วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

องค์กรสิทธิไทย-สากล เรียกร้องรัฐบาลยุติดำเนินคดีนักศึกษาที่แสดงออกโดยสันติ



Tue, 2015-06-23 00:30


        มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และฟอรัมเอเชีย ต่างออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยุติการดำเนินคดีนักศึกษากลุ่มดาวดิน และกลุ่มต่างๆ ชี้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติ


        22 มิ.ย. 2558 จากเหตุการณ์จับกุมและออกหมายจับนักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ราย เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยุติการดำเนินคดีโดยมีความเห็นไม่สั่งฟ้องกับนักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ โดยให้เหตุผลว่า เพราะการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด

        ทั้งนี้ได้เรียกร้องเพิ่มเติมด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตาม คำสั่ง คสช.ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม หลักการบังคับใช้กฎหมาย และหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) หากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว

       ด้านสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรัมเอเชีย องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคแสดง ได้ออกแถลงการณ์ความไม่เห็นด้วยอย่างมากในการปราบปรามการประท้วงอย่างสงบของกลุ่มนักศึกษา สิทธิในการชุมนุม อย่างสงบนั้นได้รับการรับรองโดยมาตรา 4 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี

        โดยเอเวอลีน บาลาอิส-เซอร์ราโน ผู้อำนวยการบริหารของฟอรัมเอเชีย กล่าวว่าหากคสช.มีความจริงใจในสิ่งที่พูด คสช.ควรจะยุติการตั้งข้อหาต่อกลุ่มนักศึกษาและรับรองว่าคสช.เคารพ เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

        "รัฐบาลไทยควรเปิดพื้นที่สำหรับความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยการบังคับและปราบปราม ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องสร้างขึ้นมาบนเจตจำนงของประชาชนชาวไทย” ผู้อำนวยการบริหารของฟอรัมเอเชีย กล่าว

          ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้แถลงในประเด็นการจับกุมและดำเนินคดีนักศึกษาที่แสดงออกทางการเมืองว่าการจับกุมนักศึกษา 3 รายเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ พร้อมเรียกร้องให้ ยุติการคุมคาม ติดตาม ทั้งผู้ปกครองและนักศึกษากลุ่มดาวดินและนักศึกษากลุ่มอื่นๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมโดยสงบปราศจากความรุนแรง นอกจากนี้ยังเรียกร้องอีก 3 ข้อคือ ยุติการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยการร่วมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น โดยสงบปราศจากความรุนแรง หน่วยงานความมั่นคงจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง มีความอดทนอดกลั้น เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล แม้จะอ้างว่ามีการใช้กฎหมายพิเศษภายใต้รัฐบาลนี้ก็ตาม, ยกเลิกหมายจับนักศึกษา รวมทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการทหารสั่งคดีด้วยความเป็นธรรมต่อนักศึกษาดาวดิน 7 คนและนักศึกษาที่กรุงเทพ 9 คน โดยการสั่งไม่ฟ้อง และยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร



อ่านแถลงการณ์โดยละเอียด

แถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ 
ในการดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ


         จากกรณีที่นักศึกษากลุ่มดาวดิน ได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ปรากฏตามภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างๆ นั้น โดย เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและมีการตั้งข้อกล่าวหา อาศัยอำนาจตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว จำนวน 7 คน ซึ่งภายหลังได้มีการปล่อยตัวและได้มีการออกหมายเรียกให้มารายงานตัวภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ในวันที่เรียกรายงานตัวดังกล่าว เวลา 13.00น. ได้มีการควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มดาวดินเพิ่มอีก 3 คน ไปที่สถานีตำรวจภูธรขอนแก่น ขณะเดินทางนำภาพวาดของเพื่อนนักศึกษาทั้ง 7 คน ไปแสดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น โดยนักศึกษาทั้ง 3 คน ไม่ได้มีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ถูกส่งไปควบคุมตัวที่ค่ายศรีพัชรินทร์ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆภายหลังจะได้มีการปล่อยตัวสามนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวในวันดังกล่าวนั้น

          สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

  • 2. ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐมีหน้าที่ต้องผูกพันตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540 โดยกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ข้อ 19 บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก...” และข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง”รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความหวาดกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

  • 3. ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรมและหลักการบังคับใช้กฎหมายและการใช้ดุลพินิจใน การปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน ต้องสอดคล้องกับหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี กล่าวคือต้องมี ความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) เป็นเสรีนิยม สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล เป็นการกระทำเพื่อสังคมและเป็นประชาธิปไตย หมายความว่า การที่รัฐจะเอาตัวบุคคลใดไว้ในอำนาจรัฐ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องตีความในการปฏิบัติตามกฎหมาย ดังกล่าว โดยต้องเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยว่า การกระทำของบุคคลนั้น กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่3 /2558 มุ่งหมายการกระทำของบุคคลที่เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา กลุ่มดาวดิน เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ ย่อมไม่เป็นภัยคุกความความอยู่รอดของชาติ ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบและสันติ อีกทั้งไม่อาจใช้อำนาจและกระทำการที่ก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในร่างกาย และเสรีภาพของประชาชน

       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้

  • 1. ยุติการดำเนินคดีโดยมีความเห็นไม่สั่งฟ้องกับนักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้เพราะการดำเนินคดีในลักษณะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะแต่อย่างใด
  • 2. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตาม คำสั่ง คสช.ต้องใช้วิจารณญาณในการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน ตามหลักสากลของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม หลักการบังคับใช้กฎหมาย และหลักวิธีพิจารณาความอาญาที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นนิติรัฐ (Principle of Legal State) หากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบต้องมีการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว



ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

000

        ประเทศไทย: หยุดตั้งข้อหากลุ่มนักศึกษา, ส่งเสริมสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(กรุงเทพฯ/22 มิถุนายน 2558) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ควรหยุดตั้งข้อหาต่อเจ็ดนักกิจกรรม
กลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ถูกจับในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรัมเอเชีย) องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคแสดง ความไม่เห็นด้วยอย่างมากในการปราบปรามการประท้วงอย่างสงบของกลุ่มนักศึกษา สิทธิในการชุมนุม อย่างสงบนั้นได้รับการรับรองโดยมาตรา 4 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี

         นักศึกษาทั้งเจ็ดคน – จตุภัทร บุญภัทรรักษา, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนา นุวัฒน์, สุวิชชา ฑิพังกร, ศุภชัย ภูครองพลอย และวสันต์ เสธสิทธิ– ถูกจับกุมในขณะที่ประท้วงต่อต้านการ ปกครองโดยทหารอย่างสงบในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร กลุ่มนักศึกษาได้ถือป้ายต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามการชุมนุมเกินห้าคน กลุ่มนักศึกษาได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมาบนเงื่อนไขว่าต้องมารายงานตัวในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ผู้ปกครองของกลุ่มนักศึกษาได้รับการข่มขู่ว่าจะถูกเรียกตัวในกรณีที่กลุ่มนักศึกษาไม่เข้ามารายงานตัว
สามนักศึกษาจากกลุ่มเดียวกันถูกตำรวจคุมขังเพื่อสอบสวนเป็นเวลาหลายชั่วโมงในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพกพาตุ๊กตากระดาษที่เป็นรูปตัวแทนของกลุ่มนักศึกษาเจ็ดคน ก่อนจะถูกส่งไปยังค่ายทหารทหาร ในบริเวณใกล้เคียง มีการเคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 100 นายในจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 19 มิถุนายนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและปราบปรามกิจกรรมของกลุ่มดาวดิน

         ตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 กลุ่มดาวดินได้ทำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างสงบรวมถึงการชูสามนิ้วอันเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่อรัฐประหารในประเทศไทยต่อหน้านายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในเดือนพฤศจิกายน 2557 นักศึกษาทั้งห้าคนถูกจับกุมและนำตัวไปยังค่ายทหารในบริเวณใกล้เคียง กลุ่มนักศึกษาดาวดินทำงานสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาโดยตลอด กลุ่มนักศึกษาและครอบครัวถูกเรียกรายงานตัว, ติดตามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเนื่องจากการต่อต้านรัฐประหารและกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เจ้าหน้าที่ยังได้เรียกตัวสมาชิกของกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มคนรักบ้านเกิดและกลุ่มอีสานใหม่ที่ แสดงการสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาดาวดิน เพื่อตั้งคำถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มเหล่านั้นและกลุ่มดาวดิน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและชุมชนต่างแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มดาวดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบรางวัลให้กับกลุ่มนักศึกษาดาวดินในประเภทเด็กและเยาวชนเนื่องจากงานที่กลุ่มดาวดินทำกับชุมชนต่างๆ การเคารพสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบเป็นหนทางนำไปสู่สังคมประชาธิปไตย คสช.ได้กำหนดกรอบเวลาและย้ำอยู่เสมอว่ากำลังทำงานบนโรดแมปเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงสำหรับประเทศไทย

        “หากคสช.มีความจริงใจในสิ่งที่พูด คสช.ควรจะยุติการตั้งข้อหาต่อกลุ่มนักศึกษาและรับรองว่าคสช.เคารพ เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” กล่าวโดยเอเวอลีน บาลาอิส-เซอร์ราโน ผู้อำนวยการบริหารของฟอรัมเอเชีย

       “รัฐบาลไทยควรเปิดพื้นที่สำหรับความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยการบังคับและปราบปราม ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องสร้างขึ้นมาบนเจตจำนงของประชาชนชาวไทย”

000

        ยกเลิกการออกหมายจับนักศึกษา ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสงบและปราศจากความรุนแรงไม่ใช่ อาชญากรรม

       กิจกรรมนักศึกษาในการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสงบและปราศจากความรุนแรงไม่ใช่อาชญกรรม นักศึกษามิใช่อาชญกรของรัฐ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีนักศึกษาทั้งกลุ่มที่แสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยกิจกรรม “เวลา” ที่หอศิลปกรุงเทพฯ และการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์จังหวัดขอนแก่น รัฐมีความพยายามที่จะยุติบทบาทของนักศึกษาด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารตำรวจจับกุมนักศึกษาทั้งที่กรุงเทพและที่ขอนแก่น ที่ผ่านมารัฐติดตามนักศึกษามาโดยตลอดโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น อีกทั้งต่อมามีการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะว่าจะมีหมายเรียกผู้ปกครองของนักศึกษาที่ตกเป็นเป้าของการคุกคามของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้อ้างเหตุผลความจำเป็นด้านความมั่นคงที่มีการตีความอย่างกว้างขวางว่ากิจกรรมแสดงความคิดเห็นโดยสงบเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกฝ่ายควรอดทนอดกลั้นต่อกิจกรรมลักษณะดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายด้านการปรองดองและแนวทางการปฎิรูปของรัฐบาล โดยไม่ขัดขวางและยึดมั่นแนวทางสันติเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่หนทางประชาธิปไตยโดยเร็ว

         ล่าสุดมีการแถลงถึงวิธีการกดดันโดยอาศัยอำนาจพิเศษในการออกหมายจับนักศึกษาดาวดินจำนวน 7 คนและนักศึกษาที่กรุงเทพจำนวน 9 คนโดยศาลทหาร กิจกรรมทั้งที่กรุงเทพและที่ขอนแก่นในวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารเป็นกิจกรรมแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสงบและปราศจากความรุนแรง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่โดยปกติรัฐมีพันธกรณีตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐสมาชิกในการสนับสนุน ส่งเสริม และเติมเติมให้กับทุกคน

        อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 13.30 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น นักศึกษาจำนวน 3 คน ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ไปยังค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ได้แก่ น.ส.ขวัญหทัย ปทุมถาวรสกุล, น.ส.จิรัชญา หาญณรงค์ และ นายกฤต แสงสุรินทร์ โดยทั้ง 3 คน จะนำรูปวาดเพื่อนนักศึกษา 7 คนไปตั้งบริเวณอนุสาวรีย์ดังกล่าว แต่ถูกตำรวจทหารดักยึดอุปกรณ์ภาพวาดพร้อมนำตัวทั้ง 3 ไปที่สภ.ขอนแก่น ก่อนคุมตัวต่อไปยังค่ายศรีพัชรินทร นักศึกษาทั้งสามคนไม่เคยถูกหมายเรียกแต่อย่างใด และไม่ได้กระทำการอันใดเป็นการผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าต่อมาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันเวลา 16.30 น. กระทำของเจ้าหน้าที่ที่จับกุมนักศึกษาทั้งสามคนโดยพลการเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุอีกทั้งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเรียกร้องให้

  • 1) ยุติการคุมคาม ติดตาม ทั้งผู้ปกครองและนักศึกษากลุ่มดาวดินและนักศึกษากลุ่มอื่นๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมโดยสงบปราศจากความรุนแรง
  • 2) ยุติการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยการร่วมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น โดยสงบปราศจากความรุนแรง หน่วยงานความมั่นคงจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง มีความอดทนอดกลั้น เคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล แม้จะอ้างว่ามีการใช้กฎหมายพิเศษภายใต้รัฐบาลนี้ก็ตาม
  • 3) ยกเลิกหมายจับนักศึกษา รวมทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการทหารสั่งคดีด้วยความเป็นธรรมต่อนักศึกษาดาวดิน 7 คนและนักศึกษาที่กรุงเทพ 9 คน โดยการสั่งไม่ฟ้อง
  • 4) ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

ปากคำเยาวชนหน้าหอศิลป์ฯ 1 ปีรัฐประหาร : ถูกทำร้าย-ถูกจับ-ถูกหลอก-ถูกดำเนินคดี


Tue, 2015-06-23 12:54


         23 มิ.ย.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เผยแพร่วิดีโอความจริงจากปากนักศึกษา-นักกิจกรรมหน้าหอศิลป์ ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ขนาดความยาว 9.42 นาที เพื่อทำความรู้จักกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ประกอบด้วย รังสิมันต์ โรม และ ‘บาส’ รัฐพล ศุภโสพล 2 นักศึกษากลุ่ม LLTD, ‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มลูกชาวบ้าน, ‘หนุ่ย’ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ กลุ่มเสรีนนทรี, ‘แซม’ พรชัย ยวนยี, ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว และ ‘เดฟ’ ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 2 สมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย(ศนปท.)




        กับประเด็นกิจกรรมที่แต่ละคนทำมาก่อนรัฐประหา เหตุการณ์ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่หน้าหอศิลป์ฯ กทม. และ สน.ปทุมวัน การถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับ ถูกหลอกและถูกดำเนินคดี ตอบคำถามที่ว่านักศึกษาเป็นภัยความมั่นคงของชาติจริงหรือ? พร้อมทั้งประเด็นคำถามฝากถึงอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมาย และความหวังของคนหนุ่มสาว

รายงาน: อัพเดทสารพัดคดีของ ‘หนูหริ่ง’–เปิดหมดเปลือกหยุดขาย ‘ข้าวลายจุด’




Mon, 2015-06-22 22:11


        ช่วงเดือนที่ผ่านมา ชื่อของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ หนูหริ่ง หรือ บก.ลายจุด เป็นประเด็นอีกครั้งจากกรณี ‘ข้าวลายจุด’ ที่เปิดตัวได้ไม่ถึงเดือนก็ต้องประกาศยุติการขาย ‘อย่างเป็นทางการ’

        ตามมาด้วยการแจ้งข้อกล่าวหา “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาเนื่องจากฉลากบนถุงข้าวลายจุดไม่ระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุ คดีนี้พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาส่งศาลแขวงดอนเมือง ศูนย์ราชการ อาคารเอ ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เวลาประมาณ 15.00 น.

        ยังไม่นับประเด็นการแลกหมัดกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขายข้าววิสาหกิจชุมชนเช่นกัน

         คดีล่าสุดเรื่องข้าวลายจุดทำให้ชายคนนี้มีคดีรวมแล้วเป็น 4 คดีหลัก และวันนี้ (22 มิ.ย.) เขาก็เพิ่งได้เดินทางไปรับฟังคำสั่งของอัยการที่ร้อยเอ็ดในคดีมาตรา 112 ซึ่งอัยการยังไม่มีคำสั่งและอนุญาตให้มีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปากตามที่จำเลยได้ร้องขอความเป็นธรรมไว้

“ผมมั่นใจว่าคดีทั้งหมดเป็นเหตุผลทางการเมือง” สมบัติกล่าว

         แม้ ‘สมบัติ’ จะได้ชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวสายพิราบ สายครีเอทีฟ สายแกนนอน สายกวนประสาท สายคนชั้นกลาง ฯลฯ แต่เขากลับมีคดีอีรุงตุงนังมาตั้งแต่ปี 2553 โดยเขาถูกจับเข้าค่าย ตชด.หลังนำคนผูกผ้าแดงไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม 2553 ที่แยกราชประสงค์ จากนั้นโดนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 คดีซ้อนจากกิจกรรม ‘เปลือยเพื่อชีวิต’ และการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างมีการสลายการชุมนุมที่เรียบทางด่วนรามอินทรา คดีหนึ่งศาลสั่งจำคุกแต่รอลงอาญา อีกคดีหนึ่งยกฟ้อง

สำหรับชุดคดีระลอกใหม่หลังรัฐประหาร 2557 นั้น แบ่งเบื้องต้นได้ดังนี้

        คดีแรก ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ไม่ไปรายงานตัว คดีนี้เพิ่งเสร็จสิ้นการสืบพยานที่ศาลแขวงตลิ่งชัน นับได้ว่าโชคดีนิดหน่อยที่ในวันที่เขาถูกบุกจับกุมตัวที่ชลบุรีจนเป็นข่าวโด่งดังนั้นยังไม่มีประกาศให้ความผิดนี้ไปขึ้นศาลทหาร

        “คดีนี้โทษจำคุก 2 ปี ปรับประมาณ 40,000 บาท แต่โชคดีสู้ได้ 3 ศาล เรื่องก็คือผมนอนอยู่ที่บ้าน เขาประกาศให้ไปรายงานตัวแล้วผมไม่ไป เขาเลยโกรธแล้วมาจับตัวผมไปเข้าค่ายทหาร แล้วฟ้องว่าผมขัดคำสั่ง ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ทำไมผมจะต้องไปทำตามคำสั่งของคนที่ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 113 ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 ปี 50 ก็ได้ให้สิทธิในการต่อต้าน ซึ่งการต่อต้านของผมก็คือการที่ไม่ไป ผมดื้อแพ่ง” สมบัติกล่าวด้วยใบหน้ามึนๆ ตามสไตล์

       คดีที่สอง คดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟซบุ๊กช่วงหลังการรัฐประหาร คดีนี้ขึ้นศาลทหารและขณะนี้อยู่ระหว่างสืบพยาน

       “พฤติกรรมของผมคือการเล่นเฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จริงๆ ผมเล่นเฟสบุ๊กมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็ไม่เคยมีปัญหา แต่หลังรัฐประหารการเล่นเฟสบุ๊กของผมก็มีปัญหาทันที”

“มีหลายข้อความที่เขายกมาอ้างการผิดกฎหมาย 116 เช่น ที่ผมไปเขียนวิจารณ์ว่า ประชาชนทำอะไรก็ผิด คสช. ทำอะไรก็ไม่ผิด”


        คดีที่สาม หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คนร้องทุกข์กล่าวโทษคือ ไอแพด นักฟ้องคดี 112 แห่งจังวัดร้อยเอ็ด จากกรณีที่สมบัตินำภาพตัดต่อล้อเลียน กปปส. ที่ส่งต่อกันในไลน์มาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ลักษณะภาพเป็นการการแถลงข่าวของ กปปส. โดยมีภาพสุเทพ เทือกสุบรรณ และภรรยาอยู่ด้านหลัง ด้านบนเป็นตราพรรคประชาธิปัตย์

        “ช่วงนั้นคุณสุเทพประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผมแชร์รูปนั้นโดยไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มเติม คุณถาวร (เสนเนียม) เขาฉุนมาก เอาไปพูดที่ราชดำเนินบอกว่าผมไปโพสต์ข้อความหมิ่นเหม่ ที่จริงตำรวจจะไม่รับฟ้องอยู่แล้วเพราะมันไม่เกี่ยวกับสถาบันเลย มันเป็นภาพเสียดสีล้อเลียน กปปส. ตำรวจจะปิดคดีตั้งแต่ต้นแล้ว ต่อมาผมโดนคดีไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. ก็มีการไปขุ้ยคดีนี้มา ผมเจอข้อหา 112 แต่ตอนนี้รูปนี้ก็ยังอยู่ในพันทิปอยู่เลย โชคดีที่ได้ประกันตัว การประกันตัวของผมเกิดขึ้นหลังจากมีแถลงการณ์ของ EU เรื่องนักโทษการเมือง”

“โดนรวมๆ แล้วคดีทั้งหมดถ้าลงโทษเต็มหมด ผมคงแก่ตายในคุกพอดี”

จับพลัดจับผลูยังไง ถึงไปขายข้าวลายจุด ?
       “ผมถูก คสช. อายัดบัญชี ไม่มีงานทำ ผมเป็นกรรมการอยู่ 4 มูลนิธิต้องลาออกเพราะโดนผลกระทบมาก แต่ก่อนผมจัดรายการโทรทัศน์อยู่อยู่ช่อง Peace TV ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็น UDD Chanel พอรัฐประหารก็ปิดไป แล้วก็จัดรายการอยู่ช่อง 11 รายการทันสถานการณ์สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ มาจัดอยู่ Peace คิดว่าจะทำ 5 วัน ก็เหลือวันเดียว เลยคิดหารายได้พิเศษด้วยการขายนาฬิกา ขายนาฬิกามาสักพักก็มาขายข้าวลายจุด”

       “ตั้งใจจะทำแบบ social enterprise เป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยลองตีโจทย์เรื่องการซื้อว่า ข้าวในราคาเกวียนละ 15000 บาท มาสีใส่ถุงแล้วมาจำหน่ายมีข้อความรณรงค์หรือจุดขายว่า ซื้อมาในราคาหมื่นห้านะ แล้วมันก็กลายมาเป็นประเด็น”

หลังจากประกาศขายข้าว โดนอะไรบ้าง ?

       “ก็ขายได้อยู่ 20 วัน จากนั้นเริ่มถูกคุมคาม ตั้งแต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นร้านค้าที่เอาข้าวไปขาย ที่จริงมันมีข้าวอยู่ 20 ถุงที่นั่น วันแรกมีการไปคุย ครั้งที่สองไปอีก เจ้าของบ้านตกใจว่าข้าว 20 ถุงนี้มันมีอะไร เขาเริ่มกลัว ไม่กล้าขาย ยกเลิกหมดเลย ไอ้ของที่ขายอย่างอื่นก็ปิดหมดเลย กลายเป็นจุดจบไปพร้อมกับข้าวลายจุดเลยเพราะว่ากลัวมาก”

        “ต่อมามีตำรวจไปโรงสีข้าวที่ปทุมธานี โรงสีไม่รู้ว่าสีข้าวให้ผมเพราะเพื่อนที่เป็นชาวนาเป็นคนรับผิดชอบ ตำรวจในท้องที่มาถามโรงสีว่าได้สีข้าวให้ข้าวลายจุดไหม โรงสีก็ไม่รู้เรื่อง เพื่อนผมอยู่ตรงนั้นก็เล่าให้ผมฟัง แล้วโรงสีนั้นก็โดนกระทรวงพาณิชย์โทรไปถามว่าได้สีข้าวลายจุดไหม กระทรวงพาณิชย์ตื่นตัวมากถึงกับโทรไปตามหาโรงสี ไม่ใช่แค่นั้น ที่ประชุมองค์การค้าข้าวถุง ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงเขามีการประชุมกันเรื่องของผม มีการซักถามในที่ประชุมว่ามีใครทำข้าวถุงให้ข้าวลายจุดไหม เรียกว่าระดมกันค้นหาว่าใครเป็นคนทำ”

พ่อค้านาฬิกา

      “นอกจากนี้ยังมีชาวนาอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ขายข้าวให้ผม ถูกตำรวจไปค้นที่บ้าน เนื่องจากว่าบ้านเขามีลักษณะที่คิดว่าจะเก็บของได้ มียุ้งฉาง มีโกดัง ประเด็นก็คือเขาพยายามจะหาสิ่งที่เรียกว่าโกดัง เพราะว่าเขามีสมมติฐานว่าข้าวลายจุดเป็นโปรเจ็คทางการเมืองที่มีผู้สนับสนุนทางการเมือง ถ้าลองฟังดูน้ำเสียงของคุณประยุทธ์ก็ดี หรือเสธ.ไก่อูก็ดี จะรู้เลยว่าว่าเขามีสมมติฐานที่เชื่อว่างานนี้เป็นงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องมีหลายพันถุง หลายหมื่นถุง”

       “แต่เขาหาไม่ได้ พยายามอยู่นานมากแต่ก็หาไม่ได้เพราะว่ามันไม่มี ผมทำข้าวทีละ 200 ถุง แต่ที่มันดังได้ก็เพราะฝ่ายการเมืองของ คสช. มาเล่นด้วย พอเสธ.ไก่อูพูด ยอดสั่งซื้อของผมพุ่งกระจายขายดีมาก ขายแบบผลิตไม่ทัน ทำไม่ทัน ส่งไม่ทัน เพราะหน่วยผลิตทำอยู่ 2 คน คอยเอาข้าวสารมาแพ็คใส่ถุง”

        “เขาผิดหวังอย่างรุนแรง เขาเลยฟ้องเท่าที่ทำได้ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคและใช้ประกาศของคณะกรรมการฉลากเรื่องข้าวถุง คือ ข้าวผมไม่ได้ระบุว่าหุงยังไง กินยังไง ซึ่งข้าวถุงที่ออกจากโรงงานต้องระบุถึงวิธีการหุงข้าว เนื่องจากว่าวิธีการหุงข้าวมันยากมาก คนไทยอาจจะไม่รู้ แต่โอเคนะ มันก็เป็นไปตามกฎหมาย ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่เรื่องที่ผมต่อสู้ก็คือผมไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. ฉบับนี้ เนื่องจากมันเป็นข้าวที่ออกมาจากโรงงาน ผมสู้ว่าผมไม่ใช่โรงงาน ตามกฎหมายโรงงานจะเข้าข่ายได้ต้องมีคนงาน 7 คนและมีเครื่องจักร 15 แรงม้า ของผมนี่ใช้แรงคนแค่สองคน อุตสาหกรรมจังหวัดก็มาตรวจแล้วเห็นว่ามันไม่เข้าข่าย”

        “อีกอันหนึ่งก็คือพ.ร.บ. อาหาร ว่าด้วยหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ เขาอ้างว่าผมไม่มีวันผลิตและวันหมดอายุ อะไรประมาณนี้ ผมไปคุยกับ อย.แล้ว แล้วผมก็ไปดูในห้างที่เขาขายข้าวกัน บางอันก็ไม่มีเหมือนกัน”

แล้วคิดจะเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านข้าวจริงไหม ตอนเริ่มต้นคิดอะไร ?

      “ตอนแรกเราอยากจะถอดสมการว่า ถ้าเราซื้อข้าวในราคาที่แพงของตลาด เราไปเอาตัวเลข 15,000 ในรัฐบาลที่แล้วที่คนบอกว่าขาดทุน เราพยายามจะตีโจทย์ว่าถ้าเราซื้อ 15,000 ทำในรูปแบบที่ไม่ได้ใช้ภาษี ในรูปแบบ social enterprise จะขายได้รึเปล่า แต่เอาจริงๆ เลยนะคืออยากมีงาน มีรายได้”

“เราไม่ได้รู้สึกถึงขนาดเขาหรอก คิดตื้นๆ คิดเอามัน ขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทดลองดูเผื่อจะได้กำไร”

มีเครือข่ายชาวนาเสื้อแดงที่ทำด้วยกันเยอะไหม ?

      “มีชาวนาเสื้อแดงที่เราทำงานร่วมกันอยู่ สิ่งที่เขาคิดก็คือ 
  • 1.เขาคิดว่าเราทำข้าวลายจุดออกมาเพื่อปกป้องยิ่งลักษณ์ ปกป้องโครงการรับจำนำข้าว ผมไม่คิดว่าเป็นการปกป้องโดยตรง แต่ว่าผมต้องการที่จะพิสูจน์แนวความคิดที่ว่าจริงๆ เราสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้มากกว่าราคาตลาดหรือไม่ ราคาตลาดที่เป็นอยู่มันเป็นราคาของพ่อค้า ไม่ใช่ราคาตลาดของผู้บริโภค และไม่ใช่ราคาตลาดของผู้ผลิตหรือชาวนา ผมต้องการจะบอกว่าเราสามารถซื้อข้าวสูงขึ้นจากราคาตลาดที่เป็นอยู่ได้ เราสามารถเปลี่ยนรูปแบบตลาดด้วยการทำข้าวในโมเดลแบบนี้ได้”
         “แต่เขามองว่า เขาถอดถอนยิ่งลักษณ์ ปปช.ฟ้อง กระทรวงการคลังฟ้อง แล้วเราไปชวนให้เกิดคำถามว่าโครงการนี้มันล้มเหลวจริงๆ ไหม อันนี้เป็นมุมเขานะ ไม่ใช่มุมของผม ผมไม่ได้ไปแก้ต่างให้ยิ่งลักษณ์ ในมุมของผมคือเราทำโดยที่เราไม่ต้องไปใช้ภาษีของประชาชนก็ได้ ผมไม่ได้ทำแบบเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ”

  • 2.เขาคิดว่าผมจะไปตบหน้ารัฐบาลเนื่องจากว่ารัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือ ดูได้จากคำพูดของพันเอกสรรเสริญ แก้วกำหนด ที่บอกว่าขายน้อยๆ ก็ขายได้ เก่งจริงทำไมไม่รับซื้อทั้งหมดเลยล่ะ มันสะท้อนให้เห็นว่าผมเป็นคู่กรณีกับรัฐ เป็นคู่แข่ง”

      “เอาจริงๆ ก่อน เสธ.อู ประชาสัมพันธ์ให้นี่ ขายได้ประมาณ 200 ถุงต่อวัน จน เสธ.พูดติดๆ กันสองวัน แล้วคุณประยุทธ์มาพูดอีก เลยขายได้วันละ 600 ถุงเลย ที่จริงออเตอร์มีมากกว่านั้นแต่ว่าผลิตไม่ทัน ผมทำได้วันละ 600 ถุงสูงสุด แต่ท้ายที่สุดต้องประกาศหยุดเพราะว่าเขาคิดว่าผมปลุกม๊อบชาวนา และมีแนวโน้มจะโดนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก”

เหตุผลจริงๆ ที่ประกาศหยุดคืออะไร?

       “ผมประเมินว่าเขาไม่มีทางออก หมายถึงในฐานะของรัฐนะ ถ้าเขาปล่อยผมขาย ไม่หยุดผม ผมก็จะขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเขาก็กลัวกระแสมันจะสูง ผมรู้ว่าเขาไม่มีทางออก”

       “ผมมีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลติดตามผม ก็เข้าใจว่าการประเมินของฝ่ายรัฐที่ประเมินกิจกรรมของผมแตกต่างจากไปจากสิ่งที่ผมทำ ผมคิดว่าผมทำข้าวขาย อาจจะมีลูกขำๆ นิดหน่อย แต่ฝ่ายนู้นเขาไม่ขำ จนช่วงหลังผมก็ไม่ขำ เลยคิดว่าต้องหาทางออกให้ทุกฝ่าย ถ้าคิดว่าผมจะก่อความวุ่นวายจากการขายข้าว ผมก็ยินดีจะหยุด”

รายได้จากการขายข้าวเยอะไหม โมเดลแบบโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์เป็นไปได้ไหม ?

        “ผมคิดว่าคราวนี้รวยเลย เป็นเถ้าแก่เลย (หัวเราะ) สมการข้างต้นเป็นไปได้เลย ผมซื้อข้าวไปประมาณ 70 เกวียนเดือนแรก ตั้งใจไว้ขอให้ได้สัก 15 เกวียนก็ดีสุดแล้ว คิดว่าชิวๆ แล้วชีวิต แล้วมันก็เกิดนวัตกรรมความรู้ใหม่ๆ จำนวนมากหลังจากที่ได้ขายไป เรารู้เลยว่าเราสามารถทำตลาดได้ใหญ่ๆ ได้มาก ผมเห็นโอกาส ผมเชื่อว่าผมสามารถทำร้านขายข้าวลายจุดได้เยอะกว่าเซเว่นอีเลฟเว่น ถ้าไม่มีใครขวางผมเลย อาจจะเวอร์ไปนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง”

นอกจากความขัดแย้งกับรัฐแล้ว เรื่องขายข้าวยังขัดแย้งกันในกลุ่มเสื้อแดงด้วย
      “จริง ๆ มันไม่ควรจะขัดแย้ง ผมไม่เคยไปตอบโต้ในประเด็นเรื่องข้าวอีไรซ์ที่เขาทำ ผมเห็นว่าเป็นโมเดลที่ถูกต้องเช่นกัน เป็นอีกโมเดลเพียงแต่ว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย เพราะผมทำเรื่องการตลาด มันมีระบบจัดส่ง ซึ่งคนที่มาทำระบบจัดส่งเขามีรายได้นะ ผมให้รายได้คนที่มาส่งข้าวให้ผมสูงกว่าบริษัทที่เขาขายข้าวถุงอีก ถุงละ 25 บาท แต่ผู้ส่งข้าวทั่วไปจะได้ถุงละ 10 บาท ส่วนอีไรซ์ใช้วิธีการทำทีละตัน ทีละน้อยๆ ใช้วิธีการฝาก ใครมีรถก็ใช้วิธีฝากมา มันอาจจะยังเป็นข้อจำกัด”

จากกรณีขายข้าวสะท้อนให้เห็นว่าสมบัติขยับตัวทำอะไรก็ไม่ได้

      “ทำได้ยาก ตอนที่ผมไปส่งนาฬิกาที่อยุธยา ตอนนั้นก็ขายข้าวอยู่ด้วย พอดีผมมีลูกค้าซื้อนาฬิกาล๊อตใหญ่รวมกันมา 12 เรือน ผมขับรถไปส่งเอง ตำรวจสันติบาลขับรถตามผมไป ผมกะว่าจะไปนอนค้างที่นั่นสักคืน ปรากฏว่าตำรวจสันติบาลมาเช่ารีสอร์ทเดียวกัน เขาคงคิดว่าผมจะมีประชุมกับพวกแกนนำ ผมเดานะ แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ว่าเขาตามผมไปล้านเปอร์เซ็น คงคิดว่าผมจะไปปลุกระดมชาวนาที่อยุธยา ซึ่งไม่มีนะ ใครๆ ก็รู้ว่าผมจะไปส่งนาฬิกาที่อยุธยาเพราะผมโพสต์ลงเฟซบุ๊ค”

คดีอีรุงตุงนังและโดนจับจ้องแบบนี้ ใช้ชีวิตอย่างไร ?

       “ใช้ชีวิตไม่ปกติ ผมใช้ชีวิตแบบที่ยังห่างไกลจากคำว่าความสุข หรือการมีอิสระเสรีภาพ ผมอาจเป็นคนในหนึ่งเปอร์เซ็นที่บอกว่าที่นี่ไม่เป็นประชาธิปไตย และใช้ชีวิตแบบต้องคิดซับซ้อนมากว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ตอนนี้มีคนชวนผมไปกินแมค (แมคโนนัลด์) แบบนัดเจอกันเฉยๆ ผมคิดหนักเลย เกิดมีตำรวจทหารไปกินแมคแล้วเจอ ผมจะเข้าข่ายปลุกระดมอีกไหม วันก่อนผมไปกินกาแฟทรูหลังจากไปส่งนาฬิกาที่ศูนย์ราชการแล้วก็นั่งคุยกับเพื่อน อยู่ๆ ทหารเดินเข้ามาถ่ายรูปขณะที่ผมกินกาแฟกับเพื่อนเฉยเลย งงมาก”

คืนความสุขตำรวจ มติ ครม.นับเวลาราชการทวีคูณช่วงกฎอัยการศึกทั่วประเทศ



Tue, 2015-06-23 16:27

        23 มิ.ย.2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่ง (ตช.) ที่เสนอให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 – 1 เมษายน 2558 มีสิทธิได้รับการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญต่อไป

เปิดกฎหมายสู้ ชี้ออกหมายจับ 8 เยาวชนหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ชอบ มีเจตนากลั่นแกล้ง


หนังสือแจ้งผลการเลื่อนนัดจาก สน.ปทุมวัน (ปีออกหนังสือเป็นปี 2553)

Tue, 2015-06-23 20:28


         23 มิ.ย.2558 หลังจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับกลุ่มเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 โดยเมื่อวันนี้(23 มิ.ย.58) พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้ขอศาลอนุมัติหมายจับศาลกรุงเทพทั้งหมด 8 ราย ประกอบด้วย พรชัย ยวนยี อายุ 24 ปี ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ อายุ 23 ปี รัฐพล ศุภโสภณ อายุ 22 ปี ปกรณ์ อารีกุล อายุ 26 ปี อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ อายุ 29 ปี รังสิมันต์ โรม อายุ 22 ปี นัชชชา กองอุดม อายุ 21 ปี และชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22 ปี แล้ว พร้อมระบุว่า หลังจากทั้ง 8 คน ไม่มารับทราบข้อหาตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย ครบ 2 ครั้ง ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้ไปไม่ว่าเจ้าหน้าที่เจอตัวทั้ง 8 รายที่สถานที่ใด ก็จะมีอำนาจในการจับกุมได้ทันที ทั้งนี้ยังไม่มีการประสานจากกลุ่มใดว่าจะมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ของ บก.น.6 แต่อย่างใด

         ด้าน กุณฑิกา นุตจรัส ที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าว กล่าวว่า สิ่งที่ พ.ต.อ. จารุต กล่าวนั้นไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อที่ว่าเมื่อไม่มา 2 ครั้ง จึงต้องขอออกหมายจับตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เพราะกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ไม่เคยมีเขียนว่าจะต้องกี่ครั้งจึงต้องออกหมายจับ และเป็นที่แน่นอนว่าที่ สน.ปทุมวัน ต้องเคยมีกรณีที่หมายเรียกผู้ต้องหาเกินกว่า 2 ครั้งก็ยังไม่ออกหมายจับ ซึ่งเรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้ และสน.ปทุมวันก็เคยมีกรณีออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้วไม่มา 3 ถึง 4 ครั้ง ก็ยังไม่ออกหมายจับ เพราะตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อำนาจในการออกหมายจับเป็นของศาล และต้องมีเหตุเพียงพอที่จะเชื่อว่าผู้ต้องหาหลบหนี และต้องเป็นความผิด ที่มีโทษสูง แต่กรณีนี้ โทษไม่สูง เพียง 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่เคยมีระบุเลยว่าเมื่อไม่มากี่ครั้งจึงต้องออกหมายจับ

        กุณฑิกา กล่าวต่อว่า ถ้าพิสูจน์ว่า สน.ปทุมวัน ออกหมายจับโดยทำเฉพาะกรณีเด็ก 8 คนนี้เท่านั้น ผู้กำกับคนนี้จะต้องรับผิดชอบ

     อนึ่ง กรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่บุคคลทั้ง 8 คน มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้ง 8 คน จะเข้าพบตำรวจแน่นอนในวัน ที่ 24 มิ.ย.58 เวลา 13.00 น. และการที่ทั้ง 8 คน ไม่ไปพบตำรวจในวันที่ 19 มิ.ย.58 ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะอ้างจะจับคนทั้ง 8 เพราะเดิมได้มีการตกลงกันว่า จะขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาจากวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. 58 ซึ่งตำรวจตกลงแล้ว 

     หลังจากนั้นในวันที่ 9 มิ.ย.53 เข้าใจว่ารีบทำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทำหนังสือย้อนไปหลายปี (ตามรูป) ก็ทำหนังสือกลับมา เป็นหมายเรียกให้เข้าไปเข้าพบ ในวันที่ 19 มิ.ย.58 ด้วยเหตุผลที่ว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบติดภารกิจ และไม่มีพนักงานสอบสวนคนใดว่างเลยในวันที่ 24 มิ.ย.58 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะตามหลักแล้วสถานีตำรวจในประเทศไทยย่อมต้องมีตำรวจ คอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเสมอมิเช่นนั้นแล้ว สมมติว่า ในวันที่ 24 มิ.ย.58 นาย ก. ผู้ร้ายฆ่าข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี ไปที่สถานีตำรวจปทุมวัน แล้วไปขอมอบตัวในวันดังกล่าว ก็จะต้องบอกให้ นาย ก. กลับบ้านไปก่อน มามอบตัววันหลัง เพราะ ไม่มีตำรวจ


       กุณฑิกา กล่าวต่อว่า ข้ออ้างตามจดหมายนั้นไม่เป็นความจริงและไม่มีทางเป็นความจริง เพราะ สน.ปทุมวัน จะต้องมีพนักงานสอบสวนประจำคอยรับใช้ประชาชนอยู่แล้ว

       ทางเจ้าหน้าที่มีเจตนาจะจับประชาชน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้อ้างเหตุผลผิดๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งๆที่ทางกลุ่มมีเจตนาที่จะเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตามนัดเดิม ในวันที่ 24 มิ.ย.58 ซึ่งก็เพียงวันเดียวเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 คือเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว แถมยังได้จับกุมคุมขังเด็กพวกนี้ไว้แล้ว 1 วัน ถ้าอ้างว่าคนเหล่านี้มีพฤติการณ์หลบหนี ทำไมถึงพึ่งมาเรียก เห็นได้ว่ามีเจตนาจะขัดขวางและกลั่นแกล้งไม่ให้เข้าพบในวันที่ 24 มิ.ย.58 เพราะกลัวเด็ก