วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิชี้ ร่างรธน.ไม่ชอบธรรม ไม่เชื่อมโยงปชช.-ประชามติ ขัดหลักลงคะแนนเสรี


2 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตอนที่ 1 เรื่องที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหารในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยและในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี" 
อ่านรายละเอียดที่ด้านล่าง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

เกริ่นนำ

ปัจจุบันความเคลื่อนไหวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรดำเนินถึงขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งฉบับเสร็จสิ้นแล้วและนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นและขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อไป  ณ ช่วงเวลานี้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก  โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตยและความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1  ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือฐานความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐและเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างและประกาศใช้เป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานในการปกครองประเทศจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนและองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐปกครองหรือทำการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจรัฐไม่ว่าทางตรง คือได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน หรือทางอ้อม คือได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนของประชาชน แต่ปรากฏว่าที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย ใน 3 ส่วน ได้แก่ 

1.1 ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลโดยตรงมาจากการรัฐประหาร
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นผลโดยตรงมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557โดยคณะข้าราชการทหารและตำรวจนามว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสิ้นสุดลง  ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และถือว่าเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย   โดยภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก่อตั้งสถาบันการเมืองขึ้นมา 5 สถาบันการเมือง ประกอบด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ทำหน้าที่ร่วมมือกันปฏิรูปประเทศไทยและทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

1.2 องค์กรที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน
ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย บรรดาองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสภาหรือคณะกรรมาธิการก็ตาม ต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงหรือได้การแต่งตั้งจากผู้แทนของประชาชน  แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้ออกแบบขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งทั้ง 5 องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญมีปัญหาความไม่ชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะไม่มีองค์กรใดมีจุดเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชน เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดมาโดยการรัฐประหาร รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและสภาปฏิรูปแห่งชาติต่างก็เป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เช่นเดียวกันกับที่มาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ

1.3 ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระบวนการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในทางกฎหมายต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนโดยตรงผ่านประชามติหรือได้รับความยินยอมจากผู้แทนของประชาชน เช่น รัฐสภาแต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ขั้นตอนที่ 2สภาปฏิรูปแห่งชาติแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะ ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ขั้นตอนที่ 3คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงยื่นคำขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช2557

ขั้นตอนที่ 4เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นตามข้อเสนอและคำขอ  ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก่อนจะนำไปให้ประชาชนลงประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 37 ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ในแง่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ย่อมพิจารณาได้ว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึงแม้ในทางรูปแบบจะกำหนดขั้นตอนให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจรัฐมีส่วนในการลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ขั้นตอนการยกร่างและประกาศใช้พอมีความชอบธรรมขึ้นมา

แต่หากพิจารณาในทางเนื้อหาจะพบว่าการลงประชามติดังกล่าวมิใช่การลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากขาดหลักการลงประชามติโดยเสรีเพราะเป็นการลงประชามติภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ไม่มีระบบที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและมีประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่มีเนื้อหาขัดขวางไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดและเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและทางเลือกของประชาชนสามารถกระทำได้ที่ยังบังคับใช้ในบ้านเมืองอยู่ [1]

รวมทั้งบุคคลในองค์กรของรัฐอย่าง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าไม่อนุญาตให้มีการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญจากฝ่ายการเมือง [2] และกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้ระบุว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่อย่างใด [3]

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้จึงไม่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวและการรณรงค์เพื่อแสดงความคิดเกี่ยวกับทางเลือกที่หลากหลายในการลงประชามติให้กับประชาชนได้และทำให้การตัดสินใจลงประชามติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจึงอยู่ภายใต้ข้อมูลและอิทธิพลจากรัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

ดังนั้น การลงประชามติเช่นนี้จึงเป็นแต่เพียงขั้นตอนที่รัฐบังคับให้ประชาชนมาเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้กับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นขั้นตอนที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองแต่อย่างใดด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

โดยสรุปในประการแรก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหารในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยและในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี

ติดตาม “ตอนที่ 2 ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ” พรุ่งนี้ 20.15 น. ที่ https://tlhr2014.wordpress.com

[1] ประกาศคณะรักษษความสงบแห่งชาติ  ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ,ประกาศห้ามประชาชนจัดกิจกรรมที่มีลักษณะต่อต้านปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ,ประกาศสอดส่องและควบคุมการใช้โซเชียวมีเดียของประชาชน ,ประกาศห้ามประชาชนที่เข้ารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคลื่อนไหวทางการเมือง ,ประกาศควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อสารมวลชน ,ประกาศพรรคการเมืองเคลื่อนไหวหรือดำเนินการใดๆทางการเมือง ,ประกาศให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจพิเศษเพื่อระงับและป้องกันการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และประกาศให้คดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เป็นต้น
[2] ที่มา :https://www.facebook.com/253729448003304/photos/a.717002238342687.1073741826.253729448003304/900401030002806/
[3] ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1434090305

‘เพื่อไทย’ เสนอ สปช. ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. ยับยั้งวิกฤต



2 ก.ย.2558 แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมอ่านแถลงการณ์พร้อมทั้งแสดงจุดยืนของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 6 ก.ย.นี้
โดยแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความคิดเห็นของสมาชิกและวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นฉบับกดหัวประชาชน เนื่องจากเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มิได้ให้ความเคารพในอำนาจของประชาชน อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ได้สร้างกลไกเพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจและไร้การตรวจสอบ ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส เป็นการทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือและตกผลึกทางความคิดโดยการยอมรับจากประชาชนแล้ว หากผลของร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ บริหารประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งตกต่ำ และจะนำพาประเทศไปสู่ความขัดแย้งในทุกระดับ ยากที่จะกลับคืนสู่สันติสุขได้ เป็นที่น่าห่วงใยว่าประเทศชาติจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่สิ้นสุด
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นโดยสุจริต ทั้งจากพรรคการเมือง นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเนื้อหาที่นำพาประเทศถอยหลังไปจากเดิมจนเป็นการย้อนยุค มีลักษณะเป็นการสืบทอดอำนาจ สร้างรัฐซ้อนรัฐ อำนาจของประชาชนถูกเหยียบย่ำ จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ แม้จะผ่านความเห็นชอบของ สปช. ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านประชามติจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจต้องสูญเปล่าทั้งในแง่ของกระบวนการยกร่างและงบประมาณแผ่นดินที่ต้องนำมาใช้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาทในการยกร่างและจัดทำประชามติ พรรคเพื่อไทยจึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันไตร่ตรอง คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และหาทางแก้ไข โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1)  สปช. ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 ควรแสดงความรับผิดชอบและแสดงบทบาทในวาระสำคัญด้วยวิจารณญาณที่ปรารถนาจะเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อระงับยับยั้งมิให้ประเทศก้าวไปสู่วิกฤต โดยการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายสามารถที่จะยอมรับได้
2)  หากกรณีมิได้เป็นไปตามข้อ 1 โดย สปช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าปัญหารัฐธรรมนูญที่พยายามจะยัดเยียดให้ประชาชนโดยขาดการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะร่วมคิดหรือร่วมร่าง จะเป็นต้นเหตุของการนำชาติเข้าสู่ภาวะแห่งความขัดแย้ง นำชาติดำดิ่งสู่วงจรอุบาทว์  รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลต่อความเชื่อถือของประเทศในสังคมโลก ในที่สุดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า  พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความคิดเห็นของสมาชิกและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นฉบับกดหัวประชาชน เนื่องจากเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มิได้ให้ความเคารพในอำนาจของประชาชน อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ได้สร้างกลไกเพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจ และไร้การตรวจสอบ ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส เป็นการทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือและตกผลึกทางความคิดโดยการยอมรับจากประชาชนแล้ว
เมื่อถามว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ได้ขออนุญาต คสช.หรือไม่ สามารถ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เราเพียงต้องการแสดงจุดยืนท่าทีของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถามถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ แถลงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะแสดงออก
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าควรมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ถือเป็นการส่งสัญญาณต่อ สปช.ในการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะคนไทยคนหนึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถือเป็นความเห็นส่วนตัว เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อพูดแล้วอาจชี้นำได้ ก็เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยมีจุดยืน และยืนหยัดว่าเราไม่เป็นเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สปช.จะใช้วิจารณญาณในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่เสียงที่ก้ำกึ่งของ สปช.แสดงให้เห็นว่า สปช.เริ่มคิดได้แล้ว
เมื่อถามว่าจะมีการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีท่าทีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า ต่างคนต่างไป เพราะแต่ละพรรคต่างมีมวลชนและสมาชิกของตนเอง

เสียงจากภรรยาช่างตัดเสื้อคดี 112 : เข้าคุก รอดคุก และเข้าคุกอีกครั้ง


ระหว่างรอผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดี 112 ที่สามีของเธอตกเป็นผู้ต้องหา ภรรยาเฉลียว ญาติมิตร และผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดต่างต้องนั่งรออยู่หน้าห้องพิจารณาเนื่องจากศาลอ่านเป็นการลับ ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ใช้เวลานี้พูดคุยกับภรรยาของเฉลียวถึงชีวิตที่ผ่านมา 1 ปีพอดีนับจากศาลชั้นต้นพิพากษา
(สำหรับผลคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ได้เพิ่มโทษโดยแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 3 ปีและให้รอการลงโทษ เป็น ลงโทษจำคุก 5 ปีรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา)  อ่านรายละเอียด)
นี่นับเป็นครั้งที่ 2 ของการฟังคำพิพากษาที่ “ลับเฉพาะ” สำหรับจำเลยและทนายเท่านั้น เพราะตอนที่เขาถูกขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อครบฝากขังเจ้าหน้าที่นำตัวเขามาศาล เขารับสารภาพและเข้าฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ห้องเวรชี้ ใต้ถุนศาลอาญา ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปได้
ภรรยาของเฉลียวเล่าให้ฟังว่า หลังจากสามีวัย 56 ปีได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาเมื่อ 1 ก.ย.57 เขาก็ไปบวช 3 เดือนที่วัดแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงกลับไปทำร้านตัดเสื้อที่ย่านบางพลัดเหมือนเดิม แต่กิจการดำเนินไปอย่างไม่ค่อยดีนัก เพราะในช่วงที่เฉลียวติดคุก คนทำงานในร้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกันต่างก็แยกย้ายกลับไปประกอบอาชีพยังภูมิลำเนา ประกอบกับเฉลียวเองก็ยังคงเป็นกังวลตลอดเวลาหลังทราบว่าอัยการอุทธรณ์คดี ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่นัก เธอบอกว่า พวกเขาวางแผนกันไว้ว่า หากเฉลียวรอดพ้นจากคดีนี้ได้จะไปเปิดร้านค้าเล็กๆ แทน
เธอเล่าด้วยว่า ตอนนี้สามีของเธอเปลี่ยนไปหลายอย่าง ในทางความคิด ดูเหมือนเขาไม่ได้สนใจการเมืองแล้ว เพราะหันไปเข้าวัดฟังธรรม แต่ยังคงใช้วิชาคอมพิวเตอร์ที่เรียนด้วยตัวเองอัพโหลดคลิปธรรมะขึ้นยูทูบ
ในทางกายภาพ ภรรยาเล่าว่า เฉลียวผ่ายผอมลงไปมาก แต่ก็พยายามรักษาสุขภาพให้ดีที่สุดและโชคดีที่เขาไม่มีโรคประจำตัว เพราะจากประสบการณ์ในเรือนจำหลายเดือนทำให้รู้ว่าการเจ็บป่วยในเรือนจำเป็นเรื่องลำบากมาก เนื่องจากมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่และเฉลียวเคยคิดหนีไหม เธอตอบว่า เฉลียวไม่คิดที่จะหนี เพราะหากหนีก็คงต้องหนีตลอดชีวิต

ประสบการณ์พูดคุยกับ ‘เฉลียว’ ขณะถูกคุมขังในชั้นสอบสวน เมื่อปี 2557

(ส่วนหนึ่งในบทความของวิจักขณ์ พานิช http://www.prachatai.com/journal/2014/06/54149)
เฉลียวเป็นชายร่างเล็กผิวคล้ำ เขาปรากฏตัวในชุดนักโทษสีน้ำตาล สภาพห้องเยี่ยมที่เราเข้าไปนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ โทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารระหว่างภายในกับภายนอกไม่ทำงาน ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องคอยย่อตัวเก้ๆ กังๆ ตะโกนผ่านช่องเล็กๆ ย้ำคำถามคำตอบกันไปมาแบบไม่สะดวกนัก
เฉลียวประกอบอาชีพเป็นช่างตัดสูท ตัดกางเกง แถวสะพานซังฮี้ เป็นประชาชนที่มีความสนใจการเมือง เขาชอบฟังรายการวิทยุของดีเจเสื้อแดงคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีเนื้อหาวิเคราะห์การเมืองที่ค่อนข้างล่อแหลมตรงไปตรงมา เขาชื่นชอบจนถึงกับโหลดคลิปรายการเหล่านั้นมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ทั้งยังอัพโหลดขึ้น 4shared ให้ใครที่สนใจสามารถโหลดเอาไปฟังก็ได้ เมื่อถามว่าดีเจ…เป็นใคร เอาคลิปมาจากไหน เฉลียวตอบว่า "หาไม่ยากเลยครับ ใน google ก็มี"
หลังจากถูกคสช. เรียกรายงานตัว เฉลียวถูกสอบสวนอย่างหนัก เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าตัวเขานั่นแหละคือดีเจเสื้อแดงคนนั้น
…เฉลียวยืนยันว่าเป็นแค่แฟนที่ติดตามรายการ แต่แล้วเขาก็ถูกตั้งข้อหา ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
เฉลียวดูเป็นชาวบ้านซื่อๆ ธรรมดาผู้ยอมรับชะตากรรมของตัวเอง เขาตัดสินใจรับสารภาพตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ตอนนี้รอขึ้นศาล ฟังคำตัดสิน และเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ตามลำดับ
"ผมแค่สนใจการเมืองเท่านั้นเอง ผมรับสารภาพเรื่อง upload คลิปบนอินเตอร์เน็ต แต่โทษที่ได้รับมันรุนแรงเกินไป …ตอนนี้ก็ทำใจแล้วว่าคงต้องอยู่ในนี้ไปอีกพักใหญ่"

ไทม์ไลน์คดี

1 มิ.ย.2557 ปรากฏรายชื่อของเฉลียว และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ที่ 44/2557
3 มิ.ย.2557 เฉลียวเดินทางไปรายงารตัวที่หอประชุมทหารบก เทเวศวร์ เขาถูกคุมตัว 7 วัน มีรายงานว่าเฉลียวถูกสอบสวนถึง 3 รอบ รวมทั้งสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จอีก 2 รอบด้วยกัน ในขณะที่ผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวคนอื่นๆถูกสอบสวนเพียง 1 รอบเท่านั้น
10 มิ.ย.2557 เฉลียวถูกแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีอัพโหลดคลิป ‘บรรพต’ ขึ้น 4shareจำนวนมาก เขารับสารภาพ ตำรวจขออำนาจศาลฝากขัง 7 ผัด (84 วัน) เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
1 ก.ย.2557 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเฉลียวมาศาล ศาลอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ ลงโทษจำคุก 3 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือนและให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
3 ก.ย.2558 ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษา เป็น ลงโทษจำคุก 5 ปี รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือนและไม่รอการลงโทษ

กองทัพฯ จัดแข่งแฮก-ป้องกันระบบ ครั้งแรก 9 ก.ย.นี้ เตรียมรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์


เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร หรือ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก เผยแพร่กำหนดการกิจกรรม ArmyCyber Contest 2015 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก โดยมี พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นประธานในงานดังกล่าว
โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วย กำลังพลจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ที่สำคัญจะมีการแข่งขันทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อ เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ ทักษะ และประสบการณ์ให้กับกำลังพลให้มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ 
วิดีโอคลิปประชาสัมพันธ์กิจกรรม
นอกจากการแข่งขันแล้ว ในงานดังกล่าวยังมีการเสวนาเบื้องต้น เรื่อง “โลกยุคหน้ากับเทคโนโลยีดิจิตอล (ทิศทางและความท้าทาย)” โดย พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ การบรรยายเรื่อง “แนวคิดการจัดตั้งกองบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command) ภายใต้ศูนย์บัญชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity)” โดย พล.อ.บรรเจิด เทียนทองดี ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาด้าน ICT Cyber security สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ  
การบรรยายเรื่อง “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กับภารกิจค้นหา Thailand Cybersecurity Got Talent” พล.อ.ภูดิท วีระศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการความมั่นคงเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และบรรยายเรื่อง รูปแบบใหม่ของการฝึกอบรมบุคลากรด้านไซเบอร์ ระหว่าง “Role –Based Cyber security Training” และ “Gamafication” โดย ปริญญา หอมอเนก ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รวมทั้ง สาธิตการเจาะระบบโดยผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัลเซ็นเตอร์ จำกัด
รายละเอียดการแข่งขัน
นอกจากนี้ เว็บ RTA เรารักกองทัพบก ให้รายละเอียดการแข่งขันไว้ด้วยว่า การจัดการแข่งขันฯ จะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้าย จำนวน 8 ทีมๆ ละ 2 – 4 คน โดยแต่ละทีมจะมีการติดตั้ง Server ของฝ่ายตนจำนวน 3 เครื่อง บนระบบปฏิบัติการเครือข่าย ( Network Operation System : NOS ) Windows และ Linux ซึ่งแต่ละทีมจะต้องดำเนินการหามาตรการเชิงรับ ( Defensive ) โดยการป้องกันและขัดขวางการเจาะระบบและการโจมตีของทีมฝ่ายอื่นๆ อีก 7 ทีม ที่จะทำการตรวจสอบช่องโหว่ ( Vulnerability Assessment ; VA ) ของระบบ Server เพื่อทำการหาวิธีการเจาะระบบฯ ให้สำเร็จและได้คะแนนสะสมในแต่ละเครื่องที่สามารถเข้ายึดครอง Server ได้
แต่ละทีมที่เข้าแข่งขันนอกจากจะต้องคิดค้นหามาตรการเชิงรับ โดยป้องกันการเจาะ การโจมตี Server จำนวน 3 เครื่อง ของฝ่ายตนเอง เพื่อไม่ให้เสียแต้มให้กับทีมอื่นๆ แล้ว ยังจะต้องหามาตรการเชิงรุก ( Offensive ) โดยการเจาะระบบฯ การโจมตีเป้าหมาย Server ของทีมฝ่ายอื่นๆ อีก 7 ทีมๆ ละ 3 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 21 เครื่อง เพื่อเก็บคะแนนสะสมให้ได้มากที่สุด ก็จะเป็นทีมที่ชนะเลิศตามลำดับคะแนน

โฆษกกต.แจงกรณียกเลิกพาสปอร์ต ‘จาตุรนต์’ ตั้งแต่ 19 ส.ค.แล้ว เหตุมีหมายจับ


หลังจากวานนี้(2 ก.ย.58) มีกระแสข่าวว่า กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการยกเลิกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตแบบบุคคลทั่วไป (เล่มสีแดง) ของ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีต รมว.ศึกษาธิการ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ส่งหนังสือเพื่อยื่นคำร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินงานยกเลิกพาสปอร์ต เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน มีผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้(3 ก.ย.58) เนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ รายงานตรงกันว่า เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการยกเลิกหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตของ จาตุรนต์ ฉายแสง ว่า ทาง สตช. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้พิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางของ จาตุรนต์ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีหมายจับและเดินทางไปต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548ข้อ 23 (2) ประกอบข้อ 21 (2) จึงได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558

อุทธรณ์เพิ่มคุกเป็น 5 ปีไม่รอลงอาญา คดี 112 ‘เฉลียว’ ช่างตัดเสื้ออัพโหลดเสียง 'บรรพต'



Thu, 2015-09-03 12:25


3 ก.ย.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายเฉลียว (สงวนนามสกุล) อาชีพช่างตัดเสื้อ เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 โดยแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 3 ปีและให้รอการลงโทษ เป็น ลงโทษจำคุก 5 ปีรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา)

คดีนี้อ่านคำพิพากษาเป็นการลับ มีเพียงทนายความและจำเลยที่ได้เข้าห้องพิจารณาคดี

เบื้องต้นทนายจำเลยแจ้งว่าครอบครัวจะยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและสลากออมสินมูลค่า 600,000 บาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาคดีลักษณะนี้ศาลจะส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาพิจารณาซึ่งใช้เวลาหลายวัน ระหว่างนี้จำเลยจะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เฉลียว นั้น อายุ 56 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ เขาถูกฟ้องจากกรณีอัพโหลดไฟล์เสียง 'บรรพต' ขึ้น 4Share โดยหลังรัฐประหาร คสช.เรียกรายงานตัว เมื่อเขาเข้ารายงานตัวมีการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วันก่อนถูกแจ้งข้อหานี้ มีรายงานด้วยว่า เฉลียวถูกสอบสวนหนักและนำตัวเข้าเครื่องจับเท็จหลายครั้งเนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเขาอาจเกี่ยวพันกับการทำ 'คลิปบรรพต'

หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเขาถูกฝากขังทันทีในชั้นสอบสวนครบ 7 ผัด (84 วัน) โดยไม่ได้รับการประกันตัว ในระหว่างถูกคุมขัง เขายืนยันว่า เขาเป็นเพียงผู้ฟังคลิปเสียงดังกล่าว และเพิ่งหัดเล่นอินเตอร์เน็ตด้วยศึกษาด้วยตัวเอง เมื่ออัพโหลดเป็นจึงอัพโหลดคลิปเสียงเอาไว้ฟัง โดยเขาสนใจเรื่องสุขภาพ สมุนไพร อายุรเวชศาสตร์เป็นพิเศษซึ่งก็มีปรากฏในเนื้อหาคลิปการเมืองนี้ด้วย

เขารับสารภาพตามข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปีรับสารภาพเหลือ 1 ปี 6 เดือนโดยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หลังจากนั้นอัยการอุทธรณ์ ให้เหตุผลว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงนั้นไม่สาสมกับการกระทำความผิดที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย

ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ได้แจ้งผลการยิ่นขอประกันตัวว่า ศาลได้แจ้งกับภรรยาของนายเฉลียว ให้มาฟังผลคำร้องขอประกันตัวในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 7 กันยายน 2558