นำ 12 แกนนำม็อบประจวบฯ คุมตัวที่ค่ายพระมงกุฎเกล้า ด้านสถานการณ์ม็อบตึงเครียด หลังปะทะช่วงเย็นเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ม็อบยางท่าศาลายอมสลาย ให้เวลา 10 วัน ขู่พร้อมยกระดับการชุมนุม ส่วนม็อบยางชะอวด ขีดเส้น 7 วัน ไร้ผลขู่บุกสนามบิน
ประจวบฯ เดือดอีก! กลุ่มโจ๋ปาระเบิดเพลิง เผารถนักข่าววอด
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า 01.20 น. วันที่ 6 ก.ย. นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ จส.100 ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรสวนยางและปาล์มน้ำมัน ว่า
กลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 200 คน บริเวณ บ้านธรรมรัชต์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงเย็นได้สลายตัวไปแล้ว เหลือเพียงกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 20 คน ซึ่งล่าสุด กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้ก่อเหตุ ใช้ระเบิดขวดปาใส่รถนักข่าวเดลินิวส์ ส่งผลให้รถฮอนด้าแจ๊ส ของนักข่าวถูกไฟไหม้วอดทั้งคัน นอกจากนี้ ยังมีรถตำรวจ และ รถนักข่าวไทยพีบีเอส รวม 2 คัน ถูกทุบตีเสียหาย หลังลงมือเสร็จได้หลบหนีจากที่เกิดเหตุทันที เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสกัดจับอยู่ แต่ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้
ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ทราบว่ากลุ่มดังกล่าว ไม่น่าจะใช่ผู้ชุมนุมที่เป็นชาวบ้าน แต่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาก่อกวน มีการปาระเบิดปิงปอง และ ประทัดยักษ์ และคาดว่าอาจจะมีการดื่มสุรา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ ยังต้องเร่งเก็บกู้ตะปูเรือใบตามถนนด้วย
นำ 12 แกนนำม็อบประจวบฯ มาคุมตัวที่ค่ายพระมงกุฎเกล้า
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 21.45 น. วันที่ 5 ก.ย.56 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลได้นำตัวแกนนำในการชุมนุมม็อบสวนยางที่ ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 4 คน มาควบคุมตัวที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า (กก.ตชด.ที่14) ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งห่างจากจุดที่มีการชุมนุมประท้วงประมาณ 100 กิโลเมตร
ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมยังคงมีการปิดถนนเพชรเกษมอย่างต่อเนื่อง โดยมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เดินทางมาสมทบในการชุมนุม แม้ว่าจะมีการตั้งจุดตรวจจุดกัดใน อ.ทับสะแก และ อ.บางสะพานน้อย
สถานการณ์ม็อบประจวบฯ ยังตึงเครียด - จนท.เจ็บ
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของชาวสวนยางประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ว่า เป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากมีเสียงประทัดยักษ์ดังมาจากฝ่ายผู้ชุมนุมตลอดเวลา พร้อมกับวัยรุ่นบางส่วนได้ใช้ระเบิดปิงปองปาใส่เจ้าหน้าที่เสียงดังสนั่นหวั่นไหวเป็นระยะ พร้อมกับใช้หนังสติ๊กใส่ก้อนหินระดมยิงใส่ตำรวจชุดปราบปรามจลาจล ทำให้ตำรวจได้บาดเจ็บหลายราย โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีการตรึงกำลังอย่างเหนียวแน่น
ส่วนรถทุกชนิดได้หลีกเลี่ยงเส้นทางบนถนนเพชรเกษม โดยใช้ทางเบี่ยงถนนสายเลียบชายทะเลบางสะพาน- หนองหัดไท ระหว่าง อ.บางสะพานกับ อ.บางสะพานน้อย ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ทั้งขาขึ้นและขาล่องโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางสะพาน อปพร.และ อส. อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง พร้อมจัดกำลังรถสายตรวจวิ่งตรวจเส้นทางเพื่อดูแลความปลอดภัยหลังจากมีข่าวว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาปิดเส้นทาง และใช้ตะปูเรือใบโปรยเพื่อดักรถที่ใช้เส้นทางเบี่ยงดังกล่าว
เมื่อเวลา 20.45 น. มีการเจรจาระหว่างแกนนำกับตำรวจและฝ่ายปกครองบนถนนเพชรเกษม โดยขอให้ตำรวจปล่อยแกนนำที่ถูกจับกุมทั้งหมดก่อน จากนั้นจะสั่งให้ชาวบ้านสลายการชุมนุมปิดถนนเพชรเกษมทั้งขาขึ้นและขาล่องใต้ ซึ่งผลการเจรจายังไม่มีข้อยุติแต่อย่างใด
ผบก.ประจวบฯ เจ็บ เจอม็อบสวนยางประเคน'อิฐ-ถุงน้ำกรด' ใส่
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 5 ก.ย.56 จนท.ตำรวจได้ส่งกำลังเข้าพยายามผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวนประมาณ 350 คน ซึ่งชุมนุมปิดถนนเพชรเกษม ฝั่งขาขึ้น บริเวณ ตรงข้ามสถานีบริการประชาชนตำรวจภูธรบ้านธรรมรัตน์ กม. 411 อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ออกมารวมตัวประท้วง กรณีราคายางพาราตกต่ำ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณผิวการจราจร
ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มม็อบได้มีการปะทะ และเข้าดันกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งมีการขว้างปาขวดน้ำและสิ่งของต่างๆ เพราะไม่ยอมออกไปจากพื้นผิวการจราจร ประกอบกับเกิดกระแสข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่ ตำรวจเตรียมใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ทำให้ประชาชนรู้สึกเกรงกลัว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ภายหลังการเข้าปะทะกัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนได้รับบาดเจ็บหลายคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากโดนทั้งถุงใส่น้ำกรดกัดยางฯ คาดว่ามาจากทางกลุ่มผู้ชุมนุมปาใส่เข้าที่ขา และยังโดนก้อนอิฐเข้าที่บริเวณปาก ขณะนำกำลังตำรวจเข้าเคลียร์พื้นผิวการจราจร จากเดิมที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดการจราจรบนถนนเพชรเกษมไป 1ช่องทาง ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่ สามารถเปิดการจราจรได้
อย่างไรก็ตาม
ข่าวสดรายงานว่า เวลา 20.00 น. ชาวบ้านได้เคลื่อนขบวนไปปิดถนนเพชรเกษมห่างจากจุดเดิมประมาณ 500 เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนปิดหัวปิดท้าย ทำให้นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผวจ.ประจวบฯ พล.ต.ต.ฐเนตร สุนทรสุข และนายตำรวจหลายนาย รวมทั้งกลุ่มผู้สื่อข่าว บางส่วนต้องติดอยู่ในวงล้อมยังออกมาไม่ได้ ที่สำคัญทั้งหมดยังไม่ได้รับอาหารและน้ำ และยังทำให้การจราจรติดขัดทั้งขาขึ้นและขาล่อง รถทุกชนิดไม่สามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ
ขณะที่ตำรวจและฝ่ายปกครองได้ประชุมเครียดเพื่อหาทางเจรจาและอาจจะต้องสนธิกำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกครั้ง หลังจากมีการสลายการชุมนุมรอบแรกเมื่อเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน
เวลา 21.05 น.กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คนได้ตรึงกำลังล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มสื่อมวลชนที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ พร้อมปราศรัยโจมตีรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และจะไม่สลายชุมนุมจนกว่าจะมีตัวแทนรัฐบาลเข้ามาเจรจา รวมทั้งปล่อยตัวแกนนำ หลังจากมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย ส่วนตำรวจบาดเจ็บ 12 นาย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางสะพาน
ม็อบยางท่าศาลายอมสลายการชุมนุม ให้เวลารัฐฯ 10 วัน ขู่พร้อมยกระดับการชุมนุม
เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.56
นายอำนวย ยุติธรรม แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กยน.) เมื่อเช้านี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเพิ่มการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ และจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุดว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะในทางปฏิบัติ
เงินจากการกรีดยางมักจะไม่ถึงมือผู้กรีดยางพาราโดยตรง จะได้รับเฉพาะเจ้าของสวนยาง แต่หากรัฐบาลช่วยในเรื่องการประกันราคาหรือช่วยเติมเงินส่วนที่ต่างนั้น เจ้าของสวนยางพาราและผู้กรีดยางพาราจะสามารถตกลงราคากันได้ และเงินส่วนนี้ก็จะเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวของเกษตรกรฯ และผู้กรีดยาง
เมื่อถามว่ารัฐบาลยังยึดมาตรการเดิมในการช่วยเหลือจะทำอย่างไรต่อไป นายอำนวย กล่าวว่า จะให้เวลารัฐบาลตัดสินใจเรื่องนี้อีกครั้งเป็นระยะเวลา 10 วัน ซึ่งหากรัฐบาลยังยึดมาตรการเดิมเกษตรกรสวนยางพารา อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช จะยกระดับการชุมนุมโดยปิดที่ว่าการอำเภอของจังหวัดในวันที่ 14 ก.ย. อย่างแน่นอน ซึ่งวันนี้จะนำผลการประชุมดังกล่าวไปแจ้งให้กับผู้ชุมนุมทราบในเย็นวันนี้ เพื่อให้สลายการชุมนุมก่อน และรอฟังคำตอบของรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.ว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนการชุมนุมที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จะสลายการชุมนุมด้วยหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมในอำเภอนั้นๆ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มผู้ชุมนุมทางภาคใต้ยังยืนมติเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้มีการประกันราคาหรือช่วยเติมเงินส่วนต่างดังเดิม
ม็อบยางชะอวด ขีดเส้น 7 วัน ไร้ผลขู่บุกสนามบิน
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.50 น.วันที่ 5 ก.ย.56 ที่เวทีปราศรัย จุดปิดทางรถไฟสายใต้ของชาวสวนยาง ถนนบ่อล้อ–ควนหนองหงส์ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
จากนั้น
นายเอียด เส้งเอียด ได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัย จุดปิดทางรถไฟสายใต้ ถนนบ่อล้อ–ควนหนองหงส์ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช และประกาศว่า หลังจากตนลงจากเวที จะมีการเปิดทางรถไฟสายใต้ เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องคนจน ที่ต้องอาศัยรถไฟในการเดินทาง ตนและชาวสวนยางต้องขอโทษที่ทำให้พี่น้องลำบาก อย่างไรก็ตาม จะยังคงเวทีปราศรัยที่นี่เอาไว้ โดยขอให้พี่น้องชาวสวนยางจากที่นี่ ย้ายไปชุมนุมกันต่อที่สี่แยกควนหนองหงส์ ถนนเอเชียสาย 41 ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด เพื่อเตรียมยกระดับการชุมนุม
นายเอียด กล่าวอีกว่า ทางผู้ชุมนุมจะให้เวลารัฐบาลเป็นเวลา 7 วัน ในเรื่องราคายาง หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จะยกระดับการชุมนุม ด้วยการปิดสนามบินนครศรีธรรมราช และปิดศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
ออกหมายเรียก 4 แกนนำม็อบยางปิด 'สี่แยกอันดามัน'
ส่วนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน จ.ตรัง ยังคงชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีการการกางเต็นท์ตั้งเวทีปราศรัยบนถนนกลางสี่แยกอันดามัน ถนนเพชรเกษม ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด ต่อเนื่อง นับจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ก.ย.56
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 5 ก.ย.56 พ.ต.อ.ปัญจพล ชำนาญหมอ ผกก.สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง เปิดเผยว่า ทางพนักงานสอบสวนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้
ออกหมายเรียกเชิญแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มใน จ.ตรัง ประกอบด้วย นายชิต ชูช่วย นายสุชาติ ชาตรีกูล นายปรีชา ส่งเสริม และนายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประสาท โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุมใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่เรียบร้อย
ด้าน
มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น. ที่ สภ.ห้วยยอด 2 แกนนำ ได้แก่
นายชิต ชูช่วย และ นายปรีชา ส่งเสริม เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าว จาก พ.ต.อ.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และ พ.ต.อ.ปัญจพล ชำนาญ หมอ ผู้กำกับการ สภ.ห้วยยอด โดยมีนายสอและ กูมุดา ทนายความ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาของฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะให้ความช่วยเหลือดูแลในด้านการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อ 2 แกนนำ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ส่วนนายสุชาติ ชาตรีกูล ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้แล้ว ยังเหลือนายศักร์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ที่จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวเป็นคนต่อไป
ที่มา: รักตรัง ปกป้องตรัง
ปชป.ตั้งกระทู้ แฉรัฐฯ ปลุกม็อบสวนยาง สกัดคนร่วมม็อบต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 5 ก.ย.56 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์ม น้ำมันของนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถามว่า มีชาวบ้านให้ปากคำ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบและให้ข้อมูลว่า ม็อบที่ปิดถนนเป็นม็อบของรัฐบาล อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเช่นใด หากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ระดมคนมาปิดถนน เพื่อสกัดไม่ให้คนมาร่วมชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 5-7 ส.ค. คนที่อยู่เบื้องหลังคือ คณะที่ปรึกษาของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลจะเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมอย่างไร
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ถ้าหากย้อนดูข่าวจากทางโทรทัศน์และหน้งสือพิมพ์ จะเห็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางคน ไปขึ้นเวที ส่วนสิ่งที่ นพ.นิรันดร์ พูดมานั้นตนไม่ทราบ แต่ปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เบื้องหลังแน่นอน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 23 ส.ค.56 เจ้าหน้าที่ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น ซึ่งตำรวจก็บาดเจ็บ 50 กว่าคน ขณะที่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 3 คน แต่การปิดถนนถือว่าผิดกฎหมาย จึงต้องดำเนินการเปิดเส้นทางจราจร ส่วนการเยียวยาคนเสียชีวิตนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้เงินชดเชยศพละ 1 แสนบาท โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เกิดจากการทะเลาะ ยิงกันเอง ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับแล้ว
หลังจากนั้น นายอภิชาต ถามต่อว่า รมว.เกษตรฯ จะทำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้ตรงตามกับสิ่งที่เรียกร้อง ทำให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การให้รัฐบาลตั้งราคานำตลาดจะเกิดผลกระทบต่อกลไกราคายาง เราไม่ใช่ผู้กำหนดราคายาง ทิศทางราคายางขึ้นอยู่กับตลาดโลก ขณะนี้มียางล้นตลาดโลกอยู่ 5 แสนตัน จึงต้องแก้ปัญหาโดยการลดต้นทุนการผลิต จ่ายเป็นการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรตามมติ ครม.แต่จะไม่แทรกแซงให้เกิดการกระทบต่อกลไกตลาด
"ยิ่งลักษณ์"ตั้ง กก.เจรจาแก้ปัญหายางพารา เตรียมลงใต้เจรจาพรุ่งนี้
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เข้าใจประเด็นข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งยังไม่ตรงกับประเด็นที่ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ ถึงแม้ว่าล่าสุดเมื่อ กนย.มีมติแล้ว ก็ยังไม่ตรงกับประเด็นที่เกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้อง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันอย่างเป็นระบบ นายกรัฐมนตรีก็มีความคิดที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และเพื่อให้ทุกกลุ่มเข้ามาเจรจาในเวลาพร้อมกัน ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้แทรกแซงราคา และกลุ่มที่ยอมรับการสนับสนุนของรัฐบาลตามมติของ กนย.
ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อคณะเจรจามีใครบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปเจรจา อย่างไรก็ตาม ขอให้รายชื่อออกมาก่อน ทั้งนี้ ล่าสุดตั้งแต่มีตัวแทนมาเจรจาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั้ง กนย.มีมติในวันนี้ 5 ก.ย. เรายังไม่ทราบท่าทีของการตอบสนองเกี่ยวกับมติ กนย.ว่าจะยอมรับหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะเจรจาที่จะตั้งขึ้น เพราะมีการรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า อยากจะให้คณะเจรจาไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายของรัฐบาล คือ กนย.แต่ฝ่ายเดียว ทั้งนี้รูปแบบจะมีการหารือกันอีกครั้ง
เมื่อถามว่า ถ้าม็อบยืนยันว่าต้องการให้ราคายาพารา 100 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลจะสามารถรับข้อเสนอนี้ได้หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ต้องรอคณะเจรจาที่ตั้งขึ้นไปเจรจาก่อนเพื่อนำมาหารือกันอีกครั้ง
เมื่อถามว่า หากมีการปิดถนนในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีให้นโยบายอย่างไรบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า มีการหารือกันว่า ในช่วงที่มีการปิดถนนก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการคมนาคม ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง หากจะทำให้เกิดความเดือดร้อน จึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับขั้นเด็ดขาด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม เพราะจะทำให้เป็นข้ออ้างในการยกระดับการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คงต้องรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย
เมื่อถามว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินอย่างไรบ้าง หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมรับการตั้งคณะเจรจา นายวราเทพกล่าวว่า ยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง เพราะมีการประเมินในส่วนของความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักก่อน ทั้งนี้ ยังไม่มีความเป็นห่วงว่าจะต้องถึงขั้นที่ต้องการประกาศกฎหมายความมั่นคง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงเรื่องความไม่สะดวกของประชาชนและเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ได้รับผลกระทบและการสร้างสถานการณ์
เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมอาจมองว่าการตั้งคณะเจรจาเป็นการซื้อเวลา นายวราเทพกล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เรื่องระบบยางพาราก็มีคณะกรรมการที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน จึงไม่ได้เป็นการซื้อเวลาแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า แต่มติ กนย.ที่ออกมาก็ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม นายวราเทพกล่าวว่า เมื่อมีมติไปแล้วและมีการนำมติไปเจรจาใหม่ หรือว่าเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมได้รับทราบถึงการมีมติแล้ว จะเสนอการตอบรับหรือไม่อย่างไร ก็ต้องรอฟังผลก่อน
"ถึงแม้ว่าการหารือเมื่อวานนี้จะค่อนข้างตึงเครียด แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจะมีการใช้อารมณ์กันบ้าง อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล" นายวราเทพกล่าว
ต่อจากนั้น พล.ต.อ.ประชา นายกิตติรัตน์ นายยุคล นายวราเทพ และนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246/2556 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา โดย พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า เนื่องจากผู้เรียกร้องยังชุมนุมกันอยู่โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงในภาพรวมราคายางทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่พื้นที่จังหวัดภาคใต้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราขึ้น
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีดังนี้ 1.พิจารณาสภาพปัญหาเกี่ยวกับราคายางพาราและความเดือดร้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางพารา และหารือร่วมกันกับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกิจการยางพาราทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนโดยให้กิจการยางพารามีเสถียรภาพ แล้วเสนอแนะข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ข้อ 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ข้อ 3.เชิญส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ข้อ 4.ปฏิบัติตามหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะลงไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันกับกลุ่มที่ชุมนุมที่เป็นผู้แทนของ จ.นครศรีธรรมราชในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.56) ในเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ในภาคอื่นๆ อาทิ ภาคเหนือ หรือว่าอีสาน ก็จะมีการพิจารณาต่อไปอีกส่วนหนึ่ง โดยการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือเรื่องข้อยุติเกี่ยวกับการยางพาราและเรื่องการเปิดเส้นทางจราจรในลำดับต่อไป
นายวราเทพกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจการแก้ไขปัญหายาพาราเนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ในภูมิภาคที่ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาล แม้กระทั่งการอภิปรายในรัฐสภาในขณะนี้ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ผ่านคณะกรรมการ กนย. และมีการปรับหลักเกณฑ์บางส่วนตามข้อเรียกร้อง และถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่เข้าร่วมประชุม กนย.ด้วยก็ตาม
ดังนั้น ในการเจรจาวันพรุ่งนี้เชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิดความคืบหน้าใน 2 เรื่อง คือ 1.จากมติของ กนย.ที่เพิ่มจำนวนพื้นที่การเยียวยาจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ ส่วนที่ 2.รองนายกรัฐมนตรีที่ร่วมในคณะเจรจาที่จะไปประชุมในวันพรุ่งเป็น ไปในนามของรัฐบาล ไม่ใช่ในนาม กนย.ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวจะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหายางพาราในระยะยาวด้วย
พล.ต.ต.ธวัชกล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา แกนนำที่ส่งรายชื่อให้ตนที่ จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แกนนำใน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน และในส่วน จ.นครศรีธรรมราชที่มีรายชื่ออยู่ประมาณ 30 คน ซึ่งจะประสานไปว่าใครที่พร้อมที่จะมาดำเนินการ และต้องเป็นคนที่เป็นเจ้าของสวน ลูกจ้างกรีดยาง เจ้าของกิจการจริงๆ เท่านั้น เพื่อเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ปัญหายางพารา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา มีคณะกรรมการประกอบด้วย พล.ต.อ.ประชา เป็นประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ รองประธานกรรมการ นายยุคล รองประธานกรรมการ นายวราเทพ กรรมการ นายวิบูลย์ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ อธิบดีกรมป่าไม้ กรรมการ พล.ต.ต.ธวัช กรรมการและเลขานุการ นายสุภรณ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวคัดเลือกตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกิจการยางพาราทุกภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยางและผู้กรีดยาง ผู้ประกอบธุรกิจยางพารา ผู้ส่งออก และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญมาร่วมดำเนินการกับกรรมการ