประทานอาหารที่บ้านของปรีดีและรู้จักสนิทสนมกับลูกของปรีดีบางคน ได้สนทนาเรื่องประวัติศาสตร์กับท่านผู้หญิงพูนศุข เขาเล่าว่านักเรียนไทยหลายคนมักไปรวมตัวที่นั่นและเล่นดนตรีด้วยกัน ตัวเขาเองยังเคยได้เรียนปรัชญาดนตรีกับลูกคนหนึ่งของปรีดี
 
เมื่อกลับมาเมืองไทยเขาเข้าสู่วงการดนตรี และได้มีโอกาสเป็นนักร้องนำวงซูซูจนได้ออกอัลบั้มของตัวเอง เรียกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงพีคของชีวิต โดยเฉพาะกับผู้คนในต่างจังหวัดซึ่งเขายังคงมีเวทีคอนเสิร์ตในจังหวัดต่างๆ เสมอมา
 
เขาเริ่มเข้าสู่พื้นที่การเมืองจริงจังในช่วงปี 2553 ก่อนสลายการชุมนุม และตัดสินใจขึ้นเวที นปช.ด้วย ก่อนหน้านี้เขามีทัวร์คอนเสิร์ตราว 20-25 ครั้งต่อเดือน รายได้บางเดือนเกือบ 3 ล้านบาท แต่หลังออกตัวทางการเมือง แทบทั้งหมดก็ถูกแคนเซิล
 
“เรามองดูอยู่ ประชาชนเดือดร้อนเรื่องประชาธิปไตย ปากท้อง ความเป็นธรรม บุญคุณของประชาชนข้าวชามน้ำจอกที่ได้รับมา ได้อยู่ดีกินดีมีเงินใช้แบบนี้ก็เพราะประชาชนทั้งนั้น เลยตัดสินใจออกมาขึ้นเวที” ทอมกล่าว  
 
“นาฬิกาไม่ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ราคา มันขึ้นอยู่กับว่าเดินตรงกันไหม คุณเป็นใคร มาจากไหนไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุณมีความยุติธรรมอยู่ในตัวหรือไม่ พฤติกรรมคือคำตอบเหนือสิ่งอื่นใด” ก็เขาอีกนั่นแหละที่กล่าว
 

 
การสลายการชุมนุมในปีนั้น ดูเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว ข้อมูลจากภรรยาที่ดูแลเขาในขณะนี้ระบุว่าในปี 2554 ทอม ดันดี เน้นการเดินสายพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยร่วมขบวนไปกับคนอื่นๆ ที่ทำเรื่องหมู่บ้านเสื้อแดง แต่หลังจากนั้นในปี 2555 เขาตัดสินใจออกจากกลุ่มเนื่องจากปัญหาความโปร่งใสทางการเงินของแกนนำบางส่วน แล้วอาศัยเดินสายด้วยตัวเอง
 
“ปี 54 นี่เดินสายต่างจังหวัดเยอะมาก แทบไม่ได้กลับบ้านเลยทั้งปี พี่ทอมไปอบรม พูดคุยกับชาวบ้านเรื่องประชาธิปไตย เรื่องความสำคัญของสหกรณ์อะไรพวกนี้ คนอื่นในทีมก็พูดเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองบ้างอะไรบ้าง แต่ตอนหลังแกนนำหลักบางคนมีปัญหาเรื่องเงิน เราเลยแยกออกมา เริ่มเดินสายเอง ออกเงินเองหมด แต่เราไม่ค่อยมีเงินเลยไม่ได้ไปบ่อย เวลาจะไปไหนทีก็นั่งรถทัวร์กันไปสองคน” ภรรยาของเขากล่าว
 
ทอมระบุว่าเหตุที่เดินสายต่างจังหวัดเพราะต้องการพบปะแลกเปลี่ยนกับประชาชนในชนบทให้มากที่สุด เพื่อบอกว่าพวกเขากำลังถูกเอาเปรียบ
 
“บ้านเรามีทรัพยากรสมบูรณ์ ทำไมประชาชนยังจนอยู่ ทำไมไม่โอกาสดีๆ บ้าง ใครเอาเปรียบเรา และใครที่ให้โอกาสเรา” ทอม ดันดีกล่าว
 
ปลายปี 2553 เขาถูกเครือข่ายราษฎรอาสาป้องกันสถาบันร้องเรียนกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับเขาจากกรณีปราศรัยที่จ.ราชบุรี ซึ่งทางเครือข่ายเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นฯ แต่คดีนี้ดูเหมือนเงียบไป
 
หลังจากเคลื่อนไหวหนักๆ และขาดรายได้จากวงการบันเทิง ทอม ดันดี ผันตัวมาเป็นชาวไร่เต็มรูปแบบเหมือนสมัยยังเล็ก เขาได้รับที่ดิน 30 กว่าไร่ที่บ้านเกิดหลังพ่อเสียชีวิต เขาปลูกพืชหลายอย่าง หน่อไม้ มะนาว มะม่วง กล้วย มะพร้าว มะปราง หมาก ฯลฯ อาศัยรายได้จากสวนเพื่อยังชีพ
 
“เขาทำเอง เก็บเอง ขายเอง ตอนช่วงไปชุมนุมบ่อยๆ ก็เอาไปขายด้วย ขึ้นเวทีเสร็จก็ลงมาขาย มะนาว หน่อไม้ มะม่วง” ภรรยากล่าว
 
หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด 22 พ.ค.2557 ทอม ดันดี มีชื่ออยู่ในรายชื่อที่ คสช.เรียกรายงานตัว เขาอยู่ในไร่ บ้านไม่มีทีวี ทำให้ทราบเรื่องช้า เมื่อรู้ข่าวก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะไปรายงานตัววันรุ่งขึ้น แต่แล้วก็ถูกบุกจับกุมตัวก่อนและถูกสอบสวนหนัก โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเขาอาจเกี่ยวข้องกับอาวุธสงคราม (อ่านรายละเอียดที่ ทอม ดันดี: จดหมายระบายความในใจ-การถูกจับกุม) จากนั้นเขาถูกคุมตัวที่กองปราบหลายวันก่อนส่งตัวเข้าเรือนจำ คนอื่นที่ไม่รายงานตัวและถูกจับไล่เลี่ยกับเขาล้วนได้รับการปล่อยตัว แต่เขาถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวจนปัจจุบันเนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาตามมาตรา 112
 
ช่วงแรกเขามีอาการตึงเครียดจนกระทั่งค่อยๆ ปรับสภาพกับความแออัดและมาตรฐานชีวิตในเรือนจำได้
 
“เขาเป็นนักสู้ เป็นศิลปินเพื่อชีวิตคนเดียวในประเทศไทย นอกนั้นไม่ใช่ เขายืนหยัดในความเป็นเพื่อชีวิตโดยไม่เปลี่ยนแปลง จริงๆ เขาควรได้เป็นศิลปินแห่งชาติด้วยซ้ำ” สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบก.นิตยสาร Red Power ผู้ต้องหาคดี 112 ที่อาศัยอยู่แดนเดียวกันกล่าวถึงทอม
 
“เขาเป็นที่พึ่งพาของนักโทษคนอื่น เป็นคนตลกโปกฮาลามก คิดถึงแต่เมียทุกวัน” อีกหนึ่งคำจำกัดความที่สมยศมอบให้เขา
 
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในเรือนจำ ดูเหมือนมุขตลกของเขาจะลดลงเรื่อยๆ เสียงหัวเราะมีเพียงประปราย แทนที่ด้วยความขรึมและเคร่งเครียดจริงจัง จนกว่าจะถึงวันสืบพยานนัดแรก 4 ส.ค.และบทสุดท้ายของคดีนี้
 
“ในอนาคต ผู้คนคงพากันงงว่า ทำไมถึงมีคดีแบบนี้เกิดขึ้นได้ในสังคม” ทอม ดันดี กล่าว

iLaw: รายงาน 364 วันหลังรัฐประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก


เนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จะเป็นวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw จัดทำรายงาน "364 วันหลังรัฐประหาร ประมวลสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก" รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
 

สถิติการเรียกบุคคลไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร
นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 21 พฤษภาคม 2558 บุคคลอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช. เรียกรายงานตัวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งประกาศเรียกอย่างเป็นทางการผ่านวิทยุและโทรทัศน์ และการเรียกเข้ารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ การโทรศัพท์มาเชิญไปรับประทานอาหารหรือกาแฟ และการส่งทหารไปเชิญที่บ้าน 
 
หากจำแนกประเภทของบุคคลจะพบว่า 
  • ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงถูกเรียกตัว อย่างน้อย 278 คน
  • ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. และกลุ่มคปท. ถูกเรียก อย่างน้อย 41คน
  • นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา นักเขียน และสื่อมวลชน ถูกเรียก อย่างน้อย 176 คน
ในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 22 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังเข้ารายงานตัว ซึ่ง 6 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดูเหมือนว่า การเรียกบุคคลรายงานตัว นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ "ปรับความเข้าใจ" หรือสร้างเงื่อนไขไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างจากคสช.เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังถูกใช้เป็นทางลัดในการตามตัวบุคคลมาดำเนินคดีอีกด้วย 
 

 
สถิติคดี 112 หลังการรัฐประหาร
ในช่วงเวลา 364 วัน หลังการรัฐประหาร มีการตั้งข้อหาบุคคลตามมาตรา 112 จากการแสดงออก อย่างน้อย 46 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศก่อนการรัฐประหารที่มีนักโทษ 112 อยู่ในเรือนจำ 5 คน และมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่อีก 5 คดี 
  • การดำเนินคดีพลเรือนในความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลทหาร
หลังการรัฐประหาร มีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดี 112 จากการเก็บข้อมูลพบว่า ศาลทหารมีคำพิพากษาคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วอย่างน้อย 4 คดี  
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมและดำเนินคดี คนป่วยทางจิตด้วย โดยมีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คนที่ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารและถูกส่งไปตรวจอาการทางจิต แต่ยังคงถูกคุมขังและดำเนินคดี คือ "ธเนศ", สมัคร และประจักษ์ชัย กรณีของ "ธเนศ" และ ประจักษ์ชัย นั้นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยพบตัวและพูดคุยแล้วแต่ตัดสินใจไม่จับกุมเพราะสังเกตเห็นอาการไม่ปกติจากการพูดคุย แต่มาถูกจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้งในยุคหลังการรัฐประหาร
 
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะหลังการรัฐประหาร
จากการเก็บข้อมูล พบว่า นับจากการรัฐประหาร มีการปิดกั้น แทรกแซง การชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 71 ครั้ง แบ่งเป็นชุมนุมสาธารณะ 22 ครั้ง และเวทีเสวนาวิชาการและกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ 49 ครั้ง ประเด็นที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นประวัติศาสตร์และการเมือง 33 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องที่ดินและสิทธิชุมชน 12 ครั้ง   
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้ พ.ร.บ. ความสะอาดฯ มาเป็นบทลงโทษสำหรับผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยวัตถุประสงค์ของการใช้กฎหมายนี้ ไม่ใช่การมุ่งดำเนินคดีเพื่อลงโทษให้หนัก แต่ใช้เพื่อทำให้ผู้ใช้เสรีภาพมีภาระมากขึ้น
จากการสังเกตการณ์ พบว่ามีอย่างน้อย 4 กรณี ที่ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถูกเปรียบเทียบปรับ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ได้แก่ กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมปี 53 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีที่นักศึกษาแขวนป้ายผ้า รำลึกถึงการรัฐประหาร 19 กันยา ที่สะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์์ไทยรัฐ และบนสะพานลอยข้ามถนนพญาไท และกรณีชายชาวระยองโปรยใบปลิวต้านรัฐประหาร
 
การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เผยแพร่รูปภาพของทหารที่มีข้อพิพาทกับชาวบ้าน
จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีอย่างน้อย 3 กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ
  • กรณีชาวลาหู่ ถูกดำเนินคดีแจ้งความดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังโพสต์วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับทหาร ซึ่งในวิดีโอ มีการกล่าวหาว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน 
  • กรณีผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ถูกสารวัตรกำนันที่ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากมีการโพสต์รูปถ่ายสารวัตรกำนันลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายดูหมิ่นใส่ความผู้เสียหาย 
  • กรณีลูกจ้างของหน่วยควบคุมไฟป่า ถ่ายภาพทหารที่เข้าไปยังที่ทำกินของชาวบ้านคำน้อย จ.ชัยภูมิ และภาพดังกล่าวถูกนำไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กสมัชชาคนจน พร้อมแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่บังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ โดยเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายภาพจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ก็ถูกพาตัวไปที่ สภ.เมืองชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทหารเชิญพลเมืองโต้กลับ ไป สน.ลุมพินี หลังชวนทูตญี่ปุ่น เป็นพยาน ฟ้องกลับ คสช.


พลเมืองโต้กลับถูกทหารเชิญสอบปากคำ หลังยื่นหนังสือเชิญทูตญี่ปุ่น เป็นพยานในการฟ้อง ม.113 คสช. ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว 'พันธ์ศักดิ์'-'วรรณเกียรติ' ยันพรุ่งนี้ยังจะเดินไปฟ้องที่ศาลอาญาไม่เปลี่ยนแปลง
21 พ.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 13.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือเชิญเป็นพยานในการฟ้องร้อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในมาตรา 113 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานความผิดในฐานะกบฏ ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ
ซึ่งมี พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นผู้ยื่นหนังสือดังกล่าว  โดยในเวลา 14.05 น. ไทชิ อากิโมโต (Taishi Akimoto) เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นผู้รับหนังสือ ต่อมาในเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารจาก กองพันทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ได้นำตัวพันธ์ศักดิ์ และวรรณเกียรติ ไปสอบปากคำที่สถานนีตำตรวจนครบาลลุมพินี หลังจากยื่นหนังสือเสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่กำลังจะกลับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ทั้งสองคนลงบันทึกประจำวันไว้ โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา
ต่อมาในเวลา 15.30 น. ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัว พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กิจกรรมพลเมืองฟ้องกลับ ที่จะนัดรวมตัวกันที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) เวลา 15.00 น. จะยังดำเนินต่อไป โดยจะมีการเดินจากสถานนีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวไปยังศาลอาญา รัชดา พร้อมกัน เพื่อยื่นเรื่องฟ้องดำเนินคดีกลับ คสช. ในมาตรา 113