วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

จากลิงถึงคิวหมา ชัยภูมิ ฝูงหมาวัดคาบบัญชีรายชื่อประชามติกระจายไปทั่ว


28 ก.ค.2559 จากกระแสข่าวการทำลายหรือความเสียหายของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงประชามติในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา Spring News รายงานว่า พ.ต.ต.เดชพล กอสนาน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยภูมิ ได้รับรายงานว่ามีการพบเอกสารรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่จัดไว้ในหน่วยที่ 6 บริเวณภายในวัดบ้านหินกอง หมู่ 6 ต.ห้วยบง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ถูกทำลาย
จากการสอบถาม อินตา พวงจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหินกอง หมู่ 6 พร้อมด้วยพระอาจารย์วันชัย ธัมชัยโย เจ้าอาวาสวัดบ้านหินกอง และชาวบ้านใกล้เคียงวัดอีกจำนวนมากยืนยันว่า ไม่มีใครมาทำลายเอกสารประจำหน่วยประชามติให้เสียหาย เป็นเพียงเอกสารที่ติดตั้งไว้ประจำหน่วยใต้ศาลาการเปรียญวัด เกิดถูกลมและฝนที่พัดจนล้ม และมีกลุ่มฝูงสุนัขในวัดหลายตัวพากันคาบกันไปเล่นจนเสียหายกระจายไปทั่ววัดเท่านั้น ไม่มีเหตุการณ์ว่ามีใครแอบมาทำลายแต่อย่างใดเช่นกัน

กกต.ตรัง ติดไว้บนที่สูง

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่าจากกรณีมีการเตรียมความพร้อมเพื่อลงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ ปรากฏว่า มีหลากหลายเหตุการณ์ ทั้งการฉีกทำลาย การเผา และการดึงบัญชีรายชื่อหายไปในบางพื้นที่ ผู้สื่อข่าวในจังหวัดตรัง รายงานว่า ที่หน่วยเลือกตั้งออกเสียงที่ 118 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ปรากฏว่า มีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง มีการนำบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิลงประชามติ ไปติดไว้บนที่สูงขอบหน้าต่างด้านบน จนประชาชนที่ต้องการมาตรวจสอบบัญชีรายชื่อไม่สามารถดูได้ จำเป็นต้องนำเก้าอี้มาต่อให้สูงขึ้นเพื่อที่จะสามารถตรวจรายชื่อของตนเองได้ ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการดึงทำลาย และเพื่อความปลอดภัย

หนุ่มสติไม่สมประกอบฉีกรายชื่อประชามติ หัวเราะชอบใจยอมรับเป็นคนทำเอง

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน พ.ต.ท.ระพีพงษ์ จิตต์บุญธรรม สว.(สอบสวน) สภ.บางกรวย จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุมีมือลึกลับแอบมาย่องฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้าศาลา 2 วัดจันทร์ หมู่ที่ 5 ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เต็นท์หน่วยออกเสียงที่ 12 จึงรีบรุดไปตรวจสอบ พบบัญชีรายชื่อตั้งแต่บ้านเลขที่ 1-40 หมู่ 5 หนังสือวันเวลาแจ้งกำหนดหน่วยออกเสียงที่ติดตั้งไว้บนกระดานถูกมือดีดึงออกและฉีกเล่นเป็นชิ้นๆ บางส่วนก็นำไปแปะไว้ตามประตู และตามบันไดทางขึ้นของศาลาวัด เบื้องต้นตรวจสอบภายในวัดไม่มีกล้องวงจรปิด ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างดำเนินการหาตัวคนที่ลงมือรายนี้อย่างเร่งด่วน
จากนั้น กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งและสอบถามชาวบ้านใกล้เคียง จึงทราบว่าเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา น้องป๊อบ มีสวย อายุ 17 ปี ซึ่งมีสติไม่สมประกอบได้เข้ามาที่วัดจึงสงสัยว่าอาจจะเป็นคนก่อเหตุในครั้งนี้ จึงได้เดินทางไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ 27/24 ซึ่งตั้งอยู่หลังวัดจันทร์ พบนางจริญ แก้ววงศ์ อายุ 59 ปี ซึ่งเป็นแม่ของนายอนิรุจกับนายอนิรุจอยู่ภายในบ้านจึงสอบถามเรื่องราว โดยนางจริญเล่าว่าบุตรชายชอบออกไปเล่นที่วัดดึกๆ ดื่นๆ เป็นประจำทุกวันตามปกติ แต่ไม่คิดว่าจะไปก่อเหตุซุกซนดึงบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจนเป็นเรื่องเป็นราว
      
เจ้าหน้าที่ได้นำตัวน้องป๊อบและมารดามาจุดเกิดเหตุที่วัด พร้อมสอบถามเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยน้องป๊อบได้แสดงท่าฉีกกระดาษและนำกระดาษไปวางไว้ตรงบันไดทางขึ้นและไปติดไว้ที่ประตูเหล็กของศาลาวัดพร้อมทั้งหัวเราะชอบใจตามประสาเด็กไม่สมประกอบ และบอกว่าตนเป็นคนทำแบบนี้เองเมื่อคืนที่ผ่านมาโดยแสดงท่าทางให้เจ้าหน้าที่ดูทุกอย่างจึงเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของน้องป๊อบเองที่ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เบื้องต้นนำตัวไปสอบปากคำที่ สภ.บางกรวย เพื่อเป็นหลักฐานก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไปแล้ว

สภากลาโหมไฟเขียวแนวปฏิรูป ลดจำนวน 'นายพล' ตั้งเป้าจาก 768 เหลือ 384 ในปี71


เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทั้งหมด 768 นาย และจะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 นาย เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 นายจะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 นาย
      
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า การลดจำนวนนายพลโดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้นก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปีที่ผ่านมากว่า 15,000 นาย
      
พล.ต.คงชีพกล่าวอีกว่า ยังมีการจัดทําระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมซึ่งเป็นระบบงานกําลังพลที่สามารถจําแนกกําลังพลตามลักษณะงานได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ งานใดที่เป็นภารกิจทางทหาร ทหารเป็นผู้ปฏิบัติ งานใดที่เป็นงานสนับสนุนภารกิจทางทหารก็มอบให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งจะส่งผลให้กําลังพลในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีความเป็นมืออาชีพ และจะประหยัดงบประมาณในด้านกําลังพลในอนาคตได้ การดําเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทํากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม และคาดว่าจะเสนอต่อสภากลาโหมเพื่อพิจารณาภายในปีงบประมาณนี้ (ก.ย. 2559)
      
นอกจากนี้ยังมีการบรรจุกําลังพลสํารองที่ผ่านการฝึกมาบรรจุทดแทนในอัตราทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของสัญญาที่กําหนด เพื่อให้หน่วยทหารมีอัตรากําลังพลเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ และมีการหมุนเวียนกําลังพลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กองทัพประหยัดงบประมาณด้านกําลังพล แต่ยังคงขีดความสามารถไว้เช่นเดิม อีกทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในระยะยาวได้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้วางหลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ.กําลังพลสํารอง พ.ศ. 2558 มาตรา 30 กระทรวงกลาโหมอาจ รับสมัครกําลังพลสํารองเพื่อทําหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวได้ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร และกฎกระทรวง กําหนด ระยะเวลาการทําหน้าที่ เงินเดือน และค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทําหน้าที่ทหารเป็นการ ชั่วคราว พ.ศ. 2553 ไว้เรียบร้อยแล้ว

หมอชันสูตรระบุเหตุตายอับดุลลายิบแน่ชัดไม่ได้ ชี้ญาติไม่ให้ผ่าศพ-เคารพความเชื่อทางศาสนา


29 ก.ค.2559 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้ไต่สวนพยาน  ปากฝ่ายพนักงานอัยการ ผู้ร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ ช.6 /2559  ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง และ อับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ตาย กูรอสเมาะ ตูแวบือซา ภรรยาผู้ตาย ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ร้องซักถาม โดยศาลได้นัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องหนึ่งปาก คือ นพ.กิตติศักดิ์ ศรีพงษ์ หัวหน้าคณะกรรมการชันสูตรศพ และเป็นอาจารย์แพทย์จากนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากญาติมีความประสงค์ให้ส่งศพไปชันสูตรโดยละเอียดอีกครั้งหลังจากมีชันสูตรในพื้นที่เกิดเหตุไปแล้ว
การไต่สวนแพทย์ดังกล่าวใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยเชื่อมโยงสัญญาณระหว่างศาลจังหวัดสงขลากับศาลจังหวัดปัตตานี  นพ.กิตติศักดิ์ ให้การความว่า การชันสูตรพลิกศพอับดุลลายิบที่ขนย้ายจากจังหวัดปัตตานีไป เห็นว่าศพน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างแน่นอน สำหรับสาเหตุการเสียชีวิต จึงได้ประชุมแพทย์หลายคนตั้งเป็นคณะแพทย์จำนวน 3 คนร่วมกันชันสูตรศพ อับดุลลายิบ ซึ่งปกติการชันสูตรจะใช้แพทย์คนเดียวเท่านั้นในการชันสูตรศพหนึ่งศพ โดยตนเองถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมแพทย์ในการชันสูตรพลิกศพของผู้ตาย  ซึ่งศพผู้ตายมาถึงโรงพยาบาล เวลา 14.30 น. ของวันที่ 4 ธ.ค. 2558  เนื่องจากสภาพภายนอกของศพไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลที่ชัดเจนใด ๆ ทีมแพทย์จึงแจ้งต่อภรรยาผู้ตายว่าหากจะทราบสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจนแพทย์จะต้องทำการผ่าศพ แต่ภรรยาผู้ตายไม่ประสงค์ให้มีการผ่าศพ (เพราะภรรยาของผู้ตายยังมีความเชื่อของตนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ว่าไม่สมควรผ่าศพ)  แพทย์จึงไม่ได้ทำการผ่าศพ แต่ได้ขออนุญาตภรรยาผู้ตาย ทำการเจาะเอาเลือดและน้ำเหลืองของผู้ตายไปตรวจด้วย ภรรยาของผู้ตายไม่ขัดข้อง
 
ในการชันสูตรพลิกศพ แพทย์ไม่อาจระบุสาเหตุการตายของอับดุลลายิบที่แน่นอนได้ เพราะเมื่อไม่ได้ทำการผ่าศพ จึงไม่ทราบว่ามีบาดแผลหรือร่องรอยความผิดปกติที่อวัยวะภายในอื่นใดอีกบ้างหรือไม่ที่จะใช้ประกอบการวินิจฉัยสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน  สิ่งที่แพทย์ มอ.หาดใหญ่ให้ความเห็นต่างจากแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ คือ จุดเลือดที่เกิดขึ้นในดวงตาทั้งสองข้างของผู้ตาย แพทย์ในพื้นที่บอกว่าจุดเลือดในดวงตาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นหลังจากอับดุลลายิบถึงแก่ความตายแล้วก็ได้ แต่แพทย์ มอ.หาดใหญ่ยืนยันว่าจุดเลือดในดวงตาดังกล่าวเป็นภาวะเยื่อบุตาคั่งเลือดนั้นต้องเกิดขึ้นตอนผู้ตายมีชีวิตอยู่ หรือ หัวใจยังเต้นอยู่  และจะไม่เกิดหลังเสียชีวิต เพราะคนที่ตายแล้ว หัวใจหยุดสูบฉีดเลือด เลือดหยุดไหลเวียนในร่างกาย จึงไม่อาจเกิดภาวะเลือดออกมาคั่งที่เยื่อบุตาได้ ฉะนั้นจุดเลือดในตาที่พบดังกล่าวจึงต้องเกิดขึ้นก่อนที่อับดุลลายิบจะถึงแก่ความตาย และจุดเลือดคั่งในตาทั้งสองข้างดังกล่าวก็เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากการขาดอากาศหายใจก่อนเสียชีวิต  สำหรับการขาดอากาศหายใจนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กรณีอับดุลลายิบเมื่อไม่ได้ผ่าศพพิสูจน์เพื่อดูร่องรอยบาดแผลหรือความผิดปกติของอวัยวะภายใน แพทย์จึงวินิจฉัยสาเหตุไม่ได้ว่าการขาดอากาศหายใจเกิดจากอะไร อีกอาการที่ตรวจพบคือ ริมฝีปากผู้ตายมีสีเขียวคล้ำ แต่เนื่องจากญาติไม่อนุญาตให้มีการผ่าศพ  ทางทีมแพทย์ก็เคารพในความเชื่อทางศาสนาของญาติ  ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้  เพราะไม่ได้ผ่าพิสูจน์หาร่องรอยบาดแผลใต้ชั้นผิวหนัง กล้ามเนื้อ ภายในหลอดลม กระเพาะ ลำไส้ และหัวใจ ด้วยว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่  การตายของนายอับดุลลายิบจะเกิดจากการถูกทำร้ายด้วยวิธีการที่ทำให้ไม่พบบาดแผลภายนอกแต่มีปรากฏบาดแผลที่อวัยวะภายในหรือไม่นั้น จึงไม่อาจระบุได้ ดังนั้นแพทย์จึงทำความเห็นได้แต่เพียงว่าไม่อาจระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้
 
หลังจากทีมแพทย์ที่ มอ.หาดใหญ่ ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ อับดุลลายิบ เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ภรรยาอับดุลลายิบและญาติ ๆ จึงได้นำศพของผู้ตายกลับไปภูมิลำเนาเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามทันทีในเวลากลางคืนวันดังกล่าว
 
ศาลจังหวัดปัตตานีกำหนดนัดไต่สวนพยานที่พนักงานอัยการ ผู้ร้อง แถลงว่าเหลืออีกเพียง 2 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพนักงานสอบสวน ในวันที่ 10 ส.ค. 2559 เวลา 09.00 - 16.30 น.
 
สำหรับการเสียชีวิตของอับดุลลายิบ นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุม บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อับดุลลายิบ ดอเลาะ หรือ เปาะซู โดยระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ระดับหัวหน้า kompi และผลการซักถามขั้นต้น อับดุลลายิบ ได้ให้การยอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เคยผ่านการซูมเปาะ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัว อับดุลลายิบฯ ดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558

นอนคุกแล้ว 4 วัน! ลุงแปะใบปลิวโหวตโนในห้างเชียงใหม่ ผิดพ.ร.บ.ประชามติ


ภาพใบปลิวที่พบว่ามีการแปะหน้ารถในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)


ตำรวจเชียงใหม่จับชายวัย 63 ปีผู้ต้องสงสัยเสียบใบปลิวโหวตโน พร้อมข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่จอดรถห้างพันธุ์ทิพย์เชียงใหม่ ตำรวจขอฝากขัง ติดคุกมาแล้ว 4 วัน ผิดพ.ร.บ.ประชามติ
28 ก.ค.2559 เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าจับกุมตัวนายสามารถ ขวัญชัย อายุ 63 ปี กรณีต้องสงสัยเป็นผู้เสียบใบปลิวโหวตโน พร้อมข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว บริเวณที่จอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 พร้อมกับขออำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ฝากขังระหว่างการสอบสวนไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ทำให้ผู้ต้องหายังถูกคุมขังในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเหตุในกรณีนี้ รายงานข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าช่วงระหว่าง เวลา 15.00-17.00 น. ได้มีการแจกจ่ายใบปลิวโหวตโน ที่ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO” พร้อมมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว โดยแจกในลักษณะเอกสารแผ่นพับ เสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในที่จอดรถชั้นใต้ดินของห้างฯ ประมาณ 10 คัน

จากนั้น ในวันที่ 23 ก.ค.59 รายงานข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมตัวนายสามารถได้ที่บ้านพัก ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 474/2559 โดยมีการตรวจยึดกระเป๋าหนังสีดำ จำนวน 1 ใบ แผ่นผับข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO” จำนวน 405 แผ่น รถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน เสื้อผ้า รองเท้า รวมของกลางจำนวน 6 รายการ โดยของกลางทั้งหมดถูกนำส่งให้พนักงานสอบสวน
นายสามารถเปิดเผยผ่านเพื่อนที่เข้าเยี่ยมในเรือนจำว่า ในช่วงเช้าวันที 23 ก.ค.ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 60 นาย เดินทางไปยังบ้านของตน โดยเข้าตรวจค้นบ้านและแสดงหมายจับของศาล พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องการไปติดใบปลิวโหวตโน ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดเอกสาร กระเป๋าสะพาย เสื้อผ้า และโทรศัพท์มือถือของตนเอาไว้ และมีการนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมกับมีการให้มานั่งในการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ช่วงเย็นวันนั้น
ภาพขณะเจ้าหน้าที่แถลงข่าวเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับการลงประชามติในจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.59 (ภาพจาก
ผู้จัดการอออนไลน์)
นายสามารถระบุว่าการแถลงข่าวถูกนำไปรวมกับผู้ต้องหากรณีส่งจดหมายแสดงความเห็นเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการจับกุมมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่กรณีทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ตนไม่ทราบเรื่องการส่งจดหมายแสดงความเห็นตามตู้ไปรษณีย์แต่อย่างใด และใบปลิวโหวตโนในกรณีของตน ก็เป็นคนละอันกับจดหมายแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
หลังการแถลงข่าวได้มีการนำตัวตนไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 (1) วรรคสองและวรรคสาม นายสามารถได้ให้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าข้อความในเอกสารใบปลิวไม่ได้มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ทั้งระหว่างการแจ้งข้อหาและสอบปากคำ ไม่ได้มีทนายความหรือญาติอยู่ด้วยแต่อย่างใด
นายสามารถระบุว่าตนถูกคุมขังอยู่ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ จนวันที่ 25 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่ได้มีการนำตัวตนไปขออำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ในการฝากขังระหว่างการสอบสวน ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา เขาจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา และยังไม่มีใครเข้าเยี่ยมจนถึงวันนี้
เบื้องต้น ทราบจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าต้องใช้หลักทรัพย์ในการขอประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ทางเพื่อนของนายสามารถจึงจะประสานงานหาหลักทรัพย์และดำเนินการขอประกันตัวผู้ต้องหาต่อไป
นายสามารถ ขวัญชัย ปัจจุบันอายุ 63 ปี  ประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลจากเพื่อน ระบุว่านายสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ เคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553  อีกทั้ง นายสามารถยังมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานและความดัน ต้องทานยาเป็นประจำเพื่อดูแลเรื่องอาการเบาหวาน ทำให้อาจประสบความยากลำบากในการดูแลโรคประจำตัวขณะถูกคุมขังนี้
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง ระบุความผิดเรื่อง “การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” โดยในวรรคสามระบุโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท