วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

องค์กรอิสระในฐานะเงื่อนไขของความรุนแรง



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
การต่อต้านนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม2535คือหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย เพราะนำไปสู่รัฐธรรมนูญ2540ที่ก่อให้เกิดผลหลายอย่างซึ่งเป็นบรรทัดฐานของสังคมมาเกือบสองทศวรรษ ถึงแม้ผลเรื่องนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งและทหารต้องไม่มีบทบาทการเมืองจะปิดฉากไปด้วยรัฐประหาร2549แต่ผู้รัฐประหารไม่ได้ยกเลิกแนวคิดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย องค์กรประเภทนี้จึงคงอยู่จนปัจจุบัน

อุดมคติของการสร้างองค์กรอิสระศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2540 คือความเชื่อว่าสามารถออกแบบสถาบันการเมืองแบบใหม่ที่ปกป้องหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยได้ดีกว่ารัฐสภาและระบบราชการ  สถาบันดังกล่าวจึงควรเป็นพื้นที่ของนักการเมืองและข้าราชการน้อยลง แต่เป็นภาคเอกชนและประชาสังคมให้มากขึ้น และเพื่อไม่ให้นัก การเมืองและข้าราชการก้าวก่ายสถาบันใหม่เกินไป จึงออกแบบให้สถาบันมีระยะห่างจากองค์กรทางการเมืองที่มีอยู่เดิม
แน่นอนว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 และการเกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ศาลมีบทบาทในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนทั้งหมดถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการธิปไตย (Juristocracy) และถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะถูกฉีกทิ้งไปแล้ว สถานะขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย และไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังรัฐประหาร 2557 จะเป็นอย่างไร องค์กรกลุ่มนี้ก็น่าจะคงอยู่เหมือนที่ผ่านมา
การดำรงอยู่ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องหลังปี 2540 เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในด้านหนึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสถาบันเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองในสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว   แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่สถาบันเหล่านี้คงอยู่ผ่านรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ก็เป็นสัญญาณว่าองค์กรอิสระแบบที่เป็นอยู่นั้นต้องมีคุณสมบัติอะไรสักอย่างที่ทำให้ผู้มีอำนาจยอมรับได้ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
โปรดอย่าลืมว่าขณะที่คณะรัฐประหารชุดล่าสุดประกาศล้มล้างรัฐธรรมนูญ, รัฐบาล, สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไปเสียทั้งหมด องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญกลับได้รับอนุญาตให้คงอยู่ได้ต่อไป
หากตัดเหตุผลเชิงคาดคะเนประเภทองค์กรกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเมืองบางเครือข่ายออกไป หนึ่งในวาทกรรมซึ่งเป็นรากฐานและทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์กรกลุ่มนี้กับสถาบันอำนาจและมวลชนกลุ่มอื่น ๆ คือวาทกรรมว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์บางอย่างที่เป็น “จิตวิญญาณ” ซึ่งจะบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้   โดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในฐานะผู้คุ้มครองให้ระบบการเมืองดำเนินไปตามครรลองของจิตวิญญาณนี้ต่อไป
จริงอยู่ ไม่แปลกที่จะคิดว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์หรือ “จิตวิญญาณ” ที่อยู่เหนือตัวบทลายลักษณ์อักษรขึ้นไป  แต่ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่า “จิตวิญญาณ” นั้นหมายถึงอะไรแน่ ข้อขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฏร / รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง / วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง / พรรคประชาธิปัตย์ / กลุ่มนอกระบบ ฯลฯ ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงการยึดอำนาจ 2557 ก็เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องนี้ที่ต่างกันด้วยแน่ๆ  ถ้านั่นไม่ใช่การสร้างสถานการณ์เพื่อเป้าหมายทางการเมือง
ใครไม่เชื่อเรื่องนี้ ลองนึกถึงคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ “เสนอ” ไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วแก้รัฐธรรมนูญดูก็ได้ การปกป้องวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเต็มไปด้วยข้ออ้างประเภทสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ฯลฯ ในขณะที่การแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนควบคุมคนเหล่านี้กลายเป็นการทำลายประชาธิปไตยไปได้  หรือถ้าไม่ชอบตัวอย่างนี้ ก็นึกถึงเรื่องไหนก็ได้ที่มีนับไม่ถ้วนในปฏิบัติการล้มประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อยาวนานเกินครึ่งปี
ประสบการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าประเด็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญเผชิญความยุ่งยากหลายข้อ   ตัว อย่างเช่นจะถือว่า “จิตวิญญาณ” ของรัฐธรรมนูญคืออะไร ระหว่างสิทธิ, เสรีภาพ, หลักประชาธิปไตย, รัฐเดี่ยว, บรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน, รูปแบบการปกครอง? ใครจะเป็นคนตัดสินว่าใครเข้าถึงและรู้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ดีที่สุด? เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับผู้ร่างแต่ละคน หรือว่าคำวินิจฉัยขององค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งมวล?
อนึ่ง ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย เพราะสังคมไหนที่เข้าสู่การถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยประเด็นจิตวิญญาณหรือเจตนารมณ์ ก็ล้วนเผชิญปัญหาแบบนี้ทั้งนั้น   งานศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างจริงจังนับไม่ถ้วนพยายามตอบปัญหานี้ แต่การทบทวนงานศึกษานี้ในบ้านเรายังมีไม่มากพอ
สำหรับฝั่งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนและผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคือคนกลุ่มซึ่งอยู่ไกลจากความหยั่งรู้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคืออะไร การพิทักษ์จิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แม้กระทั่งตะวันตกก็มีกระแสความคิดว่า “ผู้พิพากษามีฐานะเทียบเท่าผู้พิทักษ์สิทธิของปัจเจกชนและอยู่ในฐานะซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้พลเมืองทุกคนโดยขึ้นต่อบรรทัดฐานที่เป็นสากล”
Robert Unger ใน What Should Legal Analysis Become?  ให้ข้อคิดว่าความรู้สึกรังเกียจประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในความลับแสนสกปรกของนักกฎหมายร่วมสมัย ผลก็คือการเกิดความพยายามอย่างไม่รู้จบในการควบคุมการปกครองของเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ต้องให้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (autocratic dictators) เกิดขึ้นในสังคม และในที่สุด สิ่งที่ปรากฏขึ้นคือสถาบันซึ่งปิดกั้นเสียงส่วนใหญ่ในนามของผู้พิทักษ์จิตวิญญาณรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
ในแง่นี้ แนวโน้มที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิเสธเสียงของคนส่วนใหญ่จึงมีมากและมีรากลึกกว่าที่คิดการกดทับให้ประชาธิปไตยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายครอบงำแบบนี้ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ใช่พาหนะสู่ประชาธิปไตยต่อไป ในทางตรงข้าม สิ่งที่ปรากฎในหลายสังคมคือสภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญยึดกุมรัฐธรรมนูญแล้วใช้รัฐธรรมนูญควบคุมประชาธิปไตยโดยอ้างความสามารถของตัวเองในการเข้าถึงจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตย
งานศึกษาบางชิ้นบอกว่าองค์กรการเมืองที่มีลักษณะมักมีความเชื่อมูลฐานร่วมกันสองข้อ ข้อแรกคือความเชื่อว่าสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันที่มีเหตุมีผลจนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีแก่นสารและจับต้องได้สำเร็จ   ส่วนข้อสองคือกระบวนการแบบผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมีความน่าเชื่อถือว่าจะนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันดังกล่าวดีกว่ากระบวนการประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงในโลกที่หักล้างความเชื่อสองข้อนี้ได้ก็มีเยอะไปหมดด้วยเหมือนกัน
ท่าทีองค์กรอิสระอย่างปปช.ต่อนโยบายจำนำข้าวเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้ดี เพราะขณะที่ข้อโจมตีหลักของปปช.คือการทุจริตทั้งทางตรงและทางอ้อมจากข้าวเน่าไปจนถึงภาวะขาดทุน ปปช.ไม่เคยคำนึงถึงโครงการนี้ในมิติอื่นตั้งแต่การจัดงบ ประมาณให้คนส่วนใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน, ผลต่อการบริโภคในประเทศ ฯลฯ และเสียงของมิติอื่นก็ไม่ถูกพิจารณาโดย ปปช. แต่การวินิจฉัยซึ่งรวมศูนย์เฉพาะมิติกฎหมายกลับลุกลามเป็นข้อเสนอทางนโยบายที่ให้ยกเลิกเรื่องนี้ไปเลย
ปปช.ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ในมิติที่มากกว่ากฎหมายหรือไม่ก็เรื่องนึง แต่องค์กรอิสระนั้นไม่มีอำนาจเสนอยกเลิกนโยบายที่ประชาชนเลือกไปแล้ว ซ้ำผู้มีอำนาจหลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ ยังเอาข้อเสนอนี้ไปอ้างต่อในการยกเลิกทั้งจำนำข้าวและประกันราคาข้าวไปด้วย  ความเห็นพ้องต้องกันอย่างมีเหตุผลนั้นไม่มีอยู่ในความขัดแย้งเรื่องนี้แน่ๆ และการยกเลิกไม่จัดสรรงบประมาณให้คนส่วนใหญ่แบบนี้ก็แสดงว่ากระบวนการของผู้รู้ทางกฎหมายนั้นไม่ได้นำสิ่งที่ดีที่สุดมาให้สังคม
ผู้ศึกษารัฐธรรมนูญกลุ่มที่เรียกว่า Legal constitutionalist เสนอความคิดอีกแบบว่าความจีรังของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการมีพลเมืองที่ผูกพันกับรัฐธรรมนูญ Joseph Raz ถึงกับบอกว่ารัฐธรรมนูญต้องรับใช้ “ไม่เพียงกฎหมายของนักกฎหมาย แต่ต้องรับใช้กฎของประชาชน” นั่นคือรัฐธรรมนูญต้องปกป้องสิทธิสำคัญสามเรื่อง เรื่องแรกคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่จะมีอิสระในการเลือกชีวิตที่ดี เรื่องที่สองคือกระบวนการที่เป็นธรรมและเท่าเทียมทางกฎหมาย และเรื่องที่สามคือสิทธิที่สัมพันธ์กับหลักการแบบประชาธิปไตย
พูดง่าย ๆ คือสิทธิแบบแรกยึดโยงกับความยุติธรรม สิทธิแบบที่สองเน้นความคงเส้นคงวา (consistency) และสิทธิแบบที่สามเน้นความเป็นธรรม (fairness) ความยุติธรรมทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ควรได้ ความคงเส้นคงวาทำให้ประชาชนรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ส่วนความเป็นธรรมทำให้ทุกคนมีโอกาสถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน
เป็นเวลาพักใหญ่แล้วที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญหันหลังให้คนส่วนใหญ่โดยอ้างว่าพวกตนเท่านั้นที่เข้าใจว่าอะไรคือจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงของระบบประชาธิปไตยมีอยู่ว่าไม่ว่าใครก็พูดแทนใครไม่ได้ การอ้างแบบนี้จึงผิดและไปตอกย้ำความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญกับคนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกัน
ไม่มีทางที่ระบอบรัฐธรรมนูญจะมั่นคงได้ในสถานการณ์นี้ และการมีอยู่ขององค์กรอิสระแบบนี้ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นทางเลือกที่เลี่ยงได้ยากอย่างที่ไม่ควรเป็น
- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/sirote-klampaiboon/post/4855#sthash.Q2Rpqr6s.dpuf

Noam Chomsky เขียนอีเมลให้กำลังใจปวิน หวังรัฐไทยยุติการคุกคามนักวิชาการ



22 มิถุนายน 2557 นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์/ปรัชญาจากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ส่งอีเมลถึง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาตราจารย์แห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อให้กำลังใจ โดยเขาระบุในหัวจดหมายว่า “นักวิชาการถูกคุกคาม”
เนื้อความระบุว่า”ผมรู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่ปวิน ถูกคุกคาม และหวังว่าผู้คุกคามคงจะยุติพฤติกรรมโดยด่วน เพื่อให้ปวิน เดินทางกลับไปกรุงเทพเพื่อพบครอบครัว และทำงานวิชาการอย่างเสรีต่อไปได้โดยไม่ถูกแรงกดดันจากรัฐบาล”
นอม ชอมสกี นั้นเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และถือได้ว่าเป็นปัญญาชนที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 เป็นผู้นำทางปัญญาในการต่อต้านสหรัฐฯ ช่วงสงครามเวียดนาม


'สิงห์ดำรามา' ชวนดูสารคดียุคเขมรแดง เก็บบทเรียนการใช้ความรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน



ตัวอย่างภาพยนตร์
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ชมรมสิงห์ดำรามาได้จัดกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์สารคดีเรื่อง S21 ซึ่งเป็นเรื่องราวของโตนสเลง คุกนักโทษการเมืองในยุคเขมรแดง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสังหารคนกัมพูชาไป 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงพยายามสะท้อนให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านการสัมภาษณ์ผู้คุม และคนที่ทำงานภายในคุก S21 ที่ทำหน้าที่ทรมาน และสอบสวนนักโทษ หลังจากการฉายภาพยนตร์ มีความเห็นที่น่าสนใจดังนี้

ผู้ร่วมชมภาพยนตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เราเป็นอย่างเขมรแดง แต่เมื่อเราดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในอีกแง่มุมนึง ผมกลับรู้สึกอิจฉากัมพูชาว่าอย่างน้อย คนที่เคยฆ่าและทรมานคนเป็นผักปลายังกล้าออกมาสารภาพและรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่พวกเขาทำมันหลอกหลอนเขาจนเขาละอายและขยาดกลัวความรุนแรง เขาฆ่าคนจนไม่สามารถรับตัวเขาเองได้ พวกเขารู้ว่าต่อให้พวกเขาชนะ แต่ชัยชนะของพวกเขามันไม่มีความหมายอะไรเลย มีแต่ความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งผมเชื่อว่าคนกัมพูชาส่วนใหญ่เขาได้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สำหรับสังคมไทยผมไม่แน่ใจว่าเราจะเกิดสำนึก หรือมีบทเรียนจากการใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ เรายังไม่เคยประสบกับภาวะที่คนเข่นฆ่ากันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ สังคมไทยยังคงมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดออกไปให้หมดสิ้น หากเป็นเช่นนั้นสังคมไทยก็ยังคงต้องติดอยู่ในวังวนของความรุนแรงต่อไป”

ผู้ร่วมชมภาพยนตร์อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “กรณีของกัมพูชาน่าสนใจมาก ปกติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เราคุ้นเคยมักเกิดจากเรื่องชาติพันธุ์ หรืออุดมการณ์เช่นกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ยิวของนาซีเยอรมัน หรือการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน แต่ในกรณีของกัมพูชาที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราเห็นมิติดังกล่าวน้อยมาก ส่วนใหญ่การฆ่าที่เกิดขึ้นมันเกิดจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จนสุดท้ายการฆ่ามันกลายเป็นชีวิตประจำวันของคนพวกนี้ พวกเขาฆ่าได้แม้จะไม่มีเหตุผลรองรับ คนที่พวกเขาฆ่าไม่ได้เป็นเจ้าที่ดินที่เคยกดขี่พวกเขา หรือเป็นผู้มีอุดมการณ์แตกต่างจากเขา แต่พวกเขาฆ่าเพราะมันเป็นธรรมชาติของพวกเขาไม่ต่างกิจวัตรประจำวัน หรือเทศกาลบางอย่าง  และเพื่อที่จะทำให้การฆ่าสามารถดำเนินต่อไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจับคนบริสุทธิ์มา และบังคับให้พวกเขาซักทอดไปยังเครือญาติ และคนรู้จักของพวกเขาซึ่งก็เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถไปจับคนพวกนี้มาฆ่าแล้วฆ่าอีกไม่จบไม่สิ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดประชากรของกัมพูชาจึงหายไปถึง 1 ใน 3 ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีที่เขมรแดงปกครอง”

ผู้ร่วมชมภาพยนตร์อีกท่านให้ความเห็นว่า “ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนึกถึงเรื่องแรงงานเขมรที่เพิ่งแห่กันกลับประเทศไป หลังจาก คสช. ประกาศจะจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด มันอาจจะไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์สักเท่าไหร่ ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ผมคิดว่าวิธีการที่น่าสนใจในการต่อต้านอำนาจคือเดินออกมาจากสิ่งที่เป็นอยู่ เช่นหากคนในกรุงเทพฯ ที่ไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ก็ พร้อมใจกันกลับต่างจังหวัดและทิ้งกรุงเทพฯ ไว้ให้เหลือแต่คนที่สนับสนุนสิ่งที่เป็นอยู่คือเราไม่จำเป็นต้องเข้าไปท้าทายหรือปะทะกับอำนาจ เช่น กินแซนด์วิช ชูสามนิ้ว หรือนั่งอ่านหนังสือ แต่เราแค่เดินหนีออกมาจากเกมของเขา”

ทีมชาติสเปน รวมเลือดเนื้อคนละชาติเชื้อกัน




            หลังจากความล้มเหลวของทีมชาติเปน ทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ความถดถอยนี้มีเค้าลางมาตั้งแต่ศึกฟีฟ่าคอนเฟดเดอเรชั่นคัฟ เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่โลกรับรู้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะล้มละลาย คนในยุโรปทราบดีว่าสิ่งที่เหลือค้างอยู่ในสเปน คือ ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ใต้ร่มราชอาณาจักรเดียวกัน

           เมื่อถึงคราววิกฤต สารพัดปัญหาจึงประทุออกมา หลักฐาน คือ กระแสการเรียกร้องอิสรภาพเพื่อแบ่งแยกดินแดนของแคว้นคาตาร์โลเนีย และบาสก์


ทำไมทีมสเปนจึงเสื่อม
            การพังทลายของระบบการเล่นแบบ ติกี้ตาก้า ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้เล่นในทีม เพื่อสอดประสานกันในเกมส์รุก ด้วยการจ่ายลูกสั้นทะลุตามช่อง ประคับประคองเพื่อนร่วมทีมกันเป็น โครงข่ายใยแมงมุม พร้อมทั้งรับผิดชอบความผิดพลาดด้วยการวิ่งไล่แย่งบอลคืนเมื่อเสียการครอบครอง ต้องการ “ความรักและรับผิดชอบ” ต่อเพื่อนร่วมทีมสูง   เกิดจากอะไร
           มองในแง่ศาสตร์ฟุตบอล ระบบการเล่นติกี้ตาก้าโดนศึกษาและมีการหาวิธีจัดการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ทีมเชลซี อินเตอร์มิลาน รีลมาดริด ของโจเซ่ มูริญโญ่ ซึ่งใช้ใช้แท็คติกการเล่น แบบมีระเบียบวินัยเคร่งครัดต่อการ คุมพื้นที่ ยืนปิดช่องว่าง และโจมตีด้วยจังหวะฉาบฉวยและลูกยาว เสริมด้วยแรงขับดันที่ต้องอับอายให้กับการพ่ายแพ้ต่อติกี้ตาก้ามาหลายครั้ง ความสำเร็จของมูริญโญ่ และเชลซี นำมาซึ่งการลอกแบบของทีมชั้นนำอื่นที่มีผู้เล่นระดับโลกและเต็มไปด้วยความกระหายอยากที่จะล้ม ติกี้ตาก้า   ผนวกกับแทคติคฟุตบอลที่เปลี่ยนไปซึ่ง บาเยิร์นมิวนิค(2012-2013) แสดงให้เห็นด้วยการ กดดันและปิดพื้นที่ด้วยผู้เล่นทุกคน ทำให้ ตำนานของ ติกี้ตาก้า จบลงแทบจะสิ้นเชิง
           ปรัชญาการเล่นแบบติกี้ตาก้า อาศัยการเคลื่อนที่ตลอดเวลาทั้งในยามครองบอล และแย่งบอลกลับมา จึงต้องพึ่งพาสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พร้อม สมาธิในเกมส์ และความกระหายอยากได้บอล   ซึ่งจิตวิญญาณเหล่านี้เสื่อมลงไปตาม ไฟในใจที่มอดไปตามความสำเร็จที่อิ่มตัว และร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปด้วยความแก่ และสภาพร่างกายที่บอบช้ำหลังกรำศึกหนักมานานปี
           ซ้ำร้ายเมื่อทีมชาติสเปนต้องมาเล่นในสมรภูมิที่อากาศร้อนชื้น จึงทำให้ความ “กรอบ” ของผู้เล่นสะท้อนออกมาเป็นความอ่อนล้าตลอดเก้าสิบนาที และถ้าเป็นคนศึกษาประวัติศาสตร์สงครามความพ่ายแพ้ของกองทัพสเปนในดินแดนแห่งป่าอะเมซอน ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นตราบาปฝังในใจลึกๆ ของคนสเปน   (สเปนเคยพยายามยึดครองพื้นที่แถบนี้แต่ไม่สำเร็จ โปรตุเกสทำสำเร็จด้วยนโยบายกึ่งบรรณาการเอาใจคนท้องถิ่น ก่อนที่โป๊ปจะเป็นผู้ลากเส้นแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างสองชาติ)
เส้นทางสู่ยุครุ่งเรืองทีมชาติสเปน
           ชาติ ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู หรูหรา จนกลายเป็นฟองสบู่ฟุ่มเฟือยพร้อมจะแตกโพละออกมาในภายหลัง   ฟุตบอล คือ ศูนย์รวมจิตใจ คนสเปนทั้งชาติ   เพราะสามารถสานต่อความสำเร็จของสโมสรประจำเมืองต่างๆ ให้กลายเป็นความสำเร็จระดับชาติได้สำเร็จ  จนดูเหมือนว่า คนในราชอาณาจักรสเปนรักใคร่กลมเกลียวเป็นหนึ่งใจเดียวกัน     เทียบเคียงได้กับ กุศโลบายของ เนลสัน แมนเดล่า ในการใช้กีฬาสมานความแตกร้าวภายในชาติ ความสำเร็จของทีมรักบี้อัฟริกาใต้ก็สร้างความกลมเกลียวในระยะหนึ่ง  
           ความสำเร็จในช่วง 6 ปีทอง เกิดจากอะไร?   หากจะหาปัจจัยส่งเสริมเห็นจะเป็น ความรุ่งเรืองของสโมสรบาร์เซโลน่า ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำแคว้นคาตาร์โลเนีย ที่เป็นสโมสรที่คนมาเชียร์กีฬาเป็นกิจกรรมประจำทุกสัปดาห์โดยแฝงปรัชญาของคนในแคว้น คือ ตัวตนคนคาตาร์ลัน ที่วันหนึ่งจะสร้างชาติให้เป็นอิสระจากการครอบงำของ เจ้าอาณานิคมมาดริด
สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า จึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับ ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในแนวทางสันติวิธี   พุดง่ายๆ คือ ภาวะสันติภาพร้อนที่รอวันปะทุ
           แต่เดิม ทีมชาติสเปนมักจะล้มเหลวในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ แม้สโมสรจะทำผลงานได้ดีมากในระดับนานาชาติ  เพราะในรอบคัดเลือกที่คู่แข่งต่ำชั้นกว่ามาก สเปนอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นระดับโลกบดขยี้ได้ง่ายๆ   แต่เมื่อเข้าทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ที่คู่แข่งสูสี  ความรักใคร่รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว แบบ All for one (Nation) ไม่บังเกิด
          ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ใช่แล้ว มันคือ ความเกลียดชังระหว่างนักเตะเมืองหลวง กับ เหล่าสตาร์ต่างแคว้น   ที่ทำให้แคมป์เก็บตัวสเปนระอุเสมอ
เคล็ดลับความสำเร็จ
           การจัดการความขัดแย้งภายในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการทีมต้องทำให้สำเร็จ ก่อนที่จะเปลี่ยน พลังของนักเตะ 11 คนให้กลายเป็น กองทัพมหาประลัยที่มีใจเป็นหนึ่งเดียวกัน   แต่อย่าเข้าใจผิด   มันไม่ใช่การบังคับให้ทุกคนทำอย่างเดียวเป็นหุ่นยนต์ทื่อๆ แต่เป็นการรีดเค้นความสามารถที่แตกต่างหลากหลายของผู้เล่นให้กลายเป็น อาวุธที่มีหลายคม สามารถทิ่มแทงศัตรูได้หลายทิศทางและหลากรูปแบบ
การจัดการความขัดแย้ง แต่คงความหลากหลายไว้ให้ได้ จึงเป็น เคล็ดลับสำคัญนั้น!!!
          ผู้จัดการทีมคนสำคัญ หลุยส์ อราโกญเยส ได้ตัดสินใจสิ่งสำคัญมากประการหนึ่ง นั่นคือการสลายขั้วทางการเมืองในทัพทีมชาติสเปน มิให้มีขั้วใดมีอำนาจข่มคนอื่นๆ จนต้องหดหัวสิ้นลาย ต้องกลายเป็นเบี้ยล่างของ นักเตะดังแห่ง รีลมาดริด 
          การลดอิทธิพลของเหล่าขุนพลทีมเมืองหลวงนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากได้ทำให้ นักเตะที่มาจากแคว้นอื่นๆ ได้มีบทบาทและเล่นตามความถนัดและเล่นเพื่อทีมมากขึ้น   มิใช่เล่นเพื่อมาดริด เล่นเพื่อเจ้าอาณานิคมสเปน แต่เล่นในฐานะทีมที่สมัครใจมาเล่นร่วมกัน   นั่นคือ การน้อมนำปรัชญา ฟุตบอลติกี้ตาก้า เข้ามาเป็นแนวหลักของทีม แล้วให้ผู้เล่นทุกคนวิ่งเล่นภายใต้ปรัชญานี้ร่วมกัน
          สิ่งที่ค้างคา และถือเป็นการตัดสินใจที่แหลมคมมาก คือ การตัดชื่อ ราอูล กอนซาเลส ออกจากทีมชาติสเปน   ซึ่งเป็นการปิดฉากอิทธิพลของ ราชันย์ชุดขาวเหนือทีมชาติสเปน
สูงสุดคืนสู่โกลาหล
            หลังจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของ โค้ชบิเซนเต้ เดล บอสเก้ ที่มีพื้นเพ จากรีลมาดริด ทำให้ผู้เล่นรีลมาดริด ขยับขยายเพิ่มอิทธิพลสูงขึ้นมา สูงขึ้นจนถึงปี 2014 ที่ความสำเร็จในระดับสโมสรทั้งในชาติและยุโรปอยู่ภายใต้อ้อมกอดของเมืองมาดริด  นี่คือ การหวนกลับมาของ ลัทธิเผด็จการรวมศูนย์อำนาจและความรุ่งเรื่องไว้ที่กรุงมาดริดอีกคำรบ
           หากย้อนอดีตไปเพื่อทำความเข้าใจฝันร้ายและความเจ็บปวดเก่าๆ ที่หลอกหลอนคนสเปนนอกเมืองหลวงมาดริด นั่นคือลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ ภายใต้การปกครองของจอมพลฟรังโก ซึ่งปกครองโดยการกดทับความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆที่กระจายอยู่ในดินแดนสเปนให้อยู่ภายใต้ท้อปบู้ธของกองทัพ
           นายพลฟรังโก นี่เองที่เป็นผู้สร้าง สโมสรเอสปันญ่อล (ชื่อเรียก สเปน ในภาษาสเปน) มาตรึงความผยองของบาร์เซโลน่า ไว้ถึงถิ่น   และการสนับสนุนสโมสร รีลมาดริดของราชวงศ์สเปนอย่างออกหน้าออกตา หลังมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายหลังยุคนายพลฟรังโก เพื่อสร้างสัญลักษณ์แนวโรแมนติคเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจคนทั้งชาติ แทนภาพลักษณ์โหดร้ายน่ากลัวของ ทหารและกองทัพ   นี่คือ การเมืองเชิงวัฒนธรรมที่แนบเนียนของฟุตบอลสโมสรที่มิใช่เพียง ความสนุกสนาน   แต่แฝงความหมายของการแข่งขันภายในประเทศเอาไว้ด้วย
            เมื่อต้องยกระดับ ฟุตบอลสโมสรมาสู่ ฟุตบอลระดับทีมชาติ ความเผ็ดร้อนของการแข่งขันภายในยังไม่มอดดับดีนัก ผลักให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างนักเตะในทีม  เป็นการแข่งขันแบบไม่ร่วมมือ บวกเข้ากับ อิทธิพลของนักเตะมาดริดในทีมชาติ ทำให้เกิดถาวะ   “การครองอำนาจนำของคนส่วนน้อย”  จนทำให้เกิด การไม่ให้ความร่วมมือของคนส่วนใหญ่   จึงไม่เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาตนเองบนพื้นฐานของความร่วมมือในทีม   พูดง่ายๆ ไม่มีทีมเวิร์ค มีแต่ความสามารถเฉพาะตัว
             การชิงดีชิงเด่น เล่นแบบตัวใครตัวมัน จะแสดงออกมาพอถึงคราววิกฤต คือ การไม่วิ่งเพื่อทีมนั่นเอง รวมไปถึงการประสานงานที่ย่ำแย่   และนี่คือ การทำลายปรัชญา ติกี้ตาก้า อย่างถึงแก่น
วิกฤตเศรษฐกิจ กับ การแบ่งแยกดินแดน
          อย่างที่ทราบว่า เศรษฐกิจสเปนกำลังล่ม มีคนว่างงานจำนวนมาก และมีความกังวลว่ารัฐบาลจะตัดงบประมาณด้านสวัสดิการลง ทำให้คนไม่มีความมั่นคงในชีวิต   สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คือ ทัศนคติในแง่ลบกระจายไปทั่วประเทศ
          คนเริ่มมองหาว่า ใครคือต้นเหตุ ความพังทลาย โดยการมองหาคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่ไร้ประโยชน์ คนที่เป็นตัวถ่วง ฯลฯ
           การเมืองระหว่างแคว้น ปรากฏการทะเลาะเรื่องใครพึ่งใคร ใครเป็นภาระใคร ใครรวยกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร จนทำให้แคว้นต่างๆ เริ่มรู้สึกว่า เมืองหลวงมาดริด คือ ตัวการสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น
         แคว้นที่มีความแปลกแยกทางเชื้อชาติอยู่แล้วจึงเรียกร้องให้ปล่อยคาตาโลเนียออกไปเป็นอิสระ และเกิดการประท้วงใหญ่ในแคว้นบาสก์สืบเนื่องจากการจับกุมสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ศูนย์รวมจิตใจอยู่ไหน ?
          อาจมีการเข้าใจผิดว่า ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก คือ สิ่งยึกเหนี่ยวสูงสุด  แต่ในความเป็นจริง สเปนก็อยุ่ในส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิด และแคว้นคาตาร์โลเนีย เมืองบาร์เซโลน่าก็เป็นเมืองหัวหอกของยุคแสวงสว่างทางปัญญา ด้วยเหตุที่เป็นเมืองท่า ที่มีชนชั้นกลางกระฎุมพี พ่อค้า และนักวิทยาศาสตร์ ช่างฝีมือ รวมถึงศิลปินดังอยู่มากมาย เช่น ปิกัสโซ่ จนถึง อันโตนี เกาดี้     
           สอดคล้องกับสิ่งที่ เฟเดอริก นิชเช่ กล่าวไว้ คือ พระเจ้าตายไปนานแล้ว สำหรับคนจำนวนมาก และยิ่งมากในหมู่คนคาตาร์ลัน   สิ่งที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากกว่า คือ ชาติพันธุ์ความเป็นคนชาติคาตาร์ลัน ซึ่งมีภารกิจแห่งชีวิต คือ การประกาศเอกราช
            นอกจากนี้ ศูนย์รวมจิตใจในลักษณะของสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่มีผลมากนักกับคนในหลายพื้นที่   เมื่อบวกรวมการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์   ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความนิยมต่อราชวงศ์เสื่อมถอย   กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส จึงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ จนเกิดกระแสขอให้มีการทำประชามติเพื่อนำระบอบสาธารณรัฐกลับคืนมา
           ซ้ำด้วยคดีอื้อฉาวของการล่าสัตว์และฟุ่มเฟือยของราชวงศ์  จนมาถึงเจ้าชายที่ถูกมองว่าเป็นลูกคนรวยที่ประชาชนต้องปันภาษีมาหล่อเลี้ยง   เรื่อยมาถึงราชบุตรเขยที่พัวพันกับคดีหลบเลี่ยงภาษีและการทำธุรกิจสีเทา จนเจ้าหญิงต้องกลายเป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่ต้องขึ้นให้การในศาล    แสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์มิใช่ศูนย์รวมจิตใจอีกต่อไป
            สังคม "อณู"  ที่ทุกคนเป็นปัจเจก  มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง มีการใช้ชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นนัก จึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผจญภัยในต่างแดน เพื่อหลีกหนีจาก การว่างงานที่ลุกลามใหญ่โตมากเรื่อยๆ
           สโมสรฟุตบอลจึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญมาก เนื่องจากฟุตบอลในสเปนมิใช่กีฬาของชนชั้นแรงงาน แต่เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับชีวิตของคนหลายชนชั้น    และลักษณะสำคัญของสโมสรฟุตบอล คือ สัญลักษณ์ทางการเมืองวัฒนธรรมของชาติพันธุ์   ในโลกที่ คนไร้จุดเกาะเกี่ยว ไม่มีสถาบันใดให้ยึดเหนี่ยว สโมสรฟุตบอลจึงสำคัญมาก
           สองสามปีหลัง ลัทธิสโมสรนิยม ท้องถิ่นนิยม จึงมาแรง และเริ่มแซงลัทธิชาตินิยม หรือทีมชาตินิยมไปอีกครั้ง   หลังจากเข้ายุคทองมาไม่ถึง ทศวรรษ
ความพยายามในการรักษาความรุ่งเรือง
           ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในปี ค.ศ.1978  ยอมรับตัวตนที่หลากหลายของคนมากมายในดินแดนสเปน   โดยสลายการผูกขาดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาดริดลง  แล้วส่งเสริมความร่วมมือบนความเสมอภาคมากขึ้น   สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การปกครองส่วนท้องถิ่น
          การเมืองการปกครองแบบปกครองตนเองในแต่ละแคว้น   ซึ่งมีการปล่อยให้ 17 แคว้น 2 เขตปกครอง มีอำนาจในการปกครองตนเอง มีอำนาจในการตัดสินอนาคตหลายๆเรื่องได้ด้วยตนเอง  มีความสามารถในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นและจัดสรรทรัพยากรได้เอง   มีเพียงนโยบายสำคัญๆที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น การต่างประเทศ การทหาร และการคลังสาธารณะระดับชาติ ภายใต้รัฐธรรมนูญ
           จุดเปลี่ยนนี้แสดงให้เห็น การย้ายความสำคัญจากการผูกขาดอำนาจไว้ที่จอมพลเผด็จการ และเมืองหลวง ไปสู่การออกแบบเลือกระบบ ก่อน บุคคลสำคัญ   การปกครองภายใต้ปรัชญาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและยอมรับความหลากหลายภายใต้กติกา รัฐธรรมนูญ  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นำสเปน ออกจากความขัดแย้งแบบสงครามกลางเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน
         เมื่อเทียบกับการทำฟุตบอลทีมชาติ การยอมให้ ระบบติกี้ตาก้าของบาร์เซโลน่า เป็นแนวทางหลัก และให้นักเตะบาร์เซโลน่ามีตัวตนในทีมชาติ สามารถปลดปล่อยความสามารถในเชิงลูกหนังได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ให้พัฒนาไปสู่จุดสูงสุด นั่นเอง
           การลดภาวะนำของมาดริด จึงเป็น การยอมรับบทบาทของผู้เล่นจากแคว้นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้ง บาสก์ บาเลนเซีย อัลดาลูเชีย ฯลฯ ส่วน ผู้เล่นจากมาดริด ก็กลายเป็นส่วนผสม มิใช่เจ้าอาณานิคมที่กดขี่ผู้อื่นในชาติอีกต่อไป
สโมสรบาร์เซโลน่า แก่งกลางของความเปลี่ยนแปลง
          ทีมสโมสรบาร์เซโลน่าประสบกับภาวะถดถอยหลังจากการพ่ายแพ้ให้แก่ อินเตอร์มิลาน และเชลซี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่น และตัวผู้จัดการทีม   แต่บุคลิกลักษณะเดิม แบบคนรักอิสระแบบเมืองชายหาดก็ยังมี คือ การให้อิสระผู้เล่นร่ายลีลาดุจศิลปินเช่นเคย
แต่สิ่งที่ปรากฏชัด คือ ความถดถอยของตัวท้องถิ่นที่เริ่มกลายเป็นตัวรอง
แนวรับที่สะบักสะบอม - ปิเก้ อัลบ้า และเกษียณอายุ บัลเดส ปูโยล
แดนกลางที่ถดถอย - อิเนียสต้า ชาบี เอร์นานเดส เชส ฟาเบรกาส
ดาวรุ่งที่ขาดแรงกระตุ้น - บุสเก็ตส์ เปโดร
ดาวเตะคาร์ตาโลเนี่ยน จึงเป็นได้เพียงผู้แพ้ที่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวในระดับทีมชาติ
ส่วนดาวดังต่างชาติผู้ล้มเหลวในระดับสโมสร เกิดแรงผลักดันสู่เกมส์ระดับชาติ เพื่อพิสูจน์เองในเวทีโลก
หลักฐานความสำเร็จของตัวซุปเปอร์สตาร์ต่างชาติ
อเล็กซิส ซานเชส ที่นำชิลีผ่านเข้าสู่รอบสอง และสกัดฝันของสเปน
เนย์มาร์ อัลเวส ผู้แบกความหวังของคนทั้งชาติ ที่จะต้องนำชาติเจ้าภาพบราซิลกลับมาเป็นแชมป์โลกบนแผ่นดินเกิด จนระเบิดฟอร์มกลายเป็นตัวสำคัญสูงสุดของทีม
เมสซี่ มาสเคราโน่ คือแก่นของทีมชาติอาร์เจนติน่าทั้งในเกมส์รุกและเกมส์รับ
หัวเลี้ยวหัวต่อของราชอาณาจักรสเปน โฉมหน้าของทีมชาติสเปนหลังยุคทอง
           อย่างที่ทราบกันในวงกาลฟุตบอลว่า ทางบอลของ ฮอลแลนด์ กับ บาร์เซโลน่า นั้นเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นเมืองท่า แหล่งรวมพ่อค้า และอาร์ติสท์ เหมือนกัน 
          โยฮัน คลัฟฟ์ วีรบุรุษของฮอลแลนด์และบาร์เซโลน่า คือ นักเตะคนแรกที่เจรจากับสโมสรโดยมีนายหน้า นี่คือ หลักฐานยืนยันลัทธิเสรีนิยมใหม่ ของเมืองท่าที่ใช้ความสัมพันธ์ทางกฎหมายเป็นเครื่องมือยืนยัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  จนสโมสรบาร์เซโลน่าเป็นตัวแทนความเฟื่องฟูของสโมสรกีฬาอาชีพแห่งทวีปยุโรป
          บุคลิกของเมืองท่าพาณิชย์สำคัญนั้นสะท้อนออกมาเป็น ความกล้าเสี่ยงรุก ลงทุนแบบเจ้าบุญทุ่ม และพลิ้วไหวสร้างสรรค์   การชนะอย่างมีสไตลส์จึงกลายเป็นปรัชญาหลักของทั้งสองทีม 
         เนื่องจาก อัมสเตอร์ดัม/ฮอลแลนด์ กับ บาร์เซโลน่า/คาตาร์โลเนีย คือ สองเมืองท่าสำคัญของยุโรปที่ติดต่อระหว่างยุโรป เหนือ-ใต้
         อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของสเปนที่มีบาร์เซโลน่า   ได้ทำให้ ฮอลแลนด์ละทิ้งปรัชญาเดิมไปแล้ว นับแต่ ฟุตบอลโลกครั้งก่อนนี่เน้นความแน่นอน และพยายามเอาความดิบเถื่อนมาสกัดความร้อนแรงของสเปน   แต่ก็โดนดับฝันโดย อิเนียสต้า แห่งบาร์เซโลน่า
อย่างไรก็ดี ฮอลแลนด์ที่เก็บความแค้นมา 4 ปี พร้อมด้วยกุนซือที่ครั้งหนึ่งเคยกุมบังเหียนบาร์เซโลน่า ได้ก้าวเข้ามาสกัดจุดสเปนอย่างได้ผล  หลุยส์ ฟานฮัล พาทริค ไคลเวิร์ต แห่งบาร์ซ่า และ รอบเบนกับสไนเดอร์ แห่งรีลมาดริด คือส่วนผสม ที่นำมาล้มสเปนได้สำเร็จ   เช่นเดียวกับ ชิลี ที่มี อเล็กซิส ซานเชส เป็นตัวความหวังสูงสุดอยู่ในทีม

การมาบอลโลกด้วยความสำเร็จของทีมเมืองหลวง
         เจ้าอาณานิคมในดินแดนสเปนที่ชื่อ กรุงมาดริด ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปีนี้   รีลมาดริดเป็นสโมสรอันเกรียงไกร ยิ่งใหญ่สไตลส์เจ้าอาณานิคม ไม่ต่างอะไรจากสโมสรใหญ่ในอังกฤษ
          การรวมสุดยอดนักเตะโลกในหนึ่งทีม เสมือนการเอามนุษย์ต่างดาวมารวมกันทั้งกาแล็คซี่ คือสิ่งที่เป็นปัจจัยความสำเร็จ   แต่ความสำเร็จที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว   ได้เหยียบซ่อนปัญหาต่างๆไว้
          คนชาติที่ตกเป็นตัวสำรอง และฟอร์มตก เช่น ผู้รักษาประตู อิเคร์ กาซิยาส  ผู้มากบารมี   ส่วนหัวใจของทีมอย่าง ชาบี อลองโซ ก็กรำศึกหนัก และบาดเจ็บเรื้อรัง จากปริมาณศึกถี่ยิบต่อเนื่องหลายปี  แต่ที่เป็นปัญหาสูงสุด ก็คือ เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมจอมอหังการ์ ที่สูญเสียวินัยเกมส์รับ และทำลายทีมสปิริตด้วยแนวทาง ผู้นำสูงสุดแห่งกองทัพเจ้าอาณานิคม ที่ค่อยๆเพิ่มอิทธิพล จนข่มคนอื่นมิดในทีมชาติ
         ส่วนแอตเลติโก มาดริด เจ้าของแชมป์ลีกปีนี้ ทำได้ดีที่สุด คือ ส่งกองหน้าเชื้อสายบราซิลที่เรียกเสียงโห่ และเล่นไม่เข้ากับระบบติกี้ตาก้า เอาเสียเลย   โกเก้ ฆวนฟราน ก็มีส่วนไม่มากนักในทีมชาติทั้งที่ฟอร์มพรวดพราดในระดับสโมสร
อนาคตของทีมชาติสเปน
         สเปนล้มเหลว ก็เพราะการเพิ่มอิทธิพลของผู้เล่นจากทีมเมืองหลวง ทำให้รอยร้าวในทีมกลับมาอีกหน  สิ่งที่ หลุยส์ อราโกญเยส ทำให้สเปนขึ้นเป็นแชมป์ยุโรปสมัยแรกได้ คือ การตัด ราอูล กอนซาเลส ออกจากทีม  ทำให้การปะทะระหว่างพวกมาดริดกับแคว้นอื่นจบลง จนทำให้ผู้เล่นทุกคนรวมเป็นหนึ่งเดียว  เพราะ เมื่อไหร่ให้คนส่วนน้อยมีอิทธิพลเหนือคนส่วนใหญ่ เมื่อนั้นเกิดการไม่ให้ความร่วมมือ เพราะจะแตกสามัคคี และมีคนเมินเฉยเยอะ คนกระตือรือร้นน้อย
         เรื่องการจัดการความหลากหลายด้วยเสียงข้างมาก มันก็สำคัญอย่างนี้ล่ะนะ เพราะทีมบอลมันแค่ 11 คนแล้วแยกกันอยู่แยกกันเล่นไม่ได้ ต่างจากการปกครองประเทศ ที่สามารถแยกกันอยู่ แต่ละพื้นที่ปกครองตนเองได้เป็นแคว้นๆ กันไป ไม่ต้องมาสุงสิงกันมากนัก
           ดังนั้นการสลายความขัดแย้ง ยืนยันการเคารพต่อความหลากหลาย ด้วยการประสานงานกันจึงสำคัญ ไม่งั้นก็ทะเลาะกันเองไปเรื่อยๆ
อนาคตของสังคมอื่น

          โลกได้ผ่านพ้นยุคอาณานิคมทางการทหารมานานแล้ว การกดหัวให้คนยอมรับอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นการกดทับ ปิดกั้นความสามารถที่แตกต่างหลากหลายของผู้คนที่มีความสามารถต่างกัน    การบริหารจัดการมนุษย์จึงต้องให้การยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นคนบนพื้นฐานความเสมอภาค แม้จะมีความแตกต่างกันมากเพียงไร   เพราะการให้โอกาสแสดงความสามารถอย่างเสรีจะกระตุ้นให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ผู้นำจึงต้องสร้างความปรองดองให้คนในทีมทำงานร่วมกันได้ด้วยการจัดมาตรการต่างๆเพื่อสร้างภราดรภาพระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายและอาจเคยมีความขัดแย้งกันมาก่อน   เพื่อสลายเงื่อนไขความเจ็บแค้นที่ดักถ่วงการประสานงานระหว่างคนในชาติ

82 ปีคณะราษฎร



ในที่สุด โอกาสครอบรอบ 82 ปีประชาธิปไตยไทยก็ได้เวียนมาถึงอีกครั้ง ในบรรยากาศที่เหลือเชื่อจนผู้ก่อการคณะราษฎรไม่มีทางที่จะสร้างจินตนาการล่วงหน้าได้ว่า ประชาธิปไตยจะมีการพัฒนาลดเลี้ยวอย่างนี้ ในโอกาสนี้ก็อยากจะทบทวนเล่าถึงคณะราษฎร ซึ่งเป็นกองหน้าที่นำประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย แม้ว่าจะถูกฝ่ายขุนศึกและพวกอนุรักษ์นิยมสลิ่มทำลายเสียมากมายก็ตาม

คณะราษฎรเริ่มต้นโดยนักเรียนไทยในปารีส 2 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และ นายประยูร ภมรมนตรี นักเรียนทุนส่วนตัวที่ไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ ทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องปัญหาการเมืองของประแทศสยามเสมอ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมของ พ.ศ.2467 ทั้งสองคนไปกินอาหารที่ร้านอังรีมาร์แตง นายประยูรจึงชักชวนนายปรีดีว่า “เราได้พูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือเสียที” นายปรีดีก็ตอบตกลง แต่ต่อมาอีก 2-3 วันนายปรีดีเกิดความไม่แน่ใจ เพราะคุณประยูรเป็นนายทหารมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 มาก่อน อาจะเป็นสายลับมาลวงล่อ จึงมาถามคุณประยูรว่าที่คุยกันไว้จะเอาจริงหรือ คุณประยูรก็ยืนยัน เพราะเห็นว่าบ้านเมืองควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเช่นอารยประเทศ และถือเป็นการแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์

คนที่สามที่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นายทหารปืนใหญ่ ที่ได้มาศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่เพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส จากนั้น ก็ได้ชักชวนกันจนได้สมาชิก 7 คนแรก จึงได้มีการเปิดประชุมที่บ้านของนายประยูร เลขที่ 5 ถนนซอมแมราด(Rue de Sommerad)ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 (ตามปฏิทินเก่า ซึ่งจะขึ้นปีใหม่ที่ 1 เมษายน) คนอื่นที่ร่วมประชุมอีก 4 คน ก็ได้แก่ หลวงศิริราชไมตรี(จรูญ สิงหเสนี) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม และ นายแนบ พหลโยธิน ได้มีการกำหนดชื่อเรียกคณะก่อการนี้ว่า คณะราษฎร กำหนดให้เป็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ

เหตุผลอย่างหนึ่งที่นำมาสู่การคิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมาจากความรู้สึกชาตินิยมแบบชนชั้นกลางที่เริ่มก่อตัวขึ้น ในภาวะที่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่เคยครอบโลกในระยะก่อนหน้านี้ เสื่อมอิทธิพลลงเพราะสงครามโลกครั้งแรก ปัญญาชนในดินแดนอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมเช่นประเทศสยาม ได้เห็นความเพลี่ยงพล้ำของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสต่อกองทัพเยอรมนี เห็นการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เห็นการเติบโตของมหาอำนาจใหม่เช่น สหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ภายใต้สถานการณ์อันเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงเห็นกันว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นเรื่องล้าหลัง ไม่อาจแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ และเมื่อเห็นประเทศประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า เช่น สวิตเซอร์แลนด์ จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศสยามให้ก้าวหน้ามากขึ้น

จากนั้น คณะราษฎรก็ได้ชักชวนนักเรียนนอกอีกหลายคนมาเข้าร่วม เช่น ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ทวี บุณยเกตุ ประจวบ บุนนาค บรรจง ศรีจรูญ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ต่อมาเมื่อคนเหล่านี้ กลับมาประเทศไทย ก็ได้ชวนเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่งเข้าร่วมขบวนการ เช่น ร.ท.แปลก ซึ่งได้เลื่อนเป็น หลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ชวน หลวงอดุลเดชจรัส(บัตร พึ่งพระคุณ) หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) และ หลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเข้าร่วมในคณะราษฎร ส่วน ร.ท.สินธุ์ ซึ่งเลื่อนเป็น หลวงสินธุสงครามชัย ก็ได้ชักชวน ร.อ.สงวน รุจิราภา หลวงนาวาวิจิตร(ผัน อำไพวัลย์) หลวงศุภชลาศัย(บุง ศุภชลาศัย) และ หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) เป็นต้น การขยายสมาชิกของคณะราษฎรเป็นไปได้ช้า ต้องเริ่มจากผู้ที่ร่วมความคิดและไว้ใจกันได้ เพราะเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายมาก ถ้าหากข่าวรั่วไหลอาจจะถูกลงโทษขั้นกบฏ ซึ่งจะรุนแรงมาก

จนถึง พ.ศ.2474 คณะราษฎรก็ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะสามารถทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ จนกระทั่ง นายประยูร สามารถชักชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 4 คนเข้าร่วม คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช(เทพ พันธุมเสน) พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์(สละ เอมะศิริ) และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ(วัน ชูถิ่น) เข้าร่วม ที่น่าสังเกตคือ พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช และ พระประศาสน์ฯ ก็เป็นนักเรียนนอก เรียนวิชาทหารมาจากเยอรมนีตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลก เมื่อชักชวนกันได้เช่นนี้ จึงได้เสนอให้ พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดช เป็นรองหัวหน้า แต่ก็เป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ

เนื่องจากคณะราษฎรต้องอาศัยการดำเนินงานแบบองค์กรลับ ไม่สามารถที่จะชักชวนทหารจำนวนมาก หรือระดมมวลชนเข้าร่วมสนับสนุน ต้องอาศัยกำลังที่มีจำนวนน้อยไปก่อการ พระยาทรงสุรเดชจึงวางแผนลวงให้ทหารมาประชุมกัน แล้วใช้กำลังทหารนั้นเองยึดอำนาจ ที่ประชุมคณะราษฎรได้เลือกวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันลงมือก่อการเพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร แต่ไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ซึ่งจะเป็นลดการต้านทานจากทหารรักษาพระองค์

เช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน นายทหารฝ่ายคณะราษฎรได้ลวงกองทหารส่วนใหญ่ในพระนคร มาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในข้ออ้างให้มาดูการซ้อมรบตามยุทธวิธีใหม่ โดยมีฝ่ายทหารเรือ และนักเรียนนายร้อย ล้อมอยู่ด้านนอก ได้กำหนดรหัสติดต่อระหว่างผู้ก่อการคือ ถ้าถามว่า“ดาว” ให้ตอบว่า“หาง” หมายถึงเป็นฝ่ายเดียวกัน สำหรับฝ่ายพลเรือนให้ดำเนินการตัดโทรศัพท์เพื่อควบคุมการติดต่อภายในพระนคร และให้ไปลาดตระเวนจับตาตามบ้านของเจ้านายและนายทหารคนสำคัญ

เวลาหลัง 6 โมงเช้าเมื่อกองทหารส่วนใหญ่มาประชุมกันพร้อมแล้ว พระยาทรงสุรเดช ก็เข้าควบคุมการบัญชาการทหาร และให้พระยาพหลฯออกไปยืนหน้าทหารแล้วอ่านคำแถลงการณ์ยึดอำนาจ เมื่ออ่านเสร็จก็ให้ทหารทั้งหมดเปล่งเสียไชโยพร้อมกัน จากนั้นคณะทหารก็เข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการ แล้วจัดกำลังไปควบคุมบุคคลสำคัญมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม การยึดอำนาจในพระนครเสร็จเรียบร้อยในวันนั้น

เวลาเย็นวันที่ 24 มิถุนายน คณะราษฎรก็ได้มอบหมายให้ น.ต.หลวงศุภชลาศัย นำเรือหลวงสุโขทัย ไปยื่นคำขาดต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่พระราชวังไกลกังวล หลวงศุภชลาศัยนำเรือไปถึงหัวหินเวลาค่ำ จึงตัดสินใจนำคำขาดของคณะราษฎรไปยื่นต่อพระเจ้าอยู่หัวในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้รับหนังสือของคณะราษฎรที่ทูลเชิญพระองค์ให้เป็นกษัตริย์”ใต้”รัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ตัดสินใจตอบรับที่จะเป็นพระมหากษัตริย์”ตาม”รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงลุล่วงไปได้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตย และถ้ามองด้วนกรอบของชาตินิยม 24 มิถุนายน ก็คือจุดเปลี่ยนจาก”สยามระบอบเก่า” มาเป็น”ไทยระบอบใหม่”

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2482 วันที่ 24 มิถุนายน ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติของประเทศไทย และมีการแต่งเพลงสำหรับวันชาติที่ขึ้นต้นว่า

“ยี่สิบสี่มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา รยประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์”
เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 469 วันที่ 21 มิถุนายน 2557

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องปล่อยตัว 'กริชสุดา คุณะเสน' ทันที ชี้คุมตัวเกิน กม.กำหนดแล้ว



21 พ.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางสาวกริชสุดา คุณะแสนในทันที ชี้ควบคุมตัวไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว พร้อมเรียกร้องให้มีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัวของผู้ไปรายงานตัว และผู้ถูกกักตัวทุกราย และให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ในทันที และตลอดช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส ลดความห่วงกังวล และเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
รายละเอียด มีดังนี้

แถลงการณ์ ขอให้ปล่อยตัวนางสาวกริชสุดา คุณะแสนในทันที
เผยแพร่วันที่ 21 พฤษภาคม 2557
ตามที่ปรากฏว่า น.ส. กริชสุดา คุณะแสน ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 จากจังหวัดชลบุรีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร โดยระหว่างการควบคุมตัวไม่มีบุคคลใดสามารถติดต่อน.ส.กริชสุดาได้และไม่ทราบว่า น.ส. กริชสุดา ควบคุมตัวอยู่ที่ใด ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีการเรียกนางสาวกริชสุดา ให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 68/2557 ทั้งที่ยังไม่ปรากฏว่ามีการปล่อยตัว น.ส.กริชสุดา และยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้ออกมายอมรับว่ามีการควบคุมตัว น.ส. กริชสุดา จริงนั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความกังวลและเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การควบคุมตัว น.ส. กริชสุดา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 24 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น เกินกว่าระยะเวลาตามมาตรา 15 ทวิ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2447 ซึ่งให้อำนาจกักตัวบุคคลไว้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 7 วัน ดังนั้น การควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมาจึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ น.ส. กริชสุดา ยังคงอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรียก น.ส.กริชสุดา ไปรายงานตัวในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 จึงเป็นการซ้ำซ้อน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับกับ น.ส.กริชสุดา ได้อีก เจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจใดๆ ในการควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาอีกต่อไป
แม้การควบคุมตัวดังกล่าวจะอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เมื่อฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวหรือหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคล ย่อมมีความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยไม่อาจปฏิเสธได้ตามกฎหมาย และบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าวต้องได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
2. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต การซ้อมทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย มักเกิดขึ้นในภาวะที่บุคคลถูกทำให้สูญเสียอิสรภาพ ดังนั้น แม้เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก หลักการสิทธิมนุษยชนสากลจึงกำหนดให้ยังต้องคงไว้ซึ่งหลักประกันขั้นพื้นฐานที่สุดเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว กล่าวคือ กล่าวคือ สถานที่ควบคุมตัวจะต้องเป็นสถานที่เปิดเผย ห้ามการควบคุมตัวในสถานที่ลับ และรัฐต้องแจ้งการควบคุมตัวและให้ญาติสามารถเยี่ยมได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า คสช. กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว น.ส. กริชสุดา ทั้งยังไม่อนุญาตให้พบทนายความ และไม่ปรากฎว่าได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือมีบุคคลอื่นใดสามารถติดต่อ น.ส.กริชสุดา ได้แต่อย่างใด และไม่มีความชัดเจนว่า น.ส. กริชสุดา จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใดแม้จะควบคุมตัวเกิน 7 วันตามที่กฎอัยการศึกอนุญาตแล้วก็ตาม
ภาวการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของ น.ส. กริชสุดา เนื่องจากการควบคุมตัวในสถานที่ลับโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา (secret and indefinite detention) นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ยังสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการทรมานอันเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการกำหนดการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว
3. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส. กริชสุดา ไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับยังควบคุมตัว น.ส.กริชสุดา ต่อไปโดยไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ ทั้งยังไม่มีการนำตัว น.ส. กริชสุดา มาส่งยัง พนง.สอบสวน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว น.ส. กริชสุดาฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดต่อพันธกรณีของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ซึ่งรับรองว่าบุคคลมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายและจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ และในขณะจับกุมต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุมและต้องได้รับแจ้งข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ปล่อยตัว น.ส. กริชสุดา คุณะแสน โดยทันที พร้อมทั้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวเกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำได้
2.แจ้งสถานที่ควบคุมตัวของผู้ไปรายงานตัว และผู้ถูกกักตัวทุกราย พร้อมทั้งให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ในทันที และตลอดช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส ลดความห่วงกังวล และเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 


สุขุมพันธ์ หลุดแล้วจ๊า



 ดีเอสไอยุติการสอบ "บางกอกอารีนา" ไม่พบความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
เลขานุการผู้ว่า กทม. เผยผลสอบโครงการสนามฟุตซอล ที่หนองจอก ดีเอสไอระบุไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอว่าการก่อสร้างสนามฟุตซอลสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และธีระชน มโนมัย พิบูลย์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
21 มิ.ย. 2557 - มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ว่านายสัญญา จันทรัตน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง ผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตบอล Futsal Stadium หรือบางกอกอารีนา ของกรุงเทพมหานคร จากกรณีที่มีการร้องเรียนโครงการดังกล่าวไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)แจ้งว่า
"จากการสืบสวนยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะชี้ว่า การดำเนินการจัดจ้างบริษัท อี เอ็ม ซี จำกัด (มหาชน) ในโครงการก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium และการใช้งบประมาณการก่อสร้างอาคาร Futsal Stadium ของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ของอดีต ผู้ว่ากทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก มีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ดังนั้น จึงได้ยุติเรื่องดังกล่าว"
สนามฟุตซอล บางกอกอารีนา ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ช่วงการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก (ที่มา: วิกิพีเดีย)
จากข้อมูลใน วิกิพีเดีย ระบุว่า สำหรับสนามกีฬาบางกอก อารีนา อยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2555 ทั้งนี้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลเพื่อใช้เป็นสนามหลักในการแข่งขัน พร้อมทั้งการจัดพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีมติให้กรุงเทพมหานครที่มีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าราชการ รับผิดชอบโครงการด้วยวงเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) เพื่อเริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตามมีเวลาก่อสร้างจำกัด โดยมีการเร่งก่อสร้างให้เสร็จภายใน 250 วัน จากเวลาปกติ 500 วัน
นอกจากนี้ในวันที่ 5 ต.ค. ฟีฟ่าประกาศเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดการแข่งขัน โดยให้ย้ายการแข่งขันในช่วงแรก ไปจัดที่อินดอร์ สเตเดียม ภายในสนามกีฬาหัวหมากแทน และเริ่มการแข่งขันที่บางกอกฟุตซอลอารีนาเป็นครั้งแรก ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน จนถึงนัดชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ตามสนามยังก่อสร้างไม่เสร็จ ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ขณะที่การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 กำลังแข่งขันเป็นวันสุดท้ายของนัดที่สอง คณะกรรมการฟุตซอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้ยกเลิกการใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีนาอย่างเป็นทางการ เป็นผลให้ฟีฟ่าต้องย้ายสถานที่แข่งขันตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศ เปลี่ยนไปใช้อาคารกีฬานิมิบุตร กรีฑาสถานแห่งชาติ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ และอินดอร์ สเตเดียม สนามกีฬาหัวหมาก ในรอบรองชนะเลิศ กับนัดชิงชนะเลิศตามลำดับ
ทั้งนี้ฟีฟ่าสาเหตุที่เลิกใช้สนามว่า ในการก่อสร้าง มีการเร่งการก่อสร้างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีการใช้เหล็กแทนสายเคเบิลเพื่อรับแรงดึง ใช้คอนกรีตซึ่งหล่อสำเร็จรูปมาแล้ว แทนการหล่อคอนกรีตขึ้นภายในสถานที่ก่อสร้าง ตลอดจนปฏิบัติงานหลายอย่างในบริเวณเดียวกันไปพร้อมกันเพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด เป็นผลให้การก่อสร้างสนามไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด


หัวหน้า คสช.ชี้ปัญหา 10 ปีแก้ไข 10 วันเป็นไปไม่ได้-ย้ำที่ทำอยู่ไม่ใช่ประชานิยม



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ชี้แจงแรงงานข้ามชาติกลับประเทศเป็นเพราะ จนท.ทุจริตปล่อยข่าวให้เกิดความกลัว มุ่งให้ร้าย คสช. - โดย คสช.จะทบทวนค่าใช้จ่ายเข้ามาทำงานเมืองไทยให้เหมาะสม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ - ย้ำไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อที่นั่ง สนช. เพราะตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา - พร้อมขอบคุณเสียงติเสียงชม ย้ำแม้เป็นทหารแต่ก็มีหัวใจ จะนำพาประเทศไปด้วยความจริงใจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
มื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557 เวลา 20.20 น.มีรายละเอียดดังนี้
000
สวัสดีพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน วันนี้มาพบกันอีกครั้ง ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณทุกๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกันกับประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย และนำพาความสุขคืนสู่ประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของชาติ อาทิ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ปัญหาการกวาดล้างจับกุมอาวุธสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพล การพนัน อาชญากรรม การกระทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งมีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ คสช.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการช่วยกันดำเนินการให้เกิดบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ โดยผ่านกิจกรรมคืนความสุขสู่ประชาชนของ คสช.ในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คสช. ได้เน้นย้ำมาตรการต่างๆ ในการดำเนินงานในทุกๆ เรื่องของรัฐ จะต้องมีการสื่อสารกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน โดยการรับฟังเสียงของประชาชน ต้องตอบคำถามทุกๆ คำถามที่เป็นข้อสงสัยเคลือบแคลงใจ และร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับประชาชน ประชาชนต้องรับรู้ถึงแนวทางในการดำเนินงาน การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวอาจจะเป็น 5 - 10 ปี ในวันข้างหน้า เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และมีความคาดหวังที่ตรงกัน จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ในทุกมิติ โครงการที่สำคัญจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การทำประชาพิจารณ์ทุกโครงการจะต้องไม่เร่งรีบหรือกีดกันการรับรู้ของประชาชน โดยดูแลประชาชนทุกคนในชาติทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ในส่วนของการดำเนินการอื่นๆ นั้น ได้แก่ ลดช่องว่างในเรื่องรายได้ของคนในสังคม สร้างค่านิยมในเรื่องการพึ่งพาตนเอง ความมีวินัย รู้จักหน้าที่ ด้วยการทำงานหนัก และการไม่หวังพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องช่วยกันสร้างสังคมที่เอื้ออาทร มีการแบ่งปัน การให้โอกาสกับผู้มีรายได้น้อย คนมีรายได้มากจำเป็นต้องดูแลคนมีรายได้น้อย คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ทั้งนี้ โดยใช้หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความรู้และคุณธรรมที่ผมได้กล่าวไปแล้วนั้น ในส่วนของความมั่นคง
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวนอกระบบ ผิดกฎหมาย มีการเสนอข่าวถึงการไล่จับกุมแรงงานต่างด้าว และมีการใช้อาวุธต่อแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นเกิดความตื่นตระหนกและเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ปัญหาในเรื่องนี้ เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานเป็นเวลาหลายปี และเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย รวมทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว โดยข้อเท็จจริงนั้นผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถจ้างแรงงานภายในประเทศได้เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงถึงวันละ 300 บาท ต่อคน ต่อวัน ประกอบกับแรงงานไทยไม่นิยมในการทำงานที่ใช้แรงงานมากนัก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว แรงงานนอกระบบ แรงงานผิดกฎหมายที่มีอัตราจ้างที่ถูกกว่า จนทำให้เกิดกระบวนการลักลอบนำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาค้าแรงงานในประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ดังนั้น คสช. จำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดระเบียบเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ดูแลสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นกับแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือนายจ้างเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ตลอดจนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือแม้กระทั่งการใช้แรงงานเด็ก
คสช. จะดำเนินการจัดระเบียบแรงงานเร่งด่วนปัจจุบันคือ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการกำจัดกลุ่มอิทธิพลที่ลักลอบนำพาแรงงานเถื่อน รีดไถ เรียกเก็บค่าคุ้มครอง เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งจากข้อมูลข่าวการนำพาแรงงานเข้าประเทศอาจจะถึงรายละ 2 หมื่นบาท ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน และเข้าสู่ในกระบวนการลักลอบนำพาแรงงานเข้ามาพื้นที่ตอนใน เมื่อเข้ามาในพื้นที่ตอนในแล้วต้องจ่ายให้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศเพิ่มเติมอีก ประมาณหัวละ 8,000 – 10,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ในการขึ้นทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำงานอยู่ถือเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบนบกและแรงงานในทะเล ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ แรงงานทาส แรงงานเด็ก ทำให้ส่งผลต่อปัญหาภาพลักษณ์ของไทยในเวทีต่างประเทศ ทำให้ไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานผิดกฎหมายที่ถูกกดขี่และหนีกลับประเทศก็จะมีกระบวนการลักลอบนำแรงงานเหล่านั้นเข้ามาทดแทนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล ยิ่งมีการกวดขันมากขึ้น โดยการบังคับใช้กฎหมาย โดยการใช้มาตรการอื่นๆ สนับสนุนเข้าไปนั้นจะทำให้การลักลอบนำพาเข้ามามากขึ้น และก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้น ปัญหาการลักลอบนำแรงงานเข้ามาโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนจำนวนมากนั้น ทำให้รัฐไม่สามารถจะบริหารจัดการดูแลควบคุมปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ อาชญากรรม โรคระบาด การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหาเหล่านี้สะสมมาเป็นเวลายาวนานในหลายสมัย หลายยุค หลายรัฐบาล ซึ่งมีความพยายามในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นโดยชัดเจนยังคงเป็นปัญหาที่ต่างชาติ องค์กรระหว่างประเทศจับตามองอยู่
ล่าสุดจากการประเมินของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจจะพิจารณาสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย อาจถูกปรับลดจาก TIER2 WATCH LIST เป็น TIER3 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิทธิในการค้าการลงทุนต่าง ๆ ของประเทศ ดังนั้น คสช. มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการกำจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ และจัดระเบียบแรงงานโดยเร็วที่สุด รวมทั้ง จัดระเบียบการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าของธุรกิจ ประกอบการต่างๆ ในอันที่จะกำหนดมาตรการที่ดีที่สุดเพื่อนำพาความน่าเชื่อถือ ในเรื่องการดูแลสิทธิมนุษยชนของไทย แรงงานไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การบริหารจัดการในระยะที่ 1 ของ คสช. เป็นการผ่อนผันให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้ทำงานไปพลางก่อน เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลและนายทุนแสวงประโยชน์ต่างๆ จากผู้ใช้แรงงาน โดย คสช. ตระหนักดีว่าแรงงานเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการต่างๆ จึงได้ผ่อนผันให้มีการใช้แรงงานเหล่านั้นสามารถทำงานต่อไปได้ เป็นการชั่วคราว แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ในการควบคุม กำกับดูแล พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ในระบบต่อไป ทั้งนี้จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ให้เกิดข้อบกพร่องเหมือนกับที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เปิดโอกาสกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและนายทุน เอารัดเอาเปรียบ บังคับขู่เข็ญ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานผิดกฎหมายเหล่านั้น
ในระยะที่ 2 ซึ่งเราอยู่ในขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) ซึ่งมี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน จะดำเนินการจัดระเบียบควบคุมแรงงานทั้งระบบให้ถูกต้อง ทั้งแรงงานประเภทเช้าไปเย็นกลับตามแนวชายแดน แรงงานตามฤดูกาลในภาคการเกษตร เช่น ตัดอ้อย ขุดมัน เก็บเกี่ยว เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และแรงงานประจำปี ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนแรงงานอยู่ในปัจจุบันนั้น จะต้องจัดเตรียมพื้นที่หรือโซนนิ่ง เพื่อให้แรงงงานได้มีพื้นที่พักอาศัยที่เป็นระเบียบสะอาดเรียบร้อยสวยงาม มีการกำกับดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ร่วมกับมิตรประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาที่มาของกลุ่มบุคคลลักลอบเข้ามาที่มีสัญชาติไม่ชัดเจน เช่น ชาวโรฮิงญา และจัดตั้งศูนย์รับ - ส่งคนงานที่ถูกกฎหมายในการนำเข้าและส่งกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นระเบียบมีความปลอดภัย รวมทั้งจะมีการพิจารณาทบทวนกำหนดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานทั้งหมดที่เข้ามา สำหรับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากเมื่อเรามีการนำแรงงานทั้งหมดเข้าระบบแล้ว ก็จะทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่าง เคร่งครัด ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ อาชญากรรม ยาเสพติด โรคระบาด ฯลฯ และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับเหตุการณ์ความโกลาหลที่เกิดขึ้น ในเรื่องการไล่จับกุมแรงงานที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้มีแรงงานเดินทางกลับประเทศจำนวนมากนั้น จากข้อมูลทางด้านการข่าว ระบุว่า เป็นการปฏิบัติการของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ได้ปล่อยข่าวให้เกิดความหวาดกลัว วัตถุประสงค์ในการให้ร้าย คสช. มุ่งหวังให้แรงงานจำนวนมากเหล่านั้นได้เดินทางกลับออกไปยังประเทศของตน เปิดหนทางให้มีการนำแรงงานเหล่านั้นกลับเข้ามาใหม่ มีการเตรียมการเรียกเก็บผลประโยชน์ จากแรงงานเหล่านั้นอีกครั้ง ซึ่ง คสช.จะเร่งดำเนินการปราบปรามขบวนการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
คสช. ยังคงให้ความสำคัญ กับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับนานาประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าการลงทุนของนักลงทุนและนักธุรกิจชาวต่างชาติ สำหรับการดำเนินงานในเรื่องนี้ คสช. ได้มอบหมายให้ ฝ่ายความมั่นคง โดย กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวง และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สมาคมผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติ เร่งชี้แจงทำความเข้าใจ พัฒนาความร่วมมือ ที่เอื้อประโยชน์กับทั้งไทยและมิตรประเทศอย่างเท่าเทียม เช่น การเจรจาข้อตกลงทางการค้าที่ยังคงค้างคาอยู่ ขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมาซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คสช. ได้ร่วมพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการชาวสหรัฐฯ และยุโรปในประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนต่างๆ ในประเทศไทย และมีแนวโน้มทุกประเทศมีความเข้าใจกับสถานการณ์ในไทย และการปฏิบัติงานของ คสช. มากยิ่งขึ้น
ในเรื่องการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ คสช. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างที่สุด ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการ ทั้งในเรื่องของแผนงาน โครงการ งบประมาณ และในส่วนของการปฏิบัติ เพื่อให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้น มิใช่การมุ่งเน้นแต่การใช้กำลังเพียงอย่างเดียวจะต้องใช้การปฏิบัติการทางทหารควบคู่ไปกับงานด้านการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อร่วมกับราชการอื่นๆ ให้เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้นและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ขอให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจว่า ถึงแม้ คสช. จะมีภารกิจที่ต้องเร่งด่วนหลายประการด้วยกัน แต่ คสช. จะยังคงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เพื่อนำพาความสงบสุขมาสู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว
ด้านเศรษฐกิจ
งานสำคัญของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งหวังเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ การมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 2,575,000 ล้านบาท และรายรับไว้ที่ 2,325,000 ล้านบาท เป็นการวางแผนงบประมาณขาดดุล ที่ 250,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จะยึดถือระเบียบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แนวนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นผลประโยชน์ไปที่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน โดยมีการบูรณาการงานทุกกระทรวงในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ โดยให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงในเรื่องที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างดำเนินการ ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
การวางแผนงบประมาณขาดดุลนั้น เนื่องจากมีความจำเป็นต้องให้มีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นความจำเป็นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการขาดดุลเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ในปัจจุบันนั้น อาจจะส่งผลให้กลไกที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอื่นๆ อาทิ การส่งออก การลงทุน การบริโภคอาจจะมีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นการวางแผนงานในเรื่องของการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของภาครัฐจะเป็นมาตรการที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับ การบริโภค การจ้างงาน นำเม็ดเงินสู่มือประชาชน คสช. จะติดตามผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจจะมีการพิจารณางบประมาณภาครัฐเพิ่มเติมในระหว่างปี เพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 85.1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
แผนการลงทุนที่ คสช. เร่งรัดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและสร้างบรรยากาศ ที่เอื้อต่อการลงทุน ที่จะเร่งดำเนินการเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2557 นี้ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย การสร้างรถไฟรางคู่ ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม ได้จัดทำรายละเอียดเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมเข้ารับการพิจารณาจาก คสช. ในเร็ววันนี้ คสช. ได้ให้นโยบายในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ การเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนต่างๆ จะต้องต่อเนื่องเชื่อมโยง สถานีรถไฟฟ้าโดยรอบปริมณฑล จะต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่จำเป็น อาทิ มีพื้นที่จอดรถและต้องได้สัดส่วนสัมพันธ์กับจำนวนผู้โดยสาร
ปัจจุบันทุกโครงการอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพ จากคณะ คสช. ที่ประกอบไปด้วย สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปปช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง คสช. อาจจะพิจารณานำกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นที่ได้รับการยอมรับจากสากล มาใช้ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย โดยจะเป็นการเน้นตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำความต้องการ (TOR) การจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการและการตรวจรับ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบตลอดทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการปฏิรูปในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องระเบียบ กฎหมาย กระบวนการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นอย่างสมบูรณ์ต่อไป
ในเรื่องการปรับปรุงกลไกของระบบยุติธรรม การบริหารราชการของส่วนราชการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ เพื่อความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้นั้น ในระยะเร่งด่วนนี้ คสช. จะแก้ไขเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อรัฐ และการแก้ไขนั้นไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ส่วนในระยะที่ 2 จะดำเนินการแก้ไขในเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจมีความสำคัญ และมีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง โดยทั้งนี้ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ผ่านสภาปฏิรูป ซึ่งจะถูกดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงขั้นตอนการมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
ในเรื่องของการปรับปรุงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจนั้น กระทำเพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นมาตรฐานสากล หลายๆ รัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาแต่ประการใด มีเพียงบางรัฐวิสาหกิจที่อาจประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการและประสิทธิภาพ ตลอดจนความโปร่งใสที่จะต้องปรับปรุง เพื่อให้สามารถแข่งขันและได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกพวกทุกฝ่าย อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการสื่อสาร ที่รัฐจำเป็นต้องคงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างการบริหารงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ป้องกันการผูกขาด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ คสช. ต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้าใจและเปิดทางให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว การดำเนินการในระยะสั้นนี้ จะเป็นการเฟ้นหาบุคคลที่มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ อยู่ในธุรกิจมานาน รวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน และความมั่นคง เข้ามาเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติม และระยะต่อไปจะเร่งให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ สร้างความเสียหายต่อรัฐ อาทิ การปรับค่าตอบแทนคณะกรรมการให้มีความเหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ไปเร่งพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่รูปธรรมต่อไป
การบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน คสช. ได้เร่งรัดและอนุมัติให้มีการจ่ายเงินให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่ตกค้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ การชดเชยพืชผลทางการเกษตร อาทิ ยางพารา ทั้งนี้การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นสิทธิของประชาชนที่พึงมีพึงได้ ซึ่ง คสช. ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องบัญชีการจ่าย อาทิเช่น ในกรณีชาวสวนยางนั้น จะต้องเป็นเกษตรกรตัวจริง และไม่มีการบุกรุกใช้ผืนป่ามาทำไร่ โดยทางกระทรวงเกษตรได้ให้มีการขึ้นบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางไว้แล้ว คสช. ได้เร่งรัดให้มีความทันสมัยต่อไป รวมเงินงบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยางพาราประมาณ 100,000 กว่ารายเป็นงบประมาณกว่า 6,600 ล้านบาท จาก 63 จังหวัด และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2555 ประมาณ 580,000 ราย ใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท จ่ายเงินเยียวยา ตลอดจนการให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 85,685 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 22 มิ.ย.2557 การเตรียมการแก้ไขปัญหาลำไยที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประมาณ 5 แสนตัน ได้เตรียมมาตรการรองรับ โดยใช้กลไกตลาดปกติ ผ่านระบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์กลางรับซื้อผลผลิต และโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนผลไม้ภาคตะวันออก เงาะ ลองกอง คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก จึงได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต ส่งเสริมการแปรรูป เน้นบริหารจัดการคุณภาพ และประชาสัมพันธ์โดยการส่งเสริมการบริโภค
คสช. ขอทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรถึงแนวทางการช่วยเหลือในระยะต่อไป คสช. จะพิจารณาแนวทางที่มีความยั่งยืนมีประสิทธิภาพ โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด อาทิ การช่วยเหลือในเรื่องลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมตลาด ในส่วนของการบริหารจัดการนั้น จะให้เงินอุดหนุนเฉพาะเรื่อง จะมีการพิจารณาอีกครั้งให้มีความเหมาะสม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ทั้งนี้เนื่องจากการอุดหนุนสินค้าเกษตรต่างๆ ที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดนั้นอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การที่รัฐอุดหนุนสินค้าเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่ง จะทำให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ผลิตผลล้นตลาด สินค้าราคาตก ขณะที่นายทุนฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยในการเพาะปลูก เกิดการทุจริตนำสินค้าจากต่างชาติเข้ามาสวมสิทธิ์ คุณภาพสินค้าตกต่ำไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทั้งราคาและคุณภาพ สร้างความเสียหาย รัฐต้องเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เกษตรกรประสบปัญหาในการจำหน่ายสินค้าที่ล้นตลาดอีกต่อไป
ในส่วนการช่วยเหลือชาวนานั้น อยากจะเรียนให้ชาวนาทั้งประเทศได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมสนใจ และอาจจะกระทบเกษตรกรชาวนาทั้งประเทศเป็นจำนวนมากแนวทางวันนี้นั้น เราได้เตรียมการช่วยเหลือในระยะสั้นคือ 2557/58 ในการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวนาปี ซึ่งมี 2 มาตรการด้วยกัน มาตรการหลักเป็นการลดราคาปัจจัยการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ค้าปุ๋ย ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าว กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ในการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น ที่เป็นปัจจัยในการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี สารเคมียาป้องกันกำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ โดยจะลดค่าบริการรถเกี่ยวข้าวลง ค่าเช่านาลดลง ซึ่งจะมียอดเฉลี่ย/ไร่ เพื่อให้ลดต้นทุนการผลิต/ไร่ ให้น้อยลงตามลำดับ สำหรับมาตรการสนับสนุนจะเป็นการ สนับสนุนแหล่งเงินทุนการให้สินเชื่อระยะสั้นกับชาวนา ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR โดย คสช. ช่วยเหลือชาวนาด้วยการชดเชยค่าดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ให้สินเชื่อกับสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรในการนำข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายและนำมาแปรรูป การเพิ่มผลผลิต/ไร่ ใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว และ Zoning ในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ส่งเสริมการตลาด เร่งหาตลาดใหม่ ช่วยเหลือการเก็บ Stock เชื่อมโยงตลาดในและต่างประเทศ ประกันยุ้งฉาง ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ประกันภัยข้าว ตั้งกองทุนข้าว ตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพทั้งระบบ
การดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ที่มีในปัจจุบัน ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้วยการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร ภาษีรายได้นิติบุคคล และมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดย คสช. ได้เร่งรัดให้มีการจัดการประชุม ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและอนุกรรมการ เพื่อเร่งดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศและระบบเศรษฐกิจไทย
ในวันพุธที่ผ่านมามีการประชุมพิจารณาอนุมัติโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบแล้วจากคณะอนุกรรมการ BOI ทั้งสิ้น 18 โครงการ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ระเบียบวิธีการ การส่งเสริมการลงทุนเดิมในปี 2556 มาพิจารณาเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ในเรื่องของการมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงผลิตสินค้าที่มีมูลค่า การสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน โดยให้มีการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ปัจจุบันมีสัดส่วนบริษัทไทย มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยในครั้งนี้คณะกรรมการได้อนุมัติการลงทุนทั้งที่เป็นกิจการใหม่ ขยายกิจการเดิม รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 120,000 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวจะเป็นการสร้างการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบและผลิตผลในประเทศ เป็นการสร้างรายได้แก่ประชาชนต่อไป ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งนี้ คสช. ได้สั่งการให้สถาบันส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาปรับปรุงระเบียบและเงื่อนไขในการอนุมัติโครงการตามนโยบายของ คสช. เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ การลงทุนในปัจจุบันเพื่อเตรียมรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลกต่อไป
ในเรื่องนี้ ขอเรียนว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในโครงการที่ BOI ให้การสนับสนุน เราไม่ได้นำเม็ดเงินของประเทศเราไปให้เขา เป็นการลงทุนจากต่างประเทศทุกโครงการส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินการของบริษัทไทยในประเทศนี้อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่สร้างแรงจูงใจ คือ การลดภาษี การนำเข้าเครื่องจักร ลดภาษีนิติบุคคล แต่เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องของเขาทั้งสิ้น ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศไม่ได้ใช้เม็ดเงินของรัฐไปช่วย ขอกราบเรียนให้ทราบโดยทั่วกัน
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
คสช. มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นอันดับแรก ซึ่งมีความเดือดร้อนในเรื่องปากท้อง การเอารัดเอาเปรียบของผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ อาทิ การประกอบการรับจ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ลูกจ้างรายวัน รายสัปดาห์ ปัจจุบันเราเห็นใจท่านถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล โดยอาศัยช่องว่างการกระทำผิดกฎหมายหรือการให้บริการนอกระบบ เรียกเก็บค่าคุ้มครองต่างๆ สร้างความเดือดร้อนกับผู้หาเช้ากินค่ำ คสช. วันนี้เราอยากจะให้มีการร่วมมือกันในการจัดระเบียบ ในช่วงแรกอาจจะมีปัญหาบ้างไม่สะดวกบ้าง และทั้งผู้ให้บริการและรับการบริการ แก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดความถูกต้องในการประกอบอาชีพ ไม่ต้องการให้ผู้มีอิทธิพลกลุ่มมาเฟีย ไม่ว่าจะสีไหน ไม่ต้องการให้เข้าไปข่มขู่ ฉกฉวยโอกาส เพราะในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือมีรายได้น้อยเหล่านั้น บางส่วนก็เป็นข้าราชการ เป็นกำลังพลในกองทัพ และเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เขาถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นระยะนานพอสมควรแล้ว เช่น ต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเสื้อตัวละเป็นแสนๆ ถึงสี่แสนบาท ผมว่ามากเกินไป คิดว่าจะต้องจัดสรรในเรื่องของการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำอย่างไรเขาเหน็ดเหนื่อย เขาก็ต้องได้รับผลตอบแทนของเขา เพื่อไปเลี้ยงดูครอบครัวอย่างเป็นธรรม อย่าไปเบียดเบียนจากเขาเลย
การดำเนินงานในด้านการสร้างความสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปนั้น ปัจจุบันยังอยู่ในระยะที่ 1 ซึ่ง คสช. เป็นแต่เพียงผู้อำนวยความสะดวก สร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุย ถ้าบรรยากาศไม่ดีก็พูดคุยกันไม่ได้เกิดการทะเลาะกัน ตั้งแต่วันนี้ ฉะนั้นต้องสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดการพูดคุยกันก่อน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน วันนี้ คสช. จะไม่สรุปหรือชี้นำใดๆ ที่ผ่านมา คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปได้กำหนดกรอบและเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 4 มิ.ย.57 จะรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิชาการจากทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ ค้นหาและทบทวนเอกสารและผลการวิจัย ซึ่งข้อมูลจากการเสวนาในอดีตของกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่างๆ มากกว่า 200 ผลงาน ทั้งที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานต่อไป ในระยะที่ 2 ได้เปิดช่องทางการรับข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรศัพท์ ไปรษณีย์ เว็บไซต์ ที่ผ่านมามีเรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้รับการนำเสนอที่สำคัญหลักๆ 11 ประเด็น ได้แก่ การทุจริตคอรัปชั่น การเข้าสู่อำนาจ (นิติบัญญัติ) และตุลาการ การใช้อำนาจการบริหาร (การรวมอำนาจ และการกระจายอำนาจ) การควบคุมอำนาจ (กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ) ระบบพลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสื่อสารมวลชน การศึกษา การเรียนรู้ และภูมิปัญญา คุณธรรม - จริยธรรม ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน น้ำ และป่าไม้ ทั้งหมดนั้นจะรวมเข้าไปสู่ขั้นตอนการปฏิรูปในขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูป จะมีการคัดสรรมา ไม่ใช่ คสช. ที่เป็นผู้คัดสรร ซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละพวกแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้รับการคัดสรรมาเป็นจำนวนที่ได้เตรียมการไว้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ นอกจากนั้นได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกฝ่าย โดยมีระดับหัวหน้าพรรคและผู้นำกลุ่มต่างๆ ได้เดินทางมาให้สัมภาษณ์ และเสนอข้อคิดเห็นด้วยตนเอง ขณะนี้ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ไปแล้ว 25 ท่าน และจะสัมภาษณ์ต่อไปอีก รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 ท่าน และจะจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือ focus group หลังจากได้นำข้อมูลหลัก 11 ประเด็น ผนวกเข้ากับข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ จัดประชุมกลุ่มย่อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 12 ครั้ง เพื่อถกแถลงและสร้างกรอบความเห็นร่วม เพื่อยืนยันประเด็นและสาระสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีความต้องการที่จะปฏิรูปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะไม่มีการสรุปข้อยุติในระยะนี้หรือแสดงความคิดเห็น โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง โดยทั้งหมดนั้น จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557 และเตรียมข้อมูลไปสู่การปฏิรูปในระยะที่ 2 เมื่อมีการปฏิรูปในระยะที่ 2 จะมีการดำเนินการ โดยสภาปฏิรูป เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ระยะที่ 2 ก็พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง อาจจะไปทะเลาะกันในระยะที่ 2
สำหรับการปฏิบัติในระยะที่ 2 อะไรที่เร่งด่วน เช่น การปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หรืออะไรที่สำคัญที่ประชาชนต้องการ ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดจะต้องแก้ไขให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าให้ได้โดยเร็ว อะไรที่ไม่สำเร็จก็ต้องไปในระยะยาว อาจจะมีการลงสัตยาบันกันต่อไปว่ารัฐบาลต่อไปต้องไปดำเนินการต่อ อันนี้ก็เป็นไปตามคำเรียกร้องที่มีมาอยู่แล้วเดิมในอดีตที่ผ่านมาเรื่องการปฏิรูป ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องการเตรียมการ หรือการทำงานของ คสช. วันนี้มีหลายเรื่องที่ประชาชนหลายคนสงสัยมาก ประเด็นสำคัญวันนี้อยากบอกทุกคนให้สบายใจว่า ทุกอย่างมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ถึงแม้อาจจะมีข้อขัดแย้งอยู่บ้าง มีการต่อต้านอยู่บ้าง ผมก็เข้าใจ เห็นใจในทุกภาคส่วน ในเมื่อประชาธิปไตยของเราเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขอเวลา เราต้องใช้ความมีสติ มีเหตุมีผลในการที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองให้ปลอดภัยต่อไปในอนาคต
วันนี้มีการปล่อยข่าวว่ามีการเรียกร้องผลประโยชน์จาก คสช. หรือมีคนอ้างว่าสามารถจะจัดเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ผมยืนยันยังไม่มีการดำเนินการใดทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่าไปเชื่อ อย่าไปให้เขาหลอก อย่าไปเสียผลประโยชน์ให้เขาเป็นการล่วงหน้า ผมยืนยันยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลยในเรื่องนี้ และยังไม่ใช่เวลา วันนี้เป็นเวลาแห่งการคืนความสุข เป็นเวลาของการเตรียมการ เป็นเวลาในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับชาติบ้านเมือง และประชาชนที่ลำบาก และเดือดร้อนมาเป็นระยะเวลายาวนาน วันนี้เราต้องการฟังเสียงประชาชนให้มาก และรวบรวมปัญหาทุกปัญหาไปสู่การปฏิรูป ในระยะที่ 2 และยั่งยืนในอนาคต
ขอขอบคุณทั้งในเสียงติและเสียงชม ซึ่งมีค่ากับเราทุกคนขอให้มั่นใจว่า ถึงแม้เราเป็นทหาร แต่เราเป็นทหารที่มีความตั้งใจ มีหัวใจ ที่จะนำพาประเทศชาติไปด้วยความจริงใจ และไม่แสวงหาผลประโยชน์ ผมยืนยันอีกครั้ง ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม วันนี้เราจะต้องขจัดผลประโยชน์เหล่านั้น หรือขบวนการทุจริตให้พ้นจากผืนแผ่นดินไทยไปให้ได้ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม
ระยะเวลาที่ผ่านมามีข่าวจากสื่อมากมาย ทั้งโดยสื่อ ประชาชน ทั้งพูดต่อกันมา ทั้งนี้บางอย่างอาจจะไม่มีข้อมูลที่แท้จริง และยังไม่ครบในทุกด้านจะมีแต่การขยายความขัดแย้งไปมากขึ้น และทำให้การปฏิรูปนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขอระยะเวลาให้กับเราสักระยะหนึ่ง
วันนี้เรานำปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น 10 ปี แน่นอนจะแก้ไขไม่ได้ภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่เราพยายามทำอย่างเร็วที่สุด มีหลายคนบอกว่า เราแก้ปัญหาได้เร็วจนเกินไปหรือไม่ เป็นประชานิยมหรือไม่ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นเรื่องที่เราฟังเสียงจากประชาชน แล้วเราแก้ไขให้ตรงจุด ทำคำตอบให้ตรงกับคำถามที่ท่านสงสัยเท่านั้น และขับเคลื่อนสิ่งที่ติดขัดเล็กน้อยให้ท่าน ผมไม่ต้องการให้เป็นความดีความชอบแก่ คสช. เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในระหว่างนี้เท่านั้น และพร้อมที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งที่ทุกฝ่ายอดทนฟังผมมาหลายครั้ง ผมก็พยายามจะทำความเข้าใจสื่อสารกับท่าน ที่ผ่านมาบางครั้งการพูดกับการฟังไม่ต่อเนื่องกัน คนที่พยายามจะพูดก็พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด ที่อยากจะฟังก็ฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง
วันนี้เราสื่อสารกัน ผมรับจากท่านมาก็ตอบท่านไปผ่านสื่อ พบปะกันทุกวันศุกร์หวังว่าจะได้รับความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ขอขอบคุณอีกครั้ง ขอให้มีความสุขทุกท่าน สวัสดี.