วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

พล.อ.ประยุทธ์ไว้อาลัย ลี กวนยู-ชี้คนทำงานหนักมักตายเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปาฐถาพิเศษเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 ตอนหนึ่งกล่าวแสดงความเสียใจต่อข่าวอสัญกรรมของลี กวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเสียใจต่อข่าวอสัญกรรม 'ลี กวนยู' ชี้คนทำงานหนักมักตายเร็ว "ผมเองไม่รู้จะอยู่ถึงท่านหรือเปล่า" เผยรอทางการสิงคโปร์ยืนยันเชิญเข้าร่วมพิธีไว้อาลัย
23 มี.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดเผยว่า ได้เลื่อนภารกิจการเดินทางเยือนสิงคโปร์ออกไปก่อน และได้แสดงความเสียใจต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ไปแล้ว และต้องรอทางการสิงคโปร์ยืนยันการเชิญเข้าร่วมพิธี ขณะที่ยังคงยืนยันการเดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามเช่นเดิมในระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม
ขณะที่ มติชน รายงานว่า ในตอนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงข่าวอสัญกรรมของลี กวนยู ว่า "ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู แห่งประเทศสิงคโปร์ ท่านป่วยมาเป็นระยะเวลายาวนานก็เป็นกำลังใจมาโดยตลอด ท่านทำงานหนัก อายุท่าน 90 กว่าปี น่าจะอยู่ได้อีก แต่คนทำงานหนักมักตายเร็ว ผมเองก็ไม่รู้จะอยู่ถึงท่านหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ก็มึนไปหมด งง"

แอมเนสตี้ สำนักงานใหญ่ ออกปฏิบัติการด่วนส่ง จม.ถึงทางการไทย กังวลเสี่ยงทรมานผู้ถูกคุมตัว

สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2558
โดยปฏิบัติการด่วนถึงสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าขณะนี้ ชายสองคน คนได้แก่ นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณและนายวสุ เอี่ยมละออ ที่ถูกทหารควบคุมตัวเสี่ยงต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย
ส่วนชายอีกสี่คน ได้แก่ ได้แก่ นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข ซึ่งในขณะนี้อยู่ในเรือนจำของพลเรือนได้กล่าวหาว่า พวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และต้องการให้มีการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่เป็นอิสระ
------------------------------------------------------
(คำแปลโดยละเอียด)
ปฏิบัติการด่วน
ผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน
ชายสองคนที่ถูกทหารควบคุมตัวเสี่ยงต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ส่วนชายอีกสี่คนซึ่งในขณะนี้อยู่ในเรือนจำของพลเรือนได้กล่าวหาว่า พวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และต้องการให้มีการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่เป็นอิสระ
ชายทั้งสองคนได้แก่ นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณและนายวสุ เอี่ยมละออ ซึ่งเชื่อว่าถูกทหารควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 กรณีระเบิดด้านนอกของอาคารศาลอาญาที่กรุงเทพฯ พวกเขาเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ส่วนชายอีกสี่คนได้แก่ นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข กล่าวว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายระหว่างถูกทหารควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และไม่มีการตั้งข้อหา ในช่วงวันที่ 9 ถึง 15 มีนาคม ปัจจุบันทั้งสี่คนถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต้องการให้มีแพทย์อิสระเข้ามาตรวจร่างกายและรักษาอาการบาดเจ็บ
ชายทั้งสี่คนแจ้งต่อทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า พวกเขาถูกจี้ด้วยไฟฟ้า ถูกชก ถูกเตะที่ศีรษะ ที่หน้าอกและที่หลัง และถูกขู่จะทำร้ายระหว่างการสอบปากคำเพื่อรีดข้อมูล โดยหนึ่งในสี่มีร่องรอยบาดเจ็บอย่างชัดเจนบนหน้าอก และรอยจากการจี้ไฟฟ้าที่ต้นขา 
พวกเขาเป็นผู้ถูกควบคุมตัวส่วนหนึ่งจากจำนวน 15 คนที่ถูกทหารควบคุมตัวไว้ตามกฎอัยการศึก โดยเป็นการควบคุมตัวในสถานที่ลับ หลังเกิดเหตุโยนระเบิดมือใส่ลานจอดรถของศาลอาญากรุงเทพฯ ในช่วงคํ่าของวันที่ 7 มีนาคม
กรุณาเขียนจดหมายโดยทันทีเป็นภาษาอังกฤษ ไทย หรือภาษาของท่านเอง
• แสดงข้อกังวลต่อทางการเกี่ยวกับรายงานว่านายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุขตกเป็นเหยื่อการทรมานและถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และกระตุ้นทางการไทยให้ประกันว่าจะไม่ทรมานนายสุรพล เอี่ยมสุวรรณและนายวสุ เอี่ยมละออ และให้มีการนำตัวไปฝากขังในเรือนจำของพลเรือน
• กระตุ้นให้ทางการสั่งการให้หน่วยงานพลเรือนดำเนินการสอบสวนโดยพลัน อย่างไม่ลำเอียง เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ ต่อรายงานที่ระบุว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเกิดขึ้น ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งผู้สั่งการหรือผู้บังคับบัญชาอื่น
• กระตุ้นให้ทางการอนุญาตให้นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายวิชัย อยู่สุข และผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงครอบครัว ทนายความ ศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ และ

แพทย์อิสระตามที่ตนเลือกได้อย่างเต็มที่และไม่มีการปิดกั้น และกำหนดให้มีหลักประกันทางกฎหมายและการบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว
กรุณาส่งจดหมายก่อนวันที่ 30 เมษายน 2558 ไปยัง
พลเอก อุดมเดช สีตบุตร
ผู้บัญชาการทหารบก
กองบัญชาการกองทัพไทย 127 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรสาร +66 2 618 2538
คำขึ้นต้นจดหมาย: เรียน พลเอก
พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตึก 1 ชั้น 7 ถนนพระราม 1 แขวง วังใหม่ เขต ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรสาร +66 2 618 2538
คำขึ้นต้นจดหมาย: เรียน พลตำรวจเอก
และสำเนาจดหมายไปที่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา
120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรสาร +66 2 953 0503
ข้อมูลเพิ่มเติม
นายชาญวิทย์ จริยานุกูล อายุ 61 ปี นายนรภัทร เหลือผล อายุ 40 ปี นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อายุ 63 ปีและนายวิชัย อยู่สุข อายุ 49 ปี ถูกกองทัพไทยควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2558 พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ของกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ส่งตัวไปยังตำรวจเมื่อวันที่ 16 มีนาคม
บุคคลทั้งสี่ถูกควบคุมตัวตามอำนาจของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ทั่วประเทศไทยภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งให้อำนาจกองทัพในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวในที่ลับและไม่มีหลักประกันใด ๆ เชื่อว่าที่ผ่านมามีการควบคุมตัวบุคคลจำนวนมากเกินระยะเวลาที่กำหนด และทางการยังได้ปฏิเสธว่าไม่มีการควบคุมตัวบุคคล แต่ในเวลาต่อมามีการยอมรับโดยอ้างว่าเป็นการ “เชิญตัวเพื่อมาพูดคุย”
มีบุคคลจำนวน 15 คนที่ถูกควบคุมตัวเชื่อมโยงกับกรณีการโยนระเบิดใส่ที่จอดรถศาลอาญากรุงเทพฯ ในช่วงคํ่าวันที่ 7 มีนาคม และมีข้อกล่าวหาว่ามีแผนการวางระเบิดในที่อื่น ๆ อีกหลายจุดในกรุงเทพฯ ในบรรดาผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ได้แก่ นส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ซึ่งถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมและถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ลับโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลาหกวัน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมตัวเธอไว้ ก่อนจะมีการส่งตัวไปให้กับตำรวจ และมีการตั้งข้อหาก่อการร้ายและปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว
การปฏิบัติต่อนายชาญวิทย์ จริยานุกูลและชายอีกสามคน มีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกกองทัพควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก การทรมานที่เกิดขึ้นมีทั้งการทุบตี การขู่สังหาร การจำลองการสังหาร และการพยายามทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นขณะที่เหยื่อถูกคลุมศีรษะและปิดตา และใช้เทปกาวรัดเอาไว้ รวมทั้งมีการมัดมือและเท้าเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ ในบางกรณีมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก
การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นข้อห้ามโดยสิ้นเชิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture) ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องห้ามและป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไม่ว่าในพฤติการณ์ใด ๆ ข้อห้ามดังกล่าวมีลักษณะเบ็ดเสร็จไม่อาจยืดหยุ่นได้แม้ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานในไทย ประเทศไทยส่งสัญญาณที่จะยุติการกระทำดังกล่าว โดยการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินงานไม่มากนักเพื่อยุติการกระทำดังกล่าว ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดยังคงลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาว่ายังมีการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางต่อผู้ถูกควบคุมตัวในไทย รวมทั้งผู้ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยผู้ควบคุมตัวเป็นทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ คณะกรรมการต่อต้านการทรมานเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายความมั่นคง เพื่อประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาตามกฎหมายความมั่นคง จะต้องถูกนำตัวไปยังศาล และได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัวของตนเอง ทนายความ และแพทย์ที่เป็นอิสระ และมีการร้องขอให้ทางการไทยให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับมาตรการที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่เร่งด่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งข้อเสนอแนะที่ไม่ให้มีการบังคับบุคคลให้ต้องให้การเป็นปรปักษ์กับตนเองหรือบุคคลอื่น หรือต้องรับสารภาพผิด และต้องไม่นำคำรับสารภาพเช่นนั้นมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล เว้นแต่ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย

นิสิต ม.เกษตร ร้องไห้หนักมาก สวมหน้ากากขาวโปรยใบปลิวค้าน ม.นอกระบบ

หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างฯ ดังกล่าว และขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.(อ่านรายละเอียด) จากนั้น เมื่อวันที 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่บริเวณในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และรั้วฝั่งงามวงศ์วาน บางเขน พบป้ายผ้าและป้ายกระดาษที่มีข้อความในลักษณะการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้(23 มี.ค.) Thai PBS News รายงานว่า กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เตรียมรวบรวมรายชื่อนิสิต และคณาจารย์ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสัปดาห์นี้ สำหรับการแสดงออกนอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความตื่นตัวทุกวัน
ตัวแทนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "นิสิต ม.เกษตร ร้องไห้หนักมาก" สวมหน้ากากขาวโปรยใบปลิวคัดค้านร่างกฎหมาย­มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมแจกเอกสารเชิญชวนให้นิสิตคนอื่นๆร่วม­กันคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออก­นอกระบบ
ขณะที่ตัวแทนนิสิตกลุ่มนี้ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่เคยชี้­แจงหรือสอบถามความเห็นจากประชาคมเสียงส่วน­ใหญ่ของมหาวิทยาลัยในความพยายามออกนอกระบบว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร แม้จะอ้างการบริหารงานที่มีความอิสระ คล่องตัว แต่นิสิต และคณาจารย์บางส่วนกลับกังวลว่า การบริหารจัดการงบประมาณของมหาวิทยาลัยอาจ­ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุนและอาจมีผลให้อัตลัก­ษณ์ของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ตัวแทนนิสิตยังกล่าวอีกว่า จากนี้จะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสร้างความตื่นตัวทุกวันและจะรวบรวมรายชื่อนิสิต คณาจารย์ เพื่อคัดค้านเรื่องนี้ส่วนจะเดินทางไปพบ สนช.หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์

เลื่อนนัดตรวจพยานคดีชายชุดดำอีกเป็นรอบที่3หลังขังยาว7เดือน ไม่ได้ประกัน


Tue, 2015-03-24 09:05

อัยการขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน อ้างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีก่อการร้ายจากอธิบดี DSI ญาติโอด ขังมา 7เดือน ไม่ได้ประกันตัว ถามทำไมคดีใหญ่ถึงให้ประกัน ชี้ทหารแถลงข่าวบิดเบือน

23 มีนาคม 2558 เวลา 13.30 น.  ศาลอาญารัชดาฯ ห้อง 906  ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชายชุดดำ 10 เมษายน 2553  ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์  สุ่มศรี(อ้วน) อายุ 45 ปี นายปรีชา อยู่เย็น(ไก่เตี้ย)อายุ 24 ปี  นายรณฤทธิ์ สุริชา (นะ) อายุ 33 ปี นายชำนาญ ภาคีฉาย (เล็ก) และ นางปุนิกา ชูศรี (อร) จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน ร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ 2490 และพกพาอาวุธไปในที่ชุมชนฯ
       
โดยวันนี้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางเดินทางมาร่วมกระบวนการพิจารณาคดี  โดยพนักงานอัยการได้แถลงต่อศาลว่าขอให้เลื่อนการนัดตรวจหลักฐานออกไปก่อน เนื่องจากในวันนี้ทางพนักงานไม่ได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาดจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เนื่องจากในคดีดังกล่าวได้มีความเห็นแย้งระหว่างอัยการที่เห็นควรไม่สั่งฟ้องห้าผู้ต้องหาในคดีก่อการร้ายซึ่งขัดกับใความเห็นของเจ้าพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  ซึ่งมีความเห็นว่าเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในข้อหาก่อการร้าย สำนวนการสอบสวนเบื้องต้น  โดยพนักงานอัยการ  เห็นควรฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เท่านั้น
     
ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายเเล้วต้องรอให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้ขาดว่าจะฟ้องในข้อหาดังกล่าว ตามที่ตามที่เจ้าพนักงานสอบสวนเสนอมาหรือไม่
       
ศาลพิจารณาเเล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ออกไปเป็นวันที่ 20 เม.ย. 2558 เวลา 09.00 น. พร้อมกำชับให้อัยการนำคำวินิจฉัยชี้ขาดจาก อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาให้ได้ทันในวันดังกล่าว เนื่องจากมีการเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว

เมื่อถามเรื่องการอประกันตัว  ธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า  ตอนนี้อยู่ในระหว่างการหาหลักทรัพย์มาเพื่อขอประกันตัว โดยการประกันครั้งที่ผ่านมา ญาติผู้ต้องขังได้ยืนเงินประกัน 500,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีอุกฉกรรฉ์ มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี


ในระหว่างการพิจารณาคดี  ได้มีครอบครัวของผู้ต้องขังได้มาเฝ้ารอผลการพิจารณาที่หน้าห้อง   น้องสาวของ ปุนิกา  ชูศรี (อร) ได้กล่าวหลังจากทราบว่าต้องมีการเลื่อนการนัดสืบพยานไปอีกนัดว่า ตัวเองรู้สึกผิดหวังกับความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดีเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นการเลื่อนเป็นครั้งที่ 3  ผู้ต้องขังถูกขังมานาน 7เดือน 10วัน แล้ว   เธอได้ชี้ไปที่บุตรของ ปรีชา อยู่เย็น (จำเลยที่2 )ที่นอนหลับอยู่บนเก้าอีก ว่าภรรยาของปรีชาต้องหอบหิ้วลูกเล็กทั้งสองลงมาจากเชียงใหม่  ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการทำงาน  เธอยังได้กล่าวอีกว่า  ผู้ต้องขังทั้งหมดมีฐานะยากจน ในการเลื่อนการพิจารณาออกไปในแต่ละครั้งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้ต้องหา โดยเฉพาะผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างจังหวัด ถ้าศาลยอมให้ประกันตัวได้ถึงมีการเลื่อนพิจารณะคดีออกไป ครอบครัวผู้ต้องหาก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก

เธอสงสัยว่าทำไมคดีขอนแก่นโมเดลหรือคดีของ กปปส.ศาลถึงให้ประกันตัว

เธอยังได้กล่าวอีกว่า กระบวนการในการควบคุมตัวไปแถลงข่าวของทหารก็มีความบิดเบือน เนื่องจากพี่สาวของเธอ (นางปุนิกา) ได้ไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก  แต่ทหารได้นำพี่สาวของเธอไปแถลงข่าวว่าได้ถูกเข้าดำเนินการจับกุม

หลากทัศนะสื่อต่างชาติต่อ 'ลี กวนยู' และอนาคตของสิงคโปร์


สิงคโปร์ เป็นรัฐน่าสนใจในแง่การเปลี่ยนผ่านจาก 'โลกที่ 3' สู่ 'โลกที่ 1' ได้อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนคนจำนวนมากจะให้เครดิต 'ลี กวนยู' ผู้ล่วงลับ แต่ภาพที่ดูสวยหรูของสิงคโปร์ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเช่นที่เห็น และอนาคตของประเทศที่ไม่ได้มีตัวเขาอยู่อีกแล้วจะเป็นอย่างไร
23 มี.ค. 2558 - หลังการเสียชีวิตของ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ มีสื่อต่างชาติเป็นจำนวนมากรายงานเกี่ยวกับชีวิตของเขาในฐานะผู้นำคนสำคัญที่มีบทบาทในการทำให้ประเทศสิงคโปร์เป็นอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ไม่เชิงว่าผู้เสียชีวิตจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ สื่อหลายแห่งที่ชื่นชมผลงานของเขายังได้วิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ โดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็มีเกร็ดที่น่าสนใจในเรื่องเกี่ยวกับการสถาปนาอำนาจทางวัฒนธรรมและเรื่องของอนาคตสิงคโปร์หลังจากนี้
สื่อต่างชาติหลายแห่งมักจะกล่าวถึง ลี กวนยู ในฐานะผู้ที่เปลี่ยนแปลงประเทศสิงคโปร์จากเกาะที่ลุ่มหนองให้กลายเป็นมหานครที่มีความมั่งคั่งและความเจริญ จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุด
สำนักข่าวควอตซ์ระบุว่า สิงคโปร์เป็นอิสระจากมาเลเซียเมื่อปี 2508 แต่ก่อนหน้านี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์ซึ่งเพิ่งถูกรุกรานโดยญี่ปุ่นจนอยู่ในสภาพวุ่นวาย มีประชากรประกอบด้วยคนค้าขาย อดีตทาส คนหนีคุก และนักธุรกิจ ซึ่งมีความขัดแย้งกันทั้งด้านเศรษฐกิจและเชื้อชาติ แต่ผู้นำสิงคโปร์ในยุคนั้นกลับสามารถเปลี่ยนแปลงแหล่งเสื่อมโทรมให้กลายเป็นตึกระฟ้าที่ทำกำไรให้กับประเทศได้ และทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีเหล่าเศรษฐีเดินทางไป "ใช้เงิน" มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากกาตาร์
สำนักข่าววอลสตรีทเจอนัลระบุว่า ลี กวนยู ทำให้สิงคโปร์พัฒนาขึ้นได้จากการให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ให้โอกาสผู้คนได้สามารถใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่
สื่อต่างชาติยังมอง ลี กวนยู ว่าเป็นผู้นำที่ทำตามความเชื่อมั่นของตน มีความเฉลียวฉลาดอย่างมาก และ ไม่ถูกอำนาจทำให้เสื่อมทราม ก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทม์ยังได้ระบุชื่นชม ลี กวนยู เป็นผู้ที่มีความแตกต่างจากผู้นำในกลุ่มชาติอาเซียนตรงที่ "เขาไม่ได้ถูกอำนาจครอบงำจนเสื่อมทรามและไม่อยู่ในอำนาจนานเกินไป"
แต่ ลี กวนยู เป็นผู้ที่น่าชื่นชมขนาดนั้นจริงหรือไม่ ในบทความของสำนักข่าวเดอะ การ์เดียน เขียนโดยบล็อกเกอร์ชาวสิงคโปร์ เคิร์สเตน ฮัน ระบุว่า แม้เธอจะมองลีกวนยูเป็นนักการเมืองที่ยอมเยี่ยม แต่เธอก็ไม่รู้จักเขาดีพอจะบอกว่าเขาเป็นดนดีได้
ทางด้านองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่า ในขณะที่สิงคโปร์ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก แต่นั่นน่าจะเป็นเพราะมีสื่อที่กล้าตรวจสอบรัฐบาลน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะลี กวนยูและรัฐบาลยุคหลังจากนั้นที่เขายังมีอิทธิพลอยู่มีการฟ้องร้องสื่อทั้งในประเทศและสื่อจากต่างประเทศ
CPJ ระบุว่าในขณะที่สิงคโปร์เจริญเป็นเมืองมากขึ้น การต่อต้านสื่อจากผู้นำก้มีมากขึ้นตาม มีการออกกฎควบคุมสื่อทางอินเทอร์เน็ต มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทบล็อกเกอร์ที่ล้อเลียนรัฐมนตรีและตั้งคำถามกับกระทรวงยุติธรรม มีกฎหมายให้เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางการเมืองต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล

ลี กวนยู ปะทะ สื่อ
แม้ว่าเขาจะเปิดตลาดทางการค้าแต่วอลลสตรีทเจอนัลก็วิจารณ์ว่า ลี กวนยูกลับไม่เปิดโอกาสให้กับ "ตลาดทางความคิด" ทำให้ชาวสิงคโปร์มีเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า นอกจากนี้ลียังไม่ค่อยถูกกับสื่อตะวันตกแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไล่ เขาอยากให้สื่อตะวันตกรายงานเรื่องสิงคโปร์ให้คนในประเทศอื่นได้รับรู้แต่ไม่ชอบให้ทำตัวเป็นผู้สืบสวนรัฐบาลสิงคโปร์ มีสื่อตะวันตกหลายแหล่งเช่น ดิอิโคโนมิสต์ รอยเตอร์ และไทม์ ถูกรัฐบาลสิงคโปร์ฟ้องร้องหรือขู่จะฟ้องร้อง
อย่างไรก็ตามลักษณะการต่อต้านสื่อตะวันตกของ ลี กวนยู มักจะเป็นไปในทางฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเสียส่วนใหญ่ หรือบางครั้งก็สั่งลงโทษด้วยการสั่งลดจำนวนการเผยแพร่ของสื่อนั้นๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าลียังคงมองสื่อด้วยมุมมองแบบหัวเก่า เขาไม่มั่นใจว่าชาวสิงคโปร์จะมีความสามารถยอมรับความคิดเห็นแตกต่างได้มากพออย่างน้อยก็ในยุคเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว
ในเฟซบุ๊คของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่ายังมีผู้มองด้านลบของ ลีกวนยู ในแง่ที่เขาเป็นผู้ที่ทำร้ายและกำจัดฝ่ายตรงข้าม รวมถึงสร้างระบบรัฐสภาที่ครอบงำโดยพรรคพรรคกิจประชาชน (PAP) ของตน มาตั้งแต่สมัยปี 2508
ส่วนบทความของ เคิร์สเตน ฮัน ระบุว่า ตัวเธอถูกสอนตั้งแต่เด็กว่าลีกวนยูทำอะไรให้ประเทศชาติมากน้อยเพียงใด แต่ในขณะที่เธออายุประมาณ 20 ปี เธอได้เห็นการจับกุมโดยไม่มีการไต่สวน การสั่งฟ้องหมิ่นประมาท การดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายราคาสูงและสั่งฟ้องล้มละลายคู่แข่งของเขา
"ช่วงวัยรุ่นฉันใช้ชีวิตเรียนรู้เกี่ยวกับวีรบุรุษของพวกเรา แต่ตอนนี้ฉันยิ่งได้รู้มากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับชายผู้ที่ถือขวานเอาไว้ในมือ" เคิร์สเตน ฮันระบุในบทความ
บทความของ เมลานี เคิร์กแพทริก ในวอลสตรีทเจอนัลระบุถึงกรณีหนึ่งที่น่าสนใจมากเมื่อ ลี กวนยู ไม่พอใจวอลล์สตรีทเจอนัลแล้วสั่งให้ลดจำนวนการพิมพ์เผยแพร่แต่ละฉบับลงจากวันละ 5,000 ฉบับเป็นวันละ 400 ฉบับ แต่มีอยู่วันหนึ่งสำนักงานนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ก็โทรถามสำนักงานของวอลล์สตรีทเจอนัลสาขาสังคโปร์ว่าทำไม ลี กวนยู ยังไม่ได้รับวอลล์สตรีทเจอนัลฉบับใหม่ที่เขาสมัครสมาชิกไว้ ตัวแทนของวอลล์สตรีทเจอนัลตอบกลับไปว่าเป็นเพราะการจำกัดจำนวนตีพิมพ์เผยแพร่และ ลี กวนยู ก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับผู้สมัครสมาชิกทุกคนโดยไม่ได้รับสิทธิพิเศษ อย่างไรก็ตามเคิร์กแพทริกระบุว่า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการที่ ลี กวนยู เองก็ยังสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ และรู้สึกแบบเดียวกับชาวสิงคโปร์ที่ต้องการมีสื่อมากขึ้น
ทางด้าน CPJ ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่มีการสั่งยุบคอลัมน์ออกจากหนังสือพิมพ์ 'ทูเดย์' ของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยเลขาธิการสื่อของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร โทรคมนาคม และศิลปะ ในยุคนั้นอ้างว่า "มันไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ที่จะนำประเด็น หรือทำการรณรงค์เพื่อรัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาล"
แต่ทาง CPJ เถียงว่า "ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าว แล้วมันเป็นหน้าที่ของใครล่ะ"

ตัวตนและสัญลักษณ์ของ 'ลี กวนยู' ในสื่อทางวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่า ลี กวนยูเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานในการสร้างชาติสิงคโปร์ แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าลีกวนยูไม่ได้สถาปนาตัวเองในแง่การเคารพในตัวบุคคล กล่าวคือถึงแม้ ลี กวนยูจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในสิงคโปร์ แต่ตัวเขาไม่ได้ใช้อำนาจตรงนี้เมื่อส่งเสริมตัวเองเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมหรือจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ตามบทความของฮันระบุว่าในชีวิตของชาวสิงคโปร์ทุกคนมี ลี กวนยู อยู่ทุกมุมจนกระทั่งสำหรับจนกระทั่งวัยรุ่นยังไม่รู้เลยว่ามีใครเป็นรัฐมนตรีด้านไหน "พวกเขารู้จักแต่ชื่อ ลี กวนยู"
เคิร์สเตน ฮัน ระบุอีกว่าชาวสิงคโปร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเรียนรู้เรื่อง ลี กวนยู มีบางคนชอบเขา แต่ก็ยังมีบางคนเกลียดเขาอยู่ดี
รูปภาพและแนวความคิดของ ลี กวนยู ปรากฏอยู่ตามสื่อทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบ ส่วนมากเป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติหรือแนวความคิดของเขา มีงานศิลปะในเชิงเชิดชูตัวเขาอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังมีสื่อทางวัฒนธรรมบางส่วนที่เป็นไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือในเชิงตีความ ลี กวนยู ตามแบบของศิลปินเอง เช่นในปี 2556 มีกวีที่ชื่อ ไซริล หว่อง เผยแพร่หนังสือชื่อ "ขนตาของเผด็จการ" เป็นเรื่องแนวเหนือจริง (surreal) ของบุคคลที่มีลักษณะคล้ายลีกับขนคิ้วของเขาต่างก็แสดงความกระหายอำนาจและการเป็นที่รู้จัก
เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มกวีเผยแพร่หนังสือรวมบทกวีชื่อ "ความฟุ่มเฟือยที่พวกเราไม่อาจซื้อหาได้" ชื่อหนังสือนี้เป็นการเสียดสีคำพูดของของ ลี กวนยู ซึ่งเคยกล่าวว่า "บทกวีเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่พวกเราไม่อาจซื้อหาได้...สิ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนไม่ใช่วรรณกรรม แต่เป็นปรัชญาชีวิต"
มีงานจัดแสดงศิลปะเกี่ยวกับลีกวนยูอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ ในปี 2553 มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ชื่อ 'Beyond LKY' ในแกลลอรี่ศิลปะวาเลนไทน์วิลลีร่วมกับศิลปินอีก 19 คน โดยมีหัวข้อคือการจินตนาการอนาคตของสิงคโปร์ที่ไม่มีลีกวนยู ศิลปินที่ชื่อจิมมี่ ออง ที่เสียดสีด้วยการวาดภาพ ลี กวนยู ตั้งอยู่บนแท่นบูชาในฐานะที่เป็น "บิดาแห่งสิงคโปร์" พร้อมกับรูปคนตัวเล็กๆ ถามว่า "คุณพ่อได้ยินฉันไหม" ซึ่งก่อนหน้านี้องเคยทำงานศิลปะสะท้อนเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมสิงคโปร์มาก่อนเช่นเรื่องการแสดงออกของคนรักเพศเดียวกันซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสิงคโปร์

อนาคตของสิงคโปร์ที่ไม่มี 'ลีกวนยู'
หัวข้อศิลปะดังกล่าวเป็นเรื่องชวนให้คิดต่อ เมื่อไม่มีลีกวนยูแล้วประเทศสิงคโปร์จะเป็นไปในทิศทางไหน เว็บไซต์ควอตซ์ระบุว่า ลี เซียนหลง ที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต้องเผชิญกับสิงคโปร์ในแบบที่ต่างออกไปจากที่พ่อของเขาเคยเจอเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พรรคกิจประชาชน (PAP) ก็ทำได้แย่ที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แม้จะยังคงมีที่นั่งในสภา 81 จาก 87 แต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็เริ่มเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้น การเลือกตั้งในปี 2560 จะเป็นการต่อสู้ที่จริงจังมาก
นอกจากนี้จากผลสำรวจของแกลลัฟโพลล์พบว่ามีประชาชนในสิงคโปร์กำลังมองอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้าในแง่ร้าย นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากเรื่องค่าแรง เพราะถึงแม้ว่าจะมีอัตราจีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุกปี แต่ค่าแรงของชาวสิงโปร์ทั่วไปดูจะหยุดนิ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างมากทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเมืองที่มีแต่ผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน โดยควอทซ์นำเสนอว่าสิงคโปร์มีอัตราการจ้างงานคนต่างชาติลดลงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจการให้คนอพยพเข้าสิงคโปร์จนถึงขั้นมีการประท้วงในประเทศที่มีการประท้วงเกิดขึ้นน้อยมาก
โจเอล คอตคิน ผู้เขียนบทควาทให้ฟอร์บส์มองว่าสิ่งแรกที่สิงคโปร์ต้องทำในการแก้ปัญหายุคหลังจากนี้คือการละทิ้งวิธีการแบบเก่า
จากอีกมุมหนึ่งก็มีคนคิดว่าการไม่สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลมากเกินไปของลีกวนยู ทำให้เป็นเรื่องที่ดีในแง่ไม่มีการต่อสู้ช่วยชิงอำนาจ ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นไปอย่างราบรื่น
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตระบุในเฟซบุ๊คว่า "ลีกวนยูเป็นนายกฯ มาหลายสมัย แต่ตัดสินใจลงจากตำแหน่งเพื่อปูทางให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ แม้ในความเป็นจริง ลียังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่มาก แต่การลงจากตำแหน่งก็เพื่อให้การสืบอำนาจต่อเป็นไปอย่างราบรื่น ลดการสร้างลัทธิตัวบุคคลซึ่งเป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แม้คนรุ่นเก่าจะยังชื่นชมลีด้วยใจจริง เพราะสิ่งที่ลีทำนั้น ถือว่าได้เปลี่ยนโฉมหน้าสิงคโปร์ในช่วงเวลาไม่นานนัก แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มี memory ของการสร้างชาติในยุคก่อน ก็ไม่ได้อาลัยอาวรณ์ต่อการจากไปของลีมากเท่าใด ซึ่งกลับไปสู่จุดที่ว่า สิงคโปร์ไม่ต้องการสร้างลัทธิตัวบุคคล ทำให้การตายของลี แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แต่ไม่มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจหลังการตาย คำถามต่อไปอยู่ที่ ที่รัฐบาล PAP จะยังคง legacy ของลีมากแค่ไหนและด้านใด เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในและในภูมิภาคในยุคที่ไม่มีลีอีกแล้ว"
สำหรับชาวสิงคโปร์อย่าง เคิร์สเตน ฮัน แล้ว เธอคิดว่าแม้สิงคโปร์จะไม่มี ลี กวนยู ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศที่เลวร้ายลงไปกว่าเดิม เธอคิดว่าการจับกุมฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องไม่ฉลาดและไม่เกี่ยวกับความอยู่รอดของสิงคโปร์ด้วยซ่ำ ตรงกันข้ามเธอกลับคิดว่ามันเป็นอันตรายถ้าหากชาวสิงคโปร์จะติดนิสัยปล่อยให้เรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ในมือของชนชั้นนำแต่อย่างเดียว
"ฉันเชื่อว่าชาวสิงคโปร์จะหาทางออกเองได้ แม้ว่าจะไม่มีเขา (ลีกวนยู)" เคิร์สเตน ฮัน ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก
Lee Kuan Yew vs. the News, Wall Street Journal, 22-03-2015 http://www.wsj.com/articles/melanie-kirkpatrick-lee-kuan-yew-vs-the-news-1427064934
Lee Kuan Yew is gone. Where does Singapore go now?, The Guardian, 23-03-2015 http://www.theguardian.com/world/2015/mar/23/lee-kuan-yew-is-gone-where-does-singapore-go-now
Creating Singapore: The life of Lee Kuan Yew, Quartz, 22-03-2015 http://qz.com/365559/creating-singapore-the-life-of-lee-kuan-yew/
Lee Kuan Yew's legacy, CPJ, 22-03-2015 http://www.cpj.org/blog/2015/03/lee-kuan-lews-legacy.php

พล.ต.สรรเสริญรับถึง พล.อ.ประยุทธ์เจอ 'ทักษิณ' ที่สิงคโปร์ก็จับกลับไทยไม่ได้


พล.อ.ประยุทธ์เผยได้รับเชิญร่วมพิธีเคารพศพ 'ลี กวนยู' เชื่อเจ้าภาพคงไม่จัดให้เจอ 'ทักษิณ ชินวัตร' ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมงานเช่นกัน ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่าถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไปเจอทักษิณ ก็จับกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะไปในฐานะแขกและมีภารกิจ และเป็นพื้นที่ต่างประเทศ ขอให้เข้าใจด้วย
24 มี.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ตัวเขาได้รับหนังสือเชิญจากทางการสิงคโปร์ให้เข้าร่วมพิธีศพ นายลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ในวันที่ 29 มีนาคมนี้
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นายลี กวนยู ถือเป็นเอกบุรุษที่นำพาสิงคโปร์มาได้ถึงวันนี้ เป็นบุคคลที่คิดทำเพื่อวางรากฐานของสิงคโปร์ให้พัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวเรื่องจะมีการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปร่วมงานเคารพศพ นายลี กวนยู ในวันที่ 28 มีนาคมนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางไปเคารพศพนายลี กวนยู ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวกับตนเอง และเชื่อว่า ทางการสิงคโปร์คงไม่จัดให้มีการพบเจอกันจนเกิดความอึดอัด
กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เตรียมเดินทางไปเคารพศพนายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ในวันที่ 29 มี.ค. นี้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเคารพเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ข่าวสดออนไลน์ รายงานความเห็นของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเคารพศพนายลี กวนยู ในจังหวะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไปเคารพศพเช่นกันว่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปในฐานะผู้นำของประเทศ ที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ส่วนคนอื่นอาจจะไปในฐานะส่วนตัว ซึ่งได้รับเชิญจากรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ถือเป็นดุลพินิจของทางสิงคโปร์ ส่วนโอกาสที่จะไปพบเจอหน้ากันนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีหรือไม่มี
โดยเขามั่นใจว่าภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินและดูแลสถานการณ์ในภาพรวมทั้งหมด เป็นผู้รับผิดชอบต่อความสำเร็จ และความล้มเหลวทั้งหมดของคสช.และแม่น้ำ 5 สาย จึงรู้ดีว่าจะวางบทบาทแค่ไหนอย่างไร จึงจะเหมาะสม
เมื่อถามว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะจัดลำดับเพื่อไม่ให้พบกันหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่กล้าไปคิดอย่างนั้น ขณะนี้สิงคโปร์อยู่ในช่วงเวลาความโศกเศร้าและอาลัย ส่วนที่หลายฝ่ายพยายามจะถามว่าหากไปเจอกันแล้วทำไมไม่จับกุมตัว ต้องบอกว่า ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไปในฐานะแขกและมีภารกิจ จะไปทำได้อย่างไร เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่างประเทศ จึงขอให้เข้าใจสถานการณ์จริงด้วย