วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สภาผ่านฉลุย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย 310 ต่อ 0 ปชป.วอล์กเอาท์

สภาผ่านฉลุย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย 310 ต่อ 0 ปชป.วอล์กเอาท์

         เมื่อเวลา 4.25 น. สภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย วาระ 3 ฉลุย ด้วยเสียง 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ขณะ ส.ส. ปชป.วอล์กเอาท์ ขัตติยาลั่นเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว

          31 ต.ค. 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 สั่งพักการประชุมนานกว่า 30 นาที การประชุมสภาฯก็เปิดอีกครั้ง

          เวลา 19.30 น. โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุมปิดอภิปรายมาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่างทันที เนื่องจากเห็นว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสงค์อภิปรายแล้ว แต่ถูกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรตัดสิทธิการแปรญัตติ โดยครั้งนี้เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคงต้องใช้เวลามากกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายในวาระอย่างเดียว ถ้าสมาชิกที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นไว้ ติดใจในเรื่องใดๆ ก็สามารถอภิปรายต่อที่ประชุมได้เช่นกัน แต่ที่ประชุมพลาดตรงนี้ตั้งแต่แรก แนวทางหลังจากนี้จะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นต้องยึดหลักการและให้สิทธิการอภิปรายที่ถูกต้อง อย่าไปกังวลเรื่องเวลาเป็นสำคัญ และหากทำไปอย่างนี้กฎหมายจะเกิดปัญหา
     
          ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ประธานในที่ประชุม ได้ขอนัดให้วิปทั้งสองฝ่ายไปปรึกษาหารือกันในเวลา 20.30 น. พร้อมกับขอให้ถอนญัตติออกไป โดยนายครูมานิตย์ก็ยินยอม เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ตัดบทให้ดำเนินการประชุมในมาตรา 1 ต่ออีกครั้ง
     
          จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา 1 โดยเสนอให้ตัดทั้งมาตรา ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่าไม่มีสิทธิอภิปรายเพราะตัดออกทั้งมาตราซึ่งผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย แต่ประธานฯก็พยายามไกล่เกลี่ยจนกระทั่งนายธนาอภิปรายจนจบ
      
           ต่อมา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพร้อมได้นำรูปตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมประชุมกับคนเสื้อแดง ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจอย่างมาก จนเกิดการประท้วงกันวุ่นวายอีกครั้ง จนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 1 ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ขอให้ปิดอภิปราย และขอให้ไปพิจารณาต่อในวันอื่น
          ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ทุกคนสามารถอภิปรายได้โดยเดินตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การประชุมเดินไปได้ และรวมกันวางกติกาเช่นนี้ในอนาคต โดยให้ประธานเป็นผู้ควบคุม อย่างเช่นสมัยตนเองเป็นรัฐบาลที่เปิดอภิปรายได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดอภิปรายแม้จะล่วงเลยไปหลายวัน ทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 5 นาที เพื่อไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำกันได้
      
         จากนั้นเวลา 22.30 น. นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานสภาคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม และขอให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายโดยอ้างว่า ได้ไปหารือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แล้วและขอพูดอีก 4 คน คนละ 7 นาที โดยนายพิเชษฐ์ก็ยอมถอนญัตติทำให้นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายมาตรา 1 ต่อไป
      
         ต่อมาเมื่อเวลา 23.40 น.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติหลังส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายในมาตรา 1 ครบ 4 คนคนละ 7 นาที ตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 และงดออกเสียง 1
      
          จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณามาตรา 2 ว่าด้วย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 02.35 น.การอภิปราย ในมาตรา 2 ว่าด้วย “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” โดย ส.ส.ปชป.ที่สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นทั้งเวลาการบังคับใช้และให้ตัดออกทั้งมาตรา หลังจากการอภิปรายผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง 30 นาที นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พท.เสนอญัตติปิดอภิปราย ขณะที่ ส.ส.ปชป.โต้แย้งแต่ก็ไม่มีผล ทำให้ต้องลงมติในมาตรา 2 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จากนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 จึงให้ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 3 ว่าด้วย การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้น หลังการัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 ถึง 8 สิงหาคม 56 ไม่ว่าผู้กระทำจะทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ

          ทำให้ ส.ส. ปชป.ไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วงทันที โดย น.พ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ปชป. ประท้วงว่า ดึกแล้วแต่ก็ยังดึงดันจะอภิปรายต่อในมาตรา 3 แสดงว่าประธานมีใบสั่งจริงๆ ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ประท้วงโต้กลับไป ว่า มาตรา 1 และมาตรา 2 เสียเวลาไปมากแล้ว ควรจะเข้ามาตรา 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ประธานทำหน้าที่ถูกแล้ว จึงอยากให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับให้มีการอภิปรายต่อไป แต่ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังไม่หยุดประท้วง พยายามระบุว่าอำนาจการสั่งพักการประชุม เป็นของประธาน เรารีบได้ถ้ามีประชาชน 4-5 หมื่นมาชุมนุมหน้าสภาเพื่อให้นิรโทษฯ แต่ตอนนี้ผู้ชุมนุม 4-5 หมื่นคน ออกมาคัดค้านการนิรโทษฯ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้วิปหารือกัน และสั่งเลื่อนการประชุมออกไปต่อวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียด ทำให้นายเจริญตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.00 น.


          จากนั้น 03.20 น. ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ สลับขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า “จากการหารือคงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามฝั่งหนึ่งก็จะต้องโดนอีกฝั่งหนึ่งว่า ดังนั้นต้องเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัยซึ่งผมขอวินิจฉัยให้ประชุมต่อ” พร้อมทั้งให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย แต่ ส.ส.ปชป. หลายสิบคน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง เป็นต้น ได้ลุกฮือประท้วงพร้อมเดินไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้านายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดังอย่างมีอารมณ์เพื่อกลบเสียงโห่ร้องโวยวายของ ส.ส.ปชป. ทั้งนี้ภายหลังจากที่นายชาดา อภิปรายเสร็จ บรรดา ส.ส.ปชป.ก็เริ่มตะโกนโห่ร้องเพื่อขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง
              
         ทำให้ นายสมศักดิ จึงกล่าวขอพักประชุม เพื่อขอหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ ส.ส.ปชป.ไม่ยอม และโห่ร้องอย่างต่อเนื่องจะให้ประธานสั่งพักการประชุมเพื่ออภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้  ทำให้นายสมศักดิ์เปลี่ยนใจให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมต่อ

 

            ทั้งนี้ หลังจากที่นายจิรายยุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ และไม่มีผู้ใดอภิปรายต่อ ทำให้นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พท. เสนอญัตติ ปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ของ ส.ส.ปชป. ว่า “ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล” “ข้ามศพมันให้หมดเลย” กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่ คณะ กมธ.เสียงข้างมากเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง  
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ขึ้นมานั่งบนบังลังก์ด้วย จากนั้น นายสมศักดิ์ให้เข้าสู่การอภิปรายต่อในมาตรา 4 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม พท. ลุกขึ้นอภิปราย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.ปชป. ตระโกนว่า “ขี้ข้า” ทำให้ นายจิรายุ พูดขึ้นว่า “ปชป.ใช้มุกเดิม ตะโกนในโรงหนังอีกแล้ว”

        จากนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า เข้าใจถึงสาเหตุของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่าไม่พอใจที่ กมธ.เสียงข้างมาก มีการแก้ไขเพราะ ตนได้สูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ เอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย ดิฉันของใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อยังอยากเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อของตนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเหยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ ตนก็อยากให้ กมธ.ทบทวนก่อนลงมติ เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นด้วย
               
           อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่มีผู้อภิปรายต่อ ทำให้ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พท. เสนอญัตติปิดอภิปราย โดยที่มติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมาด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ต่อด้วยการอภิปรายในมาตรา 5 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 311 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ส่วนมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ต่อด้วยมาตรา 7 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน  315 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง
         เวลา 04.24 น. กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจวอล์กเอาต์ เดินออกจาสภาฯ เนื่องจากไม่ได้อภิปราย

        และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้น นายสมศักดิ์ จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 04.25 น.
              
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในระหว่างการพิจารณา 5 มาตรารวด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีการลุกขึ้นทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบในชั้นวุฒิสภาต่อไป
        สำหรับรายชื่อ ส.ส. 4 คนที่ใช้สิทธิงดออกเสียง ได้แก่ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สส.บัญชีรายชื่อและรมช.พาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ

'สุเทพ' เป่านกหวีด ชุมนุมสามเสน ต้านนิรโทษฯ ข้ามวันข้ามคืน

'สุเทพ' เป่านกหวีด ชุมนุมสามเสน ต้านนิรโทษฯ ข้ามวันข้ามคืน

สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ขึ้นเวทีปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสนประกาศต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ข้ามวันข้ามคืน
31 ต.ค.2556 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เวลา 18.00 น. วันนี้ (31 ต.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำพรรค อาทิ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ร่วมเวทีปราศรัยบริเวณสถานีรถไฟสามเสน ช่วงถนนกำแพงเพชร 5 ตัดถนนเศรษฐศิริ มีประชาชนมาร่วมชุมนุมเต็มพื้นที่ ท่ามกลางรถไฟที่วิ่งผ่านเป็นระยะๆ เปิดหวูดส่งเสียงเตือนประชาชน เกรงจะเข้าไปในพื้นที่รางรถไฟ ขณะที่คนบนรถไฟต่างส่งเสียงเชียร์
 
ทั้งนี้ นายสาทิตย์ กล่าวว่า จะอยู่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมข้ามวันข้ามคืน โดยนายสุเทพจะเป็นผู้มาประกาศความเคลื่อนไหวในเวลา 20.00-20.30 น. และว่า ที่ผ่านมามีอุปสรรคในการจัดเวทีปราศรัย โดยในช่วงจองเต็นท์พร้อมเครื่องเสียง แต่พอถึงเวลาเจ้าของขอคืนเงินมัดจำ อ้างว่าถูกตำรวจข่มขู่ ซึ่งหากเป็นจริงก็ต้องขอประณาม
 
“เราจะต่อสู้จนกว่าจะชนะ เราจะก้าวข้ามความกลัว เอาความยุติธรรมกลับมาสู่บ้านเมืองของเรา ไม่มีความกลัวใดๆ เหลือในใจอีกแล้ว” นายสาทิตย์ กล่าว
 
ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนไม่มีทางเลือกอื่นในการต่อสู้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเคยประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าวันไหนที่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป่านกหวีดเชิญชวนประชาชนมาร่วมคัดค้าน

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพได้อ่านแถลงการณ์ที่ได้ประกาศต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัฐสภา เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.) เป็นภาษาไทย และให้ ส.ส.อ่านเป็นภาษาอังกฤษด้วย
 
สำหรับการปราศรัยบนเวที แกนนำจะสลับกันขึ้นเวที โดยหลังจากนายสาทิตย์ จะเป็นการปราศรัยของนายสุเทพ ตามด้วยนายอิสสระ นายถาวร เสนเนียม นายกรณ์ จาติกวณิช นายวิทยา แก้วภราดัย ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.บางส่วน ยังคงติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ที่รัฐสภา และจะเดินทางมาสมทบที่เวทีภายหลัง
 
ต่อมาเวลา 19.00 น. นายสุเทพได้เป่านกหวีดร่วมกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม พร้อมประกาศว่าแกนนำชุมนุมในครั้งนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า เราจะต่อสู้ไม่หยุด จนกว่าจะชนะ และจะไม่มีวันถอยมือเปล่ากลับบ้านอีกแล้ว มี 2 ทางเลือกเท่านั้น

 
“ถ้านายกรัฐมนตรีได้ยินเสียงนี้ก็กลับตัว ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็จะยุติการชุมนุม แต่ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ถอน เราจะต่อสู้ด้วยชีวิตของคนไทยทุกคน จนกว่าจะชนะ และขอประกาศว่าเวทีนี้เป็นของประชาชน ไม่ใช่เวทีของพรรคประชาธิปัตย์” นายสุเทพ กล่าว

นศ.ใต้ ค้าน ร่างนิรโทษฯ ฉบับกรรมาธิการ ชี้ขัดหลักการ สร้างความขัดแย้ง ดันร่างฯวรชัย

นศ.ใต้ ค้าน ร่างนิรโทษฯ ฉบับกรรมาธิการ ชี้ขัดหลักการ สร้างความขัดแย้ง ดันร่างฯวรชัย

เครือข่ายกล้าคิดซึ่งประกอบจากนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้ ชี้เพื่อไทยดันนิรโทษทักษิณเกิดวิกฤติ วอนรัฐบาลยันหลักการร่างวรชัย ไม่นิรโทษแกนนำ-ผู้สั่งการ นิรโทษนักโทษทางความคิด ม.112 ปลดล็อคทักษิณโดยการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร แก้ รธน.309
แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย

สืบเนื่องจากการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 29  ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน โดยหลังการประชุมได้มีมติว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล  จะลงมติในทิศทางเดียวกัน  เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ในมาตราที่ 3 ซึ่งบัญญัติว่า
"ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"
จากมาตรา 3 เดิมที่มีเนื้อหาครอบคลุมบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง ที่มีห้วงเวลาตั้งแต่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ซึ่งการเปลี่ยนสาระสำคัญของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว  เป็นการจงใจแก้ไขเพิ่มเติมและบิดเบือนสาระสำคัญของร่างเดิม ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระแรก เพียงเพื่อฉวยโอกาส ช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังเป็นการนิรโทษกรรมฯ ครอบคลุมแกนนำทุกฝ่าย ทั้ง นปช. และ พันธมิตร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การนิรโทษกรรมฯ ให้กับผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งต่อมาทั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคน ก็ออกมาแก้ต่างการกระทำดังกล่าว อย่างสวยหรูว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ Set Zero การเมืองไทย แล้วให้ประชาชนและผู้สูญเสียทำใจยอมรับกับการ Set Zero ดังกล่าว อีกทั้งยังกล่าวว่า ร่างนิรโทษกรรมเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระแรกนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่บัญญัติถึงความเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุดังกล่าวกลุ่มกล้าคิดฯ  จึงมีความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากดังต่อไปนี้
ประการแรก การอ้างหลักความเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ดังกล่าวเป็นการอ้างที่ไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีการละเว้นบุคคลที่ต้องโทษในคดีอาญา มาตรา 112 ซึ่งก็เป็นทราบกันว่าผู้ที่ต้องคดีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 อีกทั้งการยังมีการแก้เนื้อหา
ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากทำให้บุคคลทุกฝ่าย ทุกระดับชั้นพ้นไปจากความผิดที่ได้กระทำ  จะส่งผลให้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว  และโดยเฉพาะแกนนำ และผู้มีอำนาจสั่งการต้องมีส่วนรับผิดชอบจากการสูญเสียที่เกิดขึ้น
ประการที่สาม แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในรัฐสภาที่มาจากระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็ใช่แค่คะแนนเสียงในรัฐสภาเท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาจากประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งกรณีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่ากำลังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นเครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมาก และเรียกร้องให้ใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ วรชัย เหมะตามที่ได้ผ่านความเห็นจากของสภาในวาระแรกแล้ว ด้วยเหตุผล 2ประการคือ
ประการแรก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ วรชัย เหมาะ ที่นิรโทษเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อยกเว้นแกนนำ ผู้สั่งการให้เคลื่อนไหว ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ต้องโทษในคดีอาญา มาตรา 112
ประการที่สอง สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นผู้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากผลพวงการทำรัฐประหาร จึงควรให้ความเป็นธรรมโดยลบล้างผลพวงการทำรัฐประหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกมาตรา 309 จึงจะเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรอีกทั้งยังเป็นการ Set Zero การเมืองไทย อย่างถูกต้อง
ด้วยความเคารพ
เครือข่ายกล้าคิด สร้างมิตร สร้างประชาธิปไตย
31 ตุลาคม 2556

อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ที่นี่ ว่าด้วยนิรโทษกรรม

อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ที่นี่ ว่าด้วยนิรโทษกรรม

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างนิรโทษกรรม ท่ามกลางผู้ฟังจำนวนมาก ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. ยันร่างฯ นิรโทษกรรมมุ่งหมายเฉพาะประชาชน การแก้ไขร่างฯ ของสภาที่ขยายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างฯ ดังกล่าว และขัดรธน. พร้อมย้ำแนวทางลบล้างผลพวงรัฐประหาร
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....
และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่ “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” จากถ้อยคำดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น  โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” แล้ว ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆ การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

3) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

4) ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรมก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ  ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

5) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2547 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. 2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549  ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

6) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้
ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์
โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

1) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

2) ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้

3) สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้
4.1  เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

4.2  ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่

คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
31 ตุลาคม พ.ศ. 2556


นิติราษฎร์แถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ชมวิดีโอการแถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนของ 'คณะนิติราษฎร์' ที่มีต่อ "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ...." ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สอง โดยการแถลงดังกล่าวจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ท่ามกลางผู้สนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมาก

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ปิยบุตร แสงกนกกุล
สาวตรี สุขศรี

รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

          ประชาไทสำรวจความคิดเห็นจากนักโทษการเมืองบางส่วนจากเรือนจำหลักสี่ ไม่กี่วันก่อนที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านวาระ3 พวกเขาคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนี้ และถูกอ้างเป็นหลักการพื้นฐานของการเริ่มผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ และสร้างการถกเถียง การเคลื่อนไหวต่อต้านจากทุกส่วน แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงหรือแนวร่วมที่เคยร่วมกันต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย  
 

โกวิทย์ แย้มประเสริฐ

            ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 ปี 8 เดือน ปรับ 6,600 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มีวัตถุระเบิด, ลักทรัยพ์โดยร่วมกันงัดเซเว่นอีเลฟเว่น
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาเหลือ จำคุก 9 ปี 4 เดือน ปรับ 6,100 บาท เนื่องจากเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยเข้าไปขโมยของที่เซเว่นฯ จริงหรือไม่ แต่จำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และในส่วนความผิดฐานใช้เส้นทางคมนาคม ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถยนต์ออกจากที่ชุมนุมเพื่อเดินทางกลับบ้านจึงไม่เป็นความผิด คงเหลือโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคน (โกวิทย์ แย้มประเสริฐ และ ประสงค์มณีอินทร์) คนละ 9 ปี 4 เดือน ปรับเท่าเดิม (อ่านเพิ่มเติมในhttp://prachatai.com/journal/2011/06/35712)
  • “เราเห็นด้วยที่จะไม่ให้แกนนำและคนสั่งการ ที่ผ่านมาเขาสั่งยิงพี่น้องเรา”
  • “แกนนำเองเขาก็ยังไม่ยอมรับ เขาพร้อมสู้ดคีอยู่แล้ว”
  • “ร่างของวรชัยทำถูกต้องแล้ว นายใหญ่ไม่รับ (การนิรโทษกรรม) แต่ให้พี่น้องได้ออกจากคุก  หรือถ้าไม่ได้ออกจริงๆ ช้าไปอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหา เราสู้ถึงชั้นฎีกาอยู่แล้ว เราต้องการลงโทษคนสั่งยิ่งพี่น้องเราเท่านั้น แต่ถ้าเราได้ประกันตัวไปสู้คดีก็จะดี จะได้สู้เต็มที่”

ประสงค์ มณีอินทร์

          ประสงค์เป็นคู่คดีโกวิทย์และถูกพิพากษาเช่นเดียวกัน เขาทำงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วันเกิดเหตุขับรถไปร่วมการชุมนุมหลังเลิกงาน ขณะถูกจับยืนยันว่ามีแต่อุปกรณ์ก่อสร้าง หลังถูกจับไม่นานก็มีการตั้งข้อกล่าวหาและจัดแถลงข่าวการจับกุมในบ่ายวันเดียวกันนั้น
          สำหรับประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขากล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหากับร่างที่รัฐบาลผลักดัน และยังเชื่อว่านักโทษในคดีทางการเมืองหลายคนก็คงมีความคิดคล้ายๆ กันคือ หากยอมได้ก็ยอมเสียบ้าง เรื่องจะได้จบๆ ไป
         “ทุกวันนี้ที่ความขัดแย้งยังคงอยู่เพราะมันไม่มีใครยอมใคร ทุกอย่างถูกดึงให้เป็นประเด็นเกมส์ทางการเมืองเสมอ จนไม่มีใครยอมใคร ปัญหาจึงไม่มีวันที่จะถูกแก้ไขได้ หาก พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาก็เหมือนเป็นการมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ บนพื้นฐานที่เท่ากัน ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้”

ปัทมา มูลมิน

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ร่วมกับจำเลยอีก 4 ราย แต่ทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์กับรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งในสาม เป็นเวลา 33 ปีกับ 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน เป็นเวลา 33 ปี 4 เดือน
(อ่านรายละเอียดที่ 
http://prachatai.com/journal/2011/08/36615)
  •  “ตอนนี้มีกำลังใจดีขึ้นที่เห็นเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษเดินหน้า แต่ก็ชะงัก เพราะเขาบอกว่าจะเหมาเข่งแล้วกระแสต่อต้านมันเยอะ”
  • “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษเหมาเข่ง เพราะไม่คุ้มกันที่ต้องให้ฆาตรกรที่ฆ่าประชาชนหลุดด้วย ถึงเข้าใจได้ว่า 2 คนนั้นไม่มีทางติดคุกแน่ แต่ในทางความเป็นจริง ก็ควรให้โอกาสศาลได้พิสูจน์ตัวเองว่ายุติธรรมจริงไหม หาความจริงได้ไหม”
  • “อยากออกไหมก็อยาก เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศ แค่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้ฆ่าใครตาย”
  • “จริงๆ ฉบับวรชัยไม่น่าจะมีปัญหา ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ค้านอะไร แต่ถามว่าสำหรับทักษิณมันยุติธรรมไหม เขาถูกกลั่นแกล้งไม่ได้กระทำผิด แต่ต้องมานิรโทษด้วย กลับมาก็ไม่สง่างาม อย่างนี้แก้ไขมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญไปเลย แต่ของประชาชนจะให้แก้ตรงไหน”
  • กี่ครั้งแล้วที่เรานิรโทษกรรมให้คนฆ่าประชาชน แต่ครั้งนี้มันแปลก เพราะฝ่ายถูกฆ่ามานิรโทษกรรม แถมนิรโทษให้คนฆ่าอีก อย่าลืมว่าที่เราออกมาก็เพราะมีคนถูกฆ่า เราออกมาเรียกร้องให้คนที่ตาย แล้ววันนี้คุณจะมายกโทษให้คนฆ่าคนตาย อย่างนั้นสิ่งที่เราทำมาก็ไม่มีความหมาย ถ้าพรรคทำแบบนี้ อย่าว่าแต่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเดียวกันก็คงไม่เอาคุณเหมือนกัน”
  • “ถ้าจะยืดเยื้อ เราก็พอทำใจได้ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่ให้ประกันตัว เราจะหนีไปไหน แค่เลี้ยงครอบครัวเรายังจะหาเลี้ยงกันไม่รอด แต่กับสนธิ ลิ้มทองกุล มีเงินตั้งเท่าไรจะหนีก็หนีได้สบาย แต่เขากลับได้ประกันตัว”

 

เอนก สิงขุนทด

              เป็นจำเลยคดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ได้รับบาดเจ็บจนตาบอดทั้ง 2 ข้าง ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 35 ปี และปรับ 50 บาท ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี
          เอนกระบุว่า เขาเห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นฉบับของวรชัย เหมะ หรือฉบับที่ผ่าน กมธ.ที่มีการเปลี่ยนเนื้อหา
  • “ที่ผ่านมาพวกผมไม่มีส่วนได้ มีแต่ส่วนเสีย ถ้าไม่ได้ของใครร่างใดร่างหนึ่ง ก็ต้องติดอยู่แบบนี้เหมือนเดิม เหมือนเอาพวกผมเป็นตัวประกัน เขาว่าจะทำเพื่อคนคนเดียว ทักษิณไปฆ่าใครที่ไหน เขาโดนกลั่นแกล้งเฉยๆ”
  • “มองโดยภาพรวมแล้วคนสั่งการยังไงเขาก็ไม่ติดคุก ถึงอัยการฟ้องเขาก็ไม่ติด เชื่อไหม ไม่มีทาง สองมาตรฐานยังมีอยู่จริงๆ ถ้าให้คนสั่งฆ่าประชาชนติดคุก เขาคงติดนานแล้ว แต่นี่ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้ว ถามว่าจะเอาความเชื่อมั่นตรงไหนไปเชื่อแบบนั้น เขาเป็นลูกเทวดา เรามันคนธรรมดา”
  • “ผมว่าสุดซอยไปเลยแล้วมานับหนึ่งใหม่ ส่วนกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาจริงๆ เราก็ต้องมาหาทางปฏิรูป เมื่อเรานิรโทษกรรมแล้ว เราก็ต้องแก้ มาตรา 309 เพื่อไม่ให้มีการัฐประหารอีก มันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด แก้ตรงนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนอีก”

 

เพชร แสงมณี

           ผู้ต้องขังชาวเขมร วัยเกือบ 30 ปี อยู่เมืองไทยมา 10 กว่าปี สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้  เพชรถูกจับกุมในวันที่ 19 พ.ค.53  เขาถูกคุมขังในระหว่างสู้คดี โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี 6 เดือน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงตลาดพระโขนง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยยกข้อหาก่อการร้าย คดีของเขาถึงที่สุดแล้วโดยเขาตัดสินใจไม่ฎีกา
  • “ตอนนั้นผมไม่รู้คิดอะไรเลยไม่ฎีกา น้อยใจมากเลย กะว่าจะทำอะไรกับกูก็ทำไป”
  • “เรื่องนิรโทษกรรม ใจผมมี 2 ใจ คืออยากให้นิรโทษแกนนำและผู้สั่งการแบบนี้ กับ นิรโทษให้เฉพาะประชาชน มันเป็นเรื่องยากทางการเมือง อยากให้ถกเถียงการไปก่อน เพราะความคิดเห็นยังแตกต่างกันอยู่มาก”
  • “ผมรู้สึกเห็นใจผู้สูญเสีย เขาอาจทำใจลำบาก แต่ลึกๆ ผมก็อยากให้นับหนึ่งใหม่และให้รัฐบาลผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ใครทำรัฐประหารให้ลงโทษสถานหนัก”
  • “ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้า เราอาจต้องลืมอดีต ทำใจยอมรับให้ได้แล้วเริ่มกันใหม่”
  • “สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ การโดยคุมขังโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ผมไม่ได้สนใจการเมือง เป็นคนหาเช้ากินค่ำ สังคมไทยไม่มีความเป็นธรรมให้ผมเลย แต่อย่างว่า แม้แต่คนชาติเดียวกันเขายังทำรุนแรงกันขนาดนั้น นับประสาอะไรกับคนต่างชาติ ก็ต้องปิดตารับชะตากรรมของตัวเองไป”


วรนุช หรืออัจฉรา  ศรีวันทา

          (รายใหม่) เป็นชาว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ถูกดีเอสไอตั้งข้อหาให้เป็นแกนนำเสื้อแดงขอนแก่น ในเหตุการณ์ปิดถนนมิตรภาพ บริเวณแยกบ้านหนองโจด อ.พล  จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่  12 พ.ค.53  เธอและชูชัย เจ้าของรถเครื่องเสียงที่ใช้เป็นเวทีชุมนุม ถูกแจ้งข้อหาก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กีดขวางการทำงานเจ้าพนักงาน
          ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 เดือน ปรับ 10,000 บาท ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี จนกระทั่ง 12 มิ.ย.56 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกวรนุชและชูชัย 12 เดือน 
        เธอเล่าว่าในเหตุการณ์นั้น เธอเป็นคนที่นำเอาข้าวเอาน้ำมาแจกให้ทหารระหว่างที่ผู้ชุมนุมปิดกั้นถนน และพยายามไม่ให้นำทหารจากทางภาคอีสานลงมาผลัดเปลี่ยนกำลังที่กรุงเทพ  เธอเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของผู้ชุมนุม
          “นี่เป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเอาอาหารและน้ำไปให้ทหาร”
         ในช่วงสองเดือนแรกเธอถูกจำคุกอยู่ที่ขอนแก่น สามีเทียวเยี่ยม ส่งข้าว ดูแล รวมทั้งรับภาระในการส่งเสียลูกสาวที่เริ่มเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นปีแรก กิจการฟาร์มหมูขาดทุนและหมูถูกขายนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าเป็นภาระที่หนักของสามี ผนวกกับสภาพแออัดในเรือนจำขอนแก่น เธอตัดสินใจขอย้ายมาถูกขังที่เรือนจำพิเศษ หลักสี่  ซึ่งสภาพความเป็นอยู่สบายขึ้น แม้ต้องห่างครอบครัว แต่ก็ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว 
         สำหรับประเด็นนิรโทษกรรม วรนุชบอกว่าเธอเห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมาย
         “ถ้าไม่ให้อภัยกัน มันก็ไม่จบ..บ้านเมืองมันก็ก้าวไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ มันต้องอะลุ่มอะหล่วยกัน ลูกหลานข้างหน้าจะได้สบายขึ้น ถ้าเรายังจมอยู่กับความขัดแย้งมันก็ไปไหนไม่ได้” 
         เมื่อถามว่าถ้าไม่ได้นิรโทษโดยส่วนตัวเธอจะรู้สึกอย่างไร วรนุชบอกว่าเธอคิดว่าจะได้รับการพักโทษเมื่อถูกขังได้ 2 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือราว 8 เดือน  เธอบอกว่าสภาพของเธอดีกว่าคนอื่นที่โดนโทษหนัก น่าเป็นห่วงกว่ามากนัก

“ฉันรักท่านทักษิณ ทำเพื่อท่านทักษิณ ถึงมาอยู่อย่างนี้” เธอฝากถึงทักษิณ ชินวัตร
 

พนม กันนอก

           หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี และได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ปัจจุบันรับจ้างทำงานก่อสร้าง โดยต้องไปรายตัวกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดมุกดาหารทุกเดือน และต้องยังไปพบหมอจิตเวชทุก 2 เดือน อันเนื่องจากผลกระทบจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานาน
        “ถ้านิรโทษแบบสุดซอยแล้วทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ ทำให้พี่น้องออกจากคุกได้ ผมก็ยอมรับได้ เพราะว่ายังไงเราก็เอาอภิสิทธิ์ สุเทพมาลงโทษไม่ได้ ถามว่าผมโกรธมั้ย ช้ำใจมั้ย ผมช้ำใจ เราได้รับผลกระทบมานาน ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เรารอการนิรโทษมานาน คนที่อยู่ข้างในเรือนจำก็รอมานาน ถ้าคนอยู่ข้างในได้ประกันตัวออกมาเหมือนเรา เราก็พร้อมจะสู้ในกระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รวมทั้งอีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน แม้สุดท้ายศาลฎีกาจะพิพากษาจำคุกพวกเราก็ยอมรับได้ แต่อีกฝ่ายก็ต้องรับโทษเหมือนกัน”
         แต่ถ้านิรโทษสุดซอยแล้ว อีกฝ่ายจะออกมาชุมนุมต้าน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะไม่อยากให้ทักษิณกลับ แล้วทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป พี่น้องเราไม่ได้ออก ผมก็ไม่เอา ให้พรรคเพื่อไทยกลับไปเอาร่างเดิมของวรชัยดีกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้พี่น้องเราออกมาได้เร็วที่สุด ผมเห็นใจเขา”  
 

วินัย ปิ่นศิลปชัย

           ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอีกคน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์เช่นเดียวกัน แต่ผลกระทบจากการถูกคุมขัง ทำให้เขาไม่สามารถกลับไปวิ่งรถขายขนมเครปตามโรงเรียนได้อีกแล้ว ทำได้เพียงเป็นลูกมือช่วยภรรยาขายกล้วยทอด
         “ผมไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษสุดซอย ไม่ต้องมี ผมทำใจไม่ได้ เราสูญเสียมาเยอะ ตาย 90 กว่าศพ จะไปยกโทษให้คนทำง่ายๆ ได้ยังไง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นมาตรฐานว่าคนสั่งฆ่าประชาชนต้องติดคุก ถ้าฆ่าประชาชนแล้วได้รับการนิรโทษ คราวหน้าก็จะมีอย่างนี้อีก ประชาชนมาชุมนุมก็ถูกฆ่าอีก เวลาเขาทำกับเราเหมือนเราไม่ใช่คนไทย เราจึงยอมให้นิรโทษไม่ได้ แม้ว่าถึงที่สุดแล้วคดีของเราศาลจะตัดสินให้จำคุก ผมก็ยอมรับได้ ขอแค่ให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รับโทษบ้าง ติดคุกบ้าง”
“ถ้านิรโทษเฉพาะประชาชน กับทักษิณ ผมถึงจะยอมรับ”

"สุดา" โพสต์ FB เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประชาไท ยืนยันนักโทษการเมืองเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม


"สุดา" โพสต์ FB เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประชาไท ยืนยันนักโทษการเมืองเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม


             2 พฤศจิกายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 0.15 น. ที่ผ่านมา ดร.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว https://www.facebook.com/sudarang กรณีที่นักโทษการเมืองแสดงความเห็นต่อการนิรโทษกรรม โดยระบุว่า "เมื่อเสาร์ที่แล้ว พวกเขาเขียนจดหมาย ลงชื่อเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมทุกรูปแบบ อันนี้ ก็ดีอย่างหนึ่ง คือ พี่น้องเขายินดีสู้ยาว ดิฉันไม่มีปัญหาเลย สบายใจ เพราะเราไม่รู้สึกแบกคำมั่นสัญญาอะไร จะได้ไม่ต้องเครียด และปล่อยให้เขาอยู่ยาวตามปรารถนา ดิฉันจะได้ทำงานทำการอื่น ...โล่งเลย ขอบคุณประชาไท" พร้อมโพสต์เนื้อหาบทสัมภาษณ์พิเศษ "รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" โดยทีมข่าวการเมือง เว็บไซท์ประชาไท


รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" โดย ประชาไท

         ทั้งนี้ เว็บไซท์ประชาไทยืนยันว่าได้สำรวจความคิดเห็นจากนักโทษการเมืองจากเรือนจำหลักสี่ก่อนที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านวาระ 3 พวกเขาคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนี้ และเป็นหลักการพื้นฐานของการเริ่มผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ อาทิ

นายประสงค์ มณีอินทร์ : "โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหากับร่างที่รัฐบาลผลักดัน และยังเชื่อว่านักโทษในคดีทางการเมืองหลายคนก็คงมีความคิดคล้ายๆ กันคือ หากยอมได้ก็ยอมเสียบ้าง เรื่องจะได้จบๆ ไป “ทุกวันนี้ที่ความขัดแย้งยังคงอยู่เพราะมันไม่มีใครยอมใคร ทุกอย่างถูกดึงให้เป็นประเด็นเกมส์ทางการเมืองเสมอ จนไม่มีใครยอมใคร ปัญหาจึงไม่มีวันที่จะถูกแก้ไขได้ หาก พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาก็เหมือนเป็นการมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ บนพื้นฐานที่เท่ากัน ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้"

เอนก สิงขุนทด : ผมว่าสุ"ดซอยไปเลยแล้วมานับหนึ่งใหม่ ส่วนกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาจริงๆ เราก็ต้องมาหาทางปฏิรูป เมื่อเรานิรโทษกรรมแล้ว เราก็ต้องแก้ มาตรา 309 เพื่อไม่ให้มีการัฐประหารอีก มันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด แก้ตรงนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนอีก"

เพชร แสงมณี : "ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้า เราอาจต้องลืมอดีต ทำใจยอมรับให้ได้แล้วเริ่มกันใหม่” “สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ การโดยคุมขังโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ผมไม่ได้สนใจการเมือง เป็นคนหาเช้ากินค่ำ สังคมไทยไม่มีความเป็นธรรมให้ผมเลย แต่อย่างว่า แม้แต่คนชาติเดียวกันเขายังทำรุนแรงกันขนาดนั้น นับประสาอะไรกับคนต่างชาติ ก็ต้องปิดตารับชะตากรรมของตัวเองไป"

วรนุช หรืออัจฉรา ศรีวันทา : “ถ้าไม่ให้อภัยกัน มันก็ไม่จบ..บ้านเมืองมันก็ก้าวไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ มันต้องอะลุ่มอะหล่วยกัน ลูกหลานข้างหน้าจะได้สบายขึ้น ถ้าเรายังจมอยู่กับความขัดแย้งมันก็ไปไหนไม่ได้”

พนม กันนอก : "ถ้านิรโทษแบบสุดซอยแล้วทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ ทำให้พี่น้องออกจากคุกได้ ผมก็ยอมรับได้ เพราะว่ายังไงเราก็เอาอภิสิทธิ์ สุเทพมาลงโทษไม่ได้ ถามว่าผมโกรธมั้ย ช้ำใจมั้ย ผมช้ำใจ เราได้รับผลกระทบมานาน ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เรารอการนิรโทษมานาน คนที่อยู่ข้างในเรือนจำก็รอมานาน ถ้าคนอยู่ข้างในได้ประกันตัวออกมาเหมือนเรา เราก็พร้อมจะสู้ในกระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รวมทั้งอีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน แม้สุดท้ายศาลฎีกาจะพิพากษาจำคุกพวกเราก็ยอมรับได้ แต่อีกฝ่ายก็ต้องรับโทษเหมือนกัน"

ขอบคุณภาพถ่ายจาก C-On / วีอาร์ ประชาชน