วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"สุกำพล" สั่งปลด "อภิสิทธิ์" เรียกยศ "ร้อยตรี" คืนมีผลบังคับแล้ว

"สุกำพล" สั่งปลด "อภิสิทธิ์" เรียกยศ "ร้อยตรี" คืนมีผลบังคับแล้ว




วันที่ 20 ธันวาคม 2555 (go6TV) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีใช้เอกสารอันเป็นเท็จสมัครเข้ารับราชการทหาร และการถอดยศ "ร้อยตรี" คืนจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ขณะนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากค้นพบว่านายอภิสิทธ์ ได้ใช้เอกสารไม่ถูกต้องในการสมัครเข้ารับราชการทหาร


ดังนั้น เมื่อพบว่า กระทรวงกลาโหม สูญเสียสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เอายศของกองทัพบกไปใช้ จึ่งได้เรียกคืน กลับมาเท่านั้น แต่กระทรวงกลาโหม ไม่เคยลงโทษอะไร อีกทั้งเป็นสิ่งที่ตนต่อสู้ด้วยความถูกต้อง ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ จะไปฟ้องร้องต่อศาล ก็เป็นสิทธิ์ที่จะดำเนินการได้ แต่วิธีการต่อสู้ของกระทรวงกลาโหม คือตอนนี้ได้ปลดนายอภิสิทธิ์ ออกแล้ว และจะมีผลกระทบทางการเมืองหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของทางการเมือง และเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร


"สายตรงภาคสนาม" บิดเบือนข่าว

สื่อฯ ฉุน "สายตรงภาคสนาม" บิดเบือนข่าวผิดจากข้อเท็จจริง ให้เผยตัวอย่าอีแอบ!

วันที่ 21 ธันวาคม 2555 (go6TV)สื่อมวลชนภาคสนามตัวจริงเดือด!หลังจากเพจสายตรงภาคสนามนำเสนอข่าวโดย “เขียนข่าวผิดไปจากข้อเท็จจริง” ทำให้สถาบันสื่อสารมวลชนเสื่อมเสีย และเรียกร้องให้เปิดเผยตัวออกมาทั้งหมดเพื่อสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ TPBS ผู้ใช้ไอดีว่า  Sataporn Pongpipatwattana   ได้เขียนข้อข้อความลงบนเฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงความสงสัยถึงเพจสายตรงภาคสนาม ซึ่งเชื่อว่ามีนักข่าวสื่อสารมวลชนตัวจริงบางสำนัก ไปทำเพจนี้จริง จึงเรียกร้องให้เปิดเผยตัวเพื่อยอมรับการตรวจสอบโดยมีข้อความดังนี้

“เรียน...แอดมินเพจ สายตรงภาคสนาม

หลังจากได้ติดตามข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น...ผมคงไม่มีความเห็นต่อกรณีของขวัญจับสลาก...เพราะ..ไม่อยู่ในเหตุการณ์

แต่ จากที่เคยเรียกร้องแต่แรกว่าคุณควรจะเปิดเผยตัวตนออกมา...เพราะ...อย่างผม หรือ นักข่าวคนอื่น หากทำผิด หรือเขียนข่าวผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีข้อโต้แย้ง....
ผู้ชม หรือ ประชาชน หรือผู้ที่ตกเป็นข่าว ผู้เสียหาย ก็สามารถร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้

อย่าง...กรณีที่ทำเนียบรัฐบาล ผมเข้าใจว่า นักข่าวทำเนียบจำนวนมาก บอกว่าคุณเสนอข้อมูลผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริง...แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ เพราะ "คุณ" ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนออกมา...และยังเขียนด้วยถ้อยคำรุนแรงอีกด้วย

เรียกร้องอีกครั้ง เปิดตัว เถอะครับ...เพื่อให้คนอื่นสามารถ "ตรวจสอบ" "คุณ" ได้บ้าง...แฟร์ดีมั้ยครับ


เพราะสมมติบังเอิญ...เกิดผมรู้ว่าคุณเป็นใคร บังเอิญไปเจอว่าคุณเคยเขียนหนังสือเชียร์พรรคการเมืองพรรคหนึ่งอย่างลึกซึ้ง หรือ บังเอิญพบว่า สมัยรัฐบาลที่แล้ว คุณไม่เคยตั้งคำถามตรวจสอบรัฐบาลเลย แต่กลับถามชงอยู่ทุกวัน....
หากบังเอิญเป็นเช่นนั้น "คนอื่นเขาจะได้ตรวจสอบจรรยาบรรณคุณบ้าง"

หลังจากนักข่าวท่านนี้ เขียนโพสท์ผ่านเฟสบุ๊คแล้ว  จากนั้น มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ดังนี้

ปล่อยตัว "ก่อแก้ว" แล้วหมดสมัยประชุมค่อยกลับมานอนคุกใหม่!

ปล่อยตัว "ก่อแก้ว" แล้วหมดสมัยประชุมค่อยกลับมานอนคุกใหม่!

           วันที่ 21 ธันวาคม 2555 (go6TV) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีการปล่อยตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีก่อการร้าย ว่า ขณะนี้ศาลอาญาได้รับหนังสือแจ้งจากนายเจริญ จรรย์โกมล  รองประธานสภาฯ เพื่อขอตัวนายก่อแก้วออกไปปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา131 วรรค 5 และขณะนี้ศาลได้ออกหมายปล่อยตัวนายก่อแก้วไว้เรียบร้อยโดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ 21 ธ.ค. และปล่อยตัวจนถึงวันที่มีการปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งนายก่อแก้วต้องมาอยู่ในการคุมขังของหมายศาลอาญาอีกครั้ง

       ทั้งนี้นายเจษฎา จันทร์ดี ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 6 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้ว จำเลยที่ 5  โดยอ้างเหตุผลว่าต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ

        ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่า มี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ.2555  วันที่ 21 ธันวาคม 2555 ศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยจำเลยที่ 5 ในระหว่างวันเริ่มประชุมรัฐสภา จนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้ว จึงให้ยกคำร้อง

       ล่าสุดบรรยากาศที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ หลังศาลอาญารัชดา อนุมัติคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายก่อแก้ว  เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในการเปิดสมัยประชุมสภา เป็นวันแรก สำหรับบรรยากาศบริเวณด้านหน้าเรือนจำนั้น มีกลุ่มแนวร่วม นปช. ทยอยเดินทางมารอคอยการปล่อยตัว

โกงทุเรศ! "รัฐบาลมาร์ค" ขายข้าวให้เมียรองหัวหน้าพรรคฯ


โกงทุเรศ! "รัฐบาลมาร์ค" ขายข้าวให้เมียรองหัวหน้าพรรคฯร่วม แค่ตันละ 5,400 บ.

ภรรยารองหัวหน้าพรรคมัชฺฌิมา เป็นที่ปรึกษาให้ รมต.พาณิชย์ ทุจริตขายข้าว โดยมี รองนายกฯ ไตรรงค์ และ นายกฯ อภิสิทธิ์ ให้ความเห็นชอบการทุจริตขายสต็อคข้าวกระทรวงพาณิชย์  อ้างข้าวดีขายเป็นข้าวเก่า จากราคาตลาด 12,800 บาท/ตัน ขายเหลือแค่ราคา  5,400 บาท/ตัน 

วันที่ 21 ธันวาคม 2555 (go6TV) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องของส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกรณีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์รวม 4 หน้ากระดาษ ระบุว่า การดำเนินการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลในช่วงปี 2552-2553 มีการดำเนินการเป็นความลับ ไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเพียงบางราย เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม มีการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบในการจำหน่ายโดยมิชอบ และจำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคาที่ควรจำหน่ายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือ ฮั้วประมูล และความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1 .เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2553 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมติกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยเห็นชอบในหลักการให้พิจารณาระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยให้ระบายไปยังตลาดต่างประเทศที่นอกเหนือตลาดปกติของผู้ส่งออกข้าว และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้พิจารณาจำหน่ายข้าวสารในรูปแบบจีทูจี ด้วยความระมัดระวัง มิให้กระทบต่อระบบตลาดครั้งละไม่เกิน 300,000 ตัน และจำหน่ายแก่เอกชนเพื่อการส่งออกจำนวนไม่เกิน 100,000 ตัน แล้วรายงานให้กขช.ทราบก่อนลงนามสัญญากับคู่สัญญาต่อไป

2 .เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 ครม.ได้มีมติรับทราบกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินการระบายข้าวตามโครงการแทรกแซงของรัฐบาลที่กขช.เสนอ และเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบาบข้าวกำหนดหลักเกณฑ์และกรอบยุทธศาสตร์ รวมถึงปริมาณการจำหน่ายด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะราคาตลาด และให้คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารเป็นผู้ดำเนินการและนำเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารพิจารณาอนุมัติ แล้วเสนอประธานกขช.หรือรองประธานกขช.พิจารณาให้ความเห็นสอบก่อนลงนามสัญญา โดยมีข้อสังเกตว่า มติครม. 29 มิ.ย.2553 ได้แก้ไขมติครม.วันที่ 18 พ.ค. 2553 ในประเด็นสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาล จากคณะกรรมการกขช. เป็นประธาน หรือรองประธานกขช.

3 .ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2553 ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวจากเดิม มาเป็นการให้เอกชนผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในปริมาณมาก ยื่นคำเสนอขอซื้อข้าวสารในสต็อกรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เนื่องจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ ในฐานะรองประธาน กขช. ระบุว่าการจำหน่ายข้าวในสต็อกต้องทำเป็นความลับ ทั้งนี้เมื่อเอกชนผู้ส่งออกข้าวยื่นคำขอซื้อแล้ว คณะทำงานพิจารณาระบายข้าวจะนำเสนอผลการเจรจาให้รมว.พาณิชย์อนุมัติแล้วเสนอรองประธาน กขช. ให้ความเห็นชอบ จากนั้นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศจะมีหนังสือแจ้งให้เอกชนที่ผ่านการพิจารณาเข้าทำสัญญากับอตก.หรืออคส. โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งออกข้าวไปต่างประเทศภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเอกชนเข้าทำสัญญาเพียง 9 ราย จากจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 317 ราย โดยที่ผู้ส่งออกรายอื่นไม่ได้รับสิทธิเป็นคู่สัญญาเนื่องจากไม่ทราบเรื่อง ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีปริมาณข้าวที่ระบายออกจากสต็อกจำนวน 4,126,656 ตัน คิดเป็นมูลค่า 53,070,216,395บาท

4 .ราคาจำหน่ายข้าวขาวชนิด 5% ที่จำหน่ายจากวิธีระบายข้าวดังกล่าว มีราคาเฉลี่ยตันละ 12,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดมากกว่า 10% และต่ำกว่าราคาที่ควรจะขาย โดยมีราคาต่างจากการระบายข้าวของรัฐบาลปัจจุบันตันละ4,300 บาท จึงก่อให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

5 .การที่กขช.และครม.กำหนดนโยบายระบายข้าวโดยปล่อยให้มีการใช้วิธีระบายโดยให้เอกชนที่มีคำสั่งซื้อในปริมาณมากยื่นคำเสนอขอซื้อในสต็อกรัฐบาล เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวสามารถเลือกช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ได้โดยง่าย แม้จะกำหนดให้เป็นการขายแบบจีทูจี แต่ท้ายที่สุดไม่ได้มีการขายแบบจีทูจี แต่ขายให้เอกชนในประเทศเพื่อส่งออกแทน นอกจากนี้ในการทำสัญญามีการจำหน่ายข้าวมากกว่าสัญญาละ 100,000ตัน ซึ่งไม่ตรงตามมติกขช.และมติครม. จึงเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจ

6 .พบว่าไม่มีการตรวจสอบคำสั่งซื้อข้าวของเอกชน เป็นผลให้เอกชนหลายรายที่เป็นคู่สัญญาไม่ส่งออกข้าวออกนอกประเทศภายในเวลาที่กำหนด มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 25% ของสัญญาส่งออกข้าว และมีการคืนหลักประกันเนื่องจากเอกสารการส่งออกไม่ครบถ้วน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

7 .มีการจำหน่ายข้าวให้กับหนองลังกาฟาร์ม โดยทำสัญญาในนาม น.ส.เสาวลักษณ์ เย็นใส โดยน.ส.เสาวลักษณ์เป็นลูกจ้างของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ โดยเมื่อได้รับข้าวสารแล้วได้นำส่งให้บริษัทกาญจนาอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นบริษัทของนางบุญยิ่ง โดยมีข้อสังเกตว่ามีการจำหน่ายในราคาถูกมากเพียง 5,400 บาท/ตัน ต่ำกว่าราคาที่ควรจำหน่ายได้ในราคาตันละ 12,800 บาท ซึ่งทำให้ขาดทุนไปถึงตันละ 7,400 บาท

มีข้อน่าสังเกตว่า บริษัท หนองลังกาฟาร์ม  มีกรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่  เป็นรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย  และนางบุญยิ่ง เป็นภรรยาของรองหัวหน้าพรรคฯ คนดังกล่าว  ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่  18 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นหลักฐาน

"เอกยุทธ" โบ้ยกรณีรุมยำ-ยิงปืนขู่ในร้านเกะ "ซวยเพราะทักษิณเป็นคนบงการ!"

"เอกยุทธ" โบ้ยกรณีรุมยำ-ยิงปืนขู่ในร้านเกะ "ซวยเพราะทักษิณเป็นคนบงการ!"

วันที่ 21 ธันวาคม 2555 (go6TV)  "เอกยุทธ" สติแตกโพสต์ด่า  "กูไม่กลัวมึง" จวก นสพ.ใหญ่หัวสี ขี้ข้า-ทาสเงิน ท้าพิสูจน์ความจริง  หลังจากข่าวและคลิปนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร และพวกรวม 6คน ก่อเหตุทำร้ายร่างกายและยิงปืนข่มขู่ในร้านคาราโอเกะ แพร่สะพัดไปทั่วทุกสื่อฯ
ปฏิกิริยาของนายเอกยุทธ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อเนื่องมาตั้งแต่เช้าวันนี้ โดยนายเอกยุทธ ได้เขียนโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า "ความซวยของคนที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลที่มีทักษิณเป็นคนบงการคือ..ฉี่ไม่ออกก็ถูกกล่าวหา..หมากัดกันก็บอกว่าสั่ง..คนอยากดังก็เอามาแถลงได้..ขออย่างเดียวให้ทักษิณได้เห็นว่าทำงานรับใช้จัดการคนที่ไม่ยอมเป็นขี้ข้า.. ความพยายามยัดข้อกล่าวหาก็ไม่ต่างอะไรกับที่เชียงใหม่ ที่ในที่สุดก็ไปไม่ถึงศาล เพราะกล่าวหาหลักลอยไร้หลักฐานและผิดหลักกฏหมาย มีแต่เพียงอำนาจที่ไว้กลั่นแกล้งให้ผมยุ่งหน่อยก็เท่่านั้น..คนไม่ผิดจะแกล้งอย่างไรก็ไม่ผิดครับ..เอาตามสบายเลยพวกสื่อและเจ้าหน้าที่ขี้ข้าทั้งหลาย.."

"กำลังรอดู"ข้อกล่าวหา"ของบรรดานักฉวยโอกาสทั้งหลาย..สนุกกันไปครับ..เดี๋ยวเจอข้อหาหมิ่นประมาทและมาตรา 157 ..ลุแก่อำนาจจนโดดลงมาเล่นเกมส์นี้กันเลย..เดี๋ยวก็คงเห่ากันทั้งพรรค.. เดิมทียังคิดว่านสพ.ใหญ่หัวสีไม่ได้ตกเป็นขี้ข้าและทาสเงิน..แต่ดูข่าวที่นั่งเทียนใช้วิญญาณของญาติผู้ใหญ่ของตนมาเขียนข่าวแล้ว ก็บอกได้คำเดียวว่า..ระยำของแท้ครับ..พวกนี้เขียนให้ควายกลายเป็นหมาและให้หมากลายเป็นเทวดาได้...555555" นายเอกยุทธโพสต์

ต่อไปนี้คือความเห็นของประชาชนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คของนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร มีทั้งชมเชย ให้กำลังใจและตำหนิการกระทำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง










แฉ! "มหกรรมโคตรโกงระบายข้าวรัฐบาลอภิสิทธิ์

แฉ! "มหกรรมโคตรโกงระบายข้าวรัฐบาลอภิสิทธิ์" เคส "หนองลังกาฟาร์ม"










“หนองลังกาฟาร์ม” นั้นเป็นใคร มาจากไหน????
"หนองลังกาฟาร์ม" จดทะเบียนจดตั้งบริษัทกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ประกอบกิจการเลี้ยงหมู อยู่ในจังหวัดราชบุรี มากว่า 15 ปี แบบไม่มีบทบาทางการเมือง
แต่ “หนองลังกาฟาร์ม” กลับกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทใน “โครงการระบายพืชผลทางการเกษตร ของกระทรวงพาณิชย์” ในสมัย”รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” ที่มี “พรทิวา นาคาศัย” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (พรรคร่วมรัฐบาล) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แทบทุกรายการ
โดยงานที่ “หนองลังการฟาร์ม” เข้าไปมีบทบาทก็คือ การระบายมันเส้น จำนวน 250,251.26 ตัน ซึ่งเอกชนที่ได้รับอนุมัติให้ เข้ามารับซื้อสินค้า จำนวน 3 ราย คือ หนองลังกาฟาร์ม และไพรสะเดาฟาร์ม จำนวน 7.4 หมื่นตัน และบริษัท กาญจนพันธ์ ฟาร์ม จำกัด จำนวน 175,989.92 ตัน รวมมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท ครั้งหนึ่งแล้ว
จากนั้น ฟาร์มหนองลังกาฟาร์ม ก็กลายเป็นเอกชนเพียงรายเดียว ที่ยื่นขอเสนอซื้อ “ข้าวสารเก่าในสต็อกรัฐบาล” ซึ่งประกอบด้วยข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ นาปี 2544/45 ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ชั้น 2 นาปีปี 2547/48 และข้าวขาว 25 เปอร์เซ็นต์ นาปรัง ปี 2548 โดยเสนอขอซื้อข้าวสารทุกชนิด ในราคา 5,400 บาทต่อตัน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2553
ให้หลังเพียง 1 วัน ก็มีการส่งเรื่องให้นางพรทิวา รับทราบในวันที่ 6 สิงหาคม 2553 และนางพรทิวา ได้อนุมัติให้มีการจำหน่าย ในวันที่ 9 สิงหาคม 2553 จากนั้นนำเสนอต่อไปยังนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) )ให้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553
ซึ่งถ้าคิดเอาว่า ขายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลได้ในราคา 12,000 บาทต่อตัน รัฐบาลควรได้กี่พันล้าน แต่นี่กลายเป็น เอาไปตีขายราคาถูก  จากตัวเลขทั้งหมด ก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า การระบายข้าวครั้งนี้ เฉพาะในส่วนของ “หนองลังกาฟาร์ม” ก็ทำให้สูญไปหลายหมื่นล้านบาท !!!
โดย “หลังฉาก” ความเสียหายมโหฬาร จากเหตุการณ์ระบายข้าวที่สวยหรู ครั้งนี้ Siamleaks พบตรวจสอบพบว่า “หนองลังกาฟาร์ม” เป็นบริษัท ในเครือบริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด ซึ่งมี “นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา” และ “นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
จุดสำคัญของเรื่องทั้งหมด อยู่ที่ “บุญยิ่ง นิติกาญจนา” นั้นได้รับการแต่งตั้งจาก “คณะรัฐมนตรี” ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั่งหัวโต๊ะเป็น “นายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ให้เป็น “ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พรทิวา นาคาศัย)”
ในส่วนของ “วิวัฒน์ นิติกาญจนา” นั้น ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลในทางการเมือง เพราะรู้จักกันในนาม “กำนันตุ้ย” มือขวา “สมศักดิ์ เทพสุทิน” หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา ใน “พรรคภูมิใจไทย”
โดยครั้งหนึ่ง “กำนันตุ้ย” คนนี้ เคยนั่งในตำแหน่ง “รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย” ที่มี “อนงค์วรรณ เทพสุทิน” ภรรยาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นหัวหน้าพรรค
นอกจากนี้ “วิวัฒน์” หรือ “กำนันตุ้ย” ยังเป็นสามีของ “บุญยิ่ง นิติกาญจนา” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วย !!!
พูดมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคนบอกว่า แล้วมันเกี่ยวข้องกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นและพรรคประชาธิปัตย์ ตรงไหน ???
คำตอบก็คือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่รับทราบกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินการระบายข้าวตามโครงการแทรกแซงของรัฐบาลที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอ และเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวกำหนดหลักเกณฑ์และกรอบยุทธศาสตร์ รวมถึงปริมาณการจำหน่ายด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะราคาตลาด และให้คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารเป็นผู้ดำเนินการและนำเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารพิจารณาอนุมัติ แล้วเสนอ ประธาน กขช. (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี)หรือ รองประธาน กขช. (ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี) พิจารณาให้ความเห็นสอบก่อนลงนามสัญญา
ซึ่งชัดเจนว่า “อำนาจ” ในการให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาล นั้นไม่ใช่เพียงแค่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” จาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่สามารถตัดสินใจได้ตามอำเภอใจ
แต่ทั้งหมด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี จาก “พรรคประชาธิปัตย์” ในฐานะประธาน กขช. และ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รองนายกรัฐมนตรี จาก “ประชาธิปัตย์” ในฐานะ “รองประธาน กขช.” รู้เห็นด้วยในทุกขั้นตอน !
จึงไม่น่าจะมีทางที่ “ประชาธิปัตย์” จะปล่อยให้ “ภูมิใจไทย” อิ่มหนำสำราญ ไปคนเดียวแน่ๆ !!!

เรื่องจริง หรืออิงนิยาย...

เรื่องจริง หรืออิงนิยาย...
ข้อมูลจาก - คุณ Saroche Glinrong เล่า ใน FB


             เรื่องจริง..จากอ่าวไทย....ผมเป็นกัปตัน เรือบรรทุกน้ำมัน แต่ไม่ขอบอกชื่อนะครับ 

             ขณะนี้เรือผมได้ทอดสมออยู่ที่หาดแหลมเจริญ เพื่อรอรับน้ำมันดีเซล

จากIRPCหรือTPIเก่าละครับ แต่เมื่อปตท.ได้ซื้อไปก็เปลี่ยนชื่อเป็นIRPC ผมรับน้ำมันเพื่อส่งไปที่เขมรและเวียดนาม

             เรื่อผมบรรทุกก๊าซLPGไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรือบรรทุกก๊าซ แต่ผมมีเพื่อนที่เป็นกัปตันเรือบรรทุกแก๊สLPGอยู่หลายคนพวกจะมารับ แก๊สLPGจากIRPCเพื่อไปส่งเขมรและเวียดนาม เหมือนผม เดือนละหลายเที่ยวเรือ ขณะที่ผมกำลังโพสอยู่นี่ก็มีเรือแก๊สรอรับอยู่ 3 ลำ

             ตั้งแต่ผมเดินเรือ มายังไม่เคยเห็นเรือแก๊สที่นำเข้าเลยแม้แต่ลำเดียว มีแต่เรือส่งออก ปตท. บอกได้นำเข้าแก๊ส มาจากต่างประเทศปีละเป็นล้านตัน แล้วเขาเอาเข้ามาทางไหนละครับ ถ้าทางเรือผมไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่เรือส่งออก ลองมาดูที่แหลมเจริญที่ระยองซิครับมีเรือมาคอยรับทุกวันละครับ เพื่อส่งไปเขมร เวียดนาม แล้วไอ้นักวิชาการด้านน้ำมันที่มาออกรายการตาสว่างนะครับ เขาเป็นอดีตคนที่ทำงานปตท. สิ่งที่เขาพูดนะ เป็นการแก้ต่างให้ทั้งนั้น

             ปตท. ได้ไปลงทุนในการวางท่อแก๊ส NGV จากมาเลเซีย และพม่า ตั้งหลายแสนล้านบาท ปตท.จึงต้องการให้คนไทยใช้ NGV เพราะก๊าซ NGV เขา มีกันทุกประเทศละครับ เขมรตอนนี้ก็เจอ ก๊าซ NGV อยู่หลายหลุม เวียดนามก็เจอ พม่าเขาก็มีเยอะ ทั่วโลกเขามีกันหมด ถ้าคนไทยไม่ใช่ NGV แล้ว ปตท. จะเอาไปขายใครละครับ ต้องบังคับให้คนไทยใช้ให้ได้ โอยอ้างว่าก๊าซNGVปลอดภัยกว่า 

             จริงๆ แล้วไม่ใช่หลอกครับ อันตรายพอๆ กันละครับ เพราะNGVเป็นก๊าซที่มีแรงดันสูง โอกาสที่จะระเบิดก็ยอมมีสูงตามไปด้วย ถ้ามันอยู่ในกระโปรงหลังรถ มันจะออกไปไหนละครับ มันก็จะระเบิดอยู่ที่ท้ายรถละครับ 


             ตอนนี้ยังไม่มีเรือลำไหนสามารถบรรทุกก๊าซ NGV ได้เลย เรือที่บรรทุกLPGไม่สามารถ บรรทุก NGVได้ เพราะNGV มีแรงดันสูงกว่าLPGหลายเท่า ปตท. เลยไม่สามารถส่งออกได้


             นอกจากมาหลอกขายคนไทย ตอนนี้โรงกลั่นเป็นของ ปตท. เกือบหมดแล้ว ปั้มน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั้นก็ต้องไปซื้อน้ำมันจาก ปตท. มาขายอีกที เลยต้องขายแพงกว่า ปตท. ปตท.ไม่ได้ช่วยอะไรคนไทยเลยนะครับ...

(กัปตัน..รักเมืองไทย)

แก้รัฐธรรมนูญ…เราจะอยู่กันอย่างไร?

TCIJ สัมภาษณ์ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’: แก้รัฐธรรมนูญ…เราจะอยู่กันอย่างไร?
Posted: 20 Dec 2012 01:42 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

           ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ชี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ระบุความขัดแย้งในสังคมไทย เพราะยังหากติกาการอยู่ร่วมกันไม่พบ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจชนชั้นนำมากเกินไป กีดกันชนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ ต้องเพิ่มอำนาจตรวจสอบแก่สังคม ทำให้อำนาจประชาชนมีความหมาย ถ้าทักษิณพ้นผิดก็เลี่ยงไม่ได้ เชื่อระยะยาวความขัดแย้งจะทุเลา ถ้าได้กติกาที่ทุกฝ่ายรับได้

           ประเด็นร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ หากสำรวจทัศนคติที่ผ่านมาของเขา คงเดาได้ไม่ยากว่าเขาคิดอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการช่วยคนไกลกลับบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ที่พร้อมจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ได้เสมอ มันจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

           แต่ดูเหมือนนิธิจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องหยุมหยิมนี้สักเท่าไร เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เรื่องของคนไกลบ้านเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของโครงสร้างการจัดสรรอำนาจทางการเมืองไทย ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยังไม่ลงตัว และไม่สอดรับกับการเกิดขึ้นของกลุ่มพลังใหม่ในสังคม ซึ่งก็คือชนชั้นกลางระดับล่าง ที่พึ่งพอใจกับนักการเมืองที่สามารถกระจายทรัพยากรของรัฐ ให้ตกถึงมือได้ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าการมาถึงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ทุกวันนี้ มองแบบผิวเผินอาจสรุปว่าเป็นเรื่องของความคิดต่างทางการเมือง แต่นิธิชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องของการพยายามแสวงหากติกาการอยู่ร่วมกันที่ทุกฝ่ายพอใจ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เกิดขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเลี่ยงได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไรและแก้ในส่วนไหน

สำรวจโครงสร้างความขัดแย้งของสังคมไทย และหนทางการสร้างกติกาผ่านมุมมองของนิธิ เอียวศรีวงศ์

สังคมไทยต้องการกติกาในการอยู่ร่วมกัน 


           นิธิกล่าวกล่าวในเบื้องต้นว่า การจะเข้าใจรัฐธรรมนูญปี 2550 และกระแสการสนับสนุน-คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ควรมองในแง่หลักการประชาธิปไตยหรือในแง่กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมองลงไปถึงโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทย

          นิธิฉายภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้เห็นว่า อดีต รัฐธรรมนูญหาได้มีความหมายมากมายเช่นปัจจุบัน ฉีกทิ้ง-ร่างใหม่ หมุนวนไปตามวัฏจักรของการรัฐประหาร ยิ่งในช่วงการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประพาส จารุเสถียร ประเทศไทยปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 12 ปี จวบจนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาสภาวะเช่นนี้จึงแปรเปลี่ยน สังคมไทยต้องการกติกาบางอย่างในการอยู่ร่วมกัน แม้ว่าผู้ร่างจะร่างตามใจชอบเพียงใด จะบิดเบี้ยวหรือเที่ยงตรง แต่อย่างน้อยก็จำเป็นต้องมีกติกา

          “ระบอบการปกครองที่จอมพลสฤษดิ์จัดเอาไว้ ที่จะมีผู้ถืออำนาจโดยไม่ต้องมีกติกาเลย เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว หลังจากที่ชนชั้นกลางและนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จในการเข้ามาขอส่วนแบ่งพื้นที่ทางการเมืองเพิ่มขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไล่พวกเขาออกไปอีก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการกลับไปสู่ระบอบการปกครองที่มีกองทัพเป็นผู้กำกับดูแลไปหมดทุกเรื่อง ฉะนั้น ความฝันที่จะกลับไปสู่ระบอบแบบนั้น สำหรับทหารที่ไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองเกินไปนักจะไม่มีใครคิดอีกแล้ว”

          ดังนั้นสิ่งที่สังคมกำลังทะเลาะถกเถียงกันอยู่เวลานี้จึงไม่ใช่การทะเลาะเกี่ยวกับตัวเอกสารรัฐธรรมนูญ แต่กำลังทะเลาะกันเกี่ยวกับข้อตกลงบางประการที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยจะยอมรับและอยู่ร่วมกันได้

‘ทักษิณ’ นายกฯอุดมคติของชนชั้นกลาง


           รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คือปฏิกิริยาจากสิ่งที่นิธิกล่าวข้างต้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากความคิดที่ไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบทหารเป็นใหญ่อีกต่อไป ผู้ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมีตั้งแต่นักธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง คนชั้นกลางคอปกขาว คนที่อยู่ในชนบทไม่ว่าจะในภาคเกษตรหรือภาคแรงงาน ถึงกระนั้น คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไว้ใจนักการเมือง

           “ถามว่านักการเมืองเหล่านี้มาจากไหน มองให้ดี ๆ จะพบว่าการเลือกตั้ง ตั้งแต่ประมาณปี 2520 กว่า ๆ เป็นต้นมา คนที่เข้ามาเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีคือกลุ่มคนที่เป็นเจ้าพ่อ เป็นนักธุรกิจต่างจังหวัดหรือเครือข่าย คนกลุ่มนี้แหละที่นักธุรกิจอุตสาหกรรม ขุนนาง ตุลาการ ทหาร และกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือไม่ค่อยไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกมาอย่างน่าสนใจ คือด้านหนึ่งพยายามสร้างกลไกกำกับไม่ให้นักการเมืองมีอำนาจมากนัก มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีการบังคับให้ต้องทำประชาพิจารณ์ มีการประกาศสิทธิชุมชนท้องถิ่น ทั้งหมดนี้คือกลไกในการคานอำนาจนักการเมือง ซึ่งที่จริงก็คือนักธุรกิจชนบทที่มาจากต่างจังหวัดนั่นเอง”

            รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนคาดหวังว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่ยอมรับได้ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็คือบุคคลคนนั้น นิธิกล่าวว่า ในช่วงแรก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการสนับสนุนสูงมากจากกลุ่มคนข้างต้น เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีที่ตรงตามอุดมคติ คือเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรม ที่อยู่ในเมือง ถึงกระนั้น ฐานคะแนนที่แท้จริงของพรรคไทยรักไทยกลับเป็นกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัด เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่ายคือทั้งนักธุรกิจอุตสาหกรรมในเมืองและกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัด

            “อย่าลืมนะครับว่าคุณทักษิณยอมเสียเงินในการกอบกู้ธุรกิจที่อยู่ในเมือง หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มากกว่าที่คุณทักษิณเอาไปลงทุนกับ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และอื่น ๆ อีก ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึงว่า เราเสียเงินให้แก่อุตสาหกรรมในเมืองมากกว่าที่คุณทักษิณเอาไปโปรยลงไปในต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป”

            อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ทำให้กลุ่มคนที่เรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ในสังคมไทยและมีจำนวนมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย รู้สึกพออกพอใจพ.ต.ท.ทักษิณ

ทักษิณสร้างศัตรู-จึงเลือกไว้ใจชนชั้นนำ


            ผลพวงจากนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนต่างจังหวัดและสมาชิกพรรค ที่เป็นเครือข่ายของธุรกิจในต่างจังหวัด ความแข็งแกร่งทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้อำนาจในการต่อรองของกลุ่มคนที่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 ลดลง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ และแปรเปลี่ยนเป็นคนกลุ่มนี้เป็นศัตรูทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ

            การแทรกแซงสื่อก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งของคนงานคอปกขาวยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ยาก เพราะเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คุกคามเสรีภาพของสื่อซึ่งถือเป็นอาวุธของคนกลุ่มนี้ นิธิกล่าวว่าคนงานคอปกขาวสามารถต่อรองทางการเมืองได้ ก็โดยอาศัยสื่อ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แทรกแซงสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสถานีวิทยุโทรทัศน์ไอทีวี จึงเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก ซึ่งในทัศนะของนิธิถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองต่อกลุ่มชนชั้นกลางคอปกขาว เมื่อผสมโรงกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตจำนวนมาก รัฐประหารปี 2549 จึงเกิดขึ้น

           “มีคนจำนวนไม่น้อยในกลุ่มอื่น ๆ ของสังคมไทยที่มองว่า ระหว่างชนชั้นนำที่กินหัวประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี กับนักการเมืองต่างจังหวัดที่กินแบบไม่อาย จะไว้ใจใครดี คำตอบคือไว้ใจชนชั้นนำมากกว่า”


รัฐธรรมนูญปี 50 จัดสรรอำนาจไม่ลงตัวคือที่มาของความขัดแย้ง


             รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงวางอยู่บนความไม่ไว้วางใจนักการเมือง ต้องการลดอำนาจของนักการเมืองลง และกันนักการเมืองออกไป แต่ถึงตอนนี้นักการเมืองต่างจังหวัด กลับได้ชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัดเป็นฐานเสียงเสียแล้ว โอกาสที่จะแพ้การเลือกตั้ง จึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงโอกาสที่จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งในสังคมไทยก็ยากมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญกับสภาพทางการเมืองของไทย จะไม่สอดคล้องกันเพียงใด ในความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจในเมือง ข้าราชการ ทหาร คนงานคอปกขาว และกลุ่มแรงงาน กลับรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถจัดดุลอำนาจได้เหมาะสมที่สุด คือไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ติดอาวุธนานาชนิดในการกำกับนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งดูเป็นการแบ่งอำนาจที่ลงตัวพอดี

             “แต่ถามว่าลงตัวจริงหรือไม่ เมื่อจำนวนคนที่สนับสนุนนักการเมืองต่างจังหวัด คือพวกคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าเขาจะเลือกใครก็ได้นะครับ แต่ต้องเป็นนักการเมืองต่างจังหวัดที่จะกระจายทรัพย์สินของรัฐลงไปยังต่างจังหวัดด้วย คนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะมาก ผมจึงคิดว่ายังไม่ลงตัว มันจึงทะเลาะกัน แต่ที่มันลงตัวจะเป็นการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่หรือไม่ ผมไม่ทราบ”

            นิธิขมวดให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเวลานี้ ก็คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่คิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 คือจุดที่ลงตัวที่สุด สำหรับการจัดสรรอำนาจ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าอำนาจไม่ได้ถูกจัดสรรอย่างสมดุลและอยากจะแก้ให้เกิดสมดุล

ฟันธงต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 50 เพราะสงวนอำนาจให้ชนชั้นนำ


            “ปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คนส่วนใหญ่มองเห็นคือการสงวนอำนาจไว้กับกลุ่ม ที่อาจเรียกได้ว่าชนชั้นนำ ที่ประกอบไปด้วยขุนนาง กองทัพส่วนหนึ่ง และข้าราชการฝ่ายตุลาการไว้ค่อนข้างสูงมาก”

            การสงวนอำนาจดังกล่าว สะท้อนผ่านการให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้กำหนด และคัดเลือกคณะกรรมการองค์การอิสระและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

            เมื่อถามตรง ๆ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิธิออกตัวก่อนว่า

            “ประการแรกคือผมมีอคติ ผมเข้าข้างฝ่ายชนชั้นกลางระดับล่าง เหตุดังนี้ผมจึงเห็นว่าควรแก้และต้องแก้ ประเด็นที่ 2 คือ แล้วจะแก้อย่างไร”

ต้องสร้างกลไกทางสังคมตรวจสอบรัฐบาล อย่าหวังพึ่งแต่องค์กรอิสระ


             นิธิวิเคราะห์รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการสร้างฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลที่เข้มแข็ง เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ข้อผิดพลาดประการสำคัญ ในเชิงหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือการไว้วางใจให้การกำกับควบคุมฝ่ายบริหารอยู่ในมือองค์กรอิสระมากเกินไป แม้ว่าองค์กรอิสระจำเป็นต้องมี แต่ผู้ที่จะควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ดีที่สุดคือสังคม นิธิคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ให้อำนาจสังคมไว้น้อยเกินไป เมื่อองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ ล่มสลายลงในยุครัฐบาลทักษิณ จึงไม่เหลือกลไกใด ๆ ไว้ตรวจสอบ กำกับ ควบคุมรัฐบาลอีกเลย

            “รัฐบาลที่รัฐธรรมนูญปี 2540 อยากเห็นคือรัฐบาลที่มีอำนาจมากพอจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำนโยบายได้โดยไม่ต้องต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กต่างๆ ปรากฏว่าพอได้รัฐบาลที่เข้มแข็งจริงอย่างที่ต้องการ กลับเลยเถิดจนองค์กรอิสระก็ควบคุมไม่ไหว”

ทำอำนาจประชาชนให้มีความหมาย


             ส่วนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ควรถูกนำกลับมาในมุมมองของนิธิ คือเนื้อหาว่าด้วยการได้มาขององค์กรอิสระและวุฒิสภา ที่จะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน

             นิธิยังเห็นว่าควรมีการกำหนดระยะเวลา และบทลงโทษที่ชัดเจน ในการออกกฎหมายลูก ที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลละเลยสิ่งนี้ เช่น ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาลทันที เป็นต้น เหล่านี้ยังไม่นับเหลี่ยมคูต่าง ๆ ของนักการเมืองที่มักใช้ยื้อร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ ซึ่งทำให้อำนาจที่ประชาชนได้รับมาไร้ความหมาย

             “ผมอยากให้คนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ ศึกษาประสบการณ์ของคนไทยที่ผ่านมา กับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ให้ดี เพราะอำนาจที่ให้ประชาชนเอาไว้ มันไม่มีความหมายเยอะมาก”

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-ระบุอำนาจให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ


             นอกจากการเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้แก่สังคม และทำให้อำนาจของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรต้องปฏิรูป 3 สถาบันหลักในสังคม หนึ่ง-ปฏิรูประบบตุลาการ สอง-ปฏิรูปกองทัพ และสาม-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นิธิขยายความว่า

            “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือต้องกำหนดพระราชอำนาจที่ชัดเจนว่าคืออะไร อย่าทิ้งให้คลุมเครือเป็นอันขาด อำนาจตามกฎหมายจริง ๆ ของสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ส่วนจะใช้อำนาจทางวัฒนธรรมอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

            นิธิยกตัวอย่างความคลุมเครือจากคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งแต่เดิมใช้คำว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย’ วรรคและตามด้วย ‘มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ เมื่อเชื่อมสองประโยคนี้เข้าด้วยกัน ความหมายจึงเปลี่ยนเป็นว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เหมือนกับที่อื่น คำถามคือประโยคนี้แปลว่าอะไร

             นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ประโยคนี้ทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นว่า มีระบอบการปกครองชนิดใหม่ขึ้นที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

            “เมื่อไม่กี่วันนี้อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วระบบ Constitution Monarchy ถ้าดูจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก็อาจจะเป็นระบอบการปกครองอีกชนิดหนึ่งเหมือนกันที่ไม่ได้สืบทอดมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แล้วก็เสื่อมลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้ามองในรูปนี้ คำถามที่ตามมาทันทีคือว่า แล้วระบอบการปกครองของไทยกับสแกนดิเนเวียเหมือนกันหรือไม่

            “ถ้าบอกว่าเป็นส่วนหนึ่ง ก็หมายความว่าระบอบการปกครองของไทยกับสแกนดิเนเวียเหมือนกัน แต่นี่ไม่เหมือน ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าที่ใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อทำให้เกิดอำนาจการนิยามใหม่ (เน้นเสียง) เหตุดังนี้จึงอาจจะขอพระราชทานอำนาจในมาตรา 7 เป็นครั้งเป็นคราว ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็ได้ นี่คืออำนาจในการนิยาม” นิธิกล่าว

เพราะกระบวนการยุติธรรม สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย


             ส่วนการปฏิรูปสถาบันตุลาการ นิธิขยายความโดยเอ่ยถึงภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบว่า การที่กระบวนการยุติธรรมไทยดำรงอยู่ได้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน หัวใจสำคัญอยู่ที่กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถจัดการกับกระบวนการยุติธรรมได้ตามอำนาจที่ตนเองมีอยู่

             “ถ้าคุณมีอำนาจน้อย คุณก็จัดการได้น้อย ลักษณะการกระจายอำนาจการใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมมันสะท้อนอำนาจความเป็นจริงของสังคมไทย คำพูดง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้กันอยู่คือ รวยซะอย่าง ไม่ติดคุกหรอก จริงหรือไม่ จริง ซึ่งถ้าจริงก็แปลว่า เราให้ความรวยแก่คนที่มีอำนาจ แล้วเราก็ให้อำนาจแก่คนที่รวย”

            สิ่งนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ทุกคนจึงพอใจที่จะกล่าวว่า ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย เพราะสามารถหลบหนีกฎหมายได้ ตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีเงินและอำนาจ

            คำถามก็คือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยน การจัดการกับกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบในแบบเดิมจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ นิธิคิดว่าไม่ได้ และนี่คือเหตุผลที่พบว่า เวลานี้ กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ตำรวจ ศาล ไปจนถึงเรือนจำ กำลังถูกตั้งคำถามตัวใหญ่ เพราะยังมีคนที่ไม่มีเงินและอำนาจที่ต้องการกระบวนการยุติธรรมอีกชนิดหนึ่งที่ไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย

            แม้จะดูเหมือนว่าการปฏิรูปสถาบันทั้ง 3 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่หากไม่นับสถาบันกษัตริย์แล้ว นิธิเชื่อว่า การที่สถาบันตุลาการและทหารจะดำรงอยู่ได้ ต้องเกิดจากการยอมรับของสังคม เมื่อใดที่สังคมตั้งคำถามต่อสถาบันทั้งสองนี้มากขึ้น ๆ นิธิเชื่อว่าในที่สุด ทั้งสองสถาบันนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแม้จะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

รัฐบาลดัน สสร. หวังผ่านประชามติ


             เมื่อต้องแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ว่าจะเปิดให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมได้อย่างไร จุดนี้นิธิกล่าวว่า ประเทศไทยปัจจุบันนี้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกทั้งในทางการเมือง นิธิคิดว่าพรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องให้มี สสร. เพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากพอในการลงประชามติ ถ้าผ่าน รัฐบาลก็จะใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการ สสร. ไม่ใช่การแก้ไขทีละมาตรา เมื่อถึงจุดนั้นก็ไม่มีใครสามารถคัดค้านได้อีกต่อไป แม้แต่อำนาจนอกระบบ ซึ่งส่วนนี้นิธิมองว่าเป็นเรื่องของเกมการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเดินเกม

            อย่างไรก็ตาม ความวิตกของสังคมก็คือถึงที่สุดแล้ว สสร. อาจเป็นเพียงร่างทรงของนักการเมือง นิธิกล่าวว่า

            “ยังไง ๆ คุณก็ต้องมี สสร. เมื่อตอนปี 2540 มีความเชื่ออย่างหนึ่งในการเลือกตั้งวุฒิสภาว่า ถ้าจัดเขตเลือกตั้งให้เป็นจังหวัดก็ยาก ที่จะมีพรรคการเมืองหรือเจ้าพ่อคนใดคนหนึ่งคุมได้ทั้งจังหวัด ซึ่งปรากฎว่าไม่จริง ความคิดแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อาจจะผิดพลาด เพราะประเมินกำลังเจ้าพ่อผิด ก็คิดใหม่สิครับ เช่น แทนที่จะเลือกทั้งจังหวัด คุณเสนอมา 100 รายชื่อ แล้วให้เลือกทั้งประเทศ เป็นต้น อุปสรรคมันมี แต่มันคิดวิธีแก้ได้”

            นิธิเชื่อว่า ถ้าสสร.มีจำนวน 100 คน เต็มที่ที่คนของพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาได้น่าจะไม่เกิน 25 คน จะเห็นได้ว่า สสร. น่าจะมีความหลากหลายค่อนข้างมาก และ สสร. เองก็จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องลงมติ ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สสร. จึงไม่สามารถฝืนเขียนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ยอมรับได้

            “ส่วนวิธีที่สังคมจะกดดัน เพื่อสอดแทรกเนื้อหาที่ตนต้องการ ก็ทำอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่บทความในหนังสือพิมพ์ ไล่ไปจนถึงการชุมนุม ทำไปเลย แทนที่จะประท้วงกับรัฐบาลก็ประท้วงกับ สสร. แทน ซึ่งผมคิดว่า สสร. อ่อนไหวกว่ารัฐบาล เพราะสุดท้ายต้องลงประชามติว่ารับหรือไม่รับ”

แก้บทเฉพาะกาลทำทักษิณพ้นผิด เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้


            ประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุด ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและอาจลุกลามเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่คือ หมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ และการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศโดยไม่มีความผิด แน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่แตะต้องประเด็นแรก แม้จะเป็นประเด็นที่นิธิคิดว่าควรต้องปฏิรูป แต่ประเด็นที่สองรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธ

            นิธิมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เลี่ยงที่จะไม่ยุ่งกับการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ เพราะบทเฉพาะกาล มาตรา 309 ระบุให้การกระทำทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ายกเลิกมาตรานี้เมื่อใด ย่อมเท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณจะพ้นผิด ซึ่งนิธิคิดว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่แตะต้องบทเฉพาะกาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไร้ความหมาย

            “ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่นักกฎหมายอาจจะบอกว่าไม่หลุดก็ได้ เพราะมีคำพิพากษาแล้ว แต่คำพิพากษาที่มาจากคำฟ้องซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังจะดำรงอยู่หรือเปล่า” นิธิตั้งคำถาม

นิธิเชื่อมีเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์พาทักษิณกลับบ้าน


             นิธิประเมินว่า จะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังที่คิด โดยให้เหตุผลว่า หากจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพ่วงด้วยการปลดบ่วงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจากับทุก ๆ กลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ นักธุรกิจอุตสาหกรรม หรือกลุ่มข้าราชการ

             “ผลประโยชน์ของพวกคุณผมจะไม่แตะ แต่ครั้งนี้ขอเรื่องนี้เรื่องเดียว จะแลกกับอะไร นี่คือวิธีวิเคราะห์และแก้ปัญหาของนักการเมือง ที่ไม่ได้ยึดหลักการ แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปมองว่าจะไปไม่รอด มันจะไปไม่รอดถ้าไม่สามารถเจรจากันได้ ไม่มีวันที่คุณจะเจอรัฐบาลไทยที่ไม่คอยเอาใจกลุ่มขุนนาง ทหาร ตุลาการ ไม่มีหรอก อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องไม่เหยียบแข้งเหยียบขากัน แม้แต่คุณทักษิณเอง” นิธิวิเคราะห์

             อย่างไรก็ตาม นิธิเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถสร้างดุลแห่งอำนาจที่ทุกคนยอมรับได้ และถูกทดลองใช้ไปสักระยะหนึ่ง ความขัดแย้งในสังคมน่าจะทุเลาลง แต่ก็อาจต้องแลกด้วยความไม่ชัดเจนในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา เป็นเพราะ...

       “รัฐธรรมนูญที่จะผ่านได้จากคนทุก ๆ กลุ่มในสังคมต้องคลุมเครือ” คือข้อสรุปของนิธิ